Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๙๐

 sungaracha

 

 sangharaja-section

 

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 

เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

เทพพวกคนธรรพ์

ยังมีพวกเทพหมู่ คันธัพพะ ที่เรียกว่า คนธรรพ หรือ คนธรรพ์ รวบรวมไว้ใน คันธัพพสังยุต ว่า เทพที่เรียกว่า พวกคันธัพพกาย มีหลายประเภทคือ เทพพวกหนึ่งเกิดอาศัยต้นไม้ที่มีรากหอม เทพพวกหนึ่งเกิดอาศัยต้นไม้ที่มีแก่นหอม เทพพวกหนึ่งเกิดอาศัยต้นไม้ที่มีกะพี้หอม เทพพวกหนึ่งเกิดอาศัยต้นไม้ที่มีเปลือกหอม เทพพวกหนึ่งเกิดอาศัยต้นไม้ที่มีกะเทาะเปลือกหอม เทพพวกหนึ่งเกิดอาศัยต้นไม้ที่มีใบหอม เทพพวกหนึ่งเกิดอาศัยต้นไม้ที่มีดอกหอม เทพพวกหนึ่งเกิดอาศัยต้นไม้ที่มีผลหอม เทพพวกหนึ่งเกิดอาศัยต้นไม้ที่มีรสหอม เทพพวกหนึ่งเกิดอาศัยต้นไม้ที่มีกลิ่นหอมที่หอมทั้งต้น

เหตุที่จะให้ไปเกิดในเทพพวกนี้ คือประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต และตั้งความปรารถนาว่าตายไป ขอให้ไปเกิดร่วมกับเทพพวกคันธัพพกาย เพราะชอบใจว่าเทพพวกนี้มีอายุยืน มีวรรณะงาม มีสุขมาก และเมื่อปรารถนาจะไปเกิดโดยเฉพาะในเทพพวกไหน ก็ทำทานสิ่งนั้น เช่น ปรารถนาจะไปเป็นเทพที่เกิดอาศัยต้นไม้ที่มีรากหอม ก็ให้รากไม้ที่หอมเป็นทาน หรือว่าให้วัตถุอื่นๆ ที่เรียกว่าทานวัตถุ เป็นต้นว่า ข้าว น้ำผ้า ยานพาหนะ ระเบียบดอกไม้ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่ โคมไฟ โดยสรุป เหตุที่ให้ไปเกิด คือประพฤติสุจริตทางกาย วาจา ใจ และตั้งความปรารถนา กับทำทานอีก เทพเหล่านี้เกิดอาศัยต้นไม้ ดูเป็นพวกรุกขเทวดา จะอยู่อย่างไร มีความสุขอย่างไรยังไม่พบอธิบาย จัดได้ว่าเป็น สุคติภูมิ เพราะเป็นผลของความดี

เรื่อง รุกขเทวดา ปรากฏว่าได้เป็นที่เชื่อกันมานาน จนถึงมีเล่าไว้ใน นิทานต้นบัญญัติ ที่ให้ตรัสห้ามพระภิกษุตัดต้นไม้ ในบาลีวินัย มีเรื่องเล่าว่า ภิกษุชาวเมืองอาฬวีตัดต้นไม้เองบ้าง ให้ตัดบ้าง เพื่อนำไม้ไปสร้างกุฏิ บังเอิญภิกษุรูปหนึ่งจะตัดต้นไม้ที่มีเทวดาเกิดอาศัยอยู่ เทวดานั้นได้ร้องห้ามขึ้นว่า ภิกษุประสงค์จะทำที่อยู่ของภิกษุ ก็ขออย่าตัดที่อยู่ของเทวดา ภิกษุนั้นไม่เอื้อเฟื้อ ตัดต้นไม้ ได้ถูกแขนของทารกของเทวดา เทวดาคิดจะปลงชีวิตภิกษุ แต่กลับคิดว่าจะทำดั่งนั้นไม่ควร สมควรจะไปเฝ้ากราบทูลฟ้องพระพุทธเจ้า จึงได้ไปเฝ้ากราบทูลเรื่องทั้งหมดแด่พระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสสาธุการแก่เทวดาในการที่ไม่ปลงชีวิตภิกษุ ถ้าปลงชีวิตภิกษุก็จะประสบสิ่งไม่เป็นบุญมาก ตรัสสั่งให้เทวดาไปอยู่ในต้นไม้ที่ว่างอยู่ในโอกาสแห่งหนึ่ง ครั้งนั้นพวกมนุษย์พากันติเตียนว่า พวกพระสมณะศากยบุตรมาตัดต้นไม้เองบ้างให้ตัดบ้าง มาเบียดเบียนชีวะซึ่งมีอินทรีย์เดียว พระพุทธเจ้าได้ทรงยกเรื่องนี้ขึ้นตรัสว่า พวกคนยังเข้าใจต้นไม้ว่ามีชีวะ จึงตรัสห้ามภิกษุพรากภูตคาม คือห้ามตัดต้นไม้ เป็นต้น

ในนิทานต้นบัญญัตินี้ ได้ความสำคัญอย่างหนึ่งว่า คนในสมัยนั้นมีมิใช่น้อยที่เห็นว่าต้นไม้มีชีวะชนิดที่มีอินทรีย์เดียว ตัดต้นไม้ก็เท่ากับฆ่าสัตว์ น่าสังเกตว่าข้างต้นเล่าเรื่องเทวดา ข้างปลายกล่าวถึงมนุษย์ติเตียน ด้วยเขาเชื่อว่าต้นไม้มีชีวะ หาได้กล่าวว่าเขาเชื่อว่ามีเทวดาไม่ อาจจะมีคนเข้าใจกันอยู่ทั้งสองอย่างก็ได้ หรืออาจจะเข้าใจเป็นอย่างเดียวกันก็ได้ คือเทวดากับสิ่งที่เรียกว่าชีวะในต้นไม้ต่างกัน หรือเป็นอย่างเดียวกัน แต่ทุกฝ่ายก็คงเชื่อว่ามีชีวะอยู่ในต้นไม้ จะเป็นชีวะของเทวดาผู้สิงสู่อยู่ หรือชีวะของต้นไม้นั้นเองโดยตรงก็ตาม

อินทรีย์ทั้งหมดที่แสดงไว้สำหรับมนุษย์มี ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะที่แปลกันว่าใจ ส่วนต้นไม้ที่ว่ามีอินทรีย์เดียวนั้น มีคำอธิบายว่าท่านกล่าวหมายเอา กายินทรีย์ (อินทรีย์คือกาย) และคำในบาลีนิทานต้นบัญญัติเรื่องนี้ที่ว่า พวกมนุษย์มีความเข้าใจต้นไม้ว่ามีชีวะนั้น ท่านอธิบายว่าคือมีความเข้าใจต้นไม้ว่าเป็นสัตว์

คำว่า สัตว์ บาลีว่า สัตตะ สันสกฤตว่า สัตตวะ มักเข้าใจกันว่าหมายถึง ผู้ที่มีใจครอง เมื่อมีอธิบายว่าต้นไม้มีชีวะคือเป็นสัตว์ จึงมีที่เข้าใจว่าต้นไม้มีจิตใจ แต่คำว่า สัตว์ มีคำแปลหลายอย่าง แปลว่า มี หรือ เป็น เท่านั้นก็ได้ เช่นเดียวกับคำว่า ภูตะ แปลว่า มี ว่า เป็น เรียกคนหรือดิรัจฉานว่า ภูตะ แปลว่า ผู้มีผู้เป็น เรียกต้นไม้ว่า ภูตคาม ท่านให้แปลว่า กองของภูตะ เหตุที่เรียกต้นไม้ว่าภูตคาม หรือแม้เรียกว่า สัตว์ พึงเห็นได้ว่าเพราะมีกายินทรีย์ ซึ่งมีเกิด มีแก่ มีตาย เช่นเดียวกับกายินทรีย์ของมนุษย์หรือสัตว์ดิรัจฉาน ต้องด้วยลักษณะของสัตว์หรือภูตะในความหมายว่ามีว่าเป็น อันเป็นชีวะชนิดหนึ่ง แต่ไม่พึงเห็นว่าท่านประสงค์ให้เข้าใจว่าต้นไม้มีจิตใจ ฉะนั้น ผู้ที่ถือศีล เว้นจากปาณาติบาต (คือปลงปาณะ) เช่น สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ตลอดถึงผู้ที่สมาทานศีล ๕ จึงตัดต้นไม้ได้ ศีลไม่ขาด ในวินัยของภิกษุเองก็มีพระบัญญัติห้ามปลงปาณะไว้สิกขาบทหนึ่ง ห้ามตัดโค่นภูตคามไว้อีกสิกขาบทหนึ่ง ถ้าประสงค์ให้ต้นไม้เป็นปาณะด้วยแล้ว ก็ไม่จำต้องบัญญัติไว้ ๒ สิกขาบท

คำว่า ปาณะ แปลทับคำลงไปในรูปสันสกฤตว่า สัตว์มีปราณ หมายถึงมีลมหายใจ ดังที่เรียกว่า มีลมปราณก็ได้ มีชีวิตอันหมายถึงชีวิตจิตใจก็ได้ ทั้งในบาลีนิทานต้นบัญญัตินั้นเองก็อ้างว่า พวกมนุษย์เขาเข้าใจว่า ต้นไม้มีชีวะมีอินทรีย์เดียว ไม่ได้อ้างว่าพระพุทธเจ้าทรงรับรองหรือทรงเห็นอย่างนั้น จึงทรงบัญญัติห้ามภิกษุในสิ่งที่คนส่วนมากเขาถือกันว่าไม่ดีไม่งามไม่เหมาะสม

แม้ไม่คิดวิจารณ์ไปถึงภาวะที่ลึกซึ้ง คิดแต่เพียงเหตุผลสามัญ สิ่งที่เขานับถือเป็นเจดีย์ คือเป็นปูชนียวัตถุ แม้ตนจะไม่นับถือก็ไม่ควรจะไปดูหมิ่น ไม่ต้องกล่าวถึงว่าจะไปตัดทำาย ในครั้งพุทธกาลปรากฏในพระสูตรต่างๆ ว่าในเมืองต่างๆ มีเจดีย์ที่เขานับถือกันมากแห่ง เจดีย์ที่กล่าวถึงเหล่านี้หาใช่เป็นเจดีย์อย่างที่เรียกที่เห็นกันในเมืองไทยเรานี้ไม่ โดยมากเป็นต้นไม้ ถ้าภิกษุไปตัดต้นไม้ที่เป็นเจดีย์ของเขาเข้า คงเกิดวิวาทระหว่างลัทธิศาสนาขึ้นได้แน่ พระบัญญัติห้ามภิกษุตัดต้นไม้จึงเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง

ใน คัมภีร์สามนต์ เล่าว่า มีธรรมอยู่ข้อหนึ่ง สำหรับพวกรุกขเทวดาเรียกว่า รุกขธรรม หรือ พฤกษธรรม ธรรมข้อนี้ว่า เมื่อต้นไม้ถูกตัด รุกขเทวดาไม่ทำประทุษจิตคือไม่คิดทำร้ายผู้ตัด และรุกขเทวดาผู้ไม่รักษาธรรมข้อนี้ย่อมถูกห้ามเข้าเทวดาสันนิบาต รุกขธรรมข้อนี้เปิดโอกาสให้คนตัดต้นไม้ได้สะดวก คิดดูว่าถ้าไม่มีรุกขธรรม คนอาจตัดต้นไม้ลำบากเพราะจะถูกเทวดาโกรธทำร้ายเอา ความขัดข้องของมนุษย์ผู้มีกิจต้องหักร้างถางป่าสร้างบ้านเมืองทำไร่นา และตัดใช้ไม้ทำบ้านเรือนเครื่องใช้สอยต่างๆ ก็จะเกิดขึ้น เทวดาสันนิบาตน่าจะได้ระลึกถึงความจำเป็นที่มนุษย์จะต้องตัดใช้ไม้ จึงได้ตรารุกขธรรมข้อนี้ไว้สำหรับพวกรุกขเทวดาทั้งปวง แต่เมื่อเทวดาพากันรักษารุกขธรรม พวกมนุษย์ก็พากันได้ใจ ตัดต้นไม้เสียหมดเป็นป่าๆ ไป ไม่สงวนต้นไม้ที่ควรสงวน ไม่ปลูกทดแทนให้ควรกัน ก็เป็นเหตุให้หมดไม้หมดป่าทำให้มนุษย์เองเดือดร้อนอีก มนุษย์สันนิบาตจึงต้องตรารุกขธรรม (กฎหมายเกี่ยวข้องแก่ต้นไม้) สำหรับมนุษย์เพื่อสงวนรักษาต้นไม้และป่า ก็พลอยช่วยให้รุกขเทวดาพากันอยู่เป็นสุขขึ้น

เป็นอันว่าเทวดากับมนุษย์ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เทวดาสันนิบาตออกกฎห้ามรุกขเทวดาคิดทำร้ายมนุษย์ผู้ตัดต้นไม้ ฝ่ายมนุษย์สันนิบาตออกกฎห้ามมนุษย์ตัดต้นไม้ที่ได้ระบุห้ามไว้ เมื่อทั้ง ๒ ฝ่ายต่างเคารพปฏิบัติในรุกขธรรมดังกล่าวของตนๆ อยู่ ก็จะอยู่เป็นสุขด้วยกันทุกฝ่าย บ้านเมืองไร่นาสาโทก็จะมีเพราะจะหักร้างถางป่าสร้างทำขึ้นได้ตามต้องการ ป่าต้นไม้ก็จะมีเพราะจะสงวนไว้และปลูกทดแทนไว้เพียงพอตามต้องการ

ตามที่กล่าวมานี้ ได้ว่าไปตรงๆ ตามที่ท่านเล่าไว้ แต่ได้กล่าวเกี่ยวโยงเข้ามาถึงมนุษย์ ยังมิได้พูดถอดความสำหรับผู้ที่ไม่เชื่อเทวดาว่ามีอยู่ตามต้นไม้ อันที่จริงก็ไม่จำเป็นจะต้องถอดความ เพราะความของเรื่องนี้ชัดเจน ปล่อยให้อิงอยู่กับเทวดาก็ใช้ได้สำหรับปัจจุบันอยู่แล้ว คือถ้าเทวดามีจริงโดยเป็น อทิสสมานกาย (มีกายที่มองด้วยตาเนื้อไม่เห็น) สิงอาศัยต้นไม้อยู่ ก็มีอยู่ได้เพราะมีรุกขธรรมสำหรับเทวดาปฏิบัติอยู่ นึกดูอีกทางก็ดีเหมือนกัน เพราะจะได้เป็นที่ยำเกรงของมนุษย์บ้าง เพื่อจะได้ไม่ตัดต้นไม้กันง่ายๆ ถ้าเทวดาไม่มีจริง ก็ไม่มีอะไรจะต้องเปลี่ยนไปจากที่เล่าไว้ รุกขธรรมก็ยังใช้ได้สำหรับต้นไม้ คือต้นไม้ทุกต้นไม่มีจิตใจที่คิดทำร้ายคนตัด ใครจะตัดก็ไม่ว่าอะไรเท่ากับมีรุกขธรรมอยู่เหมือนกัน และมนุษย์ก็ต้องสร้างรุกขธรรมสำหรับมนุษย์เพื่อรักษาป่าต้นไม้

 

 

เทพเจ้าแห่งธรรมชาติ

ในอากาศซึ่งประกอบด้วยเย็นร้อนหมอกลมฝน ก็ได้มีคติเชื่อว่า สภาพธรรมชาติเหล่านี้ นอกจากเกิดขึ้นตามฤดูแล้ว ยังมีเกิดขึ้นโดยเทพบันดาลได้อีกด้วย คติความเชื่อนี้มีติดเข้ามาในคัมภีร์พระพุทธศาสนา จนถึงมีรวมไว้หมวดหนึ่ง เรียกว่า วลาหกสังยุต มีความย่อว่า

เทพทั้งหลายนับเนื่องเข้าในพวกวลาหก มีหลายจำพวก คือ วลาหกเทพแห่งความหนาวเย็น วลาหกเทพแห่งความร้อน วลาหกเทพแห่งหมอก วลาหกเทพแห่งลม วลาหกเทพแห่งฝน เหตุที่จะให้ไปเกิดเป็นเทพเหล่านี้ คือประพฤติสุจริตทางกาย วาจา ใจ ตั้งความปรารถนาจะไปเกิด เพราะชอบใจว่าพวกเทพเหล่านี้มีอายุยืน มีวรรณะงดงาม มีสุขมาก ตามที่ได้ยินมา ทั้งได้ให้ทานต่างๆ และเหตุที่ทำให้มีหนาวเย็นในบางคราว มีร้อนในบางคราว มีหมอกในบางคราว มีลมในบางคราว มีฝนในบางคราว คือพวกเทพเหล่านี้คิดว่า ไฉนเราพึงยินดีด้วยความยินดีของตน เพราะความตั้งใจของเทพเหล่านี้ก็มีความหนาวเย็นเป็นต้นขึ้น

เรื่องวลาหกเทพนี้ มีเค้ามาจากความเชื่อเก่าแก่ แต่ได้มาแก้ไขตามคติเทวดาในพระพุทธศาสนา ดั่งจะพึงเห็นได้ว่า เทพเหล่านี้เป็นอุปปาติกกำเนิด (ผุดเกิดขึ้นเป็นตัวตนโตใหญ่ทีเดียว) จัดเป็นสุคติภูมิ จึงเป็นผลของกุศลกรรมและมีมากด้วยกัน บางเทพมีอำนาจบันดาลให้เกิดหนาวเย็น บางเทพมีอำนาจบันดาลให้เกิดร้อน บางเทพมีอำนาจบันดาลให้เกิดหมอก บางเทพมีอำนาจบันดาลให้เกิดลม บางเทพมีอำนาจบันดาลให้เกิดฝน จึงแบ่งออกตามอำนาจบันดาลเป็น ๕ จำพวก เทพองค์หนึ่งมีอำนาจบันดาลเพียงอย่างเดียวหรืออาจบันดาลได้หลายอย่าง ไม่ได้แสดงไว้ชัด วิธีบันดาล คือเพียงคิดว่า ไฉนเราพึงยินดีด้วยความยินดีของตนถ้าวลาหกเทพแห่งฝนคิดดังนี้ ฝนก็จะตก วลาหกเทพประเภทอื่นก็เช่นเดียวกัน ความคิดดังกล่าวเรียกว่า เจโตปณิธิ แปลว่า ความตั้งใจมีอำนาจบันดาลให้เกิดผลขึ้นได้ตามอานุภาพของเทพผู้ตั้งใจ

มีเรื่องเล่าในอรรถกถาว่า ได้มีวลาหกเทพบุตรองค์หนึ่งไปหาพระเถระผู้ขีณาสพองค์หนึ่ง พระเถระถาม ทราบว่าเป็นวลาหกเทพแห่งฝนซึ่งคิดให้ฝนตกได้ จึงแสดงความประสงค์จะดูฝนตก เทวบุตรเตือนพระเถระให้เข้าไปในศาลาเพราะจะเปียก ขณะนั้นก็ไม่ปรากฏว่ามีเมฆฝนหรือฟ้าร้อง พระเถระล้างเท้าเข้าศาลายังไม่ทันหมดองค์ ฝนตกซู่ลงมาเปียกท่านครึ่งองค์ มีอธิบายว่า เย็น ร้อน หมอก ลม ฝน เกิดขึ้นตามฤดูโดยปกติ แต่โดยพิเศษเกิดขึ้นโดยอานุภาพของเทพยดา กล่าวโดยเฉพาะฝนว่า ย่อมตกด้วยเหตุ ๘ อย่าง คือ อานุภาพนาค อานุภาพครุฑ อานุภาพเทพ ทำสัจจะอธิษฐาน มีฤดูเป็นสมุฏฐาน มารบันดาล กำลังฤทธิ์ และเมฆฝนประลัยกัลป์

วลาหกเทพ ท่านว่าเป็นพวกเทพเที่ยวไปในอากาศ คำว่า วลาหก ในคัมภีร์ศัพท์เล่มหนึ่ง แปลว่า สิ่งที่นำหรือพาน้ำไป แปลกันโดยมากว่า เมฆ ใช้เป็นชื่อเรียกรวมของเทพเหล่านี้ว่า วลาหกกาย (หมู่หรือกลุ่มวลาหก) น่าจะเป็นเพราะเป็นปรากฏการณ์ในอากาศด้วยกัน คติความเชื่อในปัจจุบันไม่ใช่อย่างนี้แล้ว แต่ก็น่าฟังคติความเชื่อเก่าๆ ไว้บ้างและบางเรื่อง เช่น เรื่องฝนที่ปรากฏในบางคราวก็ดูแปลกอยู่ คล้ายมีจิตเจตนา ในสังยุตนี้ท่านก็ว่า ที่มีโดยความคิดของเทพก็ในบางคราว ไม่ใช่เสมอไปหรือโดยปกติ ซึ่งมีฤดูเป็นสมุฏฐาน

 

ธรรมชาติกับกรรมปัจจุบันของคน

ความแปรปรวน หรือความเป็นปกติของดิน ฟ้า อากาศ และพืช มีคติแสดงว่า เกี่ยวแก่กรรมปัจจุบันของคนเป็นเหตุข้อสำคัญอยู่ด้วย ดังมีกล่าวไว้ใน จตุกกนิบาต ว่า

ในสมัยเมื่อราชา (หมายถึงผู้ปกครองรัฐสูงสุด) ทั้งหลายไม่ตั้งอยู่ในธรรมผู้ประกอบราชกิจทั้งหลาย พราหมณ์ผู้เป็นคฤหบดีทั้งหลาย ชาวนิคมชนบททั้งหลาย ก็ไม่ตั้งอยู่ในธรรมตามกันไปโดยลำดับ เมื่อหมู่มนุษย์ดังกล่าวไม่ตั้งอยู่ในธรรม จันทร์ อาทิตย์ ดาวนักษัตร คืน วัน เดือน กึ่งเดือน ฤดู ปี ลม ต่างๆ ก็ยักเยื้องผิดปกติไป ธรรมชาติจึงเกิดวิปริตผิดทางผิดปกติ (เช่นบังเกิดลมพัดผิดทาง ผิดฤดูกาล พัดต้นไม้หักโค่น) เทวดาทั้งหลายเดือดร้อน ฝนก็ไม่ตกหลั่งธารน้ำสม่ำเสมอ คือเกิดแล้งฝน ข้าวกล้าก็ออกเมล็ดผิดปกติ หมู่มนุษย์บริโภคข้าวไม่ดีก็มีอายุสั้น ผิวพรรณเศร้าหมอง ถอยกำลัง โรคมาก

แต่ในสมัยเมื่อราชาทั้งหลายตั้งอยู่ในธรรม ผู้ประกอบราชกิจทั้งหลาย พราหมณ์ผู้คฤหบดีทั้งหลาย ชาวนิคมชนบททั้งหลาย ก็ตั้งอยู่ในธรรมตามกันไปโดยลำดับ จันทร์ อาทิตย์ คืน วัน เดือน กึ่งเดือน ฤดู ปี ลม ต่างๆ ก็เป็นไปโดยปกติสม่ำเสมอ วิถีทางลมเป็นต้นก็เป็นไปสม่ำเสมอโดยปกติ เทวดาทั้งหลายไม่เดือดร้อน ฝนก็ตกหลั่งธารน้ำสม่ำเสมอเป็นอันดี ข้าวกล้าก็ออกเมล็ดสม่ำเสมอเป็นปกติ หมู่มนุษย์บริโภคข้าวที่ดีจึงมีอายุยืน ผิวพรรณผ่องใส มีกำลัง ไร้โรคาพาธ

มีฉันทคาถาลงท้าย ความว่า ถ้าเมื่อโคทั้งหลายข้ามไปอยู่ โคผู้หัวหน้าฝูงเดินไปคด โคทั้งหมดก็เดินคดในเมื่อโคนำฝูงเดินคด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้น เหมือนกัน ผู้ที่ได้รับยกย่องให้เป็นหัวหน้าถ้าประพฤติอธรรม ประชานอกนี้ก็ประพฤติตาม รัฐทั้งหมดย่อมอยู่เป็นทุกข์ถ้าผู้ปกครองไม่ตั้งอยู่ในธรรม ถ้าเมื่อโคทั้งหลายข้ามไปอยู่ โคผู้หัวหน้าฝูงเดินไปตรง โคทั้งหมดย่อมเดินตรง ในเมื่อโคนำฝูงเดินตรง ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ผู้ที่ได้รับยกย่องให้เป็นหัวหน้า ถ้าประพฤติธรรม ประชานอกนี้ก็ประพฤติตาม รัฐทั้งหมดย่อมอยู่เป็นสุขถ้าผู้ปกครองตั้งอยู่ในธรรม

บาลีในจตุกกนิบาตตามที่ยกข้อความมากล่าวนี้ แสดงคติของพระพุทธศาสนาว่า ไม่ได้ค้านคติความเชื่อเก่าตะบันไปหมด คติที่พอยกเข้ามาได้ก็ยกเข้ามาเป็นข้อปรารภเพื่อแสดงธรรมแทรกเข้า ผู้ที่ประสงค์จะสอนในภายหลัง เมื่อไม่ประสงค์ข้อความปรารภข้างต้น ก็ตัดออกเสีย แสดงแต่ข้อธรรมตามความในฉันทคาถาข้างท้าย ซึ่งเป็นลักษณะของพระพุทธศาสนาโดยตรง คือมีลักษณะที่เรียกอย่างหนึ่งว่าเป็น วิภัชชวาทะ แปลว่า กล่าวแบ่งแยก คือแบ่งแยกไปตามเหตุผลตามเป็นจริง เช่น ที่กล่าวแบ่งไปตามกรรมและผลของกรรมที่คนเรานี่เอง ทำในปัจจุบันนี้แหละ ดังความในฉันทคาถานั้น ในที่บางแห่งยกเรื่องเมฆเรื่องฟ้าฝนมาเป็นข้ออุปมาเท่านั้น ดังในจตุกกนิบาตนี้เอง กล่าวถึงวลาหกคือเมฆหรือฟ้าฝน ๔ อย่าง เป็นข้อเทียบของบุคคล ๔ จำพวกว่า

. วลาหกคำรามแต่ไม่ตก (ฟ้าร้องฝนไม่ตก) เป็นข้อเปรียบของบุคคลที่ได้แต่พูดแต่ไม่ทำหรือเพียงแต่เรียนแต่ไม่ปฏิบัติให้รู้แจ้งเห็นจริงในสัจจธรรม

. วลาหกตกไม่คำราม (ฝนตกฟ้าไม่ร้อง) เป็นข้อเปรียบของบุคคลที่ทำแต่ไม่พูด หรือที่ไม่เรียนแต่ปฏิบัติให้รู้แจ้งเห็นจริงได้

. วลาหกไม่คำรามไม่ตก (ฟ้าไม่ร้องฝนไม่ตก) เป็นข้อเปรียบของบุคคลที่ทั้งไม่พูดไม่ทำหรือทั้งไม่เรียนไม่ปฏิบัติให้รู้

. วลาหกคำรามและตก (ฟ้าร้องฝนตก) เป็นข้อเปรียบของบุคคลที่ทั้งพูดทั้งทำหรือทั้งเรียนทั้งปฏิบัติให้รู้แจ้งเห็นจริง

คำสอนเรื่องบุคคล ๔ จำพวกนี้ เป็นลักษณะของพระพุทธศาสนาโดยตรง เพราะแสดงเรื่องภายนอก เช่น เรื่องโลกธาตุ เพื่อเป็นข้ออุปมาเท่านั้นไม่ได้มุ่งแสดงเรื่องภายนอกนั้น แต่มุ่งแสดงเรื่องสัจจธรรมภายในเป็นข้อสำคัญ

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๒ หน้า ๑๙๑ – ๑๙๙