Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๘๕

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ปาริชาตก์สวรรค์

 

จะเพิ่มเติมเรื่อง ปาริชาตก์ ในสวรรค์ชั้นนี้ คำนี้ได้เคยแปลมาบ้างว่า ต้นทองหลางทิพย์ ตามคำว่า โกวิฬาร ใน อภิธานัปปทีปิกา ให้คำแปลคำว่า โกวิฬาร ไว้ว่า ไม้ทรึก (พจนานุกรม : ไม้ซึก) ไม้ทองกวาว ไม้ทองหลาง

 

ในอดีตนิทานของพระอินทร์เล่าไว้ว่า เมื่อพระอินทร์เป็นมฆมาณพ ปลูกต้นโกวิฬาร เพื่อให้เกิดร่มเงาเป็นทาน เป็นเหตุให้เกิดต้นปาริชาตก์ในสวรรค์ ในอภิธานัปปทีปิกาให้คำแปลของคำว่า โกวิฬาระ ปาริจฉัตตกะ ปาริชาตกะ ทั้ง ๓ คำนี้ไว้อย่างเดียวกันว่า ปาริชาต หรือ ต้นไม้สวรรค์ ท่านมิได้ให้คำแปลว่า ทองหลาง เหมือนคำว่า โกวิฬาร ในเมืองมนุษย์ แต่จะตรงกับต้นไม้อะไรในเมืองมนุษย์ หรือมีต้นไม้อะไรในเมืองมนุษย์เรียกชื่อตรงกัน เป็นเรื่องที่ผู้ต้องการจะรู้พึงค้นคว้าต่อไป

 

ท่านผู้ทรงเมตตาได้แจ้งมาว่า ท่านได้สนใจในคำว่า ปาริชาต ที่อ่านพบในหนังสือต่างๆ เช่นเรื่องกามนิต เรื่องเวสสันดร ดอกของต้นไม้นี้มีส่วนสำคัญมาก ค้นหาที่ไหนๆ ก็ไม่ทราบว่าตรงกับดอกไม้อะไรในเมืองไทย ทราบแต่ว่า กลีบสีขาว ก้านสีแดง มีกลิ่นหอมจับใจ ทำให้ระลึกชาติได้ และบาน ร่วงลงจากกิ่งในเวลาพลบค่ำทีละดอกสองดอกเรื่อยๆ ไป ต่อมาได้ไปในงานพุทธชยันตีที่อินเดีย เมื่อพ.. ๒๔๙๙ ได้ไปชมถ้ำอชันตา ได้พบต้นกรรณิการ์ย่อม ๆ ต้นหนึ่งที่เชิงเขาที่จะขึ้นไปยังถ้ำอชันตา เกิดนึกอยากทราบว่าแขกเขาจะเรียกว่าอะไร เพราะกำลังสนุกที่ได้ทราบชื่อของสิ่งต่าง ๆ ทางโน้นที่เหมือนกับของเรา หรืออีกนัยหนึ่งจะว่า ที่ของเราเหมือนกับของเขาจะถูกกว่า จึงได้ให้นำใบกรรณิการ์นั้นมาช่อหนึ่ง ถามชื่อจากท่านศาสตราจารย์ผู้นำชมถ้ำท่านตอบทันทีว่า ปาริชาต

 

ต่อมาวันหนึ่งได้มีการเลี้ยงทูตอินเดียที่วังแห่งหนึ่งในเมืองไทยนี้ ใกล้ๆศาลาที่เลี้ยงนั้นมีต้นกรรณิการ์ปลูกอยู่ กำลังมีดอกบานหล่นอยู่เกลื่อนไป แขกที่ได้เห็นก็พากันชม จึงได้ถามสุภาพสตรีผู้หนึ่งว่า ดอกไม้นี้เรียกปาริชาตใช่หรือไม่ เขาตอบว่า เรียกว่า กรรณิการ์ และไม่เคยทราบเรื่องชื่อปาริชาตเลย แต่จะเป็นในขณะนั้นเอง หรือต่อมาภายหลังจำไม่ได้เสียแล้ว มีปราชญ์ชาวอินเดียอีกคนหนึ่งอธิบายตอบคำถามนั้นที่ได้ถามเขาอีกว่า ตามที่เขาเรียกกันนั้นก็ถูกต้องทั้ง ๒ ชื่อ คือดอกไม้นี้ชาวอินเดียบางภาคเรียกปาริชาต บางภาคเรียกกรรณิการ์ คำอธิบายนี้พอเข้าใจตามได้ เพราะเคยทราบมาว่าประเทศอินเดียมีภาษาพูดกันต่างๆ หลายอย่าง จนต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง ทั้งที่ไม่อยากจะใช้เลย คำชี้แจงของท่านผู้ทรงเมตตาข้างบนนี้ เป็นมติหนึ่งเรื่องต้น ปาริชาตก์ หรือ ปาริชาต ในเมืองมนุษย์ที่เรียกกันในปัจจุบัน

 

พระอินทร์หรือท้าวสักกเทวราชได้เป็นที่นับถือในประเทศไทยมานาน ได้มีเล่าในตำนานเก่าหลายเรื่องว่า ได้ลงมาช่วยในกิจการต่างๆ ที่สำคัญ เช่น ได้ลงมาช่วยหล่อพระพุทธชินราช เป็นต้น เพราะกิจการที่มนุษย์ทำไม่สำเร็จ พระอินทร์ต้องลงมาช่วยจึงสำเร็จ จึงเป็นกิจการที่สำคัญอย่างยิ่ง แต่ในสมัยหลังจนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่ปรากฏเป็นข่าว พิจารณาดูถึงสมัยปัจจุบัน สิ่งที่สร้างขึ้นอย่างวิจิตรประณีต เช่น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรสำเร็จขึ้นได้ก็ด้วยราชานุภาพของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเป็นพระอินทร์ คือเป็นจอมของนรชนในประเทศ สิ่งที่เป็นของหลวงสร้างขึ้นทำขึ้นดีวิเศษกว่าสามัญทั่วๆ ไป จึงไม่พ้นพระอินทร์ ไม่ใช่พระอินทร์เมืองฟ้าก็ต้องอาศัยพระอินทร์ในมนุษย์ช่วยกิจการที่สำคัญ สิ่งที่ดีวิเศษต่างๆ จึงสำเร็จมีขึ้น นี้เป็นเค้าเงื่อนที่น่าคิดว่า ไฉนในตำนานเก่าๆ จึงเล่าถึงพระอินทร์ลงมาช่วยในเมื่อจะทำสิ่งที่สำคัญอยู่เสมอ

 

พระอินทร์เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา สวรรค์ทั้ง ๒ ชั้นนี้ตามภูมิศาสตร์โลก ระบบเขาพระสุเมรุก็ตั้งอยู่ในโลกนี้เอง เพราะเขาพระสุเมรุก็เป็นแกนกลางของโลก สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ตั้งอยู่บนเขาพระสุเมรุ ก็ตั้งอยู่ยอดกลางของโลก ส่วนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาตั้งอยู่บนยอดเขาสัตตบริภัณฑ์ ๔ ทิศ ก็ตั้งอยู่รองต่ำลงมารอบเขาพระสุเมรุนั้น ทั้ง ๒ ชั้นนี้จึงอยู่ในโลกนี้ เท่ากับเป็นชาวโลกนี้ด้วยกัน การไปมาหาสู่กันจึงน่าจะสะดวกกว่าสวรรค์ชั้นอื่น จึงปรากฏว่าเทพของสวรรค์ ๒ ชั้นนี้ได้ลงมาเกี่ยวข้องกับมนุษย์อยู่เสมอ ตามคัมภีร์โบราณที่มีคติตามความเชื่อในทางเดียวกัน และนานๆ จึงจะมีมนุษย์ขึ้นไปถึงคราวหนึ่ง แต่ก็เป็นมนุษย์ที่กล่าวในนิทานชาดก

 

จะได้เล่าเรื่องสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จากคัมภีร์ชั้นบาลีอีกสักตอนหนึ่งก่อนที่จะได้สรุปเรื่องเล่าถึงสวรรค์ชั้นต่อไป

 

ใน สัตตกนิบาต ได้แสดงเป็นคำที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่าไว้มีความสังเขปว่า ในสมัยที่ต้นโกวิฬาระอันชื่อว่า ปาริฉัตตกะ ผลัดใบและออกใบใหม่ ๗ วาระ พวกเทพชั้นดาวดึงส์ก็พากันดีใจ เมื่อวาระที่ ๑ ก็พากันหวังให้ถึงวาระที่ ๒ ที่ ๓ เรื่อยไป จนถึงวาระที่ ๗ ซึ่งมีดอกบานสะพรั่ง ก็พากันเริงสนุกที่โคนต้นโกวิฬาระทิพย์ตลอดเวลา ๔ เดือน ในตอนนี้แสดงอานุภาพของต้นโกวิฬาระทิพย์ในขณะที่มีดอกบานสะพรั่งว่า มีรัศมีสว่างกินเนื้อที่ ๕๐ โยชน์โดยรอบ และมีกลิ่นหอมโชยไปตามลมถึง ๑๐๐ โยชน์ ต่อไปก็แสดงเปรียบกับอริยสาวกผู้ปฏิบัติธรรมตั้งแต่ออกบวช รวม ๗ วาระ คือ

 

วาระที่ ๑ ในสมัยที่ต้นโกวิฬาระทิพย์มีใบเหลืองหล่นจากต้น ก็เหมือนอย่างสมัยที่อริยสาวกคิดจะออกบวช

 

วาระที่ ๒ ในสมัยที่โกวิฬาระทิพย์โกร๋นจะออกใบใหม่ ก็เหมือนอย่างสมัยที่อริยสาวกปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาดออกจากเรือนบวชเป็นอนาคาริยะ (ผู้ไม่มีเรือน)

 

วาระที่ ๓ ในสมัยที่ต้นโกวิฬาระทิพย์ผลิใบและดอกขึ้นพร้อมกัน ก็เหมือนอย่างสมัยที่อริยสาวกปฏิบัติในสมาธิได้ปฐมฌาน

 

วาระที่ ๔ ในสมัยที่ต้นโกวิฬาระทิพย์ผลิใบและดอกขึ้น เห็นเป็นรูปใบใหม่ดอกใหม่ ก็เหมือนอย่างที่อริยสาวกปฏิบัติในสมาธิได้ทุติยฌาน

 

วาระที่ ๕ ในสมัยที่ต้นโกวิฬาระทิพย์มีดอกตูม ก็เหมือนอย่างสมัยที่อริยสาวกปฏิบัติในสมาธิได้ตติยฌาน

 

วาระที่ ๖ ในสมัยที่ต้นโกวิฬาระทิพย์มีดอกแก่เปล่งจะบาน แต่ยังไม่บาน ก็เหมือนอย่างสมัยที่อริยสาวกปฏิบัติในสมาธิได้จตุตถฌาน

 

วาระที่ ๗ ในสมัยที่ต้นโกวิฬาระทิพย์มีดอกบานเต็มที่ ก็เหมือนอย่างสมัยที่อริยสาวกได้สำเร็จวิมุตติ หลุดพ้นจากอาสวะกิเลสทั้งหมด

 

 

อีกตอนหนึ่งเล่าถึง เทวาสุรสงคราม เทียบการปฏิบัติธรรมเช่นเดียวกัน มีความสังเขปว่า

 

เรื่องเคยมีมาแล้ว ได้เกิดสงครามเป็นศึกประชิดระหว่างเทพและอสุระ ในสงครามครั้งนั้น อสุระชนะ เทพแพ้ ล่าถอยขึ้นไป (ทางทิศเหนือซึ่งเป็นที่ตั้งนครดาวดึงส์) พวกอสุระก็รุกประชิดขึ้นไป พวกเทพเห็นอสุระรุก ก็หันกลับไปต่อสู้ ก็แพ้อีก รุกและรับกันอยู่ดั่งนี้ถึง ๓ ครั้ง ในครั้งที่ ๓ เทพถอยเข้าเทวนคร ก็รู้สึกอุ่นใจหายกลัวว่าได้เข้าสู่ที่ปลอดภัย อสุระทำอะไรไม่ได้แล้ว พวกอสุระก็คิดว่า พวกเทพได้เข้าไปสู่ที่ซึ่งพวกตนทำอะไรไม่ได้แล้ว และในสงครามอีกครั้งหนึ่ง เทพชนะ อสุระแพ้ ล่าถอยลงไป (ทางทิศใต้ซึ่งเป็นที่ตั้งอสุรบุรี) พวกเทพก็รุกประชิดลงไป อสุระก็กลับรับแล้วถอยแล้วก็กลับรับถึง ๓ ครั้ง ในครั้งที่ ๓ พวกอสุระถอยเข้าอสุรบุรีก็อุ่นใจหายกลัวว่า ได้เข้าสู่ที่ปลอดภัยเทพทำอะไรไม่ได้แล้ว พวกเทพก็คิดว่า พวกอสุระได้เข้าไปสู่ที่ซึ่งพวกตนทำอะไรไม่ได้แล้ว (เมืองทั้ง ๒ จึงชื่อว่า อยุชฌบุรี คือ อยุธยา แปลว่า เมืองที่ข้าศึกรบไม่ชนะ)

 

แม้ภิกษุผู้ปฏิบัติธรรมก็จะต้องเข้าสู่ที่ปลอดภัยจากกิเลสเช่นเดียวกัน คือเมื่อได้สมาธิจนถึงรูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ต่อไปถึงอรูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ต่อไปถึงขั้นดับสัญญาเวทนา ต่อไปถึงเกิดปัญญาเห็นแจ้งสิ้นอาสวะกิเลสทั้งหมด ก็เหมือนอย่างได้เข้าที่ปลอดภัยโดยลำดับ มารทำอะไรไม่ได้ มารก็คิดเช่นเดียวกันว่า ตนทำอะไรแก่ผู้ที่เข้าไปในที่ปลอดภัยเช่นนี้หาได้ไม่

 

ในคัมภีร์ชั้นบาลีที่เล่ามานี้ และที่เคยเล่ามาแล้วจากสังยุตเป็นต้น การเล่าเรื่องสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จับได้ว่าเพื่อยกมาเปรียบเทียบหรือสาธกธรรมอย่างนิทานชาดก ขึ้นต้นว่า เรื่องเคยมีมาแล้ว ที่เล่าเป็นเรื่องปัจจุบันก็มี แต่ก็มุ่งแสดงธรรมเป็นประการสำคัญ ในคัมภีร์ชั้นหลังลงมา จึงเล่ามุ่งในทางประวัติพรรณนาออกไปพิสดาร สวรรค์ ๖ ชั้นมีมาในคัมภีร์พระพุทธศาสนา แต่ ๒ ชั้นแรกจะมีเหมือนอย่างที่เล่าไว้นี้เพียงไร เป็นวิสัยของผู้มีทัสสนญาณจะทราบได้

 

เทพชั้นจาตุมหาราชิกา เทพชั้นดาวดึงส์ ท่านว่ามีที่อยู่บนภูเขาบ้าง ในอากาศบ้าง และมีที่อยู่สืบต่อกันไปจนถึง ภูเขาจักรวาล (ภูเขาที่เป็นขอบจักรวาลโดยรอบ น่าจะเปรียบได้เหมือนอย่างขอบกระด้ง) ท่านว่าสวรรค์ชั้นสูงขึ้นไปก็อยู่สืบกันไป จนถึงภูเขาจักรวาลเช่นเดียวกัน ดูตามเค้าความเชื่อของท่านว่าอยู่สูงตรงขึ้นไปจากยอดเขาสิเนรุ หรือเขาสุเมรุในอากาศ มีเขตแผ่ออกไปจนถึงแนวภูเขาจักรวาล จึงมีเขตเป็นวงกลม ตั้งอยู่ซ้อนกันขึ้นไปโดยลำดับ ถ้านึกให้เป็นวัตถุ ก็น่าจะคล้ายตึก หรือเก๋งจีนหลายๆ ชั้น ตั้งแต่ชั้นที่ ๓ ขึ้นไปอยู่ในอากาศ สูงกว่ายอดเขาสิเนรุขึ้นไปมาก ถึงอย่างนั้นก็ยังอยู่ในเขตของจักรวาลนี้ เกิดดับพร้อมกับจักรวาลนี้ ทุกชั้นจึงต้องกำหนดเขตโดยรอบด้วยภูเขาจักรวาล ถึงจะอยู่ในอากาศสูงขึ้นไปเท่าไรก็ต้องอยู่ในเขตนี้

 

 

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๒ หน้า ๑๕๖ – ๑๖๐