Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๘๖

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

สวรรค์ชั้นยามา

 

สวรรค์ชั้นที่ ๓ ชื่อว่า ยามา หรือ ยามะ แปลว่า สิ้นไปจากทุกข์ หรือ บรรลุทิพยสุขพร้อมพรั่ง อยู่สูงขึ้นไปจากสวรรค์ชั้นไตรตรึงษ์หรือดาวดึงส์มาก เทพผู้เป็นราชาปกครองสวรรค์ชั้นนี้ มีพระนามว่า สุยามะ ในไตรภูมิพระร่วงกล่าวว่า ในชั้นฟ้านี้ไม่เห็นพระอาทิตย์เลย เพราะว่าอยู่สูงกว่าพระอาทิตย์มาก แต่เทพชั้นนี้เห็นกันได้ด้วยรัศมีแก้วและด้วยรัศมีของเทพเอง และจะรู้ว่ารุ่งหรือค่ำด้วยอาศัยดอกไม้ทิพย์ คือเมื่อเห็นดอกไม้บานก็รู้ว่ารุ่ง เมื่อเห็นดอกไม้หุบก็รู้ว่าค่ำ เทพชั้นยามาไม่ปรากฏว่าได้ลงมาเกี่ยวข้องกับมนุษย์ ไม่มีเรื่องอะไรเล่าไว้

 สวรรค์ชั้นดุสิต

สวรรค์ชั้นที่ ๔ ชื่อว่า ตุสิตา หรือ ตุสิตะ มักเรียกว่า ชั้นดุสิต แปลว่า ยินดีชื่นบาน คือมีปีติอยู่ด้วยสิริสมบัติของตน อยู่สูงขึ้นไปจากสวรรค์ชั้นยามามากเป็นทวีคูณ เทพผู้เป็นราชาปกครองสวรรค์ชั้นนี้ มีพระนามว่า สันตุสิต ท่านว่า พระโพธิสัตว์ผู้สร้างโพธิสมภารที่จะลงมาตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในมนุษย์ ย่อมสถิตอยู่ในชั้นฟ้านี้ เทพในชั้นนี้เป็นผู้รู้บุญรู้ธรรม เพราะพระโพธิสัตว์ได้ทรงแสดงธรรมสั่งสอนเนืองๆ จะได้เล่าเรื่องพระโพธิสัตว์ตามคติความเชื่อดั่งกล่าวแทรกเข้าตอนนี้ทีเดียว

ท่านว่าความโกลาหลอย่างขนานใหญ่ของพวกเทวดาทั้งปวงมีอยู่ ๓ สมัย คือสมัยเมื่อโลกจะวินาศ สมัยเมื่อพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้น สมัยเมื่อพระเจ้าจักรพรรดิจะเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายในบัดนี้ ก่อนที่จะได้ลงมาเกิดในโลกนี้ ได้ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ประทับอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต เมื่อกาลใกล้กำหนดที่จะจุติลงมาตรัส เทวดาทั้งปวงก็เกิดโกลาหล พากันไปเฝ้าทูลอาราธนาพระโพธิสัตว์ให้จุติลงไปตรัส พระโพธิสัตว์ได้ทรงตรวจดู สถานะ ๕ อย่าง คือ กาล ๑ ทวีป ๑ ประเทศ ๑ ตระกูล ๑ มารดาและกำหนดอายุ ๑

กาล ข้อที่ ๑ คือกาลแห่งอายุของมนุษย์ ถ้ามนุษย์มีอายุมากเกินแสนปีขึ้นไป หรือต่ำกว่า ๑๐๐ ปีลงมา ก็ไม่ใช่กาลที่จะลงมาตรัส เพราะยุคสมัยที่มนุษย์อายุมากไปก็ไม่อาจเห็นไตรลักษณ์ น้อยไปก็มีกิเลสหนามากไม่อาจเห็นธรรม แต่ในปัจจุบันนั้นเป็นยุคที่มนุษย์มีอายุ ๑๐๐ ปี จึงเป็นกาลที่จะลงมาตรัสได้

ทวีป ข้อที่ ๒ คือทรงเห็นชมพูทวีปเหมาะที่จะลงมาตรัส

ประเทศ ข้อที่ ๓ คือทรงเห็นมัชฌิมประเทศ คือท้องถิ่นร่วมกลางชมพูทวีป (บัดนี้อยู่ในอินเดียและปากีสถานเป็นส่วนมาก เลยเข้าไปในเนปาลบ้าง เช่น สถานที่ประสูติอยู่ในเนปาล) เป็นที่เหมาะ

ตระกูล ข้อที่ ๔ ทรงเห็นสักยราชตระกูล และพระเจ้าสุทโธทนะจะเป็นพระบิดาได้

พระมารดา ข้อที่ ๕ คือทรงเห็นพระนางสิริมหามายามีศีลและบารมีธรรม สมควรเป็นพระมารดาได้ ทั้งจะมีพระชนม์สืบไปจากเวลาที่พระโอรสประสูติเพียง ๗ วัน สัตว์อื่นไม่อาจอาศัยคัพโภทรบังเกิดได้อีก

 

ครั้นพระโพธิสัตว์ทรงเห็นสถานะทั้ง ๕ มีครบบริบูรณ์แล้ว จึงทรงรับอาราธนาของเทพทั้งปวง เหตุที่จะรู้ว่าพระโพธิสัตวเทพใกล้จะจุตินั้น เพราะได้เกิด บุพนิมิต ๕ ประการ แก่พระองค์ คือ

. ทิพยบุปผาที่ประดับพระกายเหี่ยวแห้ง

. ทิพยภูษาทรงมีสีเศร้าหมอง

. พระเสโทไหลจากพระกัจฉะ (รักแร้)

. พระสรีรกายปรากฏอาการชรา

. มีพระหทัยเป็นทุกข์เหนื่อยหน่ายจากเทวโลก ไม่ยินดีที่จะสถิตในทิพยอาสน์

พวกเทพจึงรู้ประจักษ์ว่า เทพองค์นี้คือองค์พระสัพพัญญูโพธิสัตว์ เพราะถึงกาลจะจุติ ประจวบสมัยที่พระพุทธเจ้าจะอุบัติ และเมื่อพระโพธิสัตวเทพทรงรับอาราธนาแล้ว พวกเทพก็พากันแวดล้อมนำไปยัง นันทวัน แห่งสวรรค์ชั้นดุสิตนั้น เมื่อไปถึงสวนนันทวันแล้ว พวกเทพก็นำเทพโพธิสัตว์ผู้จะจุติเที่ยวไปในนันทวันแล้วกล่าวว่า จุติจากที่นี้แล้วก็ขอให้ไปจงดีเถิด และตักเตือนให้ระลึกถึงโอกาสแห่งกุศลกรรมที่ได้ทำแล้วในกาลก่อน เทพโพธิสัตว์ฟังคำเตือนของเทพผู้แวดล้อมก็ระลึกถึงกุศลกรรม ไปในนันทวันแล้วก็จุติในขณะนั้น ลงมาถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางสิริมหามายา ท่านว่า สวนนันทวัน มีอยู่ในสวรรค์ทุกชั้น เป็นที่เทพผู้จะจุติไปเที่ยวชมและระลึกถึงความดีแล้วก็จุติไปในสวนนันทวันนั้น เทพผู้สหายก็จะพาเทพผู้จะจุติไปกล่าวอวยพรตักเตือน ทำนองไปส่งในวาระสุดท้าย พระศรีอาริยเมตไตรย์โพธิสัตว์ ซึ่งมีกำหนดจะตรัสเป็นพระพุทธเจ้าเป็นพระองค์ที่ครบ ๕ ในภัทรกัลป์นี้ ท่าน (ตามคติความเชื่อนี้) ว่าบัดนี้ประทับอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิตนี้ รอเวลาที่จะลงมาตรัสในอนาคต

 

 สวรรค์ชั้นนิมมานรดี

สวรรค์ชั้น ๕ ชื่อว่า นิมมานรตี ไทยเราเรียกว่า นิมมานรดี แปลว่า อภิรมย์ยินดีในสิ่งที่นิรมิตขึ้น คือนอกจากทิพยาภรณ์ที่ได้รับอยู่โดยปกติแล้ว ในเวลาที่ปรารถนาต้องการสิ่งใด ก็นิรมิตสิ่งนั้นขึ้น อภิรมย์ยินดีได้เป็นส่วนอดิเรกหรือเป็นพิเศษ พูดง่ายๆ ว่าอยากได้สิ่งใดก็นึกเอาได้ เกิดเป็นสิ่งนั้นขึ้นดังใจนึก แต่จะมีขอบเขตเพียงไรท่านหาได้แสดงไว้ไม่ สวรรค์ชั้นนี้สูงขึ้นไปจากสวรรค์ชั้นดุสิตมาก เทพผู้เป็นราชาปกครองไม่ปรากฏว่ามีนามพิเศษ ก็น่าจะเรียกเป็นกลางๆ ว่า นิมมานรตีเทวราช ไม่มีเรื่องเกี่ยวข้องเล่าถึงในคัมภีร์ทั้งหลายเช่นเดียวกับสวรรค์ชั้นยามา

 

สวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี

สวรรค์ชั้นที่ ๖ ชื่อว่า ปรนิมมิตวสวัตตี เสียงไทยว่า ปรนิมมิตวสวัตดี แปลว่า ทำอำนาจของตนให้เป็นไปในโภคะทั้งหลายที่ผู้อื่นรู้ความคิดของจิตแล้วนิรมิตให้ ผู้ที่มาคอยนิรมิตให้นั้นไม่มีกล่าวว่าเป็นเทพพวกไหนชั้นไหน คิดดูตามเค้าความก็น่าเห็นว่าต้องการแสดงความสุขสูงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง มีผู้มาคอยนิรมิตสิ่งที่ใจปรารถนาให้ ไม่ต้องนิรมิตเอาเองเหมือนอย่างชั้นที่ ๕ แต่อีกนัยหนึ่ง คำว่า ทำอำนาจให้เป็นไป ดูมีความว่าแผ่อำนาจไปครอบงำสิ่งที่ผู้อื่นเขานิรมิตไว้ คือใช้อำนาจไปครอบครอง เหมือนอย่างคำว่า จักกวัตติ หรือ จักรพรรดิ แปลว่า ยังจักรให้เป็นไป คือใช้จักรแผ่อำนาจไปครอบครองโลก นัยนี้ดูก็เหมาะกับเรื่องพญามารที่จะกล่าวต่อไป

สวรรค์ชั้นนี้ยิ่งสูงขึ้นไปจากสวรรค์ชั้นนิมมานรดีอีกมาก ท่านว่ามีเทพเป็นราชาผู้ปกครองอยู่ ๒ ฝ่าย คือ เทวราชเรียกนามตามชื่อของชั้นสวรรค์ว่า ปรนิมมิตวสวัตตีเทวราช ปกครองอยู่ฝ่ายหนึ่ง พญามารเป็นเทวราชปกครองอยู่อีกฝ่ายหนึ่ง เทวราชผู้ปกครองสวรรค์ชั้นนี้จึงมีอยู่ ๒ องค์ แบ่งเป็น ๒ ก๊ก เรียกนามว่าปรนิมมิตวสวัตตีเทวราชเหมือนกัน องค์หนึ่งไม่เป็นมาร ปกครองเทพที่ไม่เป็นมารด้วยกัน แต่อีกองค์หนึ่งเป็นมาร ปกครองเทพที่เป็นมารด้วยกัน ฝ่ายที่ไม่เป็นมารไม่ค่อยมีเรื่องกล่าวถึงในคัมภีร์ทั้งหลาย ส่วนฝ่ายที่เป็นมารมีเรื่องกล่าวถึงอยู่มาก องค์เทวราชเองเรียกโดยเฉพาะว่า ปรนิมมิตวสวัตตีมาราธิราช หรือคำไทยว่า พญามาราธิราช แม้จะแบ่งเป็น ๒ ก๊กก็ไม่มีเรื่องปรากฏในคัมภีร์ทั้งหลายว่าทั้ง ๒ ก๊กนี้ได้ทำสงครามกันเหมือนอย่างเทพและอสุระแห่งสวรรค์ชั้นไตรตรึงษ์ มีแต่เรื่องพญามารลงมารังควานความตรัสรู้ของพระโพธิสัตว์และพระสาวกทั้งหลาย เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว มารก็ยังมาเกี่ยวข้องอีกหลายคราว จนถึงมาทูลอาราธนาให้ปรินิพพาน

สังเกตตามที่ท่านเล่าไว้ในคัมภีร์ทั้งหลายว่า เทวราชผู้เป็นมารนี้มีความกลัวเป็นข้อสำคัญอยู่ข้อหนึ่งว่าตนจะสิ้นอำนาจครอบครองโลก ไม่ประสงค์ให้ใครทั้งนั้นบรรลุมรรคผลนิพพาน หรือจะเรียกว่าวิมุตติหรือโมกขธรรมก็ได้ พูดง่ายๆ ก็คือ ไม่ประสงค์ให้ใครประสบความหลุดพ้นจากกองกิเลส เช่น ตัณหา อุปาทาน หรือราคะ โทสะ โมหะ และหลุดพ้นจากกองทุกข์ มีเกิด แก่ ตายเป็นต้น พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ไม่ประสงค์ให้ใครหลุดพ้นไปจากโลกเป็นโลกุตตระ ที่แปลว่าเหนือโลก ก็คือพ้นโลกนั่นเอง เพราะเมื่อผู้ใดพ้นโลก หมายถึงว่ามีจิตใจพ้นกิเลสดังกล่าว ผู้นั้นก็พ้นอำนาจของมาร ซึ่งมารจะใช้อำนาจให้เป็นไปในผู้นั้นอีกไม่ได้ ความเป็น สวสวรรดิ (เทียบกับจักรวรรดิ) ของมารก็หมดสิ้นไป ฉะนั้น เมื่อพระโพธิสัตว์ทรงแสวงหาโมกธรรม ทรงได้พบทาง ทรงดำเนินไปในทางจนถึงในราตรีที่จะตรัสรู้ ท่านเล่าว่าพญามารได้มารังควานอย่างสุดกำลัง พระโพธิสัตว์ก็ทรงผจญสู้อย่างเต็มที่อย่างที่เรียกว่าเสี่ยงบารมี พูดอย่างสามัญว่า สู้ตายไม่ยอมถอย เช่น ทรงอธิษฐานพระหทัยตั้งความเพียรแน่วแน่ว่า จะไม่ยอมลุกขึ้นจากที่ประทับจนกว่าจะได้บรรลุผล แม้ว่าเนื้อเลือดทั้งหมดจะเหือดแห้งไป เหลือแต่หนังเอ็นกระดูกก็ตาม อาศัยพระบารมีที่ทรงบำเพ็ญมาเต็มเปี่ยมแล้ว จึงทรงชนะมาร ทรงบำเพ็ญเพียรต่อไปจนได้ตรัสรู้ แม้ต่อมาท่านก็เล่าว่ามารได้มาเกี่ยวข้องอีกมากครั้ง แสดงว่ายังคอยติดตามหาช่องโอกาสอยู่เรื่อยๆ เพราะพระพุทธเจ้าได้ทรงสอนเวไนยนิกรให้พ้นอำนาจของตนมากขึ้นทุกที จึงไม่ปรารถนาจะให้พระองค์ดำรงพระชนม์อยู่นาน และในที่สุดท่านก็เล่าว่า พระพุทธเจ้าทรงปลงพระชนมายุสังขารตามคำอาราธนาของมารนั่นเอง แต่ก็ทรงปลงในเมื่อได้ทรงบำเพ็ญพุทธกิจสำเร็จตามที่ได้ทรงตั้งพระหทัยไว้แล้ว

พญามาราธิราชเป็นเจ้าก๊กหนึ่งแห่งสวรรค์ชั้นที่ ๖ ก็จะต้องทำบุญไว้มาก ไม่เช่นนั้นก็จะไม่บังเกิดในสวรรค์ชั้นสูงนี้ได้ แต่ก็จะต้องเข้าใจว่า ทำบุญเพียงเพื่อสวรรค์เท่านั้น ดูก็ชอบกลอยู่ ท่านไม่กล่าวว่าพญามารได้มาขัดขวางใครที่ทำบุญ เช่นทานศีลเป็นต้น เพื่อสวรรค์หรือที่เป็นภูมิเพียงเพื่อสวรรค์จะมาขัดขวางแต่ผู้ปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพาน เช่นพวกทำกรรมฐานเพื่อสิ้นกิเลส

เรื่องของมารยังมีอีกมาก แต่จะงดไว้ก่อน เป็นอันว่าสวรรค์ชั้นนี้แบ่งเป็น ๒ ก๊ก เหมือนอย่างขาวกับดำ และมีเจ้าครองอยู่ ๒ องค์ องค์ที่ลงมาเกี่ยวข้องในประวัติพระพุทธศาสนามากก็คือ พญามาร เรียกเต็มว่า ปรนิมมิตวสวัตตีเทวราช ฝ่ายที่เป็นมารแห่งโลกุตตรธรรม


จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๒ หน้า ๑๖๒ - ๑๖๗