Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๑๐

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๓
(พรรษาที่ ๘ – พรรษาที่ ๙)

พรรษาที่ ๙
กรุงโกสัมพี

 พระพุทธจาริก

ในพรรษาที่ ๙ ท่านกล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้ประทับจำพรรษาที่กรุงโกสัมพี รัฐวังสะหรือวัสสะ

แต่โดยปกติเมื่อออกพรรษาแล้ว พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกในชนบทมณฑลต่างๆ ได้ทรงปฏิบัติเป็นอาจิณกิจ คือกิจที่ทำอยู่เสมอตั้งแต่ต้นมา ท่านได้เล่าถึง พุทธจาริก คือการเสด็จเที่ยวพุทธดำเนินไปของพระพุทธเจ้าไว้ ๓ อย่าง คือ

. เมื่อจะเสด็จจาริกไปในมหามณฑล คือในชนบทมณฑลใหญ่ต้องใช้เวลามาก เมื่อออกพรรษาแล้วได้วันหนึ่ง ตรงกับการนับของไทยคือวันแรมค่ำ ๑ เดือน ๑๑ ก็เสด็จออกจากที่จำพรรษาในพรรษาที่ผ่านไปใหม่ๆ นั้น แล้วก็เสด็จจาริกเรื่อยไป ใช้เวลา ๙ เดือน ถึงวันเข้าพรรษาใหม่ก็หยุดอยู่ประทับจำพรรษา

. เมื่อจะเสด็จจาริกไปในมัชฌิมมณฑล คือในชนบทที่เป็นมณฑลขนาดกลางๆ เมื่อออกพรรษาในวันกลางเดือน ๑๑ แล้ว ก็ประทับอยู่ที่นั้นอีก ๑ เดือน หรือบางทีเลื่อนออกพรรษาไปอีก ๑ เดือน คือไปออกพรรษาทำปวารณาในวันกลางเดือน ๑๒ วันรุ่งขึ้นซึ่งตรงกับกันแรมค่ำ ๑ ของไทย จึงเสด็จเที่ยวจาริกไป ใช้เวลา ๘ เดือนจึงหยุดจำพรรษา

. เมื่อจะเสด็จจาริกไปในอันติมมณฑล มณฑลที่เล็กไปกว่าหรือใช้เวลาน้อยกว่า ก็ยังประทับอยู่ ณ ที่จำพรรษาจนถึงกลางเดือนอ้าย รุ่งขึ้นตรงกับวันแรมค่ำ ๑ เดือนอ้าย จึงเสด็จจาริกไป ใช้เวลา ๗ เดือนก็ประทับจำพรรษา

และข้อที่ทรงปฏิบัติเป็นอาจิณกิจทั่วไปนั้น ก็คือทรงปฏิสันถารต้อนรับอาคันตุกะ เช่น ภิกษุที่มาเฝ้าจากทิศต่างๆ ทรงแสดงธรรมตามเรื่องที่เกิดขึ้น และทรงบัญญัติสิกขาบทตามเรื่องอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น ในขณะที่เสด็จจาริกไปนั้น ถ้าบางคราวต้องการจะเสด็จจาริกไปด่วนๆ ก็ทรงดำเนินด้วยพระบาทวันหนึ่งเป็นเวลามากๆ เช่น มีพระพุทธประสงค์จะเสด็จไปโปรดผู้ที่มีอุปนิสัยจะได้ตรัสรู้พระธรรมโดยรีบด่วน แต่ถ้าโดยปกติก็เสด็จไปโดยไม่รีบด่วน วันหนึ่งๆ เสด็จด้วยพระบาทหนึ่งในสี่ของโยชน์ หรือว่ากึ่งโยชน์ หรือว่าหนึ่งในสามของโยชน์ หรือว่าโยชน์หนึ่ง

พระพุทธกิจ ที่ได้ทรงปฏิบัติเป็นประจำวันนั้นมี ๕ ประการ คือ

. ปุเรภัตตกิจ กิจในเวลาก่อนภัตต์ ได้แก่เสด็จออกแต่เช้าทรงทำสรีรกิจ เสด็จออกบิณฑบาต ตลอดจนถึงเสวยภัตตาหาร ทรงทำอนุโมทนา แสดงธรรม แล้วเสด็จขึ้นพระคันธกุฎี คือกุฎีที่ประทับ แต่ยังไม่เข้าไปข้างใน ในคำบอกวัตรแสดงไว้ว่า ปุพฺพณฺเห ปิณฺฑปาตญฺจ เสด็จออกบิณฑบาตในเวลาเช้า

. ปัจฉาภัตตกิจ กิจในเวลาภายหลังภัตต์ คือเมื่อเสด็จขึ้นพระคันธกุฎีดังกล่าวแล้ว ก็ประทับเบื้องหน้าพระคันธกุฎี ให้โอวาทภิกษุสงฆ์ที่มาเฝ้า เสด็จเข้าพระคันธกุฎีประทับตามพระประสงค์ ทรงใช้พระญาณตรวจดูโลกในทุติยภาคคือส่วนที่ ๒ ของวัน จนถึงในตติยภาค คือส่วนที่ ๓ ของวัน คือเวลาเย็น เสด็จไปยังธรรมสภาซึ่งมีมหาชนมารอเฝ้าอยู่ ก็ทรงแสดงธรรมโปรดเป็นกาลยุตต์คือเหมาะแก่กาล หรือสมัยยุตต์ เหมาะแก่สมัย เมื่อยุติด้วยกาลก็ส่งบริษัทกลับ ในคำบอกวัตรได้ผูกเป็นบาทคาถาไว้ว่า สายณฺเห ธมฺมเทสนํ ทรงแสดงธรรมในเวลาเย็น

. ปุริมยามกิจ กิจในยามต้นของราตรี คือ แบ่งกลางคืนออกเป็น ๓ ยาม ยามละ ๔ ชั่วโมง ในยามต้นของราตรีนี้ ทรงสรงถ้ามีพระพุทธประสงค์จะทรงสรง ประทับที่บริเวณพระคันธกุฎี ภิกษุทั้งหลายก็เข้าเฝ้าทูลถามปัญหาต่างๆ บ้าง ขอกัมมัฏฐานบ้าง ขอให้ทรงแสดงธรรมบ้าง ได้ประทานพระโอวาทต่างๆ ตามควร จนสมควรแก่เวลา ภิกษุทั้งหลายก็กราบทูลลากลับ ในตอนนี้มีคำบอกวัตรกล่าวไว้ว่า ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ ให้โอวาทแก่ภิกษุในเวลาหัวค่ำ

. มัชฌิมยามกิจ กิจในเวลามัชฌิมยาม คือยามกลางของราตรี ได้แก่ แก้ปัญหาของเทพดาที่แสดงว่า เทพดามาเฝ้าและกราบทูลถามปัญหาในตอนมัชฌิมยาม ในคำบอกวัตรกล่าวไว้ว่า อฑฺฒรตฺเต เทวปณฺหนํ แก้ปัญหาของเทวดาในเวลาครึ่งคืน

. ปัจฉิมยามกิจ กิจในยามท้ายของราตรี แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน ส่วนที่ ๑ เสด็จจงกรม คือทรงดำเนินไปและกลับเป็นการผลัดเปลี่ยนพระอิริยาบถ ส่วนที่ ๒ ทรงบรรทม ส่วนที่ ๓ คือเวลาใกล้รุ่ง ก็ทรงตรวจดูโลกด้วยพระญาณ ในคำบอกวัตรได้ว่าไว้ว่า ปจฺจูเสว คเต กาเล ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ ตรวจดูสัตว์ผู้ที่สมควรจะโปรด และผู้ที่ไม่สมควรจะโปรดในเวลาใกล้รุ่ง

พระพุทธกิจทั้ง ๕ ประการนี้ ท่านกล่าวว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติอยู่เป็นกิจประจำวัน

ส่วนพระสาวกทั้งหลายนั้น ได้ถือเป็นอาจิณกิจ คือกิจที่ประพฤติเป็นประจำอยู่ คือได้พากันมาเฝ้าพระพุทธเจ้าจากชนบทต่างๆ ปีหนึ่ง ๒ ครั้ง คือก่อนเข้าพรรษาครั้งหนึ่ง เพื่อเรียนกัมมัฏฐาน และออกพรรษาครั้งหนึ่งเพื่อกราบทูลคุณที่ได้บรรลุ และเพื่อเรียนกัมมัฏฐานให้ยิ่งขึ้นไป เพราะในตอนนั้นได้มีพระสาวกมากขึ้น และได้จำพรรษาอยู่ในชนบทต่างๆ มากด้วยกัน จึงได้มีนิยมถือเป็นอาจิณวัตรว่า ในปีหนึ่งก็หาโอกาสมาเฝ้าพระพุทธเจ้า โดยปกติก็ ๒ ครั้ง และถ้ามาไม่ได้ก็ส่งศิษย์เข้ามา และสั่งศิษย์ให้ถวายบังคมพระพุทธเจ้าแทนตน การเข้ามาเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยตนเอง ปีหนึ่ง ๒ ครั้งดั่งกล่าวนี้ หรือว่าแม้เพียงครั้งเดียว เป็นการจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับในเวลานั้น เพราะพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรม และได้ทรงบัญญัติพระวินัยอยู่เรื่อย เมื่อได้เข้ามาประชุมกันเฝ้าพระพุทธเจ้า ก็จะได้ทราบว่า พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมอะไรไปแล้วบ้าง ได้ทรงบัญญัติพระวินัยอะไรไปแล้วบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องกับพระธรรมพระวินัย ถ้าละเลยไม่เข้ามาประชุมกันเฝ้าก็จะไม่ทราบ และเมื่อไม่ทราบก็ปฏิบัติไม่ถูก ทำให้การปฏิบัติไม่สม่ำเสมอกัน

 เป็นธรรมเนียมที่พระพุทธเจ้า ได้จาริกในชนบทต่างๆ เมื่อออกพรรษาแล้วตามที่กล่าวมา ฉะนั้น เมื่อตรวจดูในหลักฐาน จึงปรากฏว่าเมื่อออกพรรษาที่ ๘ แล้ว ก็มิได้เสด็จไปยังกรุงโกสัมพีทีเดียว คงเสด็จจาริกไปในชนบทมณฑลต่างๆ และก่อนที่จะเสด็จไปประทับจำพรรษาที่กรุงโกสัมพี ได้เสด็จไปประทับอยู่ที่พระเชตวัน กรุงสาวัตถี

 

  รัฐที่มีอำนาจมาก ๔ รัฐ

บ้านเมืองในชมพูทวีปครั้งนั้น แบ่งออกเป็นรัฐต่างๆ เป็นอันมากดังที่เล่าไว้ในพุทธประวัติ แต่ว่ารัฐที่มีอำนาจมากในเวลานั้นนับได้ ๔ รัฐ คือ

มคธรัฐ เมืองหลวงชื่อว่า ราชคหะ หรือ ราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสาร ทรงเป็นพระราชาผู้ปกครอง

รัฐโกศล เมืองหลวงชื่อว่า สาวัตถี พระเจ้าปเสนทิ ทรงเป็นพระราชาผู้ปกครอง

รัฐวังสะ หรือ วัสสะ เมืองหลวงชื่อว่า โกสัมพี พระเจ้าอุเทน ทรงเป็นพระราชาผู้ปกครอง

รัฐอวันตี เมืองหลวงชื่อว่า อุชเชนี พระเจ้าปัชโชต ทรงเป็นพระราชาผู้ปกครอง

รัฐทั้ง ๔ นี้ มีข้อบาดหมางกันในบางครั้ง แต่ก็กลมเกลียวกัน หรือว่ายับยั้งไม่รบพุ่งกันได้ในบางครั้ง เพราะมีความสัมพันธ์กันในทางอภิเษกสมรส เช่น พระเจ้าพิมพิสารก็ทรงได้พระขนิษฐภคินีของพระเจ้าปเสนทิไปเป็นพระมเหสี พระเจ้าปเสนทิก็ทรงได้พระกนิษฐภคินีของพระเจ้าพิมพิสารไปเป็นพระมเหสี พระเจ้าปัชโชตนั้นในตอนแรกก็ทรงมุ่งหมายจะย่ำยีพระเจ้าอุเทน แต่ก็มีเรื่องทำให้ต้องทรงเสียพระราชธิดาไปให้แก่พระเจ้าอุเทน ก็กลายเป็นมีความสัมพันธ์กัน


จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๓ หน้า ๒๕ – ๓๑