Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๙๗

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

การอบรมกำลังใจ

อนึ่ง เมื่อได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยที่เป็นส่วน สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา พอสมควร เพื่อจะให้บริบูรณ์ ก็ควรจะสนใจภาวนาเพื่อให้เป็น ภาวนามยปัญญา สืบต่อไป ภาวนานั้นก็คือการปฏิบัติ การปฏิบัตินั้นควรที่จะใช้ในเวลาอยู่ในเพศบรรพชิตหรือว่าควรที่จะใช้ในเวลาเป็นเพศคฤหัสถ์ด้วย เมื่อพิจารณาดูแล้ว การปฏิบัติอบรมใจให้เป็นสมาธิ และการปฏิบัติอบรมปัญญาพอสมควร เป็นประโยชน์ตลอดถึงเป็นคฤหัสถ์ เพราะว่าการปฏิบัติอบรมใจให้เป็นสมาธินั้น เป็นการหัดทำใจให้ตั้งมั่นแน่วแน่ ทำใจให้มีกำลังสามารถ ไม่อ่อนแอ ทำให้เป็นคนมีสัจจะคือมีความจริง เมื่อจะทำอะไรก็ทำจริง ตั้งมั่นแน่วแน่ ไม่เหลาะแหละย่อหย่อน

เรื่องกำลังใจนี้สำคัญมาก คนเราที่เสียไปเพราะกำลังใจอ่อนแอมีมากมาย เหมือนอย่างที่ทางรัฐบาลได้ปรารภต่อทางคณะสงฆ์ถึงผู้ที่ติดเฮโรอีน คือว่ามีมากที่ได้รับการรักษาให้เป็นปกติได้แล้ว แต่ว่าครั้นปล่อยตัวไปแล้วก็ไปสูบเฮโรอีนเข้าอีก นี้ก็แปลว่าขาดกำลังใจ จึงได้ขอให้ทางคณะสงฆ์ช่วยเทศน์เป็นการกระตุ้นเตือนให้เกิดกำลังใจ เพราะว่าทางศาสนานี้เท่านั้นที่จะเป็นแหล่งอบรมพอกพูนให้เกิดกำลังใจในทางที่ดีแก่ประชาชนได้

จิตใจของเรานี้ มีสมรรถภาพอยู่อย่างไม่มีประมาณ แต่ว่าเรายังไม่ได้นำสมรรถภาพของจิตใจนี้ออกใช้กันให้เต็มที่ เพราะว่ายังมิได้อบรม เมื่อเรามีความตั้งใจจริงแล้ว ทำไมเราจึงจะละความไม่ดีไม่ได้ และทำไมเราจึงจะทำดีไม่ได้ เหมือนอย่างว่า ก่อนที่จะมาบวชนี้ เรานี้ก็เคยปฏิบัติอย่างคฤหัสถ์ ไม่ได้เว้นอะไรอย่างพระเว้น ไม่ได้ทำอะไรอย่างพระทำอยากจะกินอะไรก็ได้ อยากจะดื่มอะไรก็ได้ อยากจะดูอะไรก็ได้ จะเป็นนักดื่มสักแค่ไหนก็ได้ ทำไมเมื่อเข้ามาบวชแล้วเว้นได้ ก็เพราะว่าเรามีความตั้งใจจริง แต่ว่าเมื่อสึกไปแล้วทำไมเราจึงจะรักษาความตั้งใจจริงอันนี้ไว้ไม่ได้ โดยที่จะละเว้นการที่ควรเว้น ทำการที่ควรทำไม่ใช่ว่าเหมือนอย่างพระ แต่ว่าเหมือนอย่างที่คนดีทั่วๆ ไปปฏิบัติกันอยู่ แต่ว่าถ้าขาดกำลังใจเสียแล้ว เคยอย่างไรก็จะต้องเป็นอย่างนั้น ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว เขาก็จะตราว่าบวชไม่มีประโยชน์ เพราะว่าแก้อะไรมิได้ เคยไม่ดีมาอย่างไรก็ไม่ดีไปอย่างนั้น หรือว่าเคยดีอยู่เท่าไรก็ดีอยู่เท่านั้น คือไม่ยิ่งขึ้นไป

เพราะฉะนั้น จึงควรที่จะต้องมีการปฏิบัติอบรมใจให้เป็นสมาธิ เป็นการสร้างกำลังทางใจ ประการหนึ่ง และอบรมปัญญาให้มีความรู้สึกพอเป็นเครื่องปลงตกในเรื่องโลกทั้งหลายบ้างตามสมควร อีกประการหนึ่ง

อนึ่ง การบวชเรียนนี้เท่ากับว่าเป็นโรงเรียนดัดนิสัยชั้นสุดท้าย ถ้าเข้าโรงเรียนนี้ยังแก้อะไรไม่ได้แล้ว ก็ยากที่จะไปแก้ในที่อื่น และในวิธีแก้ของโรงเรียนนี้ก็มุ่งให้แก้ด้วยตนเองและที่ตนเอง นี่เป็นประการสำคัญ ซึ่งเป็นวิธีการอบรมอย่างละเอียดประณีต และบรรดาผู้ที่เข้ามาบวช ก็เป็นผู้ที่สมัครเข้ามา แปลว่าตั้งใจพร้อมที่จะรับการอบรมอยู่ คือมีเจตนาเป็นกุศลมาตั้งแต่เบื้องต้นแล้ว เมื่อรักษากุศลเจตนาที่ได้ตั้งมาแต่ในเบื้องต้นนั้นไว้ และตั้งใจปฏิบัติที่ตนด้วยตนเองดั่งกล่าวมานี้ ก็จะรับการอบรมได้โดยง่ายและได้ด้วยดี

 

อภิธรรม ๗ คัมภีร์

จะแสดงพรรษาที่ ๗ เรื่องพระพุทธเจ้าทรงแสดงอภิธรรมต่อไป คำว่า อภิธรรม นั้นประกอบด้วยศัพท์ว่า อภิ แปลว่า ยิ่ง กับ ธรรม รวมกันแปลว่า ธรรมยิ่ง หมายความว่า ธรรมะที่ยิ่งกว่าจำนวนโดยปกติ เพราะว่าได้จำแนกไว้โดยพิสดาร อีกอย่างหนึ่ง หมายความว่าธรรมที่ยิ่ง คือ พิเศษ หมายความว่าแปลกจากธรรมในปิฎกอื่น ความหมายนี้ต่างจากคำว่า อภิธรรม อภิวินัย ที่ใช้ในพระสูตร เพราะในที่นั้น คำว่า อภิ หมายความว่า จำเพาะธรรม จำเพาะวินัย คือมีเขตแดนไม่ปะปนกัน อีกอย่างหนึ่ง อภิ ในที่นั้นก็หมายความว่ายิ่ง นั่นแหละ แต่ไม่ได้หมายไปถึงอีกปิฎกหนึ่ง คือ อภิธรรม หมายถึง โพธิปักขิยธรรม อภิวินัย ก็หมายถึง อาทิพรหมจริยกาสิกขา คือสิกขาบท มาในพระปาติโมกข์

แต่ว่าในที่บางแห่ง คำว่า อภิธรรม หมายความว่า ธรรมที่เป็นอธิบายทำนองอรรถกถา คือกถาที่อธิบายเนื้อความ ถ้าตามความหมายหลังนี้ อภิธรรมก็คือเป็นตำราที่อธิบายธรรม

ส่วนที่แสดงความของศัพท์อภิธรรมว่าธรรมที่ยิ่งดังกล่าวข้างต้นนั้น เป็นการแสดงตามคัมภีร์อรรถกถาอภิธรรม แต่ถ้าไม่อ้างคัมภีร์นั้น ว่าเอาตามที่พิจารณา จะแปลว่า เฉพาะธรรม ก็ได้ เพราะว่าในคัมภีร์อภิธรรมได้แสดงเฉพาะธรรม ไม่เกี่ยวกับบุคคล

อภิธรรมมี ๗ คัมภีร์เรียกว่า สัตตปกรณ์ ดังกล่าวแล้ว คือ

. ธัมมสังคณี แปลง่ายๆ ว่า ประมวลหมวดธรรม สังคณี ก็แปลว่าประมวลเข้าเป็นหมู่หมวด ธัมมสังคณี ก็แปลว่า ประมวลธรรมเข้าเป็นหมวดหมู่ จำแนกออกเป็น ๔ กัณฑ์ คือ ว่าด้วยความเกิดขึ้นแห่งจิต ๘๙ ดวงกัณฑ์หนึ่ง ว่าด้วยรูปโดยพิสดารกัณฑ์หนึ่ง ว่าด้วยนิกเขป แปลว่ายกธรรมขึ้นแสดงโดยมูลราก โดยขันธ์คือกอง โดยทวาร เป็นต้น กัณฑ์หนึ่ง ว่าด้วยอัตถุทธารหรืออรรถกถา คือว่ากล่าวอธิบายเนื้อความของแม่บทนั้นที่ได้แสดงไว้ตั้งแต่ต้นกัณฑ์หนึ่ง

. วิภังค์ แปลว่า จำแนกธรรม ลำพังศัพท์ว่า วิภังค์ แปลว่า จำแนก มี ๑๘ วิภังค์ คือ ขันธวิภังค์ จำแนกขันธ์ อายตนวิภังค์ จำแนกอายตนะ ธาตุวิภังค์ จำแนกธาตุ เป็นต้น

. ธาตุกถา ว่าด้วย ธาตุ แต่โดยที่แท้นั้นว่าด้วยขันธ์ อายตนะ ธาตุที่สงเคราะห์กันเข้าได้อย่างไร และสงเคราะห์กันไม่ได้อย่างไร ควรจะเรียกชื่อเต็มที่ว่า ขันธ์อายตนะธาตุกถา แต่ว่าเรียกสั้นๆ ว่า ธาตุกถา แบ่งออกเป็น ๑๔ หมวด มีการสงเคราะห์กันได้ การสงเคราะห์กันไม่ได้แห่งส่วนทั้ง ๓ นั้น เป็นต้น

. ปุคคลบัญญัติ บัญญัติว่าบุคคล เป็นเบื้องต้นของคัมภีร์นี้ได้แสดงถึงบัญญัติ ๖ ประการ คือ ขันธบัญญัติ บัญญัติว่าขันธ์ อายตนบัญญัติ บัญญัติว่าอายตนะ ธาตุบัญญัติ บัญญัติว่าธาตุ สัจจบัญญัติ บัญญัติว่าสัจจะ อินทรียบัญญัติ บัญญัติว่าอินทรีย์ ปุคคลบัญญัติ บัญญัติว่าบุคคล แต่ว่าบัญญัติ ๕ ประการข้างต้นนั้น ได้มีกล่าวไว้ในคัมภีร์แรกๆ แล้ว ในคัมภีร์นี้จึงได้กล่าวพิสดารแต่เฉพาะปุคคลบัญญัติคือบัญญัติว่าบุคคล และเรียกชื่อคัมภีร์ตามนี้ ในคัมภีร์นี้แยกบุคคลตั้งแต่พวกหนึ่ง สองพวกขึ้นไป คล้ายกับในสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย คือตอนที่แสดงธรรมเป็นหมวดๆ แต่ว่าก็มีเงื่อนเค้าอยู่ในคัมภีร์อภิธรรมนี้ เพราะมีคำว่า บัญญัติ อยู่ด้วย อันหมายความว่าที่จะเป็นบุคคลเพราะมีบัญญัติชื่อว่า บุคคล เพราะฉะนั้น คำว่า บุคคล นั้นก็เป็นเพียงบัญญัติอย่างหนึ่งเท่านั้น ก็เป็นลักษณะของอภิธรรม

. กถาวัตถุ คำว่า วัตถุ แปลว่า ที่ตั้ง แปลว่า เรื่อง กถาวัตถุ ก็แปลว่าที่ตั้งของถ้อยคำเรื่องของถ้อยคำในคัมภีร์นี้ได้แสดงที่ตั้งของถ้อยคำซึ่งกล่าวโต้กันอยู่ ๒ ฝ่าย คือฝ่ายสกวาทะ ๕๐๐ สูตร ฝ่ายปรวาทะ ๕๐๐ สูตร รวมเป็นพันสูตร คือว่าพันเรื่อง แต่ไม่ใช่เป็นคัมภีร์ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นคัมภีร์ที่ว่าพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระแสดงในสมัยสังคายนาครั้งที่ ๓ เมื่อพระพุทธศาสนาล่วงไปแล้ว ๒๐๐ ปีเศษ แต่ท่านก็ว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงนัยหรือว่าตั้งมาติกาคือแม่บทไว้ให้แล้ว พระเถระได้แสดงไปตามแม่บทนั้น ที่ท่านนับว่าเป็นพุทธภาษิตด้วย ก่อนแต่นั้นจึงมีเพียง ๖ คัมภีร์

โดยเฉพาะคัมภีร์นี้เอง ก็ถูกค้านเหมือนกันว่าไม่ควรใส่เข้ามา ถ้าต้องการจะให้ครบ ๗ ก็ให้ใส่ คัมภีร์ธัมมหทัย หรือว่า คัมภีร์มหาธาตุกถา แต่ว่าฝ่ายที่ยืนยันให้ใส่คัมภีร์นี้เข้ามาก็อ้างว่า ๒ คัมภีร์นั้นไม่เหมาะสม คัมภีร์นี้เหมาะสมกว่า ก็คงจะเป็นว่า ความเห็นส่วนมากในที่ประชุมต้องการให้ใส่คัมภีร์นี้เข้ามาให้ครบ ๗ ทำไมจึงต้องมีเกณฑ์ ๗ อันนี้ไม่ทราบ อาจจะเป็นเพราะเห็นว่าเหมาะก็ได้ จึงได้ใส่เข้ามา เมื่อใส่เข้ามาก็รวมเป็น ๗

ในกถาวัตถุนี้มีเรื่องที่โต้กันอยู่มาก เกี่ยวแก่ลัทธิต่างๆ ที่แตกแยกกันออกไป เกี่ยวกับความเห็นต่างๆ เป็นต้นว่า มติหนึ่งว่าพระอรหันต์เมื่อบรรลุพระอรหัตนั้นไม่รู้เอง ต้องมีผู้อื่นมาบอกให้ แต่อีกมติหนึ่งว่ารู้ได้เอง ไม่ต้องมีผู้อื่นมาบอก มติหนึ่งว่าจิตเป็นธรรมชาติที่ดำรงอยู่ทำนองจิตอมตะนั่นแหละ แต่อีกมติหนึ่งคัดค้าน ดังนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น คัมภีร์กถาวัตถุจึงเท่ากับว่าเป็นที่รวมของปัญหาโต้แย้งต่างๆ ที่เกิดมีมาโดยลำดับ จนถึงในสมัยที่รวบรวมเรียบเรียงคัมภีร์นี้ขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ารู้น่าเห็นอยู่มาก และเมื่อได้อ่านคัมภีร์นี้ก็จะทราบว่า ได้มีความเห็นแตกแยกกันในพระพุทธศาสนาอย่างไรบ้าง เมื่อท่านแสดงถึงข้อที่แตกแยกโต้เถียงกันแล้ว ในที่สุดท่านก็ตัดสินเป็นข้อๆ ไปว่าอย่างไหนถูก ก็เข้าเรื่องที่เล่าว่า พระเจ้าอโศกใช้ราชานุภาพไปสอบสวนภิกษุในคราวนั้น ปรากฏว่ามีพวกเดียรถีย์เข้ามาปลอมบวชเป็นอันมาก ได้ตั้งปัญหาขึ้นถามโดยมีพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ เป็นผู้คอยฟังวินิจฉัย เมื่อคำตอบนั้นส่องว่าเป็นลัทธิภายนอก ไม่ใช่เป็นพระพุทธศาสนาก็ให้สึกไป เหลือไว้แต่ผู้ที่ตอบถูกต้องตามแนวของพระพุทธศาสนา เสร็จแล้วก็ทำสังคายนาครั้งที่ ๓

. ยมก แปลว่า คู่ คัมภีร์นี้ว่าด้วยธรรมที่เป็นคู่ๆ กัน แบ่งออกเป็น ๑๐ หมวด มีมูลยมก ขันธยมก เป็นต้น

. ปัฏฐาน คัมภีร์นี้เรียกว่าเป็น มหาปกรณ์ แปลว่า ปกรณ์ใหญ่ หรือว่า คัมภีร์ใหญ่ คู่กันกับปกรณ์ที่ ๑ คือ ธัมมสังคณี ว่าด้วยปัจจัย ๒๔ มีเหตุปัจจโย (เหตุเป็นปัจจัย) เป็นต้น ท่านนับถือว่าคัมภีร์ที่ ๗ นี้มีอรรถลึกซึ้ง และแสดงว่าเมื่อพระพุทธเจ้าทรงพิจารณาอภิธรรมทั้ง ๗ คัมภีร์นี้ที่รัตนฆรเจดีย์ เจดีย์เรือนแก้วที่แสดงแล้วนั้น เมื่อพิจารณาปกรณ์แรกๆ มา ฉัพพรรณรังสีก็ยังไม่ปรากฏ ต่อเมื่อมาพิจารณาปกรณ์ที่ ๗ นี้ จึงปรากฏฉัพพรรณรังสีขึ้น

ก็รวมเป็น ๗ คัมภีร์ ในคัมภีร์ที่ ๑ ธัมมสังคณีที่ประมวลธรรม ได้ตั้งแม่บทที่เป็นหมวด ๓ ขึ้นต้นว่า กุสลา ธัมมา ธรรมทั้งหลายเป็นกุศล อกุสลา ธัมมา ธรรมทั้งหลายเป็นอกุศล อัพยากตา ธัมมา ธรรมทั้งหลายเป็นอัพยากฤต คือว่าไม่พยากรณ์ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล ถือว่าแม่บทนี้เป็นแม่บทใหญ่ เป็นที่รวมของธรรมทั้งหมดที่แสดงออกไปทั้ง ๗ คัมภีร์ เพราะว่าประมวลลงในแม่บทอันนี้ทั้งนั้น


จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๒ หน้า ๒๓๗ - ๒๔๒