Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๙๑

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 

เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

อายุของชาวสวรรค์

 

จะกล่าวเพิ่มเติมถึงเรื่อง อสุรเทพ ซึ่งเป็นศัตรูของพระอินทร์ เทวราชแห่งเทพชั้นดาวดึงส์ ในที่มาโดยมากกล่าวว่า ท้าวเวปจิตติ เป็นราชาแห่งพวกอสุรเทพ แต่มีที่มาแห่งหนึ่งกล่าวว่า ได้มีเมืองอสุระอยู่ ๔ เมือง ตั้งอยู่ ๔ ทิศแห่งต้นจิตตปาตลี ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำภพอสุระ ท้าวเวปจิตตะ หรือเรียกอีกนามหนึ่งว่า ท้าวสุจิตตะ ครองเมืองทิศตะวันออก ท้าวสัมพร หรือเรียกอีกนามหนึ่งว่า ท้าวสุจิ ครองเมืองทิศใต้ ท้าวพลิ หรือเรียกอีกนามหนึ่งว่า ท้าวสุโรชะ ครองเมืองทิศตะวันตก ท้าวปหาราธะ หรือเรียกอีกนามหนึ่งว่า ท้าวราหู ครองเมืองทิศเหนือ

สวรรค์ทุกชั้นที่กล่าวมาแล้ว สรุปเป็น ๓ ประเภท คือ กามาพจร ท่องเที่ยวอยู่ในกาม ได้แก่ สวรรค์ ๖ ชั้น รูปาพจร ท่องเที่ยวอยู่ในรูปฌาน ได้แก่รูปพรหม อรูปาพจร ท่องเที่ยวอยู่ในอรูปฌาน ได้แก่อรูปพรหม ฉะนั้นในสวรรค์กามาพจร ๖ ชั้น จึงยังเกี่ยวข้องกับกามคุณ ท่านแสดงว่า ชั้นจาตุมหาราชิกาและชั้นดาวดึงส์มีเหมือนมนุษย์ ชั้นยามามีแต่กายสังสัคคะ ชั้นดุสิตมีเพียงจับมือกัน ชั้นนิมมานรตีมีเพียงยิ้มรักกัน ชั้นปรนิมมิตวสวัตตีมีแต่มองดูกันเท่านั้น ส่วนในสวรรค์ชั้นรูปาพจรและอรูปาพจร ที่เรียกว่า พรหมโลก ทุกชั้นไม่เกี่ยวข้องกับกาม ในอรรถกถาวิภังค์กล่าวว่า ไม่มีเพศสตรีเพศบุรุษในพรหมโลก

ใน ติกนิบาต แสดงอายุสวรรค์เทียบอายุมนุษย์ไว้ว่า ๕๐ ปีมนุษย์เป็น ๑ คืนวันสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ๓๐ คืนวันเป็น ๑ เดือนสวรรค์นั้น ๑๒ เดือนเป็น ๑ ปีสวรรค์นั้น ๕๐๐ ปีทิพย์นี้เป็นประมาณอายุของเทพชั้นจาตุมหาราชิกา เท่ากับ ๙ ล้านปีมนุษย์

๑๐๐ ปีมนุษย์เป็น ๑ คืนวันสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นับเดือนปีเช่นเดียวกัน ๑,๐๐๐ ปีทิพย์นี้เป็นประมาณอายุของเทพชั้นดาวดึงส์ เท่ากับ ๓ โกฏิ ๖ ล้านปีมนุษย์

๒๐๐ ปีมนุษย์เป็น ๑ คืนวันสวรรค์ชั้นยามา นับเดือนปีเช่นเดียวกัน ๒,๐๐๐ ปีทิพย์นี้เป็นประมาณอายุของเทพชั้นยามา เท่ากับ ๑๔ โกฏิ ๔ ล้านปีมนุษย์

๔๐๐ ปีมนุษย์เป็น ๑ คืนวันสวรรค์ชั้นดุสิต นับเดือนปีเช่นเดียวกัน ๔,๐๐๐ ปีทิพย์นี้เป็นประมาณอายุของเทพชั้นดุสิต เท่ากับ ๕๗ โกฏิ ๖ ล้านปีมนุษย์

๘๐๐ ปีมนุษย์เป็น ๑ คืนวันสวรรค์ชั้นนิมมานรตี นับเดือนปีเช่นเดียวกัน ๘,๐๐๐ ปีทิพย์นี้เป็นประมาณอายุของเทพชั้นนิมมานรตี เท่ากับ ๒๓๐ โกฏิ กับ ๔ ล้านปีของมนุษย์

,๖๐๐ ปีมนุษย์เป็น ๑ คืนวันในสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี นับเดือนปีเช่นเดียวกัน ๑๖,๐๐๐ ปีทิพย์นี้เป็นประมาณอายุของเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตี เท่ากับ ๘๒๑ โกฏิกับ ๖ ล้านปีมนุษย์

(การคิดเทียบปีมนุษย์นี้คัดมา ไม่ได้สอบดูว่าจะถูกหรือผิดอย่างไร)

ส่วนเทพชั้นพรหมโลกยิ่งมีอายุมาก ท่านว่า

. พรหมปาริสัชชะ มีอายุเท่าส่วนที่ ๓ ของกัป คือ ๑ ใน ๓ ของกัป

. พรหมปุโรหิต มีอายุกึ่งกัป

. มหาพรหม มีอายุ ๑ กัป

. ปริตตาภะ มีอายุ ๒ กัป

. อัปปมาณาภะ มีอายุ ๔ กัป

. อาภัสสระ มีอายุ ๘ กัป

. ปริตตสุภะ มีอายุ ๑๖ กัป

. อัปปมาณสุภะ มีอายุ ๓๒ กัป

. สุภกิณหะ มีอายุ ๖๔ กัป

๑๐. เวหัปผละ และ อสัญญีสัตว์ มีอายุ ๕๐๐ กัป

๑๑. อวิหะ มีอายุ ๑,๐๐๐ กัป

๑๒. อตัปปะ มีอายุ ๒,๐๐๐ กัป

๑๓. สุทัสสะ มีอายุ ๔,๐๐๐ กัป

๑๔. สุทัสสี มีอายุ ๘,๐๐๐ กัป

๑๕. อกนิฏฐะ มีอายุ ๑๖,๐๐๐ กัป

พรหมเหล่านี้ ๑ ถึง ๙ เป็นชั้นรูปฌานที่ ๑, , ๓ ชั้นละ ๓ ๑๐ ซึ่งแบ่งเป็น ๒ ถึง ๑๕ เป็นชั้นรูปฌานที่ ๔ รวมเป็น ๑๖ และ ๑๑ ถึง ๑๕ เป็นชั้นสุทธาวาสสำหรับพระอนาคามีไปเกิด ปริตตาภะ เป็นต้น มักเรียกว่า ปริตตาภา ซึ่งติดมาจากเป็นคุณบทของภูมิ ทั้งถนัดลิ้นไทยเรา เหมือนอย่างคำว่า ศาสนา จากคำว่า ศาสนะ ซึ่งเป็นคำที่เรียกว่า อะการันต์ แต่เราถนัดเรียกเป็น อาการันต์ ว่าศาสนา กลายเป็นคำไทยที่ถูกต้อง ถ้าพูดว่าศาสนะก็เป็นผิดแปลกไป พรหมทั้ง ๑๖ เหล่านี้เป็นรูปพรหม

ส่วนอรูปพรหมอีก ๔ ชั้นยิ่งมีอายุมากขึ้นไปอีก อรูปที่ ๑ มีอายุ ๒๐,๐๐๐ กัป อรูปที่ ๒ มีอายุ ๔๐,๐๐๐ กัป อรูปที่ ๓ มีอายุ ๖๐,๐๐๐ กัป อรูปที่ ๔ มีอายุ ๘๔,๐๐๐ กัป

 

อายุของสัตว์ในนรก

อนึ่ง มีแสดงถึงอายุสัตว์นรกเทียบกับอายุของสวรรค์ไว้ว่า

๕๐๐ ปีทิพย์ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา เป็นคืนวันหนึ่งใน สัญชีวนรก สัตว์นรกขุมนี้มีอายุ ๕๐๐ ปีนรกนั้น

,๐๐๐ ปีทิพย์ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นคืนวันหนึ่งใน กาฬสุตตนรก สัตว์นรกขุมนี้มีอายุ ๑,๐๐๐ ปีนรกนั้น

,๐๐๐ ปีทิพย์ในสวรรค์ชั้นยามา เป็นคืนวันหนึ่งใน สังฆาฏนรก สัตว์นรกขุมนี้มีอายุ ๒,๐๐๐ ปีนรกนั้น

,๐๐๐ ปีทิพย์ในสวรรค์ชั้นดุสิต เป็นคืนวันหนึ่งใน โรรุวนรก สัตว์นรกขุมนี้มีอายุ ๔,๐๐๐ ปีนรกนั้น

,๐๐๐ ปีทิพย์ในสวรรค์ชั้นนิมมานรตี เป็นคืนวันหนึ่งใน มหาโรรุวนรก สัตว์นรกขุมนี้มีอายุ ๘,๐๐๐ ปีทิพย์นั้น

๑๖,๐๐๐ ปีทิพย์ในสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี เป็นคืนวันหนึ่งใน ตาปนนรก สัตว์นรกขุมนี้มีอายุ ๑๖,๐๐๐ ปีทิพย์นั้น

มหาตาปนนรก มีอายุกึ่งอันตรกัป

อเวจีนรก มีอายุ ๑ อันตรกัป

กำหนดอายุที่ท่านแสดงนี้โดยการเทียบ คือเทียบอายุของมนุษย์กับสวรรค์ เทียบอายุของสวรรค์กับนรก แสดงว่าอายุของเทพมากกว่าของมนุษย์มาก และอายุของสัตว์นรกยังมากกว่าอายุของเทพไปอีก ส่วนเทพที่เป็นชั้นพรหมก็นับเทียบด้วยกัปกัลป์ของโลกมนุษย์เหมือนกัน อายุของมนุษย์จึงน้อยมาก พิจารณาดูตามวิทยาการในปัจจุบัน วันเดือนปีของดาวพระเคราะห์ต่างๆ เมื่อเทียบกับโลกมนุษย์นี้ไม่เท่ากัน ยาวกว่าของโลกนี้มากก็มี พูดกันว่ายาวหรือสั้นก็ด้วยเทียบกับเวลาของโลก ถ้าในดาวนั้นๆ มีคน เขาก็คงไม่พูดว่าเวลาของเขายาวหรือสั้น เพราะเป็นกำหนดที่พอเหมาะ หรือที่เรียกว่าเป็นธรรมชาติของที่นั้น เว้นไว้แต่เขาจะมารู้เทียบกับของโลกนี้เข้า และเวลาดั่งกล่าวย่อมมีขึ้นเพราะมีเหตุให้เกิด เวลาที่นักเรียนได้เรียนกันอยู่ ถ้าเหตุที่ให้เกิดเวลาแตกต่างกัน เวลาก็ย่อมแตกต่างกันไป (แม้ในโลกนี้เอง) ในที่ซึ่งไม่มีเหตุให้เกิดเวลา ก็ย่อมจะไม่มีเวลาเลย ในโลกทั้งปวงย่อมมีเวลาเสมอ มีพระพุทธภาษิตแสดงว่า กาลคือเวลาย่อมกินสรรพสัตว์พร้อมทั้งตัวเอง ฉะนั้นจะเกิดเป็นเทพชั้นไหน ก็ต้องถูกเวลากลืนกิน คือต้องดับ ไม่มีที่จะสถิตอยู่เป็นนิรันดร แต่อาจจะมีอายุนานนักหนาได้โดยเทียบกับเวลาของมนุษย์นี้ ซึ่งความจริงหาใช่เร็วหรือช้าไม่ เป็นเวลาที่พอเหมาะตามกำหนดสำหรับชั้นนั้นๆ ต่างหาก

ทางพระพุทธศาสนาแสดงที่ซึ่งไม่มีกาลเวลา คือที่ซึ่งไม่มีตัณหา (ความดิ้นรนทะยานอยาก) อันเป็นเหมือนลูกศรที่เสียบจิตใจ แสดงตามเค้าความว่า ใครก็ตามอยู่ในโลกหรือภูมิไหนก็ตาม เมื่อถอนลูกศรที่เสียบใจนี้ออกเสียได้ก็ย่อมบรรลุถึงที่ซึ่งไม่มีกาลเวลา ที่นี้จะพึงบรรลุด้วยจิตใจเท่านั้น ส่วนร่างกายเป็นโลกต้องตกอยู่ในอำนาจของเวลา คราวนี้นึกเดาดูเฉพาะทางจิตใจว่า จิตใจที่ไม่ดิ้นรน ย่อมไม่เกี่ยวกับเวลาเลย คือไม่เกี่ยวกับอดีตอนาคตปัจจุบันอะไรทั้งสิ้น เพราะไม่มีหวังอะไรที่จะฝากไว้กับเวลา พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมปฏิบัติที่เมื่อบุคคลปฏิบัติเข้าทางแล้ว ธรรมย่อมอบรมกันเองขึ้นไปโดยลำดับดังนี้ ศีลอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา ปัญญาอบรมจิตให้วิมุตติ คือหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย จิตที่ปัญญาอบรมแล้วด้วยได้รับการอบรมมาโดยลำดับดังกล่าว ย่อมเป็นจิตที่รู้บริบูรณ์บริสุทธิ์ ปราศจากศรเสียบ หมดความดิ้นรน สงบ พ้นจากอำนาจโลกที่มีเวลาทั้งสิ้น ถึงธรรมที่เป็น อกาลิกธรรม โดยแท้

 


จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๒ หน้า ๑๙๙ – ๒๐๕