Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๗๔

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 ภูมิดิรัจฉาน

             ได้กล่าวถึงเรื่องนรกมาแล้ว จะได้กล่าวถึงดิรัจฉานต่อไป จำพวกนี้จัดเป็นอบายภูมิ หรือ ทุคติ ถัดจากนรก โดยมากอยู่ร่วมโลกกับมนุษย์ เห็นกันอยู่โดยปกติ ไม่เกิดปัญหาว่ามีหรือไม่มีอย่างอบายภูมิจำพวกอื่น แต่ในคัมภีร์ก็ยังมีกล่าวถึงดิรัจฉานบางจำพวกในป่าหิมพานต์ เป็นจำพวกพิเศษ เช่น นาคครุฑ และในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เช่น ช้างเอราวัณ คนธรรมดาในโลกไม่เคยพบเห็นตัวจริง พบแต่ที่พรรณนาลักษณะต่างๆ ไว้ในหนังสือคัมภีร์ และภาพที่เขียนไว้ตามที่คนเรานี่เองเขียนตามลักษณะที่พรรณนาไว้นั้น และใช้ความคิดดัดแปลงให้เกิดความงดงามอ่อนโยนหรือดุร้ายเป็นต้น ตามที่ต้องการ กลายเป็นภาพจิตรกรรมหรือศิลปกรรม ภาพของสัตว์บางชนิดลงตัวเพราะเป็นที่รู้จักรับรองกันทั่วไป เช่น ภาพครุฑ ภาพหงส์ เมื่อเขียนให้มีลักษณะอย่างนั้น ก็รู้จักรับรองกันว่าครุฑ ว่าหงส์ ถ้าใครไปเขียนเป็นอย่างอื่น ก็ไม่ใช่ครุฑ ไม่ใช่หงส์ นึกถึงลายเครือวัลย์ที่เขียนหรือแกะสลัก อันที่จริงเป็นภาพศิลปประดิษฐ์ขึ้นจากเครือเถาต้นไม้จริงๆ แต่เมื่อประดิษฐ์ให้งดงามแล้ว ก็กลายเป็นประดิษฐ์ศิลป ไม่ใช่ของจริง ถึงดั่งนั้นก็มีมูลความจริงคือเครือเถาต้นไม้นั่นเอง สัตว์พิเศษเช่น ครุฑ หงส์ เป็นต้น ก็น่าจะเป็นเช่นเดียวกัน ตัวจริงที่เป็นมูลเดิมน่าจะมี อาจสาบสูญไปแล้ว หรือมีซ่อนเร้นอยู่ก็ได้

ตามศัพท์เรียกว่า ติรัจฉานโยนิ แปลว่า กำเนิดดิรัจฉาน (สัตว์ที่ไปตามขวาง คือทอดกายไป ไม่ตั้งกายขึ้นตรงเหมือนอย่างมนุษย์) ในพาลบัณฑิตสูตร แสดงไว้ ๕ ประเภท คือ

. ติณภักขา จำพวกมีหญ้าเป็นภักษา ระบุชื่อ ม้า โค ลา แพะ เนื้อ

. คูถภักขา จำพวกมีคูถเป็นภักษา ระบุชื่อ ไก่ สุกร สุนัข สุนัขจิ้งจอก

. จำพวกเกิด แก่ ตายในที่มืด ระบุชื่อ ตั๊กแตน บุ้ง ไส้เดือน

. จำพวกเกิด แก่ ตายในน้ำ ระบุชื่อ ปลา เต่า ฉลาม

. จำพวกเกิด แก่ ตายในของโสโครก เช่น เกิดในปลาเน่า ในศพเน่า ในขนมบูด ในน้ำครำ ในน้ำเน่า

อีกอย่างหนึ่ง ท่านจัดไว้ ๓ จำพวก คือ พวก กามสัญญา มุ่งหมายแต่กาม อาหารสัญญา มุ่งหมายแต่จะกิน มรณสัญญา ตายรวดเร็ว แต่จำพวก ธรรมสัญญา มุ่งหมายธรรม มีน้อยมาก

สัตว์พิเศษที่แสดงไว้มีในที่ต่างๆ น่าจะรวมกล่าวไว้ในที่นี้ มีดังต่อไปนี้

สีหะ มี ๔ จำพวก คือ

. ติณสีหะ คือสีหะประเภทกินหญ้าเป็นอาหาร มีขนมันดังปีกนกเขา

. กาฬสีหะ คือ สีหะมีสีดำดังวัวดำ

. ปัณฑรสีหะ คือสีหะมีสีเหลืองดังใบตอง กินเนื้อเป็นอาหาร

. เกสรสีหะ คือ สีหะมีเกสร (หรือเรียกว่า ไกรสร) ได้แก่ ขนสร้อยอันอ่อนงามดังเอาผ้าแดงมีค่าสูงมาพาดไว้ และขนในตัวที่ขาวดังสังข์ขัด สีปากและปลายเท้าทั้ง ๔ แดงดังทาด้วยน้ำครั่งละลายด้วยชาดหรคุณ ปากและท้องก็แดงดั่งนั้น และเป็นแนวแดงตั้งแต่ศีรษะไปตลอดหลังเลี้ยวลงไปถึงขา

 คำว่า สีหะ ถ้าแปลว่า สิงโต ก็มีตัวตนที่รู้จักกันในปัจจุบัน แต่ถ้าแปลว่า ราชสีห์ ก็กลายเป็นสัตว์พิเศษ ดั่งที่เคยพบเห็นในภาพเขียน ซึ่งอาจจะแผดเสียงให้มนุษย์และสัตว์ดิรัจฉานอื่นๆ หูแตกตายได้ หรือคำว่า หงส์ ถ้าแปลว่า หงษ์ ก็เป็นสัตว์พิเศษ ถ้าแปลว่า ห่าน ก็เป็นสัตว์ธรรมดาไป

 ตระกูลช้าง ๑๐ คือ

. กาฬาวกะ

. คังเคยยะ

. ปัณฑระ ฃ

            ๔. ตัมพะ

            ๕. ปิงคละ

            ๖. คันธะ

            ๗. มังคละ

           ๘. เหมะ

           ๙. อุโปสถะ

          ๑๐. ฉัททันตะ

ในมโนรถปูรณีกล่าวว่า ช้างตระกูลกาฬาวกะ ได้แก่ ตระกูลช้างโดยปกติ (ท่านว่ามีกำลังเท่ากับบุรุษ ๑๐ คนรวมกัน แต่น่าจะต้องเป็นบุรุษที่มีกำลังมากเป็นพิเศษทั้ง ๑๐ คน จึงจะรวมกันเท่ากับกำลังช้างเชือกหนึ่ง) ตระกูลช้างถัดจากนี้มีกำลังมากกว่ากัน ๑๐ เท่าๆ ขึ้นไปโดยลำดับ และ ๑๐ เท่าของช้างตระกูลฉัททันต์ เรียกว่า ตถาคตพละ หรือ กำลังนารายณ์

ยังมีพวกปลาใหญ่ๆ ที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ อภิธานัปปทีปิกา ๗ จำพวก คือ

. ติมิ

. ติมิงคิละ (กลืนปลาติมิได้)

. ติมิรปิงคละ

. อานนท์

. ติมินทะ

. อัชฌาโรหะ

. มหาติมิ

มีกล่าวถึงในไตรภูมิพระร่วง ๗ จำพวกเช่นเดียวกัน ส่วนในคัมภีร์อุทานกล่าวไว้ ๓ จำพวก คือ . ติมิ ๒. ติมิงคละ ๓.ติมิติมิงคิละ (กลืนปลาทั้ง ๒ นั้นได้) ปลาใหญ่ ๓ จำพวกนี้ ดูกล่าวไว้เป็นกลางๆ โดยลักษณะที่ใหญ่โต จนถึงกลืนกันได้โดยลำดับ แบบคำว่า ปลาใหญ่กินปลาเล็ก

นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงครุฑ นาค และหงส์ เช่นที่กล่าวถึงในหนังสือนิทานชาดกหรือวรรณคดีเก่าๆ ซึ่งมีภาพเขียนหรือแกะสลักเกี่ยวกับเรื่องเทพนิยาย เป็นต้น

รวมความว่า สัตว์ดิรัจฉานทุกจำพวก จะเป็นชนิดสามัญหรือชนิดพิเศษโดยลักษณะธรรมชาติ หรือโดยอำนาจบุญพิเศษ เช่น เป็นราชพาหนะได้ขึ้นระวางอย่างมียศก็ตาม ก็คงเป็นจำพวกอบายภูมิเหมือนกัน

 

เปรต

           คำที่คนไทยส่วนมากได้รู้จักกันคำหนึ่ง คือ เปรต และเป็นที่เข้าใจกันว่าหมายถึง ผีชนิดหนึ่งซึ่งมักจะมีรูปร่างสูงอย่างต้นตาล จึงมักใช้เรียกล้อหรือกระทบคนที่มีรูปร่างสูง ตามที่เล่าอ้างกัน เปรตปรากฏกายแก่บางคนในบางโอกาส แต่ใครเป็นผู้เคยเห็นก็ยากที่จะอ้าง เพราะไม่ได้ลองประกาศหาตัว ทั้งถ้าจะมีใครมาเล่ายืนยันว่าเคยเห็นก็อาจจะไม่เชื่อ เพราะไม่มีพยานหลักฐานยืนยัน แต่เรื่องเปรตนี้ก็คงเป็นเรื่องที่เล่าอ้างกันในหมู่คนไทยเราในลักษณะบางอย่างที่คล้ายคลึงกันมาช้านาน จนเมื่อกล่าวว่าเปรตก็เป็นที่เข้าใจตรงกันว่าเป็นผีชนิดไหน

เปรต เป็นภาษาสันสกฤต ภาษาบาลีว่า เปต แปลว่า ผู้ละไปแล้วหมายถึงคนที่ตายไปแล้วทั่วๆ ไป อีกอย่างหนึ่งแปลว่า บิดร คือญาติร่วมโลหิตผู้ใหญ่ผู้สืบสายตรงลงมา แต่มุ่งถึงญาติดั่งกล่าวผู้ละไปแล้ว ที่เรียกว่า บุรพบิดร การทำบุญอุทิศให้บุรพบิดรเรียกว่า บุพพเปตพลี คำว่า เปรต มีคำแปลและความหมายดั่งกล่าวนี้ จึงไม่ตรงกับเปรตตามที่เข้าใจกัน เพราะหมายถึงคนที่ตายไปแล้วทั่วๆ ไป และบุรพบิดรคือญาติร่วมสายโลหิตชั้นผู้ใหญ่ที่ตายไปก่อนแล้ว คำนี้ในชั้นเดิมก็น่าจะใช้ในความหมายเป็นกลางๆ ทั่วๆ ไปอย่างนั้น และมักจะใช้ในเรื่องการทำบุญอุทิศให้ผู้ตายไปแล้ว คือกล่าวถึงผู้ตายไปแล้วว่า เปต

ในพระสูตรหนึ่งได้กล่าวไว้โดยความว่า เปตชนคือคนที่ตายไปแล้วไม่อาจจะรับส่วนกุศลได้ทุกคน เฉพาะผู้ที่ไปเกิดเป็นปรทัตตูปชีวี (ผู้มีปกติอาศัยส่วนบุญที่คนอื่นให้เป็นอยู่) เท่านั้นจึงอาจได้รับ ในเมื่อได้ทราบและได้อนุโมทนากุศลที่ญาติในปัจจุบันได้ทำละอุทิศให้ ในพระสูตรนั้นได้กล่าวว่า ไม่เป็นฐานะที่จะว่างจากญาติร่วมโลหิตซึ่งได้ไปเกิดเป็นปรทัตตูปชีวี เพราะใช้ในถ้อยคำดั่งกล่าวบ่อยๆ เมื่อได้ยินคำว่า เปรต ก็ทำให้นึกถึงผีจำพวกนั้นทันที ซ้ำยังมีเรื่องกล่าวถึง เปตญาติ คือญาติผู้ตายไปแล้วของพระเจ้าพิมพิสารซึ่งไปเกิดเป็นผีจำพวกนี้ มาขอรับส่วนพระราชกุศลของพระเจ้าพิมพิสาร ก็ยิ่งทำให้ความเข้าใจเอียงไปถึงผีจำพวกนั้น และแม้เป็นผีคนอื่น ไม่ใช่ผีญาติของตน เมื่ออยู่ในลักษณะเดียวกัน ก็เลยเรียกว่าเปรตด้วยกันทั้งหมด เปรตคือคนที่ตายไปแล้ว (ยังไม่ได้กล่าวว่าตายไปเป็นอะไร) ก็เลยเปลี่ยนความหมายว่าตายไปเป็นเปรต กลายเป็นภูมิชั้นอีกชนิดหนึ่งของอบายหรือทุคติ เรียกว่า ปิตติวิสยะ แปลกันว่า วิสัยคือแดนหรือถิ่นฐานของเปรต แต่คำว่า ปิตติ น่าจะแปลว่า ของบิดา (ปิตฤ ในภาษาสันสกฤต มีคำเทียบในภาษาบาลี คือ เปติก แปลว่า ของบิดา) คำนี้ก็มีความหมายเปลี่ยนแปลงไปจากในวงศ์ญาติจนหมายถึงเปรตทั่วๆ ไป

ในเรื่อง พระเจ้าพิมพิสารแห่งมคธรัฐทรงบำเพ็ญกุศลอุทิศแก่เปรตที่เคยเป็นญาติแต่ก่อนนั้น พระอาจารย์ได้แสดงรูปลักษณะของเปรตที่มายืนรับส่วนบุญที่ภายนอกฝาตำหนัก เป็นต้นว่า เปรตเหล่านั้นเสวยผลของความริษยาและความตระหนี่ บางพวกมีหนวดผมยาว มีหน้าดำบางพวกมีเส้นเอ็นหย่อน มีอวัยวะใหญ่น้อยห้อยย้อย ผอมโซ หยาบและดำบางพวกยืนดำ เกรียมเหมือนต้นตาลที่ถูกไฟป่าไหม้ บางพวกกระหายจนเป็นเปลวไฟในท้องแลบออกจากปาก บางพวกมีหลอดคอเล็กขนาดปลายรูเข็ม แต่มีท้องใหญ่อย่างภูเขา แม้จะได้ข้าวน้ำก็บริโภคไม่ได้ตามต้องการ ต้องรับแต่รสของความหิวกระหาย บางพวกตะกรุมตระกรามดื่มเลือดหนองและไขข้อเป็นต้น ที่ไหลออกจากปากแผลฝีและต่อมที่แตกของกันและกันหรือของสัตว์เหล่าอื่น ทั้งหมดล้วนมีรูปร่างพิกลน่าเกลียดน่ากลัว

ในที่อื่นได้กล่าวถึงเปรตมีรูปร่างวิปริตต่างๆ ได้รับทุกข์ทรมานในอาการต่างๆ กัน สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงประมวลชนิดเปรตไว้ ๔ ชนิด ในหนังสือ ธรรมวิจารณ์ คือ

. รูปร่างไม่สมประกอบ ซูบผอม อดโซ ดั่งกล่าวแล้ว

. ร่างกายพิการ เช่น ร่างกายเป็นอย่างของมนุษย์ แต่ศีรษะเป็นอย่างของสัตว์ดิรัจฉาน เช่น เป็นกาบ้าง เป็นสุกรบ้าง เป็นงูบ้าง

. รูปร่างพิกล เสวยกัมมกรณ์อยู่ตามลำพัง ด้วยอำนาจบาปกรรม

. รูปร่างอย่างมนุษย์ปกติ แม้เป็นผู้สวยก็มี มีวิมานอยู่ แต่ในราตรีต้องออกวิมานไปเสวยกัมมกรณ์กว่าจะรุ่ง เรียกว่า เวมานิกเปรต

เรื่องเปรตเหล่านี้ มักเล่านิยายถึงคนทำบาปตายไปตกนรกแล้วพ้นจากนั้นมาเกิดเป็นเปรตก็มี

            ในลัทธิลามะของธิเบตตามหนังสือเล่มหนึ่ง ได้กล่าวถึงเรื่องเปรตว่าเป็นผีจำพวกอดอยากหิวกระหาย เพราะเมื่อมีชีวิตอยู่ในโลกเป็นคนตระหนี่ โลภจัด ไม่มีการสละบริจาค มีแต่มักได้ จึงมาเกิดเป็นเปรต มีปากไม่โตกว่ารูเข็ม หลอดคอไม่กว้างกว่าเส้นผม แม้จะพบอาหารและเครื่องดื่มมากมาย ก็ไม่อาจจะบริโภคให้เพียงพอแก่ความต้องการของร่างกายที่ใหญ่โต และอาหารอะไรๆ ที่บริโภคเข้าไปก็กลายเป็นของร้อนแผดเผาอยู่ในกระเพาะ เปลี่ยนไปเป็นมีด เลื่อย และอาวุธอื่นๆ ทิ่มแทงลำไส้หล่นลงไปยังภาคพื้น ทำให้เป็นบาดแผลเจ็บปวด พากันร้องคร่ำครวญหาน้ำ หรือขอน้ำอยู่เนืองนิตย์ ความกระหายน้ำมีมาก ดั่งที่เขียนเป็นภาพมีเปลวเพลิงแลบออกมาจากปาก และเมื่อพยายามที่จะจับต้องน้ำที่ได้ ก็กลายเป็นไฟขึ้น และกล่าวว่า เปรตทั้งหมดมี ๓๖ ชนิด แบ่งเป็นหมู่ๆ คือเป็นเปรตต่างศาสนาที่น่าสยะแสยง เป็นเปรตพุทธศาสนิกที่น่าสยะแสยง เป็นเปรตที่กินดื่มน่าสยะแสยง เพราะสิ่งที่กินดื่มเข้าไปกลายเป็นอาวุธต่างๆ เป็นเปรตที่ไม่ถูกจำกัดที่อยู่ เที่ยวไปได้ในโลกมนุษย์ (อีกหมู่หนึ่งน่าจะเป็นเปรตที่ถูกจำกัดที่อยู่ จึงรวมเป็น ๕ หมู่ดั่งกล่าวในหนังสือนั้น) เปรตเหล่านี้มี ๓๖ ชนิด (ตามลัทธิลามะในหนังสือนั้น) คือ

. มีร่างกายแบน คือ แบนอย่างใบไม้ นอนหงายได้อย่างเดียว (มีคำเรียกการนอนอย่างนี้ว่า เปรตไสยา)

. มีปากเล็กเท่าเข็ม มีลำคอเล็ก แต่ท้องโต เพราะเมื่อมีชีวิตอยู่อยากแต่จะกินอย่างเดียว

. กินสิ่งที่อาเจียนออกมาของผู้อื่น

. กินอุจจาระปัสสาวะ เปรตจำพวกนี้เห็นวัจจกุฏิ (ส้วม) เป็นที่ปรุงอาหารที่ดีที่สุด (ผีกระสือกระมัง)

. กินหมอก เพราะเห็นหมอกปรากฏดุจอาหาร

. เลี้ยงตัวด้วยน้ำที่เขาให้

. มองเห็นยาก เพราะมีรูปละเอียด

. เลี้ยงตัวด้วยเขฬะที่ผู้อื่นถ่มทิ้งไว้ (ผีกระโถนกระมัง)

. กินผมขน เพราะเห็นอยู่แต่เฉพาะผมขนเท่านั้น

๑๐. ดูดเลือดของผู้อื่น

๑๑. เลี้ยงตัวด้วยความคิดอันเป็นบาปอันชั่วร้ายของผู้อื่น เพราะเป็นความคิดที่อยู่ในระดับเดียวกันกับของตน

๑๒. กินเนื้อของตนเอง

๑๓. เลี้ยงตัวด้วยควันธูปที่เขาบูชา

๑๔. ทำความไข้เจ็บ คือเป็นเหตุให้เกิดความไข้เจ็บ

๑๕. สอดส่ายเพื่อจะรู้เห็นความลับที่เขาปกปิด เช่นเดียวกับพวกจารบุรุษ (ผีนักสืบกระมัง)

๑๖. หลบซ่อนอยู่ตามแผ่นดิน ไม่กล้าแสดงตัวในที่ประชุมชน

๑๗. เป็นวิญญาณหรือผีเที่ยวทำเสียงรบกวนในที่ต่างๆ (แสดงเสียงหลอก)

๑๘. มีเปลวไฟออกมาจากข้างใน ไหม้ของกินของดื่มเสียหมดในเวลาที่เปิบเข้าปาก

๑๙. ลักพาเด็กเพื่อกินเป็นอาหาร

๒๐. อาศัยอยู่ในทะเล

๒๑. (ต้นฉบับของ Lamaism มีแต่เพียงเลขข้อเท่านั้น)

๒๒. ถือตะบองของยมราชคือองครักษ์ หรือผู้รับใช้ของยมราช

๒๓. อดอยากทนทุกข์ทรมาน

๒๔. กินเด็ก

๒๕. กินอวัยวะภายในของสัตว์และคนอื่น เช่น ตับ ไต ไส้พุง (ผีปอบกระมัง)

๒๖. รักขสะหรือรากษส มีร่างกายแข็งแรงน่ากลัว อยู่ตามป่าช้า มีซากศพเป็นอาหาร

๒๗. กินควัน

๒๘. อาศัยอยู่ในที่ลุ่มต่ำ หรือที่น้ำขัง ที่ชื้นแฉะ ซึ่งไม่มีใครอาศัยอยู่

๒๙. กินลม

๓๐. เลี้ยงตัวด้วยเถ้าถ่านที่ได้ในที่ต่างๆ

๓๑. กินสิ่งเป็นพิษ

๓๒. อาศัยอยู่ในทะเลทราย

๓๓. เลี้ยงตัวอยู่ด้วยเปลวไฟแลบที่มีในที่ต่างๆ

๓๔. อาศัยอยู่บนต้นไม้

๓๕. อาศัยอยู่ตามข้างถนน

๓๖. ฆ่าผู้อื่นเพื่อเข้าสิงอยู่ในร่างกายเขาแทน

เปรต ๓๖ ชนิดตามที่แบ่งไว้นี้ ดูคล้ายเที่ยวเก็บอมนุษย์หรือผีที่กล่าวถึงในที่ต่างๆ มารวมไว้เท่านั้น ไม่ใช่จัดตามหลักเกณฑ์ที่จะทำให้ได้ความเข้าใจและมองเห็นว่าประมวลมาไว้ทั้งหมด แต่ก็หลายจำพวกที่ตรงกับคติในคัมภีร์ทางฝ่ายใต้ (หีนยาน) เช่น ชนิดที่ ๒๒ ว่า ผู้ถือตะบองของยมราช เป็นเปรตชนิดหนึ่ง ใน อรรถกถาพาลปัณฑิตสูตร พระอาจารย์กล่าวว่า องค์ยมราชเองซึ่งเป็นเจ้าแห่งนรกเป็นเปรตชนิดหนึ่ง เรียกว่า เวมานิกเปรต (แปลว่า เปรตมีวิมานอยู่) ฉะนั้น พวกยมบุรุษคือคนของยมราช ก็น่าจะเป็นเปรตชนิดหนึ่งเช่นเดียวกัน

ส่วน รากษส หรือ รักขสะ นักเรียนบาลีในเมืองไทยแปลกันว่า ผีเสื้อน้ำ พระอาจารย์ทางฝ่ายเราอธิบายว่า หน้าขาว ท้องเขียว มือเท้าแดง เขี้ยวใหญ่ เท้าเก รูปพิกลน่ากลัว อาศัยอยู่ในน้ำ(ไม่ใช่ในป่าช้า) ไม่ได้กล่าวว่าเป็นเปรตชนิดหนึ่ง ส่วนทางมหายานเก็บมารวมเป็นเปรตชนิดหนึ่งด้วย

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๒ หน้า ๗๗ – ๘๖