Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๗๓

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

การลงทัณฑ์

เรื่องนรกมีลักษณะส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับคุกตะราง และการลงทัณฑ์นักโทษสมัยโบราณอันเรียกว่า กัมมกรณ์ แปลว่า การกระทำกรรม หมายถึงการลงทัณฑ์ ท่านแสดงว่ามี ๓๒ อย่าง เรียกว่า ทวัตติงสกัมมกรณ์ แปลว่ากัมมกรณ์ ๓๒ มีกล่าวถึงในหลายพระสูตร จะได้นำมากล่าวโดยคัดจาก

คำแปลและอธิบายตามนัยอรรถกถาของท่านผู้หนึ่งดังต่อไปนี้ คือ

. กสาหิปิ ตาเฬนฺเต โบยด้วยแส้

. เวตฺเตหิปิ ตาเฬนฺเต โบยด้วยหวาย

. อทฺธทณฺฑเกหิปิ ตาเฬนฺเต ตีด้วยตะบองสั้น

. หตฺถมฺปิ ฉินฺทนฺเต ตัดมือ

. ปาทมฺปิ ฉินฺทนฺเต ตัดเท้า

. หตฺถปาทมฺปิ ฉินฺทนฺเต ตัดทั้งมือทั้งเท้า

. กณฺณมฺปิ ฉินฺทนฺเต ตัดหู

. นาสมฺปิ ฉินฺทนฺเต ตัดจมูก

. กณฺณนาสมฺปิ ฉินฺทนฺเต ตัดทั้งหูทั้งจมูก

๑๐. พิลงฺคถาลิกมฺปิ กโรนฺเต ลงกัมมกรณ์วิธีหม้อเคี่ยวน้ำส้ม (คือต่อยขมองออก แล้วเอาคีมคีบก้อนเหล็กแดงใส่ลงไปให้มันสมองเดือดพลุ่งขึ้นเหมือนน้ำส้มเดือดล้นหม้อ)

๑๑. สงฺขมุณฺฑิกมฺปิ กโรนฺเต ลงกัมมกรณ์วิธีขอดสังข์ (คือกรีดหนังตัด กำหนดตรงจอนหูทั้งสองและหลุมคอโดยรอบ รวบผมทั้งหมดขมวดรวมกันเข้า พันกับท่อนไม้ ถลกขึ้นให้หนังหลุดขึ้นไปพร้อมกับผม แล้วขัดกะโหลกศีรษะด้วยก้อนกรวดหยาบ ๆ ล้างทำให้มีสีเหมือนสังข์)

๑๒. ราหุมุขมฺปิ กโรนฺเต ลงกัมมกรณ์วิธีปากราหู (คือเอาขอเกี่ยวปากให้อ้าแล้วจุดไฟในปากนั้น หรือเอาสิ่วตอกแต่จอนหูเข้าไปทะลุปาก โลหิตไหลออกมาเต็มปาก ดูปากอ้าแดงดั่งปากราหู)

๑๓. โชติมาลิกมฺปิ กโรนฺเต ลงกัมมกรณ์มาลัยไฟ (คือเอาผ้าชุบน้ำมันพันทั่วตัวแล้วเอาไฟจุด)

๑๔. หตฺถปชฺโชติกมฺปิ กโรนฺเต ลงกัมมกรณ์วิธีคบมือ (คือเอาผ้าชุบน้ำมันพันนิ้วทั้ง ๑๐ แล้วเอาไฟจุด)

๑๕. เอรกวตฺติกมฺปิ กโรนฺเต ลงกัมมกรณ์วิธีริ้วส่าย (คือเชือดหนังออกลอกเป็นริ้ว ๆ ตั้งแต่ใต้คอลงไปจนถึงข้อเท้า แล้วเอาเชือกผูกฉุดให้เดินนักโทษเดินเหยียบริ้วหนังของตัวก็ล้มลุกคลุกคลานไปจนกว่าจะตาย)

๑๖. จีรกวาสิกมฺปิ กโรนฺเต ลงกัมมกรณ์วิธีนุ่งเปลือกไม้ (คือเชือดหนังเป็นริ้ว ๆ อย่างบทก่อน แต่ทำเป็น ๒ ตอน ตั้งแต่ใต้คอถึงเอวตอนหนึ่งตั้งแต่เอวถึงข้อเท้าตอนหนึ่ง ริ้วหนังตอนบนห้อยคลุมลงมาปิดกายตอนใต้เอวดูดั่งนุ่งเปลือกไม้)

๑๗. เอเณยฺยกมฺปิ กโรนฺเต ลงกัมมกรณ์วิธียืนกวาง (คือเอาห่วงเหล็กสวมข้อศอกทั้งสองและเข่าทั้งสองให้โก้งโค้งลงกับดิน เอาหลักเหล็กสอดตอกตรึงไว้เป็นกิริยาว่าสัตว์ ๔ เท้า แล้วก่อไฟล้อมลนไปจนตาย)

๑๘. พลิสมํสิกมฺปิ กโรนฺเต ลงกัมมกรณ์วิธีเกี่ยวเหยื่อเบ็ด (คือเอาเบ็ดมีเงี่ยงสองข้างเกี่ยวตัว ดึงเอาหนังเนื้อและเอ็นออกมาให้หมด)

๑๙. กหาปณกมฺปิ กโรนฺเต ลงกัมมกรณ์วิธีเหรียญกษาปณ์ (คือเอามีดคมค่อยเฉือนเนื้อออกเป็นแว่น ๆ ขนาดเท่าเงินเหรียญ จนกว่าจะตาย)

๒๐. ขาราปตจฺฉิกมฺปิ กโรนฺเต ลงกัมมกรณ์วิธีแปรงแสบ (คือสับฟันเสียให้ยับทั่วกายแล้วเอาแปรงหรือหวีแข็งชุบน้ำแสบ (น้ำเกลือ น้ำด่าง น้ำกรด) ขูดถูไปให้หนังเนื้อเอ็นขาดหลุดออกมาหมด เหลือแต่กระดูก)

๒๑. ปลีฆปริวตฺติกมฺปิ กโรนฺเต ลงกัมมกรณ์วิธีการเวียน (คือให้นอนตะแคง แล้วเอาหลาวเหล็กตอกตรงช่องหูทะลุลงไปตรึงแน่นอยู่กับดิน แล้วจับเท้าทั้งสองยกเดินเวียนไป)

๒๒. ปลาลปีฐกมฺปิ กโรนฺเต ลงกัมมกรณ์วิธีตั่งฟาง (คือ เอาลูกบดศิลากลิ้งทับตัว บดให้กระดูกแตกป่น แต่ระวังไม่ให้หนังขาด แล้วจับผมรวบยกขย่อน ๆ ให้เนื้อรวมกันเข้าเป็นกอง จึงเอาผมนั่นแหละพันตะล่อมเข้าวางไว้เหมือนตั่งทำด้วยฟางสำหรับเช็ดเท้า)

๒๓. ตตฺเตนปิ เตเลน โอสิญฺจนฺเต ราดด้วยน้ำมันเดือดๆ

๒๔. สุนเขหิปิ ขาทาเปนฺเต ให้สุนัขทึ้ง (คือขังฝูงสุนัขไว้ให้อดหิวหลายวัน แล้วปล่อยให้ออกมารุมกัดทึ้งพักเดียวเหลือแต่กระดูก)

๒๕. ชีวนฺตมฺปิ สูเล อุตฺตาเสนฺเต ให้นอนหงายบนหลาวทั้งเป็น ๆ (คือตรงกับที่กฎหมายเก่าเรียกว่า เสียบเป็น)

๒๖. อสินาปิ สีสํ ฉินฺทนฺเต ตัดศีรษะด้วยดาบ

วิธีลงกัมมกรณ์ตั้งแต่ข้อ ๑-๒๖ เหล่านี้ในกฎหมายเก่าได้นำไปตราไว้เป็นบทลงโทษเหมือนกัน ขึ้นต้นมีพระบาลีดั่งที่ยกมาไว้แล้ว กำหนดความผิดต่าง ๆ มีขบถต่อราชบัลลังก์เป็นต้น แล้วจึงกล่าวบทลงโทษตามพระบาลีนั้น วิธีลงกัมมกรณ์ที่กล่าวถึงในพระสูตร มีเพียง ๒๖ แต่อ้างกันในที่โดยมากว่ามี ๓๒ จึงเรียกว่า ทวัตติงสกัมมกรณ์ ท่านผู้แปลนั้น ได้รวบรวมมาอีก ๖ อย่างนี้

๒๗. เอาขวานผ่าอก

๒๘. แทงด้วยหอกทีละน้อยจนกว่าจะตาย

๒๙. ขุดหลุมฝังเพียงเอว เอาฟางสุม คลอกด้วยไฟ พอหนังไหม้เอาไถเหล็กไถ

๓๐. เชือดเนื้อออกมาทอดให้กินเอง

๓๑. ตัด หรือแหวะปาก

๓๒. จำ ๕ ประการไว้ในคุก

คุกตะรางและกัมมกรณ์ต่าง ๆ เช่นที่กล่าวมานี้ เป็นนรกในโลกนี้สำหรับคนประพฤติผิดกฎหมาย มีวิธีและเครื่องมือทรมานเค้าเดียวกับนรกที่กล่าวมาโดยมาก อาจจะเป็นต้นแบบของนรกทั้งหลายก็ได้

 

พระพุทธศาสนากับเรื่องนรก

ทางพระพุทธศาสนารับรองเรื่องนรกทั้งหลายเพียงไร การที่จะตอบปัญหานี้ ต้องอาศัยหลักฐานและเหตุผล ตามหลักชั้นบาลีที่อ้างว่าเป็นพระพุทธวจนะ ก็กล่าวในที่ทั่วไปถึง นิรยะ หรือ นรก ในฐานะเป็นคติที่ไปภายหลังตายของคนทำบาปอกุศลทุจริต แต่โดยมากมิได้กล่าวถึงลักษณะและรายละเอียดต่าง ๆ มีเฉพาะบางพระสูตรและชาดกเท่านั้นแสดงลักษณะและรายละเอียดไว้ ดั่งได้ยกมากล่าวไว้แล้ว ลักษณะและรายละเอียดเหล่านั้นน่าจะเป็นเรื่องแทรกเข้ามาตามคติเก่าแก่ซึ่งเชื่อกันต่อ ๆ มาจากต้นเดิมหลายทางด้วยกัน จนถึงพระอาจารย์จดเข้าไว้ในบาลีพระสูตร พระอาจารย์ต่อมาผู้อธิบายบาลีได้ปรับปรุงจัดให้อยู่ในแนวทางเดียวกัน ซึ่งก็ไม่สนิทนักดังกล่าวแล้ว และในนรกก็ใช้เครื่องเหล็กตลอดถึงอาวุธ เป็นต้นว่าหอกดาบ เช่นเดียวกับในมนุษยโลก จึงน่าจะมีแสดงขึ้นในสมัยที่มนุษย์รู้จักใช้เหล็กและรู้จักทำหอกดาบเป็นต้นใช้แล้ว ฉะนั้น น่าจะยุติได้โดยไม่ผิดว่า ทางพระพุทธศาสนานำชื่อว่า นิรยะ หรือ นรก มาใช้เช่นเดียวกับคำอื่น ๆ เช่น อรหันต์ ภควา พรหม ภิกขุ นิพพาน เป็นต้น แต่คำเหล่านี้ เดิมมีความหมายอย่างหนึ่ง ทางพระพุทธศาสนานำมาใช้ในความหมายอีกอย่างหนึ่ง ไม่ตรงกัน คำว่า นิรยะ ก็เช่นเดียวกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้จะมีความหมายอย่างไร ในเบื้องต้นควรจะหาความหมายตามหลักฐานที่ยุติไว้ด้วยเหตุผลก่อน ได้พบบาลีอธิบายเรื่องนิรยะไว้ในสฬายตนวรรค ในรูปความเป็นพระพุทธดำรัสตรัสไว้ว่า ภิกขุทั้งหลาย เราได้เห็นนิรยะชื่อว่า ผัสสายตนิกะ (เกิดทางอายตนะที่เป็นทางผัสสะคือสัมผัสถูกต้อง) ๖ แล้วคือในนิรยะนั้น () เห็นรูปด้วยจักษุ () ได้ยินเสียงด้วยหู () ดมกลิ่นด้วยจมูก () ลิ้มรสด้วยลิ้น () ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย () รู้เรื่องด้วยใจ อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ได้เห็น ได้ยิน ได้ดม ได้ลิ้ม ได้ถูกต้อง ได้รู้ซึ่งรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะและเรื่องล้วนแต่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่ารักใคร่ ไม่น่าชอบใจ

ตามอธิบายนี้ควรฟังได้ว่า เป็นอธิบายนิรยะในพระพุทธศาสนา เป็นอธิบายที่ไม่มีผิด คลุมไปได้ในนรกทั้งหมด และครอบได้ทุกกาลเวลา แม้ในปัจจุบันเดี๋ยวนี้เองก็ตกนรกได้ ในเมื่อเครื่องแวดล้อมทั้งปวงมีแต่ทุกข์ซึ่งตนเองต้องรับเสวย ถึงนรกในภายหลังตายจะมี ก็รวมลงเป็นเครื่องแวดล้อมให้เป็นทุกข์ ซึ่งบังเกิดขึ้นทางผัสสายตนะทั้ง ๖ นี้เช่นเดียวกัน เว้นผัสสายตนะทั้ง ๖ นี้เสียแล้ว ทุกข์หรือสุขอะไรก็บังเกิดขึ้นไม่ได้ ฉะนั้น จึงยุติได้ว่า พระพุทธภาษิตนี้เป็นอธิบายนรกในพระพุทธศาสนาโดยตรง การอธิบายให้ต้องด้วยหลักฐานเหตุผลใช้ได้ทุกกาลสมัยดั่งนี้ พึงเห็นว่าเป็นลักษณะอธิบายพระพุทธศาสนาโดยทั่ว ๆ ไป

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๒ หน้า ๗๑ – ๗๗