Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๐๔

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก


 

จุติจิต

 

ได้กล่าวถึงปฏิสนธิ และกรรมที่จำแนกออกเป็น ๔ หมวด กระจายออกเป็น ๑๒ บัดนี้จะได้กล่าวถึง จุติจิต คือจิตที่เคลื่อนออกจากภพนี้สืบต่อไป

ท่านแสดงว่า มรณะ คือ ความตายนั้น เกิดขึ้นด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ. สิ้นอายุ ๒. สิ้นกรรม ๓. สิ้นทั้งสอง ๔. เพราะกรรมที่ตัดรอนอันเรียกว่า อุปัจเฉทกกรรม

สิ้นอายุ นั้น คือเมื่อมีกำหนดแห่งอายุเท่าใด เมื่อถึงอายุเท่านั้นก็เรียกว่า สิ้นอายุ

สิ้นกรรม นั้น มีกำหนดว่าจะต้องเสวยวิบากคือผลของกรรมอย่างใด เมื่อสิ้นวิบากของกรรมอย่างนั้นก็เรียกว่า สิ้นกรรม

สิ้นทั้งสอง ก็คือสิ้นทั้งอายุสิ้นทั้งกรรม ตามที่กล่าวมาแล้ว

พิจารณาดูเขตอายุก็สำเร็จด้วยกรรม แต่ว่าท่านมาตั้งไว้เป็นหัวข้ออีกอันหนึ่ง ก็น่าพิจารณาเห็นว่า เป็นการตั้งหัวข้อขึ้นตามที่เป็นไปโดยปกติ อย่างความตายของบุคคลบางคน พิจารณาดูแล้วก็อาจลงความเห็นได้ว่าถึงคราวที่เขาสิ้นอายุ อีกอย่างหนึ่ง โดยปกติกำหนดอายุของบุคคลเรียกว่า อายุกัปปะ (กำหนดอายุ) เช่น มีกำหนด ๘๐ ปี หรือว่า ๑๐๐ ปี ตามเกณฑ์ที่เป็นไปโดยมาก เหมือนอย่างที่กล่าวไว้ในพุทธประวัติว่า พระพุทธเจ้าถ้าทรงอธิษฐานอายุสังขารด้วยอิทธิบาทภาวนา ก็จะพึงทรงดำรงอยู่กัปป์หนึ่ง หรือว่าเกินกัปป์หนึ่ง ท่านแก้ว่าคำว่า กัปป์หนึ่ง หรือว่า เกินกัปป์หนึ่ง นั้น หมายถึง อายุกัปปะ หรือ ชีวิตกัปปะ ซึ่งมีกำหนดขนาด ๑๐๐ ปี ซึ่งนับว่าเป็นกำหนดอย่างมากในยุค เมื่อแก้อย่างนี้อาจจะเป็นวิสัยที่จะเป็นไปได้ เมื่อดำรงชีวิตอยู่จนถึงอายุกัปปะดังกล่าวนั้นจึงสิ้นชีวิต ก็เรียกว่าตายเพราะสิ้นอายุได้เหมือนกัน

ส่วนข้อว่า สิ้นกรรม นั้น ก็อาจจะเห็นได้ในบางคนเมื่อได้รับผลของกรรม บางทีก็เป็นกรรมดีที่ชีวิตยังดำเนินอยู่ บางทีก็เป็นกรรมชั่วที่ชีวิตก็ยังดำเนินอยู่ กรรมดีนั้นยกไว้ เพราะกรรมชั่วอย่างเช่นบางคนเสียจริตและก็ดำเนินชีวิตเช่นกินนอนอย่างสัตว์ดิรัจฉานบางจำพวก แต่ก็ไม่เจ็บไม่เป็นอะไรก็อยู่ไปได้ ถ้าหากว่าเป็นคนอื่นไปทำอย่างนั้นเข้า ก็น่าจะเป็นโรคอะไรอย่างร้ายแรงเป็นอันตรายอย่างไม่ช้า แต่บุคคลเช่นนั้นไม่เป็นอะไรก็อยู่ไปได้ และบางทีก็อยู่ไปได้นานๆ อย่างนี้ก็น่าจะเห็นว่าอยู่ได้ด้วยกรรม คือผลของกรรมชั่วที่จะต้องมาเป็นอย่างนั้นยังไม่สิ้น สิ้นกรรมเมื่อใดก็ตายเมื่อนั้น

และเรื่องนี้ก็ยังมีคติของเก่าๆ ดั่งเช่นเป็นสมภารเจ้าวัดจะสร้างโบสถ์ขึ้นใหม่ ก็ถือกันว่าถ้าทำโบสถ์ให้เสร็จก็จะอายุสั้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่เชื่อมตินี้ก็จะต้องให้เหลืออะไรไว้อย่างหนึ่งที่ยังไม่เสร็จ นี่ก็กลัวว่าจะสิ้นกรรมหรือว่าสิ้นอายุเหมือนกัน แต่ว่าความเชื่ออย่างนี้พิจารณาดูแล้วก็จะไม่มีเหตุผล และก็อาจจะเกิดจากการสังเกต เพราะว่าการสร้างโบสถ์นั้นไม่ใช่ทำได้ง่าย และสมภารเจ้าวัดผู้สร้างโบสถ์ในชนบทนั้นโดยมากก็อายุมาก ๆ เมื่อดำริสร้างโบสถ์ขึ้น บางทีก็ใช้เวลานานปี บางทีก็ถึง ๑๐ ปี เมื่อเป็นเช่นนี้ ถึงจะไม่สร้างโบสถ์ก็ต้องตายแน่เหมือนกันเพราะนานปี แล้วก็อาจจะเป็นอย่างนี้ เห็นกันหลายๆรายเข้า ก็เลยมักจะถือว่าสร้างโบสถ์เสร็จแล้วอายุจะสั้น

ส่วนที่ตายเพราะ อุปัจเฉทกกรรม กรรมที่ตัดรอนนั้น ยกตัวอย่างก็เช่นประสบอุปัทวเหตุหรือว่าถูกฆาตกรรม ซึ่งโดยปกติอายุก็จะดำเนินต่อไปอีกแต่ว่ามามีเหตุตัดรอนให้สิ้นชีวิตลงโดยปัจจุบันทันด่วน นี้ก็จัดเป็นอีกประเภทหนึ่ง เป็นประเภทที่ ๔

ท่านได้แสดงถึงจิตและอารมณ์ของจิตในขณะที่จะตายไว้ว่า ในเวลาที่บุคคลกำลังจะตายนั้น กรรมที่จะให้เกิดปฏิสนธิในภพอื่น หรือว่า กรรมนิมิต คือเครื่องอุปกรณ์ต่างๆ ที่ได้เคยใช้มาเคยพบเคยเห็นมาในขณะที่ตนทำกรรมนั้นๆ หรือว่า คตินิมิต คือคติที่ไปที่ตนจะต้องไปเสวยในภพที่จะเกิดขึ้นในลำดับ ก็จะปรากฏขึ้นในทวารทั้ง ๖ ทวารใดทวารหนึ่งตามกำลังของกรรม ต่อจากนั้นจิตสันดานคือความสืบต่อของจิตก็จะปรารภคือหน่วงอยู่กับอารมณ์ที่มาปรากฏนั้น เป็นจิตที่บริสุทธิ์หรือว่าเป็นจิตที่เศร้าหมองตามกำลังของกรรมที่กำลังให้ผลอยู่ และก็น้อมหน่วงไปในคติคือที่ไป ซึ่งจะต้องไปเสวยตามสมควรแก่ภพที่จะเกิดขึ้น มักจะเป็นไปดั่งนี้โดยมาก และกรรมที่จะให้เกิดขึ้นต่อไปนั้น ซึ่งตนได้เคยกระทำไว้แล้ว ก็จะปรากฏเหมือนอย่างเป็นกรรมที่ตนกำลังกระทำอยู่ในบัดนั้น ในฝ่ายชั่ว เช่นได้ฆ่าได้ลักไว้ ปาณาติบาตหรืออทินนาทานก็จะปรากฏ เหมือนกำลังกระทำอยู่ในเวลานั้น หรือว่าในฝ่ายดี ทาน ศีล ที่ตนได้บำเพ็ญไว้ก็จะปรากฏ คล้ายกับว่าได้กำลังบำเพ็ญอยู่ในเวลานั้น จุติจิตคือจิตสุดท้ายในภพปัจจุบันก็จะเกิดขึ้นในที่สุดของวิถีจิต หรือว่าในขณะที่สิ้นภวังคจิตแล้วก็ดับไป ตอนนี้เรียกว่า ตาย

ในอันดับของเวลาที่จุติจิตในภพก่อนเกิดขึ้นและดับไปนั้น ปฏิสนธิจิตซึ่งสืบต่อภพใหม่ก็ปรากฏขึ้นทันที และก็ปรารภอารมณ์ที่จุติจิตในภพก่อนนั้นได้ยึดถือมาแล้วมาต่อเนื่องกัน

สำหรับ มรณะ คือความตายจะมีขึ้นได้นั้น ก็ต่อเมื่ออารมณ์ปรากฏอยู่เฉพาะหน้า เป็นอารมณ์ที่ดำรงอยู่ด้วยกรรม หรือกรรมนิมิต หรือคตินิมิตดั่งกล่าวมาแล้ว มรณะกล่าวคือจุติจิตจึงเกิดขึ้น โดยปกตินั้น ท่านแสดงว่าบุคคลผู้ที่ได้ถือปฏิสนธิมาแล้ว จิตก็ปรารภอารมณ์หรือหน่วงอยู่กับอารมณ์ จำเดิมแต่ลำดับของปฏิสนธิจิตครั้งแรกนั้น เรื่อยมาจนถึงจุติจิตบังเกิดขึ้นในครั้งสุดท้าย เมื่อวิถีจิตที่ดำเนินไปไม่เกิดมีขึ้น จิตนั้นก็ไม่ขาดสาย แต่ว่ายังสืบต่ออยู่เป็นภวังคจิต เป็นไปเหมือนอย่างกระแสน้ำและในที่สุดเมื่อจุติจิตบังเกิดขึ้นแล้วก็ดับ ปฏิสนธิจิตที่บังเกิดขึ้นในภพใหม่ก็ต่อเนื่องกันไปตามลำดับ เหมือนล้อของรถที่แล่นไป ท่านแสดงไว้ในคัมภีร์อภิธรรมว่าอย่างนี้

สำหรับพระสูตรนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสแสดงไว้โดยละเอียดเหมือนอย่างที่กล่าวมา แต่ว่าได้ทรงแสดงโดยหลักธรรม เช่นว่า เมื่อจิตเศร้าหมองก็หวังทุคติได้ เมื่อจิตไม่เศร้าหมองก็หวังสุคติได้ น้ำหนักในพระสุตตันตะที่พระพุทธเจ้าแสดงนั้น มุ่งทางปฏิบัติธรรม ดั่งเช่นตรัสให้ละชั่ว ทำดี ชำระจิตของตนให้ผ่องใส และได้ทรงแสดงหลักของการปฏิบัติไว้ อันเป็นหลักที่จะพึงพิสูจน์ได้ด้วยตนเองให้รู้ได้ในปัจจุบัน แต่ในด้านที่จะพึงรู้ได้เฉพาะตนสำหรับท่านผู้มีญาณพิเศษ ดั่งเช่นมีจุตูปปาตญาณ รู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลายไม่ได้ทรงแสดงไว้ เพราะแม้จะทรงแสดงไว้ ก็รู้ได้เฉพาะผู้ที่มีญาณหยั่งรู้อันพอกันเท่านั้น และก็ไม่เกิดประโยชน์ในด้านปฏิบัติ เพราะฉะนั้น จึงได้มุ่งแสดงชี้แจงในข้อที่จะเป็นประโยชน์ในด้านปฏิบัติ ดั่งที่ใช้คำว่า เป็นอาทิพรหมจรรย์ คือเป็นต้นพรหมจรรย์ คือเป็นต้นแห่งความประพฤติดีประพฤติชอบ

มีข้อที่ควรสังเกตการณ์ใช้ศัพท์คือ อารมณ์ กับ อาลัมพนะ คำว่า อารมณ์ นี้ เรียกตามศัพท์ว่า อารัมมณะ เขียน ณ การันต์ แต่ที่เขียนกันมักจะชอบใช้ ย การันต์ เป็นการเขียนไม่ถูก ต้องใช้ ณ การันต์ และมักแปลกันว่า สิ่งเป็นที่มายินดี โดยความนั้นหมายถึง เรื่องที่จิตคิดหรือเรื่องที่จิตดำริ เรื่องที่จิตครุ่นถึง เมื่อจิตคิดถึงเรื่องรูป ก็เรียกว่า รูปารมณ์ (อารมณ์คือรูป) เมื่อจิตคิดถึงเรื่องเสียง ก็เรียกว่า สัททารมณ์ (อารมณ์คือเสียง) เป็นต้น และตามที่ใช้โดยมาก อายตนะภายใน ๖ มีตาหูเป็นต้น ถ้าเรียกว่า อายตนะ เช่น จักขายตนะ โสตายตนะ อีกฝ่ายหนึ่งคืออายตนะภายนอก มีรูปเสียงเป็นต้นที่คู่กัน ก็เรียกว่าอายตนะเหมือนกัน เช่น รูปายตนะ สัททายตนะ แต่ถ้าเรียกอายตนะภายในว่าทวาร เช่น จักขุทวาร โสตทวาร ก็เรียกอายตนะภายนอกว่าอารมณ์ เช่น รูปารมณ์ สัททารมณ์ เป็นคู่กัน

แต่ว่าในอภิธรรมมักใช้เรียกว่า อาลัมพนะ แปลว่า ที่หน่วงหรือเครื่องหน่วง หมายถึงเป็นที่หน่วงของจิตหรือเป็นเครื่องหน่วงของจิต เมื่อจิตหน่วงอยู่ในรูป ก็เรียกว่า รูปอาลัมพนะ เมื่อจิตหน่วงอยู่ในเสียง ก็เรียกว่า สัททาอาลัมพนะ โดยความก็เป็นอันเดียวกัน แต่ว่าใช้ศัพท์ขึ้นใหม่อีกศัพท์หนึ่ง

อีกข้อหนึ่งก็คือคำว่า จุติ ปฏิสนธิ กับ ชาติ มรณะ จุติ เคลื่อน ปฏิสนธิ สืบต่อ ใช้ในคัมภีร์นี้ จุติจิต จิตที่เคลื่อน ปฏิสนธิจิต จิตที่สืบต่อใช้อย่างนี้แสดงว่ามีผู้เคลื่อนออกไป และมีผู้ที่ปฏิสนธิคือสืบต่อในภพใหม่ เหมือนอย่างว่าออกไปจากบ้านหนึ่งแล้วเข้าไปสู่อีกบ้านหนึ่ง ก็ต้องมีผู้ที่ออกไปจากบ้านเก่าแล้วก็เข้าไปสู่บ้านใหม่ ถ้าหากว่าไม่มีผู้ที่ออกไปและเข้าไป ก็ไม่เรียกว่า ออก ไม่เรียกว่า เข้า ไม่เรียกว่า เคลื่อน ไม่เรียกว่า ต่อ อันนี้ก็เป็นเงื่อนอันหนึ่งที่ควรคิด

แต่ที่ใช้ว่า ชาติคือเกิด และ มรณะคือตาย นั้น เห็นได้ว่าใช้สำหรับสังขารร่างกายโดยส่วนเดียว คือเมื่อก่อเกิดสังขารขึ้นก็เป็นชาติความเกิด และเมื่อสังขารร่างกายนี้แตกสลายก็เป็นมรณะความตาย ถ้าหากว่าจะมีแต่มรณะ คือความตายไปทุกส่วนทุกสิ่ง บุคคลก็มีชาติเพียงชาติเดียว แต่นี่มีมติการสืบชาติ เพราะฉะนั้น เมื่อมุ่งจะพูดถึงผู้ที่สืบชาติ ก็ต้องใช้คำว่า จุติ ปฏิสนธิ

ในที่เช่นนี้ เมื่อพูดถึงสัตว์ ท่านแสดงว่า จุติ อุปบัติ จุติ คือ เคลื่อน ก็เป็นคำเดียวกันกับคำคู่ต้น อุปบัติ แปลว่า เข้าถึง ใช้แทนคำว่า ปฏิสนธิ ความเป็นทำนองเดียวกัน ดังในจุตูปปาตญาณของพระพุทธเจ้าที่แสดงว่าทรงได้ในยามที่สองของราตรี ได้ทรงมีพระญาณหยั่งรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลายว่าเป็นไปตามกรรม สัตว์ทั้งหลายที่ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ด่าว่าพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ สมาทานกรรมของมิจฉาทิฏฐิ กายแตกทำลายตายไปแล้ว ก็เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์ผู้ถึงพร้อมด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ด่าว่าพระอริยเจ้า เป็น สัมมาทิฏฐิ สมาทานกรรมของสัมมาทิฏฐิ กายแตกทำลายตายไปแล้วเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ในพระบาลีนี้ใช้คำว่า สัตว์ ที่แปลว่า ผู้ข้อง ข้องอยู่ด้วยอวิชชา ความไม่รู้จริง ตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยาก อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น เป็นต้น

แต่ว่าที่ชื่อว่า สัตว์ นั้นอยู่ตรงไหน อยู่ตรงจิตหรือว่าตรงวิญญาณ และสัตว์ที่จะไปอุปบัติในภพใหม่นั้น อะไรไป นี้ท่านไม่ได้แสดงไว้ แต่ก็พึงเห็นได้ว่า ร่างกายนั้นไม่ไปแน่ เพราะว่าแตกทำลายอยู่ในโลกนี้ ส่วนที่จะพึงไปนั้น ก็เป็นสิ่งที่ไม่อยู่ในวิสัยของประสาท คือจักขุประสาท โสตประสาทเป็นต้น และเมื่อได้ค้างปัญหาไว้เช่นนี้ ผู้คิดในรุ่นต่อๆ มาจึงได้แสดงออกไปต่างๆ เรียกกันว่า วิญญาณ บ้าง เรียกกันว่า จิต บ้างในอภิธรรมนี้ก็เป็นมติหนึ่ง ที่ท่านแสดงว่าปฏิสนธิจิตในภพใหม่นั้นเกิดต่อกันไปทีเดียว แต่ว่าภวังคจิตที่เป็นตัวจิตยืนพื้นนั้น ขาดกระแสกันไปเสียตอนหนึ่ง ถ้าเหมือนอย่างกลุ่มด้าย ก็แปลว่าด้ายนั้นขาดไปเสียตอนหนึ่งแล้วก็ตั้งกลุ่มใหม่ แต่ก็เกิดปฏิสนธิจิตขึ้นต่อกันในทันทีเหมือนอย่างล้อรถ

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๒ หน้า ๒๗๗ - ๒๘๔