Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๘๙

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

นาคและครุฑ

เรื่องนาคและครุฑ คนไทยโดยมากคงเคยได้อ่านในหนังสือเก่าต่างๆ ที่แต่งตามความเชื่ออันน่าจะได้มาจากคติความเชื่อเก่าแก่ของอินเดียว่าได้มีอยู่ในโลกนี้ ความเชื่อนี้น่าจะมีมาเก่าก่อนพุทธกาล จึงได้ติดมาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาชั้นบาลีด้วยเหมือนกัน จนถึงจัดไว้เป็นหมวด ๑ ดังที่เล่าไว้ใน นาคสังยุต ว่า กำเนิดนาคมี ๔ คือ นาคเกิดจากฟองไข่ นาคเกิดจากครรภ์ นาคเกิดจากเถ้าไคล นาคเกิดผุดขึ้น (อย่างเทพหรือสัตว์นรก) นาคเหล่านี้ประณีตกว่ากันขึ้นไปโดยลำดับ นาคโดยมากกลัวหมองูและครุฑ ต้องคอยซ่อนกายซ่อนตัวอยู่เสมอ แต่นาคบางพวกคิดว่า ตนมาเกิดเป็นนาคก็เพราะเมื่อชาติก่อนมีความประพฤติดีบ้างชั่วบ้างทั้ง ๒ อย่าง ถ้าบัดนี้ประพฤติสุจริตก็จะพึงไปเกิดในสวรรค์ได้ในชาติต่อไป จึงตั้งใจประพฤติสุจริตกายวาจาใจ รักษาอุโบสถศีล นาคผู้รักษาอุโบสถนี้ ย่อมปล่อยกายตามสบาย ไม่กลัวหมองูหรือครุฑจะจับ เหตุที่ให้ไปเกิดเป็นนาค เพราะกรรม ๒ อย่าง ดีบ้าง ชั่วบ้าง และเพราะปรารถนาไปเกิดในกำเนิดเช่นนั้นด้วยชอบใจว่า นาคมีอายุยืน มีวรรณะงาม มีสุขมาก บางทีชอบใจตั้งปรารถนาไว้ดังนั้น แล้วก็ให้ทานต่างๆ เพื่อให้ไปเกิดเป็นนาคสมความปรารถนา

สุบรรณ หรือที่เรียกว่า ครุฑ ก็มีติดมาเป็นคู่กัน ดังที่กล่าวไว้ใน สุปัณณสังยุต ว่ามีกำเนิด ๔ และประณีตกว่ากันโดยลำดับเช่นเดียวกัน เหตุที่จะให้เกิดเป็นครุฑก็เช่นเดียวกัน ข้อที่กล่าวไว้เป็นพิเศษก็คือ อำนาจจับนาค ครุฑย่อมจับนาคที่มีกำเนิดเดียวกับตน และที่มีกำเนิดต่ำกว่าได้ จะจับนาคที่มีกำเนิดสูงกว่าหาได้ไม่ มีอธิบายว่า นาคที่ครุฑจับไม่ได้นั้นมี ๗ จำพวก คือ ๑. นาคที่มีชาติกำเนิดประณีตกว่า ๒. นาคประเภทกัมพลัสสดร คือนาคเสนาบดี หรือนาคแม่ทัพ ๓. นาคผู้เป็นราชาชื่อว่าธตรัฐ ๔. นาคผู้อยู่ในสีทันดรสมุทรทั้ง ๗ ๕. นาคผู้เร้นอยู่ในแผ่นดิน ๖. นาคผู้เร้นอยู่ในภูเขา ๗. นาคผู้อยู่ในวิมาน ไม่ได้กล่าวว่าครุฑรักษาอุโบสถ

เรื่องนาค ได้มีกล่าวเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าหลายแห่ง ใน บาลีวินัยมหาวรรค ได้เล่าถึงพญานาคมาแผ่พังพานเป็นร่มกันฝนถวายพระพุทธเจ้าในปฐมโพธิกาล ความย่อว่า เมื่อพระพุทธเจ้าประทับนั่งเสวยวิมุตติสุข ณ ควงไม้มุจจลินท์ (ไม้จิก) ๗ วัน ในสมัยนั้น มหาเมฆที่ไม่ใช่กาลตั้งขึ้น ฝนตกพรำเจือด้วยลมหนาวทั้ง ๗ วัน นาคราชชื่อว่า มุจจลินท์ ออกจากภพของตนเข้ามาวงพระกายของพระองค์ด้วยขนด ๗ รอบ แผ่พังพานปรกเบื้องบนเพื่อป้องกันฝนและลมมิให้ถูกพระกาย ครั้นฝนหายแล้ว คลายขนดออก จำแลงเพศเป็นมาณพมายืนเฝ้า ณ ที่เฉพาะพระพักตร์ พระองค์ทรงทราบแล้วได้ทรงเปล่งอุทานมีความว่า ความสงัดเป็นสุขของบุคคลผู้พอใจแล้ว ได้ประสบธรรมแล้วเห็นแจ้งอยู่ ความไม่เบียดเบียนคือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลายเป็นสุขในโลก ความปราศจากกำหนัดคือความล่วงกามทั้งหลายเสียได้เป็นสุข ความกำจัดอัสมิมานะคือความถือว่าตัวตนให้หมดได้เป็นสุขอย่างยิ่ง

 ในอรรถกถาและพระปฐมสมโพธิกถายังได้กล่าวถึงพระโพธิสัตว์ลอยถาดทอง คือท่านเล่าไว้ว่า ในเช้าวันที่จะตรัสรู้ ได้ทรงรับข้าวมธุปายาสพร้อมทั้งถาดทองจากนางสุชาดา เสวยแล้วได้ทรงลอยถาดทองไปในแม่น้ำเนรัญชรา ถาดทองได้ลอยทวนน้ำไปจมลง ณ ที่วนตรงภพของ กาฬนาคราช ผู้กำลัง หลับอยู่ ถาดทองได้ลงไปซ้อนอยู่ภายใต้ถาด ๓ ถาดที่ตั้งซ้อนกันอยู่แล้ว จึงนับเป็นถาดที่ ๔ (หมายถึงว่าในภัทรกัลป์นี้ ได้มีพระพุทธเจ้ามาตรัสแล้ว ๓ พระองค์ ปัจจุบันอีก ๑ พระองค์ รวมเป็น ๔ และจะตรัสในอนาคตอีก ๑ พระองค์) เสียงถาดใหม่กระทบถาดเก่าได้ปลุกพญานาคให้ตื่นขึ้นอุทานว่า วันวานนี้พระชินสีห์อุบัติในโลกพระองค์หนึ่งแล้ว ซ้ำบังเกิดอีกพระองค์หนึ่งเล่า(คำพูดจากพระปฐมสมโพธิกถา) ครั้นแล้วก็หลับไปอีก

ท่านว่าพญานาคนี้มีปกติหลับอยู่กัปกัลป์ พระพุทธเจ้าจะตรัสพระองค์หนึ่ง จึงตื่นขึ้นครั้งหนึ่งด้วยเสียงกิ๊กของถาดที่ลอยมาจมใหม่ และตื่นอยู่เพียงครู่เดียวแล้วก็หลับต่อไป ระยะเวลาที่พระพุทธเจ้ามาตรัสแต่ละพระองค์นั้นนานมาก แต่ดูเหมือนว่าพญานาคนี้จะรู้สึกว่ามาตรัสวันละพระองค์ คล้ายกับว่า เดี๋ยวมาตรัส ๆ ดูเร็วมาก ดูก็น่าคิดว่าความหลับทำให้ไม่รู้กาลเวลา หลับไปกี่ชั่วโมง ตื่นขึ้นมาก็เหมือนครู่เดียว ไม่มีความรู้ว่านานเท่าไรในความหลับ ไม่มีความรู้อะไรๆ เพิ่มขึ้นทั้งสิ้น ความหลับโดยปกติเป็นความพักผ่อน แต่ถ้าหลับมากเกินสมควรก็เป็นความโง่ ทำชีวิตให้เป็นหมันคือเปล่าประโยชน์ ท่านจึงใช้ความหลับให้เป็นชื่อของความหลงหรือความประมาท ฉะนั้น เมื่อพูดว่าหลับหรือหลับไหล ก็หมายความว่าหลงประมาท ดูตามคติธรรม โลกนี้หลับอยู่เป็นนิตย์ พระพุทธเจ้ามาตรัสทีหนึ่งก็ทรงปลุกให้ตื่นขึ้นทีหนึ่ง ครั้นสิ้นอายุพระพุทธศาสนาแล้วก็หลับไปอีกชั่วกัปกัลป์

ในบาลี พระสูตร จตุกกนิบาต ได้กล่าวถึงเรื่องที่ตรัสสอนให้แผ่เมตตาไปในตระกูลพญางูทั้ง ๔ ปรารภเรื่องภิกษุรูปหนึ่งถูกงูกัดถึงมรณภาพ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสว่า ภิกษุรูปนั้นไม่ได้แผ่เมตตาจิตไปยังพญางูทั้ง ๔ เป็นแน่ ถ้าเธอพึงแผ่เมตตาจิตไป ก็จะไม่ถูกงูกัดถึงมรณภาพ ตระกูลพญางูทั้ง ๔ คือ วิรูปักข์ เอราบถ ฉัพยาบุตร กัณหาโคตมกะ จึงตรัสอนุญาตให้แผ่เมตตาจิตไปยังพญางูทั้ง ๔ ตระกูลนี้ เพื่อคุ้มครองรักษาป้องกันตน

ในชาดกเรื่อง ภูริทัตต์ เล่าถึงภูริทัตต์ผู้เป็นโอรสของพญานาค ชื่อว่า ธตรัฏฐ์ ขึ้นมารักษาอุโบสถในแดนมนุษย์ ถูกหมองูผู้รู้มนต์จับงูชื่อว่า อาลัมพายนะ (เป็นชื่อของมนต์และชื่อของหมองูนั้นด้วย) จับไปแสดงให้คนดู จนถึงให้ไปแสดงหน้าพระที่นั่งพระเจ้ากรุงพาราณสี พี่ชายชื่อว่า สุทัสสนะ จึงได้ขึ้นมาช่วยแก้ไขให้หมองูนั้นยอมปล่อยตัว ประวัติของภูริทัตต์เกี่ยวดองอยู่กับมนุษย์ส่วนหนึ่ง คือมารดาของภูริทัตต์ ชื่อว่า สมุททชา เป็นธิดาของพระเจ้ากรุงพาราณสีองค์ก่อนกับนางนาค ตั้งแต่พระองค์ยังเป็นพระราชโอรส และพระราชบิดาทรงสั่งให้ไปอยู่ป่าเพราะเกรงจะชิงราชสมบัติ พระราชโอรสไปทรงได้นางนาคเป็นพระชายา มีโอรสองค์หนึ่งชื่อว่า สาครพรหมทัตต์ ธิดาองค์หนึ่งชื่อว่า สมุททชา ต่อมาพระราชโอรสได้เสด็จกลับไปครองราชย์สมบัติเป็นพระเจ้ากรุงพาราณสี เมื่อพระราชบิดาสิ้นพระชนม์แล้ว นางสมุททชาได้ไปเป็นอัครมเหสีของราชาแห่งนาคนามว่า ธตรัฏฐ์ มีโอรส ๔ องค์ ภูริทัตต์เป็นโอรสองค์ที่ ๔ พระเจ้ากรุงพาราณสีที่หมองูอาลัมพายนะนำภูริทัตต์ไปให้แสดงถวายนั้น คือพระเจ้าสาครพรหมทัตต์ ผู้เป็นเชฏฐะของนางสมุททชามารดาของภูริทัตต์ จึงเป็นพระมาตุละ (ลุง) ของภูริทัตต์นั้นเอง

ตอนที่พญาธตรัฏฐ์นาคราชจะได้นางสมุททชามีเล่าว่า เมื่อส่งทูตไปขอทีแรก พระเจ้ากรุงพาราณสีผู้เป็นพระราชบิดาไม่ยอมยกให้ พญานาคนั้นต้องส่งกองบริวารนาคมาขู่ด้วยวิธีให้มาปรากฏตัวเป็นงูเต็มบ้านเต็มเมือง พาดห้อยย้อยอยู่ในพระราชนิเวศน์ ตั้งแต่เบื้องบนลงมาถึงภายใต้ในที่ทั้งปวง พาดห้อยย้อยอยู่ในบ้านของชาวบ้านชาวเมืองทั้งหลาย ขดหรือเลื้อยอยู่ตามถนนหนทางทั่วไป พระราชาจึงทรงจำยอมยกพระธิดาให้แก่พญานาค

เรื่องชาดกเป็นเรื่องเก่าก่อนพุทธกาล แสดงว่าเรื่องนาคกับมนุษย์สัมพันธ์เกี่ยวดองกัน ได้มีเล่ามาแต่ดึกดำบรรพ์ ติดเข้ามาในคัมภีร์พระพุทธศาสนา และยังติดเข้ามาในตำนานโบราณของไทยตลอดถึงประเทศใกล้เคียง ประวัติของพระเจ้าแผ่นดินหลายพระองค์มีเล่าว่า มีพระมารดาเป็นนางนาค ทำนองเดียวกับเรื่องในชาดกนี้ (ในอินเดียบัดนี้ก็ยังมีคนเผ่านาค มักเข้าใจกันในบัดนี้ว่า เรื่องนาคที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับคน ดั่งเรื่องนาคที่ว่าจำแลงมาบวชก็น่าจะเป็นคนเผ่านี้ เพราะยังมีความเป็นอยู่แบบคนป่า ผิดจากมนุษย์ที่เจริญทั่วไป จึงยังไม่ยอมรับให้เป็นมนุษย์)

นอกจากนี้ยังมีข้อน่าคิดว่า ศิลปวัตถุของไทยบนหลังคาและที่ส่วนต่างๆ ของโบสถ์วิหารเป็นต้น เช่น ช่อฟ้าใบระกา ก็ทำเป็นรูปนาคหรืองูดัดแปลงให้มีศิลปะงดงาม เหมาะที่จะประดับในส่วนที่ต้องการนั้นๆ จะได้เค้านิยมมาจากเรื่องนาคที่มาพาดห้อยย้อยอยู่ยั้วเยี้ยตามปราสาทราชมนเทียรเป็นต้นในชาดกนี้หรือไม่ กองทัพนาคพากันมาทำอย่างนั้นเพื่อขู่ให้กลัวเพื่อจะได้ยอมยกพระธิดาให้ นึกดูภาพไปตรงๆ ก็น่ากลัว แต่เมื่อดูอีกทางหนึ่งก็เป็นทัศนียภาพคือน่าดู ข้อยืนยันก็คือโบสถ์แบบไทย ถ้าไม่มีช่อฟ้าใบระกาเป็นต้น ก็ดูไม่งามเพราะไม่มีงูขึ้นไปเลื้อยพาดอยู่ จะน่าดูน่าชมก็ต่อเมื่อได้ประกอบสิ่งเหล่านี้แล้ว อาจจะเป็นเพราะความเคยชินก็ได้ เรื่องนาคเรื่องงูยังแถมติดเข้ามาในตำราทำนายฝันอีกด้วย เกี่ยวด้วยเรื่องคู่ ก็เค้าเดียวกับในชาดกนี้

ในบาลีวินัย มหาวรรค เล่าถึงเรื่องนาคจำแลงมาบวช มีความว่า นาคหนึ่งอึดอัดรังเกียจในชาติกำเนิดนาคของตน คิดว่าทำไฉนจะพ้นไปเกิดเป็นมนุษย์โดยเร็วได้ เห็นว่า พระสมณะศากยบุตรเหล่านี้ประพฤติธรรมอันสมควรสม่ำเสมอ เป็นพรหมจารี มีวาจาสัจ มีศีลมีธรรม ถ้าได้บวชในพระเหล่านี้ ก็จะมีผลานิสงส์ให้พ้นชาติกำเนิดนาคไปเกิดเป็นมนุษย์เร็วดั่งปรารถนาเป็นแน่แท้

ครั้นคิดเห็นดั่งนี้แล้วจึงจำแลงเพศเป็นมาณพคือชายหนุ่มน้อย เข้าไปหาภิกษุทั้งหลายขอบวช ภิกษุทั้งหลายก็ให้มาณพจำแลงนั้นบรรพชาอุปสมบท นาคนั้นอยู่ในกุฏิท้ายวัดกับภิกษุรูปหนึ่ง ตกถึงเวลาใกล้รุ่ง ภิกษุรูปนั้นลงจากกุฏิไปเดินจงกรมในที่แจ้ง ฝ่ายนาคเมื่อภิกษุออกไปแล้วก็ปล่อยใจม่อยหลับไป ร่างจำแลงก็กลับเป็นงูใหญ่เต็มกุฏิขนาดล้นออกไปทางหน้าต่าง ภิกษุร่วมกุฏิเดินจงกรมพอแล้วกลับขึ้นกุฏิ ผลักบานประตูจะเข้าไปมองเห็นงูใหญ่นอนขดอยู่เต็มห้องขนดล้นออกไปทางหน้าต่าง ก็ตกใจร้องลั่นขึ้น ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ใกล้เคียงก็พากันวิ่งมาไต่ถามว่ามีเหตุอะไร ภิกษุนั้นได้เล่าให้ฟัง ขณะนั้นนาคตื่นขึ้นเพราะเสียงเอะอะ ก็จำแลงเพศเป็นคนครองกาสาวพัสตร์นั่งอยู่บนอาสนะของตน พวกภิกษุถามว่าเป็นใคร ก็ตอบตามจริงว่าเป็นนาค และเล่าเหตุที่จำแลงเพศมาบวชโดยตลอด

พวกภิกษุได้นำความกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสให้ประชุมภิกษุสงฆ์แล้วตรัสแก่นาคว่า เกิดเป็นนาคไม่มีโอกาสที่จะงอกงามในพระธรรมวินัยนี้ได้แล้ว จงไปรักษาอุโบสถในวัน ๑๔-๑๕ ค่ำ และในวัน ๘ ค่ำแห่งปักษ์นั้นเถิด ด้วยการปฏิบัติอย่างนี้ก็จักพ้นจากชาติกำเนิดนาคและจะได้เป็นมนุษย์โดยเร็ว นาคได้ฟังดังนั้นมีทุกข์เสียใจว่าตนหมดโอกาสที่จะงอกงามในพระธรรมวินัยนี้ น้ำตาไหลร้องไห้หลีกออกไป พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า มีเหตุปัจจัย ๒ ประการที่ทำให้นาคปรากฏภาวะของตน คืออยู่ร่วมกับนางนาคผู้มีชาติเสมอกัน และปล่อยใจสู่ความหลับ พระองค์ทรงถือเรื่องนี้เป็นเหตุ ทรงบัญญัติห้ามอุปสมบทสัตว์ดิรัจฉาน ถ้าอุปสมบทแล้วให้นาสนะเสีย

เรื่องนาคจำแลงมาบวชนี้ ท่านว่าเป็นต้นเหตุให้ต้องถามในพิธีอุปสมบทว่า เป็นมนุษย์หรือ (มนุสฺโสสิ) มีอธิบายว่าเหตุ ๒ ประการที่ทำให้นาคปรากฏภาวะของตนดังกล่าวนั้น หมายถึงเหตุที่นาคจะต้องปรากฏตัวเป็นงูอยู่เสมอ แต่เมื่อกล่าวถึงกาลเวลาทั้งหมดที่นาคจะต้องปรากฏตัว ก็มีอยู่ ๕ ประการคือ ๑. เวลาปฏิสนธิ ๒. เวลาลอกคราบ ๓. เวลาอยู่กับนางนาคผู้มีชาติเสมอกัน ๔. เวลาปล่อยใจเข้าสู่ความหลับ ๕. เวลาตาย

ในเมืองไทยเรียกผู้ที่จะบวชว่า นาค กันทั่วไป การทำขวัญเมื่อก่อนบวชก็เรียกว่า ทำขวัญนาค ผู้ที่จะบวชมีคำเดิมเรียกว่า อุปสัมปทาเปกขะ แปลว่าผู้เพ่งหรือผู้มุ่งหรือประสงค์อุปสมบท แต่เป็นคำยาว คงเรียกกันไม่ถนัดเรียกว่า นาค ง่ายกว่า และเมื่อเข้าพิธีอุปสมบท แต่ก่อนมาก็เคยใช้คำว่า นาค หรือ นาโค เป็นชื่อของผู้บวชในกัมมวาจาด้วยเลย สวดกัมมวาจาในพิธีอุปสมบทก็เรียกว่า สวดนาค กันมาจนถึงบัดนี้ ชื่อผู้บวชว่า นาโค นี้คงเอาอย่างมาจากอนุฎีกาชื่อ วิมติวิโนทนี (อนุฎีกาเป็นคัมภีร์ชั้น ๔ รองมาจากฎีกาอรรถกถาและบาลีโดยลำดับขึ้นไป) ในอนุฎีกานี้วางอุทาหรณ์ไว้ว่าต่างว่าอุปสัมปทาเปกขะชื่อนาคะ อุปัชฌายะชื่อติสสะ ให้สวดว่าอย่างนั้นๆ อาจารย์ในปูนหลังจึงวางแบบกัมมวาจาอุปสมบท ให้ใช้ชื่อยืนที่ขนานชื่อผู้บวชว่า นาคะ ทุกครั้งไปทีเดียว อุปัชฌายะมีชื่อมคธมาก่อนแล้วว่าอย่างไรก็ตาม แต่ในพิธีอุปสมบทใช้ว่า ติสสะ ผู้บวชที่ใช้ชื่อว่า นาคะ ในพิธีอุปสมบทนั้น ครั้นอุปสมบทเสร็จแล้วจึงเปลี่ยนชื่อมคธของนวกภิกษุเป็นอย่างอื่นไป วิธีนี้ได้ใช้มาก่อนสมัยปัจจุบัน ซึ่งเหมาะในสมัยที่ความรู้ภาษาบาลียังไม่มีแพร่หลาย ต่อมาเมื่อมีการศึกษาภาษาบาลีแพร่หลายจึงเลิกใช้ เปลี่ยนมาใช้ตั้งชื่อมคธของผู้บวชเฉพาะคนไป ที่เรียกว่า ฉายา และใช้ชื่อมคธของอุปัชฌายะเฉพาะรูปเหมือนกัน เพราะเมื่อมีความรู้ภาษาบาลีหรือที่เรียกว่าภาษามคธ ก็สามารถผูกคำขึ้นใช้สวดให้ถูกต้องเฉพาะรายรูปไปได้ ดังที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ ได้ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงผนวชอยู่ได้ทรงใช้ในคณะธรรมยุตขึ้นก่อน ต่อมาในสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงบริหารการคณะสงฆ์ การใช้วิธีปัจจุบันจึงได้แพร่หลายออกไปในคณะสงฆ์ทั้งหมด

ในครั้งพุทธกาล ผู้บวชมีชื่อเป็นภาษามคธหรือภาษาสายเดียวกันอยู่แล้ว ก็ใช้ชื่อเดิมของตนได้ทีเดียว ดังเช่นเมื่อท่านราธะมาขอบวชก็ใช้ชื่อของท่านนั่นแหละ ไม่ต้องตั้งให้ใหม่ ท่านพระสารีบุตร (เดิมชื่ออุปติสสะ) เป็นอุปัชฌายะของท่านราธะ ก็ใช้ชื่อของท่านนั้นเหมือนกัน การใช้ชื่อในครั้งพุทธกาลจึงใช้ชื่อเฉพาะของแต่ละบุคคล ไม่มีปัญหาเรื่องชื่อ ต่อเมื่อพระพุทธศาสนาแผ่ออกจากชมพูทวีป (อินเดียในปัจจุบัน) มาสู่ประเทศอื่น ซึ่งใช้ภาษาต่างออกไป เช่น ไทย พม่า มอญ จึงเกิดมีปัญหาเรื่องชื่อขึ้น ต้องตั้งขึ้นใหม่ในเวลาอุปสมบท เพราะจะต้องสวดด้วยภาษาบาลีหรือมคธ แต่ไฉนชื่ออุปัชฌายะจึงใช้ว่า ติสสะ คล้ายชื่อเดิมของท่านพระสารีบุตรผู้เป็นอุปัชฌายะองค์แรก ส่วนชื่อผู้บวชไม่ใช้ราธะ ซึ่งเป็นองค์แรกที่บวชด้วยวิธีสวดกัมมวาจา ไปใช้ว่า นาค ปัญหานี้ถ้าคิดว่าท่านผู้แต่งวิมติวิโนทนียกคำขึ้นเป็นตัวอย่างเท่านั้นก็หมดปัญหา แต่อย่างไรก็ตาม คำว่า นาค ได้เกี่ยวเข้ามาในพิธีอุปสมบทในคัมภีร์และในเมืองไทย เป็นอันว่านาคได้ฝากชื่อไว้มาก คนไทยผู้ที่ได้เคยบวชเรียนมาแล้ว ย่อมได้เคยเป็นนาคมาก่อนด้วยกัน

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๒ หน้า ๑๘๓ - ๑๙๐