Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๙๘

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ

อภิธรรม ๗ คัมภีร์นี้ ถ้าจะเรียนกันโดยลำดับให้ครบถ้วนก็จะต้องใช้เวลานาน เพราะมีข้อความที่สลับซับซ้อนพิสดารมาก ฉะนั้น ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาล่วงไปอยู่ในขนาด ๑,๐๐๐ ปี ได้มีพระเถระรูปหนึ่งชื่อว่าท่าน อนุรุทธะ ได้ประมวลเนื้อความของอภิธรรมทั้ง ๗ คัมภีร์นี้มาแต่งไว้โดยย่นย่อ เรียกว่า คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ แปลว่า สงเคราะห์คือสรุปความแห่งอภิธรรม ยกหัวข้อเป็น ๔ คือ . จิต ๒. เจตสิก แปลว่า ธรรมที่มีในใจ ๓. รูป ๔. นิพพาน ท่านแต่งเป็นคาถาสลับร้อยแก้วแบ่งออกเป็น ๙ ปริจเฉท คือ ๙ ตอน เป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ไม่โตมาก คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะนี้เป็นที่นิยมกันมาก เมื่อเรียนตามคัมภีร์นี้แล้ว ไปจับดูอภิธรรม ๗ คัมภีร์ก็จะเข้าใจได้โดยง่ายโดยตลอด เป็นการเรียนลัด

พิจารณาดูตามหัวข้อที่ท่านวางไว้เป็น ๔ นี้ตามความเข้าใจ จิตนี้เป็นตัวยืน โดยปกติจิตก็มีดวงเดียว จิตจะเป็นต่างๆ ก็เพราะมีเจตสิก แปลว่าธรรมที่มีในใจ มีเจตสิกเป็นอย่างไร จิตก็เป็นอย่างนั้น เจตสิกจึงเป็นสิ่งที่มีผสมอยู่ในจิต เทียบเหมือนดังว่าน้ำกับสีที่ผสมอยู่ในน้ำ น้ำโดยปกติก็เป็นอย่างเดียว แต่เมื่อใส่สีลงไป น้ำจึงเป็นน้ำสีนั้นน้ำสีนี้ ฉะนั้น ในอภิธรรมที่แจกจิตไว้ถึง ๘๙ ดวง ก็ด้วยอำนาจของเจตสิกนี้เอง ยกเจตสิกออกแล้ว จิตก็เป็นอันเดียวเท่านั้น แจกออกไปเป็นอย่างไรมิได้ แต่ว่าทั้งจิตและเจตสิกนี้ก็อาศัยอยู่กับรูป รูปที่อาศัยของจิตและเจตสิก ถ้าจะเทียบก็เหมือนอย่างว่าน้ำที่อาศัยอยู่ในขวดน้ำถ้าหากว่ารูปแตกทำลาย จิตก็สิ้นที่อาศัย เหมือนอย่างว่าขวดน้ำแตก น้ำก็หมดที่อาศัย และนิพพานนั้นก็เป็นธรรมที่สุด ในเมื่อได้ปฏิบัติจิตสูงขึ้นโดยลำดับ เบื้องต้นก็เป็นกามาวจรจิต จิตที่ท่องเที่ยวไป หรือหยั่งลงในกาม เป็นรูปาวจรจิต จิตที่หยั่งลงในรูปคือรูปฌาน อรูปาวจรจิตจิตที่หยั่งลงในอรูปฌาน โลกุตตรจิต จิตที่เป็นโลกุตตระคือมรรคผล ก็บรรลุนิพพานเป็นที่สุด เพราะฉะนั้น จึงประมวลหัวข้อเป็น จิต เจตสิก รูป นิพพาน แล้วก็จัดธรรมในอภิธรรมทั้ง ๗ คัมภีร์นั้นใส่เข้าในหัวข้อทั้ง ๔ นี้

ทั้ง ๗ คัมภีร์นี้เราเรียกย่อกันว่า สัง วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ คือเอาอักษรต้น เรียกว่าเป็น หัวใจอภิธรรม เหมือนอย่าง จิต เจตสิก รูป นิพพาน เรียกว่า จิ เจ รุ นิ หรือ อริยสัจ ก็เรียกว่า ทุ ส นิ ม คือเอาอักษรตัวแรก ความจริงนั้นเพื่อกำหนดง่าย เมื่อจำได้เพียงเท่านี้ก็เป็นอันว่าเพียงพอ แต่ก็มาเรียกกันว่า หัวใจ เราก็ใช้เขียนลงในเหรียญในเครื่องรางต่างๆ วัตถุประสงค์ในทีแรกก็เพื่อจะเป็นเครื่องกำหนดง่ายเท่านั้น

คัมภีร์อภิธรรมตลอดจนถึงอภิธัมมัตถสังคหะตกมาถึงเมืองไทยก็มาใช้เกี่ยวแก่การศพเป็นพื้น เช่นว่าสวดศพตอนกลางคืนก็สวดอภิธรรมทั้ง ๗ คัมภีร์นี้เอง แต่ว่าตัดเอามาแต่ข้างต้น คัมภีร์ละเล็กละน้อย และเมื่อเวลาที่จะบังสุกุลหรือจะสดับปกรณ์มีสวดมาติกา ก็คือว่ายกเอา มาติกา คือ แม่บท จากคัมภีร์ที่ ๑ มาสวดตอนหนึ่ง ขึ้นต้นว่า กุสลา ธัมมา เป็นต้น และคัมภีร์ อภิธัมมัตถสังคหะนั้นท่านแต่งเป็นคาถา ก็นำมาสวดเป็นสรภัญญะในการศพอีกเหมือนกัน คือถ้าไม่สวดอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ก็สวดอภิธัมมัตถสังคหะเป็นสรภัญญะ ครั้นมาในตอนหลังนี้ได้มีผู้สนใจศึกษาอภิธรรมมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

 

 จิตเสวยอารมณ์

ได้กล่าวแล้วว่าอภิธรรม ๗ คัมภีร์นั้น ท่าน พระอนุรุทธาจารย์ ได้ประมวลเนื้อความมาแต่งเป็นคัมภีร์ย่อขึ้นอีกคัมภีร์หนึ่ง เรียกว่า อภิธัมมัตถสังคหะ แปลว่า สงเคราะห์เนื้อความของอภิธรรม ยกหัวข้อเป็น ๔ คือ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน แบ่งออกเป็น ๙ ปริเฉท คัมภีร์ย่อนี้เป็นที่นับถือและศึกษากันมาเป็นเวลาช้านานจนกระทั่งบัดนี้ จะได้เก็บบางตอนที่น่าจะพอเป็นที่เข้าใจได้ง่ายมาแสดงจากอภิธัมมัตถสังคหะนั้น

หัวข้อแรกคือ จิต จิตนี้แสดงอาการออกทางทวารทั้ง ๖ ดังที่ได้เคยอธิบายมาแล้ว คือออกมารับรูปารมณ์ (อารมณ์คือรูป) ทางจักขุทวาร รับสัททารมณ์ (อารมณ์คือเสียง) ทางโสตทวาร รับคันธารมณ์ (อารมณ์คือกลิ่น) ทางฆานทวาร รับรสารมณ์ (อารมณ์คือรส) ทางชิวหาทวาร รับโผฏฐัพพารมณ์ (อารมณ์คือโผฏฐัพพะ คือสิ่งที่กายถูกต้อง) ทางกายทวาร รับธัมมารมณ์ (อารมณ์คือธรรม คือเรื่องของรูปเสียงเป็นต้น ที่ได้ประสบพบผ่านมาแล้วในอดีต) ทางมโนทวาร

ในตอนนี้ การแสดง วิถีจิต คือ ทางดำเนินของจิต แยกเป็น ๒ คือ ทางปัญจทวาร (ทวาร ๕) ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ส่วนหนึ่ง ทางมโนทวารอีกส่วนหนึ่ง และจิตโดยปกติเมื่อยังไม่ออกมารับอารมณ์ดั่งกล่าวแล้ว เรียกว่า ภวังคจิต ภวังคะ แปลว่า องค์แห่งภพ ภวังคจิต จิตที่เป็นองค์แห่งภพ แต่โดยความหมาย หมายถึงจิตที่เป็นปกติ ยังไม่ได้ออกมารับอารมณ์

คราวนี้เมื่อมีอารมณ์ ๕ มากระทบกับประสาททั้ง ๕ คือมีรูปมากระทบจักษุ เสียงมากระทบโสตะ กลิ่นมากระทบฆานะ รสมากระทบชิวหา และโผฏฐัพพะมากระทบกาย ก็มากระทบถึงจิต จิตที่ยังอยู่ในภวังค์นั้นก็ตื่นจากภวังค์ออกมารับ อาวัชชนะ คือคำนึงถึงอารมณ์ เมื่อเป็นอาวัชชนะก็เป็น วิญญาณ คือถ้ารูปมากระทบก็ได้เห็น อารมณ์นั้นเป็นจักขุวิญญาณ ถ้าเสียงมากระทบก็ได้ยิน อารมณ์นั้นเป็นโสตวิญญาณ ถ้ากลิ่นมากระทบก็ได้กลิ่น อารมณ์นั้นเป็นฆานวิญญาณ เมื่อรสมากระทบก็รู้รส อารมณ์นั้นเป็นชิวหาวิญญาณ เมื่อสิ่งที่กายถูกต้องมากระทบก็รับกระทบ อารมณ์นั้นเป็นกายวิญญาณ เมื่อเป็นวิญญาณ ต่อไปก็เป็น ปฏิจฉันนะ คือรับอารมณ์ต่อไปก็เป็น สันตีรณะ คือพิจารณาอารมณ์ ต่อไปก็เป็น โวฏฐวนะ กำหนดอารมณ์ ต่อไปก็เป็น ชวนะ คือแล่นไปในอารมณ์ ต่อไปก็เป็น ตทาลัมพนะ คือหน่วงอารมณ์นั้น แล้วก็กลับตกภวังค์ใหม่ เปรียบเหมือนอย่างว่าภวังคจิต เป็นพื้นทะเล ส่วนวิถีจิตคือทางดำเนินของจิตดั่งกล่าวมานั้น เป็นคลื่นทะเลที่เกิดขึ้น คลื่นที่เกิดขึ้นนั้นก็เป็นคลื่นทะเล ปรากฏขึ้นมาแล้วกลับตกไปยังพื้นทะเล

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๒ หน้า ๒๔๓ - ๒๕๗