Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๗๘

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก


บุพพกรรมของพระอินทร์

พระอินทร์ซึ่งเป็นพระราชาของเทพชั้นดาวดึงส์ มีประวัติเล่าไว้ในอรรถกถาทั้งหลายว่า ก่อนแต่ไปเกิดเป็นเทวราช ได้เกิดเป็นมนุษย์ในหมู่บ้าน มจลคาม ใน มคธรัฐ เป็นบุตรของสกุลใหญ่ ได้นามในวันขนานนามว่า มฆกุมาร แต่เรียกกันเมื่อเติบโตขึ้นว่า มฆมาณพ มีภริยาและบุตรธิดาหลายคน มฆมาณพให้ทานรักษาศีลอยู่เป็นนิตย์ และพอใจแผ้วถางภูมิประเทศปราบเกลี่ยพื้นที่ สร้างศาลา ปลูกต้นไม้ ขุดสระน้ำทำถนนหนทาง ทำสะพาน จัดทำจัดหาตุ่มน้ำและสิ่งทั้งหลายเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน (ถ้าในบัดนี้ ก็น่าจะตรงกับที่เรียกว่าเป็นนักพัฒนาท้องถิ่น) มีปกติชอบสะอาดเรียบร้อยร่มรื่นที่เรียกว่า รมณียะ ต้องการให้ท้องถิ่นทั้งหลายเป็นรมณียสถานทั่วๆ ไป

ดั่งที่เล่าไว้ในอรรถกถาเริ่มเรื่องว่า มฆมาณพไปทำงานในหมู่บ้าน ก็ใช้เท้าเกลี่ยฝุ่นในที่ซึ่งยืนอยู่ให้เรียบ คนอื่นเข้ามาแย่งที่ก็ไม่โกรธ ถอยไปทำที่อื่นให้เรียบต่อไป คนทั้งหลายก็มักพากันยึดที่ซึ่งมฆมาณพเกลี่ยเรียบไว้แล้ว มฆมาณพเห็นว่าคนทั้งปวงมีความสุข ด้วยกรรมคือการงานของตน ฉะนั้น กรรมนี้พึงเป็นบุญกรรมที่ให้สุขแก่ตนแน่ ก็ยิ่งมีจิตขะมักเขม้นที่จะทำพื้นที่ให้เป็นรมณียะมากขึ้น จึงใช้จอบขุดปราบพื้นที่ให้เรียบเป็นลานให้แก่คนทั้งหลาย เอาใจใส่ให้ไฟให้น้ำในเวลาที่ต้องการ ต่อไปก็แผ้วถางสร้างทางสำหรับประชาชน ชายหนุ่มอื่นได้เห็นก็มีใจนิยม ก็มาสมัครเป็นสหายร่วมกันทำทางเพิ่มขึ้น จนมีจำนวนนับได้ ๓๓ คน ทั้งหมดช่วยกันขุดก่นถมทำถนนยาวออกไป จนถึงประมาณโยชน์หนึ่งสองโยชน์

ฝ่ายนายบ้านเห็นว่า สหาย ๓๓ คนเหล่านั้นประกอบการงานที่ไม่เหมาะไม่ควร จึงเรียกมาสอบถามและสั่งให้เลิก แต่ ๓๓ สหายกล่าวว่า พวกตนทำทางสวรรค์ จึงไม่ฟังคำห้ามของนายบ้าน พากันสร้างทางต่อไป นายบ้านมีความโกรธ จึงไปทูลฟ้องพระราชาว่ามีโจรคุมกันมาเป็นพวก พระราชามิได้ทรงพิจารณาไต่สวน มีรับสั่งให้จับมาทั้ง ๓๓ คน แล้วรับสั่งให้ปล่อยช้างให้เหยียบเสียให้ตายทั้งหมด มฆมาณพได้โอวาทสหายทั้งหลายให้พร้อมกันไม่ทำความโกรธ แผ่เมตตาจิตไปยังพระราชา ๑ นายบ้าน ๑ ช้าง ๑ ในตนเอง ๑ ให้เสมอเท่ากันทั้ง ๔ ฝ่าย ชนทั้งหมดได้ปฏิบัติอย่างนั้น ช้างไม่อาจจะเข้าไปใกล้ด้วยเมตตานุภาพของชนเหล่านั้น

พระราชาทรงทราบ มีพระดำริว่า ช้างน่าจะเห็นคนมาก จึงไม่อาจเข้าไปเหยียบ จึงรับสั่งให้ใช้เสื่อลำแพนปูปิดพวกเขาเสีย แล้วปล่อยให้ช้างเหยียบ แต่ช้างก็ถอยกลับแต่ไกล พระราชาทรงกลับได้พระดำริขึ้นว่า น่าจะมีเหตุการณ์ในเรื่องนี้ จึงรับสั่งให้นำคนเหล่านั้นเข้าเฝ้าเฉพาะพระพักตร์ ตรัสสอบถาม มฆมาณพและสหายได้กราบทูลให้ทรงทราบโดยตลอด พระราชาทรงสดับแล้วทรงโสมนัส ทรงขอโทษมฆมาณพและสหายแล้วทรงปลดนายบ้านออกจากตำแหน่ง ทรงลงโทษให้เป็นทาสของพวกเขา และได้พระราชทานช้างนั้นให้เป็นพาหนะ พร้อมกับบ้านหมู่นั้นให้เก็บส่วยบริโภคตามความสุข คือทรงตั้งให้เป็นนายบ้านแทน คำว่า นายบ้าน เรียกว่า คามโภชกะ แปลว่า ผู้กินบ้าน ตรงกับคำเก่าว่า กินบ้านกินเมือง เพราะตามธรรมเนียมในครั้งนั้น ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าบ้านเจ้าเมืองย่อมเรียกเก็บส่วยในบ้านเมืองนั้นบริโภค

สหายทั้ง ๓๓ เมื่อพ้นโทษออกมา ทั้งได้รับพระราชทานกำลังสนับสนุน ก็ยิ่งเห็นอานิสงส์ของบุญ มีใจผ่องใสคิดอ่านทำบุญให้ยิ่งขึ้นไปอีก ได้วางกำหนดการสร้างศาลาเป็นที่พักของมหาชนเป็นถาวรวัตถุที่หนทางใหญ่ ๔ แพร่ง ได้เรียกนายช่างมามอบหมายให้ทำการสร้าง แต่ห้ามมาตุคามคือผู้หญิงเข้ามามีส่วนสร้างศาลานั้น

มฆมาณพมีภรรยา ๔ คน คือ นางสุนันทา นางสุจิตรา นางสุธรรมา นางสุชาดา นางสุธรรมาได้ให้สินบนนายช่างขอให้ช่วยให้ตนเป็น เชฏฐะ คือให้ออกหน้าในศาลานี้ นายช่างรับรอง และแนะนำให้จัดหาไม้มาตากให้แห้ง ให้ถากแกะเป็นช่อฟ้าซ่อนไว้ ต่อมาเมื่อการสร้างศาลาเสร็จ เว้นแต่ช่อฟ้า ในวันยกช่อฟ้า นายช่างแจ้งว่าลืมทำช่อฟ้าไว้เสียแล้ว แลไม้ที่ตัดในบัดนี้ก็ใช้ทำไม่ได้ ต้องตัดตากไว้ให้แห้งก่อนจึงทำได้ แต่ถ้าจะมีช่อฟ้าที่ทำไว้ขายที่ไหนก็ควรหาซื้อมา ชนเหล่านั้นพากันเที่ยวหา พบช่อฟ้าในเรือนของนางสุธรรมาก็ขอซื้อ นางสุธรรมาไม่ยอมขาย แต่จักให้เพื่อให้ตนมีส่วนร่วมในการสร้างศาลาด้วย ชนเหล่านั้นก็ไม่ยอม นายช่างกล่าวว่า ไม่มีที่ไหนจะเว้นเสียได้จากผู้หญิง นอกจากพรหมโลกเท่านั้น ขอให้ยอมรับช่อฟ้าของนางสุธรรมาเพื่อให้การงานสำเร็จ พวกเขาไม่มีทางจะหลีกเลี่ยง จึงยอมรับช่อฟ้าของนางสุธรรมา

เมื่อยกช่อฟ้าขึ้นติดแล้ว ศาลาก็เป็นอันเสร็จบริบูรณ์ คนทั้งปวงก็พากันเรียกว่า ศาลาสุธรรมา ชื่อของนางสุธรรมาคนเดียวปรากฏ ชื่อของชนทั้ง ๓๓ ไม่ปรากฏ ฉะนั้น นางสุธรรมาก็กลายเป็นผู้มีส่วนสำคัญของศาลา เพราะทำให้บังเกิดความสำเร็จบริบูรณ์ ทั้งเหมือนเป็นเจ้าของศาลาทั้งหมด เพราะเรียกกันว่า ศาลาสุธรรมา จึงได้เป็นเชฏฐะคือเป็นผู้ออกหน้ากว่าใครทั้งหมด

มฆมาณพและสหายปรารถนาจะไม่ให้ผู้หญิงเข้าเกี่ยวข้องในการทำบุญสร้างศาลา ก็เป็นอันไม่สมประสงค์ แต่ศาลาก็สำเร็จเรียบร้อยบริบูรณ์ตามประสงค์ แสดงว่าอันการจะห้ามใครจากการทำบุญนั้นเป็นการยาก ไม่เลือกว่าหญิงหรือชาย ถ้าเขาปรารถนาจะมีส่วนทำบุญด้วยแล้ว ก็ต้องหาวิธีทำด้วยจนได้

มฆมาณพได้แบ่งศาลาออกเป็น ๓ ส่วน คือทำเป็นที่อยู่ที่พักสำหรับอิสรชนส่วนหนึ่ง สำหรับคนเข็ญใจส่วนหนึ่ง สำหรับคนไข้ส่วนหนึ่ง และทั้ง ๓๓ คนได้ปูลาดแผ่นอาสนะไว้ทั้ง ๓๓ ที่ โดยตกลงกันไว้ว่า อาคันตุกะเข้าไปพักบนแผ่นอาสนะของผู้ใด ก็เป็นภาระของผู้นั้นจะรับรองเลี้ยงดู มฆมาณพปลูกต้นทองหลาง (โกวิฬาระ) ไว้ต้นหนึ่งในที่ไม่ไกลศาลา ภายใต้ต้นทองหลางได้วางแผ่นหินไว้

ฝ่ายนางสุนันทาคิดว่า ผู้ชายเหล่านี้ห้ามพวกเราผู้หญิงเข้ามีส่วนสร้างศาลาด้วย แต่นางสุธรรมาฉลาดจึงได้มีส่วนทำช่อฟ้า ปรารถนาจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งร่วมด้วย คิดเห็นว่าควรให้ขุดสระโบกขรณีเพื่อผู้มาอาศัยศาลาจะได้ใช้ดื่มใช้อาบ จึงให้ขุดสระโบกขรณี

นางสุจิตราเห็นนางสุธรรมาและนางสุนันทาได้ทำกุศลคนละอย่างแล้ว ปรารถนาจะทำบ้าง คิดเห็นว่าคนที่มาอาศัยศาลาได้ดื่มและอาบน้ำแล้ว ก็ควรจะได้ประดับมาลัยดอกไม้ จึงให้สร้างสวนดอกไม้เป็นที่รื่นรมย์ ได้จัดหาไม้ดอกและไม้ผลต่างๆ มาปลูกไว้โดยมาก จนถึงกล่าวกันว่า ไม้ดอกและไม้ผลชื่อโน้นจะไม่มีในสวนนั้นเป็นไม่มี คือว่ามีเป็นส่วนมาก

ส่วนนางสุชาดาคิดว่า ตนเป็นธิดาของลุงของมฆมาณพและเป็นภรรยาด้วย ฉะนั้น กรรมที่มฆะทำก็เหมือนเป็นของนาง หรือกรรมที่นางทำก็เป็นเหมือนของมฆะ จึงไม่ทำกุศลอะไร เอาแต่ใช้เวลาตบแต่งร่างกายให้งดงามอยู่เสมอเท่านั้น เพื่อให้เป็นที่รักของมฆมาณพอย่างไม่จืดจาง และก็ปรากฏในเรื่องต่อไปว่า นางสุชาดาได้เป็นที่รักมากของท้าวสักกเทวราช จนถึงชื่อของนางได้ไปเป็นพระนามของท้าวสักกเทวราชพระนามหนึ่งว่า สุชัมบดี แปลว่าสามีของสุชาคือสุชาดา

มฆมาณพกับสหายบำเพ็ญกุศลสาธารณประโยชน์ดั่งกล่าว อีกนัยหนึ่งกล่าวว่า บำเพ็ญ วัตตบท ๗ ประการ (จะกล่าวถึงข้างหน้า) ตลอดมา สิ้นชีวิตแล้วจึงเกิดในภพดาวดึงส์ (ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาสิเนรุ) มฆมาณพเป็นท้าวสักกเทวราชหรือพระอินทร์ เมื่อพระอินทร์และสหายขึ้นไปบังเกิดนั้น พื้นที่ซึ่งเป็นสวรรค์ชั้นนี้หาได้ว่างเปล่าอยู่ไม่ เพราะได้มีเทพพวกหนึ่งมาบังเกิดอยู่ก่อนแล้ว พวกบุพพเทพ (เทพผู้เกิดอยู่ก่อน) เหล่านี้ มี ท้าวเวปจิตติ เป็นหัวหน้า จะเรียกชื่อสวรรค์ชั้นนี้ในสมัยที่พวกบุพพเทพเหล่านั้นอยู่ว่าอย่างไรไม่ปรากฏ แต่คงจะยังไม่เรียกว่า ดาวดึงส์ ซึ่งมีความหมายเฉพาะถึงเทพพวกหลัง หรืออาจจะยังไม่เป็นสวรรค์ก็ได้ เพราะยังไม่มีทิพยสมบัติต่างๆ เช่น เวชยันตปราสาท เป็นต้น เทียบเหมือนอย่างว่ายังเป็นเมืองป่าอยู่ เมื่อเทพพวกหลังบังเกิดขึ้น ๓๓ องค์แล้ว เทพพวกก่อนได้ทำสักการะต้อนรับเทพผู้มาใหม่ พิธีทำสักการะต้อนรับคือแจกดอกปทุมทิพย์ให้ แบ่งความเป็นราชาให้กึ่งหนึ่ง น่าจะหมายความว่า แบ่งบ้านเมืองให้ครอบครองครึ่งหนึ่ง และเชิญประชุมเลี้ยง คัณฑุบาน ร่วมกันอย่างเต็มที่ ดูจะเป็นพิธีต้อนรับเข้าเป็นพวกเดียวกัน ท้าวสักกเทวราชยังไม่พอใจที่จะเป็นพระราชาครอบครองเพียงกึ่งสวรรค์ ได้นัดหมายบริษัทของตนมิให้ดื่มทิพยสุรา แต่ให้แสดงเหมือนอย่างดื่ม เมื่อเทพ ๒ พวกมาประชุมเลี้ยงกันในครั้งนั้น เทพเจ้าถิ่นพากันดื่มทิพยสุราจนเมาล้มกลิ้งเกลือกอยู่ ฝ่ายเทพผู้มาใหม่ไม่ดื่ม ครั้นเห็นเทพเจ้าถิ่นเดิมพากันเมาสิ้นสติไปทั้งหมดแล้ว ท้าวสักกเทวราชก็สั่งให้ช่วยกันจับพวกเทพเจ้าถิ่นเดิมเหวี่ยงลงไปจากยอดเขาสิเนรุ เทพเจ้าถิ่นเดิมมีบุญที่ได้ทำไว้น้อย จึงตกลงไปยังเชิงเขาสิเนรุ เกิดเป็นเมืองขึ้นภายใต้เขาสิเนรุมีขนาดเดียวกับดาวดึงส์ มีสิ่งต่างๆ คล้ายคลึงกัน เช่น ดาวดึงส์มีต้นปาริฉัตตกะ ภพใหม่นี้มีต้นจิตตปาฏลี พวกบุพพเทพเมื่อถูกเหวี่ยงตกลงมาอยู่เมืองใต้เขาสิเนรุ ก็ได้ชื่อว่า อสุระ ภพที่อยู่ก็ชื่อว่า ภพอสุระ คำว่า อสุระ แปลว่า ไม่เป็นใหญ่รุ่งเรืองเหมือนสุระคือเทพ หรือเป็นข้าศึกต่อสุระคือเทพ ดั่งที่ได้แปลมาแล้วข้างต้น โดยที่แท้ก็คือเทพพวกหนึ่ง แต่มีบุญต่ำต้อยกว่าเทพพวกหลัง ท้าวสักกเทวราชกับสหายก็ได้ครอบครองสวรรค์ชั้นนั้นทั้งหมด ส่วนพวกบุพพเทพหรืออสุระ เมื่อต้องไปอยู่เมืองใต้เขาสิเนรุก็ผูกใจเจ็บแค้น ยกทัพขึ้นไปทำสงครามกับเทพบนเขาเพื่อยึดเอาสวรรค์ชั้นดาวดึงส์คืนเนืองๆ

           ฤดูของสงครามระหว่างเทพกับอสุระโดยปกติ คือฤดูต้นไม้ประจำเมืองทั้ง ๒ ออกดอก พระอาจารย์ยังพรรณนาไว้อีกว่า ภพทั้ง ๒ นี้เสวยทิพยสมบัติเช่นเดียวกัน มีขอบเขตและสิ่งต่างๆ คล้ายกัน จนถึงพวกอสุระเองก็เข้าใจว่าอสุรบุรีเป็นเมืองเก่าของตนคือดาวดึงส์ ครั้นต้นจิตตปาฏลีออกดอก ได้เห็นดอกของต้นไม้นี้ จึงทราบว่าไม่ใช่ชั้นดาวดึงส์เสียแล้ว จึงยกทัพขึ้นไป ส่วนท้าวสักกเทวราชก็ได้ตระเตรียมเมืองดาวดึงส์ไว้รับเทพอสุระ ได้วางอารักขาที่ด่านเฉลียงไว้ถึง ๕ ด่าน นับแต่ด่านนอกเข้ามา คือด่านชั้นที่ ๑ นาค รักษา ด่านชั้นที่ ๒ ครุฑ รักษา ด่านชั้นที่ ๓ กุมภัณฑ์ คือทานพรากษส รักษา ด่านชั้นที่ ๔ พวก ยักษ์ทหาร รักษา ด่านชั้นที่ ๕ ท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์ รักษา พ้นด่านเหล่านี้จึงถึงนครดาวดึงส์ซึ่งสร้าง อินทปฏิมา (รูปเหมือนพระอินทร์) ไว้ที่ประตูเมืองทั้ง ๔

           ครั้น เทวาสุรสงคราม เกิดขึ้นแล้ว ในบางคราวอสุรเทพมีกำลัง ก็ตีพวกเทพบนยอดเขาให้ถอยร่นขึ้นไปโดยลำดับ พวกอสุรเทพตีหักด่านทั้ง ๕ ขึ้นไปได้แล้ว ครั้นไปถึงเทพนครดาวดึงส์ ก็หยุดยั้งอยู่เพียงนั้น ไม่อาจจะเข้าไปได้ หรือได้เห็นรูปเหมือนพระอินทร์ คิดว่าพระอินทร์เสด็จออกมาก็ตกใจ ยกถอยกลับลงไปยังเมืองใต้เขาตามเดิม แต่บางคราวพวกเทพบนเขามีกำลัง ก็ตีพวกอสุรเทพถอยลงไปจนถึงอสุรนครใต้เขา พวกเทพบนเขาติดตามลงไปได้แค่นั้น ไม่อาจจะตีเอาอสุรบุรีได้ ต้องถอยกลับขึ้นมา ฉะนั้น เทพนครดาวดึงส์และอสุรนคร จึงได้ชื่อว่า อยุชฌบุรี แปลว่า เมืองที่รบไม่ได้ (ตรงกับคำว่า อยุธยา)

ในเทวาสุรสงครามครั้งหนึ่ง เมื่ออสุรเทพยกขึ้นมา พระอินทร์ได้ทรงเวชยันตเทพรถลงไปรบกับอสุระบนหลังมหาสมุทร สู้อสุระไม่ได้ ก็ทรงเทพรถหนีขึ้นมาจากที่สุดมหาสมุทรด้านทักษิณผ่านป่าไม้งิ้ว ด้วยอำนาจแรงกระเทือนของเทพรถ พวกลูกครุฑพากันตกมหาสมุทรร้องระงม พระอินทร์ทรงเกิดกรุณา จึงสั่งมาตลีเทพสารถีให้กลับเทพรถเพื่อมิให้สัตว์เป็นอันตราย ฝ่ายอสุระซึ่งไล่ตามกระชั้นชิด เห็นพระอินทร์กลับเทพรถ คิดว่าคงได้กำลังหนุนเกิดความกลัวก็ถอยหนีลงไปสู่อสุรภพ

ฝ่ายพระอินทร์ เมื่อเข้าสู่เทพนคร แวดล้อมไปด้วยหมู่เทพในเทวโลกทั้ง ๒ คือชั้นจาตุมหาราชและชั้นดาวดึงส์ ประทับยืนในท่ามกลางนคร จึงเกิดปราสาทขึ้น (ในบาลีใช้คำว่า สร้างปราสาท ในอรรถกถาใช้คำว่า ผุดขึ้น) ได้นามว่า เวชยันต์ เพราะเกิดขึ้นในที่สุดแห่งชัยชนะ คือชนะอสุระแล้วจึงสร้างหรือเกิดขึ้น

สงครามที่เล่านี้น่าจะเป็นครั้งแรก ครั้นได้ชัยชนะบังเกิดเวชยันตปราสาทขึ้นแล้ว จึงได้วางอารักขาไว้ที่ด่านเฉลียง ๕ ชั้นดั่งกล่าวแล้ว พระอินทร์จึงได้เป็นเทวราชครอบครองสวรรค์ชั้นนี้และชั้นจาตุมหาราช ดั่งที่กล่าวว่าเป็นเทวราชในเทวโลกทั้ง ๒ แต่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ก็อยู่ไม่เป็นปกติสุขนัก ต้องทำสงครามกับพวกอสุระซึ่งเป็นเจ้าถิ่นเดิมอยู่เนืองๆ แต่ทั้งสองฝ่ายก็ไม่อาจจะเอาชนะกันได้ เพราะต่างก็ได้บำเพ็ญบุญมาด้วยกัน

จะกล่าวถึงสตรี ๔ นางในเรือนของมฆมาณพ นางสุธรรมาสิ้นชีวิตแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทวสภาชื่อ สุธรรมา ก็เกิดขึ้นสำหรับบุญของนางสุธรรมา ท่านว่าไม่มีที่อื่นจะน่าชื่นชมยิ่งไปกว่า จนถึงกล่าวกันว่า น่าชื่นชมเหมือนสุธรรมาเทวสภา นางสุนันทาก็ไปเกิดในสวรรค์ชั้นเดียวกัน สระโบกขรณีชื่อว่า นันทา ก็เกิดขึ้นสำหรับบุญของนางสุนันทา แม้นางสุจิตราก็เหมือนกัน ไปเกิดร่วมสวรรค์ชั้นเดียวกันนั้น อุทยานชื่อว่า จิตรลดาวัน ก็เกิดขึ้นสำหรับบุญของนางสุจิตรา เป็นที่ซึ่งพวกเทพนำเทพบุตรผู้เกิดบุพนิมิตไปเที่ยวชมให้เพลิดเพลิน ฝ่ายนางสุชาดาแปลกกว่าเพื่อน ไปเกิดเป็นนางนกยางที่ลำธารภูเขาแห่งหนึ่ง

          พระอินทร์ทรงส่องทิพยเนตรดูบริจาริกาของพระองค์ ทรงทราบว่าทั้ง ๓ นางได้มาเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ด้วยกันแล้ว ขาดแต่นางสุชาดา ทรงจินตนาว่าไปเกิดในที่ไหน ก็ได้ทรงเห็นว่าไปเกิดในที่นั้น ทรงดำริว่า นางสุชาดาเป็นผู้เขลาไม่ทำบุญกุศลอะไร จึงไปเกิดในกำเนิดดิรัจฉาน ทรงคิดช่วยให้นางได้ทำบุญกุศลเพื่อเป็นเหตุนำนางมาเกิดในเทวโลก จึงทรงจำแลงพระองค์เสด็จไปหานางนกยางสุชาดา บันดาลให้นางระลึกชาติได้ และให้ทราบว่าพระองค์กับอีก ๓ นางไปเกิดในดาวดึงสเทวโลกแล้ว ทรงทำให้นางปรารถนาจะเห็นหญิงสหายในเทวโลก จึงทรงนำนางไปปล่อยไว้ที่สระโบกขรณีนันทา แล้วตรัสบอก ๓ นางให้ไปเยี่ยม

นางสวรรค์ทั้ง ๓ ได้พากันไปยังฝั่งสระโบกขรณีนันทา ได้เห็นนางนกยางสุชาดาจับอยู่ในที่นั้น ก็พากันหัวเราะเยาะเย้ย ชวนกันให้ดูรูปร่างว่าช่างสมเป็นผลของการเอาแต่แต่งตัว ชวนกันให้ดูจะงอยปาก ชวนกันให้ดูแข้งและเท้า ชวนกันให้ดูอัตภาพร่างกายว่าช่างโสภา ฝ่ายนางนกยางสุชาดามีความละอายขอให้พระอินทร์นำกลับลงไป ฝ่ายพระอินทร์ก็ได้ทรงนำนางลงไปปล่อยในที่ธารน้ำตามประสงค์ ทรงบันดาลให้นางได้รู้คิดและปรารถนาทิพยสมบัติ ทรงสอนให้นางรักษาศีล ๕ ทรงเตือนให้ไม่ประมาทแล้วเสด็จกลับ นางนกยางก็ตั้งใจรักษาศีล เว้นจากการเสพปลาเป็น เที่ยวหาเสพแต่ปลาตาย พระอินทร์ได้เสด็จไปทรงทดลองเป็นปลานอนหงายเหมือนตายอยู่บนทราย นางนกยางเห็นเข้า เข้าใจว่าปลาตาย ก็ตรงเข้าจิกจะกลืน ปลากระดิกหาง ก็รู้ว่าปลาเป็น ก็คาบไปปล่อยในน้ำ พระอินทร์ได้เสด็จมาทรงทดลองหลายครั้ง จนแน่พระหฤทัยว่านางรักษาศีลมั่นคง ก็ทรงยินดี ทรงเตือนให้ไม่ประมาท นางนกยางไม่ได้ปลาตาย ขาดอาหาร ก็ผ่ายผอมไปโดยลำดับ จนสิ้นชีวิตไปเกิดเป็นธิดาของนายช่างหม้อด้วยผลของศีล นางได้ตั้งใจรักษาศีล พระอินทร์ได้สอดส่องทิพยเนตรทรงทราบ ได้ทรงนำรัตนะไปประทานให้ในเวลาที่นางมีชีวิตอยู่ในวัยรุ่นสำหรับเป็นเครื่องเลี้ยงชีวิต เพื่อจะได้ไม่เดือดร้อน ทรงกำชับให้รักษาศีล ๕ ไม่ให้ขาด นางได้รักษาศีล ๕ อย่างมั่นคงจนตลอดชีวิต ก็ไปเกิดเป็นเทพธิดาของ ท้าวเวปจิตติอสุรินทร์ ซึ่งเป็นหัวหน้าพวกอสุระในอสุรภพภายใต้เขาสิเนรุ ผู้เป็นศัตรูของพระอินทร์

อสุรกัญญาสุชาดาได้มีรูปร่างประกอบด้วยรูปสิริเป็นพิเศษกว่าเทวกัญญาอื่นๆ เพราะเหตุที่ได้รักษาศีลเป็นอย่างดี ท้าวเวปจิตติอสุรินทร์มีความหวงแหนยิ่งนัก ไม่ยอมยกให้แก่ใครผู้มาขอทั้งหมด แต่ประสงค์จะให้ธิดาเลือกคู่ด้วยตนเอง จึงประกอบ พิธีสยุมพร ให้ประชุมพลเมืองอสุระเพื่อให้ธิดาเลือกสามีตามแต่จะพึงใจ ประทานพวงดอกไม้แก่ธิดาเพื่อที่จะเสี่ยงเลือกคู่ครอง ในขณะประชุมทำการสยุมพรนั้น พระอินทร์ได้ทรงทราบโดยทิพยเนตร จึงทรงเนรมิตพระองค์เป็นอสุระแก่ เสด็จไปยืนในที่สุดบริษัท ฝ่ายนางอสุรกัญญาสุชาดามองตรวจดูอสุระผู้มาประชุมกันทางโน้นทางนี้ทั้งหมด พอมองเห็นอสุระแก่จำแลง ก็บังเกิดความรักขึ้นท่วมหฤทัย เหมือนห้วงน้ำใหญ่ไหลมาท่วมทับด้วยอำนาจบุพเพสันนิวาส จึงเสี่ยงพวงดอกไม้ไปยังอสุระแก่จำแลง พวกอสุระทั้งหลายพากันละอายว่า ราชาของพวกตนเลือกคู่ให้ธิดามานานจนมาได้อสุระแก่คราวปู่

ฝ่ายพระอินทร์ทรงประกาศพระองค์ว่าเป็นท้าวสักกเทวราช ทรงนำอสุรกัญญาสุชาดาหนีไปทันที พวกอสุระพอรู้ว่าท้าวสักกเทวราชจำแลงมาก็พากันไล่ตาม มาตลีเทพสารถีนำเวชยันตรถไปรับในระหว่างทาง พระอินทร์ขึ้นประทับเวชยันตรถกับนางสุชาดา มุ่งพระพักตร์ไปสู่เทพนคร เมื่อถึงป่าไม้งิ้ว พวกลูกครุฑก็พากันตกใจร้องเซ็งแซ่ พระอินทร์ก็มีรับสั่งให้กลับรถพระที่นั่ง เพื่อช่วยลูกครุฑไม่ให้เป็นอันตราย พวกอสุระซึ่งไล่ตามคิดว่าพระอินทร์จักได้กำลังหนุน มีความกลัวไม่กล้าไล่ตามต่อไป ก็กลับหลังหนีลงไปอสุรบุรี ท้าวสักกะนำอสุรกัญญาสุชาดาเข้าสู่เทพนคร นางได้ขอพรให้ได้เสด็จตามไปในที่ทุกแห่งที่ท้าวสักกเทวราชเสด็จไป เพราะไม่มีมารดาบิดาหรือพี่น้องชายหญิงในเทวโลกนี้ พระอินทร์ได้ประทานปฏิญญาให้แก่นาง ตั้งแต่นั้นมาพวกอสุระเรียกพระอินทร์ว่า ชรสักกะ แปลว่า ท้าวสักกะแก่

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๒ หน้า ๑๑๐ – ๑๒๐