Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๙๖

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

หลักฐานเรื่องอภิธรรม

 จะกล่าวถึงเรื่องอภิธรรมต่อไป ได้กล่าวถึงเรื่องพระพุทธเจ้าแสดงอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา และได้เล่าถึงเรื่องพระไตรปิฎกว่า อภิธรรมนั้นมีแสดงไว้ในอภิธรรมปิฎก แต่ว่าไม่ได้มีเล่าประวัติไว้แต่อย่างไร แสดงแต่ธรรมขึ้นมาเท่านั้น ฉะนั้น เมื่อจะค้นดูประวัติของอภิธรรมในตำราชั้นเดิม คือในพระไตรปิฎกจึงหาไม่พบ

ใน วินัยปิฎก เองที่เล่าถึงเรื่องสังคายนาครั้งที่ ๑ ที่ทำเมื่อหลังพุทธปรินิพพานไม่นานนัก และสังคายนาครั้งที่ ๒ ที่ทำเมื่อหลังจากพุทธปรินิพพานประมาณ ๑๐๐ ปี ก็เล่าแต่เพียงว่าได้ทำสังคายนาพระวินัยและพระธรรม ไม่ได้กล่าวถึงอภิธรรมปิฎก เมื่อพระพุทธเจ้าจะนิพพานก็ยังได้ทรงแสดงว่า ธรรมะที่ทรงแสดงแล้ว วินัยที่ทรงบัญญัติแล้ว จักเป็นศาสดาแห่งท่านทั้งหลาย โดยกาลล่วงไปแห่งเรา ก็กล่าวถึงแต่ธรรมและวินัยเท่านั้น ไม่ได้พูดถึงอภิธรรม ฉะนั้น นักศึกษาพระพุทธศาสนาที่วิจารณ์ทั้งประวัติและทั้งเนื้อความของปิฎกทั้ง ๓ จึงมีมากท่านที่ลงความเห็นว่า อภิธรรมปิฎกนั้นมีในภายหลัง

แต่ว่าเมื่อพระพุทธศาสนาล่วงมาหลายร้อยปีเข้า จนถึงสมัยแต่งอรรถกถา ประมาณว่าพระพุทธศาสนาล่วงมาขนาดพันปี จึงได้ปรากฏหลักฐานในคัมภีร์อรรถกถาที่แต่งในสมัยนั้นถึงเรื่องประวัติของอภิธรรมว่า พระพุทธเจ้าไปเทศน์อภิธรรมแด่พระพุทธมารดาที่ดาวดึงสพิภพ และถ้อยคำในอรรถกถาแสดงว่ามีการนับถือคัมภีร์อภิธรรมนี้เป็นอันมาก ใครจะคัดค้านว่าอภิธรรมมิใช่พุทธวจนะเป็นไม่ได้ ในอรรถกถาเองได้ประณามคนที่คัดค้านอย่างเป็นคนนอกศาสนาเลยทีเดียว แต่เพราะได้กล่าวไว้เช่นนั้น ก็บ่งว่าคงจะได้มีผู้คัดค้านมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว จึงได้เขียนไว้อย่างนั้น

ท่าน (อรรถกถา) ได้แสดงหลักฐานว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อภิธรรม ได้ทรงพิจารณาอภิธรรม จนถึงได้แสดงอภิธรรมแทรกเข้าไว้อย่างมากมาย คือในหลักฐานชั้นบาลีที่มีเล่าไว้ในวินัยปิฎกว่า เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว ได้ประทับนั่งเสวยวิมุตติสุข (ความสุขที่เกิดจากวิมุตติความหลุดพ้น) ที่ควงไม้ต่างๆ ๕ สัปดาห์

สัปดาห์ที่ ๑ ประทับนั่ง ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ คือไม้ที่ได้ตรัสรู้

สัปดาห์ที่ ๒ ได้ประทับนั่งที่ควงไม้นิโครธ คือควงไม้ไทร

สัปดาห์ที่ ๓ ได้ประทับนั่งที่ควงไม้มุจจลินทะ คือควงไม้จิก

สัปดาห์ที่ ๔ ประทับนั่งที่ควงไม้ราชายตนะ คือควงไม้เกด

สัปดาห์ที่ ๕ ได้ประทับนั่งที่ควงไม้ไทรอีก

 

พระอรรถกถาจารย์ผู้เขียนตำนานอภิธรรมได้แสดงแทรกไว้ในคัมภีร์อรรถกถาอีก ๓ สัปดาห์ จากสัปดาห์ที่ ๑ ในบาลี คือ

สัปดาห์ที่ ๒ เสด็จจากไม้มหาโพธิไปทางทิศอีสาน ทรงยืนถวายเนตร คือว่าจ้องดูพระมหาโพธิในที่นั้น จึงเรียกว่า อนิมิสเจดีย์ แปลว่า เจดีย์ที่ทรงจ้องดูโดยมิได้กะพริบพระเนตร ที่เป็นมูลให้สร้างพระถวายเนตรสำหรับวันอาทิตย์

สัปดาห์ที่ ๓ เสด็จจากที่นั้นมาหยุดอยู่ระหว่างมหาโพธิกับอนิมิสเจดีย์นั้น ทรงนิรมิตที่จงกรมขึ้นแล้ว เสด็จจงกรม ณ ที่นั้น ที่นั้นจึงเรียกว่า รัตนจงกรมเจดีย์ แปลว่า ที่จงกรมแก้ว

สัปดาห์ที่ ๔ ประทับนั่งขัดบัลลังก์ในทิศปัศจิมหรือทิศพายัพแห่งมหาโพธิ ทรงพิจารณา อภิธรรม จึงเรียกว่า รัตนฆรเจดีย์ แปลว่า เรือนแก้ว คำว่าเรือนแก้วนี้ อาจารย์หนึ่งก็ว่าเป็นเรือนแก้วที่เป็นเทพนิรมิต อีกอาจารย์หนึ่งก็ว่ามิใช่เป็นเรือนแก้วเช่นนั้น แต่หมายถึงที่เป็นที่ทรงพิจารณาอภิธรรม (ซึ่งเป็นรัตนะ คือธรรมอันสูงสุด) รัตนฆระคือเรือนแก้วนี้ ก็เป็นมูลให้สร้างพระพุทธรูปมีเรือนแก้วเหมือนอย่างพระพุทธชินราชที่จังหวัดพิษณุโลกมีเรือนแก้ว

เมื่อท่านแทรกเข้ามาอีก ๓ สัปดาห์ดั่งนี้ สัปดาห์ที่ ๒ ตามที่แสดงในบาลีก็ต้องเลื่อนไปเป็นที่ ๕ และก็เลื่อนไปโดยลำดับ ท่านก็ได้อธิบายไว้ด้วยว่าการที่แทรกนอกจากพระบาลีออกไปดั่งนั้น ไม่ผิดไปจากความจริง เพราะในบาลีแสดงแต่โดยย่อ เหมือนอย่างพูดว่ากินข้าวแล้วนอน ความจริงกินข้าวแล้วก่อนจะนอนก็ได้มีกิจอื่นอีกหลายอย่าง แต่ว่าเว้นไว้ไม่กล่าว ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวถึงกิจที่เว้นไว้นั้นให้บริบูรณ์

ตำนานอภิธรรมดั่งกล่าวมานี้ ได้มีกล่าวไว้ในหนังสืออรรถกถาที่เขียนขึ้นเมื่อพระพุทธศาสนาล่วงมาแล้วนานดั่งที่ได้กล่าวมาแล้ว และท่านก็ยังได้เล่าไว้อีกว่า คัมภีร์อภิธรรมนั้นมี ๗ คัมภีร์ เรียกว่า สัตตัปปกรณ์ ปกรณ์ ก็แปลว่า คัมภีร์ สัตต แปลว่า ๗ สัตตปกรณ์ ก็แปลว่า ๗ คัมภีร์ คำนี้ได้นำมาใช้ในเมื่อบังสุกุลพระศพเจ้านายตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไป ใช้คำว่า สดับปกรณ์ ก็มาจากคำว่าสัตตปกรณ์คือ ๗ คัมภีร์นี้เอง แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้แสดงทั้ง ๗ คัมภีร์ เว้นคัมภีร์กถาวัตถุ ทรงแสดงแต่ ๖ คัมภีร์ ส่วนคัมภีร์กถาวัตถุนั้น พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นผู้แสดงในสมัยสังคายนาครั้งที่ ๓ แต่ว่าพระเถระก็ได้แสดงตามนัยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ ฉะนั้น จึงได้ครบ ๗ ปกรณ์ในสมัยสังคายนาครั้งที่ ๓ นั้น และก็ถือว่าเป็นพระพุทธภาษิตทั้งหมด เพราะพระพุทธเจ้าได้ประทานนัยไว้

ในตำนานนี้ได้กล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้เทศน์อภิธรรมตลอดเวลาไตรมาส คือ ๓ เดือนโดยไม่มีเวลาหยุดยั้ง ฉะนั้น จึงได้เกิดปัญหาขึ้น ๒ ข้อ

 ข้อ ๑ พระพุทธเจ้าไม่ทรงบำรุงพระสรีระ เช่น เสวยและปฏิบัติสรีรกิจอย่างอื่นตลอดไตรมาสหรือ

 ข้อ ๒ พระอภิธรรมมาทราบกันในเมืองมนุษย์ได้อย่างไร

ปัญหาเหล่านี้ ท่านผู้เล่าตำนานอภิธรรมก็ได้เล่าแก้ไว้ด้วยว่า เมื่อเวลาภิกขาจารคือเวลาทรงบิณฑบาต ก็ได้ทรงนิรมิตพระพุทธนิมิตไว้ ทรงอธิษฐานให้ทรงแสดงอภิธรรมตามเวลาที่ทรงกำหนดไว้แทนพระองค์ แล้วเสด็จลงมาปฏิบัติพระสรีรกิจที่สระอโนดาต แล้วเสด็จไปเที่ยวบิณฑบาตที่อุตตรกุรุทวีป เสด็จมาเสวยที่สระนั้น เสวยแล้วเสด็จไปประทับพักกลางวันที่นันทนวัน ต่อจากนั้นจึงเสด็จขึ้นไปแสดงอภิธรรมต่อจากพระพุทธนิมิต และที่นันทนวันนั้นเอง ท่านพระสารีบุตรได้ไปเฝ้าทำ วัตรปฏิบัติ พระองค์จึงได้ประทานนัยอภิธรรมที่ทรงแสดงแล้วแก่ท่านพระสารีบุตร ท่านพระสารีบุตรก็ได้มาแสดงอภิธรรมแก่หมู่ภิกษุที่เป็นสัทธิวิหาริกของท่านต่อไป

ท่านแก้ไว้อย่างนี้ ก็เป็นอันแก้ปัญหาทั้ง ๒ ข้อนั้น ตามคำแก้ของท่านนี้เองก็ส่องว่า อภิธรรมมาปรากฏขึ้นในหมู่มนุษย์ก็โดยพระสารีบุตรเป็นผู้แสดง เพราะฉะนั้น เมื่อพูดกันอย่างในเมืองมนุษย์ ท่านพระสารีบุตรจึงเป็นผู้แสดงพระอภิธรรมนั้นเอง แต่ท่านว่าพระสารีบุตรไม่ใช่เป็นนักอภิธรรมองค์แรก พระพุทธเจ้าเป็นนักอภิธรรมองค์แรก เพราะได้ตรัสรู้พระอภิธรรมตั้งแต่ราตรีที่ได้ตรัสรู้ ได้ทรงพิจารณาอภิธรรมที่รัตนฆรเจดีย์ดั่งที่กล่าวมาแล้ว และได้ทรงแสดงนัยแห่งอภิธรรมแก่ท่านพระสารีบุตร ท่านพระสารีบุตรจึงได้มาแสดงต่อไป

ในบัดนี้ ได้มีท่านผู้หนึ่งในปัจจุบันเขียนหนังสือค้านว่า อภิธรรมปิฎกนั้นพิมพ์เป็นหนังสือได้เพียง ๑๒ เล่ม ตามประวัติพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงอยู่ตลอดสามเดือนไม่มีเวลาหยุด และยังได้กล่าวอีกว่า ได้มีรับสั่งเร็วคือว่าพระพุทธเจ้าพูดเร็วกว่ามนุษย์สามัญหลายเท่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้าจะมารวมพิมพ์ขึ้นก็จะต้องกว่า ๑๒ เล่มเป็นไหน ๆ แต่เมื่อหนังสือนี้ออกไปแล้ว ได้มีผู้ที่นับถืออภิธรรมไม่พอใจกันมาก เพราะเหตุดั่งที่ได้กล่าวแล้ว ในหลักฐานตั้งแต่ชั้นอรรถกถานั้น ได้มีผู้นับถืออภิธรรมมาก จนถึงในบัดนี้ก็ยังมีผู้นับถืออภิธรรมกันอยู่มาก ในพม่านั้นนับถือมากเป็นพิเศษ จนถึงได้มีนิทานเล่าเป็นประวัติไว้ว่า เรือเชิญพระไตรปิฎกจากลังกามา ๓ ลำและมาเกิดพายุพัดเอาเรือที่ทรงพระอภิธรรมปิฎกไปประเทศพม่า เอาเรือที่ทรงวินัยปิฎกไปประเทศรามัญ เอาเรือที่ทรงสุตตันตปิฎกมาประเทศไทย นี้เป็นเรื่องที่ผูกขึ้นนานมาแล้ว มาพิจารณาดูก็มีเค้าอยู่บ้าง เพราะว่าพม่านั้นนับถืออภิธรรมมาก รามัญก็เคร่งครัดในวินัย ส่วนฝ่ายไทยนั้นอยู่ในสถานกลางไม่ใคร่เคร่งวินัยนัก และก็ไม่ย่อหย่อนอย่างพม่า พอใจจะถือเอาเหตุผล ซึ่งก็สงเคราะห์ว่าเป็นฝ่ายสุตตันตปิฎก

แต่ว่าสารัตถะในอภิธรรมนั้นมีมาก ถึงท่านจะไม่แสดงประวัติให้พิสดารไว้อย่างไร สารัตถะในอภิธรรมนั้นเองก็เป็นสิ่งที่ควรจะศึกษา เมื่อศึกษาแล้วก็จะทำให้ได้ความรู้ในพระพุทธศาสนาพิสดารขึ้นอีกเป็นอย่างมาก

 

การอบรมกำลังใจ

อนึ่ง เมื่อได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยที่เป็นส่วน สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา พอสมควร เพื่อจะให้บริบูรณ์ ก็ควรจะสนใจภาวนาเพื่อให้เป็น ภาวนามยปัญญา สืบต่อไป ภาวนานั้นก็คือการปฏิบัติ การปฏิบัตินั้นควรที่จะใช้ในเวลาอยู่ในเพศบรรพชิตหรือว่าควรที่จะใช้ในเวลาเป็นเพศคฤหัสถ์ด้วย เมื่อพิจารณาดูแล้ว การปฏิบัติอบรมใจให้เป็นสมาธิ และการปฏิบัติอบรมปัญญาพอสมควร เป็นประโยชน์ตลอดถึงเป็นคฤหัสถ์ เพราะว่าการปฏิบัติอบรมใจให้เป็นสมาธินั้น เป็นการหัดทำใจให้ตั้งมั่นแน่วแน่ ทำใจให้มีกำลังสามารถ ไม่อ่อนแอ ทำให้เป็นคนมีสัจจะคือมีความจริง เมื่อจะทำอะไรก็ทำจริง ตั้งมั่นแน่วแน่ ไม่เหลาะแหละย่อหย่อน

เรื่องกำลังใจนี้สำคัญมาก คนเราที่เสียไปเพราะกำลังใจอ่อนแอมีมากมาย เหมือนอย่างที่ทางรัฐบาลได้ปรารภต่อทางคณะสงฆ์ถึงผู้ที่ติดเฮโรอีน คือว่ามีมากที่ได้รับการรักษาให้เป็นปกติได้แล้ว แต่ว่าครั้นปล่อยตัวไปแล้วก็ไปสูบเฮโรอีนเข้าอีก นี้ก็แปลว่าขาดกำลังใจ จึงได้ขอให้ทางคณะสงฆ์ช่วยเทศน์เป็นการกระตุ้นเตือนให้เกิดกำลังใจ เพราะว่าทางศาสนานี้เท่านั้นที่จะเป็นแหล่งอบรมพอกพูนให้เกิดกำลังใจในทางที่ดีแก่ประชาชนได้ จิตใจของเรานี้ มีสมรรถภาพอยู่อย่างไม่มีประมาณ แต่ว่าเรายังไม่ได้นำสมรรถภาพของจิตใจนี้ออกใช้กันให้เต็มที่ เพราะว่ายังมิได้อบรม เมื่อเรามีความตั้งใจจริงแล้ว ทำไมเราจึงจะละความไม่ดีไม่ได้ และทำไมเราจึงจะทำดีไม่ได้ เหมือนอย่างว่า ก่อนที่จะมาบวชนี้ เรานี้ก็เคยปฏิบัติอย่างคฤหัสถ์ ไม่ได้เว้นอะไรอย่างพระเว้น ไม่ได้ทำอะไรอย่างพระทำ อยากจะกินอะไรก็ได้ อยากจะดื่มอะไรก็ได้ อยากจะดูอะไรก็ได้ จะเป็นนักดื่มสักแค่ไหนก็ได้ ทำไมเมื่อเข้ามาบวชแล้วเว้นได้ ก็เพราะว่าเรามีความตั้งใจจริง แต่ว่าเมื่อสึกไปแล้วทำไมเราจึงจะรักษาความตั้งใจจริงอันนี้ไว้ไม่ได้ โดยที่จะละเว้นการที่ควรเว้น ทำการที่ควรทำไม่ใช่ว่าเหมือนอย่างพระ แต่ว่าเหมือนอย่างที่คนดีทั่วๆ ไปปฏิบัติกันอยู่ แต่ว่าถ้าขาดกำลังใจเสียแล้ว เคยอย่างไรก็จะต้องเป็นอย่างนั้น ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว เขาก็จะตราว่าบวชไม่มีประโยชน์ เพราะว่าแก้อะไรมิได้ เคยไม่ดีมาอย่างไรก็ไม่ดีไปอย่างนั้น หรือว่าเคยดีอยู่เท่าไรก็ดีอยู่เท่านั้น คือไม่ยิ่งขึ้นไป

เพราะฉะนั้น จึงควรที่จะต้องมีการปฏิบัติอบรมใจให้เป็นสมาธิ เป็นการสร้างกำลังทางใจ ประการหนึ่ง และอบรมปัญญาให้มีความรู้สึกพอเป็นเครื่องปลงตกในเรื่องโลกทั้งหลายบ้างตามสมควร อีกประการหนึ่ง

อนึ่ง การบวชเรียนนี้เท่ากับว่าเป็นโรงเรียนดัดนิสัยชั้นสุดท้าย ถ้าเข้าโรงเรียนนี้ยังแก้อะไรไม่ได้แล้ว ก็ยากที่จะไปแก้ในที่อื่น และในวิธีแก้ของโรงเรียนนี้ก็มุ่งให้แก้ด้วยตนเองและที่ตนเอง นี่เป็นประการสำคัญ ซึ่งเป็นวิธีการอบรมอย่างละเอียดประณีต และบรรดาผู้ที่เข้ามาบวช ก็เป็นผู้ที่สมัครเข้ามา แปลว่าตั้งใจพร้อมที่จะรับการอบรมอยู่ คือมีเจตนาเป็นกุศลมาตั้งแต่เบื้องต้นแล้ว เมื่อรักษากุศลเจตนาที่ได้ตั้งมาแต่ในเบื้องต้นนั้นไว้ และตั้งใจปฏิบัติที่ตนด้วยตนเองดั่งกล่าวมานี้ ก็จะรับการอบรมได้โดยง่ายและได้ด้วยดี

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๒ หน้า ๒๓๒ - ๒๓๘