Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๘๐

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก


วัตตบท ๗ ประการ

 

เรื่องพระอินทร์ที่กล่าวถึงในคัมภีร์ชั้นบาลีก็มีเค้าเรื่องเช่นเดียวกับในอรรถกถาฎีกา ท่านรวบรวมไว้ สักกสังยุต ดั่งจะเลือกเก็บความมาเล่าต่อไป

 

ครั้งหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในศาลาประชุมที่สร้างเป็นเรือนยอดในป่ามหาวันใกล้กรุงเวสาลี เจ้าลิจฉวีชื่อ มหาลิ เข้าไปเฝ้ากราบทูลว่า พระพุทธองค์ได้ทรงเคยเห็นท้าวสักกะจอมเทพแล้วหรือ พระองค์ตรัสตอบว่าได้ทรงเห็น เจ้ามหาลิก็ยังสงสัย กราบทูลว่า ท้าวสักกะจอมเทพที่ทรงเห็นนั้นน่าจะเป็นท้าวสักกะปลอม เพราะท้าวสักกะจอมเทพเห็นได้ยาก พระองค์ตรัสตอบว่า ทรงรู้จักท้าวสักกะ ทั้งทรงทราบธรรมที่ท้าวสักกะประพฤติแล้วจึงเกิดเป็นท้าวสักกะ

 

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าต่อไปว่า ท้าวสักกะจอมเทพเมื่อเป็นมนุษย์ในกาลก่อน ได้เป็นมาณพชื่อว่า มฆะ ฉะนั้น จึงเรียกว่า ท้าวมฆวา หรือ มฆวาน

เมื่อเป็นมนุษย์ในกาลก่อน ได้ให้ทานในเมือง ฉะนั้น จึงเรียกว่า ท้าวปุรินททะ

เมื่อเป็นมนุษย์ในกาลก่อน ได้ให้ทานโดยสักการะเคารพ ฉะนั้น จึงเรียกว่า ท้าวสักกะ

เมื่อเป็นมนุษย์ในกาลก่อน ได้ให้ที่พัก ฉะนั้น จึงเรียกว่า ท้าววาสะ หรือ วาสพ

ทรงคิดรู้ความทั้งพันชั่วเวลาครู่เดียว ฉะนั้น จึงเรียกว่า ท้าวสหัสสักขะ หรือว่า สหัสสเนตร แปลเหมือนกันว่า ท้าวพันตา

ท้าวสักกะมีอสุรกัญญาชื่อสุชา เป็นปชาบดี (ชายา) ฉะนั้น จึงเรียกว่า ท้าวสุชัมบดี

ท้าวสักกะครอบครองราชสมบัติ เป็นอิสริยาธิบดีแห่งทวยเทพชั้นดาวดึงส์ ฉะนั้น จึงเรียกว่า ท้าวเทวานมินทะ (จอมเทพ เรียกสั้นว่า พระอินทร์)

ท้าวสักกะจอมเทพ เมื่อเป็นมนุษย์ในกาลก่อน ได้สมาทานประพฤติปฏิบัติ วัตตบท ๗ ประการ จึงเกิดเป็นท้าวสักกะ คือ

. เลี้ยงมารดาบิดาตลอดชีวิต

. ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้เป็นเชษฐะ (ผู้เจริญคือผู้ใหญ่) ในตระกูลตลอดชีวิต

. มีวาจานุ่มนวลสุภาพตลอดชีวิต

. มีวาจาไม่ส่อเสียดตลอดชีวิต

. มีใจปราศจากความตระหนี่ ยินดีในการแจกจ่ายทาน ครอบครองเรือนตลอดชีวิต

. มีวาจาสัตย์จริงตลอดชีวิต

. ไม่โกรธ แม้ว่าถ้าเกิดโกรธขึ้น ก็ระงับได้ทันทีตลอดชีวิต

 

ธชัคคสูตรธรรมเครื่องขจัดความกลัว

เรื่อง เทวาสุรสงคราม ได้มีเล่าไว้ในคัมภีร์ชั้นบาลีหลายแห่ง เรื่องมีชื่อเสียงที่ใช้สวดเป็นพระปริตต์คือ ธชัคคสูตร (สูตรที่แสดงถึงยอดธง) มีความว่า

สมัยเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในเชตวนารามของอนาถบิณฑิกะใกล้กรุงสาวัตถี ได้ตรัสเรื่องเทวาสุรสงครามแก่ภิกษุทั้งหลาย มีความว่า

เรื่องเคยมีมาแล้ว สงครามระหว่างเทพและอสูรได้เกิดประชิดติดพันกันขึ้น ท้าวสักกะจอมเทพเรียกประชุมเทพชั้นดาวดึงส์ ตรัสสั่งว่า ถ้าเทพผู้เข้าสงครามพึงเกิดความกลัว ความหวาดเสียว หรือความสะดุ้งขนพองสยองเกล้า ก็ให้มองดูยอดธงของพระองค์ ไม่เช่นนั้นก็ให้มองดูยอดธงของเทวราชชื่อ ปชาบดี ไม่เช่นนั้นก็ให้มองดูยอดธงของเทวราชชื่อ วรุณ ไม่เช่นนั้นก็ให้มองดูยอดธงของเทวราชชื่อ อีสาน ความกลัว ความหวาดเสียว หรือความขนพองสยองเกล้าก็จักหายไป

เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสเล่าเรื่องเทวาสุรสงครามในอดีตดั่งนี้แล้ว ก็ได้ตรัสน้อมเข้ามาทางพระพุทธศาสนาว่า เมื่อพวกเทพที่เข้าสงครามมองดูยอดธงของท้าวสักกะจอมเทพ หรือของเทวราชอีก ๓ องค์นั้น ความกลัว ความหวาดเสียว หรือความขนพองสยองเกล้าจักหายไปก็ได้ ไม่หายไปก็ได้ เพราะเหตุที่ท้าวสักกะจอมเทพเองยังมิใช่ผู้ปราศจากราคะโทสะโมหะ ยังมีความกลัว ความหวาดเสียว ความสะดุ้ง ยังต้องพ่ายหนี ส่วนพระองค์ตรัสอย่างนี้ว่า ถ้าท่านทั้งหลายไปอยู่ป่า ไปอยู่โคนไม้ หรืออยู่ในเรือนว่าง จักพึงเกิดความกลัว ความหวาดเสียว หรือความขนพองสยองเกล้าขึ้น ก็พึงระลึกถึงพระองค์ หรือระลึกถึงธรรม หรือระลึกถึงสงฆ์ เมื่อระลึกถึงอยู่ดังนี้ ความกลัว ความหวาดเสียว หรือความขนพองสยองเกล้าจักหายไป เพราะเหตุที่พระตถาคต เป็นผู้ปราศจากราคะโทสะโมหะ เป็นผู้ไม่กลัว ไม่หวาดเสียว ไม่สะดุ้ง ไม่พ่ายหนี

พระสูตรนี้มีข้อน่าสังเกตว่า มีคำขึ้นต้นว่า เรื่องเคยมีมาแล้ว ใช้ขึ้นต้นเมื่อจะเล่าเรื่องแต่อดีตที่ล่วงมาแล้วนาน แสดงว่าเป็นเรื่องที่เล่ากันมานาน และการนำเรื่องเก่ามาเล่าในคัมภีร์ชั้นบาลีทุกแห่ง จะเป็นเรื่องนี้หรือเรื่องอื่นก็ตาม ก็เพื่อสาธกธรรม ดั่งที่เรียกว่า นิทานสุภาษิต ในเรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน นำเรื่องเทวาสุรสงครามตอนนี้มาเล่าก็เพื่อสอนให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นต้น ในเมื่อเกิดความกลัวขึ้น เช่นเดียวกับพวกเทพเมื่อเข้าทำสงครามกับอสูรเกิดความกลัวขึ้น ก็ดูยอดธงของพระอินทร์ หรือของเทวราชรองลงมาทั้งหลาย(พระยอดธง น่าจะสร้างขึ้นตามนัยพระสูตรนี้)

 

ขันติธรรม

           ในสงครามคราวหนึ่ง เวปจิตติอสุรินทร์ สั่งพวกอสูรให้พยายามจับพระอินทร์พันธนาการมาอสุรบุรี ฝ่ายพระอินทร์ก็สั่งให้พวกเทพจับเวปจิตติอสุรินทร์พันธนาการมาสุธรรมสภาเช่นเดียวกัน ในสงครามครั้งนั้น พวกเทพชนะอสูร จึงจับเวปจิตติอสุรินทร์พันธนาการมาสุธรรมสภา เวปจิตติอสุรินทร์ เมื่อถูกพันธนาการ ๕ ตำแหน่ง (มือ ๒ เท้า ๒ และคอเป็นที่ ๕) ถูกนำเข้ามายังสุธรรมสภา ก็บริภาษด่าพระอินทร์ด้วยถ้อยคำหยาบช้าต่างๆ ทั้งในขณะที่เข้าไปและออกมา

พระมาตลีเทพสารถีทูลถามพระอินทร์ว่า ทรงอดกลั้นได้เพราะกลัวหรือว่าเพราะอ่อนแอ

            พระอินทร์ตรัสตอบว่า ทรงทนได้ไม่ใช่เพราะกลัว ไม่ใช่เพราะอ่อนแอ แต่วิญญูเช่นพระองค์จะตอบโต้กับผู้พาลได้อย่างไร

พระมาตุลีทูลว่า ผู้พาลจะได้กำเริบถ้าไม่กำหราบเสีย เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญาพึงกำหราบผู้พาลเสียด้วยอาชญาอย่างแรง

พระอินทร์ตรัสว่า ทรงเห็นว่า รู้ว่าเขาโกรธแล้วมีสติ สงบได้ นี่แหละเป็นวิธีกำราบพาล

พระมาตลีได้ทูลแย้งว่า ความอดกลั้นดั่งนั้นมีโทษ คือพาลเข้าใจว่าผู้นี้อดกลั้นเพราะกลัวเรา ก็ยิ่งข่ม เหมือนโคยิ่งหนีก็ยิ่งไล่

พระอินทร์ก็คงตรัสยืนยันว่า พาลจะสำคัญอย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของตนสำคัญยิ่ง และไม่มีอะไรจะยิ่งไปกว่าขันติ ผู้ที่มีกำลังอดกลั้นต่อผู้ที่อ่อนแอเรียกว่ามีขันติอย่างยิ่ง เพราะผู้ที่อ่อนแอต้องอดทนอยู่เองเสมอไป ผู้ที่มีกำลังซึ่งใช้กำลังพาล (เช่นพาลตอบ) ไม่เรียกว่ามีกำลัง ส่วนผู้ที่มีกำลังซึ่งมีธรรมคุ้มครอง ย่อมไม่มีใครกล่าวตอบได้ ผู้โกรธตอบผู้โกรธ หยาบมากไปกว่าผู้โกรธทีแรก ส่วนผู้ที่ไม่โกรธตอบผู้โกรธ ชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะได้ยาก ผู้ที่รู้ว่าเขาโกรธ แต่มีสติ สงบได้ ชื่อว่าประพฤติประโยชน์ทั้งแก่ตน ทั้งแก่ผู้อื่นทั้งสองฝ่าย แต่ผู้ที่ไม่ฉลาดไม่รู้ธรรมก็ย่อมจะเห็นผู้ที่รักษาประโยชน์ตนและผู้อื่นทั้งสองฝ่ายดังกล่าว ว่าเป็นคนโง่ไปเสีย

ในคัมภีร์เล่าเรื่องพระอินทร์และพระมาตลีโต้ตอบกันดั่งนี้แล้ว ก็กล่าวเป็นพุทธโอวาทต่อไปว่า ท้าวสักกะจอมเทพยังกล่าวสรรเสริญ ขันติ (ความอดทน) และ โสรัจจะ (ความเสงี่ยม) ภิกษุทั้งหลายก็พึงมีขันติโสรัจจะจึงจะงดงาม

เรื่องนี้สรรเสริญคุณของขันติ ในคำโต้ตอบกันแฝงคติธรรมที่น่าพิจารณา คือถ้าดูอย่างผิวเผินก็รู้สึกเพียงว่าพระอินทร์ทรงมีขันติเป็นอย่างดี และทรงสรรเสริญคุณของขันติต่างๆ แต่ก็ควรพิจารณาต่อไปว่า พระอินทร์ทรงใช้ขันติดังที่ตรัสสรรเสริญนั้นตอนไหน ก็จะเห็นได้ว่าทรงใช้ในตอนที่เป็นผู้ชนะแล้ว และเวปจิตติอสุรินทร์ถูกจับมัดเข้ามาเฝ้า หมดกำลังอำนาจที่จะทำอะไรได้ ได้แต่เพียงด่าอย่างคนแพ้หมดทางสู้ด้วยประการทั้งปวงเท่านั้น พระอินทร์ทรงใช้ขันติในตอนนี้จึงเหมาะด้วยประการทั้งปวง แต่ในตอนที่ทำสงครามกันไม่ได้แสดงว่า พระอินทร์ตรัสสั่งให้ใช้ขันติ แต่ทรงสั่งให้รบให้ชนะและให้จับอสุรินทร์พันธนาการนำเข้ามา ทั้งทรงอบรมให้ใช้ความพยายามดั่งจะเล่าต่อไป เรื่องนี้จึงมีคติแฝงอยู่ถึงระยะเวลาที่ควรจะใช้ธรรมข้อไหน ในเวลาไหนสำหรับในคดีโลก ถ้าใช้ธรรมไม่ถูกเวลาแล้วก็จะเสียประโยชน์

ในเทวาสุรสงครามครั้งหนึ่ง เวปจิตติอสุรินทร์ชักชวนท้าวสักกะให้เอาชนะกันด้วยสุภาษิต (ธรรมยุทธ) ทั้งสองฝ่ายตกลงกันตั้ง ปาริสัชชะ เป็นผู้พิจารณาตัดสิน (ทำนองอนุญาโตตุลาการกระมัง) เวปจิตติอสุรินทร์เสนอให้ท้าวสักกะทรงกล่าวขึ้นก่อน ฝ่ายท้าวสักกะทรงเสนอให้เวปจิตติอสุรินทร์กล่าวขึ้นก่อน เพราะเป็นบุพพเทพ (เทพอยู่มาก่อน)

เวปจิตติอสุรินทร์ได้กล่าวว่า พวกพาลพึงกำเริบอย่างยิ่งถ้าไม่มีผู้กำราบเสีย เพราะฉะนั้น ผู้ทรงปัญญาก็พึงกำราบพาลด้วยอาชญาอย่างแรง

ท้าวสักกะได้ตรัสว่า พระองค์ทรงเห็นว่า รู้ว่าเขากำเริบ มีสติ สงบได้ นี่แหละเป็นวิธีกำราบพาล

เวปจิตติอสุรินทร์กล่าวว่า ตนเห็นว่าความอดกลั้นดั่งนั้นมีโทษ คือพาลเข้าใจว่าผู้นี้อดกลั้นเพราะกลัวเรา ก็ยิ่งข่ม เหมือนโคยิ่งหนีก็ยิ่งไล่

ท้าวสักกะตรัสว่า พาลจะสำคัญอย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของตนสำคัญยิ่งกว่า และไม่มีอะไรจะยิ่งไปกว่าขันติเป็นต้น เหมือนอย่างที่ตรัสตอบแก่พระมาตลีเทพสารถี

เมื่อเวปจิตติอสุรินทร์กล่าวจบครั้งหนึ่งๆ พวกอสุระพากันอนุโมทนา ฝ่ายพวกเทพนิ่ง เมื่อท้าวสักกะตรัสจบครั้งหนึ่งๆ พวกเทพพากันอนุโมทนา พวกอสุระนิ่ง ครั้นทั้งสองฝ่ายได้กล่าวจบแล้ว พวกปาริสัชชะของเทพและอสุระได้ลงความเห็นว่า คำของเวปจิตติอสุรินทร์เป็น ทุพภาษิต เพราะแนะนำให้ลงทัณฑ์ ให้ลงศาสตราวุธ ให้ทะเลาะวิวาทบาดหมาง ส่วนคำของท้าวสักกะเป็น สุภาษิต เพราะแนะนำให้ไม่ลงทัณฑ์ ไม่ลงศาสตราวุธ ไม่ทะเลาะวิวาทบาดหมาง จึงตัดสินให้ท้าวสักกะชนะ

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๒ หน้า ๑๒๖ – ๑๓๒