Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๖๗

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ต้นไม้ที่ตรัสรู้

 คติเรื่องพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมี เกี่ยวเนื่องจากคติเรื่องพระพุทธเจ้าหลายพระองค์ เพราะจะต้องมีท่านผู้เตรียมพระองค์จะเป็นพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ ในคัมภีร์ชาดก เป็นเรื่องเล่าถึงพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย เมื่อเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติต่าง ๆ จนถึงเป็นพระเวสสันดร นับได้ ๕๔๗ ชาดก (ไม่นับสุเมธดาบสซึ่งเป็นชาติเริ่มต้น) ในบัดนี้ก็มีพระศรีอารย์เป็นพระโพธิสัตว์ สถิตอยู่ในดุสิตสวรรค์ ซึ่งจะได้จุติมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในเวลาอสงไขยปีในอนาคต

ในกัปของพระทีปังกรพุทธเจ้า มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ๔ พระองค์ พระทีปังกรเป็นองค์ที่ ๔ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจำนวน ๒๘ พระองค์ จึงนับแต่พระตัณหังกรซึ่งเป็นองค์ ๑ ในกัปนั้น ส่วนในภาณยักข์ ภาณพระเป็นต้น แสดงไว้เพียง ๗ พระองค์

โพธิพฤกษ์ หรือไม้โพธิ์ คือ ต้นไม้ที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ตั้งแต่พระทีปังกร เป็นต้นไป พบในพุทธวงศ์เป็นต้น ส่วนองค์ที่ ๑ ถึงที่ ๓ พบในชินกาลมาลี ดังต่อไปนี้

. พระตัณหังกร ไม้สัตตปัณณะ (ตีนเป็ดขาว)

. พระเมธังกร ไม้กิงสุกะ (ทองกวาว)

. พระสรณังกร ไม้ปาตลี (แคฝอย)

. พระทีปังกร ไม้ปิปผลิ (เลียบ)

. พระโกณฑัญญะ ไม้สาลกัลยาณี (ขานาง)

. พระมังคละ ไม้นาคะ (กากะทิง)

. พระสุมนะ ไม้นาคะ (กากะทิง)

. พระเรวตะ ไม้นาคะ (กากะทิง)

. พระโสภิตะ ไม้นาคะ (กากะทิง)

๑๐. พระอโนมทัสสี ไม้อัชชุนะ (รกฟ้าขาว)

๑๑. พระปทุมะ ไม้มหาโสณะ (อ้อยช้าง, คำมอก)

๑๒. พระนารทะ ไม้มหาโสณะ (อ้อยช้าง, คำมอก)

๑๓. พระปทุมุตตระ ไม้สลฬะ (สน)

๑๔. พระสุเมธะ ไม้มหานิมพะ (สะเดาป่า)

๑๕. พระสุชาตะ ไม้มหาเวฬุ (ไผ่ใหญ่)

๑๖. พระปิยทัสสี ไม้กกุธะ (กุ่ม)

๑๗. พระอัตถทัสสี ไม้จัมปกะ (จำปาป่า)

๑๘. พระธัมมทัสสี ไม้พิมพชาละ หรือ กุรวกะ (มะพลับ, ซ้องแมว)

๑๙. พระสิทธัตถะ ไม้กัณณิการะ (กรรณิการ์)

๒๐. พระติสสะ ไม้อสนะ (ประดู่ลาย)

๒๑. พระปุสสะ ไม้อาลมกะ (มะขามป้อม)

๒๒. พระวิปัสสี ไม้ปาตลิ (แคฝอย)

๒๓. พระสิขี ไม้ปุณฑริกะ (มะม่วงป่า)

๒๔. พระเวสสภู ไม้มหาสาละ (สาละใหญ่, ส้านหลวง หรือมะตาดทางภาคเหนือ)

๒๕. พระกกุสันธะ ไม้มหาสิริสะ (ซึกใหญ่)

๒๖. พระโกนาคมนะ ไม้อุทุมพระ (มะเดื่อ)

๒๗. พระกัสสปะ ไม้นิโครธะ (ไทร, กร่าง)

๒๘. พระโคตมะ คือ พระพุทธเจ้าพระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย

ไม้อัสสัตถะ (โพธิ์, ป่าแป้ง, ไม้อัสสัตถะ ไทยเราทั่วไปเรียกกันว่า โพธิ์ หรือ โพ หรือโพใบ (ยังมีโพทะเลอีกอย่างหนึ่ง) ลังกาก็เรียกว่า โพ จะเป็นคำเดิม หรืออาจจะมาจากโพก็ได้ ได้ทราบว่าทางภาคอีสานเรียกว่า ไม้ป่าแป้ง)

๒๙. พระเมตไตรย ในอนาคต ไม้นาคะ (กากะทิง)

ไม้โพธิ์ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย และไม้ที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ดังกล่าวในพุทธประวัติหรือที่เกี่ยวแก่พระพุทธศาสนประวัติ แม้ภายหลังพุทธปรินิพพานได้มีนิยมปลูกในวัดทั้งหลายน้อยบ้างมากบ้าง แต่ไม้อัสสัตถะที่เราเรียกกันว่าต้นโพธิ์ ได้นิยมปลูกในวัดทั่วไป มีหลายวัดได้หน่อหรือพันธุ์มาจากโพธิ์ที่พุทธคยาอันเป็นที่ตรัสรู้

คติเรื่องพระพุทธเจ้าหลายพระองค์และพระโพธิสัตว์มีกล่าวในคัมภีร์ฝ่ายเถรวาทนี้ตั้งแต่ชั้นบาลีเป็นต้นไป จึงมีคล้ายกับมหายาน แต่ไม่เหมือนกัน ถึงอย่างนั้นก็คงมีแสดงเรื่องพระพุทธเจ้าหลายพระองค์ด้วยกัน และแสดงพระโพธิ์สัตว์ด้วยกัน ส่วนอธิบายมีต่างกัน ได้กล่าวในฝ่ายเถรวาทนี้แล้วจะได้เลือกกล่าวในฝ่ายมหายานเทียบเคียงโดยสังเขป

 

พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ฝ่ายมหายาน

ในฝ่ายมหายาน แสดงว่ามีพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งสถิตอยู่เป็นนิรันดรในสรวงสวรรค์ คือ พระสยัมภูพุทธเจ้า หรือ พระอาทิพุทธเจ้า และมีพระพุทธเจ้าอีก ๕ พระองค์ เกิดด้วยอำนาจฌานสมาบัติทั้ง ๕ ของพระอาทิพุทธเจ้า สถิตอยู่ในสวรรค์เช่นเดียวกัน เรียกว่า พระธยานิพุทธเจ้า ๕ พระองค์

. พระไวโรจนะ ทำหัตถ์อย่างปางปฐมเทศนา

. พระอักโษภยะ ทำหัตถ์อย่างปางมารวิชัย

. พระรัตนสัมภวะ ทำหัตถ์อย่างปางประทานพร

. พระอมิตาภะ ทำหัตถ์อย่างปางสมาธิ

. พระอโมฆสิทธะ ทำหัตถ์อย่างปางประทานอภัย

พระพุทธรูปศิลาแห่งพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้มาชุดหนึ่ง เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเกาะชวา เมื่อ พ.. ๒๔๓๙ โปรดให้ประดิษฐานที่พระเจดีย์วัดราชาธิวาส ๔ องค์ ที่ ๔ มุมแห่งพระเจดีย์ อีกองค์หนึ่งโปรดให้ประดิษฐานที่ซุ้มยอดปรางค์ด้านทิศตะวันตกแห่งพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร คือ พระไวโรจนะ ถือกันว่าพระไวโรจนะเป็นองค์กลาง อีก ๔ องค์อยู่ล้อมรอบแต่ละทิศ พระพุทธรูปศิลาชุด ๕ องค์นี้ เดิมประดิษฐานอยู่ที่พระเจดีย์บูโรพุทโธในเกาะชวา (เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่วัดราชาธิวาส ถูกผู้ร้ายลักตัดพระเศียรไปองค์หนึ่ง ถ้าใครติดตามนำกลับมาต่อคืนได้ จะเป็นกุศลอย่างยิ่ง)

ต่อมา มีเพิ่มขึ้นมาใหม่อีกปางหนึ่ง เรียกว่า พระไภษัชคุรุ ทำพระหัตถ์อย่างปางสมาธิถือวชิระ ดูเป็นหม้อน้ำมนต์หรือผลสมอไปบ้าง เป็นต้นแบบพระกริ่งทั้งปวง

พระพุทธเจ้าเหล่านี้ เป็นผู้บันดาลให้พระโพธิสัตว์จุติลงมาเกิดเป็น พระมนุษยพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย หรือแม้พระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ ตลอดจนถึงพระศรีอารย์ที่จะตรัสรู้ข้างหน้า เป็นพระมนุษยพุทธเจ้าทั้งนั้น พระมนุษยพุทธเจ้ามีพระกาย ๓ อย่าง คือ

. พระธรรมกาย ได้แก่ กายธรรมคือตัวพระธรรมที่ตรัสรู้

. สัมโภคกาย ได้แก่ กายเนื้อหรือรูปนามเกิดแก่ตาย

. นิรมานกาย ได้แก่ กายที่บริสุทธิ์ตั้งแต่ได้ตรัสรู้

พระไภษัชคุรุ บางพวกถือว่าเป็นพระมนุษยพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งด้วย

ส่วนพระโพธิสัตว์มีมาก ได้แก่ท่านผู้ที่จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ก็ได้แต่ไม่ยอมสำเร็จ มุ่งจะช่วยโลกต่อไปก่อน แบ่งเป็น ธยานิโพธิสัตว์ จำพวกหนึ่ง มนุษยโพธิสัตว์ จำพวกหนึ่ง มีจำนวนมาก แต่พระธยานิโพธิสัตว์ที่สำคัญมี ๕ พระองค์ คือ

. สมันตภัทรโพธิสัตว์ ผู้รักษาพระศาสนาของพระกกุสันธะพุทธเจ้า

. วัชรปาณีโพธิสัตว์ ผู้รักษาพระศาสนาของพระโกนาคมพุทธเจ้า

. รัตนปาณีโพธิสัตว์ ผู้รักษาพระศาสนาของพระกัสสปพุทธเจ้า

. อวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ผู้รักษาพระศาสนาของพระโคดมสักยมุนีพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน

. วิศวปาณีโพธิสัตว์ จะเป็นผู้รักษาพระศาสนาของพระศรีอารยเมตไตรยพุทธเจ้าต่อไปในอนาคต

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๒ หน้า ๒๕ – ๓๐