Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๐๐

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

หลักการจำแนกจิต

 

ได้กล่าวถึงจิตจำแนกไปตามกิจคือหน้าที่ คือจิตโดยปกติก็อยู่ในภวังค์ เมื่อตื่นขึ้นจากภวังค์แล่นไปในอารมณ์ตามวิถี ก็แบ่งชื่อเรียกตามหน้าที่ไปโดยลำดับจนถึงตกภวังค์ไปใหม่ ดั่งที่ได้แสดงแล้ว แต่ว่าการแสดงจิตดั่งกล่าวนั้น ยังแสดงเป็นส่วนรวมๆ ยังไม่ได้แยกออกให้หมดว่า เป็นกุศล เป็นอกุศล หรือเป็นอัพยากฤต เพราะฉะนั้น เพื่อให้ทราบประเภทของจิตตามแม่บทนั้นท่านจึงแยกจิตไว้ตามแม่บทดั่งกล่าว

หลักของการจำแนกจิตว่าเป็นอย่างไรนั้น หลักสำคัญอยู่ที่ เหตุ ๖ ประการ คือ อกุศลเหตุ เหตุฝ่ายอกุศล ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ กุศลเหตุ เหตุฝ่ายกุศล ได้แก่ อโลภะ (ความไม่โลภ) อโทสะ (ความไม่โกรธ) อโมหะ (ความไม่หลง) จิตที่ประกอบด้วยเหตุฝ่ายอกุศลก็เรียกว่า อกุศลจิต จิตที่ประกอบด้วยเหตุฝ่ายกุศลก็เรียกว่า กุศลจิต ส่วนจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุทั้ง ๒ นี้ เรียกว่า อัพยากตจิต (จิตที่ไม่พยากรณ์ว่ากุศลหรืออกุศล) เป็นจิตกลางๆ นี้เป็นหลักใหญ่ในการจำแนกจิตว่าเป็นอย่างไร

แต่ว่าเพียงเท่านี้ก็ยังละเอียดไม่พอ จึงมีเกณฑ์จำแนกเป็นหลักย่อยต่อไปอีก ได้แก่

. เวทนา ความเสวยอารมณ์เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเป็นอุเบกขา คือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข

. ญาณ คือความรู้ (ถูก) หรือว่า ทิฏฐิ คือความเห็น (ผิด รู้ผิด)

. สังขาร คือเป็นจิตที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง หรือว่าเป็นจิตที่ไม่เกิดขึ้นด้วยตนเอง ต้องมีการส่งเสริมกระตุ้นเตือน

เกณฑ์ย่อยทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นเกณฑ์จำแนกจิตให้พิสดารออกไป ทั้งฝ่ายกุศลทั้งฝ่ายอกุศล ยกตัวอย่างในฝ่ายอกุศลก่อน จิตที่เรียกว่าเป็น อกุศล นั้น ต้องเป็นจิตที่มีโลภะเป็นมูล มีโทสะเป็นมูล มีโมหะเป็นมูล นี้เป็นหลักใหญ่ทั่วไป

คราวนี้ในการประกอบอกุศลของคนผู้มีจิตเป็นอกุศลนั้น บางคราวก็ทำไปด้วย โสมนัส คือยินดี เช่น การฆ่าสัตว์บูชายัญ มีความเชื่อว่าได้บุญ หรือจะทำให้เทพโปรดปราน เมื่อทำไปก็มีโสมนัสคือยินดี แต่ว่าในบางคราวก็มี โทมนัส คือยินร้าย เช่น มีเหตุจำเป็นให้ต้องทำบาป แต่ก็จำต้องทำ หรือว่าการทำบาปของบุคคลผู้มีจิตประกอบด้วยมูลคือโทสะ จิตที่มีโทสะนั้นเป็นจิตไม่แช่มชื่น เป็นจิตที่เดือด เป็นจิตที่ขุ่น ก็เรียกว่าเป็นโทมนัสคือว่าใจไม่ดี เป็น โทมนัสเวทนา

อนึ่ง การทำบาปของบุคคลบางคน บางทีก็ประกอบด้วย ทิฏฐิ ความเห็นผิด ซึ่งเห็นว่าทำบาปได้บุญดังที่กล่าวมาในเรื่องการบูชาบัญนั้น แต่ว่าในบางคราวก็ประกอบด้วย ญาณ คือความรู้ถูก คือรู้ว่าเป็นบาปเหมือนกัน แต่ว่าก็ทำเช่นว่าทำเพราะลุอำนาจแห่งความโลภ ความโกรธ ความหลง โลภขึ้นมาทั้งรู้ว่าบาปก็ทำเพราะต้องการจะได้ แต่ว่าก็มีญาณคือความรู้เหมือนกันว่าเป็นบาป

 

จิต ๔ ประเภท

อาศัยเกณฑ์ดังกล่าวนี้ จึงได้แบ่งจิตออกไปมากมายถึง ๘๙ ดวง แต่ว่าเมื่อจะสรุปลงแล้วก็ได้เป็น ๔ คือเป็น

กามาวจรจิต จิตที่หยั่งลงในกาม ๑

รูปาวจรจิต จิตที่หยั่งลงในฌาน มีรูปเป็นอารมณ์ ๑

อรูปาวจรจิต จิตที่หยั่งลงในฌาน มีอรูปเป็นอารมณ์ ๑

โลกุตตรจิต จิตที่เป็นโลกุตตระ คืออยู่เหนือโลก ๑

 

สรุปลงก็เป็น ๔ หมวด

กามาวจรจิต จิตที่หยั่งลงในกามนั้น เป็นจิตสามัญที่ยังมีความยินดียินร้ายอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ เป็นฝ่ายกุศล หรือว่าโสภณะคืองามก็มี เป็นฝ่ายอกุศลหรืออโสภณะคือไม่งามก็มี เป็นฝ่ายอัพยากฤตก็มี อาศัยหลักดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้น

รูปาวจรจิต จิตที่หยั่งลงในฌานมีรูปเป็นอารมณ์นั้น ก็ได้แก่ฌานจิตที่มีรูปเป็นอารมณ์

อรูปาวจรจิต จิตที่หยั่งลงในฌานมีอรูปเป็นอารมณ์นั้น ก็ได้แก่ฌานจิตที่มีอรูปเป็นอารมณ์

โลกุตตรจิต นั้น คือมรรคจิตผลจิตของพระอริยบุคคลทั้งหลาย ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปจนถึงพระอรหันต์

ในตอนนี้ ควรทราบข้อเบ็ดเตล็ด คือพระอรหันต์นั้นก็อาจจะมาทำหรือประกอบกิจในทางโลก การกระทำของท่านนั้น ถ้าดูอย่างคนสามัญ ก็นับว่าจัดเข้าในกุศลจิตเป็นที่กามาวจร คือว่าเมื่อดูถึงกรรมที่ทำการงานที่ท่านทำก็บ่งถึงจิตที่เป็นกุศล แต่ว่าท่านแสดงว่า ถ้าสำหรับพระอรหันต์ก็จัดว่าเป็นเพียงกิริยา เรียกว่า กิริยาจิต เพราะท่านสิ้นตัณหาที่จะก่อให้เกิดชาติและภพต่อไป อนึ่ง พระอรหันต์ท่านก็ยังเข้าฌานในบางครั้ง เข้ารูปฌานบ้าง อรูปฌานบ้าง อันนี้ก็เรียกว่าเป็นกิริยาจิตอีกเหมือนกัน ในชั้นรูปและอรูป

และตามหลักของท่านนั้นถือว่า บุคคลที่จะมาเกิดเป็นมนุษย์ต้องมาเกิดด้วยกุศลกรรม ความเป็นมนุษย์เป็นกุศลวิบากคือผลของกรรมดี เพราะฉะนั้นเมื่อจัดเข้าในจำพวกจิตดังกล่าว การมาเกิดเป็นมนุษย์ก็ต้องมาเกิดด้วยกุศลจิตที่มีอโลภะ อโทสะ อโมหะเป็นมูล ถ้าประกอบด้วยจิตที่มีโลภะ โทสะ โมหะเป็นมูลแล้ว ก็จักไม่มาเกิดเป็นมนุษย์ ไปเกิดต่ำกว่า แต่ว่ากุศลจิตที่เป็นส่วนเหตุอันนำให้มาเกิดนี้ของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น จิตที่เป็นพื้นอัธยาศัยของแต่ละบุคคลจึงต่างกัน ดังเช่นบางคนมีอัธยาศัยใหญ่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ บางคนมีอัธยาศัยคับแคบตระหนี่เหนียวแน่น คนที่มีอัธยาศัยใหญ่นั้น ก็เนื่องมาจากกุศลจิตในส่วนที่เกี่ยวกับทานที่ได้ทำไว้มาก คนที่มีอัยธาศัยคับแคบนั้น ก็เนื่องด้วยกุศลจิตอันเกี่ยวกับทานได้ทำไว้น้อย อนึ่ง บางคนมีนิสัยเมตตากรุณา ก็เนื่องมาจากกุศลจิตที่ได้อบรมมามากในศีลในเมตตากรุณา บางคนมีนิสัยโหดร้าย ก็เนื่องมาจากกุศลจิตที่ได้อบรมมาในศีลในเมตตากรุณามีจำนวนน้อย

รวมความว่า ที่มาเกิดเป็นมนุษย์นั้น ต้องเนื่องมาจากกุศลจิตทั้งนั้น สุดแต่ว่ามากหรือน้อย

กุศลจิตที่เป็นส่วนเหตุอันได้ทำไว้แล้ว ก็จะส่งผลให้เป็นวิบากจิต คือจิตที่เป็นวิบากส่วนผลที่จะถือกำเนิดเกิดต่อไปหรือว่าในปัจจุบันนี้เอง ที่ปรากฏเป็นพื้นอัธยาศัยนิสัยของจิต นี่จัดเป็นจิตที่เป็นส่วน วิบาก คือผล ก็เนื่องมาจากจิตที่เป็นส่วนเหตุ

และจิตที่จะเป็นส่วนเหตุ ทั้งฝ่ายดีทั้งฝ่ายชั่วดังกล่าวมานี้ ต้องเป็นจิตที่มีกำลังจนถึง ชวนจิต (จิตที่แล่นไป) คือที่ปรากฏกุศลมูลเต็มที่ ปรากฏอกุศลมูลเต็มที่ ปรากฏเจตนาที่จะประกอบกรรมเต็มที่ จึงจะเป็นจิตที่เป็นส่วนเหตุในทุกๆ ฝ่าย แต่ว่าถ้าเป็นจิตที่ยังไม่ถึงชวนะ ก็ยังไม่จัดว่าเป็นกุศลหรืออกุศลอย่างไร สักว่าเป็น กิริยา คือเป็นการดำเนินทำนองเป็นอัตโนมัติไปตามกลไกของจิตเท่านั้น และลักษณะเช่นนี้ก็จัดว่าเป็น อัพยากตะ

จิตที่เป็นวิบากทั้งปวง ถ้าเป็นวิบากของอกุศล ท่านจัดว่าเป็น อัพยากตะ สำหรับคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ เพราะถือว่าเกิดมาเป็นมนุษย์ด้วยอำนาจกุศลจิตต่างหาก ไม่ใช่ด้วยอำนาจอกุศลจิต คือวิบากของอกุศลจิตไม่มีกำลังแรงเหมือนกุศลจิตที่เป็นส่วนเหตุนั้น

การแสดงเรื่องจิตในอภิธรรมตามหลักที่กล่าวมานี้ เป็นการสรุปหลักเกณฑ์กว้างๆ แต่ว่าจะไม่จำแนก เพราะเมื่อจำแนกแล้ว ก็จะต้องจดต้องจำกันจริงๆ ไม่ใช่เพียงพูดฟังแล้วก็จะกำหนดไว้ได้

 

การทำสมาธิ

จะแถมเรื่องทำสมาธิ ให้นั่งตัวตรงก่อน น้อมใจเข้ามากำหนดดูที่ตน กำหนดดูให้รู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออก ต่อจากนี้ก็กำหนดอิริยาบถตามที่ท่านสอนนั้น เมื่อเดินก็ให้รู้ว่าเราเดิน เมื่อหยุดยืนก็ให้รู้ว่าเราหยุดยืน เมื่อนั่งก็ให้รู้ว่าเรานั่ง เมื่อนอนก็ให้รู้ว่าเรานอน เมื่อจะน้อมอิริยาบถไปอย่างใดก็ให้รู้อย่างนั้น ในบัดนี้ เรานั่งอยู่ก็ให้รู้ว่านั่งอยู่ อนึ่ง ยังต้องมีอิริยาบถเล็กน้อยของกายอีกมากมาย เช่น ในเวลาเดินนั้น ในบางคราวก็ก้าวไปข้างหน้า ในบางคราวก็ถอยมาข้างหลัง ในบางคราวก็มองไปตรงๆ ในบางคราวก็มองชนิดเหลียว ในบางคราวก็ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ ต้องมีการเหยียดแขนเหยียดขา หรือว่าคู้เข้ามาตามที่ประสงค์จะให้เป็นอย่างไร ต้องนุ่งต้องห่ม ต้องบริโภค ต้องถ่าย ในบางคราวก็พูด ในบางคราวก็นิ่ง เมื่อถึงเวลาก็ต้องนอนแล้วก็ต้องตื่น ในวันหนึ่งๆ ก็ต้องเปลี่ยนอิริยาบถเล็กน้อยต่างๆ เหล่านี้อยู่เสมอ ฉะนั้นก็ให้หัดทำสัมปชัญญะคือความรู้ตัวของตัวเองในอิริยาบถทั้งปวงนั้น เมื่ออยู่ในอิริยาบถใดก็ให้รู้ และเมื่อจะเปลี่ยนเป็นอิริยาบถอื่นก็ให้รู้ โดยมากถ้าไม่หัดทำสัมปชัญญะคือความรู้ให้อยู่กับตัว ก็มักจะเผลอในการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถต่างๆ และโดยปกตินั้นมักจะไม่รู้ตัวในเวลาที่เปลี่ยนอิริยาบถของตน เช่น คิดจะนั่ง ในขณะที่ร่างกายกำลังนั่งลงนั้น เราก็คิดอย่างอื่นต่อไปเสียอีกแล้ว มักจะเป็นอยู่ดั่งนี้ ลองตรวจดูก็อาจจะรู้สึก เพราะฉะนั้น หากพยายามเหนี่ยวรั้งจิตให้แล่นไปช้าลง ให้มาคอยดูการปฏิบัติตามความคิดสั่งของตนด้วย และเมื่อคอยฝึกหัดอยู่เสมอ ก็จะเป็นการหัดทำสัมปชัญญะให้มีสมบูรณ์ยิ่งขึ้น อนึ่ง ให้พิจารณาตรวจดูอวัยวะอาการในร่างกายของตน ที่เรียกว่าอาการ ๓๑ หรือ ๓๒ เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป มีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ ลองคิดดูไปโดยลำดับ

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๒ หน้า ๒๕๓ - ๒๕๘