Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๐๓

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก


 

 ปฏิสนธิและจุติ

 เรื่องในอภิธรรมบางประการก็สันนิษฐานว่า ท่านเก็บเอามาจากความเชื่อเก่า ดังเรื่องสวรรค์ ๖ ชั้นเป็นต้น แต่ก็เป็นเรื่องที่ควรทราบ โดยที่สุดแม้ในฐานะเหมือนอย่างเป็นวรรณคดี และการสันนิษฐานโดยเหตุผลนั้นก็มีทางที่จะพึงทำได้ การที่นำมาเล่า ก็จะเล่าไปตรงๆ ตามที่ท่านแสดงไว้ก่อน จะกล่าวถึงเรื่องปฏิสนธิและจุติเป็นพิเศษ เก็บจากที่ท่านแสดงไว้ในปริจเฉทต่างๆ

 

ปฏิสนธิ นั้นมี ๔ คือ

. อปายปฏิสนธิ ปฏิสนธิในอบาย อบาย แปลว่า ภพชาติที่ปราศจากความเจริญ

. กามปฏิสนธิ ปฏิสนธิในภพชาติที่เป็นสุคติชั้นกามาพจร คือยังหยั่งลงในกาม

. รูปาวจรปฏิสนธิ ปฏิสนธิในภพชาติที่เป็นรูปาวจร คือหยั่งลงในฌานที่มีรูปเป็นอารมณ์

. อรูปาวจรปฏิสนธิ ปฏิสนธิในภพชาติที่เป็นอรูปาวจร คือหยั่งลงในฌานที่มีอรูปเป็นอารมณ์

 

ที่เรียกว่า อบาย นั้น ท่านแสดง อบายภูมิ คือภูมิชั้นที่เรียกว่าอบายไว้ ๔ ได้แก่

. นิรยะ แปลตามศัพท์ว่า ที่ที่ไร้ความเจริญ เราแปลกันว่า นรก

. ติรัจฉานโยนิ กำเนิดดิรัจฉาน ได้แก่สัตว์ดิรัจฉานทุกประเภท

. เปตวิสยะ วิสัยเปรต ได้แก่ภูมิภพของเปรต หมายถึงสัตว์จำพวกหนึ่งที่เกิดมาเพื่อรับผลของกรรมที่เป็นส่วนเศษ เช่นว่าเมื่อไปนรกแล้ว หลุดจากนรก แต่เศษของกรรมนั้นยังไม่หมดก็ต้องไปเกิดเป็นเปรต ใช้เศษของกรรมไปจนหมดก่อน

. อสุรกายะ แปลว่า สัตว์ที่มีกายไม่กล้า ก็น่าจะได้แก่พวกผีต่างๆ ไม่ปรากฏกายออกมาโดยเปิดเผย

 

๔ จำพวกนี้เรียกว่า อบายภูมิ ปฏิสนธิในสัตว์ทั้ง ๔ จำพวกนี้ก็เรียกว่า อปายปฏิสนธิ

ส่วนมนุษย์กับสวรรค์ ๖ ชั้น ตั้งต้นแต่ชั้นจาตุมหาราช จนถึงชั้นปรนิมมิตวสวัตตี รวมเป็น ๗ ทั้งมนุษย์ นี้เรียกว่าเป็น ภูมิสุคติ ที่เป็นชั้นกามาพจร เมื่อปฏิสนธิใน ๗ จำพวกนี้ก็เรียกว่า ปฏิสนธิในกามสุคติ เป็น กามสุคติปฏิสนธิ

ฉะนั้น เมื่อรวมอบายภูมิ ๔ กับกามสุคติภูมิอีก ๗ เป็น ๑๑ ๑๑ ภูมินี้ เรียกว่า กามาวจรภูมิ ภูมิที่หยั่งลงในกามทั้งหมด

ส่วนภูมิของพรหมที่ไปเกิดเพราะได้รูปฌานก็เรียกว่า รูปาวจรภูมิ ปฏิสนธิในภูมินี้ก็เรียกว่า รูปาวจรปฏิสนธิ

ภูมิของผู้ได้อรูปฌาน ก็เรียกว่า อรูปภูมิ ปฏิสนธิในภูมินี้ก็เรียกว่า อรูปาวจรปฏิสนธิ

คราวนี้ เมื่อว่าถึงจิตที่จะทำให้ไปปฏิสนธิในภูมิเหล่านั้น จิตที่เป็นอกุศลวิบากที่เรียกว่า สันตีรณจิต ซึ่งประกอบด้วยอุเบกขาอันเป็นอกุศลวิบาก ก็ให้ปฏิสนธิในอบายภูมิ

 

ส่วนที่จะให้เกิดในชั้นมนุษย์นั้น เป็นจิตที่เป็นกุศลวิบาก อันตรงกันข้าม แต่ว่าก็ยังมีต่างกัน ถ้าเป็นกุศลวิบากจิตที่เป็นชั้นอ่อนก็ให้เกิดเป็นมนุษย์ซึ่งทุรพล วิการหรือว่าขาดแคลน ดั่งเช่นตั้งปัญหาว่า คนที่มีสติปัญญาทึบ ที่สุดหรือใบ้บ้าเสียจริตนั้น เกิดด้วยกุศลจิตเช่นไร นี่ท่านก็ตอบว่า เกิดด้วยกุศลจิตที่เรียกว่า ทุเหตุกะ แปลว่า มีเหตุสอง

 

เหตุที่เป็นเหตุฝ่ายกุศลนั้น กล่าวเป็นชื่อไว้ ๓ คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ดังที่ได้แสดงแล้ว แต่ถ้ามีเหตุเพียง ๒ คือมีอโลภะ อโทสะ แต่ว่าขาดอโมหะ คือแปลว่าขาดปัญญา อาจจะหมายความว่ามีน้อยก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ให้เกิดมาเป็นคนทึบมากหรือว่าบ้าใบ้เสียจริต แม้มีเหตุ ๓ คือมีอโลภะ อโทสะ อโมหะเป็นเหตุ แต่ว่าอ่อน ก็ทำให้ระดับของความเป็นมนุษย์พร้อมทั้งเครื่องแวดล้อมต่างๆ อ่อนลง ถ้าเหตุที่เป็นกุศลทั้ง ๓ นี้บริบูรณ์และมีกำลังแรง ความเป็นมนุษย์และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ก็สมบูรณ์

 

จิตต่างๆ ตามที่ท่านจัดเอาไว้เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตนั้น ก็หมายถึงจิตที่มีกำลังแรงจนถึงเป็นตัวกรรม คือว่ามีกำลังแรงจนถึงเกิดเป็นเจตนา ได้แก่จิตที่เป็นชั้นชวนะทั้งหลาย ถ้าเป็นจิตที่ไม่แรงถึงอย่างนั้น ก็ยังไม่เป็นกุศลอกุศล คือยังไม่เป็นตัวกรรมนั่นเอง อย่างที่เรียกกันในปัจจุบันว่าเป็น จิตใต้สำนึก แต่จิตที่เป็นตัวกรรมได้นั้น เป็นจิตที่มีกำลัง มีเจตนา ทำนองเป็น จิตสำนึก

 

ตัวกรรมนั้นก็ดังที่ได้เคยทราบแล้วว่า กรรมที่เป็นตัวเดิมก็คือ เจตนา กรรมที่เป็นตัวรอง ก็คือการกระทำ ที่สืบจากเจตนาออกไปเป็นการงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังที่มีพระพุทธภาษิตว่า เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาคือความจงใจว่าเป็นตัวกรรม เพราะว่าบุคคลตั้งเจตนาขึ้นแล้วจึงทำกรรมทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง ฉะนั้น ในคัมภีร์อภิธรรมนี้ จึงได้จำแนกกรรมไว้หมวดละ ๔ ข้อ รวมเป็น ๓ หมวดด้วยกัน

 

 

 กรรม ๑๒

หมวดที่ ๑ จำแนกกรรมไว้ตาม กิจ คือ หน้าที่ กิจ แปลว่า การงานที่พึงกระทำก็หมายถึง หน้าที่ ได้แก่

. ชนกกรรม กรรมที่ให้เกิด

. อุปัตถัมภกกรรม กรรมที่อุปถัมภ์

. อุปปีฬกกรรม กรรมที่เบียดเบียน

. อุปฆาตกกรรม กรรมที่ตัดรอน

ชนกกรรม กรรมที่ให้เกิดนั้น ได้แก่กรรมที่ให้ถือปฏิสนธิในภูมิใดภูมิหนึ่งดังกล่าวมาแล้ว

อุปัตถัมภกกรรม กรรมที่อุปถัมภ์นั้น ได้แก่กรรมที่คอยอุปถัมภ์ อุปถัมภ์อะไร ก็อุปถัมภ์ชนกกรรมนั้นเอง ถ้าชนกกรรมส่งให้เกิดมาดี ก็อุปถัมภ์ให้ดีนานและมากขึ้น ถ้าชนกกรรมส่งให้เกิดมาไม่ดี ก็อุปถัมภ์ให้ไม่ดีนานและให้ไม่ดีมากขึ้น คือว่าดีก็อุปถัมภ์ให้ดีนานและมากขึ้น ชั่วก็อุปถัมภ์ให้ชั่วนานและมากขึ้น

อุปปีฬกกรรม กรรมที่เบียดเบียน ได้แก่ถ้าชนกกรรมส่งให้เกิดมาดี ก็เบียดเบียนให้ดีน้อยเข้าหรือว่าให้ดีนั้นมีสั้นเข้า คือแปลว่าให้ดีไม่สะดวก ต้องขัดข้องอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าชนกกรรมส่งให้เกิดมาไม่ดี ก็เบียดเบียนให้ไม่ดีนั้นน้อยเข้าสั้นเข้า ทำให้ผลที่ไม่ดีต่างๆ ดำเนินไปไม่สะดวก

อุปฆาตกกรรม กรรมที่ตัดรอน อันนี้แรงกว่าอุปปีฬกกรรม คือถ้าชนกกรรมแต่งให้เกิดมาดี ก็ตัดรอนให้เป็นไม่ดีตรงกันข้ามทีเดียว ถ้าชนกกรรมแต่งให้เกิดมาไม่ดี ก็ตัดรอนให้กลับเป็นดีตรงข้ามทีเดียว บางทีก็ตัดรอนถึงชีวิต คือควรจะได้จะถึงอะไรสักอย่างหนึ่ง ก็มามีอันเป็นให้สิ้นชีวิตลงโดยฉับพลัน

กรรมจำแนกโดยกิจคือหน้าที่ เป็น ๔ ข้อ

 

หมวดที่ ๒ จำแนกโดย กาลที่ให้ผล ได้แก่

. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมที่ให้เสวยผลในปัจจุบัน

. อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมที่ให้เสวยผลในภพหน้า ที่เป็นอันดับจากภพในปัจจุบัน

. อปราปรเวทนียกรรม กรรมที่ให้เสวยผลในภพสืบๆ

. อโหสิกรรม กรรมที่ได้มีแล้ว

 

ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมที่ให้เสวยผลในปัจจุบันนั้น หมายถึงกรรมอย่างแรงมากที่ให้ผลในปัจจุบันนี้ทีเดียว เทียบได้เหมือนอย่างว่าบุคคลที่ได้กระทำความชอบเป็นพิเศษต่อชาติ ศาสนา หรือพระมหากษัตริย์ และได้รับสุขสนองผลในปัจจุบัน ในด้านตรงกันข้ามก็เหมือนกับบุคคลที่ประกอบกรรมมีโทษร้ายแรง ได้รับทุกข์สนองผลในปัจจุบัน ในด้านของศาสนาก็มี ตัวอย่าง เช่นการบำเพ็ญทานในพระอรหันต์ โดยเฉพาะที่ได้เล่าไว้ในเรื่องต่างๆ ได้ใส่บาตรแก่พระปัจเจกโพธิหรือพระอรหันต์ที่เข้านิโรธสมาบัติ โดยปกติว่าท่านเข้า ๗ วัน ออกจากนิโรธสมาบัตินั้นแล้วก็บิณฑบาต แล้วใครได้ใส่บาตรท่านตอนนั้นล่ะก็กุศลแรงนัก ให้ผลในภพชาติปัจจุบัน

อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมที่ให้เสวยผลในภพหน้าซึ่งเป็นอันดับจากภพนี้ ก็ได้แก่อนันตริยกรรมในฝ่ายชั่ว หรือว่ามหัคคตกรรมในฝ่ายดี หมายถึงการได้สมาธิอย่างสูงจนเป็นชั้นรูปฌานและอรูปฌาน คือถ้าประกอบอนันตริยกรรมในฝ่ายชั่ว ก็ให้ผลคือว่าไปนรกในภพชาติอันดับนั้นทีเดียว ถ้ามีมหัคคตกรรมดังกล่าวในฝ่ายดี ก็ไปเป็นรูปพรหมอรูปพรหมในภพอันดับไปทีเดียว

อปราปรเวทนียกรรม กรรมที่ให้เสวยผลในภพเป็นอันดับนั้น ก็หมายถึงกรรมที่ให้เสวยผลในภพที่เป็นลำดับๆ ไป ไม่กำหนดว่าภพไหน

อโหสิกรรม กรรมที่ได้มีแล้ว นี้หมายถึงกรรมที่ให้ผลเสร็จแล้ว หรือว่ากรรมที่ชื่อว่าให้ผลเสร็จเพราะไม่มีโอกาสจะให้ผล ได้แก่กรรมที่พระอรหันต์ได้ทำไว้ก่อนแต่ท่านสำเร็จ และมีเวลากำหนดที่จะให้ผลแก่ท่านในชาติต่อๆ ไป แต่ว่าท่านสิ้นภพสิ้นชาติเสียแล้ว ฉะนั้น กรรมดังกล่าวก็ไม่มีโอกาสที่จะให้ผล อันนี้ก็เรียกว่าอโหสิกรรมเหมือนกัน

รวมเป็น ๔ ข้อ จัดเป็นหมวดหนึ่งตามเวลาที่ให้ผล

 

 หมวดที่ ๓ จัดตาม น้ำหนักที่ให้ผล คือ

. ครุกรรม กรรมหนัก

. อาสันนกรรม กรรมที่ใกล้

. อาจิณณกรรม กรรมที่สั่งสมมา

. กตัตตากรรม กรรมที่สักว่าทำมา

 

ครุกรรม กรรมหนักนั้น ก็ได้แก่กรรมที่จะพึงให้ผลในปัจจุบันหรือในภพเป็นอันดับดังกล่าวแล้ว

อาสันนกรรม กรรมใกล้นั้น หมายถึงกรรมเมื่อใกล้ตาย

อาจิณณกรรม กรรมที่สั่งสมมา หมายถึงกรรมที่ได้ทำมาบ่อยๆ

กตัตตากรรม กรรมที่สักแต่ว่าทำนี่มีความหมาย ๒ อย่าง คือหมายถึงกรรมที่นอกจาก ๓ ข้อดังกล่าวมาแล้ว หรือว่ากรรมที่ได้ทำโดยไม่มีเจตนา ซึ่งท่านว่าก็อาจจะให้ผลได้เหมือนกัน

ท่านแสดงว่า ครุกรรมให้ผลก่อน เมื่อครุกรรมไม่มี อาสันนกรรมก็ให้ผล เมื่ออาสันนกรรมไม่มี อาจิณณกรรมคือกรรมที่ทำมาบ่อยๆ ก็ให้ผล เมื่ออาจิณณกรรมไม่มี กตัตตากรรมก็ให้ผล ท่านเปรียบเหมือนอย่างว่า ยืนอยู่บนภูเขาหรือบนที่สูงแล้วก็โยนสิ่งต่าง ๆ ลงมา มีก้อนหินก้อนอิฐชิ้นไม้ใบไม้ใบหญ้าอะไรเป็นต้น ของที่หนักก็มาถึงพื้นดินก่อน ของที่เบากว่าก็หล่นมาถึงพื้นทีหลัง กรรมทั้ง ๔ นี้ก็เหมือนกัน กรรมที่หนักให้ผลก่อน กรรมที่อ่อนก็รองๆ ลงมา

แต่ว่าข้อเปรียบเทียบอันนี้เคยถูกค้าน คือถูกค้านว่าไม่ถูกเสมอไปที่ว่าโยนของลงมา และของก็จะตกลงมาตามลำดับน้ำหนัก เพราะว่าถ้าไปโยนในที่แห่งหนึ่งซึ่งสูบอากาศออกหมดแล้วของจะไม่ตกลงมาตามลำดับอย่างนั้นจะเท่ากันหมด ที่จริงข้อค้านนี้เห็นจะต้องใช้เป็นข้อยกเว้น ให้ใช้สำหรับพระอรหันต์ที่เหมือนอย่างว่าสูบเอากิเลสออกหมดแล้ว และเมื่อดับขันธ์ไปแล้วก็เป็นอันว่าเป็นอโหสิกรรมเสียทีเป็นหมดเรื่อง

เพราะฉะนั้น จึงรวมกรรมที่แบ่งตามกิจไว้ ๔ ข้อหมวดหนึ่ง ตามเวลาที่ให้ผล ๔ ข้อหมวดหนึ่ง ตามน้ำหนักอีก ๔ ข้อหมวดหนึ่ง ก็รวมเป็น ๑๒ เรียกกันว่า กรรม ๑๒

อีกอันหนึ่งคือเวร คำว่า เวร นี้เป็นผลที่เกิดขึ้นสืบมาโดยตรงจากกรรมชั่ว คือเมื่อบุคคลประกอบกรรมชั่ว ซึ่งหมายความว่าจะต้องไปเบียดเบียนบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เช่นว่าเมื่อไปฆ่าเขาทำร้ายร่างกายเขา ก็ต้องมีอีกผู้หนึ่งที่ถูกฆ่าถูกทำร้ายร่างกาย ลักทรัพย์เขา ต้องมีอีกผู้หนึ่งที่ต้องถูกลักทรัพย์ ดังนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น บุคคลที่ ๒ ซึ่งต้องเป็นตัวกรรม คือเป็นผู้รับผลแห่งการกระทำของบุคคล เมื่อผูกใจเจ็บ ก็เกิดลักษณะขึ้นอีกอันหนึ่งเรียกว่า เวร ระหว่างบุคคลที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้ทำกรรม และบุคคลที่ ๒ คือผู้ถูกกระทำดังจะเห็นได้ในปัจจุบัน เมื่อบุคคลที่ ๑ ด่า บุคคลที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ถูกด่า ถ้ามีความเจ็บแค้นขึ้นก็ด่าตอบ เมื่อด่าตอบขึ้น บุคคลที่ ๑ ก็กลายเป็นบุคคลที่ ๒ และก็ต้องด่าตอบให้แรงขึ้นไปอีก หนัก ๆ ขึ้นก็ถึงกับทำร้ายร่างกายกัน จนถึงฆ่าฟันกัน ลักษณะดังกล่าวนี้แหละเรียกว่า เวร

เวรเกิดจากการผูก คือการที่บุคคลที่ ๒ ผูกใจเจ็บและคิดทำการแก้แค้น และเวรนี้ท่านว่าไม่ใช่ผูกกันแต่เฉพาะในปัจจุบันชาตินี้เท่านั้น ยังอาจผูกกันต่อไปถึงชาติภพอื่นได้ด้วย และถ้ายังผูกกันอยู่ ก็จะต้องมาพบกัน และทำการแก้แค้นกันเป็นการตอบแทนกันไปตอบแทนกันมา อาจจะยืดเยื้อไปนานจนกว่าทั้ง ๒ ฝ่ายจะเลิกผูก ดังที่เราเรียกกันว่า อโหสิกรรม ขอยืมเอาคำอโหสิกรรมมาใช้ และเมื่อเลิกผูกกันเมื่อใด เวรก็ระงับเมื่อนั้น เรื่องของการผูกเวรสืบชาติกันไปหลายชาตินี้มีตัวอย่างเทียบได้ เหมือนอย่างการที่ผูกเวรกันระหว่างชาติมนุษย์ อย่างบุคคลที่รวมกันอยู่เป็นประเทศชาติ แล้วถูกชาติใดมาข่มเหงรังแก ก็ผูกใจเจ็บกันมา จนถึงชั้นลูกก็ยังรู้สึกเป็นศัตรูกัน ชั้นหลานก็รู้สึกเป็นศัตรูกัน มีโอกาสขึ้นเมื่อใดก็แก้แค้นขึ้นเมื่อนั้น นี่ก็ผูกเวรกันสืบกันไปหลายชั่วคน

อันที่จริงในด้านดี ก็เป็นเวรเหมือนกัน แต่เราไม่เรียกว่า เวร เราเรียกว่า ความกตัญญูกตเวที เหมือนดังเมื่อบุคคลที่ ๑ ทำคุณให้ บุคคลที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้รับคุณก็มีความกตัญญู นี่ก็เท่ากับว่า ผูกใจรู้พระคุณของท่าน และมีกตเวที คือตอบแทนพระคุณท่านตามโอกาส อันนี้ก็เป็นเวรเหมือนกัน แต่เป็นเวรไปในทางดี ซึ่งท่านไม่เรียก เรียกแต่ในทางตรงกันข้ามว่า เวร ส่วนในทางดีเรียกว่า กตัญญูกตเวที ทั้ง ๒ มีลักษณะเป็นทำนองเดียวกัน

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๒ หน้า ๒๖๙ - ๒๗๗