Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๖๕

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

พรรษาที่ ๖
มกุลบรรพต

 อาฏานาฏิยสูตร

ในพรรษาที่ ๖ พระอาจารย์กล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จจำ พรรษาที่ มกุลบรรพต แต่ในพระปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์ สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส กล่าวว่าเสด็จไปสถิตบนมกุฏบรรพต ทรงทรมานหมู่อสูร เทพยดา แลมนุษย์ให้เสียพยศอันร้ายแล้ว และให้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาภูเขาชื่อนี้ยังค้นไม่พบว่าอยู่ที่ไหน ถ้าจะคาดคะเน ก็น่าจะอยู่ในแคว้นมคธหรือโกศล หรือในแคว้นที่ใกล้เคียงกันนั้น

สถานเสด็จจำพรรษาของพระพุทธเจ้า มิใช่เป็นที่ประทับตลอดปี พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษาชั่วเวลา ๓ เดือนในฤดูฝน ออกพรรษาแล้วก็เสด็จจาริกไปในตำบลต่างๆ เรื่องพระพุทธจาริกจะได้กล่าวถึงข้างหน้า ในตอนนี้จะเล่าเรื่อง ภาณยักข์ ภาณพระ ที่มีประวัติเล่าว่า เกิดขึ้นเมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่บน เขาคิชฌกูฏ แคว้นมคธนั้น ไม่ปรากฏว่าในพรรษาที่เท่าไร

ภาณยักข์ ภาณพระ นี้ใช้สวดในพระราชพิธีเดือน ๔ เรียกว่า พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ (ตัดปี หรือสิ้นปี เพราะเป็นพระราชพิธีในปลายเดือน ๔ ขึ้นเดือน ๕ ซึ่งนับว่าเป็นต้นปี) พระราชพิธีนี้เพิ่งมาเลิกในตอนหลัง

ภาณยักข์ ภาณพระ นี้ ได้แก่ อาฏานาฏิยสูตร1 ซึ่งตัดมาสวดในเจ็ดตำนาน ขึ้นต้นว่า วิปสฺสิสฺส นมตฺถุ มีความย่อว่า

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่บนเขาคิชฌกูฏใกล้กรุงราชคฤห์ สมัยหนึ่งเมื่อล่วงปฐมยามแห่งราตรีแล้ว ท้าวมหาราช ๔ องค์ พร้อมกับเสนาหมู่ใหญ่มาเฝ้าพระพุทธองค์ ภูเขาคิชฌกูฏสว่างไสวไปทั่ว

ท้าวมหาราชทั้ง ๔ มีหน้าที่เป็นโลกบาล (ปกครองรักษาโลก) ทั้ง ๔ ทิศ คือ

. ท้าวเวสสวัณณ์ หรือ กุเวร ก็มียักษ์เป็นเสนาบริวาร เป็นโลกบาลประจำทิศเหนือ

. ท้าวธตรัฏฐ์ มีคนธรรพ์ (หรือภูต) เป็นเสนาบริวาร เป็นโลกบาลประจำทิศตะวันออก

. ท้าววิรุฬหก มีภุมภัณฑ์ (หรือเทวะ) เป็นเสนาบริวาร เป็นโลกบาลประจำทิศใต้

. ท้าววิรูปักข์ มีนาคเป็นเสนาบริวาร เป็นโลกบาลประจำทิศตะวันตก

ท้าวเวสสวัณณ์ได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า ยักษ์ทั้งหลายที่มีอำนาจมาก มีอำนาจปานกลาง มีอำนาจน้อย บางพวกไม่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า บางพวกก็เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า แต่โดยมากไม่เลื่อมใสเพราะพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเพื่อเว้นจากการฆ่าทำลายชีวิต เว้นการลักทรัพย์ เว้นประพฤติผิดในทางกาม เว้นพูดเท็จ เว้นดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ส่วนยักษ์โดยมากไม่งดเว้นดังกล่าว จึงไม่รักไม่ชอบธรรมของพระพุทธเจ้า และสาวกของพระพุทธเจ้าผู้อยู่ป่าอันสงัดเงียบก็มีอยู่มาก พวกยักษ์ก็มักอยู่ในป่าเช่นนั้น ฉะนั้น เพื่อให้พวกยักษ์ที่ไม่เลื่อมใสธรรมของพระพุทธเจ้าบังเกิดความเลื่อมใสขึ้น ก็ขอให้พระพุทธเจ้าได้โปรดรับอาฏานาฏิยรักขา เพื่อคุ้มครองรักษาพุทธบริษัททั้งหลายให้พ้นจากการถูกเบียดเบียน เพื่ออยู่ผาสุก พระพุทธเจ้าได้ประทับโดยดุษณีภาพ ท้าวเวสสวัณณ์จึงได้กล่าวบทอาฏานาฏิยรักขานี้ว่า วิปสฺสิสฺส นมตฺถุ เป็นต้น

ใจความของบทรักขานี้ ขึ้นต้นด้วยนมัสการพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ คือ

. พระวิปัสสี

. พระสิขี

. พระเวสสภู

. พระกกุสันธะ

. พระโกนาคมนะ

. พระกัสสปะ

. พระสักยบุตร (คือพระบรมศาสดาของเราทั้งหลายในบัดนี้)

ต่อจากนั้น กล่าวถึงเรื่องโลกอันประกอบด้วยดวงอาทิตย์ กลางคืน กลางวัน และสมุทร กล่าวถึง ท้าวจตุโลกบาล ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศใต้ และทิศเหนือ ตามลำดับ ท้าวโลกบาลแต่ละองค์มีโอรสองค์ละ ๙๑ เท่ากัน ล้วนมีชื่อว่า อินท เหมือนกันทั้งหมด ต่างก็เคารพกราบไหว้พระโคตมพุทธเจ้า และได้กล่าวถึงทิศเหนือเป็นพิเศษ คือกล่าวถึง อุตตรกุรุทวีป มีภูเขามหาเนรุหรือสิเนรุ (ไทยเรามักเรียกว่า เขาพระสุเมรุ) เป็นที่ซึ่งมนุษย์จำพวกหนึ่งเกิดอยู่ ไม่มีการถือสิทธิหวงแหนสิ่งใดสิ่งหนึ่งแก่กันและกันทั้งสิ้น ไม่ต้องไถ ไม่ต้องหว่าน มีข้าวสาลีเกิดขึ้นเอง เวลาจะหุงต้มก็ไม่ต้องใช้ไฟฟืนไฟถ่าน ใช้หม้อข้าววางบนก้อนหินสามก้อนที่เกิดไฟขึ้นเองเป็นต้น และกล่าวถึงท้าวโลกบาลผู้ครองทิศนี้คือท้าวเวสสวัณณ์หรือท้าวกุเวร ว่ามีนครอยู่หลายนคร มีชื่อว่าอาฏานาฏา กุสินาฏา ปรกุสินาฏา เป็นต้น แลท้าวกุเวรนี้ กล่าวว่า แต่ก่อนเป็นพราหมณ์ชื่อว่า กุเวร ได้บำเพ็ญกุศลไว้ จึงมาเกิดเป็นท้าวโลกบาลประจำทิศเหนือมีชื่อว่ากุเวร และเพราะมีราชธานีอันวิสาล (กว้างใหญ่) จึงเรียกว่าเวสสวัณณ์

ต่อจากนี้ กล่าวถึงยักษ์เสนาชั้นหัวหน้า ซึ่งเป็นเสนาผู้นำข่าวสาส์น ๑๒ คน ชื่อว่า ตโตลา ตัตตลา ตโตตลา เป็นต้น กล่าวถึงสระโบกขรณีและยักขสภาชื่อว่า ภคลวตี กล่าวถึงต้นไม้แลสัตว์ต่างๆ

ต่อจากนี้ได้กล่าวว่า อาฏานาฏิยรักขานี้ เพื่อคุ้มครองรักษาพุทธบริษัททั้งหลาย ถ้าพวกอมนุษย์ที่เป็นเสนาบริวารของท้าวจตุโลกบาล จะเป็นชายหรือหญิงก็ตาม ลูกชายหรือลูกหญิงก็ตาม เป็นมหาอำมาตย์ เป็นบริษัทบริวารก็ตาม จะพึงมีจิตคิดร้าย ยืนเดินนั่งนอนเฉียดกรายพุทธบริษัทผู้ใดผู้หนึ่ง อมนุษย์ผู้นั้นก็จะต้องถูกตัดลาภ ถูกไล่ที่ ถูกตัดสมาคม ถูกห้ามอาวาหะวิวาหะ ถูกตำหนิ ถูกครอบศีรษะด้วยหม้อเหล็กเปล่า ตลอดจนถึงถูกผ่าขมองศีรษะออกเป็น ๗ เสี่ยง

แต่ก็มีพวกอมนุษย์ผู้ดุร้ายหยาบช้า ไม่เชื่อฟังท้าวมหาราช (โลกบาล) ไม่เชื่อฟังราชบุรุษของท้าวมหาราช ไม่เชื่อฟังคนของราชบุรุษของท้าวมหาราช เรียกว่าเป็นศัตรูของท้าวมหาราช เหมือนอย่างพวกโจรในแว่นแคว้นของพระเจ้ากรุงมคธ ไม่เชื่อฟังพระราชโองการและเจ้าหน้าที่ผู้ใดผู้หนึ่ง ก็เรียกว่าเป็นศัตรูของพระมหาราช พวกอมนุษย์ผู้ประพฤติละเมิดดังกล่าวก็เช่นเดียวกัน เรียกว่าเป็นศัตรูผู้ทำผิด ขัดเทพอาณัติของท้าวจตุโลกบาล ถ้าจะพึงมีขึ้นไซร้ ก็ให้ร้องกล่าวโทษแก่มหาเสนาบดียักษ์ว่า ยักษ์ตนนี้ๆ เข้ามาจับ มาสิงเบียนให้เกิดโรค เบียนให้เกิดอาพาธ เบียนให้ผ่ายผอม เบียนให้เหี่ยวแห้ง ไม่ยอมปล่อย มหาเสนาบดียักษ์ซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้รับคำร้องกล่าวโทษมี ๒๘ ตน ชื่อว่า อินทะ โสมะ วรุณะ เป็นต้น

ครั้นท้าวเวสสวัณณ์ได้แสดงอาฏานาฏิยรักขานี้ถวายพระพุทธเจ้าแล้ว ได้กราบทูลลากลับ วันรุ่งขึ้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเล่าแก่ภิกษุทั้งหลาย มีถ้อยคำและข้อความอย่างเดียวกัน

ความย่อของอาฏานาฏิยสูตรมีดังกล่าวมานี้ แบ่งออกเป็น ๒ ตอน ตอนต้นที่ท้าวเวสสวัณณ์มาเฝ้ากราบทูลแสดงอาฏานาฏิยรักขาของตน เรียกว่า ภาณยักข์ (บทกล่าวของยักษ์) ตอนหลังที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่าเรียกว่า ภาณพระ (บทกล่าวของพระ)

สูตรภาณยักข์ภาณพระนี้ ตอนต้นเป็นบทนมัสการพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ ต่อไปกล่าวถึงท้าวจตุโลกบาลและเสนาบริวาร ทั้ง ๒ เรื่องน่าวิจารณ์ว่าจะเป็นพระพุทธศาสนาโดยแท้จริงเพียงไร

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๒ หน้า ๑๑ – ๑๗