Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๙๙

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

วิถีจิต

ในเรื่องของ วิถีจิต นี้ ท่านแสดงอุปมาเหมือนคนนอนหลับอยู่ใต้ต้นมะม่วง คือเหมือนอย่างว่ามีบุรุษผู้หนึ่ง นอนคลุมศีรษะอยู่ที่โคนต้นมะม่วงที่กำลังมีผล กำลังหลับ แต่ก็ตื่นขึ้นด้วยเสียงของมะม่วงผลที่ตกลงมาในที่ใกล้ จึงได้เอาผ้าออกจากศีรษะลืมตาขึ้นมองดู ก็เอามือจับผลมะม่วง คลำดูสูดกลิ่นดูก็รู้ว่าเป็นมะม่วงสุก จึงบริโภค และกลืนกินมะม่วงพร้อมทั้งเสมหะ แล้วก็หลับไปใหม่

ตัวอย่างนี้มาเทียบกับจิต เวลาของภวังคจิต ก็เหมือนอย่างเวลาที่บุรุษนั้นกำลังหลับ เวลาที่อารมณ์มากระทบประสาท ก็เหมือนอย่างเวลาที่ผลมะม่วงตกลงมา เวลาแห่งอาวัชชนจิตคือจิตคำนึง ก็เหมือนอย่างเวลาที่บุรุษนั้นตื่นขึ้นด้วยเสียงของมะม่วงนั้น เวลาที่จักขุวิญญาณเป็นไป ก็เหมือนอย่างเวลาที่บุรุษนั้นลืมตาขึ้นมองดู เวลาแห่งสัมปฏิจฉันนจิตคือจิตรับ ก็เหมือนกับเวลาที่บุรุษนั้นเอามือหยิบผลมะม่วง เวลาแห่งสันตีรณจิตคือจิตพิจารณา ก็เหมือนอย่างเวลาที่คลำดูด้วยมือ เวลาแห่งโวฏฐวนจิตคือจิตที่กำหนดอารมณ์ ก็เหมือนอย่างเวลาที่สูดดมดูจึงรู้ว่าเป็นมะม่วงสุก เวลาแห่งชวนจิตคือจิตที่แล่นไป ก็เหมือนอย่างเวลาที่บริโภคมะม่วง เวลาที่จิตหน่วงอารมณ์นั้นอันเรียกว่าตทาลัมพนจิต ก็เหมือนอย่างเวลาที่กลืนกินผลมะม่วงนั้นพร้อมกับเสมหะ เวลาที่จิตตกภวังค์ไปใหม่ ก็เหมือนอย่างเวลาที่หลับไปอีก

ในขณะที่อารมณ์มากระทบประสาทจนจิตตื่นขึ้นจากภวังค์ ดำเนินไปสู่วิถีคือทางดั่งกล่าวมานั้น ถ้าอารมณ์ที่มากระทบนั้นเป็นอารมณ์ที่แจ่มชัด ยกตัวอย่างเช่นว่า รูปมากระทบจักขุประสาทเป็นรูปที่แจ่มชัดและจิตก็รับอย่างเต็มที่ ท่านแสดงว่าอารมณ์เช่นนี้จิตดำเนินไปอยู่ ๑๖ ขณะจิต คือเมื่ออารมณ์เข้ามากระทบประสาท และกระทบเข้าไปถึงจิตที่กำลังตกภวังค์อยู่นั้น จิตก็เคลื่อนจากภวังค์เรียกว่า ภวังคจลนะ และก็ตัดขาดจากภวังค์เรียกว่า ภวังคอุปัจเฉทะ นี้รวม ๒ ขณะจิต ต่อจากนั้นจิตก็คำนึงอารมณ์ เรียกว่า อาวัชชนจิต อีก ๑ ขณะจิต ต่อจากนั้นจิตก็เห็นหรือได้ยินอารมณ์อันเรียกว่าจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณเป็นต้น ๑ ขณะจิต ต่อจากนั้นจิตก็รับอารมณ์เรียกว่า ปฏิจฉันนะ อีก ๑ ขณะจิต ต่อจากนั้นจิตก็พิจารณาอารมณ์เรียกว่า สันตีรณะ อีก ๑ ขณะจิต ต่อจากนั้นก็กำหนดอารมณ์เรียกว่า โวฏฐวนะ อีก ๑ ขณะจิต ต่อจากนั้นจิตก็แล่นไปในอารมณ์เรียกว่า ชวนะ อีก ๗ ขณะจิต ต่อจากนั้นจิตก็หน่วงอยู่กับอารมณ์นั้นเรียกว่า ตทาลัมพนะ อีก ๒ ขณะจิต รวมเป็น ๑๖ ขณะจิต

แต่ว่าถ้าเป็นอารมณ์ที่อ่อนมาก มากระทบประสาท กระทบถึงจิต ทำให้จิตเคลื่อนจากภวังค์ แต่ว่ายังไม่ตัดภวังค์ จิตก็จะต้องตกภวังค์ไปใหม่ ไม่ออกมารับรู้อารมณ์ตามวิถีจิตดังกล่าวนั้น

อารมณ์ที่แรงกว่านั้นจะมากระทบ บางทีก็ดำเนินไปไม่ตลอดทั้ง ๑๖ ขณะจิตนั้น สิ้นกำลังลงในระหว่าง ก็ตกภวังค์ในระหว่าง

 เพราะฉะนั้น อารมณ์ที่ปรากฏในจิตจึงไม่เท่ากัน แต่ว่าถ้าเต็มที่ก็ต้องดำเนินไป ๑๖ ขณะจิต ดังกล่าวมานั้น

ที่เรียกว่าขณะจิต ๑ นั้น ประกอบด้วยลักษณะ ๓ คือ . อุปปาทะ เกิดขึ้น ๒. ฐิติ ตั้งอยู่ ๓. ภังคะ ทำลายหรือดับไป จิตที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เรียกว่าขณะจิต ๑ ขณะจิตทั้ง ๑๖ ขณะจิตดั่งกล่าวมานั้น แต่ละขณะจิตก็ต้องมีเกิดมีตั้งมีดับ และเมื่อขณะจิตก่อนผ่านไปแล้ว ขณะจิตหลังก็เกิดขึ้นทยอยกันไป แต่หากว่าขณะจิตก่อนยังไม่ผ่าน คือว่ายังไม่ถึงภังคะคือแตกดับ ขณะจิตหลังก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะว่า จิตต้องดำเนินไปทีละ ๑ ขณะจิตเท่านั้น

และท่านแสดงว่า ๑๗ ขณะจิต เป็นอายุของรูปธรรมอันหนึ่งๆ จะหมายถึงอายุของรูปธรรมที่ตัวรูปธรรมนั่นเอง หรือว่าจะหมายถึงอายุของรูปธรรมที่ผ่านเข้ามาในจิต ก็ยังไม่ได้ค้นให้แน่ชัด แต่ว่าอาจจะหมายถึงอายุของรูปธรรมที่ผ่านเข้ามาในจิตก็ได้ คือว่า อย่างรูปที่มากระทบจักขุประสาท มาเริ่มเป็นภวังคจลนะ คือจิตเคลื่อนจากภวังค์เป็นต้น จนถึงตทาลัมพนะ คือหน่วงอยู่กับอารมณ์นั้น รวมเป็น ๑๖ ขณะจิตดั่งกล่าวมาแล้ว และท่านนับกับขณะจิตในอดีตที่เป็นหัวต่อเชื่อมกันอยู่อีก ๑ จึงเป็น ๑๗ ขณะจิต ถ้าเป็น ๑๗ ขณะจิตดังนี้ ก็รวมเข้าเป็นอายุของรูปธรรมอันหนึ่งๆ แปลว่า อารมณ์ที่ผ่านเข้ามาทางทวารทั้ง ๕ นั้น ก็นับว่าเป็นรูปธรรมทั้งนั้น ดำรงอยู่ในจิตได้อย่างช้าที่สุดก็เพียง ๑๗ ขณะจิต หรือว่า ๑๖ ขณะจิตดั่งที่กล่าวมาข้างต้น แต่ก็ต้องเป็นอารมณ์ที่แจ่มชัด ถ้าไม่แจ่มชัดก็ดำเนินมาไม่ถึง

นี่เป็นอธิบายของวิถีจิต ที่ดำเนินตั้งต้นมาจากปัญจทวารคือทวารทั้ง ๕

 

หน้าที่ของจิต

แต่สำหรับ มโนทวาร นั้น ขณะจิตมีช่วงสั้นกว่า เพราะว่าอารมณ์ในทวาร ๕ นั้น เป็นอารมณ์ที่ปรากฏในปัจจุบัน แต่ว่าอารมณ์ที่มากระทบมโนทวารนั้นเป็นอารมณ์เก่า เป็นมโนภาพที่เป็นตัวแทนของอารมณ์ที่เคยประสบพบผ่านมาแล้ว ไม่ใช่เป็นตัวแรก ตัวแรกนั้นประสบทางทวารทั้ง ๕ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า ธัมมะ หมายถึง เรื่อง เมื่อธัมมะคือเรื่องที่ปรากฏเป็นมโนภาพ เป็นตัวแทนของอารมณ์ที่ได้ประสบพบผ่านมาก่อนเก่าแล้วเหล่านั้น มาผุดขึ้นกระทบมโนทวารก็กระทบถึงจิต ทำจิตให้เคลื่อนจากภวังค์เป็นภวังคจลนะ และตัดจากภวังค์เป็นภวังคอุปัจเฉทะ ๒ ขณะจิต แล้วก็เกิดอาวัชชนจิต คำนึงถึงอารมณ์ทางมโนทวาร แต่ว่าอาวัชชนจิตทางมโนทวารนี้มีค่าเท่ากับโวฏฐวนจิต คือจิตที่กำหนดอารมณ์ เพราะฉะนั้น จึงได้เกิดชวนจิต คือจิตที่แล่นไปทีเดียว แล้วก็เกิดตทาลัมพนจิต คือจิตที่หน่วงอารมณ์นั้น แล้วก็ตกภวังค์

บรรดาจิตที่กล่าวมาเหล่านี้ ท่านแสดงว่า จิตที่ดำเนินในวิถีตั้งแต่ต้น เมื่อยังไม่ถึงชวนจิต ก็ยังเป็นจิตที่อ่อน ยังไม่เป็นกุศลไม่เป็นอกุศล เป็น อัพยากตะ ไม่ยืนยันว่าเป็นกุศลหรืออกุศล แต่ว่าเมื่อมาถึงชวนจิตคือจิตที่แล่นไป ซึ่งมีเวลาอีก ๗ ขณะจิตโดยมาก จึงเป็นจิตที่มีกำลังเต็มที่และนับว่าเป็นกุศลอกุศลตั้งแต่ชวนจิตนี้

ลักษณะของจิตดั่งที่กล่าวมานี้ เมื่อกล่าวถึงจิตที่ปฏิสนธิในเบื้องต้น เรียกว่า ปฏิสนธิจิต จิตที่เคลื่อนในที่สุดก็เรียกว่า จุติจิต เพราะฉะนั้น จึงเติมหน้าเติมหลังเข้าอีกสอง รวมเป็น กิจ คือหน้าที่ของจิตทั้งหมดก็เป็น ๑๔ คือ . ปฏิสนธิ ๒. ภวังคะ ๓. อาวัชชนะ คำนึง . ทัสสนะ เห็น . สวนะ ได้ยิน. ฆายนะ ได้กลิ่น . สายนะ ได้รส . ผุสนะ ถูกต้อง . สัมปฏิจฉันนะ รับ ๑๐. สันตีรณะ พิจารณา ๑๑. โวฏฐวนะ หรือ โวฏฐัพพนะ กำหนด ๑๒. ชวนะ แล่นไป ๑๓. ตทาลัมพนะ หน่วงอารมณ์นั้น ๑๔. จุติ เท่านี้

 

วิธีทำสมาธิ

แถมท้ายวิธีทำสมาธิอย่างหนึ่งคือ ให้นั่งตัวตรง และน้อมจิตเข้ามาดูตน โดยปกตินั้นเราดูผู้อื่น แต่ว่าไม่ค่อยจะได้ดูตน คราวนี้ก็น้อมจิตเข้ามาดูตน เมื่อยังไม่ได้ดูเข้ามานั้น หายใจอยู่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเรากำลังหายใจ จนเมื่อใดเกิดหายใจขัดข้องขึ้น เช่น เป็นหวัดคัดจมูก จึงมาสนใจกับการหายใจ หรือเหมือนอย่างว่า ทุก ๆ คนก็มีท้อง แต่ว่าก็ไม่สนใจในเรื่องท้อง จนกว่าจะเกิดปวดท้องขึ้น จึงได้มาสนใจกับท้อง

เพราะฉะนั้น เมื่อกลับมาดูตน สิ่งแรกที่จะรู้สึกได้โดยง่ายก็คือรู้สึกว่าเรากำลังหายใจอยู่ ซึ่งโดยปกติมิได้นึกถึง เพราะฉะนั้น ก็ให้กลับมานึกถึง กำหนดสติอยู่ที่ลมหายใจ มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก หายใจเข้ายาวก็ให้รู้ หายใจออกยาวก็ให้รู้ หายใจเข้าสั้นก็ให้รู้ หายใจออกสั้นก็ให้รู้ กำหนดให้รู้กายทั้งหมดหายใจเข้า กำหนดรู้กายทั้งหมดหายใจออก คือให้รู้รูปกายว่าบัดนี้รูปกายของเรานั่งอยู่ด้วยอิริยาบถนี้ด้วยท่านี้ และมีขอบเขตเบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมาจนสุดศีรษะ เบื้องต่ำก็ตั้งแต่ปลายผมลงไปจนถึงสุดที่นั่ง และมีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ นี้เป็นอาณาเขตของรูปกาย มีเท่านี้ หรือว่าอีกอย่างหนึ่งก็ยาววาหนาคืบ และบัดนี้ก็กำลังนั่งอยู่ในท่านี้

เมื่อเราดูให้รู้รูปกายของเราอยู่ ก็ดูให้รู้ว่าลมหายใจเข้าลมหายใจออก นี่เป็นกายส่วนหนึ่งเหมือนกัน เมื่อเวลาหายใจเข้านั้น ก็จะรู้สึกว่าลมผ่านเข้าไปทางช่องจมูก ผ่านทรวงอกไปจนถึงนาภี นี้ตามที่รู้สึกเท่านั้น จากนาภีมาถึงทรวงอกแล้วมาออกจมูก นี่ก็เป็นขาออก แปลว่าตรวจดูให้ทั่ว

คราวนี้ก็กำหนดดู นามกาย คือสติของเราในบัดนี้เป็นอย่างไร สัมปชัญญะ คือความรู้เป็นอย่างไร ความคิดกำหนดเป็นอย่างไร ดูให้รู้ทั่วหายใจเข้า ดูให้รู้ทั่วหายใจออก เมื่อตรวจดูให้รู้รูปกายของเรานามกายของเราทั่วหมดแล้ว ก็มากำหนดจิตให้เป็นหนึ่ง เพราะว่าการที่ตรวจดูนั้น ส่ายใจไปไม่รวมเป็นหนึ่ง ฉะนั้นก็ต้องปล่อย การตรวจรวมเข้ามาให้เป็นหนึ่งจะใช้จุดไหน ถ้าชอบจะใช้จุดที่ริมฝีปากเบื้องบนหรือว่าปลายจมูกซึ่งเป็นที่ลมกระทบเมื่อเข้าและเมื่อออกก็ได้ และในขณะที่กำหนดนั้น จะนับลมหายใจไปด้วยก็ได้ หรือว่าจะไม่นับ จะบริกรรมว่า พุทโธ หายใจเข้าว่า พุท หายใจออกว่า โธ ไปดั่งนี้ก็ได้ วัตถุประสงค์ก็เพื่อรวมจิตให้เป็นหนึ่ง

ในการกำหนดจิตให้เป็นหนึ่งนี้ ไม่ต้องการให้เป็นการเกินไป ต้องการให้ผ่อนกายผ่อนใจ ผ่อนลมหายใจให้เป็นไปตามสบาย และเมื่อลมหายใจละเอียดเข้า ก็ให้กำหนดรู้อยู่เสมอ มีความเพียร มีสัมปชัญญะความรู้ มีสติความระลึก และคอยกำจัดความยินดีความยินร้าย ยินดีก็คือใจออกไปยินดีข้างนอก ก็คอยกำจัด ใจยินดีติดอยู่ในผลของสมาธิชั้นต่ำ ไม่ก้าวขึ้นไป ก็ต้องคอยกำจัด ใจยินร้ายคือไม่ชอบ ไม่ชอบใจการปฏิบัติ ก็ต้องคอยกำจัด หรือว่าคิดออกไปไม่ชอบเรื่องข้างนอก ก็ต้องคอยกำจัด ประคองจิตให้เป็นหนึ่งอยู่ และเมื่อหัดทำดังนี้ ก็ได้ชื่อว่าทำ อานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก เป็นการหัดทำสมาธิอย่างหนึ่ง ก็จะเป็นเครื่องรักษาใจให้สงบสบายดี

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๒ หน้า ๒๔๗ - ๒๕๒