Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๗๑

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

เทวทูต

 พระอาจารย์ผู้อธิบาย มฆเทวสูตร ได้กล่าวอธิบายคำไว้ว่า เทวทูต แปลว่า ทูตของเทวะ อะไรคือเทวะ ยกตัวอย่างว่า มัจจุ (ความตาย) ชื่อว่าเทวทูตของมัจจุ ชื่อว่าเทวทูตอย่างหนึ่ง ได้แก่ทุกสิ่งที่เตือนว่าใกล้ความตายเข้าทุกที เช่น เมื่อเส้นผมบนศีรษะหงอก ก็เป็นเครื่องเตือนใจว่าใกล้ความตายเข้าแล้ว ผมหงอกจึงเป็นเทวทูตอย่างหนึ่ง ทุก ๆ สิ่งที่เป็นลักษณะแห่ง เกิด แก่ เจ็บ ตาย และราชทัณฑ์ ชื่อว่า เทวะ ทั้งนั้น และเพราะเป็นเครื่องเตือนใจเหมือนอย่างทูตมาบอกข่าว จึงเรียกว่า เทวทูต อีกอย่างหนึ่ง เทวทูต แปลว่า ทูตเหมือนเทพยดา คล้ายคำว่า ทูตสวรรค์ คือเหมือนเทวดามาบอกเตือนให้ไม่ประมาท อีกอย่างหนึ่ง เทวทูต แปลว่า ทูตของวิสุทธิเทพ หมายถึงพระอรหันต์ มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น เพราะได้สอนให้พิจารณาเนือง ๆ เพื่อความไม่ประมาท ฉะนั้น เมื่อเห็นเทวทูตก็ย่อมจะไม่ประมาทและเว้นทุจริตต่าง ๆ ได้ ส่วนคนที่ประพฤติทุจริตต่าง ๆ นั้น ก็เพราะไม่เห็นเทวทูตมาตักเตือนใจ จึงเป็นผู้ประมาทมัวเมาต่าง ๆ แม้จะได้พบเห็นคนเกิด แก่ เจ็บ ตาย และคนถูกลงราชทัณฑ์ แต่ก็ไม่ได้ข้อเตือนใจ เทวทูตก็ไม่ปรากฏ เรียกว่าไม่เห็นเทวทูตนั่นเอง ฉะนั้น คนที่ทำ บาปทุจริตทั้งปวง เรียกว่าไม่เห็นเทวทูตทั้งนั้น ตามที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า เทวทูตไม่อาจจะเห็นได้ด้วยตาธรรมดา จะเห็นได้ด้วยตาปัญญา เช่นเดียวกับเทวดา (ตามที่เชื่อถือกัน) ตาธรรมดามองไม่เห็น น่าจะเรียกว่าเทวทูต เพราะมีแยบยลดังกล่าวนี้ด้วย

ครั้นยมราชซักแล้ว ปรากฏว่าผู้นั้นไม่เห็นเทวทูต คือได้ทำบาปทุจริตแล้ว ก็นิ่งอยู่หาได้สั่งให้ลงโทษอย่างไรไม่ การที่ซักถามนั้น ก็เป็นเงื่อนให้คิดว่า เตือนให้ระลึกถึงบุญกุศล คือความดีที่ได้ทำมาแล้วด้วยความไม่ประมาท เพราะได้เห็นเทวทูตในบางครั้งบางคราว ถ้าไม่ได้ทำบุญกุศลไว้บ้างเลย ก็เป็นการจนใจช่วยไม่ได้ ดูยมราชก็จะช่วยอยู่ เท่ากับเป็นตัวสตินั่นเอง แต่เมื่อช่วยไม่ได้ ไม่ได้สติที่จะระลึกถึงคติธรรมดาและบุญกุศลบ้างเลยแล้ว ก็จำต้องนิ่งอยู่ เหมือนอย่างวางอุเบกขา ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม ยมราชจึงไม่ต้องสั่งลงโทษ สัตว์ผู้ทำบาปต้องเป็นไปตามกรรมของตนเองตามหลักกรรมในพระพุทธศาสนา

เทวทูตสูตร นี้จึงแฝงคติธรรมที่สุขุมอยู่มาก แต่แสดงเป็นปุคคลาธิษฐาน คือตั้งเรื่องขึ้นเป็นบุคคลมีตัวตน และแสดงนรกตามเค้าคติความคิดเรื่องนรกในชาดกดังกล่าวนั่นแหละ แต่ปรับปรุงรวบรัดเข้า แต่พระอาจารย์ก็ยังอธิบายให้เข้ากันกับนรกในชาดก คืออธิบายว่า มหานิรยะที่กล่าวในเทวทูตสูตรก็คือ อวีจินิรยะ หรือ อเวจีนรก อเวจีในชาดกสำหรับบาปหนัก แต่มหานิรยะในพระสูตรเป็นนรกกลางสำหรับบาปทั่วไป เพราะมิได้ระบุประเภท ชนิดของบาปไว้ ทั้งในพระสูตรนี้ยังเอื้อถึงกฎหมายบ้านเมือง แสดงราชทัณฑ์เป็นเทวทูตอย่างหนึ่ง เพราะแม้จะไม่คำนึงถึงคติธรรมดา นึกถึงกฎหมายบ้านเมือง เกรงราชทัณฑ์ ก็ยังช่วยให้ละเว้นทุจริตต่าง ๆ ตามกฎหมายได้ เป็นเค้าเงื่อนให้เห็นความสัมพันธ์แห่งชาติและศาสนาเหมาะดีอยู่ และในเทวทูตสูตรนั้นไม่ได้กล่าวว่านรกอยู่ที่ไหน ต่างจากคติที่กล่าวว่านรกอยู่ใต้แผ่นดินนี้ลงไป ซึ่งพระอาจารย์นำมาอธิบายนรกที่กล่าวในชาดก พิจารณาดูจะเห็นได้ว่า คติความคิดว่านรกอยู่ใต้พื้นแผ่นดิน น่าจะเป็นของเก่ากว่า คือเก่าแก่มาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล เช่นเดียวกับคติเรื่องกัปกัลป์ และ ๔ ทวีป แล้วจึงเปลี่ยนแปลงมาเป็นคติความคิดที่ไม่แสดงว่าอยู่ที่ไหน ทั้งในพระสูตรนั้นกล่าวว่า สัตว์นรกไม่ตายจนกว่าจะสิ้นกรรม ต่างจากที่พระอาจารย์อธิบายในชาดกว่า ตายแต่เกิดอีกทันที

ยังมีนรกอีก ๑๐ ชื่อ ต่างจากชื่อนรกที่กล่าวแล้ว แสดงไว้ในคัมภีร์ชั้นบาลีเหมือนกัน ไม่ได้กล่าวถึงวิธีทรมาน แสดงแต่ระยะกาลที่สัตว์นรกจะต้องเสวยทุกข์ ตั้งแต่นรกที่ ๑ จนถึงที่ ๑๐ ยืดยาวกว่ากันขึ้นไปโดยลำดับ อย่างกำหนดการจำคุกในกฎหมาย คือ

. อัพพุทะ มีเกณฑ์นับดั่งนี้ เมล็ดงาโกศลเต็มเกวียน อันบรรทุกน้ำหนักได้ ๒๐ ขารี (๔ ปัตถะมคธเป็น ๑ ปัตถะโกศล, ๔ ปัตถะนั้นเป็น ๑ อาฬหกะ, ๔ อาฬหกะเป็น ๑ โทณะ, ๔ โทณะ เป็น ๑ มานิกะ, ๔ มานิกะเป็น ๑ ขารี) ล่วงแสนปีหยิบเอาออกเสียเมล็ดหนึ่ง เมล็ดงานั้นจะหมดก่อนอัพพุทะหนึ่ง

. นิรัพพุทะ ๑ เท่ากับ ๒๐ อัพพุทะ

. อพัพพะ ๑ เท่ากับ ๒๐ นิรัพพุทะ

. อหหะ ๑ เท่ากับ ๒๐ อพัพพะ

. อฏฏะ ๑ เท่ากับ ๒๐ อหหะ

. กุมุทะ ๑ เท่ากับ ๒๐ อฏฏะ

. โสคันธิกะ ๑ เท่ากับ ๒๐ กุมุทะ

. อุปปละ ๑ เท่ากับ ๒๐ โสคันธิกะ

. ปุณฑริกะ ๑ เท่ากับ ๒๐ อุปปละ

๑๐. ปมุทะ ๑ เท่ากับ ๒๐ ปุณฑริกะ

พระอาจารย์แสดงการคำนวณปีไว้ดั่งนี้ ร้อยแสนเป็นโกฏิ ร้อยแสนโกฏิเป็นปโกฏิ ร้อยแสนปโกฏิเป็นโกฏิปโกฏิ ร้อยแสนโกฏิปโกฏิเป็นนหุต ร้อยแสนนหุตเป็นนินนหุต ร้อยแสนนินนหุตเป็นหนึ่งอัพพุทะ ๒๐ อัพพุทะเป็น ๑ นิรัพพุทะ ต่อจากนั้นก็คูณด้วย ๒๐ โดยลำดับ และท่านอธิบายว่าอัพพุทะเป็นต้น ไม่ใช่เป็นนรกแผนกหนึ่ง แต่หมายถึงเกณฑ์คำนวณระยะกาลที่จะต้องไหม้ทรมานอยู่ในอวีจินิรยะนั้นเอง เมื่อมีระยะกาลยืดยาวที่จะพึงคำนวณด้วยอัพพุทคณนา ก็เรียกว่า อัพพุทะ นิรัพพุทะ เป็นต้น ก็เช่นเดียวกันตามอธิบายของท่านนี้ ชื่อทั้งสิ้นนี้จึงเป็นชื่อสังขยา เหมือนอย่างคำว่า โกฏินหุต เป็นต้น

 

นรกรอบนอก

บางคราวสัตว์นรกหนีออกไปได้ทางประตูใดประตูหนึ่ง แต่ก็ไปตกนรกใหญ่ ซึ่งมีอยู่หลายนรกด้วยกัน ตั้งอยู่ถัดกันออกไปโดยลำดับ คือ

. คูถนิรยะ แปลว่า นรกคูถ มีสัตว์ปากแหลมเหมือนอย่างเข็ม พากันบ่อนผิวหนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อกระดูก เจ็บปวดรวดร้าวยิ่งนัก แต่ก็ไม่ตาย

. กุกกุลนิรยะ แปลว่า นรกเถ้ารึง อยู่ถัดจากนรกคูถไป เต็มไปด้วยถ่านเพลิง มีเปลวแรงร้อน สุมเผาให้เร่าร้อน แต่ก็ไม่ตาย

. สิมพลิวนนิรยะ แปลว่า นรกป่าไม้งิ้ว อยู่ถัดจากนรกเถ้ารึงไปมีป่างิ้วใหญ่ แต่ละต้นสูงตั้งโยชน์ มีหนามยาว ๑๖ นิ้ว ร้อนโชน ถูกให้ปีนขึ้นปีนลงต้นงิ้ว ถูกหนามทิ่มแทงเจ็บปวดร้อนแรง แต่ก็ไม่ตาย

. อสิปัตตวนนิรยะ แปลว่า นรกป่าไม้มีใบคมดุจดาบ เมื่อถูกลมพัดก็บาดมือ เท้า ใบหู และจมูก ให้เกิดทุกขเวทนาเผ็ดร้อน แต่ก็ไม่ตาย

. ขาโรทกนทีนิรยะ แปลว่า นรกแม่น้ำด่างหรือน้ำกรด อยู่ถัดไปจากนรกป่าไม้มีใบคมดุจดาบ เป็นที่ตกลงลอยไปตามกระแสบ้าง ทวนกระแสบ้าง รี ๆ ขวาง ๆ บ้าง เสวยทุกขเวทนาเผ็ดร้อน แต่ก็ไม่ตาย นายนิรยบาลเอาเบ็ดเกี่ยวขึ้นมาบนบก ถามว่าอยากอะไร เขาบอกว่าหิว นายนิรยบาลเอาขอเหล็กแดงงัดปาก ยัดก้อนเหล็กแดงเข้าไป ไหม้ริมฝีปาก ไหม้ปาก คอ อก พาเอาไส้ใหญ่ไส้น้อยออกมาทางเบื้องล่าง แต่ถ้าเขาบอกว่ากระหาย นายนิรยบาลงัดปากเอาน้ำทองแดงละลายคว้ากรอกเข้าไปในปาก เผาอวัยวะที่กล่าวแล้วนำออกมาเบื้องล่าง เสวยทุกขเวทนาเผ็ดร้อน แต่ก็ไม่ตาย (นรกแม่น้ำด่างนี้ พระอาจารย์อธิบายว่า เรียกว่า นรกแม่น้ำเวตรณี ชื่อเดียวกับนรกบริวารในชาดกที่กล่าวแล้ว) นายนิรยบาลเอาตัวใส่เข้าไปในมหานิรยะอีก เขาเสวยทุกขเวทนาแรงกล้าถึงเพียงนั้นก็ไม่ตายจนกว่าจะสิ้นกรรม

 

พญายม

 

ในท้ายพระสูตรกล่าวว่า ยมราชคิดถึงเหล่าสัตว์ผู้ทำบาปถูกทำกรรมกรณ์ต่าง ๆ อย่างนั้น ยมราชเองปรารถนาความเป็นมนุษย์ และการได้พบ ได้ฟังธรรม ได้รู้ธรรมของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งอุบัติขึ้นในโลก

           พระอาจารย์ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ยมราชเป็นราชาแห่งเปรตที่มีวิมาน ในคราวหนึ่งเสวยทิพยสมบัติ ในคราวหนึ่งเป็นธรรมิกราชเสวยกรรมวิบาก และกล่าวถึงพระเทวทัตต์ ว่าบังเกิดในมหานิรยะหรืออวีจินิรยะนั้น ยืนถูกทรมานอยู่ เท้าทั้ง ๒ จมพื้นโลหะถึงข้อเท้า มือทั้ง ๒ จมฝาโลหะถึงข้อมือศีรษะเข้าไปในเพดานโลหะถึงคิ้ว หลาวโลหะอันหนึ่งออกจากพื้นเบื้องล่างแทงร่างกายทะลุขึ้นไปในเพดาน หอกอันหนึ่งออกจากฝาทิศตะวันออกแทงทะลุหทัยไปเข้าฝาทิศตะวันตก หอกอีกเล่มหนึ่งออกจากฝาทิศเหนือแทงทะลุ ซี่โครงไปเข้าฝาทิศใต้ ถูกตรึงแน่นไม่หวั่นไหวไหม้อยู่ (มีรูปเขียนในโบสถ์บางแห่ง)

คติเรื่องนรกในพระสูตรที่กล่าวมา ดูก็คล้ายคลึงกันกับในชาดก แต่มีเพี้ยนกัน ดูน่าจะมีคติความคิดในสายเดียวกัน แต่ปรับปรุงแก้ไขให้เข้าหลักธรรมในพระพุทธศาสนามากขึ้นและให้มีความกว้างขวางขึ้น นรกในเนมิราชชาดกกล่าวถึงนรก ๑๕ ขุม ซึ่งพระเจ้าเนมิราชเสด็จไปเที่ยวดู ส่วนในสังกิจจชาดกกล่าวถึงนรก ๘ ขุม ดูก็น่าจะมาจากคติความคิด ๒ ฝ่าย แต่พระอาจารย์อธิบายให้เกี่ยวกันว่า นรก ๘ ขุมนั้นมีนรกบริวารอีกขุมละ ๑๖ ทั้งยังมีนรกอนุบริวารอีกมากมาย และนรกที่พระเจ้าเนมิราชเสด็จไปเที่ยวดูนั้นเป็นนรกบริวารของนรกที่ ๑ ที่กล่าวในสังกิจจชาดก จึงต้องเพิ่มเข้าอีกขุมหนึ่งให้ครบ ๑๖ (คือนรกไม้งิ้ว) ดังกล่าวในไตรภูมิพระร่วง และยังได้อธิบายถึงบาปประเภทชนิดต่าง ๆ ที่ทำให้ไปตกนรกต่าง ๆ เหล่านั้น แต่เมื่อพิจารณาดูแล้ว ก็ยังไม่ได้เหตุผลและหลักเกณฑ์เพียงพอ ทั้งบาปต่าง ๆ ที่ไม่ได้ระบุไว้ก็มีอีกมาก ครั้นมาถึงเทวทูตสูตร ไม่ได้ระบุประเภทชนิดของบาปโดยเฉพาะไว้แต่ระบุรวมกันไปว่าประพฤติทุจริตต่าง ๆ เป็นต้น เท่ากับวางแม่บทใหญ่ไว้ว่า เมื่อประพฤติทุจริตก็จะต้องไปอบายภูมิ มีนรกเป็นต้น เป็นการแสดงเข้า หลักใหญ่เหมือนอย่างคำว่า ทำชั่วได้ชั่ว เมื่อกล่าวถึงนรก ก็แสดงนรกเป็นหลักไว้เพียงหนึ่ง คือมหานิรยะ นอกจากนั้นเป็นนรกประกอบ ทั้งได้กล่าวถึงเจ้านรกคือยมราช มีนายนิรยบาลทั้งหลายเป็นลูกมือ ส่วนในชาดกไม่ได้กล่าวถึงยมราช กล่าวถึงแต่นายนิรยบาลซึ่งมีอยู่ในนรกขุมตื้น ๆ หน้าที่ของยมราช คือเป็นผู้ซักถามผู้ทำบาปที่ถูกนำตัวเข้าไป หลักซักถามคือเทวทูต ๕ ถ้าพิจารณาดูตรง ๆ ก็ยากที่จะเข้าใจว่าจะใช้เป็นเกณฑ์สำหรับวินิจฉัยได้อย่างไร แต่เมื่อพิจารณาโดยหลักธรรม ก็อาจจะเห็นความมุ่งหมายว่า คนที่ทำบาปทุจริตต่าง ๆ นั้น ก็เพราะมีความประมาท ไม่ได้คิดพิจารณาว่าเกิดมาแล้วจะต้องแก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดา ไม่ได้คิดถึงราชทัณฑ์ คือไม่เกรงกฎหมายบ้านเมือง เรียกว่าไม่เห็นเทวทูต

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๒ หน้า ๕๙ – ๖๕