Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๐๗

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

กำเนิดของคน

อภิธรรมปิฎกนี้ ผู้ที่วิจารณ์บางท่านก็ได้แสดงความเห็นว่า อาจเป็นอธิบายของพระสุตตันตปิฎกได้ในหลายประการ ในพระสุตตันตปิฎก บางเรื่องแสดงไว้แต่หลักใหญ่ๆ บางทีก็อาจมาหาอธิบายเพิ่มเติมได้จากคัมภีร์อภิธรรม หรือว่าบางทีดูรายละเอียดในคัมภีร์อภิธรรม แต่ยังไม่อาจจะประมวลหลักลงได้ ก็อาจจะไปหาหลักเป็นที่ประมวลได้ในสุตตันตปิฎก ดั่งเช่นเรื่องการก่อกำเนิดของคน มีแสดงไว้ในอภิธรรมปิฎกดังที่กล่าวมาแล้ว เกี่ยวแก่รูปก็ตั้งต้นมีรูปชนิดไหนเกิดขึ้นบ้าง และเริ่มต้นด้วยจิตอะไรมาโดยลำดับ แต่ก็ยังเป็นรายละเอียดในกระแสปัจจุบัน ถ้าได้ศึกษาให้รู้คู่กันไปกับหลักเกณฑ์ที่มีไว้ในพระสูตรด้วย ก็จะได้ความรู้ที่สมบูรณ์ขึ้น เพราะฉะนั้น จะได้ยกถึงเรื่องก่อกำเนิดของคนในพระสูตรมากล่าวไว้เป็นการเทียบเคียงด้วย

ใน ธาตุวิภังคสูตร ได้แสดงว่า บุรุษคือคนนี้ มี ธาตุ ๖ ได้แก่ ปฐวีธาตุ ธาตุดิน อาโปธาต ธาตุน้ำ เตโชธาตุ ธาตุไฟ วาโยธาตุ ธาตุลม อากาสธาตุ ธาตุอากาศ และวิญญาณธาตุ ธาตุรู้

มีปัญหาว่าธาตุทั้ง ๖ นี้ก่อกำเนิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไร

ใน ติกนิบาต อังคุตตรนิกาย มีกล่าวขยายความไว้ว่า อาศัยธาตุทั้ง ๖ ครรภ์จึงก้าวลงคือตั้งครรภ์ เมื่อครรภ์ตั้งลง ก็เกิดนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัย ก็เกิดอายตนะ ๖ เป็นต้น ตามพระบาลีนี้ส่องว่า ต้องมีวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ ซึ่งเป็นธาตุที่ ๖ ประกอบอยู่ด้วย ครรภ์จึงก้าวลง ซึ่งหมายความว่าตั้งครรภ์

ในการตั้งครรภ์นั้น ใน มหาตัณหาสังขยสูตร ได้กล่าวไว้ มีความว่าเพราะประชุมแห่งองค์ ๓ ครรภ์จึงก้าวลง หมายความว่าตั้งครรภ์ คือ มารดาบิดาสันนิบาต หมายความว่าอยู่ด้วยกัน ๑ มารดามีระดู หมายความว่าอยู่ในระหว่างระดู ๑ คันธัพพะ ท่านอธิบายว่าสัตว์ผู้เข้าถึงในครรภ์คือสัตว์ผู้จะเกิดปรากฏขึ้น ๑ เพราะความประชุมแห่งองค์ ๓ เหล่านี้ ครรภ์จึงก้าวลง คือสัตว์ผู้เกิดในครรภ์มาถือกำเนิด ซึ่งถือกันว่าตั้งครรภ์นั้น มารดาบริหารครรภ์ ๙-๑๐ เดือนก็คลอดบุตร และโดยปกติก็เลี้ยงด้วยโลหิตคือน้ำนมของตน

การที่สัตว์มาถือกำเนิดในครรภ์ดังกล่าวนั้น เกิดเป็นตัวขึ้นทีเดียวหรือว่าตั้งต้นมาอย่างไรโดยลำดับ

มีบาลีเล่าไว้ใน สคาถวรรค สังยุตตนิกาย ว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าได้ประทับอยู่ที่ภพ คือ ที่อาศัยของอินทกยักษ์ ก็คงจะเป็นคนประเภทที่เขาเกรงกลัวว่า ดุร้ายที่สุด เรียกว่า อินทกะ บนภูเขาอินทกูฏที่ใกล้กรุงราชคฤห์

ยักษ์ผู้นั้น ท่านกล่าวว่าเป็นผู้มีความเห็นว่า สัตว์ผู้เกิดในครรภ์นั้นก็เกิดเป็นตัวขึ้นมาทีเดียว ถ้าตั้งต้นเป็นจุดเล็กๆ ขึ้นมา ก็คงจะต้องย่อยเป็นอาหารไปหมด เหมือนอย่างว่ามารดาได้บริโภคอาหารเข้าไป จะเป็นเนื้อหรือเป็นผักอะไรก็ตาม ก็ย่อยเป็นอาหารไปหมด ถ้าหากว่าเด็กตั้งต้นเป็นจุดเล็กๆ ขึ้นมา ก็คงจะต้องย่อยไปหมด จะต้องเกิดเป็นตัวขึ้นมาทีเดียว จึงได้กราบทูลถามพระพุทธเจ้า ซึ่งท่านได้ผูกเป็นคาถาไว้ว่าพระพุทธะทั้งหลาย ย่อมกล่าวว่า รูปไม่ใช่ชีวะ สัตว์นี้ย่อมได้สรีระนี้อย่างไร กระดูกและเนื้อของสัตว์นั้นมาจากไหนกัน สัตว์นี้ย่อมข้องคือบังเกิดในครรภ์อย่างไร

พระพุทธเจ้าได้ตรัสตอบที่ท่านได้ผูกเป็นคาถาไว้ว่า กลละมีขึ้นก่อน จากกลละก็เป็นอัมพุทะ จากอัมพุทะก็เป็นเปสิ จากเปสิก็เป็นฆนะ จากฆนะก็เกิดเป็นกิ่งที่แตกออกไป ผม ขน เล็บ เป็นต้น ก็เกิดขึ้น มารดาบริโภคโภชนะข้าวน้ำอันใด นรชนผู้อยู่ในครรภ์ของมารดานั้น ก็เลี้ยงอัตภาพด้วยอาหารนั้นในครรภ์ของมารดานั้น

ตามพระบาลีนี้ จึงมีจุดก่อกำเนิดเป็นกลละก่อน ที่ ๒ ก็เป็นอัมพุทะ ที่ ๓ ก็เป็นเปสิ ที่ ๔ เป็นฆนะ ที่ ๕ ก็แตกสาขา และต่อไปก็เกิดส่วนอื่นๆ

พระอรรถกถาจารย์ได้กล่าวอธิบายไว้ว่า กลละ ที่เป็นจุดแรกก่อกำเนิดนั้น ประมาณหยาดน้ำมันงาติดที่ปลายด้ายที่ฟั่นด้วยปลายขนทราย ๓ เส้น คือเป็นอย่างหยาดน้ำมันงานิดหนึ่ง ที่เรียกว่า กลละหนึ่ง มีในสัปดาห์ที่ ๑

สัปดาห์ที่ ๒ ก็เป็น อัมพุทะ ว่ามีสีอย่างน้ำล้างเนื้อ

สัปดาห์ที่ ๓ ก็เป็น เปสิ มีลักษณะคล้ายดีบุกเหลว หรือว่าอย่างน้ำใสๆ ที่คั้นจากกะทิสด

สัปดาห์ที่ ๔ ก็เป็น ฆนะ คือเป็นก้อนเนื้อกลมๆ เหมือนไข่ไก่

สัปดาห์ที่ ๕ จึงเป็น สาขา คือแตกเป็นกิ่ง ๕ กิ่ง ที่จะเป็นมือเป็นเท้า ๔ กิ่ง จะเป็นศีรษะอีก ๑ กิ่ง

สัปดาห์ที่ ๖ ที่ ๗ จนถึงสัปดาห์ที่ ๔๒ ก็เปลี่ยนเป็นรูปที่บริบูรณ์ขึ้นเรื่อย จนถึงมีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น เป็นรูปบริบูรณ์ จนถึงคลอดออกมา

นี่ก็เป็นเรื่องที่แสดงไว้ติดอยู่ในพระไตรปิฎก สัตว์มาเกิดขึ้นด้วยอย่างไร และมีพระพุทธภาษิตตรัสตอบพระอานนท์ใน อังคุตตรนิกาย เก็บเอามาเฉพาะที่ต้องการว่า

พระอานนท์ได้ทูลถามว่า ภพมีด้วยเหตุอะไร

พระพุทธเจ้าได้ตรัสถามพระอานนท์ว่า ถ้ากรรมให้วิบากในกามธาตุ ในรูปธาตุ ในอรูปธาตุ หมายความว่ากรรมที่จะให้ไปเกิดในกามภพ รูปภพ อรูปภพ ถ้าไม่มี ภพต่างๆ ดั่งกล่าวจะปรากฏหรือ

พระอานนท์ก็กราบทูลว่า ปรากฏหามิได้

พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่า กมฺมํ เขตฺตํ กรรมเป็นเหมือนนา วิญฺญาณํ พีชํ วิญญาณเป็นเหมือนพืชที่หว่านลงในนา ตณฺหา สิเนโห ตัณหาเหมือนยางเหนียวมีอยู่ในพืช อันจะทำให้พืชนั้นปลูกงอกงามขึ้นได้

เพราะฉะนั้น เมื่อยังมีกรรม วิญญาณ และตัณหาอยู่ ก็ยังจะต้องไปเกิดในภพต่างๆ คือหมายความว่า ยังมีอวิชชาเป็นเครื่องกั้นอยู่ ยังมีตัณหาเป็นสัญโญชน์คือเครื่องผูกอยู่ ในพระสูตรได้แสดงไว้โดยย่อดั่งนี้ คราวนี้เมื่อต้องการจะไปหารายละเอียดว่าในขณะที่ถือปฏิสนธินั้น จิตเป็นอย่างไร รูปเป็นอย่างไร เรื่อยไปจนถึงจุติ นั่นก็ต้องไปดูรายละเอียดในอภิธรรม แต่ว่าเมื่อจะประมวลเป็นหลักใหญ่ก็ไปหาได้จากพระสูตรดั่งกล่าวมานี้

 

 นิพพาน

หลักใหญ่ในอภิธรรมอีกอย่างหนึ่ง คือ นิพพาน ซึ่งเป็นหลักที่ครบ ๔ ท่านอธิบายไว้ในที่นี้ว่า เรียกว่า นิพพาน ก็เพราะออกจากตัณหา ที่มีชื่อเรียกว่า วานะ ซึ่งแปลว่า เครื่องเสียบแทง เหมือนอย่างลูกศรซึ่งเป็นเครื่องเสียบแทง พูดอย่างง่ายๆ โดยไม่ต้องอาศัยพยัญชนะในอภิธรรมหรือในที่อื่นก็ว่า เมื่อถอนลูกศรคือกิเลสในจิตใจออกทั้งหมดได้ ก็เป็นนิพพาน เพราะฉะนั้น ตามสภาพ นิพพานจึงมีเพียงอย่างเดียว แต่อาจจำแนกโดยเหตุบางประการได้ ๒ คือ

สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุที่มีปัญจขันธ์เหลือ ได้แก่นิพพานของพระอรหันต์ผู้ยังมีชีวิตอยู่ และ

อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุที่ไม่มีปัญจขันธ์เหลือ ได้แก่นิพพานธาตุของพระอรหันต์ผู้ที่ดับขันธ์แล้ว


อีกอย่างหนึ่ง อาจจะแยกโดยอาการได้เป็น ๓ คือ

สุญญตนิพพาน นิพพานที่ว่างกิเลส

อนิมิตตนิพพาน นิพพานที่ไม่มีกิเลสเป็นนิมิตเครื่องหมาย

อัปปณิหิตนิพพาน นิพพานที่ไม่มีกิเลสเป็นที่ตั้ง

ชื่อทั้ง ๓ นี้ บางอาจารย์อธิบายอิงหลักไตรลักษณ์ คือ

เมื่อพิจารณาไตรลักษณ์ข้อ อนัตตา ที่ว่าปัญจขันธ์ไม่ใช่ตัวตน จนจิตว่างจากความยึดถือว่าเป็นตัวเป็นตน บรรลุนิพพานคือความดับกิเลส นิพพานของผู้พิจารณาดังนี้ก็เรียกว่า สุญญตนิพพาน

เมื่อพิจารณาไตรลักษณ์ข้อว่า ไม่เที่ยง คือปัญจขันธ์ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยจนดับ อนิจจา ความไม่เที่ยงปรากฏชัด จะกำหนดลงไปตอนไหนว่าเที่ยงสักแห่งหนึ่งก็ไม่ได้ ความไม่มีนิมิตคือไม่มีที่กำหนดหมาย ก็ปรากฏขึ้น เมื่อบรรลุนิพพาน ก็เรียกว่า อนิมิตตนิพพาน นิพพานที่ไม่มีนิมิต

เมื่อพิจารณาไตรลักษณ์ข้อว่า ปัญจขันธ์เป็นทุกข์ หมายความว่าตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย เมื่อตั้งอยู่ไม่ได้ก็หาที่ตั้งของปัญจขันธ์ไม่ได้ จะไปตั้งอยู่ตรงไหนก็เป็นทุกข์ไปทั้งนั้น บรรลุนิพพาน นิพพานของท่านผู้พิจารณาดังนี้ ก็เรียกว่า อัปปณิหิตนิพพาน นิพพานที่ไม่มีที่ตั้ง

แต่อันที่จริงตามหลักนั้น ไตรลักษณ์ก็ต้องพิจารณาทั้ง ๓ ข้อ และจะต้องพิจารณาเป็นหมวด คือทั้งอนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา ความสิ้นกิเลสถึงจะปรากฏขึ้นได้ เพราะฉะนั้น อธิบายของท่านดั่งกล่าวมานี้ จึงเป็นอธิบายแยกไปตามอาการเท่านั้น แต่ตามทางปฏิบัติแล้วต้องพิจารณา ๓ ลักษณะนั้นประกอบกัน

รวมหลักใหญ่ ในอภิธรรมที่ท่านอนุรุทธาจารย์ได้ยกเป็นหลักประมวลเป็น ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ในคัมภีร์เถรวาทฝ่ายเราแสดงว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงอภิธรรม ๗ คัมภีร์แด่พระพุทธมารดาในเทวโลกชั้นดาวดึงส์ ได้สอบถามดูว่าทางมหายานเขาว่าอย่างไรกันในเรื่องนี้ ก็ได้รับคำตอบว่า มีแสดงเรื่องพระพุทธเจ้าไปเทศน์โปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์เหมือนกัน แต่ว่าไม่ได้แสดงอภิธรรม แสดงพระสูตรๆ หนึ่ง อภิธรรมในมหายานก็มีเหมือนกัน แต่ไม่ได้ยืนยันว่าเป็นพระพุทธภาษิตเหมือนอย่างในเถรวาทเรา อภิธรรมในมหายานนั้นเป็นทำนองอรรถกถา คือเป็นคัมภีร์อธิบายพระสูตร มีชื่อคัมภีร์ก็แตกต่างจากอภิธรรมทั้ง ๗ ในฝ่ายเถรวาทเรา แต่ว่าเนื้อความนั้นจะมีคล้ายกันบ้าง หรือต่างกันอย่างไรยังไม่ทราบ ที่ของมหายานว่าเป็นคำอธิบายนั้นก็เข้าเค้า เพราะคำว่าอภิธรรมในที่แห่งหนึ่งให้ความหมายไว้ว่า คำอธิบายพระธรรม เมื่อพิจารณาดูในอภิธรรม ๗ คัมภีร์ของเราก็เป็นรูปนั้น คือยกเอาหลักธรรมต่างๆ มาประมวลเข้า และจำแนกอธิบายออกไปอย่างกว้างขวาง และในอรรถกถาฝ่ายเราเองก็รับว่า ในภาคมนุษย์นี้พระสารีบุตรเป็นผู้แสดงอภิธรรม แต่ก็ไปอ้างว่า เพราะไปฟังอภิธรรมจากพระพุทธเจ้ามาแสดงแก่ภิกษุที่เป็นศิษย์ของท่าน ถ้าจะถือว่าเป็นตำราที่อธิบายพระธรรม ก็ไม่ทำให้คุณค่าของอภิธรรมนี้ลดลงไป เพราะก็มีสาระที่ควรศึกษา ควรทราบอยู่เป็นอันมาก ดังเช่นที่กล่าวมาแล้ว

 เรื่องอภิธรรมก็ยุติเท่านี้

 

จบเล่ม ๒ (พรรษาที่ ๖ – พรรษาที่ ๗)
จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

พระนิพนธ์สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
เล่ม ๒ หน้า ๒๙๖ – ๓๐๒