Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๘๑

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก


ความเพียร

ในเทวาสุรสงครามครั้งหนึ่ง ท้าวสักกะตรัสอบรม สุวีรเทวบุตร ซึ่งรับเทวโองการให้ยกไปรบอสุระ แล้วประมาทละเลยเสียถึง ๓ ครั้งว่า ผู้ที่ไม่มีความพากเพียรพยายาม จะบรรลุถึงความสุขได้ในที่ใด ก็ขอให้ไปในที่นั้นเถิด และช่วยบอกให้พระองค์ไปในที่นั้นด้วย

สุวีรเทวบุตรกราบทูลว่า ผู้ที่เกียจคร้าน ไม่ขยันหมั่นเพียร ไม่ทำกิจที่ควรทำแต่ก็ได้รับความสำเร็จทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรารถนา ขอประทานพรอย่างนี้แก่ตน

ท้าวสักกะตอบว่า คนเกียจคร้าน บรรลุถึงความสุขอย่างยิ่งในที่ใด ก็ให้สุวีรเทพบุตรไปในที่นั้นเอง และช่วยบอกให้พระองค์ไปในที่นั้นด้วย สุวีรเทพบุตรก็ยังกราบทูลขอประทานพรเพื่อให้ได้รับความสุขชนิดที่ไม่มีทุกข์โศกโดยไม่ต้องทำอะไร

ฝ่ายท้าวสักกะตรัสว่า ถ้าจะมีใครดำรงชีวิตอยู่โดยไม่ต้องทำอะไรในทิศทางไหน นั่นเป็นทางนิพพานแน่ ให้สุวีรเทพบุตรไปและช่วยบอกพระองค์ให้ไปด้วย

อีกเรื่องหนึ่ง ท้าวสักกะทรงอบรมสุสิมเทวบุตร เพราะปรารภเหตุเช่นเดียวกัน พระพุทธเจ้าได้ทรงเล่าเรื่องท้าวสักกะเป็นอดีตนิทานสาธกยกขึ้นเตือนภิกษุทั้งหลายว่า บวชแล้วก็พากเพียรพยายามเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง บรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ ทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้งเถิด

ในสงครามระหว่างเทพและอสุระ ครั้งหนึ่งหมู่ฤษีผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมคิดเห็นว่า พวกเทพตั้งอยู่ในธรรม ส่วนพวกอสูรไม่ตั้งอยู่ในธรรม จะพึงมีภัยจากอสุระ จึงพากันไปหา สัมพรอสุรินทร์ ขออภัยทักษิณาทาน (อภัยทาน) ฝ่ายสัมพรอสุรินทร์ได้กล่าวว่า ไม่ให้อภัยแก่พวกฤษีชั่วร้ายซึ่งคบท้าวสักกะ พากันมาขออภัยก็ดีแล้ว จะให้ภัยแก่ฤษีพวกนี้สักที พวกฤษีได้กล่าวสาปสัมพรอสุรินทร์ว่า ภัยจงมีแก่ผู้ให้ภัย หว่านพืชเช่นใดก็ย่อมได้รับผลเช่นนั้น ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว หว่านพืชแล้วก็จักเสวยผลของพืชที่หว่านเอง ในราตรีนั้น สัมพรอสุรินทร์นอนผวาตื่นสะดุ้งหวาดเสียวขึ้น ๓ ครั้ง พระอาจารย์กล่าวอธิบายว่า เพราะเหตุที่ถูกสาปจนนอนสะดุ้งดังนั้น จึงได้ชื่อว่า เวปจิตติ สืบมา

ในบางคราว ทั้งสองฝ่ายก็สงบสงครามกันและไปด้วยกัน แต่ก็ยังคงมีความเห็นและความประพฤติต่างกัน

ครั้งหนึ่งท้าวสักกะทรงดำริว่า ไม่ควรประทุษร้ายศัตรู เวปจิตติอสุรินทร์ทราบพระดำรินั้นด้วยใจ จึงเข้าไปหาท้าวสักกะ ณ ที่ประทับ ท้าวสักกะทอดพระเนตรเห็นแต่ไกล ตรัสสั่งให้เวปจิตติอสุรินทร์หยุด ตรัสว่าทรงจับได้ (ว่าลอบเข้ามา) แล้ว เวปจิตติอสุรินทร์จึงถามว่า ท้าวสักกะทรงละความคิดเดิมว่าจะไม่ทำร้ายศัตรูเสียหรือ ท้าวสักกะตรัสให้เวปจิตติอสุรินทร์สบถก่อนว่าจะไม่ทำร้าย เวปจิตติอสุรินทร์จึงสบถว่า บาปของผู้กล่าวเท็จ บาปของผู้กล่าวร้ายพระอริยเจ้า บาปของผู้ประทุษร้ายมิตร บาปของผู้อกตัญญู ขอให้บาปนั้นทั้งหมดจงตกต้องผู้ประทุษร้ายต่อท้าวสักกะ

ในบางครั้ง ท้าวสักกะและเวโรจนอสุรินทร์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยกันในวิหารสำหรับประทับพักกลางวัน ต่างยืนพิงพาหาประตูองค์ละข้าง ทั้งสองต่างได้กล่าวภาษิตถวายพระพุทธเจ้า สรรเสริญความเพียรพยายามจนกว่าจะสำเร็จประโยชน์ แต่คำของพระอินทร์กล่าวแกมสรรเสริญขันติ

ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในวิหารสำหรับประทับพักกลางวัน ท้าวสักกะและสหัมบดีพรหมเข้าไปเฝ้า ยืนพิงพาหาประตูองค์ละข้าง ท้าวสักกะกราบทูลขอให้ทรงหมั่นจาริกเที่ยวไปในโลก เพราะทรงมีจิตวิมุตติดีแล้ว เหมือนดวงจันทร์วัน ๑๕ ค่ำส่วนสหัมบดีพรหมกราบทูลขอให้ทรงหมั่นจาริกเที่ยวไปแสดงธรรมในโลก เพราะผู้รู้ธรรมจักมี

ในบางครั้ง ท้าวสักกะและเวปจิตติอสุรินทร์ไปหาฤษีผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมด้วยกัน เวปจิตติอสุรินทร์สวมรองเท้า คาดขรรค์ กั้นร่ม เข้าสู่อาศรมทางประตูเอก เดินเฉียดหมู่ฤษีโดยไม่เคารพ ฝ่ายท้าวสักกะถอดฉลองพระบาท ประทานพระขรรค์แก่เทพอื่น ลดฉัตร เข้าไปสู่อาศรมทางประตู ยืนประคองอัญชลีไปทางหมู่ฤษีในที่ใต้ลม หมู่ฤษีได้ขอให้ท้าวสักกะถอยออกไปจากทิศทางที่ลมจะโชยกลิ่นกายของพวกฤษีไป ท้าวสักกะตรัสว่า ทรงประสงค์กลิ่นที่ลมโชยไปจากกายของฤษี เหมือนอย่างทรงประสงค์มาลาดอกไม้งามบนศีรษะ พวกเทพไม่เห็นว่าปฏิกูลในกลิ่นกายฤษี

ครั้งหนึ่ง เวปจิตติอสุรินทร์ป่วยหนัก ท้าวสักกะเสด็จไปเยี่ยมถามอาการไข้ เวปจิตติอสุรินทร์ขอให้ท้าวสักกะทรงช่วยเยียวยารักษา ฝ่ายท้าวสักกะก็ทรงขอให้เวปจิตติอสุรินทร์บอก สัมพริมายา (มายามนต์ชื่อว่า สัมพริ เป็นมายามนต์ของอสุระกระมัง) ท้าวเวปจิตติอสุรินทร์ขออนุญาตพวกอสุระ แต่พวกอสุระห้ามไม่ให้บอก เวปจิตติอสุรินทร์จึงกล่าวผรุสวาทให้ท้าวสักกะไปนรก

ยังมีเรื่องเบ็ดเตล็ด เช่นครั้งหนึ่ง ท้าวสักกะเตรียมจะทรงเทพรถเสด็จทอดพระเนตรอุทยาน เมื่อเสด็จลงจากเวชยันตปราสาท ทรงประคองอัญชลีนอบน้อมไปในทิศทั้งปวง เมื่อพระมาตลีเทพสารถีทูลถาม ตรัสตอบว่า ทรงนอบน้อมบรรพชิตผู้มีศีลบริสุทธิ์ มีจิตตั้งมั่น ประพฤติพรหมจรรย์ และทรงนอบน้อมคฤหัสถ์ที่ทำบุญ มีศีล เลี้ยงดูภรรยาโดยธรรม บางครั้งเมื่อเสด็จลงจากเวชยันตปราสาท ทรงนมัสการพระพุทธเจ้า บางครั้งทรงนมัสการพระสงฆ์

 

ความไม่โกรธ

 เรื่องเกี่ยวกับความไม่โกรธ ได้มีเล่าไว้หลายเรื่อง เช่น ครั้งหนึ่ง ท้าวสักกะเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลถามว่า ฆ่าอะไรได้อยู่เป็นสุข ฆ่าอะไรได้ไม่โศก พระองค์โปรดให้ฆ่าอะไรเพียงข้อเดียว ตรัสตอบว่า ฆ่าความโกรธ

ครั้งหนึ่ง มียักษ์ตนหนึ่งผิวพรรณเศร้าหมอง รูปร่างน่าเกลียด ขึ้นไปนั่งบนอาสนะของท้าวสักกะ พวกเทพชั้นดาวดึงส์พากันโพนทนาติเตียน แต่ยิ่งโพนทนาติเตียน ยักษ์นั้นก็ยิ่งงามยิ่งผ่องใส จนพวกเทพพากันประหลาดใจว่าจะเป็น ยักษ์กินโกรธ ท้าวสักกะทรงทราบแล้วได้เสด็จเข้าไป ทรงทำผ้าเฉวียงพระอังสะข้างซ้าย ทรงคุกพระชาณุมณฑลเบื้องขวาลงบนพื้นดิน (พรหมชาณุกะ คุกเข่าท่าพรหม) ทรงประคองอัญชลี (เหนือพระเศียร) ประกาศพระนามของพระองค์ขึ้น ๓ ครั้ง ว่าพระองค์คือท้าวสักกะจอมเทพ ยักษ์นั้นก็มีผิวพรรณเศร้าหมอง รูปร่างน่าเกลียดยิ่งขึ้นจนหายไปในที่นั้น ท้าวสักกะขึ้นประทับบนอาสนะของพระองค์แล้วตรัสอบรมพวกเทพ สาธกพระองค์เองว่า พระองค์ไม่ทรงโกรธมาช้านาน ความโกรธไม่ตั้งติดในพระองค์ แม้จะโกรธชั่ววูบเดียวก็ไม่กล่าวผรุสวาจา พระองค์ทรงข่มตนได้

ครั้งหนึ่ง ท้าวสักกะได้กล่าวอบรมเทพชั้นดาวดึงส์ว่า ให้มีอำนาจเหนือความโกรธ อย่าจืดจางในมิตร อย่าตำหนิผู้ไม่ควรตำหนิ อย่ากล่าวส่อเสียด ความโกรธทับบดคนบาปเหมือนภูเขา

อีกครั้งหนึ่ง ท้าวสักกะได้ตรัสอบรมพวกเทพชั้นดาวดึงส์ว่า อย่าให้ความโกรธครอบงำ อย่าโกรธตอบผู้โกรธ ความไม่โกรธและความไม่เบียดเบียนมีอยู่ในพระอริยะทั้งหลายทุกเมื่อ ส่วนความโกรธทับบดคนบาปเหมือนภูเขา

 

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๒ หน้า ๑๓๒ – ๑๓๗