Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๗๖

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก


ภูมิอสุรกาย

อบายภูมิอีกประเภทหนึ่ง คือ อสุรกาย แปลว่า หมู่อสุระ หรือ กายที่มิใช่ของสุระ คำว่า อสุระ หรือ อสูร ไทยเรามักเข้าใจว่า ได้แก่พวกยักษ์ตามเรื่องรามเกียรติ์หรือในเรื่องอื่น ซึ่งมีลักษณะดุร้าย กินคน และไม่ใช่คน ดั่งที่เรียกว่า อมนุษย์ แต่ตามฎีกาอภิธรรม อมนุษย์ท่านอธิบายว่า อสุระมี ๒ จำพวก คืออสุรเปรต และอสุระที่เป็นข้าศึกของเทพ และท่านแปลคำว่าอสุระ ไว้ ๒ อย่าง คือมิใช่สุระอันหมายถึงเทพ ได้แก่ไม่ใช่เทพ คำว่า สุระ ท่านแปลว่า เล่น หมายถึงเสวยสุข พวกเทวดาเสวยสุขด้วยทิพยสมบัติ จึงเรียกว่าสุระ อสุระมีภาวะตรงกันข้าม คือเสวยทุกข์ เท่ากับเป็นเปรตชนิดหนึ่งจึงเรียกว่า อสุรเปรต อีกจำพวกหนึ่ง ไม่ได้หมายถึงอสุระที่เสวยทุกข์อย่างนั้น แต่หมายถึงจำพวกที่เป็นข้าศึกของเทพ เดิมเกิดอยู่ในชั้นดาวดึงส์ เมื่อพวกเทพเกิดขึ้นก็ถูกกำจัดตกสมุทรลงไป ต้องตั้งถิ่นฐานอยู่ใหม่ในที่ต่ำต้อย ได้ทำสงครามกับพวกเทพหลายครั้ง ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ จำพวกนี้มีถิ่นฐานที่อยู่เสวยทิพยสมบัติเหมือนกัน แต่ด้อยกว่าพวกเทวดา และไม่ยอมเป็นบริษัทบริวารของเทวดา จึงเรียกว่าอสุระเหมือนกัน แปลว่ามิใช่สุระหรือเทพ มีความหมายว่ามิใช่พวกเทพเท่านั้น ในอบายภูมินี้ท่านแสดงว่า หมายถึงพวกอสุรเปรตจำพวกเดียว น่าจะมุ่งให้มีความหมายเฉพาะดังกล่าว จึงไม่เรียกว่าอสุระเฉยๆ แต่เรียกว่า อสุรกาย อาจแปลว่า มีกายไม่เหมือนอย่างสุระหรือเทพ หมายถึงพวกผียักษ์เลวๆ ที่หลอกคน เข้า (สิง) คนก็ได้

ในไตรภูมิพระร่วงกล่าวว่า อสุรกายมี ๒ คือ กาลกัญชกาสุรกาย และ ทิพอสุรกาย ประเภทแรก บางจำพวกมีตัวผอมนักหนาดั่งใบไม้แห้ง ไม่มีเนื้อเลือดเลย มีลักษณะพิกลพิการมากมาย ไม่มีความสุข ยากเย็นเข็ญใจนักหนา บางจำพวกมีรูปร่างต่างๆ กัน แต่ก็พิกลพิการต่างๆ กัน จำพวกนี้ก็ดูจะตรงกับอสุรเปรตที่นับเข้าในอบายภูมิดังกล่าวแล้ว ส่วนพวกทิพอสุรกายในไตรภูมิพระร่วงพรรณนาไว้มาก ตลอดจนถึงพวกที่เป็นข้าศึกของเทพ

รวมอบายภูมิ ๔ คือ . นิรยะ (นรก) . ติรัจฉานโยนิ (กำเนิดดิรัจฉาน) . ปิตติวิสยะ (แดนเปรต) . อสุรกาย (กายอสุระ) เป็นทุคติ(คติที่ชั่วเลว) อกุศลกรรมนำให้เกิดในทุคติเหล่านี้ กำเนิดดิรัจฉานเห็นกันอยู่ด้วยตา ส่วนอีก ๓ ภูมิจะมีจริงหรือไม่เพียงไร ในพระพุทธศาสนาชั้นบาลีโดยมากแสดงแต่ชื่อ ในชั้นอรรถกถาลงไปมีแสดงโดยละเอียด อาจอธิบายตามความเชื่อเก่า (ของพราหมณ์) หรืออาจปรับปรุงขึ้นให้มีความกลมกลืนกับแนวพระพุทธศาสนา แต่บางเรื่องยิ่งอธิบายมากไปก็ยิ่งทำให้ไม่น่าเชื่อ สู้คงไว้แต่ชื่อหรือมีคำอธิบายย่อๆ ให้มีความกว้างไม่ได้ เพราะชื่ออบายภูมิเหล่านี้ล้วนส่องคติที่ไม่ดีทั้งนั้นทั้งคำและความ จึงอาจสรุปได้ว่า ทางพระพุทธศาสนาแสดงอบายภูมิ ๔ ว่าเป็นผลของอกุศลกรรม ดั่งที่ปรากฏอยู่ในพระสูตรต่างๆ ใช้ชื่อเก่าซึ่งคนเข้าใจกันอยู่แล้วในความหมายรวมๆ ว่าเป็นคติที่ไม่ดี แต่โดยมากมิได้รับรองอธิบายเก่าๆ ของชื่อเหล่านั้น เลือกรับรองหรืออธิบายใหม่ตามหลักพระพุทธศาสนา หรืออ้างแต่ชื่อขึ้นมา ปล่อยให้คำและความของชื่อนั้นๆ อธิบายตัวเอง เพราะคนก็เข้าใจได้ทันทีแล้วว่าไม่ดี ยิ่งอธิบายก็ยิ่งเข้าใจช้า หรือไม่เข้าใจ เพราะพระพุทธศาสนามุ่งอธิบายธรรมปฏิบัติแก่คนฟังในปัจจุบัน อ้างถึงอบายภูมิก็เพื่อให้คนละกรรมชั่วในเวลาเดี๋ยวนี้ การละกรรมชั่วจึงเป็นข้อสำคัญ ไม่ต้องเสียเวลาเถียงกันว่านรกมีจริงหรือไม่มีจริง นึกดูว่าความชั่วในตนมีจริงหรือไม่มีจริงดีกว่า ถ้าพบว่ามีจริงก็ควรเข้าใจว่านี่แหละอบายภูมิ และพยายามละเสียไม่ทำอีกต่อไป

 

มนุษยภูมิ

จะกล่าวถึงมนุษยภูมิต่อไป ตามความคิดเก่าแก่ จักรวาลคือโลกนี้มีเขาสิเนรุเป็นแกนกลาง มีภูเขาล้อมรอบเป็น ๗ ชั้น เรียกว่า สัตตปริภัณฑบรรพต มีมหาสมุทรคั่นในระหว่าง ๗ มหาสมุทร เรียกว่า สีทันดร มหาสมุทรทั้ง ๗ ถัดออกไปก็มีมหาสมุทรโดยรอบ มีทวีปใหญ่ทั้ง ๔ อยู่ใน ๔ ทิศ แต่ละทวีปใหญ่มีทวีปเล็กเป็นบริวารอีกเป็นจำนวนมาก ดูเหมือนอย่างมีการวางแผนผังไว้อย่างเป็นระเบียบ อบายภูมิทั้ง ๔ อยู่ภายใต้โลกนี้เองบ้าง อยู่บนพื้นโลกบ้าง (เว้นแต่โลกันตริกนรกซึ่งอยู่ระหว่างจักรวาล แต่ก็มีกล่าวว่าสัตว์นรกจำพวกนี้เกาะขอบจักรวาลอยู่ก็มี) อบายภูมิจำพวกเปรตและอสุรกาย แม้จะอาศัยอยู่บนพื้นโลก แต่ก็เป็น อทิสสมานกาย แปลว่า มีกายไม่ปรากฏแก่ตามนุษย์ ส่วนจำพวกสัตว์ดิรัจฉานนานาชนิดเห็นกันอยู่โดยทั่วไปแล้ว พวกมนุษย์นั้นอาศัยอยู่ในทวีปทั้ง ๔ และทวีปเล็กทั้งหลาย แต่ที่เห็นกันแน่นอนคือชาวชมพูทวีป ซึ่งเป็นต้นตำราภูมิศาสตร์โลกดั่งกล่าวเอง ส่วนมนุษย์ในทวีปอื่นน่าจะเป็นมนุษย์ในความนึกคิดหรือญาณปัญญาของผู้เป็นต้นตำรา จะเห็นได้ชัดดั่งที่พรรณนาถึงในอุตตรกุรุทวีป เรื่องจักรวาลโลกนี้ได้กล่าวมาแล้วตลอดถึงกำเนิดมนุษย์ตามความคิดเก่าแก่ซึ่งติดเข้ามาใน อัคคัญญสูตร ในพระพุทธศาสนา ฉะนั้น ในที่นี้จะกล่าวถึงป่าหิมพานต์ซึ่งเป็นป่าใหญ่ในชมพูทวีป เรียกว่า หิมวันตประเทศ ก็มี คนไทยเราคุ้นต่อคำนี้มาเป็นเวลาช้านาน ใน เวสสันดรชาดก หรือ มหาชาติ ได้มีกล่าวถึงใน ๒ กัณฑ์ คือกัณฑ์หิมพานต์และกัณฑ์วนปเวส

 

ป่าหิมพานต์

           ป่าหิมพานต์ตั้งอยู่ในชมพูทวีป คือในด้านเหนือของอินเดีย มีภูเขาใหญ่ที่มีชื่อเสียงชื่อว่า หิมวันตบรรพต แปลว่า ภูเขามีหิมะ จะตรงกับชื่อที่เรียกในบัดนี้ว่าภูเขาหิมาลัย ในอรรถกถาพรรณนาไว้ว่า ชมพูทวีปนี้เป็นมหาสมุทร ๔ ส่วน เป็นแผ่นดินมนุษย์อยู่ ๓ ส่วน เป็นป่าหิมพานต์หรือบริเวณหิมวันตบรรพต ๓ ส่วน รวมเป็น ๑๐ ส่วน ในเขตหิมวันต์นั้นมีสระใหญ่ ๗ คือ . อโนตัตตะ (อโนดาต) . กัณฑมุณฑะ ๓. รถกาฬะ ๔. ฉัททันตะ ๕. กุณาละ ๖. มันทากินิ ๗. สีหัปปปาตะ สระอโนดาตมีภูเขา ทั้ง ๕ แวดล้อม คือ . สุทัสสนกูฏ ๒. จิตตกูฏ ๓. กาฬกูฏ ๔.คันธมาทนกูฏ . เกลาสกูฏ

สุทัสสนกูฏ ล้วนแล้วไปด้วยทอง โค้งเป็นวง ภายในมีสัณฐานเหมือนปากกายื่นออกไปคลุมสระอโนดาต จิตตกูฏ ล้วนแล้วไปด้วยสรรพรัตนะ กาฬกูฏ ล้วนแล้วไปด้วยหินเขียวดั่งดอกอัญชัญ คันธมาทนกูฏ ล้วนแล้วไปด้วยสานุ ภายในมีสีดั่งถั่ว (สานุ แปลว่า ที่มีพื้นเสมอ บางแห่งให้คำแปลว่า ป่าไม้ สำหรับในที่นี้บางท่านแปลว่า มสารคัลละ แก้วลาย) อบอวลไปด้วยกลิ่นทั้ง ๑๐ คือ กลิ่นราก กลิ่นแก่น กลิ่นกระพี้ กลิ่นใบ กลิ่นเปลือก กลิ่นกะเทาะเปลือก กลิ่นรส กลิ่นดอก กลิ่นผล และกลิ่นลำต้น หนาแน่นไปด้วยโอสถนานัปการ เกลาสกูฏ ล้วนแล้วไปด้วยเงิน เมื่อฝนตกเป็นแม่น้ำไหลรวมเข้าไปสู่สระอโนดาต และเพราะภูเขาเหล่านี้แวดล้อมชะโงกเงื้อมอยู่โดยรอบ แสงจันทร์และอาทิตย์ไม่ส่องลงไปต้องสระอโนดาตโดยตรง จึงเกิดชื่อว่า อโนตัตตะ (ไม่ถูกแสงส่องให้ร้อน)

สระอโนดาตนี้มีท่าสำหรับลงอาบของพระพุทธะ พระปัจเจกพุทธะ และผู้มีฤทธิ์ทั้งหลาย และมีท่าสำหรับลงเล่นน้ำของพวกเทพและยักษ์เป็นต้น และที่ด้านข้างทั้ง ๔ ด้าน มีมุขคือปากของแม่น้ำ ๔ สายไหลออกไป ชื่อว่า สีหมุข(ปากสีหะ) หัตถีมุข (ปากช้าง) อัสสมุข (ปากม้า) อุสภมุข (ปากโคผู้)

ที่ฝั่งแม่น้ำไหลออกทางสีหมุข มีสีหะอาศัยอยู่มากกว่าสัตว์อื่น ที่ฝั่งแม่น้ำที่ไหลออกทางหัตถีมุข อัสสมุข และอุสภมุข ก็มีช้าง ม้า และโคอาศัยอยู่มากกว่าสัตว์อื่น แม่น้ำที่ไหลออกทางทิศตะวันออก ไหลผ่านป่าหิมพานต์ด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือไปสู่มหาสมุทร ไม่ผ่านถิ่นมนุษย์ แม่น้ำที่ไหลออกทางทิศตะวันตกและทิศเหนือ ไหลผ่านป่าหิมพานต์ด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือไปสู่มหาสมุทร ไม่ผ่านถิ่นมนุษย์เช่นเดียวกัน ส่วนแม่น้ำที่ไหลออกทางด้านทิศใต้ (อินเดียอยู่ทางใต้) ไหลเวียนขวาสระอโนดาต (แม่น้ำที่กล่าวมาแล้วก็ว่าไหลเวียนขวาสระอโนดาตก่อนเหมือนกัน แต่เฉพาะแม่น้ำสายนี้เรียกชื่อตอนนี้ว่า อาวัตตคงคา แปลว่า คงคาเวียน) แล้วไหลไปตามหลังแผ่นหิน ตรงไปทางทิศเหนือ (ตอนนี้เรียกว่า กัณหคงคา แปลว่า คงคาดำ) จนไปกระทบภูเขาพุ่งเป็นท่อน้ำขึ้นไปบนอากาศ (ตอนนี้เรียกว่า อากาสคงคา แปลว่า คงคาในอากาศ) แล้วตกลงไปในอ่างหินชื่อว่า ติยัคคฬะ เกิดเป็นสระใหญ่ (ตอนนี้เรียกว่า ติยัคคฬโบกขรณี) น้ำพังฝั่งของสระโบกขรณีนั้นเซาะหินลึกเข้าไป (ตอนนี้เรียกว่า พหลคงคา แปลว่าคงคาหนา) แล้วเซาะดินเป็นอุโมงค์ต่อไป (ตอนนี้เรียกว่า อุมมังคคงคา แปลว่า คงคาในอุโมงค์ คือแม่น้ำไหลใต้ดิน) จนไปกระทบภูเขาขวาง (ติรัจฉานบรรพต) ชื่อว่า วิชฌะ จึงแยกออกเป็น ปัญจธารา คือ ธารน้ำ ๕ สาย เช่นกับนิ้วมือ ๕ นิ้ว ปัญจธาราเหล่านี้ไหลไปยังแดนมนุษย์เป็นแม่น้ำ ๕ สายคือ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี ในชมพูทวีปหรืออินเดียในปัจจุบัน

ใน ไตรภูมิพระร่วง เก็บเรื่องป่าหิมพานต์จากหนังสือต่างๆ มารวมไว้จนดูเป็นป่าที่สลับซับซ้อนยิ่งนัก จะเลือกนำมากล่าวโดยสรุปดั่งต่อไปนี้ เขาหิมพานต์สูงใหญ่มากมาย มียอดมาก ดั่งที่กล่าวไว้ว่าสูง ๕๐๐ โยชน์ ใหญ่ ๓,๐๐๐ โยชน์ มียอด ๘๔,๐๐๐ ยอด ที่เชิงเขาหิมพานต์นั้นมีไม้หว้า(ชมพู) ใหญ่ ที่ฝั่งน้ำสีทานทีเป็นที่เกิดทองคำอันเรียกว่า ทองชมพูนท(ไทยเราเรียก ชมพูนุท ในที่อื่นกล่าวว่าบ่อทองเกิดขึ้นในที่ผลหว้าตกที่ฝั่งทั้ง ๒ ของแม่น้ำทั้งหลายที่ไหลผ่านต้นหว้าใหญ่ไป จึงเรียกชื่อว่า ชมพูนท แปลว่า เกิดที่ฝั่งแม่น้ำต้นหว้า) ต่อจากป่าไม้หว้านั้นไปเป็นป่ามะขามป้อม ถัดไปก็มีแม่น้ำ ๗ มีป่าไม้หว้า แล้วจึงถึงป่าไม้นารีผล (ออกผลมีรูปเหมือนนารีอายุ ๑๖ ปี) เรื่อยไปทางตะวันออกจนถึงมหาสมุทร ส่วนทางตะวันตกไปถึงแม่น้ำใหญ่ ๗ นั้น ถัดไปเป็นป่ามีชื่อทั้ง ๖ เป็นที่อยู่ของพวกนักสิทธิ์ ถัดป่านั้นไปยังมีป่าไม้มะขวิด

ในไตรภูมิพระร่วง ได้พรรณนาถึงแม่น้ำใหญ่ทั้ง ๗ คือ สระทั้ง ๗ มีสระอโนดาตเป็นต้น ได้พรรณนาถึงภูเขา ๕ ลูก ที่ล้อมรอบสระอโนดาต เขาคันธมาทน์ มีถ้ำเป็นที่อยู่ของพระปัจเจกโพธิ เวลากลางคืนเดือนดับมีแสงดั่งถ่านเพลิง เมื่อเดือนเพ็ญยิ่งสว่างดั่งไฟไหม้ป่า ริมนอกสระทั้ง ๗ มีบัวนานาชนิด ถัดไปมีป่าข้าวสาลีขาว ข้าวสาลีแดง ถัดไปมีป่าแตงชะแล ป่าน้ำเต้า ป่าแตงมิง ป่าอ้อย ป่ากล้วย ป่าขนุน ป่ามะม่วง ป่ามะขวิดโดยลำดับ สระฉัททันตะ ก็มีภูเขาล้อมรอบ ๗ ล้วนแล้วด้วยทองแก้วหิน

เขียวดั่งดอกอัญชัญ ผลึกรัตนะ ชาติหิงคุ แก้วมรกต ตระกูลช้างฉัททันต์เกิดอยู่ในที่นั้น ริมนอกสระฉัททันต์นั้น มีป่าผักตบ ป่าบัวนานาชนิด ป่าจงกลณี และป่าบัวชนิดอื่นๆ รอบนอกก็เป็นผักตบอีก มีข้าวสาลี มีหมู่ไม้ใหญ่ มีป่าถั่ว ป่าฟักแฟงแตงเต้า ป่าอ้อย ป่ากล้วย ป่าไม้รัง ป่าไม้ขนุน ป่ามะขาม ป่ามะขวิด ป่าไม้หลายพันธุ์หลายเหล่า มีภูเขา ๗ ล้อมรอบเป็นชั้นสอง ใน เขาไกรลาศ (เกลาส) มีเมืองกินนรกินนรี เขาจิตรกูฏ มีคูหาทองเป็นที่อยู่ของสุวรรณหงส์ทั้งหลาย

ในหนังสือนั้นๆ พรรณนาถึงสัตว์วิเศษในป่าหิมพานต์อีกหลายชนิด ภาพป่าหิมพานต์ประกอบด้วยภูเขาและต้นไม้ นักสิทธิ์ วิทยาธร และสัตว์ต่างๆ มีเขียนไว้ใน พระวิหารวัดสุทัศนเทพวราราม เป็นจิตรกรรมที่น่าดู แสดงความคิดและศิลปอันวิจิตร

ใน เวสสันดรชาดก แสดงระยะทางเสด็จของพระเวสสันดรจากนครเชตุดรแห่งรัฐสีพีดั่งต่อไปนี้ จากนครเชตุดรถึงภูเขาสุวรรณคิริตาละ ๕ โยชน์จากภูเขานั้นถึงแม่น้ำโกนติมารา ๕ โยชน์ จากแม่น้ำนั้นถึงภูเขาอัญชนาคิริ ๕ โยชน์ จากภูเขานั้นถึงหมู่บ้านพราหมณ์ตุณณวิถนาลิทัณฑ์ ๕ โยชน์ จากหมู่บ้านพราหมณ์นั้นถึงมาตุลนครในรัฐเจตะ ๑๐ โยชน์ รวมระยะทางจากกรุงเชตุดรถึงรัฐนั้นเป็น ๓๐ โยชน์ พระยาเจตราชทั้งหลายเสด็จไปส่งพระเวสสันดรจากมาตุลนครเป็นระยะทาง ๑๕ โยชน์ แล้วทรงบอกหนทางที่จะเสด็จต่อไปอีก ๑๕ โยชน์ ผ่านที่ต่างๆ ดั่งต่อไปนี้ เขาคันธมาทน์วิบูลบรรพต แม่น้ำเกตุมดี ไม้ไทรมีผลวิเศษ นาลิกบรรพต สระมุจลินท์ (อยู่ทางทิศอีสานของภูเขานั้น) ป่าหมอกซึ่งเป็นป่าชัฏ สระโบกขรณี เวิ้งเขาวงกต พระเวสสันดร ได้ประทับอยู่ที่เวิ้งเขาวงกตนั้นแล

หิมวันตประเทศ หรือ ป่าหิมพานต์ อันเป็นที่ตั้งแห่งภูเขาหิมวันต์หรือหิมาลัย ปรากฏว่าเป็นถิ่นที่มนุษย์ได้ไปถึงมาแล้วตั้งแต่โบราณกาลเช่นที่กล่าว พระเวสสันดรได้ไปบำเพ็ญพรตอยู่ที่เขาวงกต ระยะทางจากนครเชตุดรแห่งรัฐสีพี ถึงเขาวงกตตามที่พรรณนาไว้ก็ไม่ไกลนัก แต่ที่พรรณนาถึงภูเขา ป่า แม่น้ำตลอดถึงสิงห์สาราสัตว์ในหนังสือคัมภีร์ต่างๆ ดูก็ยังคล้ายนิยายอยู่มาก ทำให้คิดว่าผู้ที่เข้าไปท่องเที่ยวในป่าหิมพานต์น่าจะมีน้อย ในคัมภีร์ต่างๆ เอง ก็ยังกล่าวว่า เป็นที่อยู่เฉพาะของผู้มีฤทธิ์ ฉะนั้น คนธรรมดาสามัญก็คงไม่กล้าเข้าไปใกล้นัก พระอาจารย์ผู้เขียนพระคัมภีร์ซึ่งส่วนมากอยู่ในลังกา ก็ยิ่งน่าจะไม่ได้ไปแม้แต่ในเขตใกล้ป่าหิมพานต์ จึงน่าจะเขียนขึ้นตามที่เล่ากันมา ในบัดนี้ ได้มีนักสำรวจเข้าไปสำรวจกันมากขึ้น จนถึงได้พยายามขึ้นไปจนถึงยอดเขาหิมาลัยที่ว่าสูงที่สุด ต้นของแม่น้ำ ๕ สายในอินเดียที่พรรณนาไว้ก็อาจสำรวจได้ ในสมัยโบราณเป็นวิสัยของผู้มีฤทธิ์ เป็นถิ่นที่ลี้ลับน่าอัศจรรย์ ในสมัยปัจจุบันเมื่อคนไปสำรวจได้ ก็กลายเป็นภูมิประเทศสามัญไม่อัศจรรย์อย่างไร เพียงแต่เป็นป่าใหญ่ มีภูเขาที่สูงมากปกคลุมไปด้วยหิมะ ยากที่จะสำรวจได้ทั่วถึง แต่เมื่อประสงค์จะสำรวจกันจริงๆ ก็อาจสำรวจได้

เรื่องป่าหิมพานต์ หรือภูเขาหิมวันต์ เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาอย่างไร ตอบได้ว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกันโดยตรง ในธรรมบทมีคาถาพระพุทธภาษิตกล่าวถึงภูเขาหิมวันต์ เป็นเครื่องเปรียบทางธรรมเท่านั้น พระคาถานั้นแปลความเฉพาะที่ยกขึ้นเปรียบว่า สัตบุรุษคือคนดีทั้งหลาย ย่อมประกาศคือปรากฏในที่ไกล เหมือนหิมวันตบรรพตฉะนั้น

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๒ หน้า ๙๔ – ๑๐๒