Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๐๖

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

เรื่อง “รูป” (ต่อจากฉบับที่แล้ว)

 

ส่วนขณะจิตหนึ่งๆ ที่ว่าประกอบด้วย อุปาทะ ความเกิดขึ้น ฐิติ ความตั้งอยู่ นิโรธะ ความดับ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เรียกว่า ขณะจิตหนึ่งๆ มีบางคัมภีร์แสดงว่าเร็วมาก ด้วยแสดงว่าเวลาขนาดดีดนิ้วมือหนหนึ่งก็ขนาดแสนโกฏิขณะจิต ว่าไว้อย่างนั้น และอายุของรูปธรรม ๑๗ ขณะจิตเท่ากับอายุของรูปธรรมหนึ่งนั้น รูปธรรมในที่นี้ บางคัมภีร์แสดงว่าไม่ใช่หมายถึงรูปที่ตาเห็น แต่หมายถึง อุณหเตโช คือเตโชธาตุ อันได้แก่ความร้อนหรือความอบอุ่น ก็คล้ายๆ กับเป็น พลังงานของรูป และในเรื่องที่เกี่ยวกับเตโชธาตุนี้ ในคัมภีร์อภิธรรมก็มีแสดงไว้คล้าย ๆ กับในปัจจุบันเหมือนกัน คือที่เรียกว่าหนาวนั้น ท่านว่ามีเตโชธาตุน้อยเท่านั้น

รูป ๒๘ ตามที่กล่าวมาแล้วนั้น ได้มีจัดปันประเภทอีกหลายอย่าง เช่นว่า จัดปันเป็นโอฬาริกรูป รูปหยาบ เป็นสุขุมรูป รูปละเอียด

ประสาททั้ง ๕ กับโคจรคือวิสัยหรืออารมณ์ที่คู่กับประสาททั้ง ๕ เรียกว่าเป็นรูปหยาบ เช่น จักขุประสาทก็เป็นสิ่งที่มองเห็นจับต้องได้ และรูปที่ตาเห็นก็เป็นของหยาบ เพราะว่ามองเห็นได้ จับต้องได้ หรือว่าอาจสัมผัสได้

ส่วนรูปที่นอกจาก ๒ หมวดนี้เรียกว่า เป็น สุขุมรูป รูปละเอียด เช่น ชีวิตินทรีย์ อินทรีย์คือชีวิต ซึ่งนับว่าเป็นชีวิตรูป เป็นของละเอียด จับไม่ถูกว่าส่วนไหนมีลักษณะรูปร่างเป็นอย่างไร เพราะเป็นสิ่งที่ประกอบอยู่กับรูปทั้งปวง หรืออย่างกิริยาที่ให้รู้ทางกายที่เรียกว่า กายวิญญัติ กิริยาที่ให้รู้ทางวาจาเรียกว่า วจีวิญญัติ ที่จัดเป็นรูปด้วยเพราะรูปแสดงอาการเช่นนั้น จะจับตัววิญญัติทั้ง ๒ นี้โดยเฉพาะก็ไม่ได้ เพราะว่าประกอบอยู่กับรูปอื่นๆนั้นเอง รูปอื่นนั้นเองแสดงกิริยาและก็ตั้งชื่อเรียกขึ้นเป็นอีกพวกหนึ่ง เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า สุขุมรูป เป็นรูปละเอียด

อีกอย่างหนึ่ง ตาและหูทั้ง ๒ นี้ เรียกว่า เป็นรูปที่รับอารมณ์ที่ไม่ต้องมาถึงตัว เพราะว่า รูปที่ตาเห็น เสียงที่หูได้ยิน เป็นสิ่งที่มีอยู่ในที่ไกลจากตัวเอง แต่ว่าจมูก ลิ้น และกายนี้ เป็นรูปที่รับอารมณ์ที่ต้องมาถูกถึงตัว รวมทั้ง ๕ นี้ก็เรียกว่า เป็นรูปที่รับอารมณ์ แต่ว่านอกจากนี้ก็เรียกว่า เป็นรูปที่ไม่รับอารมณ์

รูปทั้งปวงเหล่านี้มีสมุฏฐานที่เกิดได้แก่ กรรม จิต ฤดู และอาหาร ทั้ง ๔ นี้เรียกว่าเป็น รูปสมุฏฐาน แปลว่า เป็นที่เกิด หรือว่าเป็นที่ตั้งของรูป

กรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศลที่บุคคลได้ปรุงแต่งไว้ ได้ก่อให้เกิดรูปในปฏิสนธิ เพราะฉะนั้น เมื่อหมายถึงรูปในปฏิสนธิ ก็เรียกว่า เป็นรูปที่เกิดจากกรรม

จิตที่ดำเนินสืบต่อมาก็ทำให้เกิดรูปต่างๆ ที่เนื่องกับจิต เป็นต้นว่ารูปที่เป็นกายวิญญัติ ให้รู้ทางกาย วจีวิญญัติ ให้รู้ทางวาจา นี่ก็เกิดจากจิตที่ก่อเจตนาให้แสดงกิริยาให้รู้ดั่งนั้น

คราวนี้เมื่อรูปก่อกำเนิดขึ้น ตั้งอยู่ เตโชธาตุที่มีสมัญญา คือว่าเรียกกันว่าเย็น ว่าร้อน ก็มีส่วนช่วยดำเนินรูปสืบต่อไป รูปที่เตโชธาตุสนับสนุนให้ดำรงอยู่และให้เพิ่มเติมขึ้น เรียกว่า เป็นรูปที่เกิดจากฤดู เกี่ยวแก่ดินฟ้าอากาศ

และต้องอาศัยอาหาร กล่าวคือโอชาของอาหารที่ย่อยเป็นโอชาซึมซาบไปในร่างกาย เป็นเครื่องบำรุงเลี้ยง รูปที่เนื่องด้วยอาหารดังกล่าวนี้ก็ชื่อว่าเป็นรูปที่เกิดจากอาหาร อันหมายถึงโอชาของอาหาร

ส่วน อวินิพโภครูป รูปที่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน แยกกันไม่ได้ มี ๘ อย่างที่แสดงแล้ว อันได้แก่ วรรณะ (สี) คันธะ (กลิ่น) รสะ (รส) โอชาของอาหาร และภูตะทั้ง ๔ เป็น ๘ อย่าง กับอากาสธาตุที่เกิดจากสมุฏฐานทั้ง ๔ รวมกัน

ส่วน ลักษณะรูป รูปที่เป็นเครื่องกำหนดหมายให้เห็นไตรลักษณ์ ได้แก่ความสั่งสมขึ้น ความสืบต่อ รวมเรียกว่า ชาติ ความเกิด และชราของรูป และความไม่เที่ยงของรูปอันหมายถึง มรณะ ความตาย อันนี้ไม่เกดิ จากสมุฏฐานอะไร เพราะเป็นธรรมดา

คราวนี้ในรูปเหล่านี้ที่เราเรียกว่า อย่างหนึ่ง ๆ นั้น ความจริงไม่ใช่อย่างเดียว แต่ว่าอยู่รวมกันเป็นหมวด ดังเช่นเราเรียกว่า จักขุประสาท ก็ไม่ใช่จักษุเพียงอย่างเดียว แต่ว่าประกอบด้วยสิ่งอื่นๆ รวมกันอยู่อีกมาก เป็นแต่เมื่อจะเรียก ก็ยกเอาสิ่งที่เป็นประธานขึ้นมาเรียกเป็นชื่อเท่านั้น

เพราะฉะนั้น รูปแต่ละอย่าง ความจริงจึงรวมกันอยู่เป็นหมวดๆ ท่านเรียกว่า รูปกลาปะ แปลว่า หมวดของรูป หรือว่าก้อนหรือฟ่อนของรูป เหมือนอย่างฟ่อนข้าวหรือฟ่อนหญ้า คือข้าวหรือหญ้าที่เอามามัดรวมกันเป็นฟ่อน และเมื่อจะหยิบยกไปข้างไหนก็หยิบยกไปเป็นฟ่อนๆ รูปนี่ก็เหมือนกัน ก็เรียกกันเพียงชื่อเดียว แต่ก็หมายถึงว่าติดกันไปเป็นฟ่อน

รูปกลาปะ หมวดของรูปหรือว่าฟ่อนของรูปนี้ รวมทั้งหมดถึง ๒๑ แต่ว่าจะยกมาเป็นตัวอย่างเพียงบางหมวดเท่านั้น เช่นที่เรียกว่า จักขุประสาท เมื่อกระจายออกไปแล้วก็มีถึง ๑๐ อย่างรวมกัน ได้แก่ ชีวิต ๑ อวินิพโภครูปอีก ๘ กับจักษุอีก ๑ ก็รวมเป็น ๑๐ เรียกว่า จักขุทสกะ (หมวด ๑๐ รวมทั้งจักษุด้วย)

พิจารณาดูก็อาจจะเห็นได้ว่า ที่เรียกว่า จักขุประสาท นั้นก็จะต้องมีชีวิตประกอบอยู่ด้วย จะต้องมีวรรณะ มีคันธะ มีรสะ และมีโอชาคืออาหาร ประกอบอยู่ด้วย จะต้องมีภูตะทั้ง ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม ประกอบอยู่ด้วย และจะต้องมีตัวจักขุประสาท คือตัวที่ทำให้มองเห็นประกอบอยู่ด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อเรียกว่าจักขุประสาท จึงไม่ใช่เป็นตัวประสาทนั้นเพียงอย่างเดียว ที่ท่านจำแนกไว้ถึง ๑๐ อย่าง รูปอื่นๆ ก็มีลักษณะเป็นอย่างเดียวกัน แต่ว่ามีจำแนกเอาไว้ถึงส่วนประกอบต่างๆ น้อยกว่าบ้าง มากกว่าบ้าง

และรูปกลาปะเหล่านี้ก็เกิดจากสมุฏฐานทั้ง ๔ นั้นเช่นเดียวกัน

ที่เกิดจากกรรมมี ๙ กลาปะ ยกตัวอย่างเช่น จักขุทสกะ หมวด ๑๐ ทั้งจักษุดั่งกล่าวมานั้น

 ที่เกิดจากจิตมี ๖ กลาปะ เช่น วิญญัติทั้ง ๒ ดังกล่าวมานั้น

ที่เกิดจากฤดูคือดินฟ้าอากาศ โดยเฉพาะที่ยกเตโชธาตุ เพราะว่าที่ชื่อว่าฤดูนั้น อุตุหรือฤดู ก็หมายถึงเย็นหรือร้อนที่เป็นสมัญญาเรียกว่า เตโชธาตุ ที่เกิดจากฤดูดังกล่าวมี ๔ กลาปะ เช่น เสียงที่พูด เสียงที่พูดนั้นจะสำเร็จเป็นเสียงได้ก็ต้องประกอบด้วยอวินิพโภครูป ๘ แล้วก็ตัวเสียง ก็รวมเป็น ๙ เรียกว่า สัททนวกะ (หมวด ๙ รวมทั้งเสียงด้วย) จะเกิดเป็นเสียงขึ้นได้ก็ต้องอาศัยอุตุ ถ้าไม่มีอุตุก็เป็นเสียงขึ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น หมวดเสียงนี้จึงชื่อว่าเกิดจากอุตุ หมายถึงที่เป็นตัวเสียงขึ้นมา

แต่ว่าที่จะเป็นวิญญัติ คือที่จะเป็นภาษาให้หมายรู้กันนั้น เกิดจากจิต ต้องมีจิตเข้ามาผสม มีเจตนาจะพูดออกไป

ส่วนที่เกิดจากอาหารนั้น ท่านว่ามี ๒ กลาปะ ได้แก่อวินิพโภครูปทั้ง ๘ ซึ่งเป็นตัวยืนพื้น เป็นรูปที่ยืนพื้นอยู่ และความเบา ความอ่อน ความควรแก่ การงานของกาย กับอวินิพโภครูปทั้ง ๘ นั้น ประกอบกันเป็นอีกหมวดหนึ่ง เรียกว่าหมวด ๑๑ คือว่าหมวด ๘ ที่เรียกว่า อวินิพโภครูปนั้นเป็นตัวยืนพื้น เมื่อมีความเบาอย่างรูปของคนเป็น นี่ก็มีความเบาบวกเข้าอีกหนึ่ง มีความอ่อนของรูป เช่นว่าคู้แขนเข้าเหยียดแขนออกได้สะดวก นี่ก็บวกเข้าไปอีกหนึ่ง มีความคล่องแคล่ว ควรแก่การงานทำโน่นทำนี่ได้ ก็บวกเข้าไปอีกหนึ่ง ๘ บวก ๓ ก็เป็น ๑๑ จัดเป็นอีกหมวดหนึ่ง เหล่านี้เกิดจากอาหาร

และบางอย่างก็เกิดจากสมุฏฐาน ๒ อย่าง หรือหลายอย่าง เพราะฉะนั้น รูปที่แบ่งไว้ในอภิธรรมนี้จึงละเอียดพิสดาร เป็นการจำแนกที่น่าศึกษา

 

 

รูปในกามโลก

ต่อจากนี้ท่านยังมีจำแนกไว้ถึงว่า ในกามโลกมีรูปอะไรอยู่บ้าง ในรูปโลกมีรูปอะไรอยู่บ้าง

โดยปกตินั้น ในกามโลกหรือโลกที่เป็นกามาพจร เช่น มนุษย์ทั่วไปเมื่อพูดถึงในปวัตติกาลคือในกาลที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้หมายถึงการตั้งต้นก่อกำเนิด ก็จะได้รูปทั้งปวงดังที่กล่าวมาไม่บกพร่อง แต่ท่านแสดงว่า สำหรับในเวลาปฏิสนธิ จำพวกสัตว์ที่เป็นสังเสทชะคือเกิดในเถ้าไคล หรือสัตว์จำพวกอุปปาติกะคือลอยเกิด อย่างมากก็จะปรากฏรูป ๗ หมวด ได้แก่ ๑. จักขุ ๒. โสตะ ๓. ฆานะ ๔. ชิวหา ๕. กายะ ๖. ภาวะที่หมายถึงเพศ และ ๗. วัตถุที่หมายถึงหทัยรูป แต่ว่าอย่างต่ำในบางครั้งก็อาจจะไม่มีจักขุ โสตะ ฆานะ และภาวะคือเพศ

แต่สำหรับสัตว์ที่เป็น ครรภเสยยกะ คือสัตว์ผู้เกิดในครรภ์นั้น ในตอนถือปฏิสนธิก็ปรากฏรูป ๓ หมวดก่อน คือ กาย ๑ ภาวะเพศ ๑ และวัตถุคือหทัย ๑ แต่สำหรับภาวะคือเพศนั้น ในบางคราวก็ไม่มี เช่น พวกกะเทย ต่อจากนั้นรูปหมวดอื่น ๆ เช่นจักษุเป็นต้น จึงเกิดขึ้นตามลำดับ หมายถึงปฏิสนธิทีแรก นี่เรียกว่า เป็นกรรมสมุฏฐาน หมายถึงจิตดวงที่ ๒ สืบจากปฏิสนธิไป นี่เรียกว่า เป็นจิตตสมุฏฐาน และหมายถึงกาลเวลาที่รูปดำรงอยู่เรียกว่า มีอุตุเป็นสมุฏฐาน และก็หมายถึงการแผ่ไปของโอชา ก็เรียกว่า มีโอชาเป็นสมุฏฐาน ความเป็นไปของหมวดรูปที่มีสมุฏฐานทั้ง ๔ ในกามโลก คือในโลกที่เป็นกามาพจร เป็นไปไม่ขาดสายตลอดอายุ เหมือนอย่างเปลวประทีปหรือเหมือนอย่างกระแสน้ำที่ไหลเรื่อยไป

แต่สำหรับในเวลามรณะ เมื่อดำเนินไปถึงจุติจิตแล้ว ต่อจากนั้นรูปที่เกิดจากกรรมก็ไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป และรูปที่เกิดจากกรรมที่เกิดขึ้นก่อนแล้วก็ดับไปพร้อมกับจุติจิต ต่อจากนั้นรูปที่เกิดจากจิต รูปที่เกิดจากอาหารก็ขาด แต่ว่ารูปที่เกิดจากอุตุก็ยังอาจสืบ ๆ ไปได้ชั่วคราว คือว่าหมายถึงกเฬวระคือซากศพของคนตายที่ยังคุมกันอยู่ ยังไม่แตกสลายสิ้นไปทันที

ได้กล่าวถึงรูปในกามโลกมาแล้ว ต่อไปท่านได้แสดงถึงรูปในรูปโลกคือ ในโลกของพรหมผู้ได้ฌานที่มีรูปเป็นอารมณ์ ซึ่งเรียกว่า รูปพรหม ในโลกของพรหมนี้ไม่มีรูปที่เป็นหมวดฆานะ (จมูก) ชิวหา (ลิ้น) กาย (กายประสาท) และภาวะคือเพศ กับไม่มีหมวดรูปที่เกิดจากอาหาร เพราะฉะนั้น ในเวลาปฏิสนธิของรูปพรหมจึงมีหมวดรูปแต่ ๓ หมวด คือ หมวดจักขุกับหมวดโสตะ และมีหทัยวัตถุที่ตั้งแห่งจิตใจ กับมีหมวดรูปที่เป็นชีวิต แต่ในเวลาปวัตติกาลคือเวลาที่สืบต่อไปจากปฏิสนธินั้น ก็มีรูปที่เกิดจากจิตและเกิดจากอุตุคือฤดูดั่งกล่าวนั้นด้วย

ส่วนพวกสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่ไม่มีสัญญา เรียกว่า อสัญญีสัตว์ นี่ไม่มีทั้งตา ทั้งหู ทั้งหทัยวัตถุและทั้งเสียง และไม่มีทั้งรูปที่เกิดจากจิตทั้งหมวด ในเวลาที่ก่อปฏิสนธิก็มีแต่ชีวิตเท่านั้น และสืบจากก่อปฏิสนธิแล้ว รูปกายของอสัญญีสัตว์นั้นก็สืบต่อ เกิดจากอุตุคือฤดู และก็เป็นรูปที่มีลักษณะเบาอ่อน และอาจจะควรแก่การงานได้ คือเคลื่อนไหวอะไรได้บ้าง

ในชั้นนี้กล่าวถึงแค่รูปภพเท่านั้น ไม่ได้กล่าวถึงในอรูปโลกหรืออรูปภพ (ภพของพรหมผู้ได้ฌานซึ่งมีอรูปเป็นอารมณ์) เพราะว่าไม่เกี่ยวกับรูปที่ท่านแสดงไว้

รูปที่แสดงไว้ในอภิธรรมดั่งนี้ได้นำมากล่าวไว้พอทราบเป็นแนวทางก็เพียงเท่านี้ แต่ถ้าจะต้องการทราบให้ละเอียดต้องศึกษาเป็นพิเศษ

เรื่องจิต เจตสิก และรูปดั่งกล่าวมานี้ ผู้ที่สนใจศึกษาใช้เวลาศึกษากันในด้านเดียวก็เป็นเวลากว่าปี แล้วก็ต้องจดจำหัวข้อกันมากมายเหมือนกัน


 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๒ หน้า ๒๙๐ - ๒๙๖