Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๙๔

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 

เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ทรงเคารพธรรม

พระพุทธเจ้าทรงเคารพธรรมด้วยอาการอย่างไร มีแสดงไว้ใน ปัญจกนิบาต ความว่า สีหะผู้เป็นราชาแห่งเนื้อออกจากที่อาศัยในเวลาเย็น บิดเยื้องปรับร่างกายแล้ว มองตรวจดูทั้ง ๔ ทิศโดยรอบ คำรามเสียงสีหะขึ้น ๓ ครั้ง ออกหาอาหาร ถ้าจะตะครุบฆ่าช้าง กระบือ โค เสือ ตลอดถึงสัตว์เล็กๆ โดยที่สุดแม้จะเป็นกระต่ายและแมวก็ตาม ก็ฆ่าโดยเคารพ คือด้วยความรอบคอบหนักแน่นแน่นอนเหมือนกันหมด เพราะเหตุที่มีความคิดมุ่งหมายมิให้เสียแรงตะครุบเปล่า คำว่า สีหะ เป็นชื่อของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ข้อที่พระตถาคตแสดงธรรมแก่บริษัทเป็นการบันลือสีหนาท ถ้าทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ตลอดถึงพวกปุถุชน โดยที่สุดแม้เป็นคนพวกแบกหามพวกพรานป่า ก็ทรงแสดงธรรมโดยเคารพ คือด้วยพระกรุณาแก่บุคคลเหล่านั้นทุกจำพวกเหมือนกันหมด หาได้ทรงแสดงธรรมโดยไม่เคารพไม่ เพราะเหตุที่พระตถาคตทรงเคารพคารวะธรรม

วิธีเคารพธรรมของพระพุทธเจ้าตามที่กล่าวไว้นี้ ให้ความเข้าใจได้อย่างชัดเจนว่า พระพุทธเจ้าทรงเคารพธรรมด้วยวิธีที่ทรงแสดงธรรมแก่คนทั้งปวงด้วยความเคารพ คือทรงมีพระกรุณาเพื่อที่จะให้เขาได้รับประโยชน์เสมอเหมือนกันหมด มิใช่ว่าถ้าเป็นสาวกของพระองค์ก็ทรงแสดงให้ดี ถ้าไม่ใช่สาวกของพระองค์ก็ทรงแสดงพอประมาณ หรือถ้าเป็นพระราชาหรือเป็นเศรษฐีก็ทรงแสดงอย่างประณีตบรรจง ถ้าเป็นคนยากจนขัดสนก็ทรงแสดงคล้ายกับว่าอย่างเสียไม่ได้ พระองค์ไม่ทรงปฏิบัติเช่นนี้เลย

พระองค์มีพระกรุณาแผ่ไปในบุคคลทั้งปวงเสมอเหมือนกันหมด จะเป็นสาวกหรือมิใช่สาวกของพระองค์ก็ตาม จะเป็นเศรษฐีหรือเป็นยาจกวณิพกก็ตาม จะเป็นมิตรหรือเป็นศัตรูผู้มุ่งร้ายพระองค์ก็ตาม ก็ทรงตั้งพระหฤทัยแสดงธรรมโปรดเขาทุกคนอย่างละเอียดประณีตทุกครั้งทุกคราว แต่ก็เป็นไปตามควรแก่อุปนิสัยของแต่ละคน ปรากฏว่ามีคนวรรณะต่ำ คนยากจนขัดสนเป็นอันมากได้รับประโยชน์จากธรรมที่ทรงแสดง ที่เข้ามาบวชปฏิบัติสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลจนถึงเป็นพระอรหันต์ก็มีไม่น้อย และที่ได้รับยกย่องจากพระองค์ให้เป็นเอตทัคคะ คือเป็นเลิศในทางใดทางหนึ่งก็มีหลายท่าน แสดงว่ามิใช่ทรงเคารพธรรมเพียงแต่ที่ทรงแสดงธรรมโดยเคารพดั่งกล่าวเท่านั้น แต่ทรงเคารพธรรมในทุกๆ ทาง เช่น ทรงยกย่องบุคคลตามธรรมที่เขาปฏิบัติและบรรลุถึง มิใช่ด้วยชาติ สกุล ทรัพย์ ยศ หรือเหตุประการอื่น จะเป็นคนชาติชั้นวรรณะไหน จะมีจนอย่างไร ถ้าทำชั่วก็ตรัสว่าเป็นคนชั่ว ถ้าทำดีก็ตรัสว่าเป็นคนดี และตรัสว่าจะต้องได้รับผลชั่วหรือดีตามกรรมที่ตนได้ทำไว้

เมื่อศาสนธรรมของพระองค์ว่าไว้ดั่งนี้ พระองค์จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะช่วยละบาปหรือล้างบาปให้แก่ใคร เมื่อผลกรรมจะถึงแก่ใครก็ต้องถึง ไม่มีใครห้ามได้ ถ้าจะทรงทำพิธีอย่างสะเดาะเคราะห์ ก็ผิดจากหลักธรรมที่ทรงวางไว้เอง ทั้งเป็นไปไม่ได้ตามเป็นจริง แต่ก็มีพระกรุณาโปรดในทางที่ชอบ เช่นทรงทำให้เขาเกิดศรัทธาปสาทะในพระรัตนตรัย อบรมให้เขาเกิดดวงตาเห็นธรรม แม้เขาจะต้องสิ้นชีพเพราะกรรมของเขาตามมาทัน ก็หวังไปสุคติ หรือทรงอบรมให้ละกรรมที่ชั่วเสีย ดั่งที่มีตรัสไว้ในธรรมบทความว่า บาปกรรมที่ผู้ใดทำไว้แล้ว แต่ละเสียได้ด้วยกุศล ผู้นั้นย่อมส่องโลกนี้ให้สว่างได้ เหมือนอย่างดวงจันทร์พ้นแล้วจากเมฆหมอกฉะนั้น

ตามพระพุทธภาษิตนี้แสดงว่า พระพุทธเจ้าไม่ทรงสาปคนชั่วคนผิดทุกคน เมื่อสำนึกผิดแล้วละความชั่วเสีย ก็เป็นผู้ที่ชื่อว่าพ้นจากความมืดเข้าสู่ความสว่าง ทรงชี้ทางให้คนชั่วคนผิดทุกคนได้สำนึกผิด แล้วละความชั่วผิดด้วยตนเอง ข้อนี้แหละชื่อว่า ทรงมีพระกรุณาโปรดเหมือนอย่างทรงดำเนินนำทางเขาไปในเบื้องหน้า แต่ทำไฉนบรรดาคนชั่วคนผิดทั้งหลายจึงจะมองเห็นพระ คือมองเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จนำไปในเบื้องหน้า ซึ่งได้เสด็จนำทางอยู่ทุกขณะทุกสถานตลอดมาจนถึงบัดนี้แล้ว

ย้อนกลับมากล่าวถึงเรื่องเคารพธรรม นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีเรื่องอีกมากที่แสดงว่าทรงเคารพธรรม เช่น ทรงบัญญัติเสขิยวัตรให้ภิกษุแสดงธรรมแก่คนที่ตั้งอยู่ในอาการที่เคารพ และเมื่อจะเสด็จดับขันธปรินิพาน ก็ได้ทรงตั้งธรรมที่ทรงแสดงและวินัยที่ทรงบัญญัติไว้ให้เป็นศาสดาแทนพระองค์ เพื่อมิให้เข้าใจว่าพระศาสนาว่างศาสดาเสียแล้ว ทั้งได้ทรงบอกทางที่จะเข้าถึงพระองค์ไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ดั่งนั้น

วิธีเคารพธรรมตามที่กล่าวเทียบด้วยสีหะจับสัตว์ คือทรงแสดงธรรมโดยเคารพทั่วไปทั้งหมด เป็นเนตติปฏิบัติสำหรับผู้ปฏิบัติกรณียะทั้งปวงได้ เช่น แพทย์ผู้ที่ชื่อว่าเคารพในจรรยาแพทย์ ย่อมทำการเยียวยารักษาคนไข้ ไม่เลือกว่ายากดีมีจน ด้วยอาการที่ละเอียดประณีต ด้วยจิตใจที่กรุณามุ่งจะให้หายโรคเหมือนกันหมด แต่ถ้าคนไข้เป็นคนดีมีทรัพย์จึงตั้งใจรักษา ถ้าคนไข้จนยากก็ไม่ค่อยจะตั้งใจหรือรักษาอย่างเสียไม่ได้ ก็ชื่อว่าไม่เคารพในจรรยาแพทย์ หรือในธรรมของแพทย์ ข้าราชการหรือบุคคลทั้งปวงผู้มีหน้าที่ปฏิบัติกรณียะเกี่ยวแก่ประชาชนทั้งปวงก็เช่นเดียวกัน เมื่อตั้งใจช่วยปฏิบัติให้สม่ำเสมอ ก็ชื่อว่ามีความเคารพในธรรมตามหน้าที่ของตน กล่าวให้กระชับเข้ามาอย่างสั้นที่สุด เคารพธรรมก็คือเคารพความดี หนักอยู่ในความดี เห็นความดีเป็นข้อสำคัญที่ควรทำ ทำให้เห็นค่าของความดีสูงกว่าความชั่วและสูงกว่าผลต่างๆ เป็นต้นว่าแก้วแหวนเงินทองที่อาจจะได้จากความชั่ว

หมู่ชนในสมัยที่ขาดความเคารพธรรม เมื่อหมิ่นธรรมคือความดี ก็จะพากันนิยมทำความชั่ว บูชาคนชั่วผู้ซึ่งประสบผลปัจจุบันจากการทำชั่ว นับว่าเป็นสมัยมืด แต่ในสมัยที่กลับเกิดความเคารพธรรม จึงจะพากันนิยมทำความดี บูชาคนที่ทำดี เป็นอันถึงสมัยสว่าง พระพุทธเจ้าทรงเคารพธรรมและทรงสอนให้คนเคารพธรรม ก็เพื่อให้เคารพความดีเป็นใจความสำคัญ

 

สหัมบดีพรหมได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้ากราบทูลรับรองยืนยันว่า พระพุทธะทุกกาลสมัยต่างทรงเคารพธรรมและแนะนำโลกให้เคารพธรรม ทั้งได้มาเฝ้าอีกหลายครั้งหลายคราวด้วยเรื่องที่สำคัญเกี่ยวกับโลกก็มี เกี่ยวกับธรรมก็มี แสดงว่าพระพรหมองค์นี้ได้มีความเป็นห่วงเป็นใยโลกอยู่มาก มีภูมิธรรมสูง มีความเคารพในพระพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่ง ประวัติเก่าของพระพรหมองค์นี้มีเล่าไว้ใน อรรถกถาปาสราสิสูตร ว่า ในศาสนาพระกัสสปะพุทธเจ้า มีพระเถระองค์หนึ่งชื่อ สหกะ ได้ปฐมฌาน จึงไปบังเกิดเป็นพรหมมีอายุกัปหนึ่งในพรหมชั้นปฐมฌานชื่อว่า สหกะ สหกะนั้นกลายมาเป็น สหัมปติ ที่เรียกเป็นเสียงไทยว่า สหัมบดี

 

อนึ่ง ในคัมภีร์ชื่อ ญาโณทัย แต่งเป็นภาษาบาลีในชั้นหลัง ได้กล่าวว่าในพรรษาที่ ๖ เมื่อพระพุทธเจ้าประทับจำพรรษาอยู่ที่ มกุลบรรพต นั้น ได้มีชฎิลประมาณพันหนึ่งอาศัยที่ภูเขานั้นเหมือนกัน ในที่มีพื้นราบเป็นดินมากหัวหน้าผู้บอกมนต์แก่หมู่ชฎิลชื่อว่า อินทกุล ได้พาพวกชฎิลไปเฝ้าพระองค์ กราบทูลถามทางที่ให้เกิดความสุข พระองค์ได้ตรัสตอบมีความตามที่จับได้จากคัมภีร์นั้นว่า หิริโอตตัปปะให้เกิดความปฏิบัติชอบ ได้ทิฏฐิดีให้เกิดสัมมาทิฏฐิ ในที่ใดมีสัทธรรม ในที่นั้นก็มีคนตั้งอยู่ในสัทธรรม ในที่ใดมีทางแห่งสันติสุข ในที่นั้นก็มีผู้เดินทางแห่งสันติสุข ในที่ใดไม่มีชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ไม่มีทุกข์ครอบงำ ในที่นั้นแหละมีธรรมที่ไม่มีทุกข์ทั้งปวง (คือนิพพาน) ฉะนั้นคนมีปัญญามองเห็นสุขของตน จึงทำความเคารพสัทธรรม มีความเคารพ ตั้งใจฟังธรรม อินทกุลพร้อมด้วยพวกชฎิลฟังธรรมแล้วเกิดดวงตาเห็นธรรมกราบทูลขอบวช พระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดให้อุปสมบทเป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา เมื่อภิกษุพวกปุราณชฎิลมีท่านอินทกุลเป็นหัวหน้าได้บำเพ็ญความเพียรบรรลุถึงผลที่สุดแล้ว พระองค์ได้ทรงส่งไปประกาศพระศาสนาในทิศต่างๆ

 

 สวดยักษ์

ในพรรษาที่ ๖ นี้ ข้างต้นได้เริ่มด้วยเล่าเรื่องเกี่ยวกับยักษ์และเทวดาในอาฏานาฏิยสูตร ซึ่งมีบทนมัสการอดีตพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จึงได้เล่าถึงเรื่องพระพุทธเจ้าในอดีตทั้งปวง เรื่องอายุกัปกัลป์ เรื่องโลกจักรวาล ตลอดถึงเรื่องโลกวินาศ เรื่องอบาย ๔ ซึ่งจัดเป็นอบายภูมิหรือทุคติ เรื่องมนุษย์และสวรรค์ ๖ ชั้น อันเป็นสุคติ รวม ๑๑ ประเภท เป็นกามาวจรภูมิหรือภพ ถ้าอบายก็เป็นอกุศลวิบาก ตั้งแต่มนุษย์ขึ้นไปเป็นฝ่ายกุศลวิบาก ต่อจากนี้เรื่องพรหมโลกอันแยกประเภทใหญ่ออกเป็นรูปาวจรภูมิหรือภพกับอรูปาวจรภูมิหรือภพ ทั้งหมดนี้โยงเป็นแถวมาจากเรื่องแรก คือ เรื่องในอาฏานาฏิยสูตรนั้นจึงจะกลับมาถึงพระสูตรนี้อีก

ดูในอรรถกถาที่เขียนในลังกา และในบันทึกเรื่องเก่าๆ ของไทยเราเองมีเค้าว่า คนพากันกลัวยักษ์ว่าเป็นตัวนำโรคภัยไข้เจ็บ เมื่อเกิดโรคระบาด เช่นอหิวาตกโรค ก็เพราะหมู่ยักษ์ซึ่งเป็นบริวารท้าวกุเวรพากันมาจับมนุษย์ คงจะมีลัทธิความเชื่อเช่นนี้ประจำท้องถิ่นก่อนที่พระพุทธศาสนาจะเข้ามาถึง เมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามาแล้วก็มีพระสูตรนี้ที่เล่าว่า ท้าวกุเวรซึ่งเป็นเจ้าแห่งยักษ์ได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลขอประทานพระพุทธานุญาตให้พุทธบริษัทสวดบทวิปัสสิสฯ ซึ่งเป็นบทนมัสการอดีตพระพุทธเจ้าตั้งแต่พระวิปัสสี จนถึงพระพุทธเจ้าในปัจจุบันศาสนา รวม ๗ พระองค์ เพื่อป้องกันอันตรายจากพวกยักษ์ที่พาลดุร้าย จึงมีเทศกาลนิมนต์พระสวดพระสูตรนี้ เพื่อป้องกันกำจัดอันตรายจากพวกยักษ์ผีปีศาจต่างๆ คือโรคต่างๆ นั้นเอง ในทางราชการมีสวดตลอดรุ่งใน พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ จะสิ้นเดือน ๔ มียิงปืนอาฏานาในขณะที่พระสวดถึงตอนนั้นๆ ทำนองสวดมีเสียงเอะอะดุดันในบางตอนคล้ายกับจะขับไล่พวกนั้น นอกจากที่กรุงเทพฯ ทราบว่ายังมีพิธีสวดในวันตรุษนั้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช แต่พระราชพิธีนี้ได้เลิกมานานแล้ว บัดนี้พระที่สวดพระสูตรนี้ได้ อันเรียกว่า สวดยักษ์ ด้วยทำนองสรภัญญะมีเหลือน้อย

เคยได้ยินท่านผู้ใหญ่เล่าว่า การยิงปืนอาฏานานั้นเป็นการใช้ดินปืนเก่าให้หมดไป เมื่อมาถึงสมัยที่จะเลิกสวดภาณยักษ์คือเลิกพระราชพิธีนั้น ถ้าคิดถึงว่าสิ้นสมัยใช้ดินปืนเหมือนอย่างโบราณซึ่งจะต้องรุกันประจำปี จะเลิกยิงปืนอาฏานาก็ได้ และบัดนี้ได้พบเชื้อโรคแทนยักษ์ ยักษ์เป็นผู้นำโรคที่มองไม่เห็นตัวในสมัยโบราณ บัดนี้ได้มีกล้องส่องมองเห็นตัวโรคขึ้นแล้ว แต่มองด้วยตาก็คงไม่เห็นเหมือนกัน และได้พบวิธีป้องกันรักษาทำลายตัวเชื้อโรคได้มาก โรคบางอย่างที่กลัวกันมากในอดีต มาถึงปัจจุบันกลายเป็นโรคที่ไม่น่ากลัว ความคิดของคนที่จะยิงปืนขู่หรือไล่ยักษ์ก็เปลี่ยนไป

ข้อที่ร้ายยิ่งขึ้นไปกว่านั้น คือเปลี่ยนไปเป็นมุ่งที่จะยิงปืนขู่ หรือไล่คนด้วยกันเองหนักขึ้น ยักษ์ที่เคยเป็นตัวโรคทางกาย ก็กลับเข้าสิงใจมนุษย์อย่างที่เรียกว่า มีใจเป็นยักษ์เป็นมาร หมายถึงกิเลสในใจคนที่มากขึ้น อันเรียกว่า กิเลสมาร จะเรียกว่า กิเลสยักษ์ บ้างก็คงไม่ผิด ยักษ์สิงใจนี้จะแก้ได้ด้วยอะไร ก็ด้วยการปฏิบัติอบรมจิตใจตามหลักพระพุทธศาสนา เช่น ตามหลักพระโอวาท ๓ ข้อ ว่า ไม่ทำบาปทั้งหมด ทำกุศลให้ถึงพร้อม ชำระจิตให้ผ่องแผ้ว นี้เป็นพระพุทธศาสนาโดยตรง ยักษ์ใจชวนให้ทำบาป เมื่อไม่ตามใจก็ทำอะไรไม่ได้ ยักษ์ใจที่ห้ามทำบุญก็เหมือนกัน ไม่ตามใจก็หมดอำนาจ ยักษ์ใจที่กวนใจเอง เมื่อชำระอยู่เนืองๆ ก็ต้องออกไป

คนปัจจุบันอาจเห็นว่าคนโบราณงมงาย ยิงปืนไล่ยักษ์ที่ไหน เพราะอาจไม่ได้คิดว่าความรู้ของคนเปลี่ยนไปเสมอตามการศึกษา ยุคไหนขึ้นถึงขั้นไหนก็ย่อมจะรู้เห็นในขั้นนั้น แต่ถ้าไม่มีโบราณ ปัจจุบันก็มีไม่ได้ ถ้าจะเปรียบเหมือนขึ้นภูเขาสูง ขึ้นถึงระดับไหนก็ย่อมจะเห็นในระดับนั้น จะให้ถึงยอดทีเดียวโดยไม่ขึ้นไปตั้งแต่เชิงเขาหาได้ไม่ เห็นว่ายักษ์เป็นตัวโรค นับว่าใกล้ระดับปัจจุบันเข้ามาแล้ว คือเห็นว่ามีตัวโรคที่มองไม่เห็นตัวตน ในปัจจุบันสร้างเครื่องส่องให้มองเห็นตัวขึ้น ความเห็นว่ามีตัวเชื้อโรคจึงมีมานานแล้วและควรจะแยกว่าเรื่องนี้เป็นทางแพทยศาสตร์ ไม่ใช่พุทธศาสน์ ถ้าเป็นเรื่องยักษ์ในใจคือกิเลส และเครื่องกำจัดกิเลสจึงจะเป็น พุทธศาสน์ แม้เรื่องโลกก็มีเรื่องโลกทางภูมิศาสตร์สมัยโบราณปนเข้ามามาก ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

เรื่องโลกที่เป็นพุทธศาสน์โดยตรงนั้น มีเช่นที่แสดงไว้ใน สฬายตนวรรค ความว่า เรียกว่า โลก ๆ เพราะเป็นสิ่งชำรุด ถ้าจะถามว่า อะไรเป็นโลกคือสิ่งที่ชำรุด ก็ประมวลตอบได้ว่า อายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย มนะ, อายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เรื่อง วิญญาณ คือความรู้ทางอายตนะ ๖ (ความรู้สึกได้เห็น ได้ฟัง ได้ดม ได้ลิ้ม ได้ถูก ได้ทราบ) สัมผัส คือความประจวบกันเข้าแห่งอายตนะภายในภายนอก กับวิญญาณ ๖ เวทนา ความรู้เสวยเป็นสุข ทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุข เพราะสัมผัส ๖ เหล่านี้เป็นโลกทั้งหมด

อีกแห่งหนึ่งแสดงว่า โลกหรือบัญญัติว่าโลก มีอยู่ในอายตนะภายในภายนอกทั้ง ๖ ในวิญญาณทั้ง ๖ ในธรรมที่พึงรู้ด้วยวิญญาณทั้ง ๖ ทุกข์ หรือบัญญัติว่าทุกข์ มารหรือบัญญัติว่ามาร สัตว์หรือบัญญัติว่าสัตว์ ก็มีอยู่ในที่เช่นเดียวกันนี้ ฉะนั้น ภาวะเป็นโลก เป็นทุกข์ เป็นสัตว์ เป็นมาร จึงรวมกันอยู่ในตนเองของทุกๆ คน ได้มีพระพุทธภาษิตในเทวปุตสังยุตว่า เรา(ตถาคต) บัญญัติโลก เหตุเกิดโลก ความดับโลก ทางปฏิบัติให้ถึงความดับโลก ในกเฬวระ (กายหรืออัตภาพ) ยาววาหนึ่ง มีสัญญา มีมนะนี้แหละ

พระพุทธภาษิตนี้ตรัสแก่ โรหิตัสสเทพ ผู้มาเฝ้ากราบทูลถามว่า ในที่ใดไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุปบัติ ที่นั้นคือที่สุดแห่งโลก จะอาจเพื่อรู้หรือเห็นหรือบรรลุได้ด้วยการไปหรือหาไม่ ตรัสตอบว่า ที่สุดแห่งโลกนั้น ไม่ตรัสว่าจะพึงรู้หรือเห็นหรือบรรลุได้ด้วยการไป เทพกราบทูลรับรองว่า เมื่อครั้งตนเป็นฤษีในครั้งก่อน มีฤทธิ์เหาะเร็วมาก สามารถเหาะข้ามจักรวาลโลกๆ หนึ่ง สิ้นเวลาแวบเดียว เหมือนอย่างนายขมังธนูมือเยี่ยมยิงลูกธนูผ่านเงาตาลตามขวาง (เหาะผ่านโลกๆ หนึ่ง ก็ขนาดเวลาลูกธนูวิ่งผ่านเงาตาลตามขวางต้นหนึ่ง คือเร็วที่สุด) หรือเหมือนอย่างย่างเท้าครั้งเดียวจากสมุทรทิศตะวันออกถึงสมุทรทิศตะวันตก (คือระยะจากขอบปากจักรวาลตะวันออกถึงขอบปากจักรวาลตะวันตก ในบัดนี้ก็เท่ากับระยะรอบโลก ไปเร็วเท่ากับย่างเท้าย่างเดียว) เกิดปรารถนาจะถึงที่สุดโลกจึงเหาะไปด้วยความเร็วขนาดนี้ เว้นการบริโภค การถ่าย การหลับ การพักผ่อน ติดต่อกันไปถึง ๑๐๐ ปี ก็ไม่ถึงที่สุดโลก ถึงมรณภาพเสียก่อน พระพุทธเจ้าได้ตรัสยืนยันเหมือนอย่างข้างต้น และตรัสว่า พระองค์ไม่ถึงที่สุดโลกแล้วก็จะไม่ตรัสการทำที่สุดทุกข์

 

 ที่สุดโลกตามคติพระพุทธศาสนา

เห็นได้ตามเรื่องที่เล่ามานี้ว่า เรื่องการคิดเที่ยวไปในจักรวาลคือโลกต่างๆ นั้นได้มีมาแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว และโลกต่างๆ มีมาก ดั่งกล่าวว่า แสนโกฏิจักรวาล การจะท่องเที่ยวไปให้จบทั่วทั้งหมด แม้จะไปได้เร็วมากเหมือนฤษีนั้นก็เหลือวิสัย ตามเรื่องแสดงว่าฤษีนั้นต้องการจะไปที่สุดโลก ซึ่งตนเข้าใจว่าเป็นที่ไม่เกิดแก่เจ็บตาย ไปได้เร็วขนาดย่างเท้าละโลก ๆ ตลอดเวลา ตั้ง๑๐๐ ปีก็ไม่สิ้นสุดจักรวาล ชีวิตของฤษีนั้นสิ้นสุดไปก่อน นี้เป็นการแสวงหาที่สุดโลกภายนอก ซึ่งไม่อาจถึงได้ด้วยการไป ที่สุดโลกภายนอกหรือจะเรียกเลียนในบัดนี้ว่าที่สุดอวกาศ จะมีหรือไม่ ยังไม่พบที่แสดงไว้ หรือจะเป็นวัฏฏะคือวนเวียนเป็นวงกลม ก็ไม่อาจทราบ

พระพุทธเจ้าได้ตรัสรับรองว่าที่สุดโลกซึ่งเป็นที่ไม่เกิดแก่เจ็บตาย ไม่พึงถึงได้ด้วยการไป แต่ถ้าไม่ถึงก็ไม่ถึงที่สุดทุกข์ ตามที่ตรัสนี้ พึงเห็นว่า ที่สุดโลกของพระองค์ก็คือที่สุดทุกข์ ผู้ถึงที่สุดทุกข์แล้วเช่นพระองค์ ก็ต้องถึงที่สุดโลกแล้ว ฉะนั้น คำว่า ที่สุดโลก ตามที่ตรัส ก็จะต้องมีนัยต่างจากที่ฤษีนั้นเข้าใจและเที่ยวหา เพราะได้ตรัสไว้อีกว่า ทรงบัญญัติโลกเป็นต้นในกเฬวระ(กายหรืออัตภาพ) นี้แหละ โลกและที่สุดโลกจึงมีอยู่ภายในนี้ ไม่ใช่มีอยู่ในภายนอก ฉะนั้น ผู้ที่ประสงค์จะเที่ยวดูโลกจนถึงที่สุดโลกในพระพุทธศาสนาจึงหยุดเที่ยวไปในโลกภายนอกได้ทั้งหมด กเฬวระของตนอยู่ที่ไหนก็ดูเข้ามาที่นั่น คือดูเข้ามาในกายของตนเอง ส่วนไหนเป็นโลก และเมื่อกล่าวรวมทั้งหมดโลกมีลักษณะอย่างไร ก็ได้ตรัสชี้ไว้แล้ว เมื่อจะอธิบายตามแนวอริยสัจก็อธิบายได้ว่า โลกคือทุกข์ เหตุเกิดโลกคือเหตุเกิดทุกข์ ได้แก่ตัณหา (ความดิ้นรนทะยานอยากของใจ) ความดับโลกคือความดับทุกข์ ได้แก่ดับตัณหาเสีย ทางปฏิบัติให้ถึงความดับโลกคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่มรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบเป็นต้น กล่าวสั้น เรื่องโลกก็คือเรื่องอริยสัจนั้นเอง ซึ่งเป็นสัจจธรรมเกี่ยวแก่ตนเอง จะพึงรู้เห็นหรือถึงได้ที่ตนเองด้วยตนเอง

ที่สุดโลกในพระพุทธศาสนาจึงถึงได้จริง และเมื่อถึงแล้วก็พ้นทุกข์ได้จริง เพราะโลกก็คือทุกข์ สุดโลกก็คือสุดทุกข์ ทั้งหมดมีอยู่ในกเฬวระนี้ ซึ่งมีความยาวประมาณวาหนึ่งเท่านั้น ไม่ต้องเที่ยวไปหาในที่อื่น พุทธศาสน์ที่แท้จริง ย่อมแสดงเรื่องโลกไว้เช่นนี้

เรื่องโลกธาตุทั้งปวง เรื่องนรก มนุษย์ สวรรค์ ที่ได้เล่ามาในตอนพรรษาที่ ๖ นี้ ทั้งหมดก็รวมเข้าในคำว่า โลก ตามพุทธาธิบายคำเดียวว่า ลุชฺชตีติ โลโก เรียกว่า โลก เพราะเป็นสิ่งที่ต้องชำรุดสลาย รวมเข้าในทุกขสัจ เมื่อเป็นโลกก็ต้องเป็นทุกข์ จนกว่าจะถึงที่สุดโลก จึงจะสิ้นทุกข์ เป็นอันสมมติยุติพรรษาที่ ๖ จะได้เริ่มขึ้นพรรษาที่ ๗ ต่อไป

 



จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๒ หน้า ๒๑๔ – ๒๒๓