Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๘๔

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

 

ใน สุธาโภชนชาดก ได้เล่าถึงพระอินทร์อีกองค์หนึ่ง ในสมัยเก่าก่อนพระอินทร์ในสมัยพุทธกาล ซึ่งได้เคยเป็นมฆมาณพในชาติก่อนแต่จะไปเกิดเป็นพระอินทร์ พระอาจารย์เล่าว่า พระอินทร์องค์อดีตนี้ ชาติก่อนเป็นเศรษฐีชาวเมืองพาราณสี ได้ทำทาน รักษาศีล โดยเฉพาะได้ให้ทานอย่างมากมาย ทำกาลกิริยา (ตาย) แล้วไปเกิดเป็นพระอินทร์หรือท้าวสักกเทวราช ครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ท้าวเธอมีพระธิดา ๔ องค์ มีพระนามตามลำดับว่า อาสา สัทธา สิรี หิรี

วันหนึ่ง พระธิดาทั้ง ๔ องค์ได้ชวนกันเก็บดอกไม้ทิพย์มีกลิ่นหอม ร้อยเป็นมาลาประดับองค์ พากันไปยังสระอโนดาตเพื่อเล่นน้ำนั่งพักอยู่บนแผ่นมโนศิลา ในขณะนั้น พระนารทดาบส ได้ถือดอกปาริชาตก์แห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ผ่านมาโดยถือกั้นเป็นอย่างร่ม พระดาบสองค์นี้ออกบวชจากสกุลพราหมณ์ บำเพ็ญพรตในป่าหิมวันต์จนมีมหิทธิอำนาจขึ้นไปพักบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ได้ เทพธิดาทั้ง ๔ องค์มองเห็นดอกปาริชาตก์ที่พระดาบสถือมา ก็ร้องขอจากพระดาบส เหมือนอย่างขอจากเทพบิดาของตน พระดาบสตอบว่า องค์ดาบสเองไม่มีความต้องการหวงแหนดอกไม้ทิพย์นี้ แต่ก็จะให้แก่เทพธิดาองค์ที่ประเสริฐที่สุด ฉะนั้น องค์ใดประเสริฐที่สุด ก็ขอให้องค์นั้นมารับดอกไม้ทิพย์นี้ได้ เทพธิดาทั้ง ๔ ขอให้พระดาบสเป็นผู้เลือกให้เอง พวกตนไม่สามารถจะเลือกกันเองได้ พระดาบสกล่าวว่า ไม่ใช่กิจของสมณะบรรพชิตจะเป็นผู้เลือกอย่างนั้น จะเลือกองค์หนึ่ง องค์อื่นๆ ก็จะน้อยใจขึ้งเคียด จะเกิดวิวาทบาดหมาง จึงขอให้ไปทูลถาม พระภูตาธิปะ (ผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งหลาย) ซึ่งเป็นพระบิดาของตนเองเถิด เทพธิดาทั้ง ๔ ไม่ได้ดอกไม้ ไม่ได้คะแนนว่าเลิศจากพระดาบส ก็โทมนัส ต่างองค์ก็คิดว่าตนนั่นแหละเลิศ ก็พากันไปเฝ้าพระอินทร์ ขอให้ทรงชี้ขาด พระอินทร์ก็ไม่ยอมชี้ ตรัสไกล่เกลี่ยว่า คล้ายๆ กันทั้ง ๔ องค์ ที่นี่จะว่าใครดีกว่าใครให้ทะเลาะกันอย่างไรได้

ยังมีพระดาบสรูปหนึ่ง ชื่อ โกสิยะ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคาด้านทิศทักษิณ ข้างหิมวันตประเทศ ถือวัตรอยู่ข้อหนึ่งโดยเคร่งครัดว่า เมื่อยังไม่แบ่งภัตรให้แก่ผู้อื่นก่อน ก็จะไม่ฉันเอง และเมื่อให้ก็จะเลือกให้ ฉะนั้นให้พระธิดาทั้ง ๔ องค์ไปหาโกสิยดาบสนั้น ครั้นพระอินทร์ได้ตรัสแนะนำให้พระธิดาพากันไปหาพระดาบสดั่งนี้แล้ว ก็ได้ตรัสสั่งพระมาตลีเทพสารถีให้นำสุธาโภชนทิพย์ไปถวายพระดาบส พระมาตลีได้นำถาดสุธาโภชน์ไปวางในมือของโกสิยดาบสในเวลารุ่งอรุณ พระดาบสมองเห็นสุธาโภชน์สวรรค์มีสีขาวเหมือนสังข์ สะอาด มีกลิ่นหอม ไม่มีอาหารอะไรที่เคยเห็นจะเปรียบเทียบได้ คิดสงสัยว่าบางทีพระอินทร์จะประทานลงมากระมัง แต่ว่าใครเป็นผู้นำมา พระมาตลีจึงได้ปรากฏทิพยกาย กล่าวแก่ดาบสว่า องค์สักรินทร์เทวราชได้มีเทพบัญชาให้ตนนำสุธาโภชน์มาถวาย ขอให้พระดาบสฉันสุธาโภชน์นี้ ซึ่งเลิศกว่าภัตรทุกอย่าง อย่าได้ห้ามเสีย สุธาโภชน์นี้มีคุณกำจัดโทษได้ถึง ๑๒ ประการ คือ ๑. ความหิว ๒. ความกระหาย ๓. ความไม่ยินดี ๔. ความกระวนกระวาย ๕. ความเหน็ดเหนื่อย ๖. ความโกรธ ๗. ความผูกใจโกรธ ๘. ความวิวาท ๙. ความส่อเสียด ๑๐. ความหนาว ๑๑. ความร้อน ๑๒. ความเกียจคร้าน

โกสิยดาบสได้กล่าวแก่พระมาตลีว่า ท่านได้ถือเคร่งในวัตรอยู่ข้อหนึ่งว่า จะไม่ฉันเองก่อนที่จะแบ่งให้แก่ใคร เพราะท่านได้เห็นว่ามีความเลวอยู่ ๕ ประการ ตามสุภาษิตที่ระบุถึงความเลวในตัวพฤติกรรมหรือผู้ประกอบพฤติกรรมนั้นเอง ดั่งต่อไปนี้

. การกินผู้เดียว พระอริยเจ้าไม่นับถือบูชา

. คนไม่แบ่งภัตรให้แก่ผู้อื่น ย่อมไม่ได้ความสุข

. คนเป็นชู้ด้วยภริยาของผู้อื่น ชื่อว่าเป็นคนฆ่าหญิง

. คนด่าสมณะชีพราหมณ์ผู้มีศีลวัตรอันดี ชื่อว่าเป็นคนประทุษร้ายมิตร

. คนตระหนี่เหนียวไม่เฉลี่ยเผื่อแผ่คนอื่นบ้างเลย เลวเป็นข้อที่ ๕

ฉะนั้น ท่านจะต้องแบ่งให้แก่ใครอื่น จะเป็นหญิงหรือชายก็ตามก่อนแล้วจึงจะฉัน

ในทันใดนั้น พระธิดาทั้ง ๔ องค์ของพระอินทร์ก็ได้พากันมาถึง องค์สิรีได้ยืนทางทิศบูรพา องค์อาสาได้ยืนทางทิศทักษิณ องค์สัทธาได้ยืนทางทิศปัจฉิม องค์หิรีได้ยืนทางทิศอุดร

โกสิยดาบสได้ทักถามองค์ที่ยืนทางทิศบูรพาก่อน องค์สิรีผู้ยืนทางทิศนั้นได้ตอบแนะนำตน พระดาบสก็ได้วิจารณ์ แล้วก็ได้ทักถามองค์อื่นต่อไปโดยวิธีนี้จนครบทั้ง ๔ องค์ สรุปคำวิจารณ์ของโกสิยดาบสในธิดาพระอินทร์ ๔ องค์ ดังต่อไปนี้

องค์สิรีนั้น คือ สิริ คบหาคนดีๆ เมื่อปรารถนาสุขแก่ใครคนใด ใครคนนั้นก็บันเทิงด้วยสุขสมปรารถนาทุกอย่าง แต่สิริไม่เลือกอนุกูลคน บางคนมีศิลปวิทยาดี มีความประพฤติดี พากเพียรทำการงานของตนอย่างเหงื่อไหลไคลย้อย แต่สิริก็ไม่อนุกูลเขา เขาก็ต้องขัดสนจนยาก แต่บางคนไม่มีศิลปวิทยาอะไรดี รูปร่างวิปริตชั่วชาติ เกียจคร้านกินจุ สิริก็ไปอนุกูลเขาให้มั่งมีศรีสุข เขาก็ใช้คนที่มีชาติสกุลได้เหมือนทาสเรือนเบี้ย สิริจึงไม่รู้จักเลือกคนที่ควรและไม่ควรจะคบเลย ที่ว่าสิริคบหาคนดีๆ นั้น จึงหาได้หมายความว่าคนดีจริงๆ ไม่ โดยที่แท้ไปดูกันที่ทรัพย์ รวยทรัพย์ก็ว่าดีแล้ว เป็นการทับถมไม่ให้คนมองเห็นคุณของสุจริตธรรมในโลก สิรินี่เองมีส่วนให้เป็นดั่งนี้ไปได้ จึงไม่เป็นที่ชอบใจแก่โกสิยดาบส ไม่ควรจะได้สุธาโภชน์ เมื่อสิรีถูกวิจารณ์ในทางเสียและถูกปฏิเสธ ก็อันตรธานวับไปในที่นั้น

องค์อาสานั้น อาสา ก็คือความหวัง ทำให้คนผู้หวังในความหวังลำบากมามากมายนักแล้ว ทำให้รบราฆ่าฟันกันด้วยความหวังจะเป็นเจ้าเป็นใหญ่ ชนะแล้วก็กลับแพ้ แย่ไปด้วยความหวัง ทำให้ฤษีชีไพรบำเพ็ญตบะทรมานกายแรมเดือนแรมปี ด้วยหมายสวรรค์ แต่ถ้าเข้าทางผิดก็ไพล่ไปในนรก หวังอย่างหนึ่ง ผลไพล่ไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง จึงเป็นอย่างที่เรียกว่า หวังลมหวังแล้ง โกสิยดาบสจึงเรียกอาสาว่าตัวโกหกพกลม ฉะนั้น ก็ขอให้เลิกหวังในสุธาโภชน์ หาสมควรจะได้สุธาโภชน์ไม่ ไม่ยินดีจะให้ ขอให้ไปเสียเถิด เมื่ออาสาถูกวิจารณ์อย่างเสียหายทั้งถูกขับไล่ ก็อันตรธานวับไปในที่นั้น

องค์สัทธานั้น สัทธา ก็คือ ศรัทธา ความเชื่อ ทำให้คนพากันบริจาคทาน รักษาศีล สำรวมอินทรีย์ แต่บางทีก็ทำให้คนพากันลักขโมย พูดเท็จ พูดส่อเสียด คือเมื่อเชื่อถูกก็ชักให้ทำถูก เมื่อเชื่อผิดก็ชักให้ทำผิด เพราะใครจะทำอะไรก็มีความเชื่อนี่แหละชักไปทั้งนั้น เชื่อว่าทำอย่างนั้นดีจึงทำความเชื่อนี้ ทำให้ยุ่งในครอบครัวก็ได้ ภริยาเป็นคนดี แต่สามีไปเชื่อในหญิงถ่อยอื่น ก็สิ้นปฏิพัทธ์ในภริยาของตนซึ่งความจริงเป็นคนดี สัทธาเป็นผู้ทำให้เชื่อ แต่บางครั้งก็ทำให้เชื่อหลงๆ ผิดๆ เป็นแหล่งก่อให้เกิดวิธีการชวนเชื่อต่างๆ ที่เป็นความเชื่ออย่างหลงงมงาย เพราะผู้เชื่อเองโง่เขลาเบาปัญญาหรือถูกหลอกให้เชื่อ จึงชื่อว่าเป็นผู้ทำบาป ห้ามการกุศล โกสิยดาบสจึงยังไม่ชอบใจจะให้สุธาโภชน์อยู่นั่นเอง เมื่อสัทธาถูกวิจารณ์ว่าไม่ดี และถูกปฏิเสธเสียอีก ก็อันตรธานวับไปในที่นั้น

พระธิดาองค์ที่สุด คือหิรีนั้น โกสิยดาบสทักถามทราบแล้วก็พอใจในคุณของเธอ เพราะหิรีก็คือ หิริ ความละอายบาป รังเกียจบาป เหมือนอย่างคนสะอาดรังเกียจสิ่งสกปรก พระดาบสพอใจตั้งแต่เมื่อถึงวาระที่หันไปทักถาม องค์หิรีก็ไม่ร้องขอสุธาโภชน์เหมือนอย่างอีก ๓ องค์แรก จึงสมควรจะได้สุธาโภชน์ เพราะว่าสุธาโภชน์นี้หาใช่เป็นสิ่งที่ใคร ๆ จะได้ด้วยการขอไม่ ข้อนี้เป็นธรรมเกี่ยวแก่สุธาโภชน์ พระดาบสได้กล่าวแก่องค์หิรีว่า ขอบูชาเธอด้วยสุธาโภชน์ทั้งหมด แล้วจึงจะฉันส่วนที่เหลือในภายหลัง กล่าวแล้วได้ให้สุธาโภชน์แก่องค์หิรี เมื่อองค์หิรีได้รับสุธาโภชน์แล้วก็รีบไปเฝ้าพระเทพบิดา กราบทูลให้ทรงทราบ ท้าวสักรินทร์เทวราชโสมนัส เทพทั้งปวงก็พากันยินดี ตั้งแต่นั้นมา เทพและมนุษย์ทั้งหลายก็พากันนับถือบูชาหิรีเทวี (ในฐานที่หิริและโอตตัปปะเป็นโลกบาล คือธรรมเป็นเครื่องคุ้มครองโลก)

ฝ่ายพระอินทร์ได้ทรงส่งพระมาตลีไปหาพระดาบส ให้ถามว่าท่านเลือกให้แก่เทพกัญญาหิรีเพราะเหตุไร พระมาตลีได้ไปถาม พระดาบสได้ตอบว่าท่านเห็นว่า สิรีเหลาะแหละ สัทธาไม่แน่ อาสายิ่งโกหกพกลม ส่วนหิรีมีคุณอันประเสริฐ เช่นว่า สตรีภาพเมื่อทราบว่าตนมีจิตปฏิพัทธ์ในบุรุษ ย่อมห้ามจิตของตนไว้ได้ด้วยหิริ หมู่ชนผู้มีหน้าที่รบป้องกันรักษาประเทศชาติออกไปในสนามรบ สัปยุทธกับข้าศึกด้วยศรหอกดาบและอาวุธต่างๆ จะถอยหนีหรือยอมแพ้ แต่ด้วยมีหิริในใจ จึงเกิดละอายอดสู ยอมสละชีวิต ต่อสู้ไม่ยอมถอยจึงชนะข้าศึก รักษาประเทศชาติไว้ได้ หิริเป็นเครื่องห้ามคนชั่วเหมือนอย่างฝั่งเป็นเครื่องห้ามกำลังแห่งสาคร พระอริยะทั้งหลายจึงบูชาหิริในโลก ขณะนั้นก็ได้ถึงกาละสิ้นอายุของโกสิยดาบส พระมาตลีได้ชักชวนให้ทิ้งกายมนุษย์ไปเกิดเป็นสหายพระอินทร์ โกสิยดาบสได้เคลื่อนจากกายมนุษย์เกิดเป็นเทพบุตรโดยอุปปาติกกำเนิดในทันใดนั้น พระมาตลีได้นำเทพบุตรเกิดใหม่ไปเฝ้าพระอินทร์ ท้าวเธอได้ทอดพระเนตรเห็น ก็มีพระหทัยยินดี ประทานหิรีเทวีแก่เทพบุตรนั้น

โกสิยดาบสนี้ ท่านได้เล่าไว้ว่า ก่อนบวชเป็นเศรษฐีผู้ตระหนี่ถี่เหนียวนักหนา เป็นทายาทสืบตระกูลมาจากพระอินทร์เมื่อยังเป็นมนุษย์นั้นเอง แต่ท้าวเธอเมื่อเป็นมนุษย์ใจบุญสุนทรยิ่งนัก จึงได้ไปเกิดเป็นพระอินทร์ ครั้นล่วงมาหลายชั่วคน จึงถึงเศรษฐีเหนียวผู้นี้ พระอินทร์สอดส่องดูสายตระกูลของพระองค์ ได้ทรงทราบจนกระทั่งว่า เศรษฐีนี้อยากบริโภคข้าวปายาสแต่เกรงคนอื่นจะมาบริโภคด้วย จึงให้ภริยาไปหลบหุงอยู่ในป่าไม่ให้ใครเห็น พระอินทร์ได้ไปทรมานด้วยพูดสะกิดใจให้ได้คิด จนเศรษฐีละความตระหนี่ ทำทานและออกบวชเป็นดาบสในที่สุด

คำสะกิดใจของพระอินทร์และเทพบริวารรวมอยู่ในหัวข้อว่า กินคนเดียวไม่ได้สุข กล่าวเป็นโอวาทบ้าง เปรียบเทียบบ้าง เช่นว่า มีน้อยควรให้น้อย มีปานกลางให้ปานกลาง มีมากให้มาก จะไม่ให้เลยไม่สมควร ผู้ที่มีแขกนั่งอยู่ด้วย แต่ก็บริโภคคนเดียว จะทำการบูชาบำบวงอะไร ก็ไม่มีผลทั้งนั้น การที่บริโภคคนเดียวทั้งที่มีแขกนั่งอยู่ด้วยกัน ก็เหมือนอย่างกลืนเบ็ดนั่นแหละ จึงควรที่จะให้ทานด้วย บริโภคด้วย กินคนเดียวจึงไม่ได้สุข เศรษฐีฟังไป ๆ ก็เกิดความเห็นตามไปว่า กินคนเดียวไม่เป็นสุขแน่ เพราะคณะพระอินทร์มานั่งพูดจี้ใจอยู่ ทีแรกก็แสนรำคาญ แต่เมื่อฟังไปคิดไปก็เห็นจริง จึงเริ่มแบ่งข้าวปายาสให้แก่คณะพระอินทร์ ท้าวเธอจึงแสดงพระองค์ว่าคือท้าวสักกเทวราช และประทานโอวาทแก่เศรษฐีให้บริจาคทานเป็นการทำทางสวรรค์ เหมือนดังบรรพบุรุษในตระกูลของพระองค์ได้ปฏิบัติมาแล้ว จิตใจของเศรษฐีเมื่อได้เริ่มเปลี่ยนแล้ว ก็เปลี่ยนไปตรงกันข้ามทีเดียว เหมือนอย่างที่เรียกว่า จากหลังมือเป็นหน้ามือ คือจากตระหนี่ที่สุด เป็นกว้างที่สุด แต่ก็ยังไม่ทิ้งลักษณะของเศรษฐีคือการเลือกเฟ้นที่จะให้ ซึ่งเป็นลักษณะ สัปปุริสทาน ในพระพุทธศาสนา

เรื่องท้าวสักกะในชาดกนี้ เห็นได้ชัดว่าเป็นเทพนิยายเปรียบเทียบธรรม การเปรียบเทียบมีเหตุผลน่าฟัง และมีเค้าเรื่องท้าวสักกะตามคติความเชื่อเก่าแก่ ซึ่งแสดงว่าผู้ที่จะไปเกิดเป็นท้าวสักกะนั้น ไม่จำต้องไปเกิดจากมจลคาม มคธรัฐ เป็นการผูกขาดแต่แห่งเดียว (เหมือนอย่างมติของอรรถกถาบางคัมภีร์) ไปเกิดจากรัฐไหนก็ได้ ในเมื่อได้ปฏิบัติครบถ้วนในคุณสมบัติแห่งผู้ที่จะไปเกิดเป็นพระอินทร์ และคำว่า พระอินทร์ เป็นตำแหน่ง ซึ่งมีจุติมีอุปบัติมาตั้งแต่เก่าก่อนพุทธกาล เฉพาะในสมัยพุทธกาลนั้น พระอินทร์ไปเกิดจากมฆมาณพ ชาวบ้านมจลคาม มคธรัฐ เห็นจะพอเรียกว่า พระอินทร์รัชกาลปัจจุบัน (ในสมัยพุทธกาล) ได้

พระอินทร์ในสมัยพุทธกาล ซึ่งขึ้นไปเกิดจากชาติเป็นมฆมาณพนั้น จะเป็นองค์ที่ขึ้นไปเกิดยึดถิ่นอสุระ สร้างสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ขึ้นใช่หรือไม่ ถ้าใช่ก็น่าจะเป็นพระอินทร์องค์ปฐม เทียบพระมหากษัตริย์ผู้ทรงปราบดาภิเษกเป็นองค์ปฐมกษัตริย์ ถ้าใช่ดังนั้น ตั้งแต่สร้างสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาจนถึงสมัยพุทธกาล ก็มีพระอินทร์เพียงองค์เดียว เรื่องพระอินทร์ในคตินี้ จึงคล้ายกับเรื่องการตั้งวงศ์กษัตริย์ ดั่งจะผูกเรื่องขึ้นเทียบว่า มีคนผู้หนึ่งเป็นคนฉลาดกล้าหาญ มีอัธยาศัยดี ชักชวนเพื่อนร่วมใจได้จำนวนหนึ่งแล้ว ก็อพยพเดินทางไปหาถิ่นที่อยู่ใหม่ซึ่งเป็นที่อุดมสมบูรณ์ เมื่อได้พากันไปพบถิ่นที่พอใจ ก็เข้ายึดขับไล่เจ้าถิ่นเดิมออกไป ต่อมาก็ตั้งตนเป็นกษัตริย์สืบพระวงศ์ต่อมา

ท่านจึงสันนิษฐานว่า เรื่อง พระอินทร์ มีเค้ามาจากกษัตริย์อินทวงศ์สมัยโบราณ ซึ่งยกเข้ามายึดชมพูทวีป ขับไล่เจ้าถิ่นเดิมให้ถอยร่นไป และเมื่อสังเกตดูในสักกสังยุตที่ได้นำมาเล่าไว้ข้างต้นแล้ว ก็จะเห็นว่า พระอินทร์นับว่าเป็นนักปกครองชั้นยอด กล้าหาญ และฉลาดในการปกครอง ในคราวสงครามก็ฉลาดเลือกธรรมมาอบรมปลุกใจเทพบริษัทให้กล้าหาญ ให้เพียรพยายามรบเอาชนะให้จงได้ แต่ครั้นได้ชัยชนะแล้ว พระอินทร์ได้อบรมให้มีขันติ อดทนต่อผรุสวาจาของเชลย ไม่โกรธตอบ และตอบโต้ ในคราวสงบก็ผูกมิตรกับศัตรูเก่า แต่ก็ไม่ไว้วางใจทีเดียว พอใจเสด็จไปสนทนาไต่ถามธรรมกับพระพุทธเจ้าบ้าง พระสาวกบ้าง ฤษีบ้างในบางครั้งบางคราว บางทีก็ชวนศัตรูเก่าซึ่งเป็นพ่อตาไปด้วยกัน ในคราวปกติก็พอใจอบรมเทพบริษัทด้วยธรรม เช่นอบรมไม่ให้โกรธ

นอกจากนี้ พระอินทร์ยังมีหน้าที่เกี่ยวกับมนุษยโลกอีกมากดังที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ต่างๆ เช่น ได้มาดีดพิณ ๓ สายแก่พระโพธิสัตว์ เพื่อให้ทรงปฏิบัติในทางสายกลาง ต่อมาก็ได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้าอีกหลายคราว เมื่อนิพพานก็ได้มากล่าวคาถาแสดงธรรมสังเวชด้วยผู้หนึ่ง และได้มาอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วจากมวยผมของโทณพราหมณ์ขึ้นไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์จุฬามณี (เรื่องพระเจดีย์นี้ได้เล่ามาแล้วว่า เมื่อพระโพธิสัตว์ทรงตัดพระเมาฬีด้วยพระขรรค์ขณะจะทรงผนวชนั้น พระอินทร์ได้มารับขึ้นไปสร้างพระเจดีย์บรรจุไว้ มีทั้งปิ่นปักพระจุฬาและเครื่องรัด จึงเรียกว่า พระเจดีย์จุฬามณี) นอกจากนี้ ยังได้มาช่วยคนที่ตั้งอยู่ในธรรมให้พ้นภัยจากฝ่ายอธรรมอยู่บ่อยๆ ได้มาช่วยยืนเฝ้าประตูกุฏิของพระเณรผู้กำลังบำเพ็ญสมณธรรมใกล้จะสำเร็จ เพื่อป้องกันไม่ให้ใครเข้าไปทำอันตรายแก่ความสำเร็จ (น่าสังเกตว่า เทวดาชอบมาช่วยคนมีเพียรในเวลาที่ใกล้จะสำเร็จผล)

หน้าที่ของพระอินทร์ดูคล้ายเป็น โลกบาล ได้อ่านหนังสือเรื่องเทวดาของพราหมณ์เล่มหนึ่ง กล่าวว่า พระอินทร์เป็นโลกบาลทิศบูรพา เป็นเจ้าของพวกภูต ตามที่กล่าวนี้ก็ไปตรงในสุธาโภชนชาดกที่เล่ามาแล้ว ซึ่งกล่าวถึงพระอินทร์ว่า ภูตาธิป แปลว่า เป็นใหญ่แห่งพวกภูต (ทิศตะวันออกนี้ ท้าวโลกบาลมีชื่อว่า ธตรัฏฐ์ ท่านว่าเป็นชื่อหนึ่งของพระอินทร์ด้วย เป็นเจ้าของคนธรรพ์ก็ว่า เป็นเจ้าของพวกภูตก็ว่า) เรื่องพระอินทร์มีอยู่ทั้งในคติพราหมณ์ ทั้งในคติพุทธ จึงน่าจะมีเล่าปะปนกันอยู่มาก บางทีศัพท์เดียวกันแต่ให้ความหมายต่างกัน เช่น ปุรินททะ ซึ่งเป็นชื่อของพระอินทร์ชื่อหนึ่งในสักกสังยุต ในพระไตรปิฎกให้ความหมายว่า ผู้ให้ทานในกาลก่อน แต่ในคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์แปลว่า ผู้ทะลายเมืองป้อม หรือทะลายป้อม จับได้ว่า เรื่องพระอินทร์เป็นเรื่องเก่าแก่ ทางพราหมณ์ก็จับมาเล่าพรรณนาไปตามลัทธิพราหมณ์ ทางพุทธก็จับมาเล่าพรรณนาไปตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา ใช้คำเดียวกันแต่ให้ความหมายไปคนละอย่าง

 

จาก หนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๒ หน้า ๑๔๘ – ๑๕๕