Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๖๙

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

โลก ๓ ประเภท

 ได้มีกล่าวถึงในวรรณคดีภาษาไทยเรื่อง ไตรภูมิ ไตรภพ หรือ ไตรโลก ไตรภูมิ ได้แก่ กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ ไตรภพ ได้แก่ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ไตรโลก ได้แก่ กามโลก รูปโลก อรูปโลก แต่เมื่อหมายเฉพาะโลกที่เป็นชั้นดีอันเรียกว่า สุคติ ก็จัดเป็นมนุษย์โลก เทวโลก พรหมโลก พระพุทธเจ้าได้พระนามว่า ไตรโลกนาถ แปลว่า ที่พึ่งของโลกสาม คำนี้ใช้เป็นพระปรมาภิไธยพระเจ้าแผ่นดินก็มี ดั่งเช่น สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา คำว่า โลก หรือ ภพ ใช้ในความหมายที่ยังเป็นโลกด้วยกัน ส่วนคำว่า ภูมิ ใช้ในความหมายตั้งแต่ยังเป็นโลกจนถึงเป็นโลกุตตระ ฉะนั้น ภูมิจึงมี ๔ ด้วยกัน เพิ่ม โลกุตตรภูมิ อีกข้อหนึ่ง

 คำว่า โลก ภพ หรือ ภูมิ นี้ พึงเข้าใจความหมายรวม ๆ กันก่อนว่า ได้แก่ ที่เป็นที่ถือปฏิสนธิคือเป็นที่เกิดของสัตวโลกทั้งหลาย ผู้ที่มีจิตใจยังท่องเที่ยวพัวพันอยู่ในกาม ก็ยังเกิดใน กามโลก (หรือ กามาวจรโลก แปลว่า โลกของผู้ที่เที่ยวข้องอยู่ในกาม จะเรียกว่า กามาวจรภูมิ หรือ กามาวจรภพ ก็ได้) ผู้ที่บำเพ็ญสมาธิจนจิตใจสงบจากกามารมณ์บรรลุถึงรูปฌาน ย่อมบังเกิดใน รูปโลก (หรือ รูปาวจรโลก แปลว่า โลกของผู้ที่เที่ยวข้องอยู่ในรูปสมาธิ) ผู้ที่บำเพ็ญสมาธิละเอียดกว่านั้น จนบรรลุถึงอรูปฌาน ย่อมบังเกิดใน อรูปโลก (หรือ อรูปาวจรโลก โลกของผู้ที่เที่ยวข้องอยู่ในอรูปสมาธิ) โลกเหล่านี้แบ่งไว้ตามภูมิชั้นของจิตใจ เมื่อจิตใจแยกภูมิชั้นออกไป ก็เลยแยกโลกซึ่งเป็นที่อาศัยอยู่ให้ต่างกันออกไปอีกมากมาย ผู้อ่านหรือฟังควรทำใจไว้ก่อนว่าเป็นเรื่องคติความคิดเก่าแก่เท่านั้น ยังไม่ควรตั้งข้อคาดคั้นว่าจริงหรือไม่จริง เพราะไม่ไช่เป็นธรรมซึ่งพึงพิสูจน์ได้ภายในตนเอง แต่เป็นเรื่องโลกข้างนอกซึ่งมีบาลีหลายแห่งแสดงว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์

 จะกล่าวถึง กามภูมิ ก่อน แบ่งไว้ดังนี้ คือ อบายภูมิ ๔ มนุษย์ ๑ สวรรค์ ๖ รวมเป็น ๑๑ จะกล่าวถึงมนุษย์ก่อน

มนุษยโลก

โลกที่คนเราอาศัยอยู่นี้ มีสัตว์เดียรัจฉานอาศัยอยู่ด้วยก็จริง แต่มนุษย์เราก็เรียกยึดถือเอาว่า มนุษยโลก ถ้าจะพูดเป็นกลาง ๆ ก็ว่า โลกนี้ ตามคติความคิดโบราณว่า กลมอย่างล้อรถหรือล้อเกวียน ตั้งอยู่ในน้ำในอากาศ และมีขอบเหล็กเป็นเหมือนกำแพงกั้นข้างนอกอยู่โดยรอบอย่างกงล้อ จึงเรียกว่า จักกวาฬะ หรือ จักรวาละ แปลว่า สิ่งที่มีขอบกั้นล้อมเป็นวงกลมเหมือนอย่างล้อ คำว่า จักรวาล จึงหมายถึงโลกนี้เอง คติความคิดโบราณกล่าวว่ามีจักรวาลลักษณะดังกล่าวนี้อยู่เป็นอันมากถึงแสนโกฏิจักรวาล จะเรียกว่าแสนโกฏิโลกก็ได้ คติดังกล่าวนี้ แสดงว่าความคิดเรื่องโลกกลมได้มีมานานแล้ว แต่กลมอย่างล้อรถหรือล้อเกวียน น่าจะเพราะมองด้วยตาเห็นดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์มีลักษณะกลมเช่นนั้น และก็จำจะต้องมีขอบกั้นข้างนอกโดยรอบ ไม่เช่นนั้นก็จะพังทลายลง เป็นเหตุให้เกิดคำว่า จักรวาล ที่แปลว่า มีขอบกั้น เป็นวงล้อเหมือนอย่างวงเกวียน ส่วนที่ว่าตั้งอยู่ในน้ำในอากาศนั้น พิจารณาดูถึงความรู้ในปัจจุบัน ซึ่งทราบแน่แล้วว่าโลกกลม (แต่ไม่ใช่อย่างล้อรถ) และพื้นโลกเป็นน้ำโดยมาก ฉะนั้น ถ้ามีใครซึ่งอยู่ในภาคพื้นส่วนใดส่วนหนึ่งของโลก สามารถมองทะลุโลกลงไปจนถึงอีกด้านหนึ่ง คงจะพบน้ำเป็นส่วนมาก พ้นน้ำไปก็เป็นอากาศ และคติความคิดนั้นยังมีว่า เมื่อไม่มีดวงอาทิตย์ ก็คงจะมีแต่ความมืดมิดทั่วไป ก็น่าจะต้องกับความรู้ในปัจจุบัน

 เมื่อวางรูปโลกให้กลมแบบล้อรถ และมีกำแพงเหล็กเป็นขอบวงรอบอย่างกงล้อ จึงเรียกว่า จักรวาล (แปลสั้นว่า มีขอบกำแพงเป็นวงกลม) เช่นนั้นแล้ว ก็ได้มีคติความคิดวางแผนผังโลกไว้อย่างมีระเบียบ คือ ตรงใจกลางโลกมีภูเขาสูงใหญ่ชื่อว่า สุเมรุ (มักเรียกในภาษาสันสกฤต) หรือ สิเนรุ (มักเรียกในภาษามคธ) เหมือนอย่างเพลารถอยู่กลางล้อรถ เขาสุเมรุจึงเท่ากับเป็นเพลาโลกหรือจักรวาลนี้

 เขาสุเมรุมีภูเขาแวดล้อมเป็นวงรอบอีก ๗ ชั้น และมีมหาสมุทรคั่นอยู่ในระหว่าง ๗ มหาสมุทร ภูเขาทั้ง ๗ มีชื่อนับจากข้างในออกมาข้างนอกดั่งต่อไปนี้ . อัสสกัณณะ ๒. วินตกะ ๓. เนมินธร ๔. ยุคันธร ๕. อิสินธร ๖. กรวีกะ และ . สุทัสสนะ ชื่อเหล่านี้กล่าวเรียงลำดับตามเนมิราชชาดก ในชาดกนั้นกล่าวว่า เขาเหล่านี้สูงกว่ากันขึ้นไปโดยลำดับ นับจากเขาสุทัสสนะซึ่งอยู่ข้างนอกต่ำกว่าทั้งหมด จนถึงเขาอัสสกัณณะซึ่งอยู่ข้างใน ซึ่งสูงถัดจากเขาสุเมรุ รวมเรียกว่า สัตตปริภัณฑบรรพต หรือ เขาสัตตบริภัณฑ์ (สัตต แปลว่า ๗ บริภัณฑ์ แปลว่า วงล้อม)

 ส่วนสมุทรซึ่งคั่นอยู่ระหว่าง นับจากระหว่างเขาสุเมรุ เขาอัสสกัณณะ รวม ๗ สมุทร เรียกว่า สีทันดรมหาสมุทร แปลว่า มหาสมุทรที่อยู่ในระหว่างซึ่งมีน้ำสุขุมละเอียดยิ่งนัก ถึงกับทำให้ทุก ๆ สิ่ง แม้เบาที่สุด เช่นแววหางนกยูง เมื่อตกลงก็จมทันที คำว่า สีทะ แปลว่า ทำให้ทุก ๆ สิ่งจมลง บวกกับคำว่า อันตร แปลว่า ระหว่าง หมายถึงคั่นอยู่ระหว่างภูเขาดังกล่าว จึงรวมเรียกว่า สีทันตระ ไทยเราเรียกว่า สีทันดร

 ส่วนใน ไตรภูมิพระร่วง ลำดับชื่อภูเขานับจากข้างในออกไปข้างนอกแตกต่างออกไปบ้าง คือ . ยุคันธร ๒. อิสินธร ๓. กรวิก ๔. สุทัสสนะ ๕. เนมินธร ๖. วินันตก ๗. อัสสกัณณะ

 ใน คัมภีร์มหายานของธิเบต เรียงลำดับชื่อต่างออกไปอีกบ้าง และให้คำแปลดังนี้ . ยุคันธร (ทรงแอก) . อิสันธร (ทรงคันไถ ตามเนมิราชชาดกเรียก อิสินธร แปลว่า ทรงฤษี) . กรวีกะ (เขียงเท้าหรือไม้จันทน์ แต่ทั่วไปแปลว่านกชื่อนี้) . สุทัศนะ (มีทัศนะที่ดี คือน่าดู) . อัศวกรณะ (หูม้า) . วินายกะ (มารร้ายหรือที่ประชุม) . เนมินธร (ทรงวงกลมหรือกง)

 ใน อภิธานัปปทีปิกา เรียงลำดับดังนี้ . ยุคันธร ๒. อิสธร ๓. กรวีกะ ๔. สุทัสสะ ๕. เนมินธร ๖. วินตกะ ๗. อัสสกัณณะ และกล่าวว่า เขาสุเมรุนั้นเรียก ๕ ชื่อ คือ สิเนรุ เมรุ ติทิวาธาร เนรุ สุเมรุ

 เขาสัตตบริภัณฑ์ คือเขาบริวารของเขาสุเมรุทั้ง ๗ ถึงจะเรียกชื่อสับกันบ้าง แต่ก็รวมลงว่าทั้งหมดมี ๗ เทือกเขา และในฉบับมหายานของธิเบตยังกล่าวถึงน้ำในสีทันดรมหาสมุทรทั้ง ๗ พิสดารออกไปอีกว่า เป็นน้ำต่าง ๆ กัน นับจากข้างในออกไปโดยลำดับดังนี้ ๑. มหาสมุทรแห่งน้ำนมที่มีกลิ่นหอม ๒. แห่งน้ำนมส้ม ๓. แห่งเนย ๔. แห่งน้ำโลหิตหรือน้ำอ้อย ๕. แห่งน้ำยาพิษหรือเหล้า ๖. แห่งน้ำจืด ๗. แห่งน้ำเค็ม และกล่าวว่ามหาสมุทรเหล่านี้กว้างลึกมากและน้อยลงโดยลำดับจากข้างในออกมาข้างนอก เช่นเดียวกับเขาสัตตบริภัณฑ์ ครั้นพ้นเทือกที่ ๗ ออกมาแล้วก็เป็นมหาสมุทรน้ำเค็ม มีเกาะใหญ่ที่เรียกว่า ทวีป อยู่ใน ๔ ทิศ ทิศละ ๑ ทวีป คือ

            ๑. ทางทิศตะวันออก มีทวีปชื่อว่า วิเทหะ (กายใหญ่) หรือเรียกว่า บุพพวิเทหะ ฉบับธิเบตกล่าวว่า มีรูปเหมือนพระจันทร์ครึ่งซีก เป็นถิ่นผิวขาว ชาวทวีปนี้มีจิตใจสงบ และมีความประพฤติดี มีรูปหน้าเหมือนอย่างรูปของทวีป

 ๒. ทางทิศใต้ มีทวีปชื่อว่า ชมพู (ชื่อต้นไม้) ดังที่เรียกว่า ชมพูทวีป คัมภีร์ธิเบตเรียกชื่อว่า ชมุ และกล่าวว่ามีรูปเหมือนสบักแกะ (สามเหลี่ยม) ศูนย์กลางของทวีปนี้อยู่ที่โพธิพฤกษ์พุทธคยา (เห็นได้ว่ารูปคาบสมุทรอินเดียนั่นเอง) เป็นถิ่นผิวสีน้ำเงิน มีความสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สิน มีทั้งความชั่วและความดี ชาวทวีปนี้มีรูปหน้าเป็นสามเหลี่ยมเหมือนอย่างรูปทวีป

 ๓. ทางทิศตะวันตก มีทวีปชื่อว่า อมรโคยาน คัมภีร์ธิเบตเรียกว่า โคธันยะ (สมบัติแห่งโค คำว่า โค แปลว่าสัตว์ชนิดหนึ่งก็ได้ แปลว่าพระอาทิตย์ก็ได้) และกล่าวว่ามีรูปเหมือนอย่างดวงอาทิตย์ คือกลม เป็นถิ่นผิวสีแดง ชาวทวีปนี้มีอำนาจมาก ชอบบริโภคเนื้อปศุสัตว์ มีรูปหน้ากลมเหมือนอย่างรูปทวีป

 ๔. ทางทิศเหนือ มีทวีปชื่อ อุตตรกุรุ (ชาวกุรุภาคเหนือ) คัมภีร์ธิเบตกล่าวว่า มีรูป ๔ เหลี่ยม เป็นถิ่นผิวสีเขียว ชาวทวีปนี้เข้มแข็ง มีเสียงดัง มีรูปหน้าสี่เหลี่ยมเหมือนม้า มีต้นไม้ซึ่งอำนวยความสำเร็จสิ่งที่ต้องการเป็นที่อยู่อาศัย

 ทวีปใหญ่ทั้ง ๔ นี้ คัมภีร์ธิเบตกล่าวว่า มีทวีปน้อยเป็นบริวารทวีปละ ๒ ตั้งอยู่ ๒ ข้างของทวีปใหญ่ รวมเป็น ๑๒ ทวีป ส่วนในไตรภูมิพระร่วงกล่าวว่า มีทวีปเล็ก ๆ เป็นบริวารมากนับรวมถึงสองพัน และได้กล่าวรูปหน้าของชาวทวีปทั้ง ๔ นี้ว่า คนในชมพูทวีปหน้าดั่งดุมเกวียน คนในบุพพวิเทหะหน้าดั่งเดือนเพ็ญและกลมดั่งหน้าแว่น คนในอุตตรกุรุหน้าเป็นสี่มุม คนในอมรโคยานหน้าดั่งเดือนแรม ๘ ค่ำ ไตรภูมิพระร่วงแต่งจากคัมภีร์ทางหินยานหรือทักษิณนิกาย คัมภีร์ฝ่ายนี้พรรณนาอุตตรกุรุทวีปไว้ดีวิเศษ ดั่งที่ได้กล่าวมาแล้วโดยย่อในตอนที่ว่าด้วยภาณยักข์ภาณพระ

 ทวีปทั้งหมดเหล่านี้ตั้งอยู่ในมหาสมุทรน้ำเค็มใน ๔ ทิศของเขาสัตตบริภัณฑ์ ซึ่งมีเขาสุเมรุเป็นศูนย์กลาง ถัดจากทวีปเหล่านี้ออกไปก็ถึงที่สุดโลกโดยรอบ ซึ่งมีกำแพงเหล็กเป็นขอบกั้นอยู่รอบเหมือนอย่างกงแห่งล้อ รวมเป็นจักรวาล โลกของเรานี้ก็เป็นจักรวาลอันหนึ่งในจักรวาลทั้งหลายที่มีอยู่เป็นอันมาก คัมภีร์ฝ่ายมหายานของธิเบตกล่าวไว้ว่า ทุก ๆ จักรวาลตั้งอยู่ในอากาศว่างเปล่า (Space) อันไม่อาจหยั่ง อาศัยอยู่บนผืนลมเหมือนอย่างวัชระ คือศรพระอินทร์ (อสนีบาตรูปกากบาท) แข็งทนทานเหมือนวัชระคือเพชร บนลมนั้นมีห้วงน้ำตั้งอยู่ บนห้วงน้ำมีรากฐานเป็นทองคำโลกตั้งอยู่บนรากฐานทองคำนั้น มีเขาพระสุเมรุพุ่งขึ้นไปเป็นแกนกลาง

             แผนผังโลกตามความคิดเก่าของอินเดียดั่งที่กล่าวมานี้ ถ้าลองเขียนเป็นแผนที่ย่อดู จะเห็นว่าวางเป็นระเบียบเรียบร้อยน่าดู คือจะเห็นโลกทั้งหมดเป็นรูปจักรวาล คือวงกลมชนิดมีขอบอย่างล้อรถซึ่งใหญ่โตมหึมา มีเขาสุเมรุสูงใหญ่เป็นศูนย์กลาง มีเขาสูงลดหลั่นลงไป ล้อมเป็นบริวารอยู่อีก ๗ ชั้น และมีมหาสมุทรคั่นอยู่ในระหว่างทุกชั้น พ้นออกไปก็เป็นมหาสมุทร มีทวีปทั้ง ๔ ตั้งอยู่ใน ๔ ทิศ ดูอย่างแผนผังเมืองที่มีระเบียบ แต่อย่าเพ่งคาดคั้นเอาความจริง เพราะเป็นตำราภูมิศาสตร์โลกในสมัยหลายพันปีมาแล้ว ทวีปทั้ง ๔ นั้น ชมพูทวีปก็คือโลกในความจริงของผู้เป็นต้นคติความคิดเรื่องนี้ โดยเฉพาะก็คืออินเดียเอง ส่วนอีก ๓ ทวีป แม้จะกล่าวว่ามีอยู่ในจักรวาลนี้ แต่ก็น่าจะเป็นโลกในความคิดนึกในใจหรือกำหนดเอาด้วยภาพทางใจ ซึ่งจะปรากฏขึ้นด้วยเหตุไรก็ตาม เพราะในสมัยโบราณนานไกล น่าจะไปเที่ยวสำรวจให้รอบโลกได้ยาก แต่เมื่อกำหนดลงเป็นแน่ว่ามีทวีปใน ๔ ทิศ ทวีปในทิศที่ตนอาศัยอยู่ก็ได้เห็นอยู่แน่แล้ว จึงต้องค้นคิดหาทวีปในอีก ๓ ทิศ ตั้งเขาสุเมรุเป็นศูนย์กลาง

 ได้มีบุคคลบางพวกในปัจจุบัน แสดงความเห็นว่า อีก ๓ ทวีปนั้นไม่ได้ตั้งอยู่ในโลกนี้ แต่ในคัมภีร์ที่กล่าวถึงทวีปเหล่านี้ได้กล่าวว่า มีอยู่ในจักรวาลนี้นั่นแหละ พิเคราะห์ดูตามแผนผังโลกของท่านก็จะต้องมี ไม่เช่นนั้นก็ขาดไป ๓ ทิศ และยังได้แสดงเวลาของดวงอาทิตย์ไว้ว่า เวลาดวงอาทิตย์ขึ้นในชมพูทวีปนี้ เป็นเวลาเที่ยงวันในบุพพวิเทหะ เป็นเวลาอาทิตย์ตกในอุตตรกุรุ เป็นเวลาเที่ยงคืนในอมรโคยาน, เวลาอาทิตย์ขึ้นในบุพพวิเทหะ เป็นเวลาเที่ยงวัน ในอุตตรกุรุ เป็นเวลาอาทิตย์ตกในอมรโคยาน เป็นเวลาเที่ยงคืนในชมพูทวีป, เวลาอาทิตย์ขึ้นในอุตตรกุรุ เป็นเวลาเที่ยงวันในอมรโคยาน เป็นเวลาอาทิตย์ตกในชมพูทวีป เป็นเวลาเที่ยงคืนในบุพพวิเทหะ, เวลาอาทิตย์ขึ้นในอมรโคยาน เป็นเวลาเที่ยงวันในชมพูทวีป เป็นเวลาอาทิตย์ตกในบุพพวิเทหะ เป็นเวลาเที่ยงคืนในอุตตรกุรุ ตามคติความคิดนี้ ดวงอาทิตย์เดินโคจรไปตามวงกลมของจักรวาลผ่านทวีปทั้ง ๔

ได้ขอให้ผู้ทรงภูมิรู้ในปัจจุบันช่วยค้นเวลาเทียบเคียงดูว่า เวลา ๖.๐๐ น. ที่อินเดีย อันเป็นชมพูทวีปในเวลานั้น โดยเฉพาะที่พาราณสีซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งพุทธคยา จะเป็นเวลาเที่ยงวันเป็นต้น ที่ประเทศไหนบ้าง ท่านผู้นั้นได้จดให้ดังต่อไปนี้


            เวลา ๖
.๐๐ น. พาราณสี Lat. 26˚N. Long. 83˚E.

เวลา ๑๒.๐๐ น. นิวซีแลนด์ Lat. 26˚N. Long. 173˚E.

เวลา ๑๘.๐๐ น. นิวออร์ลีนส์, ชิคาโก Lat. 26˚N. Long. 97˚W.

เวลา ๒๔.๐๐ น. อิงแลนด์ Lat. 26˚N. Long. 7˚W.

 ตามที่เทียบกันนี้ ชมพูทวีปอยู่ที่อินเดีย บุพพวิเทหะอยู่ที่แถบนิวซีแลนด์ อุตตรกุรุอยู่ที่แถบนิวออร์ลีนส์ ชิคาโก (นับกว้าง ๆ ว่าอเมริกา) อมรโคยานอยู่ที่แถบอังกฤษ (นับกว้าง ๆ ว่ายุโรป) แต่ตามคติความคิดเรื่อง ๔ ทวีป น่าจะมิได้มุ่งหมายถึงประเทศปัจจุบันเหล่านี้ เพราะมีแนวความคิดเรื่องโลกกลมคนละอย่าง ทั้งพรรณนาถึงลักษณะภูมิประเทศและบุคคลคล้ายกับเรื่องในนิยาย (หรือจะเป็นอย่างเดียวกัน แต่มองคนละทัศนะ เหมือนอย่างดวงอาทิตย์โคจรกับดวงอาทิตย์อยู่กับที่ ใช้อันไหนเป็นเกณฑ์คำนวณเวลาก็ได้ผลอย่างเดียวกัน) แต่เมื่อแสดงเวลาอาทิตย์โคจรผ่านทวีปทั้ง ๔ ไว้ด้วย จึงลองค้นหาดู ก็ได้พบประเทศต่าง ๆ ดังกล่าวนั้น

 เรื่องจักรวาลโลกตามคติความคิดที่เล่ามานี้ เห็นได้ชัดว่าไม่ใช่พุทธศาสน์ แต่เป็นภูมิศาสตร์เก่า จะเป็นเพราะมีผู้เชื่อถืออยู่มาก จึงติดเข้ามาในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาด้วย คัมภีร์ชั้นหลังยิ่งแสดงวิจิตรพิสดารมาก ถ้าพุทธศาสน์จะมุ่งแสดงอย่างนี้ก็กลายเป็นภูมิศาสตร์ไป และท่านผู้แสดงก็จะกลายเป็นอาจารย์ภูมิศาสตร์ในยุคหนึ่ง มิใช่เป็นศาสดาผู้ประกาศศาสนาที่เป็นสัจจธรรมอยู่ทุกยุคสมัย ด้วยเหตุผลที่เป็นสามัญสำนึกเพียงเท่านี้ ไม่ต้องอ้างหลักฐานธรรมในพระพุทธศาสนา ก็เพียงพอที่จะกล่าวได้ว่าไม่ใช่พระพุทธศาสนา ได้มีผู้แสดงประกาศลัทธิศาสนามากด้วยกัน ทั้งที่เกิดก่อน ทั้งที่เกิดหลังพระพุทธศาสนา ชอบแสดงตนเป็นอาจารย์ภูมิศาสตร์ (แม้ผู้อธิบายพระพุทธศาสนาต่อ ๆ มา คือพระอาจารย์ยุคต่าง ๆ ก็เช่นเดียวกัน) แม้จะเป็นมูลฐานของปัจจุบัน แต่ก็ก้าวมาไม่ถึงยุคปัจจุบัน จึงกลายเป็นเรื่องล้าหลัง เป็นนิยายหรือวรรณคดีโบราณไป แต่ก็เป็นเรื่องน่ารู้อยู่ เพราะจะได้ทราบคติความคิดในชั้นเดิม เมื่ออ่านคัมภีร์หรือหนังสือวรรณคดีทางศาสนาเก่า ๆ ก็จะพอเข้าใจ และมองเห็นภูมิประเทศตามคติความคิดนี้ได้โดยตลอด

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๒ หน้า ๔๒ – ๕๑