Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๐๕

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก


 รูป

 

ได้กล่าวถึงจิตและเจตสิกมาแล้ว บัดนี้จะกล่าวถึงหมวดที่ ๓ คือ รูป ซึ่งเป็นที่อาศัยแห่งจิตและเจตสิก

รูปนั้นแบ่งออกเป็น ๒ หมวดใหญ่ คือ . มหาภูตรูป แปลว่า รูปที่เป็นภูตะใหญ่ . อุปาทายรูป แปลว่า รูปอาศัย

มหาภูตรูป รูปที่เป็นภูตะใหญ่นั้น ได้แก่ ปฐวีธาตุ ธาตุดิน คือส่วนที่แข้นแข็ง อาโปธาตุ ธาตุน้ำได้แก่ส่วนที่เอิบอาบ เตโชธาตุ ธาตุไฟ ได้แก่ส่วนที่อบอุ่น วาโยธาตุ ธาตุลม ได้แก่ส่วนที่พัดไหว หมายถึงรูปที่มีลักษณะดังกล่าว อันเป็นที่รวมของรูปที่มีลักษณะอาการต่างๆ

อุปาทายรูป แปลว่า รูปอาศัย ก็หมายถึงอาศัยอยู่กับมหาภูตรูปนั้น แบ่งย่อยออกไปเป็นหมวดๆ คือ

ปสาทรูป รูปที่เป็นประสาท คือมุ่งถึงส่วนที่ให้สำเร็จการเห็น การได้ยินเป็นต้น ส่วนที่ให้สำเร็จการเห็นก็เรียกว่า จักษุ ส่วนที่ให้สำเร็จการได้ยินก็เรียกว่า โสตะ ส่วนที่ให้สำเร็จการรู้กลิ่นก็เรียกว่า ฆานะ ส่วนที่ให้สำเร็จการรู้รสก็เรียกว่า ชิวหา ส่วนที่ให้สำเร็จการรู้สึกต่อสิ่งที่สัมผัสก็เรียกว่า กายะ นี้คือส่วนที่เป็นประสาท คือให้สำเร็จกิจดั่งกล่าวมาแล้ว ไม่ได้มุ่งถึงส่วนประกอบต่างๆ ดั่งเช่นที่เราพูดว่าลูกตา เราก็พูดรวมๆ ถึงลูกตาทั้งหมด แต่ว่าส่วนที่เป็นประสาทนี้มุ่งเฉพาะส่วนที่ให้สำเร็จการรู้เท่านั้น ถ้าเป็นรูปของดวงตาทั้งหมด มีคำเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อักขิ แปลว่า นัยน์ตา ปสาทรูปจึงมีอีกส่วนหนึ่ง

โคจรรูป รูปที่เป็นโคจร คือเป็นที่เที่ยวไปของจิต หมายถึงอารมณ์ของจิต คำว่า โคจร นั้น แปลตามศัพท์ว่า ที่เที่ยวไปของโค ธรรมดาว่าโคย่อมจะเที่ยวไปในที่ที่มีหญ้าเขียวสดที่จะเป็นอาหารแห่งตน จิตก็เหมือนกันก็ย่อมเที่ยวไปในอารมณ์ที่ปรารถนา เพราะฉะนั้น จึงได้นำชื่อที่เที่ยวไปของโคอันเรียกว่าโคจรนั้นมาเป็นชื่อแห่งที่เที่ยวไปของจิตด้วย โดยเรียกว่า โคจรเหมือนกัน หมายถึงส่วนที่คู่กันกับปสาทรูปนั้น ได้แก่ รูป คือส่วนรูปที่ตาได้เห็น สัททะ เสียงที่หูได้ยิน คันธะ กลิ่นที่จมูกได้รับ รสะ รสที่ลิ้นได้ลิ้ม และโผฏฐัพพะ สิ่งที่กายถูกต้อง อันโผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายได้ถูกต้องนั้นถ้าเต็มที่ก็ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำธาตุไฟ ธาตุลม เพราะเป็นสิ่งที่กายถูกต้องได้ทั้งนั้น แต่ท่านนับเอา ๓ ข้อ เว้นแต่น้ำเพราะว่าน้ำนั้นท่านแสดงว่าเป็นธาตุผสม เมื่อนับรวมโคจรรูปทั้งหมดก็เป็น ๕ เหมือนกัน แต่ว่าท่านนับเพียง ๔ คือนับรูป เสียง กลิ่น รสเท่านั้น ส่วนโผฏฐัพพะนั้นถือว่ารวมอยู่กับรูปข้อที่หนึ่ง คือเป็นรูปที่ตาเห็นด้วย และเป็นรูปที่กายถูกต้องได้ด้วย จึงรวมเข้าเป็นข้อเดียวกัน

ภาวรูป รูปที่เป็นภาวะ มี ๒ คือภาวะเป็นหญิงและภาวะเป็นชาย อิตถีภาวะ ภาวะเป็นหญิงนั้น ก็ได้แก่รูปที่มีลักษณะอันกำหนดได้ว่าเป็นหญิง ปุริสภาวะ ภาวะเป็นชายนั้น ได้แก่รูปที่มีลักษณะอันจะพึงกำหนดได้ว่าเป็นชาย

หทัยรูป รูปหัวใจ ก็ได้แก่หทัยวัตถุ แปลว่า ที่ตั้งแห่งหทัย โดยตรง หทัยวัตถุนั้นท่านหมายถึงหัวใจที่เป็นอวัยวะสำหรับสูบฉีดโลหิตในร่างกาย เพราะถือว่าเป็นวัตถุคือเป็นที่ตั้งของมโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุ อันรวมเรียกว่าเป็น หทัย

ชีวิตรูป รูปชีวิต หมายถึงชีวิตินทรีย์ อินทรีย์คือชีวิต เพราะว่าร่างกายทั้งหมดนี้ เมื่อยังมีชีวิต ชีวิตย่อมบำรุงรักษาไว้ไม่ให้เน่าเปื่อยแตกสลาย ถ้าไม่มีชีวิตินทรีย์ ก็สิ้นผู้บำรุงรักษา ร่างกายก็เน่าเปื่อยแตกสลาย เพราะฉะนั้น มุ่งถึงตัวมีชีวิตที่มีอยู่ในรูปทั้งสิ้น หรือว่ารูปทั้งสิ้นที่เป็นตัวมีชีวิตอยู่นี้ ตั้งชื่อว่าเป็น ชีวิตรูป

อาหารรูป รูปอาหาร ก็หมายถึงอาหารที่บริโภค เช่น คำข้าวที่บริโภคโดยตรงก็หมายถึง โอชะ คือโอชะของอาหารที่ซึมซาบในร่างกาย มุ่งถึงอาหารที่ซึมซาบในร่างกายนี้ ก็ตั้งชื่อเรียกว่า อาหารรูป

ปสาทรูป ๕ โคจรรูป ๔ ภาวรูป ๒ หทัยรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ อาหารรูป ๑ กับมหาภูตรูปอีก ๔ ก็รวมเป็น ๑๘ รูปทั้ง ๑๘ นี้มีชื่อเรียกอีกหลายอย่าง เช่น

เรียกว่า สภาวรูป รูปที่มีภาวะของตน อย่างเช่นจักขุประสาท โสตประสาท ก็มีภาวะของตนเอง

เรียกว่า ลักขณรูป แปลว่า รูปที่มีลักษณะของตน มีอธิบายเช่นเดียวกับสภาวรูป

เรียกว่า นิปผันนรูป แปลว่า รูปสำเร็จ คือเป็นรูปที่สำเร็จรูปมาแล้วอย่างจักขุประสาท โสตประสาทนั้น ก็มีรูปสำเร็จของตนเองมาแล้ว

อนึ่ง ท่านยังแสดงอุปาทายรูป รูปอาศัย ไว้อีกหลายอย่าง คือ

 • ปริเฉทรูป แปลว่ารูปเป็นที่กำหนด หมายถึง อากาสธาตุ คือ ธาตุอากาศในร่างกายนี้ หมายถึงช่องว่างในร่างกายนี้ อธิบายว่าในร่างกายอันนี้ อวัยวะต่างๆ อยู่ตามที่แห่งตน ไม่ปะปนกัน เช่น จักขุทั้ง ๒ ก็อยู่ตามที่ของตน โสตะคือหูก็อยู่ตามที่ของตน ก็เพราะมีอากาสธาตุเป็นเครื่องปันเขตแดน ถ้าไม่มีเครื่องปันเขตแดน อวัยวะต่างๆ ก็จะปะปนกัน เรื่องนี้ถ้าคิดดูตามความคิดแม้ในปัจจุบันนี้ก็มีเค้าเงื่อนอยู่ ดังเช่นที่บางท่านแสดงว่าในร่างกายของคนนี้ มีช่องว่างอยู่มาก ถ้าจะยุบรวมเข้าไม่ให้เหลือช่องว่างอยู่เลยทั้งหมดก็จะเล็กลงเหลือเพียงนิดเดียวเท่านั้น ความคิดของบางท่านในปัจจุบันก็ว่าอย่างนี้ แต่ว่าในที่นี้ท่านแสดงว่า ปริเฉทรูป รูปเป็นเครื่องกำหนดเขตแดน ได้แก่อากาสธาตุ

วิญญัติรูป รูปคือวิญญัติ แปลว่า เป็นเหตุที่รู้กัน มี ๒ คือ กายวิญญัติ กิริยาที่ให้รู้กันทางกาย วจีวิญญัติ กิริยาที่ให้รู้กันทางวาจา กายวิญญัติ ได้แก่ กิริยาที่กระทำทางกาย เช่นชี้มือเพื่อให้ผู้อื่นรู้ความประสงค์ในสิ่งที่ชี้นั้น หรือว่าสั่นศีรษะเพื่อให้ผู้อื่นรู้ความประสงค์ว่าปฏิเสธ หรือว่าพยักหน้าเพื่อให้ผู้อื่นรู้ความประสงค์ว่ารับ เป็นต้น กิริยาทางกายที่สำหรับให้คนอื่นรู้ความประสงค์นี้เรียกว่า กายวิญญัติ ส่วนการพูดให้คนรู้ความประสงค์ทางวาจาเรียกว่า วจีวิญญัติ อันที่จริงถ้าเป็นกิริยาก็ไม่ใช่เรียกว่า รูป แต่นี่หมายถึงว่า ในการที่แสดงกิริยาทางกายทางวาจาเพื่อให้รู้ความประสงค์นั้น ก็ต้องแสดงด้วยรูป เพราะฉะนั้น คนอื่นเขาจึงเห็นกาย คือเห็นกายที่แสดงกิริยาทางกาย เห็นกายที่แสดงกิริยาพูด มุ่งถึงรูปที่ต้องแสดงกิริยาดั่งกล่าวนั้น เรียกว่าวิญญัติรูป

วิการรูป รูปที่วิการ คือว่า แปรเปลี่ยนไป คือหมายความว่าเป็นรูปที่มีลักษณะอาการต่างๆ ได้แก่ รูปัสสลหุตา ความเบาแห่งรูป หมายถึงว่ารูปของคนเป็นนี่เบา แต่ว่าถ้าเป็นรูปของคนตายก็หนัก รูปัสสมุทุตา ความอ่อนแห่งรูป ก็หมายถึงรูปของคนเป็นที่มีอาการอ่อนสลวย อย่างจะคู้แขนเข้าเหยียดแขนออกก็เคลื่อนไหวได้โดยสะดวก รูปัสสกัมมัญญตา ความควรแก่การงานแห่งรูป ก็หมายถึงรูปของคนเป็นที่ทำการงานอะไรได้โดยปกติ และวิญญัติทั้ง ๒ ดังกล่าวมานั้น แต่ว่าวิญญัติทั้ง ๒ ได้กล่าวแยกประเภทไว้แล้ว จึงนับวิการรูปเพียง ๓

ลักขณรูป รูปที่มีลักษณะเป็นเครื่องกำหนด ได้แก่ รูปัสสอุปจโย ความสั่งสมแห่งรูป หมายถึงความเกิดขึ้นและเติบโตมาโดยลำดับ รูปัสสสันตติ ความสืบต่อแห่งรูป หมายถึงรูปที่สืบต่อกันมาโดยลำดับ รูปัสสชรตา ความชราแห่งรูป ได้แก่ความเปลี่ยนแปลงชำรุดทรุดโทรมมาโดยลำดับ รูปัสสอนิจจตา ความไม่เที่ยงแห่งรูป หมายถึงลักษณะที่เรียกว่าไม่เที่ยง สุดท้ายก็คือความตาย ความสั่งสมแห่งรูปและความสืบต่อแห่งรูปนั้นรวมเรียกว่าชาติคือความเกิด ความชราแห่งรูปนั้นรวมเรียกว่า ชรา ความแก่ ความไม่เที่ยงแห่งรูปนั้น ก็จัดเป็นมรณะความตาย อันนี้เรียกว่า ลักขณรูป รูปที่เป็นเครื่องกำหนด คือกำหนดให้เห็นความเกิด ความแก่ ความตาย เพราะว่าความเกิด ความแก่ ความตายนั้นก็ปรากฏอยู่ที่รูป เห็นได้ที่รูป กำหนดได้ที่รูป รูปที่แสดงลักษณะดังกล่าวมานั้น จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ลักขณรูป

ฉะนั้น จึงรวมรูปในตอนท้ายนี้เป็นปริจเฉทรูป ได้แก่ อากาสธาตุ ๑ วิญญัติรูป ๒ วิการรูป ๓ ลักขณรูปอีก ๔ จึงรวมรูปทั้งหมดเป็น ๒๘ รูป ทั้งปวงนี้ก็เป็นมหาภูตรูป ๔ อุปาทายรูป ๒๔

ในรูปเหล่านี้ มีข้อที่ควรกำหนดไว้คือ ปริจเฉทรูป อันหมายถึงอากาศนั้น ก็ไม่ใช่เป็นรูปแท้ เพราะว่าเป็นช่องว่าง แต่ว่าเป็นช่องว่างที่ประกอบอยู่ในร่างกายอันนี้

อีกอย่างหนึ่ง ท่านแสดงว่า ในรูปเหล่านี้มีอยู่ ๘ ข้อที่รวมกันอยู่โดยไม่แยกกัน ได้แก่ วรรณะ แปลว่า สี หมายถึงรูปที่ตาเห็น รูปที่ตาเห็นนั้นท่านว่าเห็นได้แต่สี เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า วรรณะ คันธะ กลิ่น ๑ รสะ รส ๑ โอชา ได้แก่ โอชาที่เกิดจากอาหาร ๑ และ มหาภูตรูป ทั้ง ๔ คือธาตุดิน ธาตุน้ำธาตุไฟ ธาตุลม รวมทั้ง ๘ ประการนี้เป็นรูปที่ไม่มีแยกกัน รวมกันอยู่เสมอ จึงเรียกว่า อวินิพโภครูป แปลว่า รูปที่ไม่พรากออกจากกัน ไม่แยกออกจากกัน ส่วนรูปนอกจากนี้สามารถจะแยกออกจากกันได้ จึงเรียกว่า วินิพโภครูป แปลว่า รูปที่แยกออกจากกันได้

อนึ่ง พึงทราบเกร็ดในเรื่องของจิตเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย ใน มรณาสันนวิถี คือในวิถีจิตที่ใกล้ต่อมรณะ เมื่อจิตได้ยึดหน่วงอารมณ์แห่งกรรม กรรมนิมิต คตินิมิตดังกล่าวมาแล้ว จุติจิต จิตที่เคลื่อน ก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปก็สิ้นภวังคจิต จึงขาดสายกันไปตอนหนึ่ง ปฏิสนธิจิตในภพใหม่ก็เกิดขึ้นสืบต่อไป คราวนี้ในช่องว่างระหว่างจุติจิตและปฏิสนธิจิตนั้น ในวาทะที่กล่าวถึงจุติจิตนี้โดยตรงก็คือวาทะของฝ่ายเถรวาทนี้ ได้แสดงเพียงว่า ปฏิสนธิจิตนั้นเกิดติดต่อเป็นอนันตรปัจจัย คือว่าเป็นปัจจัยที่เกิดสืบต่อกันเป็นลำดับไปทีเดียว คือเมื่อจุติจิตเกิดดับไป ปฏิสนธิจิตก็เกิดขึ้นสืบต่อไปทันที แต่ในระหว่างนั้นภวังคจิตซึ่งเป็นตัวยืนพื้นก็สิ้นสุด เป็นอันขาดตอนไปเสียตอนหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเป็นผู้ไปปฏิสนธิเป็นปฏิสนธิจิตขึ้นใหม่ ข้อนี้ท่านได้เว้นไว้ไม่กล่าวถึง กล่าวถึงแต่เพียงว่าเกิดขึ้นเป็นปฏิสนธิจิตเท่านั้น

แต่ว่ามีวาทะอีกฝ่ายหนึ่งได้แสดงว่า มีช่องว่างอยู่ในระหว่าง คือเป็น อันตระ คือเป็นช่องว่างในระหว่าง เรียกว่า อันตรภาวะ ภาวะที่มีอยู่ในระหว่างแห่งจุติจิตและปฏิสนธิจิตในภพใหม่

เมื่อแสดงอย่างนี้ก็เป็นช่องให้ความสันนิษฐานแตกแยกออกไปเป็นต่างๆกัน แต่ว่าวาทะตามวาทะต้นนั้นไม่ได้แสดงอันตรภาวะคือช่องว่างในระหว่างแสดงว่าต่อกันไปทีเดียว แต่ไม่ได้ตั้งและตอบปัญหาว่าใครเป็นผู้ไปต่อ เพราะว่าสิ้นภวังคจิตขาดตอนกันไป เป็นอันว่าทิ้งปัญหาไว้ให้ไปตอบกันเอาเอง

 

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๒ หน้า ๒๘๔ - ๒๘๙