Print

แสงส่องใจ ฉบับที่ ๒๗๗

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก


เทวภูมิ

เมื่อได้กล่าวถึงมนุษยภูมิแล้ว จะได้เล่าถึงเทวภูมิ ต่อไป คำว่า เทวะ แปลว่า ผู้เล่น หมายถึงเล่นทิพยกีฬาต่างๆ เป็นสุขเพลิดเพลินอยู่โดยไม่บกพร่อง อีกอย่างหนึ่งแปลว่า สว่าง ในอบายภูมิจำพวกสัตว์นรกมีความทุกข์อยู่ตลอดเวลา ส่วนอบายภูมิจำพวกอื่นมีความทุกข์อยู่ตลอดเวลาก็มี มีความสุขบ้างในบางครั้งก็มี แต่ก็เป็นจำพวกที่ปราศจากความเจริญ เช่นสัตว์ดิรัจฉานถึงจะมีความสุขบ้าง ก็ยังเป็นอบาย ซึ่งแปลว่า ปราศจากความเจริญ ไม่มีจิตใจประกอบด้วยปัญญาที่จะทำความเจริญให้สูงขึ้นกว่าพื้นเพเดิมได้เลย เดิมเป็นอย่างไรก็คงเป็นอย่างนั้น เช่น ไม่รู้จักสร้างบ้านเมืองและทำสิ่งต่างๆ ต่างจากมนุษย์ซึ่งมีจิตใจประกอบด้วยปัญญา ทำความเจริญต่างๆ ให้เกิดขึ้น แต่ในมนุษยภูมินี้มีทั้งสุขและทุกข์ปนกันไป จะเอาแต่เล่นเพลิดเพลินอย่างเดียวไม่ได้ และร่างกายมนุษย์ก็เป็นของหยาบปฏิกูล และเป็นของมืด ไม่มีแสงสว่างในตัว เป็นภูมิที่อาจพิจารณาเห็นทุกข์ได้ง่าย เพราะมีอายุไม่ยืนยาวนัก ความแก่ ความเจ็บของร่างกาย ตลอดถึงความตายปรากฏให้เห็นได้เร็ว ทั้งเป็นเจ้าปัญญาความคิดรู้ต่างๆ ท่านจึงแสดงว่าพระพุทธเจ้าเกิดในมนุษยภูมินี้เท่านั้น นับเป็นภูมิกลางของภูมิทั้งปวง ไม่ใช่เป็นทุกข์โดยส่วนเดียวอย่างภูมินรก ทั้งไม่ใช่เป็นสุขโดยส่วนเดียวเหมือนอย่างเทวภูมิ ซึ่งมีภาวะผิดกันอย่างตรงกันข้าม

กายของเทพ เรียกว่าเป็น กายทิพย์ เป็นกายสว่าง ละเอียด ไม่ปฏิกูล เกิดเป็น อุปปาติกะ ซึ่งแปลว่า ลอยเกิด คือผุดเกิดขึ้น มีตัวตนใหญ่โตทีเดียว แต่เป็น อทิสสมานกาย คือกายที่ไม่ปรากฏแก่ตาคน สัตว์นรกและเปรตอสุรกายโดยมากก็เป็นจำพวกอุปปาติกะเหมือนกัน ในเทวภูมิบริบูรณ์ด้วยความสุข อายุก็ยืนยาว แก่ เจ็บไม่ปรากฏ ตายก็ไม่ปรากฏซาก จึงเห็นทุกข์ได้ยาก ผู้ที่เกิดเป็นเทพมักเสวยความสุขเพลิดเพลินอยู่ตลอดเวลา แต่ก็มีแสดงไว้ว่า ได้เคยมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ฟังธรรมในบางครั้งบางคราว มักจะมาเฝ้าในเวลากลางคืนดึกๆ

เรื่องเทวดานี้ มีเล่าไว้ในที่ต่างๆ มากแห่งด้วยกัน มีที่อยู่และชั้นต่างๆ กันมาก น่าจะเก็บมาจากคติความเชื่อเก่าก่อน พระพุทธศาสนาเก็บมาเล่าโดยตรงบ้าง ดัดแปลงแก้ไขให้เข้าหลักเกณฑ์ในพระพุทธศาสนาบ้าง ดั่งเรื่องสวรรค์ ๖ ชั้นที่จะกล่าวต่อไป คือ ชั้นจาตุมหาราชิก ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามะ ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรตี ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี

 

สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิก

ก่อนที่จะกล่าวถึงสวรรค์ ๖ ชั้นนี้ น่าจะนึกถึงลักษณะของจักรวาล คือโลกที่มีเขาสิเนรุเป็นแกนกลาง มี เขาสัตตบริภัณฑ์ คือเขาล้อมรอบ ๗ ชั้น ซึ่งมี สีทันดรมหาสมุทร คั่นอยู่ในระหว่าง ตั้งเป็นรูปร่างขึ้นไว้ก่อน ภูมิสวรรค์อยู่พ้นทวีปทั้งหลายซึ่งเป็นที่อยู่ของมนุษย์ เช่นชมพูทวีปซึ่งมีอินเดียเป็นศูนย์กลาง จึงอยู่พ้นป่าหิมพานต์ พ้นภูเขาหิมวันตะหรือหิมาลัย พ้นมหาสมุทรแห่งทวีปทั้งปวง แล้วถึงภูเขาสัตตบริภัณฑ์ ตั้งต้นแต่ภูเขาสุทัสสนะ จนถึงภูเขาอัสสกัณณะ จึงเป็นอันถึงสวรรค์ชั้นที่ ๑ เพราะยอดเขาสัตตบริภัณฑ์เหล่านี้เองเป็นที่อยู่ของท้าวมหาราช ๔ องค์กับบริวาร นับเป็นสวรรค์ชั้นที่ ๑ เรียกว่า จาตุมหาราชิก

ท้าวมหาราช ๔ องค์นี้ แบ่งกันครอบครองดั่งนี้

ด้านทิศตะวันออกของเขาสิเนรุ เป็นที่อยู่ของ ท้าวธตรัฏฐะ มีพวกคนธรรพ์เป็นบริวาร (ถัดออกไปเป็นปุพพวิเทหทวีป)

ด้านทิศใต้ของเขาสิเนรุ เป็นที่อยู่ของ ท้าววิรุฬหก มีพวกกุมภัณฑ์เป็นบริวาร (ถัดออกไปเป็นชมพูทวีป) พวกกุมภัณฑ์นี้ ท่านอธิบายว่าได้แก่ทานพรากษส

ด้านทิศตะวันตกของเขาสิเนรุ เป็นที่อยู่ของ ท้าววิรูปักข์ มีพวกนาคเป็นบริวาร (ถัดออกไปเป็นอมรโคยานทวีป)

ด้านทิศเหนือของเขาสิเนรุ เป็นที่อยู่ของ ท้าวกุเวร มีพวกยักษ์เป็นบริวาร(ถัดออกไปเป็นอุตตรกุรุทวีป)

ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ครองอยู่ ๔ ทิศของเขาสิเนรุ มีกล่าวถึงใน อาฏานาฏิยสูตร ดั่งที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว หน้าที่ของท้าวมหาราชทั้ง ๔ และบริวารตามที่กล่าวไว้ คือเป็นผู้รักษาด่านหน้าของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อป้องกันพวกอสูรซึ่งเป็นศัตรูของเทพชั้นดาวดึงส์จะยกขึ้นมาตีเอาถิ่นสวรรค์ชั้นนั้น แต่ใน สุตตันตปิฎก ติกนิบาต ได้มีแสดงหน้าที่ให้เป็นผู้ตรวจดูโลก ซึ่งเป็นที่อยู่ของหมู่มนุษย์อีกด้วย แสดงเป็นพระพุทธภาษิตมีความว่า ในวัน ๘ ค่ำแห่งปักษ์ อมาตย์บริษัทของท้าวมหาราชทั้ง ๔ เที่ยวตรวจดูโลก ในวัน ๑๔ ค่ำแห่งปักษ์ บุตรทั้งหลายของท้าวมหาราชทั้ง ๔ เที่ยวตรวจดูโลก ในวัน ๑๕ ค่ำแห่งปักษ์ ท้าวมหาราชทั้ง ๔ เที่ยวตรวจดูโลกเองว่า พวกมนุษย์พากันบำรุงมารดาบิดา บำรุงสมณพราหมณ์ เคารพนอบน้อมผู้ใหญ่ในตระกูล รักษาอุโบสถ ทำบุญกุศล มีจำนวนมากด้วยกันอยู่หรือ เมื่อตรวจดูแล้ว ถ้าเห็นว่ามีจำนวนน้อย ก็ไปบอกแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ซึ่งประชุมกันใน สุธรรมสภา พวกเทพชั้นดาวดึงส์ เมื่อได้ฟังดั่งนั้นก็มีใจหดหู่ว่า ทิพยกายจักลดถอย อสุรกายจักเพิ่มพูน แต่ถ้าเห็นว่าพวกมนุษย์พากันทำดี มีบำรุงมารดาบิดาเป็นต้นเป็นจำนวนมาก ก็ไปบอกแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์เหมือนอย่างนั้น พวกเทพชั้นดาวดึงส์ก็พากันมีใจชื่นบานว่า ทิพยกายจักเพิ่มพูน อสุรกายจักลดถอย

เรื่องนี้แสดงสอดคล้องกับลัทธิที่ว่า ท้าวมหาราชทั้ง ๔ มีหน้าที่เป็น จตุโลกบาล คือเป็นผู้คุ้มครองโลกทั้ง ๔ ทิศ ตามที่เชื่อถือกันมาเก่าก่อนพระพุทธศาสนา แต่เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นแล้ว พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมเป็นโลกบาล คือคุ้มครองโลกไว้ ๒ ข้อ คือ หิริ ความละอายใจที่จะทำชั่ว โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อความชั่ว เพราะเหตุนี้ จึงไม่กล่าวให้ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ทำหน้าที่คุ้มครองโลกโดยตรง จะไม่กล่าวถึงเลยก็จะขัดขวางต่อความเชื่อของคนทั้งหลายจนเกินไป จึงกล่าวเปลี่ยนไปให้มีหน้าที่เที่ยวตรวจดูโลกมนุษย์ ว่าได้พากันทำดีมากน้อยอย่างไร แล้วก็นำไปรายงานพวกเทพชั้นดาวดึงส์ พวกเทพชั้นนั้นได้รับรายงานแล้วก็เพียงแต่มีใจชื่นบานหรือไม่เท่านั้น

เห็นได้ว่าท่านผู้รวบรวมร้อยกรองเรื่องนี้ไว้ในพระสุตตันตปิฎก ต้องการจะรักษาเรื่องเก่าที่คนส่วนมากเชื่อถือ ด้วยวิธีนำมาเล่าให้เป็นประโยชน์ในทางตักเตือนให้ทำดี เหมือนอย่างที่มีคำเก่ากล่าวไว้ว่า ถึงคนไม่เห็น เทวดาก็ย่อมเห็น คือแสดงจตุโลกบาลที่เขาเชื่อกันอยู่แล้วในทางที่อาจเข้าใจเป็นธรรมาธิษฐาน ซึ่งเป็นข้อมุ่งหมายโดยตรง ถึงจะเชื่อว่ามีตัวตนอยู่จริงและมาคอยตรวจดูโลกว่าใครทำดีไม่ดีอย่างไรก็ไม่เสียหาย กลับจะดีเพราะจะได้เกิดความละอายกลัวเกรงว่า จตุโลกบาลจะรู้จะเห็นว่าทำไม่ดีหรือไม่ทำดี เป็นอันหนุนให้เกิดหิริโอตตัปปะขึ้นได้ ผู้ที่ไม่ยอมเชื่อเสียอีกอาจจะร้ายกว่า เพราะไม่มีที่ละอายยำเกรง เว้นไว้แต่จะมีภูมิธรรมในจิตใจดีอยู่แล้ว หรือมีที่ละอายยำเกรงอย่างอื่นแทนอยู่ วันที่ท่านกล่าวว่าจตุโลกบาลมาตรวจดูโลก เดือนหนึ่งมีไม่กี่วัน ดูเหมือนจะน้อยไป แต่คงไม่หมายความว่าตรวจกรรมของคนเฉพาะวันนั้น วันอื่นไม่เกี่ยวข้องด้วย ควรเข้าใจว่าตรวจดูรู้ย้อนไปถึงวันอื่นๆ ในระหว่างที่ไม่ได้ลงมานั้นด้วย ตัวของเราเองทุกๆ คนนึกย้อนตรวจดูกรรมของตนภายใน ๗ วันยังจำได้ ไฉนโลกบาลจะไม่รู้กรรมที่ตนเองทำแม้จะลืมไปแล้ว โลกบาลก็ต้องรู้ เมื่อเชื่อว่าโลกบาลมีจริง ก็ควรจะเชื่ออย่างนี้ด้วยจึงจะเป็นโลกบาลที่สมบูรณ์ สรุปลงแล้วทำความเข้าใจว่า โลกบาลมาตรวจตราดูที่จิตใจนี้เอง จะเกิดประโยชน์มาก

ตามหลักในการจัดภูมิต่างๆ สัตว์ดิรัจฉานเป็นอบายภูมิต่ำกว่าภูมิมนุษย์และสวรรค์ พระอาจารย์จึงกล่าวว่าในสวรรค์ไม่มีสัตว์ดิรัจฉาน การเกิดในสวรรค์เกิดโดยอุปปาติกกำเนิดอย่างเดียว จึงน่ามีปัญหาว่า พวกนาคซึ่งเป็นบริวารของท้าวมหาราชจะจัดว่าเป็นภูมิอะไร นอกจากนี้ บริวารของท้าวมหาราชจำพวกอื่น เช่น พวกกุมภัณฑ์ก็มีลักษณะพิกล ยักษ์บางพวกก็ดุร้าย เป็นผีเที่ยวสิงมนุษย์ก็มี ดูต่ำต้อยกว่าภูมิมนุษย์ แต่ก็อยู่ในสวรรค์ชั้น ๑ นี้ด้วย ตามที่กล่าวมานี้ น่าเห็นว่าเก็บเอามาจากเรื่องเก่าๆ จึงฟังไม่สนิทตามหลักการจัดภูมิต่างๆ ดังกล่าว

 

สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

สวรรค์ชั้นที่ ๒ ชื่อว่า ตาวติงสภวนะ แปลว่า ภพดาวดึงส์ เรียกกันว่า สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตั้งอยู่บนพื้นเบื้องบนของเขาสิเนรุ ซึ่งอยู่กลางภูเขาบริภัณฑ์ทั้ง ๗ เป็นแกนกลางของโลกดั่งกล่าวมาแล้ว นครดาวดึงส์นี้ท่านกล่าวในคัมภีร์ว่าตั้งอยู่ในที่ ๑๐,๐๐๐ โยชน์ (น่าจะนับผ่าศูนย์กลาง) เพราะมีกล่าวว่า ระหว่างทวารของปราการ (ประตูกำแพงเมือง) อันเป็นทวารกลางทั้ง ๔ ด้าน นับได้ด้านละ ๑๐,๐๐๐ โยชน์ เป็นนครคีรีที่มีปราการโดยรอบเหมือนอย่างเมืองโบราณทั้งปวง มีทวารทั้งหมด ๑,๐๐๐ ทวาร ประดับไปด้วยสวนและสระโบกขรณีทั้งหลาย ท่ามกลางนครมีปราสาทชื่อ เวชยันต์ เป็นที่ประทับของท้าวสักกเทวราช ผู้เป็นจอมเทพ ที่ไทยเราเรียกกันว่า พระอินทร์

เวชยันต์ปราสาทนี้แพรวพราวไปด้วยรัตนะทั้ง ๗ (ใน อภิธานัปปทีปิกา กล่าวรัตนะทั้ง ๗ ไว้ว่า ทอง เงิน มุกดา มณี ไพฑูรย์ วชิระ (เพชร) ประพาฬ แต่ในที่อื่นว่า คือ มณี ไพฑูรย์ ประพาฬ มุกดา วชิระ แก้วผลึก แก้วหุง) ประดับไปด้วยธงรัตนะต่างๆ คือ ธงแก้วมณีมีคันเป็นทอง ธงแก้วมุกดามีคันเป็นแก้วประพาฬ ธงแก้วประพาฬมีคันเป็นแก้วมุกดา ธงรัตนะทั้ง ๗ มีคันเป็นรัตนะทั้ง ๗ มีต้น ปาริฉัตตกะ สูงใหญ่ ภายใต้ต้นไม้นี้มีแท่นศิลาชื่อว่า บัณฑุกัมพล (เหมือนผ้าขนสัตว์สีเหลือง) มีสีเหมือนดอกชัยพฤกษ์ สีครั่ง และสีบัวโรย เป็นพระแท่นที่ประทับของพระอินทร์ ในเวลาประทับนั่งอ่อนยวบลงไปกึ่งกาย ในเวลาลุกขึ้นก็กลับเต็มขึ้นมาเหมือนเตียงสปริง

           มีช้างชื่อ เอราวัณ เป็นพาหนะสำหรับทรง แต่ท่านว่าในเทวโลกไม่มีสัตว์ดิรัจฉาน ฉะนั้น ช้างนี้จึงเป็นเทวบุตรชื่อว่า เอราวัณ มีหน้าที่คอยเนรมิตตนเป็นช้างสำหรับทรงของพระอินทร์ในเวลาที่มีพระประสงค์จะเสด็จออกเพื่ออุทยานกีฬา พรรณนาถึงช้างเทวบุตรจำแลงนี้ว่า มีตะพอง ๓๓ ตะพอง สำหรับเทวบุตร ๓๓ พระองค์รวมทั้งพระอินทร์ซึ่งเป็นสหายบำเพ็ญกุศลร่วมกันมาในสมัยเป็นมนุษย์ ตะพองกลางชื่อว่า สุทัสสนะ เป็นที่ประทับของพระอินทร์ มีมณฑปรัตนะ (จะตรงกับคำว่า กูบ กระมัง) มีธงรัตนะในระหว่างๆ ปลายสุดห้อยข่ายพรวนกระดึงหรือกระดิ่ง เมื่อต้องลมอ่อนๆ โชยพัด ก็ดังปานเสียงทิพยสังคีตอันเสนาะประสานกับเสียงดนตรีมีองค์ ๕ กลางมณฑปมีบัลลังก์มณีเป็นที่ประทับของพระอินทร์ ตะพองบริวารนอกนี้เป็นที่ประทับของเทพบุตรทั้งหลายผู้บำเพ็ญกุศลร่วมกันมาแต่ปางบรรพ์ ตะพองทั้ง ๓๓ นั้น แต่ละตะพองมี ๗ งา มีคำพรรณนาถึงสิ่งที่มีอยู่ในงาแต่ละงายิ่งวิจิตรพิสดาร ว่ามีสระโบกขรณีแห่งปทุมชาติชูสล้างไปด้วยดอกและใบ ซึ่งแต่ละใบเป็นลานฟ้อนรำของเทพธิดา ท่านนับรักษาจำนวนอย่างละ ๗ อย่างละ ๗ อย่างเคร่งครัด นายช่างแกะสลักงาผู้สามารถก็น่าจะแกะสลักงาให้เหมือนอย่างที่พรรณนาไว้ได้โดยยาก ช้างเอราวัณ ๓๓ ตะพอง น่าจะเขียนภาพได้ยาก และดูจะรุงรังไม่งดงาม จึงมักเขียนย่อลงมาเป็นช้าง ๓ เศียร เศียรละ ๒ งา ซึ่งดูงดงามและเป็นสัญลักษณ์พิเศษว่าเป็นช้างทรงของพระอินทร์ โดยเฉพาะเห็นภาพก็รู้กันได้โดยทั่วไป

นอกจากนี้ยังมีรถชื่อ เวชยันต์ เทียมม้าอาชาไนยที่แอกข้างละ ๑,๐๐๐ ม้า มีบัลลังก์ที่ประทับปักเศวตฉัตรกางกั้น พร้อมทั้งธงติดประดับอยู่ตามที่ (ม้าอาชาไนยนั้น แม้ไม่ได้กล่าวว่าเป็นเทพบุตรจำแลง แต่เมื่อวางกฎเกณฑ์ลงไปว่า ในเทวโลกไม่มีสัตว์ดิรัจฉาน และเมื่อต้องการจะให้มีม้าเทียมรถ ก็ต้องกล่าวว่าเป็นเทวบุตรจำแลงเช่นเดียวกัน และในคัมภีร์รุ่นเก่ากล่าวว่าเทียมม้า ๑,๐๐๐ ส่วนในคัมภีร์รุ่นหลังกล่าวขยายออกว่าเทียมแอกข้างละ ๑,๐๐๐ จึงรวมเป็น ๒,๐๐๐)

เมือง นครไตรตรึงษ์ (เรียกในไตรภูมิพระร่วง) นี้ เบื้องบูรพทิศ มีอุทยานชื่อว่า นันทนวัน และ จุลนันทนวัน มีสระโปกขรณีชื่อ นันทา และ จุลนันทา แถบฝั่งสระโปกขรณีนั้นมีแผ่นหินดาดชื่อว่า นันทา และ จุลนันทา

เบื้องทักษิณทิศ มีอุทยานชื่อ ปารุสกวัน มี ภัทราโปกขรณี (สุภัทราโปกขรณี) มีแผ่นหินดาดชื่อว่า ภัทรา (และสุภัทรา)

เบื้องปัจฉิมทิศ มีอุทยานชื่อ จิตรลดาวัน (จุลจิตรลดาวัน) มีสระ จิตราโปกขรณี (จุลจิตราโปกขรณี) มีแผ่นหินดาดชื่อว่า จิตรา (จุลจิตรา)

เบื้องอุตรทิศ มีอุทยานชื่อ มิสสกวัน สระ ธัมมาโปกขรณี (สระสุธัมมาโปกขรณี) มีแผ่นหินดาดชื่อว่า ธัมมา (สุธัมมา)

เบื้องอีสานทิศ มีอุทยานชื่อ มหาวัน และ ปุณฑริกวัน ในปุณฑริกวโนทยานนั้นมีต้นปาริฉัตตกะ ซึ่งภายใต้มีแท่นปัณฑุกัมพลศิลาดั่งกล่าวแล้ว ถัดต้นปาริฉัตตกะนั้นออกไป มีศาลาใหญ่ชื่อ สุธัมมา เป็น เทวสภา ที่ประชุมสภาเทวดา

เบื้องอาคเนย์ทิศ มีพระเจดีย์ทองชื่อ จุฬามณี งามรุ่งเรืองด้วยแก้วอินทนิล กลางองค์เป็นทองจนถึงยอด ประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ มีกำแพงประดับด้วยธงล้อมรอบ

วนะ (ป่า) หรืออุทยาน (สวน) พระอินทร์นครดาวดึงส์ ใน อภิธานัปปทีปิกา ว่ามี ๔ คือ นันทนวัน มิสสกวัน จิตตลดาวัน (หรือจิตรลดาวัน) ผารุสกวัน แต่ในที่อื่นเรียก ปารุสกวัน แทน ผารุสกวัน ก็มี ใน ไตรภูมิพระร่วง เพิ่ม มหาวัน และ ปุณฑริกวัน ในทิศอาคเนย์

ต้นไม้ที่ใหญ่ มีอายุยืนนานตลอดกัปกัลป์ ตามคติโบราณว่ามีอยู่ ๗ ต้น คือ . ชมพู (ไม้หว้า) ประจำชมพูทวีป . สิมพลี (ไม้งิ้ว) ของพวกครุฑ. กะทัมพะ (ไม้กะทุ่ม) ประจำอมรโคยานทวีป . กัปปรุกขะ (กัลปพฤกษ์) ประจำอุตตรกุรุทวีป . สิรีสะ (ไม้ทรึก) ประจำปุพพวิเทหทวีป . ปาริฉัตตกะ หรือ ปาริชาตก์ (ไม้ปาริชาตก์ทิพย์) ประจำภพดาวดึงส์ . จิตรปาฏลี (ไม้แคฝอยทิพย์) ประจำภพอสูร ซึ่งเป็นบุพพเทพของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๒ หน้า ๑๐๒ – ๑๑๐