Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๑๑

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๓
(พรรษาที่ ๘ – พรรษาที่ ๙)

 

พรรษาที่ ๙
กรุงโกสัมพี

 

เสด็จประทับ ณ กรุงโกสัมพี

 

มูลเหตุที่พระพุทธเจ้าจะไปประทับจำพรรษาที่กรุงโกสัมพีนั้น มีเล่าไว้ในอรรถกถาธรรมบทว่า ที่กรุงโกสัมพี นครหลวงของรัฐวังสะ ได้มีเศรษฐี ๓ คน คือ โฆสกเศรษฐี กุกกุฏเศรษฐี ปาวาริกเศรษฐี ๑ เศรษฐีทั้ง ๓ นี้ได้มีความเลื่อมใสในดาบสคณะหนึ่ง ว่ามีจำนวนถึง ๕๐๐ ได้อาราธนาดาบสเหล่านั้นมาพักจำพรรษาอยู่ในกรุงโกสัมพี เศรษฐีทั้ง ๓ ก็ผลัดกันทำนุบำรุง ต่อมาดาบสทั้ง ๕๐๐ นั้น ได้ทราบการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้า จึงได้มาแจ้งแก่เศรษฐีทั้ง ๓ ขอไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เพราะว่าดาบสเหล่านั้นได้รับปฏิญญาของเศรษฐีทั้ง ๓ ไว้ว่า จะได้มาพักจำพรรษาที่กรุงโกสัมพีตามเคย แต่ในพรรษาที่จะถึงนั้น มีความประสงค์จะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่ประทับอยู่ที่พระเชตวัน กรุงสาวัตถี เศรษฐีทั้ง ๓ นั้นจึงได้ขอไปด้วย และขอให้ดาบสเหล่านั้นรอไปพร้อมกัน เพราะตนจำเป็นจะต้องตระเตรียมสิ่งต่างๆ มีพาหนะเกวียนสำหรับเดินทางและเสบียงเป็นต้น ดาบสทั้ง ๕๐๐ ก็ขอล่วงหน้าไปก่อน ให้เศรษฐีตามไปภายหลัง ดาบสเหล่านั้นก็ได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมและขอบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาทั้งหมด

ฝ่ายเศรษฐีทั้ง ๓ ก็ได้เดินทางตามไปภายหลัง เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ฟังธรรมและมีความเลื่อมใส ได้กราบทูลเชิญเสด็จพระพุทธเจ้าไปประทับจำพรรษาที่กรุงโกสัมพี พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงรับอาราธนา เศรษฐีทั้ง ๓ จึงได้กลับไปยังกรุงโกสัมพี ต่างก็ได้สร้างอารามขึ้นคนละ ๑ อาราม อารามของโฆสกเศรษฐี เรียกชื่อว่า โฆสิตาราม อารามของกุกกุฏเศรษฐี เรียกชื่อว่า กุกกุฏาราม อารามของปาวาริกเศรษฐี เรียกชื่อว่า ปาวาริการาม เมื่อสร้างอารามเสร็จแล้วก็ได้ส่งข่าวสาส์นไปกราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ได้เสด็จจากกรุงสาวัตถีไปสู่กรุงโกสัมพี ประทับอยู่ในอารามของเศรษฐีทั้ง ๓ นั้นผลัดเปลี่ยนกันไปโดยวาระ เศรษฐีทั้ง ๓ นั้น ก็ได้ผลัดเปลี่ยนกันทำนุบำรุงพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์

 

 พระเจ้าอุเทน

ในระหว่างที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ในกรุงโกสัมพีนี้ ได้มีเรื่องเกิดขึ้นหลายเรื่อง แต่ว่าก่อนที่จะแสดงเรื่องเหล่านั้น ก็ควรที่จะได้ทราบประวัติของบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ประวัติที่จะเล่าต่อไปเป็นอันดับแรกก็คือพระราชประวัติของพระเจ้าอุเทน

พระเจ้าอุเทน นี้ มีพระราชประวัติที่โลดโผนและแปลก เมื่อจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็ได้ปรากฏเป็นชายหนุ่มผู้หนึ่ง ซึ่งควบคุมช้างป่าเป็นอันมากมาล้อมเมืองโกสัมพี และได้อ้างว่าเป็นพระราชโอรสของ พระเจ้าปรันตปะซึ่งได้สิ้นพระชนม์ไป ได้แสดงหลักฐานคือผ้ากัมพลแดงกับพระธำมรงค์ของพระเจ้าปรันตปะ เสนาบดีและประชาชนเมื่อได้เห็นวัตถุ ๒ อย่างนี้ก็มีความเชื่อว่า พระเจ้าอุเทนเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปรันตปะ ที่ได้ถูกนกนำพาเอาไปพร้อมกับพระเทวีเมื่อพระเจ้าอุเทนยังอยู่ในพระครรภ์ และเมื่อมีความเชื่อในหลักฐานดั่งนั้น ก็รับรองอภิเษกพระเจ้าอุเทนเป็นพระราชาของแคว้นนั้น เหตุที่เกิดขึ้นเมื่อพระเจ้าอุเทนยังอยู่ในพระครรภ์นั้นมีเล่าไว้ว่า พระเจ้าปรันตปะ ซึ่งเป็นพระราชบิดาของพระเจ้าอุเทนกับพระเทวีซึ่งมีพระครรภ์แก่ ได้ประทับทรงสำราญอยู่บนชั้นบนของปราสาท พระเทวีได้ทรงผ้ากัมพลสีแดง และในขณะที่ได้ประทับนั่งทรงพระสำราญอยู่นั้น พระเทวีก็ได้ทรงถอดพระธำมรงค์จากพระราชองคุลี (นิ้วมือ) มาทรงสวมกับนิ้วพระหัตถ์ของพระนางเอง ในขณะนั้น ได้มีนกใหญ่ชนิดหนึ่งเรียกว่า นกหัสดีลิงค์ คือใหญ่โตเหมือนอย่างช้าง ได้บินมาเห็นพระเทวีทรงผ้ากัมพลแดง ก็คิดว่าเป็นชิ้นเนื้อ ก็บินโฉบลงมาเฉี่ยวเอาพระเทวีไป พระเทวีก็ได้เข้าไปอยู่ในกรงเล็บของนก แต่ก็ทรงฉลาดที่จะไม่ทรงร้องขึ้น เพราะทรงเกรงว่านกจะตกใจในเสียงมนุษย์ก็จะปล่อยตกลงมา ทรงยอมให้นกนำไปจนถึงคาคบไม้ต้นไทรใหญ่ นกก็ลงจับที่คาคบไม้นั้น ซึ่งเป็นที่เคยจับเอาสัตว์มากิน มีกระดูกทิ้งอยู่เกลื่อนกล่น พระเทวีก็ได้ทรงร้องขึ้นพร้อมปรบพระหัตถ์ นกได้ยินเสียงปรบพระหัตถ์และเสียงร้องของคน ก็ตกใจบินหนีไป และในค่ำวันนั้น ก็ต้องอยู่บนคาคบไม้นั้นและประชวรพระครรภ์ ฝนก็ตกหนักตลอดคืน ครั้นเวลารุ่งอรุณพอดีฝนก็หยุด พระนางก็ประสูติพระโอรส จึงได้ประทานพระนามว่า อุเทน หมายถึง เวลาอรุณขึ้น

ในที่นั้น ได้มีอาศรมของดาบสองค์หนึ่งอยู่ไม่ไกล และดาบสนั้นก็เคยมาเก็บกระดูกไปต้มฉัน ในวันนั้น เมื่อดาบสมาเก็บกระดูกตามเคย ก็ได้ยินเสียงเด็กร้อง เมื่อมองขึ้นไปเห็นและก็ได้ไต่ถามแล้ว ก็รับเอาพระเทวีและบุตรไปเลี้ยงดูไว้ ดาบสนี้ชื่อว่า อัลลกัปปดาบส เคยเป็นราชาของ อัลลกรัฐ เมื่อมีพระชนม์มากขึ้นก็มีความหน่ายในราชสมบัติ จึงได้สละราชสมบัติเสด็จออกทรงบวชเป็นดาบส มีความรู้มนต์กำใจของช้าง และมีพิณวิเศษอยู่อันหนึ่ง เมื่อดีดพิณและร่ายมนต์บทหนึ่ง ช้างที่พากันมาก็จะวิ่งหนีอย่างไม่เหลียวหลัง เมื่อดีดพิณอีกสายหนึ่งและร่ายมนต์อีกบทหนึ่ง ช้างก็จะเหลียวหลังมาดู เมื่อร่ายมนต์อีกบทหนึ่งและดีดพิณอีกสายหนึ่ง ช้างที่เป็นจ่าฝูงก็จะเข้ามาหาและยอมให้ขึ้นนั่งบนหลังได้ พร้อมทั้งจะเรียกช้างที่เป็นบริวารให้มาและฟังคำสั่งทุกอย่างว่าจะให้ไปทางไหน

เมื่อพระกุมารเติบโตขึ้น ในคราวหนึ่งพระดาบสก็ได้ดูดาวนักษัตร ก็ได้ตรัสขึ้นว่า พระเจ้าปรันตปะกรุงโกสัมพีสิ้นพระชนม์เสียแล้ว พระเทวีก็ทรงกันแสง พระดาบสจึงถาม พระเทวีก็ได้ทรงเล่าความให้ฟัง และก็ได้แสดงว่า พระโอรสควรจะได้พระราชสมบัติ พระดาบสก็รับที่จะจัดการให้สำเร็จให้จงได้ จึงได้สอนมนต์กำหัวใจช้างทั้ง ๓ บทนั้นให้แก่พระราชกุมาร และได้มอบพิณให้ เมื่อพระราชกุมารได้ทรงเรียนจบแล้ว ก็ทรงได้ทดลองมนต์ทั้ง ๓ บท และดีดพิณทั้ง ๓ สายนั้นเป็นที่ประจักษ์ผลดังกล่าวนั้นแล้ว พระเทวีก็ได้ทรงมอบผ้ากัมพลแดงและพระธำมรงค์ให้ พร้อมทั้งทรงบอกชื่อของเสนาบดีเป็นต้นแก่พระราชกุมาร เพื่อนำไปแสดงหลักฐานว่าเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปรันตปะจริง พระราชกุมารจึงได้ทรงนำหมู่ช้างป่ามาล้อมเมืองและทรงแสดงหลักฐานจนได้รับรองให้อภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินของแคว้นวังสะ

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๓ หน้า ๓๒ - ๓๕