Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๙๕

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 

เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

พรรษาที่ ๗
ดาวดึงสเทวโลก

อภิธรรมปิฎก

 

จะแสดงเรื่องพรรษาที่ ๗ ของพระพุทธเจ้า ว่าด้วยเรื่อง อภิธรรม พระไตรปิฎกในลัทธิเถรวาทหรือที่ฝ่ายมหายานเรียกว่า หีนยาน มี ๓ คือ วินัยปิฎก ๑ สุตตันตปิฎก ๑ อภิธรรมปิฎก ๑ ฉบับที่พิมพ์ด้วยอักษรไทยเรียกว่าเป็นฉบับสยามรัฐ บัดนี้มีรวมกัน ๔๕ เล่ม ด้วยกำหนดเล่มเท่าเวลา ๔๕ ปีของพระพุทธเจ้า พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐนี้ได้จารเป็นอักษรขอมมานาน แต่มาพิมพ์ด้วยอักษรไทยเป็นเล่มครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ แต่ยังไม่ได้ต้นฉบับมาสมบูรณ์ ต่อมาได้ต้นฉบับมาสมบูรณ์ และได้พิมพ์ขึ้นเมื่อต้นรัชกาลที่ ๗ เมื่อ พ.. ๒๔๗๐ โดยที่โปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ขึ้น และชักชวนให้ประชาชนโดยเสด็จพระราชกุศล เป็นอนุสรณ์ในคราวถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ ๖ เฉพาะอภิธรรมปิฎกนั้นมีตั้งแต่เล่ม ๓๔ ถึงเล่ม ๔๕ รวม ๑๒ เล่ม

คำว่า ปิฎก แปลว่า ตะกร้า หมายถึงเป็นหมวดใหญ่สำหรับรวบรวม ไตร แปลว่า สาม ไตรปิฎก ก็แปลว่า สามตะกร้า พระวินัยก็รวมเป็นตะกร้าหนึ่ง สุตตันตะ ตะกร้าหนึ่ง อภิธรรม ตะกร้าหนึ่ง ก็เป็นสามปิฎก พระไตรปิฎกนี้แหละเป็นตำราชั้นที่ ๑ ในพระพุทธศาสนา ที่ตามตำนานว่า พระสงฆ์ในลังกาได้ประชุมกันทำสังคายนานับเป็นครั้งที่ ๕ นับต่อจากที่สังคายนาในอินเดีย และได้จารึกเป็นอักษรเมื่อพระพุทธเจ้านิพพานแล้วได้ ๔๐๐ ปีเศษ

คัมภีร์อภิธรรมปิฎกนี้แปลกจาก ๒ ปิฎกข้างต้น เพราะว่าไม่มีนิทาน คำว่า นิทาน นั้น ในภาษาไทยหมายถึงนิยายที่เล่า แต่ว่าในที่นี้ หมายถึง เรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องทำให้พระพุทธเจ้าทรงปรารภเรื่องนั้น ทรงบัญญัติ พระวินัย ทรงแสดงธรรม เรื่องที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า นิทาน เป็นเรื่องจริงในคราวนั้น ในวินัยปิฎกก็มีนิทานคือเรื่องที่เล่าว่าพระรูปไหนไปประพฤติอย่างใด พระพุทธเจ้าก็ทรงปรารภความประพฤตินั้น บัญญัติพระวินัย ในพระสุตตันตปิฎกก็เหมือนกัน มีนิทานคือมีเรื่องที่เล่าว่า พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ไหน ทรงแสดงธรรมแก่ใคร แม้ที่เป็นหมวดเบ็ดเตล็ดรวมไว้แต่ลำพังคำสอน แต่ท่านก็ได้มีอธิบายอ้างว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสแก่ผู้นั้นผู้นี้ด้วยเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างนั้นอย่างนี้ ส่วนในอภิธรรมปิฎกนี้ไม่มีนิทานเลย คือไม่มีกล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงปรารภใคร ตรัสแก่ใคร ที่ไหน เมื่อไร และโดยเฉพาะก็ไม่มี กล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ คือขึ้นต้นก็แสดงธรรมทีเดียว ไม่มีเรื่องประกอบ ฉะนั้น จึงไม่อาจจะหาประวัติได้จากหนังสือที่เป็นตำราชั้นบาลี คือชั้นดั้งเดิมว่า อภิธรรมปิฎกนี้ได้เกิดขึ้น ได้เป็นมาอย่างไร

คราวนี้ถ้าจะอาศัยคำว่า อภิธรรม ไปค้นดูว่าคำนี้จะมีใช้ในพระสูตรที่ไหนบ้าง ก็จะพบว่าได้มีใช้คำว่าอภิธรรมในพระสูตรหลายพระสูตร ใช้เฉพาะคำว่าอภิธรรม คำเดียวก็มี ใช้คู่กับคำว่า อภิวินัย ก็มี แต่ว่าอรรถกถาของพระสูตรนั้นๆ ได้แก้ความหมายไว้ว่า คำว่า อภิธรรม ในที่นั้น หมายถึงธรรมชั้นสูง โดยเฉพาะก็คือ โพธิปักขิยธรรม ไม่ได้แก้ว่าหมายถึงธรรมในอภิธรรมปิฎก ส่วนในวินัยปิฎก ตอนอธิบายถึงการแจกเสนาสนะ ได้มีกล่าวไว้บ้างว่า เสนาสนะคาหาปกะ คือพระที่มีหน้าที่แจกเสนาสนะ ย่อมแจกเสนาสนะให้แก่ภิกษุที่เป็นสภาคคือมีส่วนเสมอกันในการศึกษาเป็นต้น เป็นพวก ๆ คือที่ศึกษาวินัยปิฎกก็ให้อยู่ใกล้ ๆ กันพวกหนึ่ง ที่ศึกษาสุตตันตปิฎกก็ให้อยู่ใกล้ ๆ กันพวกหนึ่ง ที่ศึกษาอภิธรรมปิฎกก็ให้อยู่ใกล้ ๆ กันพวกหนึ่ง แต่ว่าคำอธิบายนั้นเป็นคำชั้นอรรถกถา

 

 การสังคายนา

ธรรมเนียมที่พระได้เรียนพระพุทธวจนะเป็นพวกๆ นี้ เป็นธรรมเนียมที่มีก่อนที่จะจารึกลงเป็นตัวอักษร เพราะว่าต้องท่องจำกัน ท่องจำนั้นก็ไม่ใช่อ่านท่องจำต้องมาต่อจากอาจารย์ ต่อแล้วก็จำกันไปเป็นวรรคๆ เพราะว่าหนังสือไม่มี อาจารย์นั่นเองเป็นหนังสือ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ยากที่จะมีผู้จำได้ทั้งหมด จึงต้องแบ่งกันเป็นพวกๆ ใครชอบที่จะจำพระวินัยก็พวกหนึ่ง ใครชอบที่จะจำพระสุตตันตะก็พวกหนึ่ง ใครชอบที่จะจำพระอภิธรรมก็พวกหนึ่ง แล้วก็ทั้ง ๓ พวกนี้ พวกที่จะจำได้ตลอดหมดทั้งปิฎกก็มีน้อยอีก เพราะปิฎกหนึ่งก็มาก จึงต้องแบ่งกันออกไป อีกอย่างหนึ่ง วินัยก็ใครจะจำตอนไหนก็ตอนนั้น สุตตันตะก็เหมือนกัน ใครจะจำหมวดไหนก็หมวดนั้น อภิธรรมก็เหมือนกัน เฉพาะผู้ที่มีความทรงจำดีเลิศจึงจะจำได้ทั้ง ๓ ปิฎก จำได้ปิฎกหนึ่งๆ ก็นับว่ามีความทรงจำมากอยู่แล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงต้องมีประชุมซักซ้อมกัน ผู้ที่จำพระพุทธวจนปิฎกไหนตอนไหนไว้ได้ ก็รวมกันเข้าแล้วก็ซักซ้อม

วิธีซักซ้อมนั้น ก็คือต้องสวดพร้อมๆ กัน ต้องซักซ้อมกันอยู่เสมอไม่เช่นนั้นก็ลืม นี้แหละเป็นต้นของธรรมเนียมประชุมกันสวดมนต์ ดังเป็นธรรมเนียมกันทั่วไปในทุกวัด มีการประชุมสวดมนต์กันเวลาเช้ากับเวลาเย็นหรือค่ำและเมื่อจะซักซ้อมพระสูตรอย่างเช่นว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ก็สวดพระสูตรนี้พร้อมๆ กัน การที่สวดขึ้นพร้อมๆ กันนี้แหละ เรียกว่า สังคีติ หรือ สังคายนา แปลว่า ขับขึ้นพร้อมๆ กัน โดยปกติก็ประชุมสวดเป็นการซักซ้อมกันเป็นการย่อยๆ เพื่อไม่ให้ลืม แต่ว่าเมื่อนานๆ เข้า ก็ประชุมใหญ่กันเสียทีหนึ่ง เลือกเอาผู้ที่จำได้มากๆ และเป็นที่นับถือกันว่าจำได้ถูกต้องแน่นอนมารวมกันเข้า แล้วก็สวดซักซ้อมกันเป็นการใหญ่ คือว่าสวดซักซ้อมกันทั้งหมด เมื่อจะจับวินัยขึ้นก่อนก็วินัยไปจนจบ โดยมากก็จับวินัยปิฎกขึ้นสวดซักซ้อมกันก่อน

ในการที่ประชุมใหญ่สวดซักซ้อมกันนี้ ก็อาจจะจำมาถูกต้องกันบ้าง ต่างกันบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ต้องหารือกันว่า ความถูกต้องจะพึงมีอย่างไร และเมื่อตกลงกันว่าแบบนี้แหละถูก ก็สวดขึ้นพร้อมๆ กัน เป็นการวินิจฉัยว่าให้ถือเอาแบบนี้เป็นแบบเดียว เพื่อไม่ให้มีการขัดแย้งแตกต่างกัน สวดซักซ้อมกันดั่งนี้ไปจนหมดแล้ว ก็เป็นที่ตกลงถือเอาแบบที่ตกลงกันนี้แหละเป็นหลักนี้แหละเรียกว่า สังคายนา ที่ทำกันคราวหนึ่ง ๆ ในสมัยที่ยังไม่จารึกลงเป็นตัวอักษรนั้น เป็นของจำเป็นอย่างยิ่ง นานๆ ก็ต้องมาเลือกเอาผู้ที่มีความทรงจำเป็นที่เคารพนับถือ เป็นอาจารย์บอกกล่าวมารวมกัน แล้วก็มาหารือตกลงกันคราวหนึ่งๆ แล้วก็สวดจำกันเป็นแบบเดียว ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะเกิดความเลอะเลือนสับสน ขัดแย้งกัน นี่แหละท่านทำกันเรื่อยๆ มาครั้งที่ ๑, , , ๔ มาจนถึงที่ ๕ จึงได้จารึกลงเป็นตัวอักษร

คราวนี้เมื่อจารึกเป็นตัวอักษรแล้ว ความรู้สึกของพระว่าจะต้องจำก็น้อยลง เพราะว่ามีตัวหนังสือขึ้น เพราะฉะนั้น จึงไม่ปรากฏว่าจะมีผู้ทรงจำได้ทั้งหมด ฉบับที่จารึกไว้ในลังกาที่ได้กล่าวมานั้น ก็ได้เป็นต้นฉบับซึ่งแพร่หลายไปยังประเทศต่างๆ ในบัดนี้ ดั่งในพม่า ในไทย ในยุโรป ก็ได้ต้นฉบับมาจากแหล่งเดียวกันนี้

การสังคายนาในครั้งหลังๆ นั้น ก็หมายความว่า เอาแบบมาสอบกันเท่านั้น ไม่ใช่เป็นสังคายนาแท้ สังคายนาแท้นั้น มีในสมัยต้นก่อนแต่ที่จะได้เขียนเป็นอักษร

ดั่งที่ในพม่าทำสังคายนาที่เขานับของเขาเป็นครั้งที่ ๖ คือว่า เขานับในอินเดีย ครั้งที่ ๑, , ๓ แล้วก็มานับครั้งที่จารึกเป็นตัวอักษรในลังกาต่อเป็นครั้งที่ ๔ แล้วก็พระเจ้ามินดงให้เขียนลงในแผ่นศิลาหมดทั้ง ๓ ปิฎกนี่เขานับเป็นครั้งที่ ๕ มาถึงคราวชำระคราว ๒๕ พุทธศตวรรษ นี่เขานับเป็นครั้งที่ ๖ นี่ก็คือว่า เขาพิมพ์พระไตรปิฎกของเขาขึ้นใหม่นั่นเอง เอาฉบับของยุโรปของไทยเป็นต้นไปสอบ ที่ปรากฏว่าผิดชัดๆ เขาก็แก้ ที่ไม่ชัดเขาก็เชิงหน้าเอาไว้ว่าของยุโรปว่าอย่างนั้น ของไทยว่าอย่างนั้น เขานิมนต์พระจากประเทศต่างๆ ที่เป็นลัทธิเถรวาทด้วยกันในทุกประเทศไปประชุมกันในถ้ำปาสาณคูหาที่กาบาเอ้ ที่อูนุสร้างขึ้นใหม่ ประชุมกันเอาหนังสือพระไตรปิฎกที่พิมพ์ใหม่นั้นมาอ่านพร้อมๆ กัน นั่นแหละเรียกว่า สังคายนา แล้วประกาศไปทั่วโลก โดยเขาจัดเอาพระที่จะเป็นผู้สวดยืนที่ไว้ชุดหนึ่ง แล้วก็พระที่เขาเชิญก็ไปร่วมสวด ผิดบ้างถูกบ้างไปตามเรื่อง แต่ก็มีพระที่สวดประจำอยู่ชุดหนึ่งเอาหนังสือที่พิมพ์ขึ้นใหม่ไปอ่านนี่เอง

ส่วนของเรานั้น เมื่อรัชกาลที่ ๕ และเมื่อรัชกาลที่ ๗ เราก็พิมพ์ขึ้นต่อมาครั้งหลังๆ ก็พิมพ์ซ่อมเล่มที่ขาดตลอดมาและก็มีเชิงหน้าเหมือนอย่างนั้น ว่าของประเทศนั้นว่าอย่างนั้น ของประเทศนี้ว่าอย่างนี้ เพราะในบัดนี้ไม่อาจจะแก้ลงไปได้ ต้องปล่อยให้ผิดเพี้ยนกันไปบ้าง แต่ส่วนใหญ่ส่วนมากตรงกัน ผิดเพี้ยนกันบ้างไม่มากอะไร เล็กน้อยเท่านั้น

คราวนี้ธรรมเนียมสังคายนา คือธรรมเนียมที่ประชุมสวดกัน ซักซ้อมกันประจำวัน ก็ยังติดมาเป็นสวดมนต์ประจำวันในวัดต่างๆ ดังกล่าวแล้ว

ทำวัตร ส่วนธรรมเนียมทำวัตรนั้น ติดมาจากเมื่อพระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์อยู่ ภิกษุก็ไปประชุมกันฟังธรรมพระพุทธเจ้า ปฏิบัติพระพุทธเจ้าเป็นประจำวันเหมือนกัน คือว่ามีธรรมเนียมที่พระไปประชุมกันเฝ้าพระพุทธเจ้าทุกวัน เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว กิจที่ไปเฝ้าพระองค์ทุกวันก็หมดไป แต่ว่าเมื่อได้มีวัด มีโบสถ์ มีวิหาร และสร้างพระปฏิมาเป็นประธานอยู่ในโบสถ์ในวิหารขึ้น ก็ตั้งธรรมเนียมพระประชุมกันในโบสถ์วิหาร เหมือนอย่างเป็นการเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

คราวนี้เมื่อเข้าไปประชุมกันในโบสถ์วิหารแล้ว จึงได้แต่งบทสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยขึ้นสวด ดั่งบททำวัตรเช้า ทำวัตรค่ำเป็นบทสดุดีคุณพระรัตนตรัยอย่าง พุทธาภิถุติ ธัมมาภิถุติ สังฆาภิถุติ คำว่า ถุติ นั้นเป็นบาลี ถ้าเป็นสันสกฤตก็เป็น สดุดี จึงเท่ากับว่า พุทธาภิสดุดี ธัมมาภิสดุดี สังฆาภิสดุดี คือสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย เดิมก็มีบทที่ท่านแต่งไว้สำหรับสวด แต่เมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงพระราชนิพนธ์บททำวัตรเช้าทำวัตรค่ำขึ้นใหม่ ดังที่เราใช้สวดกันอยู่ทุกวันนี้ โดยทั่วไปเรียกว่า ทำวัตร เท่ากับว่าไปทำวัตรปฏิบัติพระพุทธเจ้าเป็นประจำวันด้วยการสวดมนต์สรรเสริญคุณพระรัตนตรัย และเมื่อได้เข้าเฝ้าแล้วโดยปกติก็ได้ฟังธรรมของพระองค์ ฉะนั้น จึงได้สวดมนต์ต่อ ก็คือสวดพระสูตรเป็นต้นที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ และเป็นการรักษาธรรมเนียมที่สวดซักซ้อมความทรงจำดังกล่าวมานั้นด้วย

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๒ หน้า ๒๒๔ - ๒๓๒