Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๘๗

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

พรหมโลก

ได้เล่าถึงสวรรค์ ๖ ชั้นแล้ว จะได้เล่าถึง พรหมโลก ต่อไป สูงขึ้นไปจากสวรรค์ชั้นที่ ๖ อีกมากจึงถึงพรหมโลก ซึ่งก็มีอยู่มากชั้นซ้อนๆ กันขึ้นไป แบ่งเป็น ๒ พวกใหญ่ๆ คือ รูปพรหม และ อรูปพรหม อธิบายตามคติทางพระพุทธศาสนาว่า ผู้ที่ทำสมาธิจนบรรลุถึงรูปฌานคือฌานที่มีรูปนิมิตเป็นอารมณ์ รูปฌานนั้นย่อมมีวิบากให้ไปเกิดเป็นรูปพรหม ผู้ที่ทำสมาธิสูงขึ้นไปกว่ารูปฌาน คือทิ้งรูปนิมิต กำหนดอรูปนิมิตคือนิมิตที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ จนได้บรรลุอรูปฌานคือฌานที่มีอรูปนิมิตเป็นอารมณ์ ฌานนั้นก็มีวิบากให้ไปเกิดเป็นอรูปพรหม คำว่า พรหม ท่านแปลว่า เจริญ รุ่งเรือง หมายความว่า เจริญรุ่งเรืองด้วยคุณวิเศษมีฌานเป็นต้น

รูปพรหมนั้นมีสูงขึ้นไปเป็นชั้นๆ ตามภูมิฌานดังต่อไปนี้

 

ชั้นปฐมรูปฌาน

. พรหมปาริสัชชา แปลว่า เป็นบริษัทของพรหม ท่านอธิบายว่า เกิดในบริษัทของมหาพรหม เป็นผู้บำรุงมหาพรหม ที่จะกล่าวในชั้นที่ ๓

. พรหมปุโรหิตา แปลว่า เป็นปุโรหิตของพรหม ท่านอธิบายว่า คือปุโรหิตของพวกมหาพรหมดังกล่าว

. มหาพรหม แปลว่า พรหมผู้ใหญ่ ท่านอธิบายว่าใหญ่กว่าพวกพรหมปาริสัชชาเป็นต้น เช่น มีวรรณะยิ่งกว่า มีอายุยืนกว่า

พรหม ๓ พวกนี้ ท่านว่าสถิตอยู่ในชั้นเสมอกัน แต่มีความรุ่งเรืองกว่ากัน เป็นที่เกิดของผู้ที่ได้ปฐมรูปฌานคือรูปฌานที่ ๑ ถ้าได้อย่างอ่อนก็ให้เกิดในพวกพรหมปาริสัชชา ถ้าได้อย่างกลางก็ให้เกิดในพวกพรหมปุโรหิตา ถ้าได้อย่างกล้าแข็งก็ให้เกิดในพวกมหาพรหม พิจารณาดูพรหม ๒ พวกข้างต้นตามอธิบายของท่านคล้ายกับมีหน้าที่เป็นบริวารของพวกมหาพรหม ดูไม่น่าจะต้องมีหน้าที่เช่นนั้น น่าจะเข้าใจความว่า พวกพรหมปาริสัชชาก็คือนับเข้าเป็นพรหมบริษัท เช่นเดียวกับเมื่อนับถือพระพุทธเจ้าเป็นศาสดา ก็นับเป็นพุทธบริษัท เมื่อยังไม่ได้ปฏิบัติอะไรให้พิเศษยิ่งขึ้น อันควรจะเรียกด้วยคำอื่น เช่น อุบาสก อุบาสิกา ภิกษุ สามเณร ก็คงเรียกว่าเป็นพุทธบริษัท และพวกพรหมปุโรหิตาก็น่าจะหมายสูงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง โดยความก็คือเป็นพวกพรหมชั้นต้นๆ แต่ก็นับว่าเป็นพรหมแล้ว

 

ชั้นทุติยรูปฌาน

. ปริตตาภา แปลว่า มีรัศมีน้อย คือมีแสงสว่างน้อยกว่าพรหมชั้นสูงๆ ขึ้นไป

. อัปปมาณาภา แปลว่า มีรัศมีไม่มีประมาณ คือมีแสงสว่างมากเกินกว่าที่จะประมาณได้

. อาภัสสรา แปลว่า มีรัศมีซ่านไป คือแผ่ออกไปแต่ที่นั้นที่นี้ดุจสายฟ้าแลบออกจากกลีบเมฆ เพราะมีขันธสันดานเกิดจากฌานที่มีปีติ อีกนัยหนึ่ง อาภัสสรา แปลว่า มีรัศมีพวยพุ่ง คือหยดย้อยออกเหมือนย้อยหยดออกจากสรีระ หรือดุจเปลวไฟแห่งโคมประทีป อีกอย่างหนึ่ง อาภัสสรา แปลว่า มีปกติสว่างไสวด้วยรัศมี

พรหม ๓ จำพวกนี้สถิตอยู่ในชั้นเดียวกัน แต่มีรัศมีรุ่งเรืองกว่ากัน เป็นที่เกิดของผู้ที่ได้ทุติยรูปฌานคือรูปฌานที่ ๒ ถ้าได้อย่างอ่อนก็ให้เกิดเป็นพวกพรหมปริตตาภา ถ้าได้อย่างกลางก็ให้เกิดเป็นพวกพรหมอัปปมาณาภาถ้าได้อย่างแข็งกล้าก็ให้เกิดเป็นพวกพรหมอาภัสสรา

 

ชั้นตติยรูปฌาน

. ปริตตสุภา แปลว่า มีรัศมีแห่งสรีระสวยงามน้อย คือน้อยกว่าพวกพรหมชั้นสูงขึ้นไป

. อัปปมาณสุภา แปลว่า มีรัศมีแห่งสรีระสวยงามไม่มีประมาณ คือมากเกินกว่าที่จะประมาณได้

. สุภกิณหา แปลว่า มากมายไปด้วยรัศมีที่สวยงาม คือมีรัศมีผุดสว่างทั่วไป แผ่ซ่านออกจากสรีระเป็นอันเดียวกัน มีสิริเหมือนแท่งทองที่โรจน์รุ่งอยู่ในหีบทอง

พรหม ๓ จำพวกนี้สถิตอยู่ในชั้นเดียวกัน แต่มีรัศมีรุ่งเรืองกว่ากันเป็นที่เกิดของผู้ได้ตติยฌาน คือรูปฌานที่ ๓ ถ้าได้อย่างอ่อนก็ให้เกิดเป็นพวกพรหมปริตตสุภา ถ้าได้อย่างปานกลางก็ให้เกิดเป็นพวกพรหมอัปปมาณสุภา ถ้าได้อย่างแข็งกล้าหรือประณีตก็ให้เกิดเป็นพวกพรหมสุภกิณหา

 

ชั้นจตุตถรูปฌาน

๑๐. เวหัปผลา แปลว่า มีผลไพบูลย์ ซึ่งเกิดขึ้นด้วยอำนาจของฌานชั้นนี้เป็นที่เกิดของผู้ได้จตุตถฌาน คือฌานที่ ๔ ไม่ได้มีแบ่งเป็น ๓ ชื่อสำหรับผู้ได้อย่างอ่อน อย่างปานกลาง และอย่างประณีต กล่าวไว้ชื่อเดียวรวมๆ กันไป

อีกนัยหนึ่ง ถ้าแบ่งรูปฌานออกเป็น ๕ ชั้น ชั้นของพรหมปาริสัชชา พรหมปุโรหิตา และมหาพรหม สำหรับผู้ได้ปฐมฌานอย่างอ่อน อย่างกลาง และอย่างประณีต ชั้นของพรหมปริตตาภา อัปปมาณาภา และอาภัสสรา สำหรับผู้ได้ทุติยฌานและตติยฌาน อย่างอ่อน อย่างปานกลาง และอย่างประณีต ชั้นของพรหมปริตตสุภา อัปปมาณสุภา และสุภกิณหา สำหรับผู้ได้จตุตถฌานอย่างอ่อน อย่างปานกลาง และอย่างประณีต ชั้นของพรหมเวหัปผลา สำหรับผู้ได้ปัญจมฌานคือฌานที่ ๕

๑๑. อสัญญี แปลว่า ไม่มีสัญญาเสียเลย พรหมชั้นนี้เป็นที่เกิดของผู้ได้ฌานสมาบัติ เพราะเพ่งอยู่เป็นนิตย์ว่าจิตไม่มี ท่านยกตัวอย่างนักบวชภายนอกพระพุทธศาสนาบางพวกผู้เห็นโทษในจิตว่า ราคะ โทสะ โมหะ ล้วนอาศัยจิตเกิดขึ้น มีความเห็นว่า ความไม่มีจิตเป็นของดีเป็น นิพพานในปัจจุบัน จึงเพ่งอยู่เป็นนิตย์ว่าจิตไม่มีๆ สำรอกดับนามขันธ์ ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไปโดยลำดับ ยกตัวอย่าง สัญญาคือความจำหมาย ก็ทำให้เลือนลืม ไม่กำหนดไว้ทุกสิ่งทุกอย่าง น่าจะเป็นอย่างที่เรียกว่า ทำให้ดับไป เมื่อปฏิบัติอย่างนี้จนได้ถึงจตุตถฌาน ก็ให้ไปเกิดเป็นพรหมชั้นอสัญญีสัตว์ มีแต่รูป ไม่มีเวทนา ไม่มีสัญญา ไม่มีสังขาร (ความปรุงคิด) ไม่มีวิญญาณอะไรๆ ทั้งสิ้น และเวลาตายจากมนุษย์ ถ้ายืนตายก็ไปเกิดเป็น พรหมยืน ถ้านั่งตายก็ไปเกิดเป็น พรหมนั่ง ถ้านอนตายก็ไปเกิดเป็น พรหมนอน คือตายในอิริยาบถใดก็ไปเกิดเป็นพรหมมีอิริยาบถนั้น และก็อยู่ในอิริยาบถนั้นจนถึงจุติ

ท่านอธิบายว่า ในเวลาจุติ พอเกิดสัญญาขึ้น ก็จุติจากกายนั้น ท่านอธิบายไว้ในที่บางแห่งอีกว่า ในเวลาว่างพระพุทธศาสนา มีนักบวชในลัทธิเดียรถีย์บางพวกเจริญวาโยกสิณได้ถึงจตุตถฌาน เห็นโทษในจิตดังกล่าว จึงเพ่งความไม่มีจิตเป็นอารมณ์ ครั้นตายก็ไปเกิดเป็น อสัญญีพรหม การทำสมาธิไม่ให้มีสัญญาเสียเลยนี้ ลองพิจารณาดู เมื่อทำได้ก็จะมีอาการดับจิต(ดับจิตตสังขาร) หมดความรู้สึกอะไรๆ ทุกอย่าง อย่างอ่อนก็เหมือนหลับหรือสลบไป อย่างแรงก็เหมือนตาย (แต่ไม่ตาย) ไม่มีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอะไรในเวลานั้นทุกอย่าง ทำให้ดับลงไปได้ในขณะที่อยู่อิริยาบถใดก็จะอยู่ในอิริยาบถนั้น เช่นเดียวกับที่ท่านว่าไปเกิดเป็นอสัญญีสัตว์ อยู่ในอิริยาบถอย่างเดียวกับเมื่อเวลาตาย น่าจะตรงกับที่ไทยเราเรียกว่า พรหมลูกฟัก ซึ่งมีเพียงขันธ์หนึ่ง ได้แก่รูปขันธ์เท่านั้น ไม่มีนามขันธ์ เป็นพรหมภายนอกพระพุทธศาสนา เพราะพระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้ปฏิบัติเพื่อไปเกิดเป็นพรหมพวกนี้ วิธีปฏิบัติทุกอย่างทำนองนี้จึงไม่ใช่พระพุทธศาสนา ในที่บางแห่งจัดชั้นอสัญญีนี้ไว้หน้าชั้นเวหัปผลา และทั้ง ๒ ชั้นนี้อยู่ในพื้นชั้นเดียวกัน

(เรื่อง ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า ได้ดำเนินมาถึงพรรษาที่ ๖ ในพรรษานี้ยังไม่พบเรื่องอะไรมาก จึงเล่าเรื่องพระพุทธเจ้าในอดีต เรื่องกัปกัลป์ เรื่องโลกจักรวาล เรื่อยมาถึงเรื่องนรกสวรรค์ แทรกเข้าไว้เป็นปุคคลาธิษฐานเต็มที่ เพื่อให้เห็นคติความเชื่อถือเก่าแก่ในเรื่องเหล่านี้ที่ได้เชื่อถือกันมาแต่ในครั้งไหนไม่รู้ แต่ก็ได้หลั่งไหลเข้ามาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาทุกชั้น ต่อไปในพรรษาที่ ๗ ท่านว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จะได้ปรารภถึงเรื่องอภิธรรมซึ่งเป็นธรรมาธิษฐานเต็มที่ ฉะนั้น การที่แทรกเรื่องนรกสวรรค์เข้าไว้ในพรรษาที่ ๖ ก่อน ก็เพื่อจะแสดงปุคคลาธิษฐานขึ้นก่อน แล้วจึงถึงธรรมาธิษฐานเป็นคู่เทียบกันไปทีเดียว และเรื่องสวรรค์ได้ค้างอยู่ในชั้นอสัญญีพรหมหรือพรหมลูกฟัก ซึ่งเป็นพรหมภายนอกพระพุทธศาสนา แต่ก็ได้นำมากล่าวไว้ในอันดับของพรหมที่ ๑๑ จึงจะดำเนินเรื่องพรหมสืบลำดับต่อไป)

 

พรหมชั้นสุทธาวาส ๕

ต่อจาก พรหมชั้นเวหัปผลา หรือต่อจาก พรหมอสัญญีสัตว์ ซึ่งนับเป็นพรหมชั้นที่ ๑๑ ก็ถึง พรหมชั้นสุทธาวาส คำว่า สุทธาวาส แปลว่า อาวาสคือที่อยู่ของผู้บริสุทธิ์หรือที่อยู่อันบริสุทธิ์ หมายถึงนิวาสภูมิของท่านผู้บริสุทธิ์เหล่านั้น คำว่า ผู้บริสุทธิ์ ในที่นี้หมายเฉพาะพระอนาคามีและพระอรหันต์ คือพระอริยบุคคลชั้นอนาคามีในโลกนี้สิ้นชีวิตแล้ว ท่านว่าไปเกิดอยู่ในชั้นสุทธาวาสและจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ นิพพานในชั้นสุทธาวาสนั้น ไม่มีกลับลงมาอีกท่านจึงว่า สุทธาวาสเป็นที่อยู่ของพระอนาคามีและพระอรหันต์ หมายถึงพระอนาคามีดั่งกล่าวและพระอรหันต์ที่สำเร็จภายหลังจากที่ขึ้นมาเกิดในสวรรค์แล้ว สุทธาวาสนี้มีอยู่ ๕ ชั้น นับต่อจากชั้น ๑๑ เป็นลำดับไปดังนี้

๑๒. อวิหา แปลว่า ไม่ละฐานของตนโดยกาลอันน้อยหรือไม่เสื่อมจากสมบัติของตน เป็นภูมิสุทธาวาสชั้นต้น

๑๓. อตัปปา แปลว่า ไม่สะดุ้งกลัวอะไรหรือไม่ทำผู้ใดผู้หนึ่งให้เดือดร้อน เป็นภูมิสุทธาวาสชั้น ๒

๑๔. สุทัสสา แปลว่า ดูงาม คือมีรูปงามน่าดู เป็นภูมิสุทธาวาสชั้น ๓

๑๕. สุทัสสี แปลว่า มีทัสสนะคือความเห็นดีบริสุทธิ์ เป็นภูมิสุทธาวาสชั้น ๔

๑๖. อกนิฏฐา แปลว่า ไม่มีเป็นรอง เพราะมีสมบัติอุกฤษฏ์ เป็นภูมิสุทธาวาสชั้น ๕

สุทธาวาสทั้ง ๕ ชั้นนี้นับเข้าในพรหมชั้นจตุตถรูปฌาน คือฌานที่มีรูปกัมมัฏฐาน เป็นอารมณ์ชั้นที่ ๔

 

ชั้นอรูปฌาน ๔

ต่อจากนี้ถึงภูมิชั้นของพรหมผู้ที่มาเกิดเพราะได้อรูปฌาน จัดเป็น ๔ ชั้น ตามภูมิฌานดังนี้

. อากาสานัญจายตนะ คือชั้นของพรหมผู้ได้อรูปฌานเพราะได้เจริญอรูปกัมมัฏฐานว่า อากาศไม่มีที่สุด ซึ่งเป็นอรูปที่ ๑

. วิญญาณัญจายตนะ คือชั้นของพรหมผู้ได้อรูปฌานเพราะได้เจริญอรูปกัมมัฏฐานว่า วิญญาณไม่มีที่สุด ซึ่งเป็นอรูปที่ ๒

. อากิญจัญญายตนะ คือชั้นของพรหมผู้ได้อรูปฌานเพราะได้เจริญอรูปกัมมัฏฐานว่า น้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มี ซึ่งเป็นอรูปที่ ๓

. เนวสัญญานาสัญญายตนะ คือชั้นของพรหมผู้ได้อรูปฌานเพราะได้เจริญอรูปกัมมัฏฐานที่ละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก จนดับสัญญาอย่างหยาบ เหลือแต่สัญญาอย่างละเอียด จึงเรียกว่า มีสัญญาก็ไม่ใช่ (เพราะวิถีจิตละเอียดมาก คล้ายจะเป็นอสัญญีคือไม่มีสัญญาเสียเลย อย่างคนสลบไสลสิ้นสัญญาหรือคนหลับสนิทจริงๆ) ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ (เพราะยังมีสัญญาละเอียดอยู่ ไม่ใช่สิ้นสัญญาเสียหมดเลย) ซึ่งเป็นอรูปที่ ๔

อรูปทั้ง ๔ ชั้นนี้ ละเอียดกว่ากันขึ้นไปโดยลำดับ รวมพรหมทั้งรูปทั้งอรูปเป็น ๒๐ ชั้น ถ้ายกอสัญญีพรหมเสียก็มี ๑๙ ชั้น

 

ทุสสเจดีย์บนพรหมโลก

ในไตรภูมิพระร่วงและในพระปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส กล่าวไว้ตรงกันว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จออกทรงผนวช (ก่อนตรัสรู้เรียกว่า พระโพธิสัตว์) พรหมนำบริขาร ๘ จากพรหมโลกมาถวายพระโพธิสัตว์ และรับพระภูษาคฤหัสถ์ทั้งคู่ขึ้นไปบรรจุไว้ใน ทุสสเจดีย์ ในพรหมโลก ในไตรภูมิ ระบุว่าชั้นอกนิฏฐ์ ในพระปฐมสมโพธิระบุชื่อพรหมว่า ฆฏิการพรหม ซึ่งเป็นสหายกับพระโพธิสัตว์ครั้งเสวยพระชาติเป็น โชติบาล ในศาสนาของพระกัสสปพุทธเจ้า คำว่า ทุสสเจดีย์ แปลว่าเจดีย์ผ้า คงหมายถึงเป็นที่บรรจุผ้าคือพระภูษาดังกล่าว เป็นอันว่าพระพรหมได้พระภูษาคฤหัสถ์ขึ้นไปบรรจุในทุสสเจดีย์ ส่วนพระอินทร์ได้พระจุฬาโมลีกับผ้าพันโพกพระเศียรขึ้นไปบรรจุในจุฬามณีเจดีย์ในคราวที่ทรงผนวชนั้นบริขารทั้ง ๘ ที่ฆฏิการพรหมถวายนั้น สำหรับบาตรได้มีเหตุพิเศษที่ท่านกล่าวถึงอีก คือเมื่อนางสุชาดาน้อมถาดทองข้าวปายาสเข้าไปถวายพระโพธิสัตว์ในเช้าแห่งวันที่จะตรัสรู้ บาตรดินที่ฆฏิการพรหมถวายมีบันดาลให้อันตรธานหายไป ไม่ทรงเห็นบาตร จึงทรงรับทั้งถาด ครั้นตรัสรู้แล้ว เมื่อพาณิชสองพี่น้องชื่อ ตปุสสะคนหนึ่ง ภัลลิกะคนหนึ่ง ได้น้อมข้าวสัตตุก้อนสัตตุผงถวาย ไม่มีบาตรที่จะทรงรับเพราะบาตรดินก็ได้หายไปแล้วตั้งแต่เมื่อนางสุชาดาถวายถาดข้าวปายาส ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ นำบาตรศิลาจากทิศทั้ง ๔ มาถวายรวมเป็น ๔ บาตร พระองค์ทรงรับมาอธิษฐานให้เป็นบาตรเดียวกัน แล้วทรงรับข้าวสัตตุของพาณิชสองคนนั้น

ต่อมาในคราวปรินิพพานก็ได้มีเรื่องเกี่ยวแก่พระเจดีย์ทั้ง ๒ นี้อีก ในพระปฐมสมโพธิกถานั้นกล่าวว่า พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้ายขวากับพระรากขวัญเบื้องบนขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในจุฬามณีเจดีย์ พระรากขวัญเบื้องซ้ายกับพระอุณหิสขึ้นไปประดิษฐานอยู่บนทุสสเจดีย์

ในพุทธวงศ์ ได้กล่าวถึงที่ประดิษฐาน บริขาร ทั้งหลายของพระพุทธเจ้าไว้ว่า บาตร ไม้เท้า จีวรอยู่ใน เมืองวชิรา สบงอยู่ใน เมืองกุลฆระ ผ้าปูบรรทมอยู่ใน เมืองสีหฬ กระบอกกรอง ประคตเอวอยู่ใน เมืองปาฏลีบุตร ผ้าสรงอยู่ใน เมืองจัมปา อุณาโลมอยู่ใน แคว้นโกศล กาสาวพัสตร์อยู่ใน พรหมโลก ผ้าโพก (กล่าวมาแล้ว) อยู่ใน เมืองไตรทส (ดาวดึงส์) นิสีทนะอยู่ใน อวันตีชนบท ผ้าลาดอยู่ใน เทวรัฐ ที่สีไฟอยู่ใน เมืองมิถิลา ผ้ากรองอยู่ใน รัฐวิเทหะ มีดและกล่องเข็มอยู่ใน เมืองอินทปัตถ์ เป็นอันว่าได้มีบางอย่างขึ้นไปอยู่ในโลกทั้ง ๒ ไม่ได้กล่าวว่าบรรจุอยู่ในอะไร ก็น่าจะในเจดีย์ทั้ง ๒ นั่นแหละ


จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๒ หน้า ๑๖๘ - ๑๗๕