Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๙๓

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 

เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ชุมนุมเทวดา

ในอรรถกถาแห่ง ชนวสภสูตร ได้กล่าวว่า เทวสันนิบาต มีในสมัยเข้าพรรษาของพระสงฆ์เพื่อพิจารณาสงเคราะห์พระสงฆ์เข้าพรรษา มีในสมัยปวารณาออกพรรษาเพื่อสงเคราะห์ในคราวนั้น มีในสมัยที่จะฟังธรรม มีในสมัยที่จะเล่นกีฬา คราวต้นไม้ทิพย์ปาริฉัตตกะออกดอก เทวสันนิบาตในสมัยเข้าพรรษานั้นตั้งแต่วันอาสาฬหบูชา ส่วนเทวสันนิบาตเพื่อฟังธรรมนั้น คงสุดแต่ว่าจะมีการแสดงธรรมเมื่อไร ได้มีเล่าไว้ในที่หลายแห่งว่า ในชุมนุมเทพ ณ เทวสภาสุธรรมมาในบางคราว พระอินทร์ทรงแสดงธรรมแก่เทพทั้งปวง ในบางคราวพระพรหมลงมาแสดง และเทพผู้มาเข้าสันนิบาตนั้นเป็นเทพในสวรรค์ ๒ ชั้น คือชั้นดาวดึงส์และชั้นจาตุมหาราชิกา ในเมืองไทยเรา เมื่อพระจะสวด พระปริตร ก็มีกล่าวบท สัคเค ชุมนุมเทวดา เพื่อมาฟังธรรม คือมาฟังสวดมนต์ ซึ่งเป็นการสวดบทพระธรรมนั้นเอง ใช้เป็นประเพณีทั้งในงานหลวงงานราษฎร์ คุ้นเคยจนถึงไม่คิดวิจารณ์กัน และก็ว่าเป็นภาษาบาลีฟังกันไม่ออก แต่เทวดาจะฟังออกหรือไม่ หาได้คำนึงถึงกันไม่ หากรู้ถึงจิตใจได้โดยตรงก็ไม่ต้องคำนึงถึงภาษา

 

อาราธนาธรรม

จะกล่าวถึงพระพรหมองค์หนึ่ง คือ สหัมบดีพรหม ได้มีเรื่องเข้ามาเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าหลายเรื่อง ตั้งแต่ต้นพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้วใหม่ๆ ทรงปรารภถึงธรรมที่ตรัสรู้ว่าเป็นสภาพลุ่มลึก ยากที่คนอื่นจะรู้ตามได้ ทรงพระดำริจะไม่ทรงขวนขวายเพื่อสั่งสอน ท่านว่า สหัมบดีพรหมทราบพระดำริ ได้เข้าไปเฝ้ากราบทูลอาราธนาขอให้ทรงแสดงธรรม เพราะหมู่สัตว์ที่สามารถจะฟังรู้ได้มีอยู่ พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงธรรม เป็นต้นเรื่องของ บทอาราธนาธรรม ที่ใช้กันในเมืองไทยว่า พฺรหฺมา จ โลกาธิปตี สหมฺปติ เป็นต้น ซึ่งมีคำแปลว่า สหัมบดีพรหมผู้เป็นอธิบดีแห่งโลก พนมหัตถ์ทูลขอพรว่า หมู่สัตว์ในโลกนี้ที่มีฝุ่นธุลีในดวงตาแต่น้อยยังมีอยู่ ขอพระสุคตได้โปรดอนุเคราะห์ประชานิกรนี้แสดงธรรม บทอาราธนาธรรมนี้ก็มีความเล่าถึงประวัติพระพรหมมาทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าให้ทรงแสดงธรรมดั่งนี้เท่านั้น แต่ก็ได้นำมาใช้เป็นบทอาราธนาให้พระเทศน์ทั่วไป

ในเมืองไทยนิยมถือเป็นประเพณีว่าจะต้องอาราธนาก่อน พระจึงจะให้สรณคมน์และศีล สวดพระปริตร แสดงพระธรรมเทศนา แสดงว่า พระพุทธศาสนาไม่บังคับฝืนใจใครให้นับถือปฏิบัติ ใครมีศรัทธาเลื่อมใสประสงค์สรณคมน์และศีลก็ดี พระปริตรก็ดี ธรรมเทศนาก็ดี ก็ต้องมาอาราธนา ยังไม่อาราธนาพระก็ยังไม่ให้ไม่แสดง เวลาทำพิธีก็เป็นการสะดวก เพราะการอาราธนาก็หมายความว่าเริ่มพิธีขึ้นแล้ว ได้เตรียมการต่างๆ เสร็จพร้อมที่จะรับศีลกันได้ และได้ถือเป็นประเพณีอีกว่า ก่อนที่จะทำกุศลอะไร ขอสรณคมน์และศีลกันก่อนเสมอ เป็นประเพณีดีอยู่ เพราะชักนำให้เข้าหาพระรัตนตรัยและศีลก่อน แต่ก็มักถือเป็นสักแต่ว่าทำไปเป็นพิธีเสียโดยมาก คือไม่ได้คิดรับจริง ถ้าอย่างนี้ก็ได้เพียงเปลือกคือพิธีเท่านั้น ผู้ที่ตั้งใจรับจริงนั่นแหละ จึงจะเข้าถึงสาระของพิธี ได้ประโยชน์จากประเพณีที่ดีอยู่แล้วนี้ เป็นอันว่าคนไทยเราได้ออกชื่อสหัมบดีพรหมกันอยู่บ่อยๆ เป็นที่รู้จักกันมากอย่างกว้างขวางคล้ายพระอินทร์ ในหมู่เทวดา พระอินทร์รู้จักกันมากกว่าองค์อื่น ในหมู่พรหมก็ท้าวสหัมบดีพรหมองค์นี้ ทั้งได้ออกชื่อถึงมากกว่าองค์อื่นๆ ทั้งหมด

 

ทรงขับภิกษุสงฆ์

สหัมบดีพรหมยังได้มาทูลพระพุทธเจ้าขอให้ทรงอนุเคราะห์สงฆ์ ดั่งที่มีเล่าใน ขันธสังยุต ว่า สมัยเมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่นิโครธารามใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ ทรงประณามภิกษุสงฆ์เพราะเหตุบางอย่าง (เล่าไว้ในอรรถกถาว่า เมื่อเสด็จจาริกจากนครสาวัตถีถึงนครกบิลพัสดุ์ เจ้าศากยะทั้งหลายรับเสด็จ และกราบทูลเชิญเสด็จไปประทับที่นิโครธาราม เมื่อเสด็จถึงอารามนั้นแล้ว ได้เสด็จเข้าสู่ที่ประทับ ทรงทำปฏิสันถารกับเจ้าศากยะทั้งปวงที่ตามไปส่งถึงที่ประทับ ขณะนั้นพวกภิกษุที่ตามเสด็จพากันจัดที่พักและรับแจกทานวัตถุต่างๆ ที่เขาจัดถวายเป็นเครื่องต้อนรับ ก็มีเสียงพูดเรียกพูดถามกันอยู่อื้ออึง พระพุทธเจ้าไม่โปรดเสียงดังอื้ออึง ตรัสถามทราบเรื่องแล้วจึงทรงประณามภิกษุสงฆ์ ประณาม ก็คือ ขับออกไป ตามเรื่องต่อไปกล่าวว่า ได้เสด็จในที่เร้น ทรงพระดำริอยู่พระองค์เดียว คำว่า ประณาม ในที่นี้ สังเกตตามท้องเรื่องว่าน่าจะเพียงรับสั่งให้ไปบอกทำนองว่าออกไปให้พ้น อย่ามาเอะอะอยู่ที่นี่เท่านั้น ไม่หมายถึงว่า ขับไล่) เวลาเช้าเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในกรุงกบิลพัสดุ์ เสด็จกลับจากบิณฑบาต หลังจากเสวยแล้วได้เสด็จไปยังป่ามหาวัน ประทับพักกลางวันอยู่ที่โคนต้นมะตูมหนุ่มต้นหนึ่ง เกิดพระดำริขึ้นในพระหฤทัยว่า ทรงขับภิกษุสงฆ์ แต่ในภิกษุสงฆ์นี้ยังมีพวกภิกษุใหม่ที่หวังพึ่งพระองค์ เมื่อไม่ได้เห็นพระองค์ก็จะพึงรวนเรกระสับกระส่าย เหมือนอย่างลูกโคอ่อนไม่เห็นแม่โคก็วุ่นวายกระสับกระส่าย หรือเหมือนอย่างพืชที่งอกขึ้นใหม่ไม่ได้น้ำก็เหี่ยวแห้งหงอยเหงา จึงน่าที่จะทรงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ในบัดนี้ เหมือนอย่างที่ได้ทรงอนุเคราะห์มาแล้วในกาลก่อน

สหัมบดีพรหมได้ทราบพระดำริในขณะนั้น ได้มาปรากฏเบื้องหน้าพระองค์ ห่มผ้าเฉวียงบ่าประคองอัญชลีกราบทูล มีความว่า ขอให้ทรงอนุเคราะห์สงฆ์เหมือนอย่างที่ทรงพระดำริในตอนท้ายนั้นเถิด เพราะในสงฆ์นี้ก็ยังมีภิกษุใหม่ที่หวังพึ่งพระองค์เต็มที่ เหมือนอย่างลูกโคอ่อนหวังพึ่งแม่โค เหมือนพืชที่งอกขึ้นใหม่หวังพึ่งน้ำฉะนั้น จึงขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอภินันท์ภิกษุสงฆ์ ทรงโอวาทอนุศาสน์ภิกษุสงฆ์ เหมือนอย่างที่ได้เคยทรงอนุเคราะห์มาแล้วในกาลก่อนเถิด พระพุทธเจ้า ทรงรับอาราธนาด้วยพระอาการดษุณีภาพ สหัมบดีพรหมทราบว่า พระองค์ทรงรับอาราธนาว่าจะทรงอนุเคราะห์สงฆ์ต่อไป ไม่ทรงทอดทิ้งแล้ว ก็ได้ถวายอภิวาท ทำประทักษิณ (เดินเวียนขวาพระพุทธองค์) แล้วอันตรธานไปในที่นั้น เป็นอันว่า พระพรหมองค์นี้ได้มากราบทูลอาราธนาให้ทรงแสดงธรรมโปรดโลกหนหนึ่งเมื่อต้นพุทธกาลแล้ว ครั้งนี้ยังได้มากราบทูลอาราธนาให้ทรงโปรดสงฆ์ต่อไปอีก นับว่าโลกและสงฆ์เป็นหนี้บุญคุณของสหัมบดีพรหมอยู่เป็นอันมาก

อีกคราวหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วใหม่ๆ ประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ที่ควงไม้อชปาลนิโครธใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา ได้เกิดพระดำริพระหฤทัยขึ้นว่า ผู้ที่ไม่มีที่คารวะไม่มีที่พึ่งย่อมอยู่เป็นทุกข์แท้ พระองค์จะพึงทรงอยู่สักการะเคารพพึ่งพาอาศัยสมณะหรือพราหมณ์ที่ไหนได้หนอ ทรงพระดำริเห็นในขณะนั้นว่า จะพึงทรงสักการะเคารพพึ่งพาอาศัยสมณะหรือพราหมณ์อื่น ก็เพื่อความบริบูรณ์แห่งกองศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะที่ยังไม่บริบูรณ์ แต่ก็ไม่ทรงเห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่นในโลก พร้อมทั้งเทวโลก พร้อมทั้งมารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทพและมนุษย์ ที่จะถึงพร้อมด้วยศีลเป็นต้นยิ่งกว่าพระองค์ ซึ่งพระองค์จะพึงทรงสักการะเคารพพึ่งพาอาศัยได้ จึงน่าที่พระองค์จะพึงทรงสักการะเคารพพึ่งพาอาศัยพระธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้นี่แหละ

ลำดับนั้นสหัมบดีพรหมได้ทราบพระดำรินี้ ได้มาปรากฏกราบทูลว่า ข้อนี้เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายที่ได้มีมาแล้วในอดีตก็ดี ที่จักมีในอนาคตก็ดี พระองค์ปัจจุบันก็ดี ล้วนสักการะเคารพพึ่งพาอาศัยพระธรรมอยู่ด้วยกันทุกพระองค์ ครั้นแล้วได้กราบทูลเป็นฉันทคาถาว่า เย จ อตีตา สมฺพุทฺธา เป็นต้น มีความว่า พระสัมพุทธะที่ล่วงไปแล้ว พระพุทธะที่ยังไม่มา พระสัมพุทธะในบัดนี้ ผู้ทรงยังโศกของคนเป็นอันมากให้สิ้นไป ทุกพระองค์เคารพพระสัทธรรมอยู่ในกาลทั้ง ๓ นี้เป็นธรรมดาของพระพุทธะทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ผู้ที่รักตน ประสงค์ความเจริญใหญ่ ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธะทั้งหลาย ก็พึงเคารพพระสัทธรรมเถิด

เรื่องนี้ตามเรื่องที่อ้างว่าเมื่อตรัสรู้ใหม่ๆ ประทับอยู่ที่ควงไม้นั้น ก็เป็นเรื่องที่เข้าลำดับพรรษาที่ ๑ ของพระพุทธเจ้า แต่เป็นเรื่องเบ็ดเตล็ด จึงนำมาเล่าในหมวดเรื่องรวมของสหัมบดีพรหม

 


จากหนังสือ
๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๒ หน้า ๒๐๙ – ๒๑๓