Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๗๒

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

นรกในนิกายลามะ

 

นรกทั้ง ๑๐ ตามที่กล่าวมานี้ ท่านใช้คำว่า นิรยะ ประจำอยู่ทุกๆ คำ ดูเค้าเงื่อนจะเป็นนรกอีกแผนกหนึ่ง ได้พบในหนังสือกล่าวถึงนรกตามลัทธิลามะของธิเบต กล่าวว่านรกมี ๒ ส่วน คือ นรกร้อน และนรกเย็น ผู้เรียบเรียงสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเพราะพระพุทธศาสนาฝ่ายเหนือแผ่ไปตั้งอยู่ในท้องถิ่นที่หนาวเย็น จึงมีนรกเย็นขึ้นอีกส่วนหนึ่ง แต่พระพุทธศาสนาฝ่ายใต้แผ่ไปตั้งอยู่ในท้องถิ่นมีอากาศร้อน ไม่มีอากาศหนาวเย็นร้ายกาจ จึงมีแต่นรกร้อนเท่านั้น นรกร้อน ๘ ขุมตามลัทธิลามะนั้น มีชื่อเหมือนกันกับนรกใหญ่ ๘ ขุมทางฝ่ายใต้ และตั้งอยู่ก้นบึ้งของแผ่นดินเช่นเดียวกัน ส่วนนรกเย็นอีก ๘ ขุม ตั้งอยู่ภายใต้ของกำแพงที่วงรอบโลก (จักรวาล) มีภูเขาน้ำแข็งล้อมรอบ และมีนายนิรยบาลที่น่ากลัวเหมือนในนรกร้อน มีชื่อเป็นภาษาสันสกฤตดั่งต่อไปนี้

. อรพุทะ แปลว่า บวม เจ็บปวด คือสัตว์นรกที่นี่ถูกใส่ลงไปแช่น้ำแข็งที่เลื่อนไหลไป มีร่างกายเช่นมือเท้าบวมเบ่ง เจ็บปวดด้วยความหนาวเย็น (ภาษาบาลีว่า อัพพุทะ เป็นชื่อนรก ๑๐ ขุมที่ ๑)

. นิรรพุทะ ร่างกายเช่นมือเท้าบวมเบ่งยิ่งขึ้น เป็นเม็ดเจ็บปวด มีโลหิตไหลออกซิบๆ เจ็บปวดรวดร้าวด้วยความหนาว (ภาษาบาลีว่า นิรัพพุทะ เป็นชื่อนรก ๑๐ ขุมที่ ๒)

. อตตะ คือร้องไม่เป็นภาษาด้วยความทุกข์ทรมาน (ภาษาบาลีว่า อฏฏะ เป็นชื่อนรก ๑๐ ขุมที่ ๕

. หหวะ คือหนาวเย็นยิ่งขึ้นจนลิ้นแข็ง ร้องได้แต่ว่า ฮะๆ เท่านั้น (คล้าย อพัพพะ ซึ่งเป็นชื่อภาษาบาลีของนรก ๑๐ ขุมที่ ๓)

. อหหะ ขากรรไกรและฟันกระทบกันเพราะความหนาว (ภาษาบาลีอย่างเดียวกัน เป็นชื่อนรก ๑๐ ขุมที่ ๔)

. อุตปละ อาการบวมเบ่งเจ็บปวดของร่างกาย บวมเบ่งมากจนเหมือนดอกบัวเขียว (ภาษาบาลีว่า อุปปละ เป็นชื่อนรก ๑๐ ขุมที่ ๘)

. ปทมะ อาการบวมเบ่งที่มีโลหิตไหลซิบๆ พุพองมากขึ้น จนเหมือนดอกบัวแดง (ภาษาบาลีว่า ปทุมะ เป็นชื่อนรก ๑๐ ขุมที่ ๑๐)

. ปุณฑรีกะ อาการบวมเบ่งที่มีโลหิตไหลซิบๆ นั้น บวมเบ่งมากขึ้นจนเนื้อหลุดออกจากกระดูก เหมือนกลีบดอกบัวใหญ่หลุดออกไป มีนกและแมลงปากเหล็กจิกกัด ได้รับทุกข์ทรมานแสนสาหัส (ภาษาบาลีก็ว่า ปุณฑริกะ เป็นชื่อนรก ๑๐ ขุมที่ ๙)

นรกเย็น ๘ ขุมดังกล่าวนี้ ได้เทียบกับนรก ๑๐ ไว้ด้วยแล้ว มีชื่อเดียวกันเกือบทั้งหมด ต่างแต่ใช้ภาษาบาลีหรือมคธฝ่ายหนึ่ง ใช้ภาษาสันสกฤตฝ่ายหนึ่ง นรก ๑๐ มีเพิ่ม กุมุทะ (ที่ ๖) และ โสคันธิกะ (ที่ ๗) นรก ๘ ก็ขาด ๒ ชื่อนี้ แม้จะชื่อเดียวกัน แต่ก็เรียงลำดับสับกันดั่งที่เทียบไว้แล้วน่าตั้งข้อสังเกตว่ามาจากเค้าคติเดียวกัน ฝ่ายไหนจะได้จากฝ่ายไหนไม่อาจทราบได้ ส่วนคำอธิบายต่างกันไปคนละอย่าง

ทางลัทธิลามะของธิเบตนั้น มีกล่าวต่อไปว่า ยังมีนรกที่เป็นด้านหน้าที่ทางออกจากนรกใหญ่อีก ๔ ส่วน คือ

. อัคนินรก แปลว่า ขุมไฟ เต็มไปด้วยเถ้าถ่านที่ร้อนแรง ทำให้หายใจไม่ออก เป็นเถ้าถ่านของซากศพและสิ่งปฏิกูลทุกชนิด

. กุณปังกะ แปลว่า สถานแห่งซากศพ อยู่ถัดไปจากอัคนินรก

. ขุรธาราวนะ แปลว่า ป่าไม้คมมีดโกน คือป่าไม้แห่งหอกและจักรอันคมเหมือนใบมีดโกน อยู่ถัดไปจากนรกที่ ๒

. อสิธาราวนะ แปลว่า ป่าไม้คมดาบ คือป่าไม้ใบเป็นดาบ อยู่ถัดนรกที่ ๓ แต่มีแม่น้ำแข็งคั่นอยู่ สัตว์นรกหนีจากนรกที่ ๓ ข้ามแม่น้ำนั้นได้แล้ว ขึ้นฝั่งเป็นนรกที่ ๔ ต้องถูกใบไม้คมดาบบาดเจ็บทรมาน มีพิธีสวดสำหรับผู้ตาย ขอให้แม่น้ำแข็งซึ่งใหญ่โตปานมหาสมุทรเป็นลำธารเล็กๆ และขอให้ต้นไม้คมดาบกลายเป็นต้นกัลปพฤกษ์ อำนวยให้สำเร็จปรารถนาสิ่งต่างๆ

นรกรอบนอกเหล่านี้ ดูเค้าเดียวกันกับนรกรอบนอกของนรกใหญ่ในเทวทูตสูตร น่าจะมาจากคติเดิมเดียวกัน และนรกเย็นขุมที่ ๑ คืออรพุทะ หรืออัพพุทะ ใช้ชื่อเดียวกันกับกำเนิดรูปกายในครรภ์มารดาที่แสดงไว้ใน อินทกสูตร สังยุตตนิกาย ว่าสัปดาห์ที่ ๑ เป็นกลละ สัปดาห์ที่ ๒ เป็นอัพพุทะหรืออัมพุทะ คือเริ่มมีสีเรื่อๆ เป็นน้ำล้างเนื้อ แต่ยังเหลวเหมือนดีบุกเหลว (จะแสดงถึงในพรรษาที่ ๗) ในลัทธิลามะนั้นยังกล่าวว่ามีนรกภายนอกอีกมากมาย จำนวนถึง ๘๔,๐๐๐ โดยมากตั้งอยู่บนพื้นโลก ในภูเขา ในที่รกร้าง ในที่ร้อน ในทะเลสาบ

นรกอีกชนิดหนึ่งรู้จักกันในภาษาไทยโดยมากว่า โลกันต์ แต่ชื่อที่ถูกต้องว่า โลกันตริกะ แปลว่า ตั้งอยู่ในระหว่างแห่งโลก ท่านอธิบายว่าอยู่นอกขอบกำแพงวงกลมรอบโลก (จักรวาล) คืออยู่ในระหว่าง ๓ จักรวาล หรือระหว่างโลก ๓ โลกที่อยู่ใกล้กัน ดังเกวียน ๓ เกวียน หรือบาตร ๓ บาตรที่วางไว้ใกล้กัน (เป็น ๓ มุมกระมัง) โลกันตริกะอยู่ในระหว่างนั้น เป็นนรกที่มืดมิดอยู่นิรันดร ต่อพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น จึงมีแสงสว่างคราวหนึ่ง แต่ไม่สว่างอยู่นาน แวบเดียวเท่านั้นแล้วก็มืดไปตามเดิม สัตว์บาปในนรกแห่งนี้เกาะโหนห้อยกำแพงจักรวาลอย่างค้างคาว จับตะครุบกินกันเอง พากันตกลงไปในน้ำที่เย็นนักหนา ร่างกายก็เปื่อยแหลก แล้วก็กลับเป็นรูปร่างปีนขึ้นไปเกาะโหนอยู่ใหม่ สำหรับบาปที่เป็น พาลหลง (เรียกในไตรภูมิพระร่วง) คือที่เป็น นิยตมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดที่ดิ่งลง ๓ อย่าง คือ

. อกิริยทิฏฐิ เห็นว่าไม่เป็นอันทำ คือทำบาปไม่เป็นบาป ทำบุญไม่เป็นบุญ

. อเหตุกทิฏฐิ เห็นว่าไม่มีเหตุ เช่นเห็นว่าสุขทุกข์ไม่มีเหตุ เกิดขึ้นเอง

. นัตถิกทิฏฐิ เห็นว่าไม่มี เช่นเห็นว่าทานศีลเป็นต้นไม่มีผล วิบากของกรรมดีกรรมชั่วไม่มี มารดาบิดาไม่มีคุณ เป็นต้น

นอกจากนี้ สำหรับบาปที่ทำหนักหนา ทารุณต่อมารดาบิดา สมณพราหมณ์ผู้ทรงธรรม และทำกรรมที่สาหัสอย่างอื่นมีฆ่าสัตว์ทุกๆ วัน เป็นต้น

           ในภาษาไทยมักเรียกว่า โลกันตนรก แต่คำว่า โลกันต แปลว่า ที่สุดแห่งโลก (โลก + อันตะ) ในที่บางแห่งใช้เป็นที่ชื่อแห่งพระนิพพาน ดั่งแสดงไว้ใน โรหิตัสสสูตร ว่า ที่สุดแห่งโลกไม่พึงถึงด้วยการไปในเวลาไหนๆ จึงต่างจากคำว่า โลกันตริกะ ดั่งกล่าวแล้ว (โลก + อันตริกะ ตั้งอยู่ในระหว่างแห่งโลก)ตามคติความคิดเรื่องโลกประลัย แสดงว่านรกสวรรค์ทั้งปวงพลอยประลัยไปด้วยกับโลกจนถึงพรหมโลก (มีระบุไว้ว่าประลัยขึ้นไปถึงชั้นไหน) เหมือนอย่างล้างกันเสียคราวหนึ่ง สัตวโลกตลอดถึงพวกนรกก็ขึ้นไปเกิดในพรหมโลกที่ยังเหลืออยู่ พวกนรกที่ยังไม่สิ้นกรรมก็ต้องอพยพไปในนรกของจักรวาลอื่น (ท่านว่าไว้อย่างนี้ เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวแก่ที่อยู่ของสัตวโลกทุกประเภท) แต่สำหรับโลกันตริกนรกไม่ต้องประลัยไปพร้อมกับโลก เพราะอยู่ในระหว่างโลก จึงยังเหลือที่อยู่สำหรับพวกบาปที่เป็นมิจฉาทิฏฐิดิ่งลง และพวกบาปหนักอย่างอื่น ดูท่านที่เป็นต้นคติความคิดเรื่องนี้ จะมุ่งให้มีนรกสักแห่งหนึ่งที่ยั่งยืน ไม่ต้องประลัยไปพร้อมกับโลก จึงตั้งนรกนี้ไว้ในระหว่างโลกหรือจักรวาลทั้งหลาย เพื่อเป็นที่ทรมานสัตว์บาปประเภทที่ท่านไม่ยอมให้เลิกแล้วกันเสียทีในคราวโลกวินาศนั้น

            เรื่องนรกมีลักษณะต่างๆ ตามที่กล่าวมานี้ น่าจะเป็นที่เชื่อถือกันตลอดเวลาช้านาน ใน มิลินทปัญหา ก็ยังได้กล่าวถึงว่า ไฟนรกร้อนยิ่งกว่าไฟปกติมากมาย ก้อนหินเล็กๆ ที่ใส่เผาในไฟปกติตลอดวันก็ยังไม่ย่อยละลาย แต่ถ้าใส่ในไฟนรก แม้จะใหญ่โตเท่าเรือนยอดก็ย่อยละลายลงไปทันที แต่ว่าสัตว์นรกบังเกิดอยู่ได้นาน ไม่ย่อยละลายไป พระเจ้ามิลินท์ไม่ทรงเชื่อในเรื่องนี้ พระนาคเสนทูลแถลงว่าอยู่ได้เพราะกรรม ตามมิลินทปัญหานี้ไม่ได้ค้านว่านรกไม่มี แต่ค้านในลักษณะบางอย่างเท่านั้น แสดงว่าในสมัยนั้นยังเชื่อถือกันอยู่ ในเมืองไทยก็คงได้เชื่อกันมานานเหมือนกัน แม้ท่านจะแสดงนรกไว้น่ากลัวมาก เพื่อให้คนกลัวจะได้ไม่ทำบาป ถึงดั่งนั้นคนก็ยังทำบาปกันอยู่เรื่อยมา แม้ในสมัยที่มีความเชื่อกันสนิทก็ยังทำบาปกันอยู่นั่นแหละ แต่ก็มีคนไม่น้อยที่ไม่ทำบาปเพราะกลัวไปนรก เพราะท่านแสดงนรกไว้ล้วนแต่น่ากลัว ในที่บางแห่งยังได้กล่าวว่า ทุกข์ในนรกนั้นร้ายกาจนัก นักโทษที่ถูกทรมานแทงด้วยหอก ๑๐๐ เล่มในเวลาเช้า ยังไม่ตายก็แทงด้วยหอกอีก ๑๐๐ เล่มในเวลากลางวัน ยังไม่ตายก็แทงด้วยหอกอีก ๑๐๐ เล่มในเวลาเย็น ความทุกข์ของนักโทษนี้ เมื่อเทียบกับทุกข์ในนรกแล้วก็เล็กน้อยเหมือนอย่างหินก้อนเล็กๆ ส่วนทุกข์ในนรกเหมือนอย่างพญาเขาหิมวันต์ เรื่องคนไม่กลัวนรกทั้งที่เชื่อว่านรกมีอยู่และเป็นทุกข์มากมาย ไม่ใช่เป็นของแปลก เพราะมองไม่เห็น แม้คุกตะรางและการลงราชทัณฑ์ต่างๆ มองเห็นอยู่ด้วยตาก็ยังไม่กลัว ยังมีคนเข้าไปอยู่เต็ม โดยมากเวลาจะทำผิดก็ไม่ได้คิดกลัวกัน เช่นพวกปล้น เวลาปล้นดูจะกลัวไม่ได้ทรัพย์มากกว่า โลภโกรธหลงนี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ทำให้ไม่ค่อยกลัวอะไร ใกล้ตายังไม่กลัว ไกลตาก็ยิ่งลืมกลัวไปเลย

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๒ หน้า ๖๖ – ๗๑