Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๘๒

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก


อดีตชาติของเทวดา

 

ยังมีเรื่องที่เกี่ยวกับพระอินทร์ที่น่านำมาเล่ารวมไว้ด้วย เรื่องแรกเล่าไว้ในสักกสังยุตและในบาลีอุทาน มีเค้าเป็นเรื่องเดียวกัน จะเก็บเรื่องในบาลีอุทาน มาเล่าก่อน มีความย่อว่า

สมัยเมื่อพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระเวฬุวันใกล้กรุงราชคฤห์ มีชายคนหนึ่งเป็นโรคเรื้อน เป็นคนยากจนแร้นแค้นแสนเข็ญ ชื่อว่า สุปปพุทธะ ชื่อนี้ก็ฟังดีอยู่ แปลว่าตื่นแล้วด้วยดี แต่อรรถกถาไขความว่า ในคราวที่กำลังเป็นโรคเรื้อนอย่างแรงจนถึงเนื้อหลุด นอนร้องครวญครางอยู่ตามถนนตลอดคืน ทำให้คนไม่เป็นอันหลับอันนอน เสียงร้องครวญครางนั้นปลุกคนให้ตื่นอยู่ ไม่ได้หลับสบาย จึงได้ชื่ออย่างนั้น ในความหมายว่า ปลุกคนอื่นให้ตื่นจากการหลับสบาย

วันหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งแสดงธรรมแก่หมู่ชนกลุ่มใหญ่ สุปปพุทธะมองเห็นแต่ไกล คิดว่าคนประชุมกันอยู่เป็นอันมาก จะมีอาหารอะไรแบ่งให้บ้างเป็นแน่ จะต้องได้อาหารอะไรในที่นั้นบ้าง จึงเดินตรงเข้าไป ก็ได้เห็นว่าเขากำลังฟังธรรมกัน และพระพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงธรรม ก็หมดหวังในอาหาร แต่ก็เกิดอยากจะฟังธรรมบ้าง จึงนั่งลงฟังในที่ส่วนข้างหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูบริษัททั้งหมดในพระหฤทัย ทรงทราบด้วยพระญาณว่า ชายโรคเรื้อนผู้นี้เป็นภัพพบุคคล คือผู้ที่สมควรจะรู้ธรรมได้ จึงทรงมุ่งสุปปพุทธะชายโรคเรื้อน ทรงแสดงอนุปุพพิกถาต่อด้วยอริยสัจ ๔ จบแล้ว สุปปพุทธะได้ดวงตาเห็นธรรม กราบทูลสรรเสริญพระธรรมและแสดงตนเป็นอุบาสก ถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะตลอดชีวิต ได้ถวายอภิวาททำประทักษิณคือเวียนขวาหลีกออกไป สุปปพุทธะออกไปไม่นานนักก็ถูกแม่โคลูกอ่อนขวิดตาย

พวกภิกษุได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลถามคติเบื้องหน้าของสุปปพุทธะ ตรัสตอบว่า สุปปพุทธะเป็นโสดาบัน มีสัมโพธิ (ความตรัสรู้) เป็นเบื้องหน้า ภิกษุรูปหนึ่งกราบทูลถามอีกว่า เหตุใดสุปปพุทธะจึงเป็นคนยากจนแร้นแค้นแสนเข็ญ ตรัสตอบว่า สุปปพุทธะได้เคยเป็นลูกเศรษฐีในกรุงราชคฤห์นี้

วันหนึ่งออกไปชมสวนได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าพระนามว่า ตครสิขี เดินบิณฑบาตอยู่ในนคร ได้เกิดความคิดหมิ่นขึ้นว่า คนขี้เรื้อนนี้เป็นใครเที่ยวเพ่นพ่านอยู่ ได้ถ่มน้ำลาย เดินหลีกหันซ้ายให้แก่พระปัจเจกพุทธเจ้าไป ซึ่งเป็นการจงใจแสดงกิริยาหมิ่นไม่เคารพ (เป็นธรรมเนียมว่า ทำประทักษิณเป็นกิริยาเคารพ คือเวียนขวาในโอกาสที่ลากลับ หรือให้เบื้องขวาของตนในโอกาสที่เดินหลีกกัน คือตนเองถือเอาทางซ้าย ให้ทางขวาแก่ท่านที่เคารพ แต่ถ้าตนเองถือเอาทางขวามือของตน ให้ทางซ้ายมือของตนแก่ท่าน ก็เป็นกิริยาหมิ่นไม่เคารพ บาลีว่า อปพฺยามโต กริตฺวา) สุปปพุทธะไหม้อยู่ในนิรยะช้านาน เพราะวิบากที่เหลือของกรรมนั้น จึงได้เป็นมนุษย์ยากจนแร้นแค้นแสนเข็ญ ในกรุงราชคฤห์นี้ สุปปพุทธะอาศัยธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศ มีศรัทธา สมาทานศีล สุตะ จาคะ ปัญญาแล้ว จึงไปเกิดเป็นสหายของเทพชั้นดาวดึงส์ รุ่งเรืองด้วยวรรณะและยศ ยิ่งกว่าเทพอื่นๆ ในดาวดึงส์นั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงเปล่งพระอุทานนี้ในเวลานั้น มีความว่า บัณฑิต เมื่อมีเพียรบากบั่น ก็ควรเว้นบาปทั้งหลายในชีวโลกเสีย เหมือนคนมีจักษุเว้นทางที่ขรุขระเสียฉะนั้น

ใน สักกสังยุต เล่าต่อไปในภาคสวรรค์ แต่มิได้ระบุชื่อว่า ได้เคยมีบุรุษผู้หนึ่งในกรุงราชคฤห์นี้ เป็นมนุษย์ยากจนแร้นแค้นแสนเข็ญ ได้มีศรัทธา ศีล เป็นต้น ตายแล้วบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ รุ่งเรืองยิ่งกว่าเทพอื่นๆ เหมือนดังกล่าวไว้ในบาลีอุทานนั้น ฝ่ายเทพชั้นดาวดึงส์ก็พากันพูดค่อนขอดแคะไค้ ลำเลิกภาวะเมื่อครั้งเป็นมนุษย์ยากจน แต่มาเกิดเป็นเทพ รุ่งเรืองเกินเทพอื่นๆ ท้าวสักกเทวราชได้ทรงเรียกเทพชั้นดาวดึงส์มาทรงชี้แจงว่า อย่าได้ค่อนขอดเทวบุตรนี้เลย เพราะเมื่อเธอเป็นมนุษย์ในชาติก่อนได้สร้างสม ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตพุทธเจ้าประกาศ แล้วจึงมาบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เป็นสหายของทวยเทพชั้นดาวดึงส์ รุ่งเรืองด้วยวรรณะและยศยิ่งกว่าเทพอื่นๆ ท้าวสักกเทวราชได้ตรัสธรรมภาษิตอบรมเทพชั้นดาวดึงส์ต่อไปว่า ผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่นดีไม่หวั่นไหวในพระตถาคตเจ้า มีศีลงดงามซึ่งพระอริยเจ้าประสงค์ยกย่อง มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์ และมีทัสสนะคือความเห็นที่ตรง หมู่บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่า ไม่ยากจน ชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่าประโยชน์ เพราะฉะนั้น ผู้ทรงปัญญาเมื่อระลึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธะทั้งหลาย ก็ควรหมั่นประกอบศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส ความเห็นธรรมกันเถิด

            ในอรรถกถาแห่งสังยุตนี้ เล่าอดีตชาติของเทวบุตรนั้นก่อนแต่มาเกิดเป็นเทวบุตรว่าเป็นคนเข็ญใจชื่อว่า สุปปพุทธะ ดำเนินเรื่องเหมือนในบาลีอุทาน แต่เล่าแปลกไปว่า ชาวเมืองสร้างมณฑปใหญ่ในที่กลางนคร นิมนต์พระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขไปเสวย และได้ให้อาหารแก่สุปปพุทธะบริโภคจนหายหิวโหย อิ่มหนำสำราญรวมจิตแน่วแน่ได้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงอริยสัจอนุโมทนาภัตตทานของชาวเมือง ครั้งนั้นสุปปพุทธะฟังแล้วได้โสดาปัตติผล และได้เล่าบุพพกรรมของสุปปพุทธะผิดไปจากบาลีอุทานว่า เมื่อครั้งเป็นราชาครองกรุงพาราณสีแห่งกาสิกรัฐ เสด็จเลียบทำประทักษิณพระนคร ทรงประมาทหมิ่นพระปัจเจกพุทธเจ้า คล้ายกับที่เล่าในบาลีอุทาน (แต่ในบาลีอุทานว่าเป็นบุตรเศรษฐี)

ในอรรถกถาอุทาน เล่าเรื่องพิสดารออกไปอีกว่า เมื่อสุปปพุทธะฟังเทศน์จบ ได้บรรลุคุณพิเศษแล้ว ปรารถนาจะกราบทูลแด่พระศาสดา แต่ก็ไม่อาจจะฝ่าฝูงชนเข้าไปได้ ครั้นมหาชนพากันตามส่งเสด็จพระศาสดากลับไปวัดแล้ว ก็ได้ตรงไปวัด ในขณะนั้นท้าวสักกเทวราชทรงทราบ ทรงใคร่จะทดลองสอบสวน จึงเสด็จไปปรากฏพระองค์ในอากาศ ตรัสว่า สุปปพุทธะเป็นคนยากจนแร้นแค้นแสนเข็ญ พระองค์จักประทานทรัพย์นับไม่ถ้วน ขอแต่เพียงว่าให้สุปปพุทธะจงพูดว่า พระพุทธเจ้าไม่ใช่พระพุทธเจ้า พระธรรมไม่ใช่พระธรรม พระสงฆ์ไม่ใช่พระสงฆ์ เราเลิกกันทีกับพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ฝ่ายสุปปพุทธะได้ถามว่า ผู้ที่ลอยพูดอยู่นั่นเป็นใคร เมื่อได้ฟังคำตอบว่า คือท้าวสักกเทวราช จึงกล่าวว่า ท้าวสักกเทวราชเป็นอันธพาลไม่มีละอาย ซึ่งมากล่าวคำที่ไม่ควรกล่าวอย่างนี้ ไม่ใช่ผู้ที่ควรจะกล่าวกับตน เหตุไฉนท้าวสักกะจึงกล่าวว่า ตนเป็นทุคคตะเข็ญใจไร้มิตรญาติ ก็ตนเป็นบุตรโอรสพระพุทธเจ้า ผู้เป็นนาถะของโลก จึงไม่เป็นทุคคตะเข็ญใจไร้มิตรญาติ โดยที่แท้ ตนบรรลุความสุขอย่างยิ่งแล้ว ทั้งตนเป็นคนมั่งมีทรัพย์มาก ยกพระพุทธภาษิตขึ้นกล่าวว่า ทรัพย์คือศรัทธา ทรัพย์คือศีล ทรัพย์คือหิริ (ความละอายหรือรังเกียจบาป) ทรัพย์คือโอตตัปปะ (ความกลัวเกรงบาป) ทรัพย์คือสุตะ (ความสดับศึกษา) ทรัพย์คือจาคะ (การสละ) ทรัพย์คือปัญญาเป็นที่ครบ ๗ ทรัพย์เหล่านี้มีแก่ผู้ใด เป็นสตรีหรือบุรุษก็ตาม บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่าผู้นั้นไม่ยากจน ชีวิตของผู้นั้นไม่เป็นโมฆะ (เปล่าประโยชน์)

ท้าวสักกะล่วงหน้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลคำที่โต้ตอบกันทั้งหมด พระพุทธเจ้าตรัสว่า ท้าวสักกะตั้งร้อยตั้งพันองค์ก็ไม่อาจจะทำสุปปพุทธะให้พูดปฏิเสธพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ได้ ฝ่ายสุปปพุทธะไปถึงวิหารแล้ว เข้าไปเฝ้าพระศาสดา กราบทูลคุณวิเศษที่ตนได้บรรลุ ออกจากที่เฝ้ากลับไปก็ถูกแม่โคขวิดสิ้นชีวิต

เรื่องพระอินทร์มาทดลองน้ใจนี้ให้คติว่า ผู้ที่เห็นธรรมในพระพุทธศาสนาแล้ว ย่อมมีศรัทธาตั้งมั่นในพระรัตนตรัยไม่มีเปลี่ยนแปลง อย่างที่พูดกันในคำไทยเก่าๆ ว่า ถึงจะมีพระอินทร์มาเขียวๆ ก็ไม่เปลี่ยนใจ ไม่ต้องกล่าวถึงเทวดามนุษย์อื่นๆ ทั้งนี้เพราะมีอริยทรัพย์ ซึ่งเป็นทรัพย์ทางใจบริบูรณ์แล้ว และได้มองเห็นแล้วว่าเป็นสิ่งประเสริฐกว่าทรัพย์ภายนอกทั้งหมด แม้จะเป็นสมบัติจักรพรรดิ อริยทรัพย์นี้ได้มาจากพระพุทธเจ้า หรือได้เนื่องมาจากพระพุทธเจ้า ซึ่งทรงเป็นผู้ค้นพบและได้ประทานไว้แก่โลก ฉะนั้น จึงไม่ใช่วิสัยของผู้เห็นธรรมจะปฏิเสธพระรัตนตรัยได้เลย ใครๆ ก็ไม่อาจจะมาเปลี่ยนใจให้ออกห่างไปจากพระรัตนตรัยได้ ถึงแม้จะยากจนที่สุด และมีผู้นำทรัพย์นับไม่ถ้วนมาล่อ ดังเรื่องสุปปพุทธะนี้

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๒ หน้า ๑๓๘ – ๑๔๒