Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๙๒

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 

เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ทำบุญแล้วอธิษฐานให้เกิดในสวรรค์

 

ในอรรถกถาธรรมบทเล่าเรื่องเวลาของสวรรค์เทียบกับมนุษย์ไว้ว่า ในดาวดึงสเทวโลก เทวบุตรองค์หนึ่งชื่อว่า มาลาภารี ไปเที่ยวชมอุทยานพร้อมกับหมู่เทพอัปสร เทพธิดาองค์หนึ่งจุติในขณะที่กำลังนั่งอยู่บนกิ่งต้นไม้ให้ดอกไม้หล่นจากต้น สรีระของนางดับหายไปเหมือนอย่างเปลวประทีปดับ นางถือปฏิสนธิในตระกูลหนึ่งในกรุงสาวัตถี เมื่อเกิดขึ้นระลึกชาติได้ว่า เป็นภรรยาของมาลาภารีเทวบุตรจุติมาเกิด ได้ทำการบูชาพระรัตนตรัย ตั้งความปรารถนาจะไปเกิดในสำนักของเทพสามีอีก

ขณะนั้นพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถี นางมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทำบุญกุศลต่างๆ และตั้งความปรารถนาข้อเดียวนั้นตั้งแต่ยังเยาว์วัย จนถึงได้นามว่า ปติปูชิกา แปลว่า บูชาเพื่อสามี เมื่อเจริญวัยขึ้นได้สามี คนทั้งหลายก็เข้าใจว่าเป็นที่สมปรารถนาแล้ว นางมีบุตรหลายคนโดยลำดับ ได้ตั้งหน้าทำบุญกุศลต่างๆ เป็นนิตย์มา ในวันสุดท้ายของชีวิต เมื่อฟังธรรมรักษาสิกขาบทแล้ว ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคปัจจุบัน บังเกิดในสำนักเทพสามีในสวนสวรรค์นั้นแหละ

ขณะนั้น มาลาภารีเทวบุตรก็กำลังอยู่ในอุทยาน หมู่เทพอัปสรกำลังเก็บร้อยดอกไม้กันอยู่ เทวบุตรได้ทักถามว่านางหายไปไหนแต่เช้า นางได้ตอบว่าจุติไปเกิดในมนุษย์ ได้เล่าเรื่องของนางในมนุษย์โดยตลอด และได้เล่าถึงความตั้งใจของนางเพื่อที่จะมาเกิดอีกในสำนักของเทพสามี บัดนี้ก็ได้มาเกิดสมปรารถนาด้วยอำนาจบุญกุศลและความตั้งใจ เทวบุตรถามถึงกำหนดอายุมนุษย์ เมื่อได้รับตอบว่าประมาณ ๑๐๐ ปี เกินไปมีน้อย ได้ถามต่อไปว่าหมู่มนุษย์มีอายุเพียงเท่านี้ พากันประมาทเหมือนอย่างหลับ หรือพากันทำบุญกุศลต่างๆ เทพธิดาตอบว่า พวกมนุษย์โดยมากพากันประมาทเหมือนอย่างมีอายุตั้งอสงไขย เหมือนอย่างไม่แก่ไม่ตาย เทวบุตรได้เกิดความสังเวชใจขึ้นมาก

เรื่องนี้ท่านเขียนเล่าประกอบพระพุทธภาษิต ในธรรมบทข้อหนึ่งที่แปลความว่า ผู้ทำที่สุด (แห่งชีวิตคือความตาย) ย่อมทำนรชนที่มีใจติดข้องในสิ่งต่างๆ ไม่อิ่มอยู่ในกามทั้งหลายเหมือนเพลินเก็บดอกไม้อยู่ สู่อำนาจ ดูความแห่งพระธรรมบทข้อนี้เห็นได้ว่า มุ่งเตือนใจให้ไม่ประมาท เพราะทุกๆ คนจะต้องตายขณะที่ยังไม่อิ่มยังเพลิดเพลินอยู่ในกาม เหมือนอย่างเพลินเก็บดอกไม้ ท่านจึงเล่าเรื่องเทพธิดาเพลินเก็บดอกไม้ต้องจุติทันทีในสวนสวรรค์

เทวดามีอายุยืนนาน คติภายนอกพระพุทธศาสนาว่า เป็นผู้ไม่ตาย จึงเรียกว่า อมร (ผู้ไม่ตาย) ก็มี แต่คติทางพระพุทธศาสนาว่า มีอายุยืนมากเท่านั้น เพราะมีหลักธรรมอยู่ว่า เมื่อมีเกิดก็ต้องมีตาย จึงไม่รับรองเทวดามารพรหมทั้งสิ้นว่าเป็นอมรคือผู้ไม่ตาย เมื่อเทียบระยะเวลาของมนุษย์กับสวรรค์ ชั่วชีวิตของมนุษย์ที่กำหนด ๑๐๐ ปี เท่ากับครู่เดียวของสวรรค์เท่านั้น เรื่องในอรรถกถานี้ ท่านเล่าให้มองเห็นว่าครู่เดียวจริงๆ ชาติหนึ่งของมนุษย์ยังไม่เท่าเวลาชมสวนของเทวดาครั้งหนึ่ง ท่านเล่าเรื่องในตอนท้ายให้เทวดาสังเวชมนุษย์ว่าประมาท แม้จะไม่ตรงประเด็นกับความในพระธรรมบทนัก ก็ชวนให้เห็นว่าประมาทกันอยู่จริง เพราะทำให้เห็นชัดว่าชีวิตนี้น้อยนัก เหมือนอย่างครู่เดียวจะแสดงอย่างไรให้เห็นชัด จึงเล่าเรื่องในสวรรค์ เป็นเรื่องเทียบที่ทำให้เห็นชัดได้ทันทีว่าน้อยนิดเดียว นำใจให้เกิดสังเวชเกิดความไม่ประมาทขึ้นได้เร็ว เป็นอันว่าท่านสอนได้ผล

อันที่จริงเม็ดยาที่เคลือบน้ำตาลเป็นของที่กลืนง่าย ถ้าคิดรังเกียจสงสัยอยู่ว่าน้ำตาลเคลือบ ไม่ใช่น้ำตาลจริง ไม่ยอมรับยา โรคก็ไม่หาย ถ้ารับยาเคลือบน้ำตาลที่ถูกโรค นอกจากโรคจะหายแล้วยังหวานลิ้นอีกด้วย

 

คำว่า เทพ มีคำแปล ๘ อย่าง

พระพุทธศาสนา โดยตรงกล่าวถึงเวลา เพื่อแสดงธรรม เช่นที่สอนว่า

พึงพิจารณาเนืองๆ ว่า วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้ เราทำอะไรอยู่

ขณะอย่าล่วงท่านทั้งหลายไปเสีย

ควรรีบทำความเพียรในวันนี้ทีเดียว ใครเล่าจะรู้ว่าจะตายในวันพรุ่งนี้

และแสดงความเนิ่นช้าของเวลาว่ามีแก่บุคคลดังต่อไปนี้ คนที่ต้องตื่นตลอดราตรี คนเดินทางที่เหน็ดเหนื่อย สัตว์ผู้ท่องเที่ยวเวียนเกิดเวียนตายในสังสารวัฏ ดังพระธรรมบทหนึ่งว่า ราตรีของคนที่ตื่นอยู่เป็นของยาว โยชน์ของคนที่เมื่อยล้าเป็นของยาว สงสารของคนเขลาไม่รู้สัทธรรมเป็นของยาว อันที่จริงเวลาราตรีหนึ่ง ระยะทางโยชน์หนึ่ง ก็คงอยู่เท่านั้น คนที่นอนหลับสบายหรือคนที่ทำอะไรเพลิดเพลินก็ไม่รู้สึกว่ายาว อาจรู้สึกว่าเหมือนเดี๋ยวเดียว แม้เวลาตั้งกัปกัลป์ก็เหมือนเดี๋ยวเดียวถ้าหลับเพลินอยู่ คนที่แข็งแรงเดินเก่ง และมีความเพลิดเพลินในการเดิน โยชน์หนึ่งก็จะไม่รู้สึกว่าไกล จะรู้สึกว่าถึงเร็ว แต่คนที่มีทุกข์นอนไม่หลับและคนที่เมื่อยล้าจะรู้สึกว่าราตรีและโยชน์ยาวมาก เป็นเครื่องแสดงเทียบกับสงสารของคนเขลา ซึ่งจะต้องท่องเที่ยวไปยืดยาวนานไกล ฉะนั้น เรื่องของเวลาหรือสถานที่จึงเกี่ยวแก่กายและใจของคน โดยเฉพาะก็เกี่ยวกับใจ ถ้าคิดเร่งให้เร็วก็เหมือนช้าหรือยาว ถ้าคิดหน่วงให้ชักช้าก็เหมือนเร็วหรือสั้น ความจริงก็คงที่อยู่อย่างนั้น

อาการเกิดของเทวดา มีกล่าวไว้ในอรรถกถาบางแห่งเป็นพิเศษว่า บุรุษที่เกิดบนตักของเทวดาเรียกว่า เทวบุตร สตรีที่เกิดบนตักของเทวดา เรียกว่า เทวธิดา เทวดาสตรีถ้าเกิดในที่นอนจัดเป็นปริจาริกา (นางบำเรอ) ถ้าเกิดข้างที่นอนจัดเป็นพนักงานเครื่องสำอาง ถ้าเกิดกลางวิมานจัดเป็นคนใช้ เทวดา ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาจัดเป็นอุปปาติกกำเนิดทั้งหมด

คำว่า เทวะ ในคัมภีร์ สัททนีติ ให้คำแปลไว้ ๘ อย่าง ดังต่อไปนี้

. ผู้ที่เล่น (ด้วยกามคุณทั้ง ๕ น่าจะหมายถึงว่า มีสุขสนุกสบายอยู่ด้วยทิพยสมบัติทุกเวลา)
. ผู้ที่ปรารถนา
(จะชนะปฏิปักษ์ คือต้องการชนะข้าศึก ไม่ยอมแพ้)
. ผู้ที่กล่าว (ว่าควรไม่ควรของโลก คือมีวาจาที่โลกนับถือ บอกว่าควรหรือไม่ควรอย่างไรก็เชื่อฟัง)
. ผู้ที่รุ่งเรืองสว่าง
(ด้วยแสงสว่างรุ่งเรืองแต่สรีระอย่างยิ่ง)
. ผู้ที่ได้รับความชมเชย
. ผู้ที่มีผู้ใคร่
(จะเห็นจะได้ยิน เพราะประกอบด้วยความงามเป็นพิเศษ)
. ผู้ที่ไปได้
(โดยไม่ขัดข้องในที่ตามที่ปรารถนา)
. ผู้ที่สามารถ
(ยังกิจนั้นๆ ให้สำเร็จด้วยอานุภาพสมบัติ)


จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๒ หน้า ๒๐๕ - ๒๐๙