Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๐๙

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๓
(พรรษาที่ ๘ – พรรษาที่ ๙)

พรรษาที่ ๘
เภสกลาวัน ใกล้สุงสุมารคิระ

เหตุที่ไม่ทรงเหยียบผ้าขาว

พระพุทธเจ้าได้เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงพรรษาที่ ๘ ได้เสด็จไปจำพรรษาที่เภสกลาวันที่อยู่ชานเมืองสุงสุมารคิระในภัคคชนบท ภัคคชนบทนั้นเป็นรัฐอีกรัฐหนึ่ง ซึ่งในสมัยนั้น โพธิราชกุมารซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าอุเทน (แห่งแคว้นวังสะซึ่งมีนครหลวงชื่อว่า โกสัมพี) เป็นผู้ครอง ฉะนั้น จึงน่าจะขึ้นอยู่กับรัฐวังสะ ของพระเจ้าอุเทน โพธิราชกุมารซึ่งเป็นผู้ไปครอง ก็ทำนองไปครองฐานะเป็นเมืองลูกหลวง

เมืองหลวงของภัคคชนบทนี้ชื่อว่า สุงสุมารคิระ แปลว่า เมืองที่เป็นเนินจระเข้ สุงสุมาระ แปลว่า จระเข้ คิระ แปลว่า เนินหรือเขา มีเรื่องเล่าไว้ว่า เมื่อสร้างนครนั้น ได้มีจระเข้ร้องในห้วงน้ำแห่งหนึ่งซึ่งไม่ไกล จึงได้ถือเอาเสียงจระเข้ที่ได้ยินร้องในเวลาสร้างเมืองนั้นมาตั้งเป็นชื่อเมืองว่า สุงสุมารคิระ

ส่วน เภสกลาวัน ที่อยู่ชานเมืองนั้น คำว่า เภสกลา มติหนึ่งว่าเป็นชื่อยักษิณี ซึ่งเป็นผู้สิงสถิตอยู่ที่ป่านั้น อีกมติหนึ่งว่า เภสกลา แปลว่าไม้สีเสียด เกสกลาวัน ก็แปลว่า ป่าไม้สีเสียด แต่รวมความก็เป็นชื่อของวนะแห่งนั้น

พระพุทธเจ้าได้ประทับจำพรรษาอยู่ที่วนะ อันชื่อว่าเภสกลานั้น ได้มีเรื่องเกิดขึ้นในสมัยที่ประทับอยู่ ณ ที่แห่งนั้น ที่ควรจะเล่าก็คือ โพธิราชกุมาร ซึ่งเป็นผู้ครองแคว้นนั้นได้สร้างปราสาทใหม่สำเร็จขึ้นองค์หนึ่งชื่อว่า โกกนุทปราสาท ยังไม่ไปประทับ จึงทรงส่งมหาดเล็กชื่อว่า สัญชิกาบุตร มาเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลเชิญเสด็จพระพุทธเจ้าไปเสวยที่ปราสาทสร้างใหม่ พระพุทธเจ้าพร้อมกับภิกษุสงฆ์ก็ทรงรับอาราธนา และเมื่อได้เวลาในวันรุ่งขึ้นก็ได้เสด็จไปยังปราสาทของพระราชกุมารพร้อมกับภิกษุสงฆ์ พระราชกุมารได้ให้ปูผ้าขาวที่บันไดขึ้นปราสาท ตั้งแต่บันไดขั้นแรกขึ้นไปโดยตลอด เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จถึง พระราชกุมารก็ได้ทรงมาต้อนรับที่หน้าปราสาท และได้ขอให้พระพุทธเจ้าเสด็จดำเนินนำหน้า พระองค์ก็เสด็จตามหลัง พระพุทธเจ้าเสด็จไปถึงขั้นบันไดปราสาทนั้นแล้ว ก็ทรงหยุดไม่ได้เสด็จขึ้น พระราชกุมารก็กราบทูลอัญเชิญให้เสด็จขึ้น พระพุทธเจ้าก็ทรงนิ่ง พระราชกุมารได้กราบทูลถึง ๓ ครั้ง พระพุทธเจ้าจึงได้ทอดพระเนตรไปที่พระอานนท์ พระอานนท์ก็ได้ทูลแก่พระราชกุมารว่า พระตถาคตไม่ทรงเหยียบผ้าขาว ขอให้พระราชกุมารให้เก็บออกเสีย พระราชกุมารจึงให้เก็บผ้าขาวออก พระพุทธเจ้าก็ได้เสด็จขึ้นสู่ปราสาท พระราชกุมารก็ได้ทรงอังคาสอาหารถวายพระพุทธเจ้าเสวยเสร็จแล้วก็ทรงอนุโมทนาแล้วก็เสด็จกลับ เมื่อเสด็จกลับแล้ว ก็มีพระพุทธบัญญัติห้ามภิกษุเหยียบผ้าขาว แต่ว่าต่อมาก็ทรงผ่อนให้เหยียบผ้าขาวที่เขาปูไว้สำหรับต้องการจะให้พระเหยียบเป็นมงคลได้

ในตอนนี้พระอรรถกถาจารย์ได้เล่าว่า พระราชกุมารได้ทรงอธิษฐานพระหทัยว่า ถ้าพระพุทธเจ้าทรงเหยียบผ้าที่พระองค์ให้ปูไว้ก็จะได้พระโอรส เพราะไม่มีพระโอรสพระธิดา และยังได้เล่าถึงนายช่างที่สร้างปราสาทของโพธิราชกุมารไว้ว่า เมื่อได้สร้างปราสาทจวนจะเสร็จ พระราชกุมารก็ให้เอาคนล้อมไว้ไม่ให้นายช่างออก เพราะกำหนดไว้ว่า เมื่อสร้างเสร็จแล้วจะฆ่านายช่างเสีย เพื่อไม่ให้ไปสร้างที่อื่นให้เหมือนกัน ฝ่ายนายช่างรู้ ก็แสร้งว่าทำยังไม่เสร็จ ขอเบิกเอาไม้และสิ่งต่างๆ ตามที่ต้องการเข้าไปสร้างนกยนต์ไว้บนชั้นบนของปราสาท เมื่อสร้างปราสาทเสร็จแล้ว ก็หาวิธีนำบุตรภริยาขึ้นนกยนต์นั้น และบินหนีไปสร้างเมืองขึ้นอีกเมืองหนึ่ง และก็ตั้งตนเป็นผู้ครองเมืองนั้นชื่อว่า กัฏฐวาหนะราชา

ในระหว่างที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ วนะแห่งนี้ ก็ได้ทรงบัญญัติสิกขาบทแห่งสุราปานวรรคที่ห้ามไม่ให้ภิกษุก่อไฟผิง

อีกเรื่องหนึ่ง ได้มีคฤหบดีผู้หนึ่งชื่อว่า นกุลปิตา พร้อมกับภริยาได้เป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าเป็นอันมาก พระอรรถกถาจารย์ได้เล่าว่า สามีภรรยาทั้งคู่นี้ได้มีความรักพระพุทธเจ้าเหมือนอย่างบุตร และได้เรียกพระพุทธเจ้าว่าบุตร ในคราวหนึ่ง นกุลปิตาได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และได้กราบทูลว่าตนเป็นผู้แก่เฒ่ามากแล้ว จะไม่ได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ได้เนืองนิตย์ เพราะฉะนั้น ก็ขอให้พระองค์ทรงโอวาทอนุศาสน์ เพื่อจะให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลและความสุขตลอดกาลนาน

พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสโอวาทโดยย่อว่ากายนี้ซึ่งเป็นรังโรค เป็นของอาดูร คือกระสับกระส่าย เมื่อบุคคลบริหารกายนี้อยู่ด้วยความพินิจพิจารณา ถ้าไม่หลงไม่เขลา จะพึงรับรองว่ากายนี้ไม่มีโรคแม้ครู่หนึ่งก็หาได้ไม่ เพราะฉะนั้น ก็ให้ศึกษาว่า เมื่อกายอาดูรคือกระสับกระส่าย จิตจักไม่อาดูรคือกระสับกระส่าย ให้คฤหบดีศึกษาดั่งนี้

ฝ่ายนกุลปิตานั้น เมื่อได้สดับพระพุทธโอวาทโดยย่ออย่างนั้น ก็ได้ไปหาพระสารีบุตร ขอให้ท่านอธิบายความให้พิสดาร ท่านพระสารีบุตรก็ได้อธิบายความให้ฟังโดยความว่า

บุคคลที่มีกายกระสับกระส่าย มีจิตกระสับกระส่ายด้วยนั้นอย่างไร คือบุคคลที่ไม่ฉลาดรู้ธรรมของพระอริยเจ้า ไม่ได้รับการแนะนำในสัปปุริสธรรม ย่อมเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยความเป็นตน หรือว่าเห็นตนว่ามีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณในตน หรือว่าเห็นตนในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้น จึงเป็นผู้ที่มีความกำหนดยึดถืออยู่ว่า เราเป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ, รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นของเรา เมื่อเป็นเช่นนี้ เมื่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป จึงเกิดความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจขึ้น เพราะความแปรปรวนนั้น อย่างนี้ชื่อว่ามีกายกระสับกระส่ายด้วย มีจิตกระสับกระส่ายด้วย ส่วนบุคคลผู้ที่มีกายกระสับกระส่าย แต่มีจิตไม่กระสับกระส่ายนั้นอย่างไร คือบุคคลผู้ที่ฉลาดรู้อริยธรรม ได้รับการแนะนำดีในสัปปุริสธรรม ไม่เห็นเหมือนอย่างนั้น จึงไม่มีความกำหนดยึดถืออยู่ว่า เราเป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ, รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นของเรา เมื่อเป็นเช่นนี้ เมื่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่เกิดความโศกเป็นต้นขึ้น อย่างนี้ชื่อว่ามีกายกระสับกระส่าย แต่ว่ามีจิตไม่กระสับกระส่าย

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อใกล้จะเสด็จสวรรคต ได้ทรงพระราชนิพนธ์คำลาพระสงฆ์เป็นภาษาบาลี และโปรดฯ ให้มาอ่านลาพระสงฆ์ที่พระอุโบสถวัดราชประดิษฐ์ฯ ก็ได้ทรงเก็บความแห่งพระพุทธภาษิตนี้มาทรงประพันธ์เป็นคาถาไว้บทหนึ่งว่า

อาตุรสฺมิมฺปิ เม กาเย     จิตฺตํ น เหสฺสตาตุรํ

เอวํ สิกฺขามิ พุทฺธสฺส    สาสนานุคตึ กรํ

แปลว่า เมื่อกายของเราแม้อาดูรกระสับกระส่าย จิตจักไม่อาดูร

เรากระทำตามศาสนาของพระพุทธเจ้า ศึกษาอยู่อย่างนี้


จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๓ หน้า ๒๐ – ๒๓