Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๘๓

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

พระเจ้ามันธาตุราช

 

คำว่า สักกะ เป็นต้น ที่เรียกกันเป็นพื้นว่า พระอินทร์ นั้นเป็นชื่อตำแหน่งของเทวราชผู้ครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งองค์หนึ่งจุติไปแล้ว ก็มีอีกองค์หนึ่งเกิดขึ้นมาแทน สืบต่อกันไปดั่งนี้ไม่ขาดสาย ดั่งมีเรื่องเล่าใน มันธาตุราชชาดก ว่า

ในครั้งปฐมกัลป์ เมื่อมนุษย์มีอายุยืนนานนับไม่ถ้วน (อสงไขย) พระเจ้ามันธาตุ ซึ่งสืบต่อพระวงศ์ตรงมาจาก พระเจ้ามหาสมมตราช ผู้เป็นพระราชาองค์แรกของโลก ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิครองโลกนับเป็นองค์ที่ ๘ พระเจ้ามันธาตุมีฤทธานุภาพมาก ครองโลกมนุษย์อยู่นานจนเบื่อแล้วก็ขึ้นไปครองสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช ท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์ก็ต้อนรับยอมให้ครอบครอง พระเจ้ามันธาตุครองสวรรค์ชั้นแรกนี้นานเข้าก็เบื่ออีก จึงขึ้นไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ท้าวสักกะก็ทรงต้อนรับแบ่งดาวดึงส์ให้ครองกึ่งหนึ่ง พระเจ้ามันธาตุครองดาวดึงส์อยู่นาน ท้าวสักกะจุติไปและเกิดขึ้นใหม่องค์แล้วองค์เล่าถึง ๓๖ องค์ ก็เกิดเบื่อที่จะครองเพียงกึ่งเดียว คิดจะปลงพระชนม์ท้าวสักกะ เพื่อจะครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ทั้งหมด

แต่ธรรมดาว่าท้าวสักกะไม่มีใครจะปลงพระชนม์ได้ ความคิดปรารถนาของพระเจ้ามันธาตุเป็น ตัณหา (ความทะยานอยากดิ้นรน) เป็นมูลแห่งวิบัติทำให้อายุสั้น ทำให้แก่ แต่เป็นธรรมดาว่าสรีระมนุษย์ไม่แตกทำลายในเทวโลก คือไม่ตายทิ้งซากไว้บนสวรรค์ พระเจ้ามันธาตุจึงตกจากสวรรค์ ลงมาผทมเป็นวาระสุดท้ายในพระราชอุทยาน เมื่อราชตระกูลได้ทราบ พากันมาเฝ้าแวดล้อม มีรับสั่งให้ประกาศแก่มหาชนว่า พระองค์คือมันธาตุมหาราช พระจักรพรรดิราชของโลก พระราชาในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา พระราชาในเทวโลกชั้นดาวดึงส์ ครองสวรรค์ชั้นนั้นอยู่ ๓๖ ชั่วอายุท้าวสักกะ ก็ทำตัณหาให้เต็มไม่ได้ ต้องตกลงมาจากสวรรค์สิ้นพระชนม์ ครั้นรับสั่งไว้ให้ประกาศดั่งนี้แล้ว ก็สิ้นพระชนม์ไปตามกรรม

 

 

ชาดกเรื่องนี้ ท่านเล่าไว้เพื่อแสดงโทษของ ตัณหา ว่าไม่มีใครทำให้อิ่มให้เต็มได้ เหมือนอย่างมหาสมุทรไม่มีอิ่มน้ำไฟไม่มีอิ่มเชื้อ เมื่อท่านเล่าชาดกนี้แล้ว ก็ได้แสดงเป็นพระพุทธภาษิตความว่า จันทร์และอาทิตย์ส่องสว่างไปตลอดทิศเพียงใด หมู่สัตว์ที่อาศัยแผ่นดินตลอดทิศเพียงนั้น ล้วนเป็นข้าแผ่นดินของพระเจ้ามันธาตุทั้งหมด (พระองค์มีบุญญานุภาพ ปรบพระหัตถ์ให้ฝนกหาปณะตกลงได้) ความอิ่มในกามทั้งหลายด้วยฝนคือกหาปณะย่อมไม่มี (จึงทะยานขึ้นไปครองสวรรค์ ๒ ชั้น เมื่อคิดทะยานเกินวิสัยขึ้นไปอีกจึงร่วงลงมา) บัณฑิตรู้อย่างนี้ว่า กามทั้งหลายมีความน่ายินดีน้อย มีทุกข์มาก จึงไม่ติดใจยินดีในกามทั้งหลายแม้ที่เป็นทิพย์ สาวกของพระสัมมาสัมพุทธะ ย่อมยินดีในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา นอกจากได้คติธรรมดังกล่าว ยังได้คติความเชื่อว่า คำว่า สักกะ เป็นตำแหน่งผู้ครองสวรรค์ชั้นนี้ทุกกาลสมัย ใครมีบุญขึ้นไปครองก็เรียกว่า สักกะ ทุกองค์ตั้งแต่ปฐมกัลป์ของโลกก็เรียกอย่างนี้ ส่วนท้าวสักกะที่กล่าวถึงว่าเสด็จมาเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายเป็นองค์ที่มฆมาณพไปเกิด ดังเล่าในบาลีสักกสังยุตที่เก็บมาเล่าไว้แล้ว

 

ตำแหน่งท้าวสักกะพระอินทร์

เรื่องตำแหน่งท้าวสักกะหรือพระอินทร์ เป็นตำแหน่งราชาแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น ยังได้อ้างใน วิสัยหชาดกอรรถกถา เล่าเรื่องท้าวสักกะในสมัยดึกดำบรรพ์ก่อนพุทธกาลนานไกล แต่ท้าวสักกะองค์นี้ดูจะหวงตำแหน่งอยู่มาก จนถึงเกรงว่ามนุษย์ผู้ตั้งหน้าทำความดีจะคิดแย่งตำแหน่ง ความย่อมีว่า

มีเศรษฐีผู้หนึ่งในกรุงพาราณสีชื่อว่า วิสัยหะ เป็นคนใจบุญ ถือศีล ๕ มีอัธยาศัยยินดีในทานการบริจาค ตั้งโรงทานที่ประตูเมืองทั้ง ๔ ที่กลางเมืองและที่นิเวศน์ของตน สละทรัพย์บริจาคทานมีจำนวนมากมายทุกๆ วัน ร้อนถึงท้าวสักกเทวราช (นี้เป็นสำนวนไทย ส่วนสำนวนมคธว่า ภพของท้าวสักกะหวั่นไหวด้วยอานุภาพทาน แท่นปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของเทวราชแสดงอาการร้อน) ท้าวเธอทรงสอดส่องค้นหาว่า ใครหนอคิดจะทำพระองค์ให้เคลื่อนจากฐานะ (ตำแหน่ง) ก็ได้ทรงเห็นเศรษฐีผู้บริจาคทานเป็นการใหญ่ ซึ่งชะรอยว่าจะหวังให้ทานนี้ส่งผลให้พระองค์หลุดจากตำแหน่ง แล้วขึ้นมาเป็นท้าวสักกะเสียเอง จำที่พระองค์จะบันดาลให้ทรัพย์สินของเศรษฐีนั้นหายไปให้หมด ให้เศรษฐีกลายเป็นทุคคตะเข็ญใจ ไม่มีอะไรจะทำทานต่อไปได้

ท้าวเธอทรงดำริอย่างนี้แล้ว ก็ทรงบันดาลให้ทรัพย์ทุกอย่างตลอดถึงทาสกรรมกรผู้คนทั้งปวงของเศรษฐีอันตรธานไปทั้งสิ้น ไม่มีเหลือสักสิ่งหนึ่ง สักคนหนึ่ง ผู้จัดการทานจึงมาแจ้งให้เศรษฐีทราบ ฝ่ายเศรษฐีเมื่อได้ทราบดังนั้น ก็สั่งให้ภริยาค้นหาสิ่งอะไรที่จะทำทานทั่วบ้าน ก็ไม่มีอะไร ให้เปิดคลังค้นหาก็ไม่พบอะไร ว่างเปล่าไปทั้งนั้น เศรษฐีก็ไม่ย่อท้อ คิดจะทำทานให้จงได้ จึงชวนภริยาคว้าเคียว ตะกร้า และเชือกที่เผอิญมีคนตัดหญ้าขายคนหนึ่งมาทิ้งไว้ ตรงไปที่ดงหญ้าช่วยกันเกี่ยวหญ้าไปขาย ได้ทรัพย์มาแล้วก็ทำทานแก่ยาจกวณิพกผู้มาขอ จนหมดทรัพย์ที่ได้จากการขายหญ้าเรื่อยมาเป็นเวลาหลายวัน เศรษฐีเป็นคนสุขุมาลชาติเคยสุขสบาย เมื่อมาต้องตรากตรำทำงานเป็นกรรมกรและอดอยาก ก็หมดกำลังลงทุกที แต่ก็ใจแข็ง มีความตั้งใจแรง อดทนเกี่ยวหญ้าขายทำทานติดต่อกันไปได้จนถึงวันที่ ๗ ก็เป็นลมล้มฟุบลงบนกองหญ้า

ฝ่ายท้าวสักกะได้ทรงเฝ้าติดตามสังเกตดูอยู่ ทรงเห็นว่าเศรษฐีไม่ยอมเลิกทำทานด้วยวิธีที่ทรงบันดาลให้ทรัพย์หายไปนั้นแน่ จึงทรงบันดาลให้เศรษฐีได้เห็นพระองค์ลอยอยู่ในอากาศในขณะนั้น ตรัสขึ้นว่า ก่อนแต่นี้ เศรษฐีได้ให้ทานจึงได้สิ้นเนื้อประดาตัว ถ้าว่าต่อแต่นี้ไปจะไม่ให้ทาน เก็บรวบรวมไว้ก็จะตั้งโภคสมบัติขึ้นได้ เศรษฐีถามทราบว่าเป็นท้าวสักกะ แทนที่จะตื่นเต้นเชื่อฟังกลับคิดหมิ่นว่า ไฉนท้าวสักกะซึ่งขึ้นไปเกิดเป็นท้าวสักกะได้เพราะความดีจึงมาห้ามไม่ให้ทำความดี จึงได้กล่าวตอบยืนยันว่า ปวงบัณฑิตกล่าวว่า อารยชนคนเจริญ แม้ยากแค้นแสนเข็ญ ก็ไม่ทำอนารยกรรม (กรรมที่มิใช่ของคนเจริญ คือกรรมที่ไม่ดี เช่นท้าวสักกะมาห้ามความดีของเขา ก็เป็นการทำไม่ดีเหมือนกัน) อย่าให้มีทรัพย์ที่เป็นเหตุให้สละศรัทธาบริจาคขึ้นเลยทีเดียว ทางที่รถคันหนึ่งแล่นไปได้ก็เป็นทางที่รถอีกคันหนึ่งแล่นไปได้เหมือนกัน (ทาน ศีล เป็นทางไปสวรรค์ ท้าวสักกะไปได้ เศรษฐีก็ไปได้เหมือนกัน) ขอให้วัตร (ข้อปฏิบัติ) เก่าแก่ที่ฝังลง (เป็นรากฐานของแผ่นดินแล้วคือทานวัตรนี้) จงสถิตเป็นวัตรต่อไปเถิด (อย่าถอนรากฐานของแผ่นดินออกเสียเลย แผ่นดินจะถล่ม ฟ้าก็จะถล่มลงด้วย) ผิว่ามีทรัพย์ก็จักให้ต่อไป เมื่อไม่มี ก็จะให้อะไรๆ แม้เป็น (ทุคคตะ) อย่างนี้ก็จักให้ อย่าประมาททานเลย

ท้าวสักกะเมื่อไม่อาจห้ามได้ จึงตรัสถามความประสงค์ที่ให้ทานนั้น เศรษฐีนั้นเป็นพระโพธิสัตว์จึงตอบว่า ตนมิได้ปรารถนาจะเป็นท้าวสักกะ มิได้ปรารถนาจะเป็นพรหม แต่ปรารถนาจะเป็นองค์พระสัพพัญญูพุทธเจ้าในอนาคต ท้าวสักกะได้ทรงสดับแล้วพอพระหฤทัย ทรงลูบหลังของเศรษฐีด้วยพระหัตถ์ เศรษฐีก็กลับมีสกนธ์กายบริบูรณ์ อิ่มเอิบแข็งแรง ในขณะนั้นทรัพย์สมบัติทั้งปวงที่อันตรธานไปก็กลับปรากฏขึ้นเหมือนอย่างเดิมด้วยสักกานุภาพ ท้าวสักกะได้ประทานทรัพย์นับไม่สิ้นสุดให้ เพื่อเศรษฐีจะได้บริจาคทานต่อไป นานเท่าไรก็ไม่หมดตามอัธยาศัย

เรื่องนี้เมื่อดูไปตามท้องนิทาน ก็เกิดจากท้าวสักกะระแวงว่าจะถูกแย่งตำแหน่ง หรือที่เรียกในบัดนี้ว่ากลัวถูกแย่งเก้าอี้ แต่เมื่อพิจารณาเข้าไปในท้องนิทาน ก็น่าจะได้สารคติแฝงอยู่หลายประการ สารคติที่สำคัญนั้นคือการที่จะทำทานนั้น ทีแรกต้องมีทรัพย์สิ่งของที่จะให้ก่อน ฉะนั้น ก็ต้องทำทรัพย์ให้มีขึ้นก่อนจึงทำทานได้ เมื่อมีที่จะให้ไม่สิ้นสุด จึงอาจให้ได้ไม่สิ้นสุด การให้จึงมีขอบเขตจำกัดอยู่กับการมี ผู้มีอัธยาศัยในทานจึงต้องมีอัธยาศัยในการหาทรัพย์ให้เกิดงอกงามเจริญด้วย คือต้องมีปัญญาหาทรัพย์ และมีปัญญาที่จะเลือกให้ เมื่อให้ทรัพย์ก็ไม่หมดสิ้น และการให้ก็ไม่หมดสิ้น ทั้งเป็นการให้ในทางที่เป็นประโยชน์ เมื่อให้ในทางที่เป็นประโยชน์ที่ถาวรเท่าใด ก็เป็นการให้ที่ไม่หมดสิ้นเท่านั้น ในบัดนี้ เช่น ตั้งเป็นนิธิหรือสร้างสิ่งที่เป็นถาวรประโยชน์ต่างๆ แม้ทรัพย์หรือวัตถุที่ให้จะเป็นส่วนน้อย แต่ก็เป็นการให้ที่ไม่สิ้นสุด แม้การให้เพื่ออุปการะเกื้อกูลบุคคลเกื้อกูลสัตว์ก็เช่นเดียวกัน เพราะช่วยให้เกิดความสุขความเจริญสืบต่อไป แต่การทำความดีเด่นนั้นก็อาจถูกคนดีด้วยกันที่เขาคิดว่าจะเอาดีไปเสียคนเดียว หรือคิดว่าจะแย่งดีแย่งชื่อเสียง ริษยาขัดขวางเอาได้ จึงอาจต้องผจญคนดีด้วยกันอีกก็ได้ ถ้าไม่ย่อท้อถอยหลังเสีย รักษาแนวดีของตนไว้ให้มั่น ไม่หุนหันพลันแล่นว่าเขาเป็นศัตรู ไม่ด่วนเร่งที่จะให้ผลิตผลก่อนฤดูกาล ก็จะเป็นผู้ชนะชนิดที่ไม่มีใครแพ้ ในเมื่อความดีนั้นปรากฏว่าไม่เป็นอันตรายแก่ใคร ไม่เป็นของจำเพาะใคร แต่เป็นความดีที่เป็นประโยชน์แก่ทุกคน เป็นสาธารณ์แก่ทุกคน ไม่มีใครต้องเสียตำแหน่งความดีไป

 

จาก หนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๒ หน้า ๑๔๓ – ๑๔๗