Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๖๖

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

พระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์

เรื่องพระพุทธเจ้าหลายพระองค์ มีในพระพุทธศาสนาที่แสดงเป็นกลาง ๆ เช่น ในพระโอวาท ๓ ที่แปลความว่า การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว นี้เป็นคำสอนของพระพุทธะทั้งหลาย คำว่าพุทธะ นี้ ใช้เป็นพหูพจน์ มีความหมายทั่วไปว่า ผู้รู้ทั้งหลาย พระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นบรมศาสดาก็เรียกว่า พุทธะ พระอรหันตสาวกก็เรียกว่า พุทธะ แต่มักเติมคำว่า อนุ ข้างหน้า เป็น อนุพุทธะ แปลว่า ผู้รู้ตามหรือผู้รู้ในภายหลัง เรียกรวมกันว่า พุทธานุพุทธะ แปลว่า พระพุทธะและพระอนุพุทธะ พระพุทธะนั้นมีพระองค์เดียว ส่วนพระอนุพุทธะนั้นมีมากเท่าจำ นวนพระอรหันตสาวกทั้งหลาย เมื่อถือว่าเป็นพระพุทธะด้วยกัน ก็กล่าวได้ว่าพระพุทธะมีจำ นวนมาก

ในบางพระสูตร ได้แสดงพระพุทธะอีกจำพวกหนึ่ง เรียกว่า พระปัจเจกพุทธะ แปลว่า ผู้ตรัสรู้เฉพาะตนผู้เดียว ไทยเราเรียกพระปัจเจกพุทธเจ้า หรือพระปัจเจกโพธิ ท่านอธิบายว่า เป็นผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระบรมศาสดาของเราทั้งหลายในบัดนี้ แต่ไม่สอนผู้อื่น น่าพิจารณาว่า คงหมายความว่า ไม่สอนผู้อื่นให้ตรัสรู้ตาม หรือไม่ตั้งศาสนาขึ้น และเมื่อมีพระปัจเจกพุทธเจ้า ก็เรียกพระพุทธเจ้าซึ่งสอนผู้อื่นเช่นพระบรมศาสดาของเราทั้งหลายว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แปลว่า ผู้ตรัสรู้เอง หรือ พระสัพพัญญูพุทธเจ้า แปลว่า พระพุทธะผู้ตรัสรู้ธรรมทั้งปวง พระปัจเจกพุทธะท่านแสดงว่ามีจำนวนมาก อยู่ด้วยกันในที่แห่งหนึ่ง ๆ จำนวนหลายร้อยก็มี

เมื่อแสดงถึงพระปัจเจกพุทธะ ก็แสดงต่อไปว่า มีขึ้นในกาลสมัยที่ว่างพระพุทธศาสนา ในสมัยที่พระพุทธศาสนายังดำรงอยู่ไม่อันตรธานไปจากโลก พระปัจเจกพุทธะก็ยังไม่บังเกิด ต่อเมื่อพระพุทธศาสนาอันตรธานไปหมดสิ้นแล้ว ทั้งปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ สิ้นบรรพชิตในพระพุทธศาสนา สิ้นพุทธบริษัททุกจำพวก ตั้งแต่สมัยดังกล่าวจนถึงเกิดมีพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระธรรม และตั้งพระพุทธศาสนาขึ้นใหม่อีกพระองค์หนึ่ง เรียกว่า พุทธันดร แปลว่า ระหว่างแห่งพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธะทั้งหลายบังเกิดขึ้นในกาลสมัยที่เป็นพุทธันดรเช่นนี้ ตามคตินี้ พระพุทธเจ้าผู้เป็นบรมศาสดาของเราทั้งหลาย เมื่อตรัสรู้แล้ว ถ้าไม่สั่งสอนใคร ไม่ได้ตั้งพระพุทธศาสนา ไม่ได้ประดิษฐานพุทธบริษัทขึ้น ก็คงเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง

เมื่อคติแห่งพระพุทธศาสนาขยายออกไปถึงพระปัจเจกพุทธะ และขยายออกไปถึงกาลเวลาอันเรียกว่าพุทธันดร ก็จะต้องขยายออกไปถึงพระพุทธเจ้าอีกพระองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นขีดขั้นสิ้นสุดแห่งพุทธันดร เพราะจะต้องมีองค์หนึ่งอยู่ที่สุดทางนี้ และอีกองค์หนึ่งอยู่ที่สุดทางนั้น จึงเกิดมีคติเรื่องพระพุทธเจ้าหลายพระองค์ขึ้น และมีคตินับเวลาของโลกอันยืดยาวที่สุด เรียกว่า กัป หรือกัลป์

ในคัมภีร์แสดงพระนามพระพุทธเจ้าซึ่งบังเกิดขึ้นในกัปต่าง ๆ หลายจำนวน เช่น ในภาณยักข์ภาณพระ แสดงไว้ ๗ พระองค์ ในที่อื่น เช่น ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา แสดงย้อนหลังไปอีกมากรวมกันถึง ๒๘ พระองค์ก็มี หรือที่ระบุจำนวนไว้มากยิ่งกว่านั้นอีกมาก ดั่งในบทสวด สัมพุทเธ ต้นเจ็ดตำนาน ซึ่งเข้าใจว่าแต่งในลังกาก็มี จะกล่าวแต่เฉพาะ ๒๘ พระองค์ ซึ่งมักอ้างในบทสวดหรือในการประกอบพิธีหลายอย่าง มีดั่งนี้

. พระตัณหังกร

. พระเมธังกร

. พระสรณังกร

. พระทีปังกร (รวม ๔ พระองค์อุบัติในกัปหนึ่ง)

. พระโกณฑัญญะ (เพียงพระองค์เดียวในกัปหนึ่ง)

. พระสุมังคละ

. พระสุมนะ

. พระเรวตะ

. พระโสภิตะ (รวม ๔ พระองค์อุบัติในกัปหนึ่ง)

๑๐. พระอโนมทัสสี

๑๑. พระปทุมะ

๑๒. พระนารทะ (รวม ๓ พระองค์อุบัติในกัปหนึ่ง)

๑๓. พระปทุมุตตระ (เพียงพระองค์เดียวอุบัติในกัปหนึ่ง)

๑๔. พระสุเมธะ

๑๕. พระสุชาตะ (รวม ๒ พระองค์อุบัติในกัปหนึ่ง)

๑๖. พระปิยทัสสี

๑๗. พระอัตถทัสสี

๑๘. พระธรรมทัสสี (รวม ๓ พระองค์อุบัติในกัปหนึ่ง)

๑๙. พระสิทธัตถะ (เพียงพระองค์เดียวอุบัติในกัปหนึ่ง)

๒๐. พระติสสะ

๒๑. พระปุสสะ (รวม ๒ พระองค์อุบัติในกัปหนึ่ง)

๒๒. พระวิปัสสี (เพียงพระองค์เดียวอุบัติในกัปหนึ่ง)

๒๓. พระสิขี

๒๔. พระเวสสภู (รวม ๒ พระองค์อุบัติในกัปหนึ่ง)

๒๕. พระกกุสันธะ

๒๖. พระโกนาคมนะ

๒๗. พระกัสสปะ

๒๘. พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย (รวม ๔ พระองค์อุบัติแล้วในกัปนี้)

 

อนึ่ง ในกัปนี้เองจักอุบัติขึ้นในอนาคตอีก ๑ พระองค์ คือ พระเมตเตยยะ ไทยเรา เรียกว่า พระเมตไตรย หรือ พระศรีอารยเมตไตรย แต่มักเรียกกันว่า พระศรีอารย์

เพราะในกัปปัจจุบันนี้จะมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นถึง ๕ พระองค์ รวมทั้งพระศรีอารย์ จึงเรียกว่า ภัททกัป หรือ ภัทรกัป แปลว่า กัปเจริญ

นับรวมพระพุทธเจ้าที่ระบุพระนามอันเป็นส่วนอดีตได้ ๒๘ พระองค์ นับตั้งแต่พระวิปัสสีได้ ๗ พระองค์ นับเฉพาะในภัททกัปนี้ ทั้งอดีตและอนาคตได้ ๕ พระองค์ บทนมัสการ นโม พุทฺธาย แปลตามศัพท์ว่า นอบน้อมแด่พระพุทธเจ้า เป็นคำกลาง ๆ แต่ก็นับถือกันว่าเป็นบทไหว้พระเจ้า ๕ พระองค์ น่าจะเพราะนับได้ ๕ อักษร และพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์นั้น ก็หมายถึงพระพุทธเจ้าซึ่งได้อุบัติแล้วและจักอุบัติในภัททกัปนี้

 

 พุทธพยากรณ์

จำนวนพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ นับตั้งต้นในกัปของพระทีปังกรพุทธเจ้า ซึ่งได้ทรงพยากรณ์พระบรมศาสดาของเราทั้งหลายว่า จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ตามที่ท่านเล่าไว้ว่า

ในที่สุดแห่ง ๔ อสงไขย ๑๐๐,๐๐๐ กัปจากภัททกัปนี้ มีนครหนึ่งชื่อว่า อมรวตี ได้มีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อว่า สุเมธ อาศัยอยู่ในนครนั้น เป็นพราหมณ์คหบดีบัณฑิต มั่งคั่งด้วยทรัพย์ต่าง ๆ ต่อมาสุเมธบัณฑิตได้ปรารภถึงความทุกข์ในโลกอันเนื่องมาจากชาติภพ ปรารถนาจะพ้นจากชาติภพ ได้พิจารณาเห็นว่า เมื่อมีทุกข์ก็ย่อมมีสุข มีภพก็ย่อมมีวิภพ (ปราศจากภพ) มีร้อนก็ย่อมมีเย็น มีกองไฟ ๓ กอง (ราคะ โทสะ โมหะ) ก็ย่อมมีนิพพาน (ดับไฟกิเลส) มีบาปก็ย่อมมีบุญ มีชาติก็ย่อมมีอชาติ (ไม่เกิด) เป็นคู่กัน จึงสละทุก ๆ สิ่งออกบวชเป็นดาบส ประพฤติพรตพรหมจรรย์ในป่า สำเร็จสมาบัติ ๘ และอภิญญา ๕ ใช้เวลาให้ล่วงไปด้วยความสุขอันเกิดจากสมาบัติ

สมัยนั้น พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ทีปังกร อุบัติขึ้นในโลก เสด็จจาริกประกาศพระพุทธศาสนา จนใกล้จะถึงรัมมกนคร ประทับพักอยู่ในสุทัศนมหาวิหาร ประชาชนชาวรัมมกนครได้ออกไปเฝ้าทูลเชิญเสด็จเข้าสู่พระนครเพื่อรับบิณฑบาตในวันรุ่งขึ้น แล้วพากันตกแต่งทางที่เป็นเปือกตมหลุมบ่อ ต้นไม้ขึ้นรกรุงรัง ช่วยกันถมแผ้วถางเกลี่ยทำให้เรียบร้อย โปรยข้าวตอกดอกไม้ ยกธงชัย ธงผืนผ้า ต้นกล้วย เป็นต้น

ในกาลนั้น สุเมธดาบสได้ผ่านมาพบเข้า ถามทราบความแล้ว จึงขอแบ่งที่ตกแต่งทางตอนหนึ่ง ไม่ยอมใช้ฤทธิ์ ลงมือขนดินถมทางด้วยตนเอง ครั้นพระพุทธเจ้าทีปังกรเสด็จผ่านมา ก็ทอดตนลงนอนถวายหลังให้เป็นทางเสด็จ และเมื่อได้พินิจพิจารณาเห็นพระพุทธสิริของพระพุทธเจ้าทีปังกร มีความเลื่อมใส จนถึงตั้งจิตปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ท่านแสดงว่า ถ้าแม้สุเมธดาบสขอบรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุพุทธสาวกของพระทีปังกรพุทธเจ้า ก็จะพึงบรรลุนิพพานได้ในชาตินั้น แต่สุเมธดาบสปรารถนาที่จะบรรลุสัมโพธิญาณเหมือนพระทีปังกรทศพล ช่วยยกมหาชนขึ้นสู่ธรรมนาวาพาให้ข้ามจากสังสารสาคร แล้วจึงจะปรินิพพานในภายหลัง

ฝ่ายพระทีปังกรทศพล เมื่อเสด็จถึงองค์สุเมธดาบส ประทับยืน ณ ที่เบื้องศีรษะ ก็ได้ตรัสพยากรณ์ว่า ดาบสนี้ทำอภินิหารปรารถนาเพื่อเป็นพระพุทธะ ความปรารถนาของดาบสนี้จักสำเร็จในอนาคตเบื้องหน้าโน้น สุเมธดาบสครั้นได้รับพุทธพยากรณ์ ก็ได้ชื่อว่าเป็น โพธิสัตว์ จำเดิมแต่นั้นมา

ท่านแสดงว่า อภินิหาร ความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าของบุคคลใดบุคคลหนึ่งนั้น จักสำเร็จเพราะผู้ตั้งความปรารถนาประกอบด้วย ธรรมสโมธาน ๘ ประการ (ความประชุมแห่งธรรม คือคุณสมบัติรวมกันครบ) ได้แก่

. เป็นมนุษย์

. เป็นบุรุษเพศสมบูรณ์

. มีเหตุสมบูรณ์ คือมีนิสสัยบารมีพร้อมทั้งการปฏิบัติประมวลกัน เป็นเหตุที่จะให้บรรลุพระอรหัตในอัตภาพนั้นก็ได้แล้ว แต่เพราะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าจึงยังไม่สำเร็จก่อน

. ได้เห็นพระศาสดา คือได้เกิดทันและได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง

. บรรพชา คือถือบวชเป็นนักบวช เช่น ฤษี ดาบส ไม่ใช่เป็นคฤหัสถ์

. ถึงพร้อมด้วยคุณ คือได้อภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ หมายถึงได้สมาธิจิตอย่างสูง จนจิตบังเกิดความรู้ความเห็น อย่างมีตา มีหูเกินมนุษย์สามัญ

. ถึงพร้อมด้วยอธิการ คือการกระทำอันยิ่งจนถึงอาจบริจาคชีวิตของตนเพื่อพระพุทธเจ้าได้

. มีฉันทะ คือมีความพอใจ มีอุตสาหะพยายามยิ่งใหญ่จนถึงเปรียบเหมือนว่ายอมแบกโลกทั้งโลกเพื่อนำไปสู่แดนเกษมได้ หรือเปรียบเหมือนว่ายอมเหยียบย่ำโลกทั้งโลกที่เต็มไปด้วยขวากหนามหอกดาบและถ่านเพลิงไปได้

ท่านผู้ประกอบด้วยธรรมสโมธาน ๘ นี้ ทำอภินิหารปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าในสำนักของพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ความปรารถนาของท่านย่อมสำเร็จได้

สุเมธดาบสมีธรรมสโมธาน ๘ ข้อเหล่านี้บริบูรณ์ จึงมีอภินิหารปรารถนาพุทธภูมิได้ และเรียกว่า พระโพธิสัตว์ จำเดิมแต่ได้รับพยากรณ์จากพระทีปังกรทศพล ต่อจากนั้นพระโพธิสัตว์ก็ได้บำเพ็ญ พุทธการกธรรม (ธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า) ๑๐ ประการ ได้แก่

. บำเพ็ญทาน สละบริจาคสิ่งทั้งปวง จนถึงร่างกายชีวิตให้ได้หมดสิ้นเหมือนอย่างเทภาชนะน้ำคว่ำจนหมดน้ำ

. บำเพ็ญศีล รักษาศีลยิ่งกว่าชีวิต เหมือนอย่างเนื้อทรายรักษาขนยิ่งกว่าชีวิต

. บำเพ็ญเนกขัมม์ ออกจากกามจากบ้านเรือน เหมือนอย่างมุ่งออกจากพันธนาคาร

. บำเพ็ญปัญญา เข้าหาศึกษาไต่ถามบัณฑิต โดยไม่เว้นว่าจะเป็นบุคคลมีชาติชั้นวรรณะต่ำปานกลางหรือสูง เหมือนอย่างภิกษุเที่ยวบิณฑบาตรับไปโดยลำดับ ไม่เว้นแม้ที่ตระกูลต่ำ

. บำเพ็ญวิริยะ มีความเพียรมั่นคงไม่ย่อหย่อนทุกอิริยาบถ เหมือนอย่างสีหราชมีความเพียรมั่นคงในอิริยาบถทั้งปวง

. บำเพ็ญขันติ อดทนทั้งในการได้รับการยกย่อง ทั้งในการถูกหมิ่นแคลน เหมือนอย่างแผ่นดิน ใครทิ้งของสะอาดไม่สะอาดก็รองรับได้ทั้งนั้น

. บำเพ็ญสัจจะ รักษาความจริง ไม่พูดเท็จทั้งรู้ แม้ฟ้าจะผ่าเพราะเหตุไม่พูดเท็จ ก็ไม่ยอมพูดเท็จ หรือแม้เมื่อพูดเท็จจะได้ทรัพย์เป็นต้น ก็ไม่ยอมพูดเท็จ เหมือนอย่างดาวโอสธีดำเนินไปในวิถีของตนเที่ยงตรงทุกฤดู

. บำเพ็ญอธิษฐาน ตั้งใจมุ่งมั่นไม่หวั่นไหว คือเด็ดเดี่ยวแน่นอนในสิ่งที่อธิษฐานใจไว้ เหมือนอย่างภูเขาหินไม่หวั่นไหวเมื่อถูกลมกระทบทุกทิศ

. บำเพ็ญเมตตา แผ่มิตรภาพไมตรีจิต ไม่คิดโกรธอาฆาต มีจิตสม่ำเสมอเป็นอันเดียวทั้งในผู้ที่ให้คุณ ทั้งในผู้ที่ไม่ให้คุณหรือให้โทษ เหมือนอย่างน้ำแผ่ความเย็นไปให้อย่างเดียวกันแก่ทั้งคนชั่วทั้งคนดี

๑๐. บำเพ็ญอุเบกขา วางจิตมัธยัสถ์เป็นกลาง ทั้งในคราวสุข ทั้งในคราวทุกข์ เหมือนอย่างแผ่นดิน เมื่อใครทิ้งของสะอาดไม่สะอาดลงไป ก็มัธยัสถ์เป็นกลาง

พุทธการกธรรม ๑๐ ประการเหล่านี้เรียกว่า บารมี ตรงกับคำว่า ปรมะ ที่แปลว่า อย่างยิ่ง หมายถึงว่าเต็มบริบูรณ์ แต่ก็มิใช่ว่าจะเต็มบริบูรณ์ได้เอง ต้องปฏิบัติบำเพ็ญเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ ไป คือต้องทำให้เต็มบริบูรณ์ เหมือนอย่างตักน้ำเทใส่ตุ่มใหญ่อยู่เรื่อย ๆ จนกว่าจะเต็ม บำเพ็ญจนเต็มบริบูรณ์เมื่อใด ก็สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าเมื่อนั้น พระโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญบารมีนับตั้งแต่ได้รับพยากรณ์จากพระทีปังกรพุทธเจ้าตลอดเวลา ๔ อสงไขย ๑๐๐,๐๐๐ กัป ผ่านพระพุทธเจ้าที่ได้ตรัสรู้ในกัปนั้น ๆ นับแต่พระทีปังกรเป็นต้นมาถึง ๒๔ พระองค์ (ดูพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์) จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

บารมีที่บำเพ็ญมาโดยลำดับดังกล่าวแล้ว แบ่งเป็น ๓ ขั้น ขั้นสามัญเรียกว่า บารมี เฉย ๆ ขั้นกลางเรียกว่า อุปบารมี ขั้นสูงสุดเรียกว่า ปรมัตถบารมี เช่น การบริจาคพัสดุภายนอกเรียกว่า ทานบารมี บริจาคอวัยวะเรียกว่า ทานอุปบารมี บริจาคชีวิตเรียกว่า ทานปรมัตถบารมี

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๒ หน้า ๑๗ – ๒๕