Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๐๘

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

เล่ม ๓
(พรรษาที่ ๘ – พรรษาที่ ๙)

พรรษาที่ ๘
เภสกลาวัน ใกล้สุงสุมารคิระ


ปัญหาในอริยภูมิ

พรรษาที่ ๘ ของพระพุทธเจ้า พระอรรถกถาจารย์ซึ่งได้เขียนคัมภีร์อรรถกถา ในสมัยเมื่อพระพุทธศาสนาล่วงได้แล้วประมาณ ๑,๐๐๐ ปีเศษ ได้เขียนเล่าไว้ว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงเทศน์อภิธรรมโปรดพระพุทธมารดากับเทพยดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ตลอดไตรมาส ในวันมหาปวารณาออกพรรษาก็ได้เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มายังเมืองมนุษย์ที่ นครสังกัสสะ ได้มีหมู่มนุษย์ทุกชั้น ตั้งต้นแต่พระเจ้าแผ่นดิน ได้ไปรอเฝ้ารับการเสด็จลงมาของพระพุทธเจ้าเป็นอันมาก เมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จลงมาแล้ว ก็ได้ตรัสถามปัญหาแก่บุคคลตั้งต้นแต่ภูมิชั้นต้นชั้นต่ำ จนถึงภูมิชั้นสูง เมื่อทรงตั้งปัญหาถามในภูมิชั้นใด บุคคลผู้ได้ภูมิชั้นนั้นแล้วก็ตอบปัญหานั้นได้ แต่ก็ไม่อาจจะตอบปัญหาที่สูงกว่าภูมิของตนได้ ได้ตรัสถามเรื่อยจนถึงภูมิของพระอัครสาวกเบื้องขวาคือพระสารีบุตร พระสารีบุตรก็ตอบได้ แต่เมื่อทรงได้ตั้งปัญหาถามในชั้นพุทธภูมิที่สูงกว่าภูมิของพระสารีบุตร พระสารีบุตรก็ตอบไม่ได้ ที่ตอบไม่ได้นั้น ก็เพราะไม่ทราบพระพุทธอัธยาศัยว่า จะมีพระพุทธอัธยาศัยให้ตอบโดยนัยไหน

ท่านยกตัวอย่างปัญหาที่ถามในพุทธภูมิว่าบุคคลผู้ที่มีธรรมอันนับแล้ว คือพิจารณารู้ตลอดแล้ว (หมายถึงพระอเสขบุคคล คือพระอรหันต์) กับบุคคลผู้ที่ยังเป็นเสขะ (คือยังต้องศึกษาอยู่ หมายถึงท่านผู้บรรลุภูมิพระโสดาบันขึ้นมา จนถึงภูมิของพระอนาคามี) บุคคล ๒ จำพวกนี้มีความประพฤติเป็นอย่างไร

ปัญหานี้พระสารีบุตรไม่ทราบพระพุทธอัธยาศัยว่า มุ่งจะให้ตอบในนัยไหน แต่เมื่อพระพุทธเจ้าได้ประทานนัย มุ่งจะให้ตอบในนัยของขันธ์ พระสารีบุตรก็เกิดปฏิภาณขึ้นจึงตอบได้

ข้อที่ท่านเล่าไว้นี้ก็น่าฟังอยู่เหมือนกัน ในการตอบปัญหานั้น จำจะต้องรู้นัยคือความประสงค์ของปัญหาหรือของผู้ถาม เมื่อตอบให้ถูกตามความประสงค์ก็เป็นอันใช้ได้ ดั่งปัญหาธรรมว่า คนดีนั้นคือคนอย่างไรก็กว้างมาก ถ้าจะตอบยกเอาธรรมในนวโกวาทมา ก็ได้เกือบจะทุกข้อ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องพิจารณาให้รู้ความประสงค์ของผู้ถามหรือของปัญหาว่า มุ่งจะให้ยกเอาธรรมข้อไหนขึ้นมาตอบ และเมื่อตอบให้ถูกความประสงค์ได้ก็เป็นอันใช้ได้ ตอบนิดเดียวก็ใช้ได้ แต่ถ้าตอบผิดความประสงค์ ยกเอาธรรมมาตอบทั้งเล่ม บางทีก็ไม่ได้เหมือนกัน นี้ยกเป็นตัวอย่าง เพราะฉะนั้นเมื่อมาถึงปัญหาที่เป็นพุทธภูมิ พระสารีบุตรก็จำจะต้องได้นัย และเมื่อได้นัยแล้วก็ตอบได้

 

  อาจารย์ผู้นิดหนึ่งก็ไม่มี

พระพุทธเจ้าได้ทรงสรรเสริญพระสารีบุตรว่า เป็นผู้มีปัญญามาก เป็นผู้ที่สามารถจะปฏิบัติธุระแห่งพระองค์ได้ และท่านได้เล่าว่า ได้ตรัสชาดกเรื่องหนึ่ง ยกย่องพระสารีบุตรมีความว่า

ได้มีดาบสคณะหนึ่งประพฤติพรตอยู่ในป่า มีอาจารย์เป็นผู้อบรมสั่งสอนหมู่ดาบสทั้งหลาย บรรดาศิษย์เหล่านั้น ได้มีศิษย์ผู้หนึ่งเป็นผู้ฉลาด และได้รับยกย่องให้เป็นหัวหน้าศิษย์ทั้งหลาย คราวหนึ่ง หัวหน้าศิษย์คนนั้นก็ได้ลาอาจารย์ พาคณะศิษย์หมู่หนึ่งไปอยู่ในละแวกบ้าน ฝ่ายอาจารย์ก็เกิดอาพาธขึ้น และเมื่อใกล้จะถึงมรณะ ศิษย์ทั้งหลายก็ได้ถามอาจารย์ว่า อาจารย์บรรลุธรรมอะไรบ้าง อาจารย์ก็ตอบว่า นิดหนึ่งก็ไม่มี

พวกศิษย์ได้ยินดังนั้นก็เสียใจว่า อาจารย์ไม่ได้บรรลุธรรมอะไรเลย เมื่ออาจารย์ถึงมรณะแล้วก็ไม่ทำสักการะแก่ศพ ฝ่ายศิษย์ผู้เป็นหัวหน้าเมื่อกลับมาแล้วได้ทราบว่าอาจารย์ถึงมรณะ และได้ทราบเรื่องที่หมู่ศิษย์ได้ฟังปฏิญญาของอาจารย์เมื่อใกล้จะตาย และก็พากันไม่นับถือไม่สักการะศพ จึงได้ชี้แจงอธิบายว่า อาจารย์บรรลุ อรูปฌานชั้นที่ ๓

อรูปฌานชั้นที่ ๑ นั้น มีอารมณ์ว่า อากาศไม่มีที่สุด ชื่อว่า อรูป คือไม่มีรูป ก็เพราะกำหนดอากาศไม่มีที่สุดเป็นอารมณ์ ในอากาศนั้นไม่มีรูปอะไร เมื่อจิตแน่วแน่ในอารมณ์นี้ก็ชื่อว่า ได้อรูปที่ ๑

อรูปที่ ๒ นั้น มีอารมณ์ว่า วิญญาณไม่มีที่สุด คือว่ารู้ไม่มีที่สุด อากาศไม่มีที่สุดเท่าใด รู้ก็ออกไปไม่มีที่สุดเท่านั้น และในตัวรู้ก็ไม่มีอะไรอีกเหมือนกัน คือไม่มีรูปอะไร เมื่อตั้งต้นด้วยอากาศที่ไม่มีรูปอะไร รู้ที่สูงขึ้นไปซึ่งแผ่ออกไปไม่มีที่สุด ก็ไม่มีรูปอะไรอีกเหมือนกัน เมื่อจิตแน่วแน่อยู่ในอารมณ์นี้ก็ชื่อว่า ได้อรูปที่ ๒

อรูปที่ ๓ นั้น มีอารมณ์ว่า น้อยหนึ่งก็ไม่มี หรือว่านิดหนึ่งก็ไม่มี เพราะเมื่อเลื่อนขึ้นมาจากชั้นที่ ๑ และชั้นที่ ๒ ซึ่งไม่มีรูปอะไรอยู่ในอากาศ อยู่ในตัวรู้ ฉะนั้น เมื่อจะเน้นค้นลงไปว่ามีอะไรอยู่บ้าง ก็ไม่มีอะไรทั้งนั้น จึงได้กำหนดลงไปว่าน้อยหนึ่งก็ไม่มี หรือว่านิดหนึ่งก็ไม่มี เมื่อจิตแน่วแน่อยู่ในอารมณ์นี้ก็ชื่อว่า ได้อรูปที่ ๓

ส่วน อรูปที่ ๔ นั้น จิตแน่วแน่อยู่ในอารมณ์ที่ไม่มีอะไร คือไม่มีรูปอะไรยิ่งขึ้น สัญญาคือความกำหนดหมายก็ไม่ต้องใช้อะไร เพราะไม่มีอะไรจะกำหนดก็อ่อนลงไป เวทนาก็อ่อนลงไป เพราะไม่มีอารมณ์อะไรที่จะมาก่อเวทนา รูปอะไรน้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มี จนถึงขั้นที่เรียกว่า มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่ คือว่ามีอยู่บ้าง แต่ไม่พอจะใช้อย่างปกติ จะเรียกว่าไม่มีก็ไม่ได้ จะเรียกว่ามีก็ไม่ได้ คล้ายๆ กับเกือบจะหลับ หรือว่าเกือบจะดับลงไป แต่ก็ไม่หลับไม่ดับ นี้เรียกว่า เป็นอรูปที่ ๔

พิจารณาดูใน โสฬสปัญหา ท่านที่มุ่งจะบำเพ็ญวิปัสสนาต่อ ถ้าจะเล่นทางสมาธิให้ได้ฌาน ก็มักจะดำเนินมาถึงชั้นที่ ๓ คือน้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มี และก็จับบำเพ็ญวิปัสสนาต่อ ไม่ไปถึงชั้นที่ ๔ พิจารณาดูถ้าไปถึงชั้นที่ ๔ แล้ว จิตจะอ่อนกำลังเต็มที่ คือว่านามธรรมนั้นเป็นกำลังของจิต นามธรรมอ่อนลงไปทุกที ไม่พอจะใช้พิจารณาอะไรให้เกิดความรู้

ถ้าจะดำเนินไปอยู่ถึงชั้นที่ ๔ ก็ต่อออกไปอีกชั้นหนึ่งเรียกว่า นิโรธสมาบัติ เข้านิโรธ คือเข้าดับ ซึ่งเป็นชั้นที่ ๙ นับรูปฌาน ๔ และอรูป ๔ และนิโรธคือดับไปอีก ๑ ก็เป็น ๙

ดับอะไร ก็คือ ดับสัญญาดับเวทนาหมด นามธรรมทั้งหมด ก็คงไม่ต่างอะไรกับหลับสนิท ซึ่งท่านแสดงว่า พระอรหันต์ พระปัจเจกโพธิ ได้เข้านิโรธสมาบัติ คือเข้ารูปฌานอรูปฌานมาโดยลำดับ จนถึงชั้นนิโรธสมาบัตินี้ ในบางครั้งบางคราว และอย่างนานก็เข้านิโรธถึง ๗ วัน โดยปกติท่านแสดงไว้อย่างนี้ แต่ก็ไม่ใช่ทำเสมอ ต้องการพักนานๆ ก็เข้านิโรธเป็นบางครั้งบางคราว

ศิษย์ที่เป็นหัวหน้าจึงได้ชี้แจงว่า อาจารย์บรรลุอรูปชั้นที่ ๓ ไม่ใช่ว่าไม่บรรลุคุณวิเศษอะไรเลย เพราะฉะนั้น ท่านจึงได้กล่าวสรรเสริญไว้ว่า ถึงคนจะมาประชุมกันกว่าพันคน แต่ว่าไม่มีปัญญา พากันคร่ำครวญอยู่ตั้งร้อยปีก็ตาม คนๆ เดียวที่มีปัญญารู้เนื้อความของภาษิต ประเสริฐกว่า

ในตอนที่เสด็จลงจากดาวดึงส์ ท่านได้แสดงอภินิหารไว้มาก เป็นต้นว่า พาดบันไดลงมาจากชั้นดาวดึงส์ถึงเมืองสังกัสสะ และอภินิหารนี้ได้เป็นที่เชื่อถือกันมาตลอดเวลาช้านาน เมื่อหลวงจีนฟาเหียนกับถังซำจั๋งไปอินเดีย และได้เขียนจดหมายเหตุไว้ ก็ได้เล่าถึงความเชื่อถือในอภินิหารเหล่านี้

ได้เคยถามบางท่านว่า ในฝ่ายมหายานเคยมีถอดความเรื่องนี้ไว้บ้างหรือไม่ ก็ได้รับตอบว่ายังไม่เคยมีใครถอดความเรื่องนี้ไว้แต่อย่างไร ก็แสดงกันไปหรือว่าเชื่อกันไปอย่างนั้น แต่ก็ฟังได้อย่างหนึ่งว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปถึงเมืองสังกัสสะนั้น ในคราวหนึ่งหรือหลายครั้ง และประชาชนก็ได้มีศรัทธาเลื่อมใสกันเป็นอันมาก

เรื่องที่เล่าว่า ได้ทรงตั้งปัญหาถามบุคคลทุกภูมิชั้นนั้น ก็แสดงว่าได้มีการสนทนาธรรมกันอย่างกว้างขวาง และในตอนนี้ก็เล่าถึงอภินิหารเรื่องพระเจ้าเปิดโลก หมายความว่ามนุษย์เห็นเทวดาเห็นสัตว์นรก เทวดาก็เห็นมนุษย์เห็นสัตว์นรก สัตว์นรกก็เห็นมนุษย์เห็นเทวดา แปลว่า เห็นกันตลอดหมด ตามนี้ก็เข้าใจง่ายๆ ว่า ได้มีการแสดงธรรมที่เป็นส่วนเหตุและแสดงธรรมที่เป็นส่วนผล อันจะพึงได้รับทุกภูมิทุกชั้น ดังที่เล่าว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสถามปัญหาแก่บุคคลทุกภูมิชั้น ตั้งแต่ชั้นต้นชั้นต่ำ จนถึงชั้นพุทธภูมิซึ่งเป็นชั้นที่จะต้องทรงตอบเอง หรือว่าประทานนัยให้พระสารีบุตรเป็นผู้ตอบ

ความเชื่อถือเรื่องเสด็จลงจากเทวโลกนี้ได้มีมาตั้งแต่เก่าแก่ เมื่อครั้งสร้างพระพุทธรูปเริ่มแรกก็ได้มีพระพุทธรูปปาง เทโวโรหนะ แปลว่า เสด็จลงจากเทวโลก และความเชื่อนี้ก็ยังได้แผ่เข้ามาในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้งหลาย ดังที่มีนิยมใส่บาตรวันเทโวคือวันออกพรรษา ในบางแห่ง เช่นนครปฐม วันออกพรรษานั้นนิมนต์พระจากวัดต่างๆ ไปรวมกันอยู่บนเนินองค์พระปฐม และประชาชนก็มาตั้งขันใส่บาตรกันข้างล่าง ๒ ข้างทาง พระก็เดินลงมาจากเนินองค์พระปฐม ดูเป็นเดินมาจากบันไดสูงๆ แล้วก็ใส่บาตร มีนิยมกันมาทุกปี เรียกว่า ใส่บาตรวันเทโว หรือเทโวโรหนะ เสด็จลงจากดาวดึงส์

เมืองสังกัสสะนี้ในอรรถกถาธรรมบทว่า ไกลจากเมืองสาวัตถี ๓๐ โยชน์ แต่ว่าเมื่อรวมระยะทางในบัดนี้ ประมาณ ๒๗๐ ไมล์ ก็ใกล้เคียงกันกับจำนวนที่ให้ไว้ว่า ๓๐ โยชน์นั้น

 


จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๓ หน้า ๑๓ – ๑๘