Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๖๘

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

เถรวาทและอาจริยวาท

 

คำว่า เถรวาท และ อาจริยวาท เป็นต้น มีความหมายโดยย่อดังต่อไปนี้

           เถรวาท แปลว่า ถ้อยคำของพระเถระ ประวัติของคำนี้มีว่า ในคราวที่พระอรหันต์จำนวน ๕๐๐ รูปประชุมกันทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ ๑ ภายหลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน พระมหากัสสปเถระซึ่งเป็นประธานได้ตั้ง ข้อห้ามการถอนพระพุทธบัญญัติ ตามที่ได้มีพระพุทธานุญาตไว้ว่า เมื่อสงฆ์ปรารถนาก็ให้ถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้ ที่ประชุมทั้งหมดรับรอง ฉะนั้น พระสงฆ์ฝ่ายที่ปฏิบัติตามข้อตกลงนี้จึงเรียกว่าฝ่าย เถรวาท เพราะได้ถือปฏิบัติตามวาทะของพระเถระคือพระมหากัสสป หรือของพระเถระผู้ให้ความตกลงเป็นครั้งแรกเหล่านั้น แต่ได้มีพระสงฆ์อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งไม่ได้เข้าประชุมสังคายนาครั้งนั้นไม่เห็นด้วย คือเห็นว่าเมื่อมีพระพุทธานุญาตให้ถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้ ก็ควรจะถอนได้ ฉะนั้น จึงได้ถอนสิกขาบทเล็กน้อยต่าง ๆ ที่เห็นว่าปฏิบัติไม่สะดวก ต่างอาจารย์ก็ต่างถอน ตรงกันบ้าง ไม่ตรงกันบ้าง ฝ่ายนี้เรียกว่า อาจริยวาท แปลว่า ถ้อยคำของอาจารย์ เมื่อแผ่ขยายออกไปในถิ่นต่าง ๆ ก็ยิ่งต่างกันออกไป ทั้งก็ยิ่งถอนจนถึงสิกขาบทใหญ่ ๆ เปลี่ยนแปลงแก้ไขไปตามหมู่คณะและถิ่นประเทศ พระสงฆ์สายนี้โดยมากแผ่ขยายไปทางเหนือของอินเดีย จึงเรียกว่า อุตตรนิกาย แปลว่า นิกายเหนือ ส่วนสายเถรวาทโดยมากแผ่ไปทางใต้ของอินเดีย จึงเรียกว่า ทักษิณนิกาย แปลว่า นิกายใต้ สายอาจริยวาทหรืออุตตรนิกายนั้น ในเวลาต่อมาก็มิใช่แก้แต่วินัยเท่านั้น แต่ได้แก้หลักธรรมตามคติเดิมด้วย ดั่งเช่นแก้เรื่องพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ดังกล่าวแล้ว

          ตามคติเดิมแสดงว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตน คำว่า ธรรม หมายถึง ทั้งสังขาร วิสังขาร เป็นอนัตตาทั้งหมด วิสังขาร โดยเฉพาะคือพระนิพพาน ก็เป็นอนัตตา พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายเป็นผู้สิ้นอาสวะกิเลสหมดแล้ว ก็สิ้นชาติภพ ไม่เกิดเป็นอะไรอีกต่อไป และสิ้นสมมติบัญญัติทุกอย่าง หมดเรื่องที่จะพูดว่าเป็นอะไรทั้งสิ้น ส่วนทางอุตตรนิกายแก้เป็น มีอาทิพุทธเจ้าเป็นต้น เป็นอัตตาตัวตนอยู่บนสรวงสวรรค์ สถิตอยู่เป็นนิรันดร จึงเป็นการแก้ธรรมให้เป็นอัตตาขึ้น และแสดงพระโพธิสัตว์เป็นอันมากซึ่งยังคงอยู่กับโลกเพื่อช่วยโลก จึงเรียกฝ่ายของตนว่า มหายาน แปลว่า ยานคือพาหนะที่ใหญ่ อาจที่จะช่วยบรรทุกสัตวโลกเป็นอันมากให้ข้ามพ้นความทุกข์ได้ และเรียกฝ่ายเถรวาทว่า หีนยาน แปลว่า ยานคือพาหนะที่เล็ก เพราะเอาตัวรอดเฉพาะตัว ปฏิบัติเพื่อบรรลุพระอรหันต์เฉพาะตน ไม่รออยู่ช่วยโลกต่อไปก่อน ฉะนั้น เถรวาท ทักษิณนิกาย หรือ หีนยาน จึงเป็นสายเดียวกัน บัดนี้ตั้งอยู่ในลังกา ไทย พม่า มอญ เป็นต้น สายนี้ยึดถือรักษาพระธรรมวินัยตามหลักเดิมไว้ ส่วนอาจริยวาท อุตตรนิกาย หรือ มหายาน ก็เป็นสายเดียวกัน บัดนี้ตั้งอยู่ในธิเบต จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ญวน เป็นต้น ทั้ง ๒ สายเดิมก็คงไม่ต่างกันมาก แต่เมื่อล่วงมานาน ๆ ก็ยิ่งต่างกันออกไปทุกที และในสายเดียวกันก็ยังแบ่งย่อยออกเป็นนิกายเล็กน้อยอีกเป็นอันมาก

          เฉพาะในสายเถรวาทนั้น คติเรื่องพระพุทธเจ้าหลายพระองค์และพระโพธิสัตว์จะเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไร ยากที่จะทราบได้ แต่ถ้าสมมติว่าเกิดขึ้นภายหลัง เพื่อมิให้ด้อยน้อยหน้ากว่าฝ่ายมหายาน แต่ก็ยังรักษาหลักเดิม คือแสดงพระพุทธเจ้าในมนุษย์ซึ่งอุบัติขึ้นในกัปต่าง ๆ แต่ไม่บังเกิดขึ้นในคราวเดียวกัน ๒ พระองค์ เมื่อศาสนาของพระองค์หนึ่งเสื่อมสูญไปสิ้นแล้ว ถึงยุคสมัยจึงจะเกิดขึ้นอีกพระองค์หนึ่ง และธรรมของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่แสดงสั่งสอน เช่น อริยสัจ ก็เป็นอย่างเดียวกัน ไม่มีแตกต่างกัน ส่วนพระโพธิสัตว์ก็ใช้จำกัดเฉพาะผู้ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ๆ เท่านั้น และมีหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้วในเรื่องสุเมธดาบส แต่ก็มีแสดงว่าอาจสำเร็จได้ หากแต่ไม่ยอมสำเร็จ เพราะปรารถนาพุทธภูมิเพื่อจะช่วยโลก คล้ายกับความต้องการเป็นพระโพธิสัตว์ในฝ่ายมหายาน

พิจารณาดูตามเหตุผล อัน ความจริง ในโลกหรือ กฎความจริง ของสิ่งทั้งหลาย ย่อมมีอยู่เป็นอย่างเดียวกันทุกกาลสมัย ยกตัวอย่างในทางโลก เช่น สิ่งที่เรียกว่าไฟฟ้า กฎความจริงในเรื่องนี้ก็มีอยู่ประจำโลก เมื่อใครค้นพบก็ประดิษฐ์ไฟฟ้าขึ้นใช้ได้ ถ้าวิชาในเรื่องนี้ต้องสาบสูญไปเพราะเหตุอะไรก็ตาม ก็มิใช่ว่ากฎความจริงในเรื่องนี้จะต้องสาบสูญไปด้วย เมื่อใครค้นพบเข้าอีกก็อาจประดิษฐ์ใช้ได้อีก

ธรรมคือความจริงที่สถิตอยู่เป็นอกาลิโก (ไม่มีกาล) ได้มีพระสูตรหนึ่งแสดงโดยความว่า พระตถาคต (พระพุทธเจ้า) ทั้งหลาย จะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม ธาตุนั้นก็คงตั้งอยู่เป็นธรรมฐิติ (ความตั้งอยู่แห่งธรรม) เป็นธรรมนิยาม (ความกำหนดแน่แท้แห่งธรรม) คือสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา

พิจารณาดู หลักพระพุทธศาสนาที่แท้จริง นั้น มุ่งแสดงธรรมเพื่อให้เกิดความรู้เข้าใจปฏิบัติให้สำเร็จประโยชน์ได้ในปัจจุบัน เช่น หลักอริยสัจ ไม่ได้มุ่งสืบความยาวสาวความยืดให้เนิ่นช้า ไม่มีประโยชน์ และคำที่เป็นพหูพจน์ เช่น พระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระตถาคตทั้งหลาย ก็เป็นสำนวนของภาษา แม้คนเดียวก็มีสำนวนนิยมพูดเป็นพหูพจน์ เช่น เมื่อพูดกับผู้ใหญ่แม้คนเดียว ใช้สรรพนามแทนท่านด้วยพหูพจน์ หรือต้องการจะพูดให้ฟังรวม ๆ กันให้หมายคลุมถึงในวงเดียวกันทั้งหมด ก็ใช้พหูพจน์ และในปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้า ตรัสเรียกพระองค์เองว่า ตถาคต แทนคำสรรพนาม เมื่อกล่าวถึงพระองค์ในเวลาก่อนตรัสรู้ เรียกว่า โพธิสัตว์ เป็นคำที่ใช้เรียกเพื่อให้เข้าใจกันเท่านั้น แต่เมื่อได้มีคติความคิดสืบสาวออกไปก็กลายเป็นเรื่องยืดยาวใหญ่โต ถึงดังนั้นก็เป็นเรื่องที่นับถือกันอยู่เป็นอันมาก และเป็นวรรณคดีทางศาสนาอันมีค่าที่พึงรักษาไว้ ประกอบด้วยคติธรรมเป็นอันมาก

 

 

 กัปหรือกัลป์

 

           เมื่อกล่าวถึงพระพุทธเจ้าหลายพระองค์และพระโพธิสัตว์ ก็ควรจะกล่าวถึงเรื่องกัปหรือกัลป์บ้าง เพราะท่านกล่าวไว้ว่า พระโพธิสัตว์ของเราทั้งหลายได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาถึง ๔ อสงไขย ๑๐๐,๐๐๐ กัลป์ นับแต่เมื่อเสวยพระชาติเป็นสุเมธดาบส กล่าวตามสำนวนเก่าว่า ๔ อสงไขยกำไร ๑๐๐,๐๐๐ กัลป์ หรือ ๔ อสงไขยกำไร ๑๐๐,๐๐๐ มหากัลป์ ความคิดในเรื่องกาลเวลาอันยืดยาวของโลก ได้มีกล่าวในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นคัมภีร์ชั้นแรกก็มี ชั้นหลังก็มี ในคัมภีร์ทางศาสนาพราหมณ์ก็มี ความคิดในเรื่องนี้น่าจะมีตั้งแต่เก่าก่อนพุทธกาลช้านาน วิธีหมายรู้ในเรื่องกาลเวลาในคัมภีร์ทั้งหลายดังกล่าว น่าจะสรุปได้เป็น ๒ วิธีคือ

 

. นับด้วยจำนวนสังขยา หรือนับด้วยตัวเลข เช่น ๑ ๒ ๓ เป็นต้น

. กำหนดด้วยอุปมา หรือด้วยเครื่องกำหนดอย่างใดอย่างหนึ่ง ในเมื่อมากเกินไปที่จะนับด้วยสังขยาหรือตัวเลข

 

การกำหนดดังกล่าวในวิธีที่ ๒ นี้แหละ เป็นที่มาของคำว่า กัป (กัปปะ) ในภาษามคธ หรือ กัลป์ (ในภาษาสันสกฤต) เพราะคำนี้แปลอย่างหนึ่งว่า กำหนด แต่ก็ใช้ในความหมายหลายอย่าง เช่น ในความหมายว่า สมควร เป็นต้น และที่ใช้ในความหมายถึงกาลเวลาแห่งอายุตามยุคตามสมัยก็มี เช่น ในคราวที่พระพุทธเจ้าปลงอายุสังขารว่าอีก ๓ เดือนจะเสด็จปรินิพพาน พระอานนท์ได้กราบทูลอาราธนาขอให้เสด็จอยู่กัปหนึ่ง เพราะได้เคยสดับพระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ที่เจริญอิทธิบาท ๔ ประการ ถ้าจำนงใจจะดำรงรูปกายอยู่ ก็จะพึงอยู่ได้กัปหนึ่ง หรือเหลือกว่ากัปหนึ่ง พระอาจารย์อธิบายว่า คำว่า กัป ในที่นี้ หมายถึง อายุกัป คือกำหนดอายุของคนในยุคปัจจุบัน ซึ่งมีประมาณร้อยปี ฉะนั้น กัปหนึ่งจึงกำหนดว่าร้อยปี ส่วนคำว่า กัป กัลป์ ที่จะกล่าวต่อไปนี้ มิได้หมายถึงกัปที่ใช้ในความหมายต่าง ๆ ดั่งกล่าวนั้น แต่หมายถึงระยะเวลายืดยาวเกินที่จะนับด้วยสังขยาหรือตัวเลข ต้องกำหนดด้วยวิธีอุปมา

ในเบื้องต้น พึงทราบความหมายอย่างกว้างก่อนว่า กัป หรือ กัลป์ คือ กำหนดอายุของโลก หมายถึงระยะเวลาตั้งแต่เกิดโลกจนถึงโลกสลาย เหมือนอย่างกำหนดอายุของบุคคล หมายถึงตั้งแต่เกิดจนตาย กำหนดอายุของโลกดังกล่าวคราวหนึ่ง ๆ เรียกว่ากัปหนึ่ง ๆ มีระยะเวลายืดยาวมาก ไม่เป็นการง่ายที่จะนับว่ามีจำนวนกี่หมื่นกี่แสนปี แต่อาจจะกำหนดได้โดยอุปมาเหมือนอย่างภูเขาหินใหญ่ยาวโยชน์หนึ่ง กว้างโยชน์หนึ่ง สูงโยชน์หนึ่ง ไม่มีช่องไม่มีโพรง เป็นก้อนหินแท่งทึบ ถึงร้อยปีหนหนึ่ง มีบุรุษใช้ผ้าทอที่แคว้นกาสี (ผ้าเนื้อดี) มาลูบครั้งหนึ่งทุก ๆ ร้อยปี ภูเขาหินนั้นก็จะพึงราบเรียบไปก่อน แต่กัปยังไม่สิ้น อีกอุปมาหนึ่ง เหมือนอย่างนครยาวหนึ่งโยชน์ กว้างหนึ่งโยชน์ กำแพงสูงหนึ่งโยชน์ เต็มด้วยเมล็ดพันธุ์ผักกาดแน่นขนัด ถึงร้อยปีหนหนึ่ง มีบุรุษหนึ่งมาหยิบพันธุ์ผักกาดไปเมล็ดหนึ่งทุก ๆ ร้อยปี กองเมล็ดพันธุ์ผักกาดนั้นก็จะพึงสิ้นไปก่อน ส่วนกัปยังไม่สิ้น กัปที่ยาวมากดังนี้เรียกว่า มหากัป ก็มี

กัปหนึ่ง ๆ แม้จะมีระยะเวลายืดยาวจนต้องกำหนดด้วยอุปมาดังกล่าว แต่ก็ยังมีคติความคิดของคนในสมัยเก่าแก่ว่า ได้มีกัปจำนวนมากมายล่วงไปแล้วในอดีต หมายความว่าโลกได้เคยเกิดดับหรือดับเกิดมาแล้วในอดีตมากครั้งจนนับไม่ถ้วน จนถึงต้องกำหนดด้วยอุปมาเหมือนกัน คือเหมือนอย่างสาวก ๔ คน มีอายุคนละ ๑๐๐ ปี ระลึกถึงกัปในอดีตได้วันละแสนกัป ระลึกอยู่ถึง ๑๐๐ ปี (ต่อกันรวม ๔๐๐ ปี) ก็ยังไม่หมดกัปที่ล่วงไปแล้ว ต้องตายไปเสียก่อน อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนทรายในเนื้อที่ตั้งแต่ต้นแม่น้ำคงคาจนจรดถึงมหาสมุทร ซึ่งนับไม่ได้ว่ามีจำนวนเท่าไรเม็ด กัปในอดีตมีจำนวนมากมายเหลือที่จะนับดังกล่าว เรียกว่า อสงไขย ตรงกับคำว่า นับไม่ถ้วน สงสาร คือความท่องเที่ยวเวียนตายเกิด หรือเกิดตายของสัตวโลกทุกสัตว์ทุกบุคคลในกัปทั้งหลายนับไม่ถ้วน จึงเรียกว่า อนมตัคคะ แปลว่า มีที่สุด (ที่สุดเบื้องต้นและที่สุดเบื้องปลาย) ที่ไม่รู้

ท่านแสดงว่า พระโพธิสัตว์ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาตลอดเวลา ๔ อสงไขย คือตลอดกัปที่นับไม่ถ้วนนั้น ๔ ครั้ง มีปัญหาว่า มีเกณฑ์อะไรเป็นเครื่องกำหนดว่าอสงไขยหนึ่ง ๆ เรื่องนี้ตรวจดูในพุทธวงศ์พอจับความได้ว่า ถือเอาเกณฑ์พระพุทธเจ้าในอดีตดังที่ได้กล่าวมาแล้ว คือพระพุทธเจ้าองค์ต้น ๆ ได้ตรัสรู้ในกัปหนึ่ง แล้วเว้นไปนับไม่ถ้วนกัป จึงมีมาตรัสรู้ขึ้นอีก ระยะเว้นว่างของพระพุทธเจ้าตลอดเวลาเป็นกัปจนนับไม่ถ้วนนี้เรียกว่าอสงไขยหนึ่ง ๆ เป็นดังนี้ ๔ อสงไขยจึงถึงระยะที่นับได้แสนกัป ย้อนกลับไปจากกัปปัจจุบัน ซึ่งได้มีพระพุทธเจ้ามาตรัสโดยลำดับมาจนถึงพระองค์ปัจจุบัน ฉะนั้น จึงกล่าวว่า ๔ อสงไขยกำไร ๑๐๐,๐๐๐ มหากัลป์

เรื่องกัปที่นับไม่ถ้วนซึ่งเรียกว่า อสงไขย และที่นับได้แสนหนึ่งนี้ ท่านกล่าวว่าได้ปรากฏใน ปุพเพนิวาสญาณ คือ ความรู้ระลึกชาติหนหลังได้ของพระพุทธเจ้า นึกทำความเข้าใจตามคำของท่านเอาเองว่า เมื่อระลึกย้อนกลับไปยาวไกลเหมือนอย่างดูออกไปสุดลูกตา ก็คงจะปรากฏเป็นห้วง ๆ เหมือนอย่างมองไปในอากาศในเวลากลางคืนเห็นดวงดาวทั้งหลาย แต่จะกำหนดระยะห่างกันของดวงดาวเหล่านั้นว่าเท่าไร ก็นับได้ยาก (เช่น ในบัดนี้ก็ต้องคิดนับด้วยปีแสง) เมื่อมาถึงระยะใกล้จึงพอนับได้ ในระยะแสนกัปก็น่าจะปรากฏพอนับได้เหมือนกันฉะนั้น

กล่าวถึงการกำหนดนับในพุทธวงศ์ พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๑ ถึงองค์ที่ ๔ อุบัติในกัปหนึ่ง องค์ที่ ๕ อุบัติขึ้นในอีกกัปหนึ่ง แต่ในระหว่างองค์ที่ ๔ ถึงองค์ที่ ๕ มีระยะห่างกันมากจนนับกัปไม่ถ้วน (เป็นอสงไขยที่ ๑) พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๖---๙ อุบัติขึ้นในอีกกัปหนึ่ง แต่ในระหว่างองค์ที่ ๕ และองค์ที่ ๖ มีระยะห่างกันมากจนนับไม่ถ้วน (อสงไขยที่ ๒) องค์ที่ ๑๐-๑๑-๑๒ อุบัติขึ้นในอีกกัปหนึ่ง แต่ในระหว่างองค์ที่ ๙ และองค์ที่ ๑๐ มีระยะห่างกันมากจนนับกัปไม่ถ้วน (อสงไขยที่ ๓) องค์ที่ ๑๓ อุบัติขึ้นในอีกกัปหนึ่ง แต่ในระหว่างองค์ที่ ๑๒ และองค์ที่ ๑๓ มีระยะห่างกันมากจนนับกัปไม่ถ้วน (อสงไขยที่ ๔)

นับตั้งแต่องค์ที่ ๑๓ นั้นมาจนถึงปัจจุบัน หรือว่านับตั้งแต่ภัทรกัปในปัจจุบันนี้ย้อนไปจนถึงองค์ที่ ๑๓ อุบัติขึ้นรวมได้แสนกัป ท่านใช้วิธีนับย้อนกลับไปแบบวิธีระลึกชาติ คือย้อนกลับไป ๑๐๐,๐๐๐ กัป องค์ที่ ๑๓ ดังกล่าวองค์เดียวอุบัติขึ้นในกัปนั้น ย้อนกลับไป ๓๐,๐๐๐ กัป องค์ที่ ๑๔-๑๕ อุบัติขึ้นในกัปนั้น ย้อนกลับไป ๑๘,๐๐๐ กัป องค์ที่ ๑๖-๑๗-๑๘ อุบัติขึ้นในกัปนั้น ย้อนกลับไป ๙๔ กัป องค์ที่ ๑๙ อุบัติขึ้นองค์เดียวในกัปนั้น ย้อนกลับไป ๙๒ กัป องค์ที่ ๒๐-๒๑ อุบัติขึ้นในกัปนั้น ย้อนกลับไป ๙๑ กัป องค์ที่ ๒๒ องค์เดียวอุบัติขึ้นในกัปนั้น (นี้คือพระวิปัสสีที่กล่าวถึงเป็นองค์แรกในพระพุทธเจ้าจำนวน ๗ พระองค์ในภาณยักข์ภาณพระ) ย้อนกลับไป ๓๑ กัป องค์ที่ ๒๓-๒๔ อุบัติขึ้นในกัปนั้น ต่อจากนั้นก็มาถึงภัทรกัปปัจจุบัน องค์ที่ ๒๕-๒๖-๒๗-๒๘ ได้อุบัติขึ้นแล้วโดยลำดับ และจะอุบัติขึ้นข้างหน้าอีกพระองค์หนึ่ง รวมเป็นพระเจ้า ๕ พระองค์ในกัปนี้ เพราะกัปนี้มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมากกว่ากัปอื่น ๆ ในอดีตที่ท่านระลึกไปถึง จึงเรียกว่า ภัททกัป หรือ ภัทรกัป แปลว่า กัปเจริญ

           ในคัมภีร์ฝ่ายเถรวาทนี้ ได้มีกล่าวถึงพระโพธิสัตว์ของเราทั้งหลาย ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๔ จนมาตรัสเป็นองค์ที่ ๒๘ กำหนดนับได้ ๔ อสงไขยกำไร ๑๐๐,๐๐๐ มหากัลป์ ด้วยวิธีกำหนดนับดั่งกล่าวนี้ ได้มีฝ่ายที่นับถือเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย ที่กาบาเอ้ ประเทศพม่า ได้ปลูกไม้ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าทั้งหมดไว้ แต่ถึงจะไม่นับถือ เมื่อทราบวิธีกำหนดนับของท่าน ก็อาจจะเข้าใจหนังสือที่ได้อ่านหรือได้ฟัง ซึ่งมีอยู่ไม่น้อยในสำนวนเก่า โดยเฉพาะก็จะได้ทราบว่า ความคิดของคนเก่าแก่นั้นมีอยู่ในเรื่องอายุโลกว่าอย่างไร เมื่อสรุปความเข้าแล้ว คนรุ่นเก่าแก่ได้เห็นแล้วว่าโลกนี้มีเกิดดับ เช่นเดียวกับสังขารมนุษย์ และมีความเชื่อว่าโลกนี้เมื่อดับแล้วก็เกิดขึ้นอีกคล้ายกับมีชาติภพ และชาติหนึ่ง ๆ ของโลกมีระยะเวลายาวไกล เรียกว่า กัป หรือกัลป์ ดังกล่าวมานั้นแล

ระยะเวลาเกิดดับของโลกคราวหนึ่ง ๆ อันเรียกว่า กัปหนึ่ง ๆ ตามที่กล่าวมาแล้ว ท่านจำแนกออกเป็น ๔ ส่วน คือ

. สังวัฏฏกัป แปลว่า กัปเสื่อม

. สังวัฏฏฐายีกัป แปลว่า กัปที่ตั้งอยู่เนื่องด้วยกัปเสื่อม

. วิวัฏฏกัป แปลว่า กัปเจริญ

. วิวัฏฏฐายีกัป แปลว่า กัปที่ตั้งอยู่เนื่องด้วยกัปเจริญ

กัปทั้ง ๔ นี้เป็นกัปย่อย คือจำแนกกัปที่เป็นอายุโลกออกเป็น ๔ กัปย่อย เพื่อเรียกให้ต่างกัน จึงเรียกกัปที่เป็นอายุโลกทั้งหมดว่ามหากัป แม้แยกย่อยออกเป็น ๔ ก็เป็นการไม่ง่ายที่จะนับว่าเท่านั้นเท่านี้ปี หรือร้อยปี พันปี แสนปี จึงเรียกว่า อสงไขย เหมือนกัน หมายความว่านับไม่ถ้วน ฉะนั้น กัปย่อยทั้ง ๔ จึงเรียกว่า อสงไขยทั้ง ๔ รวมความว่าแบ่งกัปใหญ่ที่เป็นอายุโลกทั้งหมดออกเป็น ๔ กัปหรือ ๔ อสงไขย แต่พึงเข้าใจว่า ๔ อสงไขยในที่นี้หมายถึง ๔ กัปย่อย ดังกล่าวเท่านั้น มิใช่หมายถึง ๔ อสงไขยที่กล่าวมาแล้วในตอนที่ว่าด้วยเรื่อง ๔ อสงไขยกำไร ๑๐๐,๐๐๐ มหากัลป์ ฉะนั้น อสงไขยในที่นี้เท่ากับเป็นอสงไขยย่อย เช่นเดียวกับกัปย่อย บางทีก็เรียกรวมว่า อสงไขยกัป อันหมายถึงส่วนย่อยทั้ง ๔ ของอายุโลกดังกล่าวเท่านั้น และใช้เรียกว่าอสงไขยก็เพราะแม้เป็นส่วนย่อยก็นับปีไม่ถ้วนเหมือนกัน (อสงไขยในตอนนี้หมายถึงนับปีไม่ถ้วน ส่วนในตอนโน้นหมายถึงนับกัปไม่ถ้วน)

ในกัปย่อยทั้ง ๔ นั้น จะกล่าวถึงกัปเสื่อมก่อน หมายความว่าระยะเวลาที่ โลกวินาศ คือสลายหรือดับ ความวินาศของโลกมี ๓ อย่างคือ อาโปสังวัฏฏะ วินาศเพราะน้ำเตโชสังวัฏฏะ วินาศเพราะไฟ วาโยสังวัฏฏะ วินาศเพราะลม อธิบายตามคติเก่าแก่นั้นว่า เมื่อโลกวินาศเพราะไฟ จะเกิด มหาเมฆกัปวินาศ คือเกิดฝนตกใหญ่ทั่วโลกก่อน ครั้นฝนนั้นหยุดแล้วจะไม่มีฝนตกอีก จะเกิดความแห้งแล้งไปโดยลำดับ จะมีดวงอาทิตย์ดวงที่ ๒ ปรากฏขึ้น จนถึงดวงที่ ๗ จึงจะเกิดไฟประลัยกัลป์ไหม้โลกจนหมดสิ้น อากาศเบื้องบนจะเป็นอันเดียวกับอากาศเบื้องล่าง หมายความว่าเหลือแต่อากาศว่างเปล่า มีความมืดมิดทั่วไป ครั้นแล้ว มหาเมฆกัปสมบัติ (ก่อเกิดกัป) จะตั้งขึ้นฝนจะตกทั่วที่ซึ่งถูกไฟไหม้ ลมจะประคองรวมน้ำฝนให้รวมกันเป็นก้อนกลม เหมือนหยาดน้ำบนใบบัวแล้วก็แห้งขอดลงไป ปรากฏโลกขึ้นใหม่ จึงถึงวาระที่เรียกว่า กัปเจริญ สัตว์ที่บังเกิดขึ้นเป็นพวกแรกนั้นเป็นพวกพรหมในพรหมโลกชั้นที่ไฟไหม้ขึ้นไปไม่ถึง ลงมาเกิดเป็นพวก อุปปาติกะ (แปลกันว่าลอยเกิด หมายความว่าเกิดเป็นตัวตนใหญ่โตปรากฏขึ้นทีเดียว) พากันบริโภคง้วนดิน (ปฐวิรส คือเมื่อน้ำแห้งขอด ก็เกิดเป็นแผ่นฝ้าขึ้นในเบื้องบนมีสีงาม มีรสหอมหวาน) สะเก็ดดิน (ปฐวีปัปปฏกะ) เครือดิน (ปทาลตา) หมดไปโดยลำดับ จากนั้นจึงบริโภคธัญชาติ เป็นต้นว่าข้าวสาลีสืบต่อมา สัตวโลกจำพวกแรกเหล่านั้นจึงมีร่างกายหยาบขึ้นโดยลำดับ จนปรากฏเป็นบุรุษสตรีสร้างบ้านเรือนสืบพันธุ์กันมา ในชั้นแรกมีอายุยืนยาวเป็นอสงไขย (นับปีไม่ถ้วน) ต่อมาพากันประพฤติอกุศลกรรมด้วยอำนาจของราคะ โลภะ โทสะ โมหะมากขึ้น อายุก็ลดน้อยถอยลงโดยลำดับจนถึง ๑๐ ปี ก็พากันถึงความพินาศเป็นส่วนมาก เพราะภัย ๓ อย่าง คือ ศัสตราวุธ โรค ทุพภิกขภัย คือความขาดแคลนอาหาร เรียกว่าถึงสมัย มิคสัญญี แปลว่า มีความสำคัญในกันแลกันว่าเหมือนอย่างเนื้อ คือเห็นกันฆ่ากันเหมือนอย่างเนื้อถึก แต่ก็ยังไม่พินาศกันหมดทั้งโลก ยังมีสัตว์ที่เหลือตายหลบหลีกไป และกลับได้ความสังเวชสลดจิต พากันประพฤติกุศลกรรมมากขึ้น ก็พากันเจริญอายุมากขึ้นด้วยอำนาจกุศลโดยลำดับจนถึงอสงไขย แล้วกลับอายุถอยลงมาด้วยอำนาจอกุศลกรรมจนถึงอายุ ๑๐ ปี แล้วก็กลับเจริญอายุขึ้นใหม่อีก วนขึ้นวนลงอยู่อย่างนี้ จนกว่าจะถึงคราวโลกวินาศอีกครั้งหนึ่ง ระยะเวลาทั้งหมดนี้จัดเป็นกัปย่อยทั้ง ๔ ได้ ดังนี้

สังวัฏฏกัป กัปเสื่อม ตั้งแต่เกิดมหาเมฆกัปวินาศตกใหญ่ จนถึงไฟประลัยกัลป์ไหม้โลกจนหมดสิ้นดับลงแล้ว

สังวัฏฏฐายีกัป กัปที่ตั้งอยู่เนื่องด้วยกัปเสื่อม ตั้งแต่ไฟไหม้โลกดับ จนถึงมหาเมฆกัปสมบัติตกใหญ่ เริ่มก่อกำเนิดโลกขึ้นใหม่

วิวัฏฏกัป กัปเจริญ ตั้งแต่มหาเมฆกัปสมบัติ จนถึงปรากฏดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์

วิวัฏฏฐายีกัป กัปที่ตั้งอยู่เนื่องด้วยกัปเจริญ ตั้งแต่บัดนั้นจนถึงมหาเมฆกัปวินาศบังเกิดขึ้นอีก

ส่วนความวินาศด้วยน้ำนั้น เกิดมหาเมฆกัปวินาศขึ้นเช่นเดียวกันก่อน แล้วจึงเกิดมหาเมฆน้ำด่างตกลงมาเป็นน้ำประลัยกัลป์ ย่อยโลกให้วินาศไป เช่นเดียวกับไฟไหม้โลก และความวินาศด้วยลมนั้น ก็เกิดมหาเมฆกัปวินาศขึ้นก่อน แล้วเกิดลมกัปวินาศเป็นลมประลัยกัลป์ พัดผันโลกให้ย่อยยับเป็นจุณวิจุณไปเช่นเดียวกับไฟไหม้โลก

เกณฑ์โลกวินาศดั่งกล่าวนี้ คติเก่าแก่นั้นกล่าวไว้ว่า วินาศด้วยไฟ ๗ ครั้ง แล้ววินาศด้วยน้ำในครั้งที่ ๘ ครั้นวินาศด้วยไฟและน้ำดังนี้ครบ ๘ ครั้ง ๘ หนแล้ว จึงวินาศด้วยลมครั้ง ๑ และส่วนที่ ๔ ของกัปย่อย (วิวัฏฏฐายีกัป) ระยะเวลาสัตวโลกมีอายุ ๑๐ ปี เพิ่มขึ้นจนถึงอสงไขย แล้วถอยลงจนถึง ๑๐ ปีอีก เรียกว่า ๑ อันตรกัป (กัปในระหว่าง) ประมาณ ๖๔ อันตรกัป จึงเป็นกัปย่อยที่ ๔ นั้น แต่บางอาจารย์กล่าวว่า ประมาณ ๒๐ อันตรกัป และระยะเวลาที่พระพุทธเจ้ามาตรัสนั้น ในยุคที่มนุษย์มีอายุ ๑๐๐,๐๐๐ ปีลงมาถึง ๑๐๐ ปี เพราะเมื่อมนุษย์มีอายุมากเกินไปก็เห็นทุกข์ได้ยาก มีอายุน้อยเกินไปก็มีกิเลสหนาแน่นมาก ยากที่จะตรัสรู้ธรรมได้เช่นเดียวกัน

เรื่องโลกวินาศและโลกสมบัติ หรือโลกดับโลกเกิดตามคติความคิดเก่าแก่ ซึ่งติดมาในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนามีดังที่กล่าวมาโดยย่อฉะนี้ตามคติความคิดเรื่องโลกประลัย ได้มีกล่าวถึงเขตแห่งความประลัยไว้ว่า ไฟประลัยกัลป์ไหม้โลกตั้งแต่พรหมชั้นอาภัสสราลงมา น้ำประลัยกัลป์ท่วมโลกตั้งแต่พรหมชั้นสุภกิณหะลงมา ลมประลัยกัลป์พัดผันโลกตั้งแต่พรหมชั้นเวหัปผลาลงมา ฉะนั้น ก็ควรกล่าวถึงเรื่องโลกตามคติความคิดเก่าแก่นั้นต่อไป

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๒หน้า ๓๐ – ๔๒