Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๒๑

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๓
(พรรษาที่ ๘ – พรรษาที่ ๙)

 

 

พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่กรุงโกสัมพี

 

            พระพุทธเจ้าตามที่พระอาจารย์ได้แสดงไว้ ว่าได้ประทับจำพรรษาที่ ๙ ที่กรุงโกสัมพี จึงจะได้แสดงพระสูตรต่าง ๆ ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงที่กรุงโกสัมพีกับที่บางคราวพระสาวกเช่นพระอานนท์ได้แสดงที่กรุงโกสัมพี แต่ว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จที่กรุงโกสัมพีหลายครั้ง มิใช่เสด็จไปจำเพาะเมื่อจำพรรษาในพรรษาที่ ๘ เท่านั้น จึงไมอาจทราบได้ว่า พระสูตรที่ทรงแสดงที่กรุงโกสัมพีทั้งปวงนั้น ได้แสดงในคราวไหน แต่ก็พึงเข้าใจได้ว่า ในพรรษาที่ ๙ นั้น ก็คงจะแสดงหลายพระสูตร จึงได้รวบรวมพระสูตรที่แสดงที่กรุงโกสัมพีที่ปรากฏในพระไตรปิฎกมาประมวลไว้ เริ่มด้วยพระสูตที่จะแสดงต่อไป และก็จะแสดงพระสูตรอื่นต่อไป

อานันทสูตร

            สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่โฆสิตารม ใกล้เมืองโกสัมพี ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลถามว่า ภิกษุพึงอยู่เป็นผาสุกเพราะเหตุอะไร พระพุทธเจ้าได้ตรัสตอบไป ๑ ข้อ พระอานนท์ก็กราบทูลถามว่า ยังมีข้ออื่นอีกหรือไม่ พระพุทธเจ้าก็ตรัสตอบไปอีก ๑ ข้อ ท่านพระอานนท์ก็ถามอีกว่า ยังมีข้ออื่นอีกหรือไม่ พระพุทธเจ้าก็ตรัสตอบอีก ๑ ข้อ ไปทีละข้อจนครบ ๕ ข้อ เพราะฉะนั้น ในพระพุทธดำรัสที่ตรัสตอบนี้ จึงรวมเข้ามาเป็นข้อ ๆ ได้ดั่งนี้

๑. ภิกษุเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลด้วยตนเอง ไม่ติดเตียนผู้อื่นในเพราะอธิศีล

๒. ภิกษุเป็นผู้ใส่ใจตนเอง ไม่ใส่ใจผู้อื่น รวมถึงให้เพ่ง เช่นเพ่งโทษตนเอง ไม่เพ่งโทษผู้อื่นด้วย

๓. เป็นผู้ไม่มีชื่อเสียง ย่อมรวมถึงว่า ไม่มุ่งความมีชื่อเสีย ย่อมไม่สะดุ้งเพราะความไม่มีชื่อเสียงนั้น

๔. เป็นผู้ได้ ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่สบายในปัจจุบัน ตามความปรารถนาโดยไม่ยากไม่ลำบาก

๕.ภิกษุย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล ภิกษุจึงอยู่เป็นผาสุก

อนึ่งพระพุทธองค์ตรัสว่า ธรรมเครื่องอยู่เป็นผาสุกอย่างอื่นที่ดีกว่า หรือประณีตกว่าธรรมอยู่เป็นผาสุกเช่นนี้ย่อมไม่มี

 

พระสูตรนี้เรียกว่า อานันทสูตร

 

 

 

สีลสูตร

 

                พระพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุผู้ประกดบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็น

อาหุเนย์โย   ผู้ควรของคำนับ
ปาหุเนยฺโย     เป็นผู้ควรของต้อนรับ
ทกฺขิเณยฺโย    เป็นผู้ควรของทำบุญ
อญฺชลิกรณีโย เป็นผู้ที่ควรทำอัญชลี
อนุตฺตรัง ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส   เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า

                ธรรม ๕ ประการ คือ

                ๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล

                ๒. เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิ

                ๓. เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา

                ๔. เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติ

๕. เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ ความรู้ความเห็นในวิมุตติ

ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็น อาหุเนยฺโย เป็นต้น

 

อเสขิยสูตร

                พระพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นอาหุเนย์โย ผู้ควรของคำนับเ เป็นต้น คือ

                ๑. เป็นผู้ประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ

                ๒. เป็นผู้ประกอบด้วยสมาธิขันธ์ของพระอเสขะ

                ๓. เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาขันธ์ของพระอเสขะ

                ๔. เป็นผู้ประกอบด้วยวิมุตติขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ

                ๕. เป็นผู้ประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ

                ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้และ ย่อมเป็น อาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรของคำนับเป็นต้น

 

                พึงทราบอธิบายบางข้อว่า คำว่า พระอเสขะ นั้นแปลว่า พระผู้จบการศึกษาแล้ว ไม่ต้องศึกษาอีกต่อไป พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ว่าเกี่ยวกับการศึกษานี้ มี ๓ จำพวก คือ เสขะ อเสขะ และเนวเสขานาเสขะ

                คำว่า เสขะ นั้นแปลว่า ผู้ศึกษา อเสขะ นั้นแปลว่า ผู้ไม่ต้องศึกษา เพราะจบแล้ว เนวเสขานาเสขะ เป็นเสขะก็มิใช่ อเสขะก็มิใช่ ได้แก่ผู้ที่ยังเป็นปุถุชนหรือสามัญชน เรียกว่าเสขะก็มิใช่ อเสขะก็มิใช่ คือเป็นนักศึกษาก็มิใช่ มิใช่นักศึกษาก็มิใช่ ในข้อนี้ ในปัจจุบันนี้ ก็ยัมีใช้คำจำแนกเช่น เด็กที่ศึกษาในชั้นยังไม่ถึงชั้นอุดมศึกษา คืออนุบาลก็ดี ประถมศึกษาก็ดี มัธยมศึกษาก็ดี ยังเรียกว่านักเรียน ต่อเมื่อถึงขั้นอุดมศึกษา คือชั้นมหาวิทยาลัยจึงเรียกว่า นักศึกษา พระพุทธเจ้าได้ทรงเรียกบุคคลที่เป็นปุถุชนหรือสามัญชนว่ายังมิใช่นักศึกษา ก็คล้ายกับที่เรียกกันในระบบการศึกษาปัจจุบันดังกล่าว ต่อเมื่อได้เป็นอริยบุคคล๗ จำพวก คือเป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ตั้งอยู่ในสกทาคามิมรรค ตั้งอยู่ในสกทาคามิผล ตั้งอยู่ในอนาคามิมรรค ตั้งอยู่ในอนาคามิผล นี่เป็น ๖ และตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค เป็น ๗ อริยะบุคคล ๗ จำพวกนี้ เรียกพระเสขะ คือเป็นนักศึกษาหรือเป็นผู้ศึกษา เพราะว่าได้ปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ แล้วไม่มีที่จะพลัดตกจากทางมรรคมีองค์ ๘ แต่ว่ายังไม่จบเสร็จ ยังต้องศึกษาในมรรคมีองค์ ๘ ต่อไปให้บริบูรณ์ แต่ไม่มีที่จะกลับถอยหลัง หรือไม่มีที่จะกลับออกนอกมรรคมีองค์ ๘ หรือนอกทาง เป็นผู้เข้าทาง แล้วก็เดินก้าวหน้าไปสู่สุดทาง จึงยอมรับว่า เป็นเสขะ หรือเป็นนักศึกษา เรียกว่า เข้าทางแล้ว ไม่มีพลัดตกออกจากทาง ไม่มีนอกทาง

                และเมื่อตั้งอยู่อรหัตตผล เป็นพระอรหันต์ จึงจะเรียกว่า เป็นอเสขะ คือเป็นผู้จบการศึกษา ไม่ต้องศึกษาอีกต่อไป และในพระพุทธภาษิตในพระสูตรนี้ก็แสดงถึงหมู่แห่งสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่เรียกว่า สาวกสงฆ์ ซึ่งเป็นขั้นอเสขะ คือเป็นชั้นที่จบการศึกษา ว่าย่อมประกอบด้วยสีลขันธ์ กองศีล ขันธะ ก็แปลว่า กอง สีลขันธะก็แปลว่ากองศีล อันเป็นอเสขะ คือเป็นอรหัตตผล ประกอบด้วยสมาธิขันธ์ กองสมาธิ ประกอบด้วยปัญญาขันธ์ กองปัญญา ประกอบด้วยวิมุตติขันธ์ กองวิมุตติ ประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ กองวิมุตติญาณทัสสนะ ความรู้ความเข้าใจในวิมุตติอันเป็นอเสขะ อันนับเป็นสาวกสงฆ์ชั้นยอด ซึ่งเป็นผู้ประกอบด้วยพระสังฆคุณบทว่า อาหุเนยฺโย เป็นต้น

 

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๓ หน้า  ๘๕ - ๘๙