แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๒๐
๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก
เล่ม ๓
(พรรษาที่ ๘ – พรรษาที่ ๙)
ต้นเหตุของสังฆเภท
เรื่องความแตกแยกราวรานกันของสงฆ์ที่เกิดขึ้นในกรุงโกสัมพี ในรัฐวังสะนั้น ในชั้นบาลีคือตำราพระพุทธศาสนารุ่นแรก เรียกว่าชั้นบาลีไม่ได้กล่าวไว้ว่าเกิดขึ้นเมื่อไร และเกิดขึ้นในหรือนอกพรรษา ส่วนในอรรถกถา คืออธิบายความของบาลี ซึ่งแต่งเมื่อพระพุทธศาสนาล่วงแล้วหลายร้อยปี โดยมากก็กำหนดขนาดกันว่าขนาดพันปี จึงได้มีกล่าวไว้ว่า เกิดขึ้นในพรรษาที่ ๙ นับแต่เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว และในชั้นอรรถกถานั้นก็ยังได้เล่าเรื่องพิสดารออกไปอีก คือเล่าว่า
พระภิกษุ ๒ รูปที่เป็นต้นเหตุนั้นก็คือ พระธรรมธรรูปหนึ่ง พระวินัยธรรูปหนึ่ง พระธรรมธรแต่ว่าเรียกโดยมากกว่า พระธรรมถึก ได้ไปวัจจกุฎีซึ่งมีบัญญัติให้ใช้น้ำและไม่ให้เหลือน้ำทิ้งไว้ในภาชนะน้ำ แต่ว่าพระธรรมถึกเข้าวัจจกุฎีแล้วก็เหลือน้ำทิ้งไว้ในภาชนะน้ำ พระวินัยธรเข้าไปทีหลังออกมาก็บอกแก่พระธรรมถึกว่า ท่านเหลือน้ำทิ้งไว้ในภาชนะน้ำต้องอาบัติ พระธรรมถึกก็ตอบว่า ท่านไม่รู้ว่าเป็นอาบัติเพราะเหตุที่กระทำนั้น แต่ว่าเมื่อเป็นอาบัติท่านก็จะแสดง พระวินัยธรก็บอกว่า เมื่อไม่จงใจก็ไม่เป็นไร แล้วก็แยกกัน แต่ว่าพระวินัยธรเมื่อกลับมาแล้วก็แจ้งแก่พวกลูกศิษย์ของตนว่าพระธรรมถึกต้องอาบัติแล้วก็ไม่รู้ว่าเป็นอาบัติ ฝ่ายพวกลูกศิษย์ของพระวินัยธรก็บอกแก่ลูกศิษย์ของพระธรรมถึกว่า อุปัชฌาย์อาจารย์ของท่านต้องอาบัติแล้วก็ไม่รู้ พวกลูกศิษย์ก็บอกอาจารย์ อาจารย์ก็บอกว่า ก็พระวินัยธรบอกว่าไม่เป้นอาบัติเพราะไม่ได้จงใจ แล้วกลับมาบอกว่าเป็นอาบัติ พระวินัยธรพูดมุสาวาท พวกลูกศิษย์ก็กลับไปบอก ก็เลยเกิดวิวาททุ่มเถียงแตกกันเป็น ๒ พวก จนถึงฝ่ายวินัยธรได้โอกาสก็ทำ อุกเขปนียกรรม คือว่าประกาศยกวัตรพระธรรมถึง ก็เป็นเรื่องให้ทั้งสองฝ่ายนั้นแตกกันจนถึงกับไม่ลงโบสถ์กัน ซึ่งเรียกว่าเป็น สังฆเภท คือสงฆ์แตกกัน อันหมายความว่าเมื่อเกิดแตกแยกกันดังกล่าวนั้น จนถึงไม่ร่วมทำสังฆกรรมด้วยกัน ในภาษาไทยเราเรียกว่าไม่ลงโบสถ์กัน คือไม่ทำอุโบสถกัน ไม่ทำปวารณาร่วมกัน ไม่ทำสังฆกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน เป็นต้น ต่างก็แยกกันทำ เมื่อเป็นดังนี้จึงเรียกว่าเป้นสังฆเภท และทั้งสองฝ่ายนั้นก็เรียกว่าเป็น นานาสังสาสกะ ของกันและกัน คือว่ามีธรรมเป็นเครื่องอยู่ต่างกัน หมายความว่าแยกกันกระทำสังฆกรรมเป็นต้น
พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงดำเนินการระงับด้วยพระองค์เอง ด้วยประทานพระโอวาทเพื่อให้ทั้ง ๒ ฝ่ายนั้นยอมผ่อนปรนเข้าหากัน แล้วก็ทรงเตือนฝ่ายที่ทำการยกวัตรว่า ไม่ควรจะรีบผลุนผลันกระทำ เมื่อเห็นว่าจะแตกกันเพราะเหตุนั้นก็ยังไม่ควรกระทำก่อ แล้วก็ทรงเตือนอีกฝ่ายหนึ่งว่า เมื่อส่วนมากเห็นว่าเป็นอาบัติ ก็ควรจะเชื่อเขา แล้วก็กระทำคืนเสีย เรื่องก็จะไม่บังเกิดขึ้นร้ายแรง และจนถึงได้ตรัสเรื่องฑีฆาวุกุมารอบรม โดยความก็คือแม้พระราชาผู้ปกครองแว่นแคว้น ซึ่งต่างก็มีอาวุธอยู่ในมือด้วยกันและต่างก็ได้เคยทำลายล้างกัน ชิงบ้านชิงเมืองชิงทรัพย์สมบัติประหัตประหารกัน แต่ในที่สุดก็ยังให้อภัยและปรองดองกันได้ ก็ทำไมพวกภิกษุซึ่งก็ไม่มีเรื่องอะไรหนักหนา เพียงแต่ทุ่มเถียงกันด้วยอาบัติเล็กน้อยว่า ข้อนี้เป็นอาบัติข้อนี้ไม่เป็นอาบัติเท่านั้น ก็ควรที่จะปรองดองกันได้ และในที่อื่น เช่นในโกสัมพิยะสูตร สูตรที่ตรัสในกรุงโกสัมพี ก็กล่าวว่า ได้ทรงประทานพระโอวาทด้วยสาราณิยธรรม ๖ ประการ ดังที่แจ้งอยู่ในสาราณิยธรรม ๖ ในหมวด ๖ นั้น แต่ก็ยังไม่เกิดความปรองดองขึ้นได้ จึงได้เสด็จออกจากกรุงโกสัมพีไปประทับอยู่ในป่าที่เรียกกันว่า ปาริเลยยะ ไทยเราเรียกว่า ป่าเลไลยก์ และในชั้นบาลีก็ไม่ได้บอกว่าจำพรรษาที่นั่น แต่ว่าในชั้นอรรถกถา ได้เล่าว่าได้ประทับจำพรรษาอยู่ที่ป่าปาริเลยยกะนั้นเป็นพรรษาที่ ๑๐ เพราะฉะนั้นเมื่อแบ่งตามที่พระอรรถกถาจารย์ท่านว่าไว้ ก็ควรจะเริ่มพรรษาที่ ๑๐ ตั้งแต่เสด็จออกจากกรุงโกสัมพีไปสู่ป่าปาริเลยยะ
เสด็จสู่ป่าปาริเลยยกะ
สำหรับในชั้นบาลีนั้นได้มีเล่าสืบต่อกันว่า เมื่อพระพุทธเจ้าได้ประทานพระโอวาทให้ปรองดองกันไม่สำเร็จ ในวันรุ่งขึ้น ก็ทรงถือบาตรจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในกรุงโกสัมพี ครั้งเสด็จกลับจากบิณฑบาตแล้วก็ทรงเก็บเสนาสนะ ทรงถือบาตรจีวรของพระองค์ด้วยพระองค์เอง แล้วก็ประทับยืนในท่ามกลางสงฆ์ ได้ตรัสขึ้นโดยความว่า “บุคคลที่มีเสียงดัง เป็นคนเสมอกั้นสักคนหนึ่งก็ไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นคนเขลา เมื่อสงฆ์กำลังจะแตกกันอยู่ ก็ไม่บังเกิดความรู้สึกถึงเหตุผลอื่น ๆ ยิ่งไปกว่าทะเลาะวิวาทกัน ผู้ที่หลงลืมสติแสดงท่าว่าเป็นบัณฑิตคือผู้ฉลาด มักจะเป็นคนเอาแต่เที่ยวพูดเพ้อเจ้อไม่เป็นสาระ ปราวนาที่จะต่อปากต่อคำกันออกไป ก็ย่อมจะไม่รู้สึกถึงการทะเลาะวิวาทที่เป็นเหตุชักจูงให้เป็นไป บุคคลที่ผูกโกรธอยู่ว่า ผู้นั้นได้ด่าเรา ได้ทำร้ายเรา ได้ชนะเรา ได้ลักสิ่งของของเราไป เวรของชนเหล่านั้นย่อมไม่สงบ ส่วนบุคคลที่ไม่ผูกโกรธอยู่ดังนั้น เวรของเขาย่อมสงบระงับได้ เพราะว่าเวรย่อมไม่ระงับด้วยเวรในกาลไหน ๆ แต่ย่อมระงับด้วยความไม่จองเวร นี้เป็นธรรมที่เก่าคนอื่น ๆ ย่อมไม่รู้สึกว่าพวกเรากำลังจะย่อยยับกันอยู่ ณ บัดนี้ จึงพากันทะเลาะวิวาท ส่วนบุคคลเหล่าใดย่อมรู้ในหมู่ชนนั้น ความหมายมั่นก็ย่อมสงบระงับไปเพราะเหตุที่มีความรู้นั้น คนที่เป็นคู่เวรกันจนถึงกับตัดกระดูกของกัน ฆ่าชีวิตกัน ลักทรัพย์สมบัติ เป็นต้นว่า โค ม้า ทรัพย์ต่าง ๆ ตลอดจนถึงตีบ้านตีเมืองกัน ก็ยังมีความสามัคคีปรองดองกันได้ เพราะเหตุใด ท่านทั้งหลายจึงจะปรองดองกันไม่ได้ ถ้าว่าบุคคลพึงได้สหายที่คล้ายคลึงกันที่จะเที่ยวไปด้วยกันได้ และที่เป็นผู้ทรงปัญญา มีปรกติอยู่ด้วยกรรมที่ดีที่ชอบครอบงำอันตรายได้ทั้งหมด ก็พึงมีใจยินดี มีสติเที่ยวไปกับผู้นั้น แต่ว่าถ้าไม่ได้สหายเช่นนั้น ก็พึงเที่ยวไปคนเดียว เหมือนอย่างพระราชาละแว่นแคว้นที่ชนะแล้ว เที่ยวไปพระองค์เดียว หรือเหมือนอย่างช้างชื่อ มาตังคะ เที่ยวไปผู้เดียว ความเที่ยวไปของบุคคลผู้เดียวดีกว่า เพราะว่าความเป็นสหายในคนพาลไม่มีดีอะไร บุคคลพึงเที่ยวไปคนเดียวและไม่กระทำบาปกรรมทั้งหลาย มีความขวนขวายน้อย เหมือนกับช้างมาตังคะเที่ยวไปในป่า”
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสในท่ามกลางสงฆ์ที่วิวาทกันโดยความดั่งนี้แล้ว ก็ได้เสด็จออกจากโฆสิตารามนั้น ไปสู่หมู่บ้านของคนทำเกลืออ่อน ๆ หมู่บ้านหนึ่ง ณ ที่นั้นก็ได้ทรงพบกับพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่า ท่านภคุ ท่านได้ต้อนรับพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ก็ได้ทรงทำปฏิสันถาร การปฏิสันถารใช้ถ้อยคำทั่วไปตามสำนวนในเวลานั้นคือว่า พอทนได้อยู่หรือ พอยังเป็นไปได้อยู่หรือ ไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ เหมือนอย่างที่เราทักกันในภาษาของเรว่า สบายดีหรือ แต่ว่าสำหรับในสำนวนครั้งนั้น ไม่ได้ถามว่าสบายดีหรือ ถ้ามว่าพอทนได้หรือ พอเป็นไปได้หรือ ไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ ท่านภคุก็ทูลตอบให้ทรงทราบว่า พอทนได้ พอเป็นไปได้ ไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต พระองค์ก็ได้ตรัสเทศนาให้เกิดความเห็นแจ้งในธรรม แล้วก็เสด็จต่อไปยังป่าที่ชื่อว่า ปาจีนวังสหายวัน ซึ่งเป็นที่อยู่ของพระเถระ ๓ รูป คือ ๑. พระอนุรุทธะ ๒.พระนันทิยะ ๓. พระกิมพิละ
ท่านทั้ง ๓ นั้นก็ได้ถวายการต้อนรับพระพุทธเจ้า พระองคืก็ได้ทรงทำปฏิสันถารเช่นเดียวกันนั้น แต่ว่าเพราะท่านอยู่ด้วยกันถึง ๓ รูป พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสถามว่า ทั้ง ๓ รูป นี้ได้อยู่ปรองดองกัน ไม่บาดหมางกัน มองดูกันและกันด้วยจักษุที่เป็นที่รักเหมือนอย่าเป็นผู้ร่วมน้ำนมเดียวกัน คือว่าร่วมมารดากันอยู่หรือ ท่านทั้ง ๓ นั้นก็ได้กราบทูลว่า อยู่ปรองดองกันเรียบร้อย พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสถามว่า ได้ปฏิบัติกันอย่าไรจึงได้อยู่ปรองดองกันดี ท่านทั้งสามนั้นก็ได้กราบทูลว่า เป็นลาภของเราแล้ว เราได้ดีแล้วที่ได้มาอยู่ร่วมกับพรหมจารีทั้งหลายเหมือนเช่นนี้ จึงได้พากันตั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมประกอบด้วยเมตตาในกันและกัน ทั้งในทีลับและที่แจ้ง และก็ได้พากันคิดว่า ไฉนเราแต่ละรูปจะพึงเก็บจิตของตนและประพฤติไปตามอำนาจแห่งจิตของอีก ๒ ท่าน เมื่อคิดได้ดั่งนั้นแล้ว จึงได้ประพฤติไม่เอาแต่ใจของตนเอง แต่ว่าคิดถึงใจของผู้อื่นและอนุวัตรตาม เมื่อต่างพากันคิดถึงใจของผู้อื่น ไม่เอาแต่ใจของตน และก็อนุวัตรกันอยู่ตามดั่งนี้ ถึงแม้ว่ากายจะต่าง ๆ กัน แต่จิตก็เหมือนอย่างเป็นอันเดียวกัน ท่านทั้ง ๓ ได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่าดั่งนี้ ท่านปฏิบัติดั่งนี้จึงมีความปรองดองกันดีอยู่
พระพุทธเจ้าได้ตรัสถามต่อไปว่า ทั้ง ๓ รูปนั้นได้พากันอยู่ด้วยความไม่ประมาท มีความเพียรส่งตนไปยิ่ง ๆ ขึ้นอยู่หรือ ท่านทั้ง ๓ ก็ได้กราบทูลว่าได้พากันอยู่ด้วยความไม่ประมาทเหมือนดังนั้น พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสถามว่าปฏิบัติอย่างไรที่บอกว่าอยู่ด้วยความไม่ประมาทนั้น ท่านทั้ง ๓ ก็ได้กราบทูลว่า ทั้ง ๓ รูปนั้น รูปใดกลับจากบิณฑบาตก่อน รูปนั้นก็จะปูลาดอาสนะ เตรียมน้ำล้างเท้า ตั่งล้างเท้า ผ้าเช็ดเท้าไว้ ล้างภาชนะสำหรับใช้สอยตั้งไว้ และตั้งน้ำดื่มน้ำใช้ไว้ ส่วนรูปใดกลับจากบิณฑบาตภายหลัง ถ้ายังมีภัตตาหารเหลืออยู่ และถ้าประสงค์ก็ขบฉัน แต่ถ้าไม่ประสงค์ก็ทิ้งในที่ ๆ ไม่มีของสด ของเขียวหรือว่าโปรยลงในน้ำที่ไม่มีตัวสัตว์ แล้วก็เก็บอาสนะเป็นต้น ปัดกวาดให้สะอาด ส่วนรูปใดเห็นหม้อน้ำดื่ม หม้อนน้ำใช้ หม้อน้ำในวัจจกุฎีว่างเปล่า ก็ตักน้ำเติมใส่ไว้ ถ้าว่ารูปเดียวไม่สามารถ ก็ช่วยกันหิ้วน้ำไปใส่ไว้ และได้นั่งสนทนากันด้วยธรรมกถาตลอดราตรี ทัง้หมดทุกวัน ๕ ค่ำ ก็ได้พากันอยู่ด้วยความไม่ประมาทดังกล่าวมานี้
พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมให้ท่านทั้ง ๓ นั้นเห็นแจ่มแจ้งแล้ว ก็ได้เสด็จต่อไปยังป่าปาริเลยยกะ และก็ได้ประทับอยู่ดงที่ชื่อว่า รักขิตวัน ใกล้กับป่าปาริเลยยกะนั้น ท่านแสดงว่าได้ประทับอยู่ที่โคนไม้สาละต้นหนึ่งซึ่งเป็นต้นโตใหญ่อยุในดงนั้น ปาริเลยยกะนั้น ท่านว่าเป็นชื่อของหมุ่บ้าน คือเป้นหมุ่บ้านป่าและก็มีดงอยู่ที่ใกล้กันนั้นชื่อว่า รักขิตวัน พระพุทธเจ้าได้ประทับอยู่ที่ดงรักขิตวันนั้น พระองค์ก็ได้ทรงคำนึงถึงว่าได้ประทับอยู่ตามอาเกียรณ์ คือเกลื่อนกล่นวุ่นวายไปด้วยหมู่ภิกษุชาวกรุงโกสัมพีที่ทะเลาะวิวาทกัน บัตนี้ได้เสด็จประทับอยู่ในป่าดงพระองค์เดียวมีความผาสุก
ในสมัยนั้น ได้มีช้างป่าเชือกหนึ่ง ทิ้งฝูงมาปฏิบัติพระพุทธเจ้าที่ดงรักขิตวัน ใช้งวงทำการแผ้วถางพื้นที่ให้สะอาด และหาน้ำดื่มน้ำใช้ถวายพระพุทธเจ้า สำหรับในชั้นบาลีก็มีเล่าเรื่องในขณะที่ประทับอยู่ที่ป่าปาริเลยกะเพียงเท่านี้ แต่ว่าในชั้นอรรถกถานั้น ได้มีเล่าขยายความถึงวิธีที่ช้างปฏิบัติพระพุทธเจ้าว่าทำอย่างไร และได้มีความรักนับถือในพระพุทธเจ้าอย่างไร ทำการรักษาพระองค์อย่าไร และก็ได้เล่าถึงเรื่องวานรตัวหนึ่งได้เห็นช้างมาปฏิบัติพระพุทธเจ้าอยู่ ก็คิดอยากที่จะปฏิบัติบ้าง จึงไปหักเอารวงผึ้งเก็บเอาตัวอ่อน ๆ ออกหมดแล้วนำไปถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงรับแล้วก็ทอดพระเนตรเฉยอยู่ วานรตัวนั้นก็ตรวจดู เห็นว่ามีตัวอ่อนอยู่ ก็เอาออกอีกจนสิ้นตัวอ่อน แล้วถวายพระพุทธเจ้าอีก พระองค์ก็ได้ทรงบริโภคเสวายน้ำผึ้งนั้น วานรนั้นก็มีใจยินดี ขึ้นต้นไม้ก็เต้นจนกิ่งไม้หัก ตกลงมาเสียบเข้ากับตอไม้ข้างล่าง กระทำกาลกิริยาในขณะนั้น เรื่องลิงนี้ในชั้นบาลีไม่มี แต่ว่ามามีเล่าไว้ในชั้นอรรถกถา พระปางปาริเลยยกะ เมืองไทยเราก็นิยมสร้างเป็นพระพุทธรูปมีช้างมีลิง และที่สร้างไว้องค์โตก็ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
พระพุทธเจ้าได้ประทับอยู่ที่ป่าปาริเลยยกะนั้นตามพระพุทธอัธยาศัยแล้วก็ได้เสด็จออกจาริกไปสู่กรุงสาวัตถี ในชั้นบาลีมีเล่าไว้เท่านี้ แต่ว่าในชั้นอรรถกถา ได้มีเล่าไว้โดยพิสดาร ความย่อว่า บรรดาเศรษฐีคฤหบดีซึ่งเป็นชาวกรุงสาวัตถีผู้นับถือพระพุทธศาสนา ได้ขอให้พระอานนท์ไปทูลเชิญเสด็จกลับมาสู่กรุงสาวัตถี พระอานนท์พร้อมกับภิกษุ่ก็ได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่ป่าปาริเลยยกะนั้น ช้างเห็นพระมาเป็นอันมาก ก็ถือท่อนไม้วิ่งไปด้วยคิดว่าเป็นศัตรู พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงห้ามว่านั่นเป็นพระอานนท์พุทธอุปัฏฐาก ช้างจึงได้ทิ้งไม้และก็ได้ทำการต้อนรับ พระพุทธเจ้าได้เสด็จออกกับพระอานนท์และพระภิกษุในวันนั้น แต่ช้างก็ได้มายืนขวางทางไว้ พระพุทธเจ้าทรงทราบความประสงค์ว่าต้องการที่จะปฏิบัติพระสักวนหนึ่งก็เสด็จกลับไป วันรุ่งขึ้นช้างก็เที่ยวเก็บผลไม้มาถวายพระพุทธเจ้าและพระภิกษุที่พากันไปนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าได้เสวยและพระได้ฉันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็เสด็จออกเพื่อจะเสด็จจาริกไปยังกรุงสาวัตถี ช้างก็มาขวางหน้าไว้อีก พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสว่านี้เป็นการไปของพระองค์ที่ไม่กลับ ช้างจึงได้หลีกทางและตามเสด็จเรื่อยไปจนเข้าเขตคนอยู่ พระพุทธเจ้าก็ตรัสห้ามว่า ให้หยุดแค่นี้ เพราะต่อไปเป็นเขตคนอยู่ มีอันตราย ช้างนั้นก็มีความอาลัย เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จลับคลองจักษุไป ก็หัวใจแตกทำกาลกิริยา ท่านเล่าไว้ในอรรถกถาดังนี้ และก็เรียกชื่อช้างนั้นว่า ช้างปาริเลยยกะ ตามชื่อป่าที่ช้างได้ไปปฏิบัติพระพุทธเจ้า
เรื่องที่เล่ามานี้ เป็นประวัติเกี่ยวแก่พระพุทธศาสนา ก็เป็นเรื่องที่ควรจะทราบอยู่บ้าง จึงได้นำมาเล่าเป็นการเปลี่ยนรสจากการอธิบายธรรมที่ติดต่อกันมา
จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๓ หน้า ๗๗ – ๘๓