Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๗๐

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

นรกใหญ่

 

ตามคติความคิดของอินเดียเก่าแก่ที่ติดมากล่าวว่า ลึกลงไปภายใต้แผ่นดินของจักรวาลโลกนี้ เป็นที่ตั้งของนรกมากมาย เป็นสถานที่ทรมานสัตว์ผู้ทำบาปต่าง ๆ ซึ่งไปบังเกิดรับการทรมานภายหลังจากที่ตายไปแล้ว คำว่า นรก แปลว่า เหว ในภาษาบาลีมักเรียกว่า นิรยะ แปลว่า สถานที่ไม่มีความเจริญ คือ ไม่มีสุข มีแต่ทุกข์ทรมาน คำว่า นิรยะ หรือ นรก ใช้หมายถึงสถานที่ทรมานสัตว์ทำบาปดังกล่าวเช่นเดียวกัน

นรกที่เป็นขุมใหญ่มีกล่าวไว้ใน สังกิจจชาดก เป็นต้น ว่ามี ๘ คือ

. สัญชีวะ แปลว่า คืนชีวิตขึ้นเอง คือสัตว์นรกในขุมนี้ถูกตัดเป็นท่อนเล็กท่อนใหญ่แล้วก็กลับคืนชีวิตขึ้นมาเองอีก รับการทรมานอยู่ร่ำไป ในคัมภีร์มหายานของธิเบต แสดงว่านรกขุมนี้สำหรับบาปที่ทำฆาตกรรมตนเอง ทำฆาตกรรมผู้อื่น หมอที่ทอดทิ้งฆ่าคนไข้ของตน ผู้จัดการทรัพย์มรดกที่คดโกง และผู้ปกครองที่โหดร้ายเบียดเบียนประชาชน

. กาฬสุตตะ แปลว่า เส้นดำคือสัตว์นรกในขุมนี้ถูกขีดเป็นเส้นดำที่ร่างกาย เหมือนอย่างตีเส้นที่ต้นซุงเพื่อจะเลื่อย แล้วถูกผ่าด้วยขวานเป็น ๘ เสี่ยง ๑๖ เสี่ยง แต่ตามคัมภีร์ธิเบตกล่าวว่า ถูกเลื่อยด้วยเลื่อย และกล่าวการลงโทษอีกอย่างหนึ่ง คือลากลิ้นออกมาตอกและไถด้วยไถเหล็กแหลมเป็นจัก ๆ สำหรับบาปที่พูดส่อเสียดยุยงให้เขาแตกกัน และเข้าไปยุ่งเกี่ยวขัดขวางกิจการของผู้อื่น และแสดงโดยทั่วไปว่า นรกขุมนี้สำหรับบาปที่แสดงความไม่นับถือ ลบหลู่ดูหมิ่นมารดา บิดา พระรัตนตรัย หรือพระศาสนา

. สังฆาฏะ แปลว่า กระทบกัน คือมีภูเขาเหล็กคราวละ ๒ ลูกจากทิศที่ตรงกันข้าม เลื่อนเข้ามากระทบกันเอง บดสัตว์นรกในระหว่างแหลกละเอียด จาก ๔ ทิศก็เป็นภูเขา ๔ ลูก เลื่อนเข้ามากระทบกันตลอดเวลา ในคัมภีร์มหายานของธิเบตกล่าวว่า ภูเขามีศีรษะเป็นสัตว์หรือเป็นเหล็กใหญ่รูปอย่างหนังสือ เลื่อนเข้ามาบดขยี้สัตว์เช่นเดียวกัน และกล่าวว่านรกขุมนี้สำหรับพวกพระ คฤหัสถ์ และคนที่ไม่เชื่อในศาสนา ซึ่งลบหลู่ดูหมิ่นหรือทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของพระคัมภีร์ และสำหรับพวกพระที่สะสมเงินเป็นก้อน ซึ่งพวกตนไม่ได้ประกอบการงาน และแสดงการทรมานอีกอย่างหนึ่ง คือบดตำในครกเหล็ก ตีบนทั่งเหล็ก สำหรับทรมานผู้ทำโจรกรรม ผู้ที่มีสันดานร้ายกาจด้วยความโกรธ ริษยา โลภอยากได้ ผู้ที่ใช้เครื่องชั่งตวงวัดโกง และผู้ที่ทิ้งขยะมูลฝอยหรือสัตว์ตายลงในถนนหนทางสาธารณะ

. โรรุวะ แปลว่า ร้องครวญคราง คือมีเปลวไฟเข้าไปทางทวารทั้ง ๙ เผาไหม้ในสรีระ จึงร้องครวญครางเพราะเปลวไฟ (ชาลโรรุวะ) บางพวกถูกหมอกควันด่าง (กรด) เข้าไปละลายสรีระจนละเอียดเหมือนแป้ง จึงร้องครวญครางเพราะหมอกควัน (ธูมโรรุวะ) ในคัมภีร์ธิเบตกล่าวว่า กรอกน้ำเหล็กแดงอันร้อนแรงทางปากผ่านลำคอลงไป สำหรับบาปที่กั้นปิดทางน้ำเพื่อประโยชน์ของตน แช่งด่าดินฟ้าอากาศ ทำลายพืชพันธุ์ธัญญาหารให้เสียหาย

. มหาโรรุวะ แปลว่า ร้องครวญครางมาก คือเป็นที่ทุกข์ทรมานยิ่งกว่าข้อ ๔ ในคัมภีร์ธิเบตกล่าวว่าสำหรับพาหิรชนคนบาปหนา

. ตาปนะ แปลว่า ร้อน ได้แก่ถูกให้นั่งเสียบตรึงไว้ด้วยหลาวเหล็กบนแผ่นดินเหล็กแดงลุกเป็นไฟร้อนแรง บ้างก็ถูกต้อนขึ้นไปบนภูเขาเหล็กแดงเป็นไฟลุกโพลง ถูกลมพัดตกลงมา ถูกเสียบด้วยหลาวเหล็กที่โผล่ขึ้นมาจากแผ่นดินเหล็กแดง ในคัมภีร์ธิเบตกล่าวว่า ถูกขังอยู่ในห้องเหล็กแดงเป็นไฟร้อนแรง สำหรับบาปที่ปิ้งทอดหรือเสียบสัตว์ปิ้งเป็นอาหาร

. ปตาปนะ แปลว่า ร้อนสูงมาก คือเป็นที่ทุกข์ทรมานยิ่งกว่าข้อ ๖ ในคัมภีร์ธิเบตกล่าวว่า ถูกทิ่มแทงด้วยหอกสามง่ามล้มกลิ้งลงไปบนพื้นเหล็กแดงอันร้อนแรง สำหรับบาปที่ละทิ้งพระศาสนา (เลิกนับถือ) หรือปฏิเสธความจริง

. อวีจิ แปลว่า ไม่มีระหว่าง คือไม่เว้นว่าง บางทีเรียก มหาอวีจิ แปลว่าอเวจีใหญ่ ภาษาไทยมักเรียกว่า อเวจี เปลวไฟนรกในนรกขุมนี้ลุกโพลงเต็มทั่วไปหมด ไม่มีระหว่างหรือเว้นว่าง สัตว์นรกในขุมนี้ก็แน่นขนัดเหมือนยัดทะนาน ไม่มีระหว่างหรือเว้นว่าง แต่ก็ไม่เบียดเสียดกันอย่างวัตถุ ต่างถูกไฟไหม้อยู่ในที่เฉพาะตน ๆ และความทุกข์ทรมานของสัตว์นรกในขุมนี้ ก็บังเกิดขึ้นสืบเนื่องกันไป ไม่มีระหว่างหรือเว้นว่าง ฉะนั้น จึงเรียกว่า อวีจิ หรือ อเวจี ซึ่งมีคำแปลดังกล่าว ในคัมภีร์ทางธิเบตกล่าวว่า สำหรับบาปที่ถือว่าเป็นอุกฤษฏ์โทษตามลัทธิลามะ แต่ฝ่ายเถรวาทแสดงว่าสำหรับบาปที่เป็นอนันตริยกรรม

นรกใหญ่ทั้ง ๔ ขุมนี้ ใน สังกิจจชาดก เป็นต้น เรียง อวีจิ ไว้หน้า ตาปนะ แต่ในที่อื่น เช่น ใน ไตรภูมิพระร่วง แสดง อวีจิ ไว้เป็นที่สุด และกล่าวว่าอยู่ซ้อนไปตามลำดับ สัญชีวะอยู่เบื้องบนที่สุด และอยู่ใต้กันลงไปจนถึงอเวจีอยู่ใต้ที่สุด

เครื่องทรมานในนรกใหญ่ทั้ง ๘ ขุมดังกล่าว มีเหล็ก เช่น พื้นแผ่นดินเหล็กและเครื่องอาวุธเหล็กต่าง ๆ มีไฟคือเหล็กนั่นแหละลุกเป็นไฟร้อนแรง มีภูเขาเหล็กที่กลิ้งมาบด และมีหมอกควันชนิดเป็นกรดหรือด่าง ในขุมนรกที่ ๑ และที่ ๒ มี นายนิรยบาล แปลว่า ผู้รักษานรก ไทยเราเรียกว่า ยมบาล เป็นผู้ที่ทำการทรมานสัตว์นรก แต่นรกขุมที่ลึกลงไปกว่านั้น ในอรรถกถาสังกิจจชาดกไม่ได้กล่าวถึงนายนิรยบาล กล่าวถึงไฟ เหล็ก เช่น เครื่องอาวุธต่าง ๆ เป็นต้น บังเกิดขึ้นทรมานสัตว์นรกเอง

 

นรกน้อย

อนึ่ง มีแสดงไว้ว่า นรกใหญ่ทั้ง ๘ ขุม มีนรกเล็กเป็นบริวารใน ๔ ด้าน ด้านละ ๔ ขุม รวม ๑๖ ขุม รวมนรกบริวารของนรกใหญ่ทั้ง ๘ ขุมได้ ๑๒๘ ขุม รวมนรกใหญ่อีก ๘ ขุม เป็น ๑๓๖ ขุม นรกบริวารในไตรภูมิพระร่วงเรียกว่า ฝูงนรกบ่าว

ใน เนมิราชชาดก กล่าวว่า พระมาตลีเทพสารถีนำพระเจ้าเนมิราช พระราชาครองนครมิถิลาในแคว้นวิเทหรัฐ ไปเที่ยวดูนรกบริวาร ๑๖ ขุม ซึ่งอยู่ล้อมรอบสัญชีวนรก อันเป็นนรกใหญ่ขุมที่ ๑ มีชื่อดังต่อไปนี้

. เวตรณีนรก แปลว่า นรกแม่น้ำเวตรณี แปลว่า ข้ามยาก คือเป็นแม่น้ำด่างที่ร้อนเดือดพล่าน เรียกว่า เวตรณี บัวและสิ่งต่าง ๆ ในแม่น้ำนั้นเป็นอาวุธทั้งสิ้น นายนิรยบาลตกเบ็ดสัตว์นรกอีกด้วย สำหรับบาปที่ประกอบกรรมหยาบช้าเบียดเบียนผู้ที่อ่อนกำลังกว่า

. สุนขนรก แปลว่า นรกสุนัข คือมีฝูงสุนัขขาว แดง ดำ เหลือง และฝูงแร้งกากลุ้มรุมกัดตีจิกทรมาน สำหรับบาปที่กล่าวคำร้ายด่าว่าสมณพราหมณ์และท่านผู้มีคุณ

. สัญโชตินรก แปลว่า นรกไฟโพลง คือ สัตว์นรกในขุมนี้มีสรีระลุกเป็นไฟโพลงแผดเผา ทั้งถูกทรมานต่าง ๆ สำหรับบาปที่ประกอบกรรมหยาบช้า เบียดเบียนบุรุษสตรีที่เป็นคนดีมีศีลธรรมไม่มีความผิด

. อังคารกาสุนรก แปลว่า นรกหลุมถ่านเพลิง คือตกลงไปไหม้ทรมานในหลุมถ่านเพลิง สำหรับบาปที่ฉ้อโกง เบียดบัง ถือเอาทรัพย์ที่เขาบริจาคเพื่อการกุศล หรือชักชวนให้เขาบริจาคอ้างว่าเพื่อการกุศล ได้ทรัพย์มาแล้วถือเอาเสียเอง แลสำหรับบาปที่เป็นหนี้ทรัพย์ผู้อื่นแล้วโกงหนี้นั้น

. โลหกุมภีนรก แปลว่า นรกหม้อโลหะ ไทยเราเรียกว่า นรกหม้อทองแดง เป็นที่ตกลงไปไหม้ทรมาน สำหรับบาปที่ทุบตีเบียดเบียนสมณพราหมณ์ผู้มีศีล

. คีวลุญจนรก แปลว่า นรกที่ดึงคอให้หลุด คือถูกเอาเชือกพันคอ ดึงจุ่มลงไปในน้ำร้อนในหม้อทองแดงให้คอหลุดทรมาน สำหรับบาปที่ประกอบกรรมหยาบช้า เบียดเบียน ทำลายหมู่เนื้อนก (นรกขุมนี้ในไตรภูมิพระร่วงเรียกโลหกุมภีเหมือนกัน)

. ถุสปลาสนรก แปลว่า นรกข้าวลีบและแกลบ คือสัตว์นรกขุมนี้ลงไปวักน้ำในแม่น้ำนรกดื่มด้วยความกระหาย น้ำที่ดื่มเข้าไปนั้นก็กลายเป็นข้าวลีบและแกลบไฟไหม้ร่างกายทั้งหมด เป็นการทรมานสำหรับบาปที่เอาข้าวลีบ แกลบหรือฟางปนข้าวเปลือก ลวงขายว่าข้าวดี (เอาข้าวสารไม่ดีปนข้าวดี ลวงขายว่าข้าวดี ก็น่าจะอยู่ในนรกขุมนี้)

. สัตติหตสยนรก แปลว่า นรกที่แทงด้วยหอกจนล้มลง คือสัตว์นรกในขุมนี้ถูกแทงด้วยอาวุธต่าง ๆ จนตัวพรุนอย่างใบไม้เก่า สำหรับบาปที่ประกอบกรรมมิชอบ เลี้ยงชีวิตด้วยอทินนาทานต่าง ๆ มีปล้นสะดม ขโมยฉ้อโกง ทุจริต เบียดบัง เป็นต้น

. วิลกตนรก แปลว่า นรกแล่เนื้อ คือแล่เนื้อสัตว์นรกออกเป็นชิ้น ๆ สำหรับบาปที่ประกอบกรรมหยาบช้า ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

๑๐. ปุราณมิฬหนรก แปลว่า นรกมูตรคูถหรือนรกอาจมเก่า คือสัตว์นรกในขุมนี้กินอาจมเก่าที่เหม็นนักหนาและลุกเป็นควันหรือเป็นไฟร้อนแรง สำหรับบาปที่ประทุษร้ายเบียดเบียนมิตรสหาย หรืออาศัยกินข้าวเขาแล้วยังขู่เอาทรัพย์ของเขา หรือเจ้าหน้าที่ผู้ขูดรีด

๑๑. โลหิตปุพพนรก แปลว่า นรกน้ำเลือดน้ำหนอง คือสัตว์นรกในขุมนี้อยู่ในแม่น้ำแห่งเลือดและหนอง หิวกระหาย กินน้ำเลือดน้ำหนองซึ่งร้อนเป็นไฟเข้าไปลวกไหม้ทรมาน สำหรับบาปที่ทำร้ายมารดาบิดาและท่านที่มีคุณควรกราบไหว้บูชาทั้งหลาย

๑๒. อยพลิสนรก แปลว่า นรกเบ็ดเหล็ก (หรือเรียกว่า โลหพลิสนรก) คือสัตว์นรกในขุมนี้ถูกเบ็ดเหล็กร้อนแดงเกี่ยวลิ้นลากออกมา ให้ล้มไปทรมานบนพื้นเหล็กแดงร้อนแรง สำหรับบาปที่กดราคาของซื้อ โก่งราคาของขายเกินควร และใช้วิธีชั่งตวงวัดคดโกงด้วยโลภเจตนา

๑๓. อุทธังปาทนรก แปลว่า นรกที่จับเท้ายกขึ้นเบื้องบน ทิ้งลงไปให้จมฝังลงไปแค่สะเอว แล้วยังมีภูเขากลิ้งจากทิศทั้ง ๔ มาบดทรมาน เป็นนรกสำหรับสตรีที่นอกใจสามี เป็นชู้ด้วยชายอื่น (นรกแยกเพศเฉพาะหญิง)

๑๔. อวังสิรนรก แปลว่า นรกที่จับศีรษะห้อยลงเบื้องต่ำทิ้งลงไปให้ไหม้ทรมานเช่นเดียวกัน เป็นนรกสำหรับบุรุษที่เป็นชู้ด้วยภรรยาของคนอื่น (นรกแยกเพศเฉพาะชาย)

๑๕. โลหสิมพลีนรก แปลว่า นรกต้นงิ้วเหล็ก คือสัตว์นรกในขุมนี้ต้องปีนต้นงิ้วเหล็กที่มีหนามเหล็กแหลมแดงเป็นเปลวไฟร้อนแรง สำหรับบาปผิดศีลข้อ ๓ ทั้งชายและหญิง (นรกสหเพศ หรือ สหนรก)

๑๖. ปจนนรก แปลว่า นรกหมกไหม้ (หรือเรียกว่า มิจฉาทิฏฐินรก) คือสัตว์นรกในขุมนี้ต้องถูกหมกไหม้และถูกทิ่มแทงทรมาน สำหรับบาปที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ คือเห็นผิดว่า ผลทานผลศีลไม่มี ผลกรรมดีกรรมชั่วไม่มี คุณมารดาบิดาไม่มี คุณสมณพราหมณ์ไม่มี เป็นต้น

นรก ๑๖ ขุมนี้มีในไตรภูมิพระร่วง ส่วนในเนมิราชชาดกมีเพียง ๑๕ ขุม เว้นนรกสหเพศ (ขุมที่ ๑๕) ขาดไปก็ดูไม่เป็นไร เพราะมีนรกแยกเพศอยู่แล้ว จึงยังมีที่สำหรับผู้ผิดศีลข้อ ๓ ไปได้อยู่ เป็นแต่ต้องแยกกันอยู่คนละแห่ง

นรกทั้ง ๑๖ ขุมนี้ ท่านว่ายัดเยียดเบียดเสียดเต็มไปด้วยสัตว์นรก จึงเรียกว่า อุสสทนรก แปลว่า นรกยัดเยียดเบียดเสียด เป็นนรกบริวาร ซึ่งอยู่ ๔ ด้านของสัญชีวนรก ซึ่งเป็นนรกใหญ่ขุมที่ ๑ มีนายนิรยบาลเป็นผู้ทำหน้าที่ทรมานประจำอยู่ทุกขุม เป็นจำพวกนรกร้อนเช่นเดียวกัน ส่วนนรกบริวารของนรกใหญ่อีก ๗ ขุม ยังไม่พบแสดงไว้ นอกจากนี้ยังกล่าวว่ามีนรกอนุบริวารถัดออกไป อยู่รอบนอกของนรกบริวารทั้ง ๑๖ นั้นอีกมากมาย และเป็นธรรมดาของสัตว์นรกทั้งปวงที่ถูกทรมานอยู่ในนรกจะไม่ตาย รับการทรมานต่อไปจนกว่าจะสิ้นกรรม ดั่งคำที่เรียกว่า สัญชีวะ (แต่พระอาจารย์อธิบายว่าตายแล้วเป็นขึ้นอีกทันที ส่วนชั้นบาลีว่าไม่ตายจนกว่าจะสิ้นกรรม)



จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๒ หน้า ๕๑ – ๕๘