Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๗๙

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก


พระเจดีย์จุฬามณี

พระเจดีย์จุฬามณี ท่านเล่าไว้ว่าเป็นที่บรรจุ จุฬา คือส่วนของพระเกศาบนกระหม่อมแห่งศีรษะ พร้อมกับ โมฬี คือ มุ่นหรือมวยผมทั้งหมด และ มณี คือปิ่นมณี หรือปิ่นแก้ว สำหรับปักมวยผม กับ เวฐนะ คือเครื่องรัดมวยผม หรือที่เรียกว่า รัดเกล้า ของพระโพธิสัตว์ คำว่า จุฬา แปลอีกอย่างหนึ่งว่า ปิ่น แต่ในที่นี้ จุฬามณี น่าจะแปลว่า จุฬา (มวยผม) และปิ่นมณีแห่งจุฬา คำว่า โมฬี แปลว่า มวยผม หมายถึงมวยผมบนจอม (กระหม่อม) แห่งศีรษะก็ได้ มวยผมในส่วนนอกจากนั้นก็ได้ คือหมายคลุมถึงมวยผมทั้งหมด ส่วนจุฬาหมายเฉพาะส่วนของผมบนจอมศีรษะ คือเฉพาะส่วนยอด

มีเล่าไว้ใน อวิทูเรนิทาน ใน อรรถกถาชาดก ว่า เมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ทรงม้ากัณฐกะ เสด็จข้ามแม่น้ำอโนมา เสด็จลงจากหลังม้า ประทับยืนบนลานทราย ทรงเปลื้องอาภรณ์ประทานแก่นายฉันนะ และประทานม้ากัณฐกะแก่เขา แล้วทรงจับพระขรรค์แสงดาบด้วยพระหัตถ์ขวา จับพระจุฬา (ยอดพระเกศา) กับพระโมฬี (มุ่นพระเกศาทั้งหมด) ด้วยพระหัตถ์ซ้าย ทรงตัดด้วยพระขรรค์แสงดาบ พระเกศายังเหลือแนบพระเศียรประมาณ ๒ องคุลี ม้วนกลับมาทางเบื้องขวาเป็นทักษิณาวัฏ คงอยู่ขนาดนั้นตลอดพระชนมชีพ พระมัสสุก็มีสมควรกันแก่พระเกศา ไม่ต้องปลงพระเกศาและพระมัสสุอีก พระโพธิสัตว์ทรงโยนพระจุฬากับพระโมฬีขึ้นไปในอากาศ ท้าวสักกเทวราชทอดพระเนตรเห็นด้วยทิพยจักษุ ทรงรับด้วยผอบรัตนะ ทรงนำขึ้นไปประดิษฐานไว้ในเทวสถูปชื่อ จุฬามณีเจดีย์ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พร้อมกับอีก ๒ สิ่ง คือปิ่นมณีและเครื่องรัดเกล้าดั่งกล่าวแล้ว รวมเป็น ๔ สิ่ง คือ . พระจุฬา ๒.พระโมฬี ๓. ปิ่นมณี ๔. เครื่องรัดเกล้า นอกจากนี้ยังเป็นที่บรรจุพระเขี้ยวแก้วเบื้องขวาในคราวแบ่งพระธาตุ ดั่งที่มีเล่าไว้ใน พระปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส มีความว่า

เมื่อโทณพราหมณ์แบ่งพระธาตุ แอบหยิบเอาพระทาฐธาตุ คือเขี้ยวแก้วเบื้องขวา ขึ้นซ่อนไว้ ณ ภายใต้ผ้าโพกศีรษะ พระอินทร์ทอดพระเนตรเห็นด้วยทิพยจักษุ ทรงดำริว่า โทณพราหมณ์ไม่อาจทำสักการะให้สมควรแก่พระทาฐธาตุ ควรจะนำมาบูชาในเทวโลก จึงทรงอัญเชิญพระทาฐธาตุนั้นจากผ้าโพกของโทณพราหมณ์ ประดิษฐานในสุวรรณโกศ ทรงนำขึ้นไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์จุฬามณี ในดาวดึงสเทวโลก ฉะนั้น ในพระเจดีย์นี้จึงมีสิ่งบรรจุหลายอย่าง แต่ก็เรียกว่า จุฬามณีเจดีย์

ขัตติยะในชมพูทวีปสมัยพุทธกาล น่าจะไว้พระเกศายาวมุ่นเป็นโมฬี (มวยผม) มีปิ่นเสียบที่จุฬา (ผมส่วนยอด) และมีเครื่องรัดเกล้า พระพุทธรูปสมัยแรก มีทำพระเศียรแบบขัตติยะดั่งกล่าว ในเวสสันดรชาดกมีแสดงไว้ตอนหนึ่งว่า พระเวสสันดรประทานทุกสิ่งแก่ผู้ขอจนกระทั่ง สุวรรณสูจิ ดั่งกล่าวในมหาชาติคำหลวงว่า ธ ก็ถอดพระอินท์ปิ่นมาศ ประสาทแก่นายพเนจรนั้น

 

เทวสภาสุธรรมา

เรื่องสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ตลอดถึงประวัติของท้าวสักกเทวราชหรือพระอินทร์ตามที่เล่ามาแล้ว โดยมากเก็บความมาจากคัมภีร์อรรถกถาและฎีกา ในคัมภีร์ฎีกาซึ่งแต่งภายหลังอรรถกถา ยิ่งพรรณนาไว้พิสดารกว่าคัมภีร์อรรถกถา เช่น พรรณนาถึงรายละเอียดของเครื่องประดับต่างๆ จะเก็บความในฎีกาเล่าต่อไปถึง เทวสภาสุธรรมมา เทวสภานี้พื้นเป็นแก้วผลึก ที่เสาขื่อและคอรับขื่อ (สังฆาฏะ) เป็นต้น ลิ่มสลักตรงที่ต่อเป็นรูปสัตว์ร้ายเป็นต้น สำเร็จด้วยแก้วมณี เสาสำเร็จด้วยทอง บาทเสา (ถัมภฆฏกะ) และคอรับขื่อสำเร็จด้วยเงิน รูปสัตว์ร้ายสำเร็จด้วยแก้วประพาฬ นางตรัน (โคปาณสี ไม้ค้ำโครงหลังคา) คันทวย (ปักขปาสะ) ขอบมุข สำเร็จด้วยรัตนะ ๗ หลังคามุงด้วยกระเบื้องอินทนิลโบกด้วยทอง โดมยอดสำเร็จ ด้วยรัตนะ ตรงกลางเทวสภามีธรรมาสน์ มีรัตนบัลลังก์กางกั้นเศวตฉัตร เป็นที่พระพรหมชั้นสูงลงมาแสดงธรรม หรือพระอินทร์หรือเทพผู้รู้ธรรมแสดงธรรม ถัดมาเป็นที่ประทับของพระอินทร์ แล้วเป็นที่นั่งของเทวบุตรผู้เป็นสหายทำกุศลร่วมกันมา ๓๓ องค์ แล้วเป็นที่นั่งของเทพผู้มีศักดาใหญ่น้อยถัดกันไปโดยลำดับ แต่บางคัมภีร์เล่าว่าตรงกลางเทวสภาเป็นที่ประทับของพระอินทร์ น่าจะถือเอาความว่า ในวันที่มีแสดงธรรมก็ตั้งธรรมาสน์ไว้ตรงกลาง ส่วนเวลาปกติก็ตั้งที่ประทับของพระอินทร์ มีทิพยลดา (ไม้เครือเถา) ชื่ออาสาวดี ส่วนต้นปาริฉัตตกะ หรือปาริชาตก์ เมื่อออกดอกส่งกลิ่นหอมขจร ก็จะมีลมทิพย์โชยพัดมาเด็ดดอกปาริชาตก์ แล้วมีลมรับดอกให้ปลิวเข้าไปในเทวสภา มีลมกวาดดอกเก่าออก มีลมเกลี่ยดอกใหม่ มีลมบรรจงจัดช่อกลีบและเกสรให้งดงามชวนชม พวกเทพพากันคอยฤดูผลัดใบของต้นปาริชาตก์ เพื่อจะได้ประชุมรื่นเริงในคราวต้นปาริชาตก์ออกดอกบานสะพรั่งเต็มที่

คัมภีร์ต่างๆ ชั้นอรรถกถาฎีกาที่พรรณนาเรื่องสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นคัมภีร์ที่เขียนขึ้นภายหลังพุทธกาลมานาน เช่น อรรถกถาธรรมบท ก็เขียนขึ้นภายหลังพุทธกาลประมาณ ๑,๐๐๐ ปี คัมภีร์ฎีกาต่างๆ เขียนขึ้นภายหลังจากนั้น และส่วนใหญ่เขียนในลังกา เมื่ออ่านดูหลายคัมภีร์สอบกัน ก็พบข้อที่กล่าวไม่ตรงกันหลายแห่ง และความบางเรื่องดูจะขัดกันในตัวก็มี เช่นบ้านเกิดของมฆมาณพ ว่า มจลคามก็มี อจลคามก็มี ต้นไม้ประจำสวรรค์ชั้นดาวดึงส์คือต้นปาริชาตก์ บางคัมภีร์แสดงว่าเกิดขึ้นเมื่อมฆมาณพไปเกิดเป็นพระอินทร์ เพราะเหตุที่เมื่อเป็นมนุษย์ได้ปลูกต้นโกวิฬาระ (ทองหลาง) เพื่อเป็นร่มเงาแก่ประชาชน จึงไม่ใช่เป็นต้นไม้ที่มีอยู่ก่อนเมื่อครั้งบุพพเทพคืออสุระครอบครองอยู่

แต่บางคัมภีร์เล่าว่า ภพดาวดึงส์บนยอดเขาสิเนรุและภพอสุระใต้เขาสิเนรุ มีทิพยสมบัติต่างๆ คล้ายคลึงกัน ตลอดถึงต้นไม้ประจำภพทั้งสองนี้ก็คล้ายคลึงกัน จนถึงพวกอสุระเมื่อถอยลงไปตั้งเมืองอยู่ใต้เขาสิเนรุแล้ว ก็ยังเคลิบเคลิ้มไปว่ายังอยู่ที่เมืองเก่าของตนบนยอดเขาสิเนรุ ครั้นถึงฤดูต้นจิตตปาฏลีออกดอก ได้เห็นดอกต้นจิตตปาฏลีแล้ว จึงรู้สึกขึ้นว่าไม่ใช่ต้นปาริชาตก์ เกิดความเสียดายเมืองเก่าของตน จึงยกกันขึ้นไปเพื่อจะชิงเอาเมืองเก่าซึ่งได้ชื่อว่าดาวดึงส์นั้นคืน ตามเรื่องที่พรรณนามานี้แสดงว่าต้นปาริชาตก์มีประจำอยู่ในที่นั้นก่อนแล้ว ไม่ใช่มาเกิดขึ้นภายหลัง และสงครามระหว่างเทพกับอสุระก็จะต้องมีทุกคราวที่ต้นจิตตปาฏลีออกดอก แม้ในบัดนี้ก็น่าจะยังทำสงครามกันอยู่ทุกฤดูที่ต้นจิตตปาฏลีออกดอกดั่งกล่าว ในการทำสงครามกันท่านยังพรรณนาไว้ว่า ไม่มีฝ่ายไหนบาดเจ็บล้มตาย ทั้งชิงเอาเมืองของกันและกันก็ไม่ได้ดั่งที่กล่าวมาแล้ว

น่าคิดอีกว่า พวกอสุระเป็นพวกบุพพเทพคือพวกเทพที่อยู่ในถิ่นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาก่อน ไฉนจึงไม่จัดเข้าพวกเทวดาด้วย และไฉนจึงไม่จัดอสุรภพเป็นสวรรค์ชั้นหนึ่ง และเมื่อไม่จัดเป็นพวกเทวดา จะจัดเป็นพวกอะไร เป็นสุคติหรือทุคติ และเมื่อทั้งสองฝ่ายต้องทำสงครามกันอยู่ทุกฤดูออกดอกของต้นจิตตปาฏลี ดูก็จะไม่ค่อยมีความสุขเท่าไรนัก ไม่ค่อยสมกับเป็นสวรรค์ซึ่งเป็นผลของทานศีล เพราะพวกเทวดาชาวเมืองดาวดึงส์ต้องเป็นทหารออกสงครามกันเกือบจะเป็นงานประจำปี และที่กล่าวว่าฤดูรื่นเริงของพวกเทวดาคือฤดูที่ต้นปาริชาตก์ออกดอก ก็น่าจะรื่นเริงกันไม่ได้เต็มที่ เพราะจะต้องออกสงครามรบกับอสุระ ฉะนั้น ฤดูที่ต้นไม้ประจำภพทั้งสองออกดอก ก็กลายเป็นฤดูสงคราม แทนที่จะเป็นฤดูรื่นเริงของเมืองทั้งสอง

ในอรรถกถากุลาวกชาดก ยังได้นำเอาเรื่องมฆมาณพไปเกิดเป็นพระอินทร์มากล่าวว่าเป็นชาติอดีตของพระพุทธเจ้าชาติหนึ่ง เรื่องพระอินทร์ตามที่เล่านี้จึงกลายเป็นไม่ใช่พระอินทร์องค์ปัจจุบัน แต่กลายเป็นพระอินทร์ในอดีตกาลนานไกล แต่ท่านก็ได้กล่าวไว้ว่า เมื่อพระอินทร์องค์หนึ่งสิ้นบุญจุติไป ก็มีพระอินทร์อีกองค์หนึ่งเกิดสืบแทนกันไป บางคัมภีร์ตั้งกฎเกณฑ์ไว้ด้วยว่า ผู้ที่จะไปเกิดเป็นพระอินทร์ทุกคนต้องเป็นคนชาวบ้านอจลคามในแคว้นมคธ และทำบุญเช่นเดียวกับมฆมาณพ

คราวนี้ กลับมาย้อนพิจารณาดูถึงความประพฤติของมฆมาณพ ท่านพรรณนาถึงมฆมาณพ ว่าแผ้วถางที่ดินสร้างถนนหนทางเป็นต้น เมื่อมีใครมาแย่งที่ก็ไม่หวง ย้ายไปแผ้วถางที่อื่นต่อไป ทั้งหมดเข้าลักษณะผู้ที่สร้างความสุขให้แก่ประชาชนสมเหตุผล แต่เมื่อไปเกิดเป็นพระอินทร์ ดูมีความประพฤติเปลี่ยนไป ทำนองหัวหน้าหมู่หรือราชาในสมัยโบราณซึ่งเจริญและฉลาดกว่า อพยพหรือยกทัพไปยึดถิ่นของหมู่ชนที่ยังไม่เจริญไม่ฉลาด จะพึงเห็นได้ตามเรื่องที่ท่านเล่าเอง พวกอสุระซึ่งเป็นเจ้าถิ่นชั้นดาวดึงส์แต่เดิม ดูก็ตั้งใจต้อนรับคณะของพระอินทร์ซึ่งมาใหม่อย่างซื่อๆ ทั้งมีน้ำใจเอื้อเฟื้อจนถึงแบ่งเมืองให้ครอบครองถึงกึ่งหนึ่ง และจัดให้มีการเลี้ยงต้อนรับ แต่พระอินทร์ต้องการจะครอบครองแต่ฝ่ายเดียวทั้งหมด จึงออกอุบายให้พวกอสุระดื่มสุราจนเมาหมดความรู้สึกแล้วช่วยกันจับทุ่มลงไป ในอรรถกถาสังยุตยังเล่าว่า เมื่อพวกอสุระฟื้นคืนสติขึ้นแล้ว รู้ตัวว่าเสียเมืองไปเพราะสุรา จึงตั้งกติกากันไว้ว่าจะไม่ดื่มสุรากันอีกต่อไป แต่ก็เสียเมืองไปเสียแล้ว และเพราะเหตุนั้น จึงได้นามว่า อสุระ ไม่ดื่มสุรา ถอดเอาความก็คือ พระอินทร์ออกอุบายขับอสุระออกไปได้หมด เรื่องของพระอินทร์ดั่งกล่าวนี้ ดูตรงข้ามกับเรื่องของมฆมาณพ ฉะนั้น จึงเห็นได้ชัดว่า เรื่องของพระอินทร์คงเป็นเรื่องของกษัตริย์หรือราชาเก่าแก่ดึกดำบรรพ์ตั้งแต่ก่อนพุทธกาลซึ่งมีชื่อเสียงทรงจำกันมาเป็นพิเศษ จนถึงภายหลังยกขึ้นเป็นเทวราชครอบครองสวรรค์ชั้นหนึ่ง ครั้นตกมาถึงยุคพุทธกาล เรื่องพระอินทร์หรือท้าวสักกเทวราชก็ได้ติดเข้ามาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาในฐานะเป็นจอมเทพชั้นดาวดึงส์

ในคัมภีร์ชั้นบาลีมีกล่าวถึงหลายแห่ง แต่มาเล่าให้พิสดารมากในชั้นอรรถกถาฎีกา ด้วยเก็บเอาเรื่องพระอินทร์ของเก่ามาเล่าผสมกับเรื่องของมฆมาณพให้เป็นคนเดียวกัน คือมฆมาณพไปเกิดเป็นพระอินทร์ แต่ประวัติของมฆมาณพดำเนินเรื่องไปตามหลักทานศีล ซึ่งเป็นเหตุแห่งสวรรค์ตามหลักพระพุทธศาสนาโดยตรง ส่วนประวัติของพระอินทร์ดำเนินไปตามหลักของวีรบุรุษหรือมหาราชทางคดีโลก ไม่คำนึงถึงทานศีลเป็นใหญ่ แต่มุ่งชัยชนะเป็นที่ตั้ง ฉะนั้น เมื่อเทียบดูกันแล้วจะเห็นว่าเป็นเรื่องมาคนละทาง คนละคติ เมื่อจับมาผสมกัน ก็คงยันกันอยู่คนละแนวนั่นเอง หรือจะแก้ว่าเมื่อมาเกิดเป็นเทพผู้หัวหน้า ได้เสวยทิพยสมบัติ ก็เลยเกิดความติดความเพลิน เปลี่ยนปฏิปทาไป ข้อแก้นี้อาจเป็นไปได้ เทียบในเมืองมนุษย์นี้เอง คนที่เคยประพฤติดีเมื่อเป็นคนสามัญ ครั้นได้ยศได้ลาภมากขึ้น เปลี่ยนความประพฤติไปก็มี สวรรค์จึงอาจกลายเป็นโทษแก่คนที่หลงติดมัวเมาอยู่ได้ เพราะเป็นผลที่น่าติดน่าเพลิดเพลินอย่างยิ่ง เมื่อเมาสวรรค์จนลืมตัวเสียแล้วก็ย่อมจะลืมความดีได้ ฉะนั้น เทวดาจึงมีเวลาสิ้นบุญต้องจุติ บางทีจุติก่อนกำหนดก็มี ท่านว่าเหตุอย่างหนึ่งได้แก่ เพราะมัวเล่นเพลินจนลืมบริโภค คือเพราะเมาสวรรค์เกินไปนั่นเอง

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๒ หน้า ๑๒๐ – ๑๒๖