Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๐๑

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

ธรรมมีความหมาย ๔ ประการ

 

จะแสดงเริ่มอภิธรรมต่อ ได้แสดงเรื่องจิตโดยหลักเกณฑ์ทั่วไปมาแล้ว การแสดงนั้นไม่ได้จำแนกหัวข้อ เพราะยากแก่การกำหนด ถ้าจะแสดงหัวข้อก็จะต้องมีการจดจำกันจริงๆ เพราะฉะนั้น จึงได้แสดงแต่หลักเกณฑ์ทั่วไปตามที่เห็นว่าจะเกิดความเข้าใจได้ไม่สู้ยาก ต่อนี้ไปจะแสดงข้อเบ็ดเตล็ดบางประการที่เกี่ยวแก่ศัพท์เป็นต้น

คำว่า กุศล จากศัพท์บาลีว่า กุสล แปลว่า กำจัดชั่ว แยกศัพท์ออกเป็น กุ แปลว่า ชั่ว สล แปลว่า กำจัด

อีกอย่างหนึ่งแปลว่า ตัดภาวะที่นอนคือสยบอยู่ภายในโดยอาการที่ชั่ว แยกศัพท์ออกไปเป็น กุ แปลว่า อาการที่ชั่ว สะ แปลว่า นอน ละ แปลว่า ตัด

 อีกอย่างหนึ่งแปลว่า เก็บเกี่ยวด้วยญาณที่ทำวามชั่วให้สิ้นสุด แยกศัพท์ออกไปเป็น กุสะ แปลว่า ญาณที่ทำความชั่วให้สิ้นสุด กุ ก็แปลว่า ชั่ว สะ ตัวนั้นแปลว่า ให้สิ้นสุด เป็นชื่อของญาณหรือของปัญญา ละ ก็แปลว่า เก็บเกี่ยว โดยความก็คือเก็บเกี่ยวด้วยปัญญา

สองอรรถหลังนี้ สะ แปลว่า ตัด อย่างหนึ่ง แปลว่า เกี่ยว อย่างหนึ่ง ที่แปลว่า ตัด นั้นก็หมายว่า ตัดทิ้ง แต่ที่แปลว่า เกี่ยว ก็ตัดเหมือนกัน แต่ว่า ตัดเอามาไว้ เช่น เกี่ยวข้าว เกี่ยวเอามา นี้ตามศัพท์

แต่ถ้าว่าตามอรรถคือความหมายที่ใช้กันนั้น ใช้ในความหมายว่า ความไม่มีโรค เหมือนอย่างเช่นจะทักกันว่า สบายดีหรือ ก็ถามว่า เป็นกุศลหรือ ใช้ในความหมายว่าไม่มีโทษ ว่าฉลาด และว่ากรรมที่มีสุขเป็นวิบาก

ในความหมายที่ใช้เรียกว่า กุศล ในที่นี้ ก็หมายถึง ธรรม หรือหมายถึง กรรมที่เป็นอนวัชชะคือไม่มีโทษ และมีสุขเป็นวิบาก ส่วนที่เป็น อกุศล ก็มีอรรถตรงกันข้าม คือหมายถึงธรรมหรือกรรมที่มีโทษ และมีทุกข์เป็นวิบาก ส่วนที่เป็น อัพยากฤต นั้น หมายถึง ที่ไม่มีวิบาก

ส่วนคำว่า ธรรม หรือ ธัมมะ แปลตามศัพท์ว่า ทรงไว้ หรือ ทรงตัวเองอยู่ โดยมากใช้ในความหมาย ๔ อย่าง คือหมายถึง

. ปริยัติ คือข้อที่จะพึงศึกษาเล่าเรียน ในคำว่า เรียนธรรม เป็นต้น

. เหตุที่คู่กับผล อย่างคำว่า ธัมมัญญู รู้ธรรม ก็คือรู้เหตุ คู่กับ อัตถัญญู รู้อรรถ ก็คือรู้ผล

. คุณ คือส่วนที่มีประโยชน์เกื้อกูล ที่เรียกกันว่า คุณงามความดี ดั่งในคำว่า ธรรมและอธรรม หามีวิบากคือผลเสมอกันไม่ ในที่เช่นนี้ ธรรม หมายถึง คุณ ส่วน อธรรม หมายถึง โทษ คำว่า ธรรม ที่พูดกันในความหมายที่เป็นชั้นกรรม ที่จะพึงจำแนกออกเป็นคุณหรือเป็นโทษต่างๆนั้น ก็มักใช้ในความหมายนี้ ถ้าพูดถึงโทษก็เรียกว่า อธรรม

. นิสสัตตะนิชชีวะ นิสสัตตะ แปลว่า ไม่ใช่สัตว์ นิชชีวะ แปลว่า ไม่ใช่ชีวะ คือหมายถึงสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ชีวะ คือหมายถึงตัวความจริง เหมือนดังคำว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม นี้ก็หมายถึงว่าตรัสรู้ความจริงโดยตรงก็คือความจริงที่เป็นอริยสัจ ธรรมในที่นี้จึงไม่หมายถึงสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา หรือว่าชีวะอย่างใดอย่างหนึ่ง ในอภิธรรมนั้น ธรรมโดยมากก็หมายถึงข้อที่ ๔ นี้

ยังมีข้อเบ็ดเตล็ดที่ควรจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และ จุติจิต ปฏิสนธิจิตนั้นเป็นจิตที่เชื่อมต่อระหว่างภพอดีตและภพปัจจุบัน ภวังคจิตนั้นเป็นจิตที่เป็นปกติมนะ ยังไม่ขึ้นสู่วิถี จุติจิตนั้นเป็นจิตที่เคลื่อนจากภพนี้และจะไปต่อกับปฏิสนธิจิตในภพต่อไป จิตทั้ง ๓ นี้ ท่านว่าเป็นจิตที่พ้นจากทวารทั้ง ๖ ส่วนจิตอื่นๆ โดยมากนั้น เกิดขึ้นจากทวารทั้ง ๖ คือต้องตั้งต้นมาจากทวารทั้ง ๖ นั้นทวารใดทวารหนึ่ง เช่น ต้องตั้งต้นมาจากจักขุทวารเป็นต้น แต่ว่าจิตทั้ง ๓ นี้พ้นจากทวารเหล่านั้น ท่านจำแนกออกไว้เป็น ๑๙ ดวง คือ สันตีรณจิตที่เป็นอุเบกขา ๒ กุศลวิบากจิต ๘ มหัคคตวิบากจิตอีก ๙ จำนวนจะยกไว้ จะพูดแต่ชื่อ

สันตีรณะ ก็ได้แก่จิตที่มีหน้าที่และอันดับดังที่แสดงแล้ว กุศลวิบากจิต นั้นก็คือจิตที่เป็นวิบากฝ่ายกุศล มหัคคตวิบากจิตนั้นก็คือจิตที่เป็นวิบากของรูปฌานและอรูปฌาน

 

ภาพแห่งกรรมปรากฏ

จิตเหล่านี้แหละที่จะไปเป็น ปฏิสนธิจิต แล้วก็เป็น ภวังคจิต เป็น จุติจิต เพราะฉะนั้น จิตจึงปฏิสนธิพร้อมกับวิบากของกรรม จุติไปก็พร้อมกับวิบากของกรรม เมื่อยังเป็นปกติจิต คือเป็นภวังค์อยู่ก็ประกอบด้วยวิบากของกรรม และท่านแสดงว่า จุติจิต นั้น อาจจะมีอารมณ์คือปรากฏเป็น มโนภาพ ขึ้นแก่จุติจิตนั้น ๓ อย่าง คือ . กรรม ๒. กรรมนิมิต ๓. คตินิมิต

กรรม นั้นก็ได้แก่กรรมที่บุคคลได้ทำไว้ จะปรากฏแก่จุติจิตได้ในฝ่ายชั่ว เช่น คนที่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ภาพของการฆ่าสัตว์ที่ตนได้ทำไว้ก็จะปรากฏ หรือคนที่เป็นโจรลักขโมย ภาพของโจรกรรมของตนก็จะปรากฏ นี้เรียกว่า กรรม

กรรมนิมิต นิมิตแห่งกรรม นิมิตในที่นี้ หมายถึงเครื่องอุปกรณ์แห่งการทำกรรม เช่นเมื่อทำการฆ่า ใช้เครื่องอุปกรณ์เช่นอาวุธอย่างใดอย่างหนึ่ง ภาพของอาวุธอย่างนั้นก็อาจจะปรากฏ เมื่อลักขโมย ต้องใช้อุปกรณ์อันใดในการลัก อุปกรณ์อันนั้นก็อาจจะปรากฏ นี้เรียกว่า กรรมนิมิต

คตินิมิต นิมิตแห่งคติคือที่ไป บุคคลผู้จะตายไปนั้นมีคติที่จะไปอย่างใด เช่น เมื่อทำกรรมชั่วต่างๆ คติที่จะไปเป็นคติไม่ดี คติเช่นนั้นก็อาจจะปรากฏ นี้เรียกว่า คตินิมิต

ในทางกรรมดีก็ตรงกันข้าม กรรมดีที่ได้กระทำไว้ เช่น ทาน ศีล ก็อาจเป็นภาพปรากฏแก่จุติจิตนั้นตามที่เคยได้ทำไว้ กรรมนิมิต เช่น อุปกรณ์แห่งการประกอบกรรมที่ดีต่างๆ เช่น วัตถุทานที่บริจาค เป็นต้น ก็อาจจะปรากฏแก่จุติจิต คตินิมิต คติที่จะไป ก็อาจจะปรากฏแก่จุติจิตนั้น แต่ท่านว่าไม่ใช่ปรากฏทางทวารทั้ง ๖ เพราะว่าจิตเหล่านี้พ้นจากทวารทั้ง ๖

 

โลก ๓

อีกข้อหนึ่งก็คือว่า ท่านว่าใน กามโลก มีวัตถุทั้ง ๖ ได้แก่ จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ และหทยวัตถุ ก็ได้แก่อายตนะภายใน ๖ นี่เต็มที่ แต่ว่าใน รูปโลก ที่เป็นโลกสำหรับผู้ได้รูปฌานนั้นขาดไปเสีย ๓ คือ ฆานะ ชิวหา กายะ หมายถึงว่าไม่มีจมูก ไม่มีลิ้น ไม่มีกาย มีแต่ตา หู และใจ พวกรูปพรหมท่านว่าอย่างนั้น ส่วน อรูปพรหม นั้น ไม่มีวัตถุที่เป็นรูปทั้งหมด แปลว่ามีแต่ใจที่รับรู้อยู่โดยอัตโนมัติ

พิจารณาดูถึง รูปโลก ก่อน ที่ว่าไม่มีจมูก ไม่มีลิ้น ไม่มีกายนั้น ก็น่าจะหมายถึงว่าไม่มีประสาทเหล่านี้ ฆานประสาทไม่มี ชิวหาประสาทไม่มี กายประสาทไม่มี แต่ว่าทำไมจึงมีจักขุประสาท โสตประสาท พิจารณาดูผู้ที่เข้าสมาธิอย่างแน่วแน่ จมูกย่อมไม่รู้กลิ่น ลิ้นย่อมไม่รู้รส กายย่อมไม่รู้สัมผัส คือสิ่งที่ถูกต้อง เหมือนอย่างที่นั่งทำสมาธิที่แน่วแน่ สมาธิจะแน่วแน่จริงๆ ก็แปลว่าต้องดับจมูก ดับลิ้น ดับกายเป็นส่วนประสาท และอันที่จริงก็ต้องดับทางตาทางหูด้วยเหมือนกัน แต่ว่ามีผลของสมาธิที่ทำให้เกิดหูทิพย์ตาทิพย์ ดับจักขุประสาทธรรมดา โสตประสาทธรรมดา แต่ก็ยังมีผลที่หูทิพย์ตาทิพย์ชั้นในปรากฏขึ้นได้ ฉะนั้น รูปพรหม ก็คงหมายถึงว่ามีหูทิพย์มีตาทิพย์ แต่ว่าจมูกเป็นต้นที่จะเรียกว่าจมูกทิพย์ ลิ้นทิพย์ กายประสาททิพย์ไม่มี เพราะไม่จำเป็นต้องใช้ ใช้แต่ตาหูเท่านั้น

ครั้นมาถึง อรูปโลก แล้ว สมาธิยิ่งแน่วแน่มากขึ้น ก็ไม่ต้องใช้ทั้งหมด ไม่ต้องการจะดู ไม่ต้องการจะฟังอะไรทั้งนั้น

นี่ก็พิจารณาดูตามเค้าว่าท่านว่าไว้อย่างนั้น ก็น่าจะเป็นอย่างนั้น แล้วมาดูตามเหตุผลทั่วๆ ไป ร่างกายของคนนี้ อวัยวะทุกส่วนมีเอาไว้ ก็ต่างมีหน้าที่จะต้องใช้ทั้งนั้น ถ้าอยู่ในที่ไหน ไม่จำเป็นจะต้องใช้ส่วนไหน ส่วนนั้นก็ดูไม่จำเป็นจะต้องมี เหมือนอย่างที่เราพูดๆ กันถึงเทวดาว่าเหาะได้ แปลว่าไม่ต้องเดิน ถ้าเทวดาไม่ต้องเดินจริง เทวดาก็ไม่จำเป็นจะต้องมีขา เพราะฉะนั้น รูปร่างของเทวดาที่เราคิดกันว่างดงามนั้น ความจริงถ้ามี ก็คงจะเป็นอีกอย่างหนึ่งก็เป็นได้

ถึงในโลกต่างๆ ที่กำลังคิดจะไปกันอยู่นี้ ที่คิดกันว่าคงมีคนหรือมีสัตว์ คนและสัตว์เหล่านั้นก็อาจจะมีรูปร่างไม่เหมือนกับคนและสัตว์ในโลกของเรานี้ อันนี้ก็สุดแต่สภาพของดินฟ้าอากาศของแต่ละโลกและสภาพของความจำเป็นทางร่างกาย ในโลกเรานี้เอง รูปร่างของคนเราในต่อๆ ไปก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปอีกก็เป็นได้ ตามควรแก่สภาพดินฟ้าอากาศ และตามควรแก่การที่จำเป็นจะต้องใช้

 

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๒ หน้า ๒๕๘ - ๒๖๓