Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๖๔

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

พระนันทะ

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ครั้งแรก ที่ท่านกล่าวว่าหน้าพรรษาที่ ๒ ได้โปรดให้ พระนันทะ ซึ่งเป็นพระพุทธอนุชาอุปสมบทเป็นภิกษุ การอุปสมบทของท่านนั้นได้มีในวันประกอบพิธีอาวาหวิวาหมงคลของท่านเองกับนางชนบทกัลยาณี ซึ่งแปลว่าเจ้าหญิงผู้งดงามในชนบท พระพุทธเจ้าได้เสด็จเข้าไปทรงรับบาตรในพิธีนั้น และก็ได้ทรงส่งบาตรให้นันทราชกุมารถือตามเสด็จไปจนถึงอารามที่ประทับ และได้ตรัสถามว่าจะบวชหรือ นันทราชกุมารทูลตอบว่าจะบวช ด้วยความเคารพในพระพุทธเจ้า ก็ได้โปรดให้อุปสมบท ต่อจากนั้น ก็ได้โปรดให้พระราหุลซึ่งเป็นโอรสบรรพชาเป็นสามเณรอีกด้วย แล้วก็ได้เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ไป ในคัมภีร์ชั้นบาลีว่า เสด็จไปยังกรุงสาวัตถี แต่ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาแสดงว่า ได้เสด็จไปกรุงราชคฤห์ก่อน ต่อจากนั้นจึงได้เสด็จไปยังกรุงสาวัตถี ถ้าเสด็จกรุงราชคฤห์ก่อน ก็จะต้องทรงจำพรรษาอยู่ที่เวฬุวันในกรุงราชคฤห์นั้น ออกพรรษาแล้วจึงได้เสด็จไปยังกรุงสาวัตถี แต่ว่าถ้าเสด็จไปยังกรุงสาวัตถีก่อน ก็คงเพียงไปประทับไม่นานเท่าไร แล้วก็เสด็จไปทรงจำพรรษายังพระเวฬุวันในกรุงราชคฤห์ เพราะในพรรษาที่ ๒ นั้น ท่านกล่าวว่า ได้ทรงจำพรรษาอยู่ที่พระเวฬุวันในกรุงราชคฤห์ รวมความเข้าแล้วก็เสด็จกรุงสาวัตถีครั้งหนึ่งจากตอนเสด็จกลับจากกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงแวะเมื่อผ่าน หรือว่าเมื่อออกพรรษาแล้วจึงเสด็จก็ตาม ทั้งนี้ก็เพราะได้ทรงรับปฏิญญาของอนาถปิณฑิกเศรษฐีกรุงสาวัตถีว่า จะเสด็จไปประทับในพระเชตะวันซึ่งอนาถปิณฑิกเศรษฐีสร้างถวาย

อนาถปิณฑิกเศรษฐี นั้นเป็นบุตรของเศรษฐีชื่อว่า สุมนะ ในกรุงสาวัตถี เดิมชื่อว่า สุทัตตะ แต่ว่าเป็นผู้ที่พอใจบริจาคแก่คนกำพร้าคนเข็ญใจทั่วๆ ไปจึงมีชื่อเรียกอีกว่า อนาถปิณฑิกะ ที่แปลว่า ผู้ให้ก้อนข้าวแก่คนอนาถา และชื่อหลังนี้เป็นชื่อที่ใช้เรียกกัน เป็นที่รู้จักทั่วไป ในขณะที่พระพุทธเจ้าได้ประทับอยู่ที่พระเวฬุวันในกรุงราชคฤห์ อนาถปิณฑิกเศรษฐีได้มีกิจไปยังกรุงราชคฤห์ ได้มีโอกาสไปเฝ้าฟังธรรมของพระพุทธเจ้า ท่านแสดงว่าได้บรรลุมรรคผลคือเป็นโสดาบันบุคคล ได้ทูลแสดงเจตนาจะสร้างวัดถวายพระพุทธเจ้าในกรุงสาวัตถี และทูลขอให้พระพุทธเจ้าทรงรับปฏิญญาว่าจะเสด็จไป พระพุทธเจ้าได้ทรงรับ การรับรองของพระพุทธเจ้านั้น ก็ด้วยวิธีนิ่งที่หมายความว่ารับ อนาถปิณฑิกเศรษฐีกลับไปยังกรุงสาวัตถีแล้วก็ได้สร้างวัดถวาย ซึ่งเรียกว่าพระเชตวัน เพราะได้ไปซื้อสวนของเจ้าเชตสร้างถวาย ท่านกล่าวว่าได้สร้างเสร็จภายในเวลา ๙ เดือนบ้าง ๕ เดือนบ้าง

เมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จไปประทับยังพระเชตวัน ตามที่ทรงรับปฏิญญาไว้แล้ว พระนันทะก็ได้ตามเสด็จไปอยู่ด้วย มีเรื่องที่เล่าว่า ท่านคิดแต่จะลาสิกขา เพราะว่าคิดถึงนางชนบทกัลยาณีซึ่งได้ทำพิธีอาวาหวิวาหมงคลกัน แล้วท่านก็มาบวชเสียด้วยความเคารพในพระพุทธเจ้า แต่ไม่ใช่บวชด้วยศรัทธา เพราะฉะนั้น เมื่อบวชแล้วจิตใจก็กระหวัดถึงนางชนบทกัลยาณีอยู่เสมอและคิดว่าจะลาสิกขา ข่าวทราบถึงพระพุทธเจ้า ได้ทรงเรียกไปไต่ถาม ท่านก็ทูลรับตามเป็นจริง พระพุทธเจ้าได้ทรงนำท่านไปยังดาวดึงสพิภพด้วยฤทธิ์ ได้เห็นนางเทพอัปสรซึ่งมีรูปงดงามเป็นอันมาก ตรัสถามว่า นางอัปสรสวรรค์เหล่านี้กับนางชนบทกัลยาณีของท่าน ใครจะงามกว่ากัน ท่านพระนันทะก็ทูลว่า นางอัปสรสวรรค์งามกว่ามากมายนักอย่างเทียบกันไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ให้พระนันทะยินดีประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป ทรงรับประกันว่าจะให้ได้นางอัปสรสวรรค์เหล่านี้ แล้วก็ทรงนำพระนันทะกลับ

พระนันทะเมื่อเห็นนางอัปสรสวรรค์ จิตก็ค่อยคลายไปจากความคิดถึงนางชนบทกัลยาณี ไปมุ่งอยู่ที่นางอัปสรสวรรค์ และก็ตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป ด้วยคิดเพื่อที่จะได้นางฟ้า พวกภิกษุเมื่อได้ทราบก็พากันกล่าวว่า ท่านเป็นลูกจ้างของพระพุทธเจ้า เป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงซื้อถ่ายเอาไว้เพื่อค่าจ้างคือนางอัปสรสวรรค์ ท่านพระนันทะเมื่อได้ยินเข้าดั่งนั้นบ่อยๆ ก็เกิดความละอายใจ จิตก็หน่ายจากนางอัปสรสวรรค์ ตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป ครั้นมีจิตหน่ายแล้ว ประพฤติพรหมจรรย์ก็ได้ประสบวิมุตติคือความหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ วันรุ่งขึ้นก็ได้ไปกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงเป็นผู้พ้นจากความรับประกันเพื่อที่จะให้ได้นางอัปสรสวรรค์แล้ว พระพุทธเจ้าได้ทรงเปล่งอุทานขึ้น ดั่งที่แปลความว่า เปือกตมคือกามอันบุคคลใดข้ามได้แล้ว หนามคือกามอันบุคคลใดย่ำยีเสียได้แล้ว บุคคลนั้นบรรลุความสิ้นไปแห่งโมหะ ย่อมไม่หวั่นไหวในเพราะสุขและทุกข์

 

พระรูปนันทาเถรี

 ส่วนพระรูปนันทาเถรีนั้น เป็นพระขนิษฐภคินีของพระนันทะ เมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ครั้งที่ ๒ คราวพระพุทธบิดานิพพาน ครั้นถวายพระเพลิงพระศพเรียบร้อยแล้ว ก็ได้เสด็จจากกรุงกบิลพัสดุ์ไปยังกรุงเวสาลี พระนางมหาปชาบดีโคตมีได้ตามไปขอบวชเป็นภิกษุณี จากนั้นก็ได้เสด็จไปกรุงสาวัตถีประทับที่พระเชตวัน ฝ่ายพระรูปนันทาเมื่อพระราชบิดาสิ้นพระชนม์ พระราชมารดาก็ออกทรงผนวชเป็นภิกษุณี พระเชษฐาก็บวชเป็นภิกษุ จึงเห็นว่า เมื่อบรรดาพระญาติใกล้ชิดได้ออกบวชกันหมดแล้ว ก็ได้ตกลงพระหฤทัยที่จะออกบวชเป็นภิกษุณีด้วย จึงได้ไปขอบวชเป็นภิกษุณีและได้อยู่ในกรุงสาวัตถี

พระรูปนันทานี้ท่านแสดงว่าเป็นผู้มีรูปงามและติดอยู่ในรูปสมบัติ เพราะฉะนั้นเมื่อบวชแล้วก็ไม่ยอมไปฟังธรรมของพระพุทธเจ้า เพราะกลัวว่าพระพุทธเจ้าจะเทศน์ติรูป แต่เมื่อได้ฟังข่าวว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมที่ไพเราะ ประกอบกับความปรารถนาที่จะได้เห็นพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นพระเชษฐาร่วมพระราชบิดาด้วย จึงได้แอบหมู่นางภิกษุณีเข้าไปฟังธรรมของพระพุทธเจ้า ในตอนนี้ท่านเล่าว่า เมื่อพระรูปนันทาเข้าไปในธรรมสภาแล้ว ก็ได้เห็นสตรีผู้หนึ่งยืนถวายงานพัดพระพุทธเจ้าอยู่ มีอายุขนาด ๑๖ ปี มีรูปร่างงดงามเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพระรูปนันทาเฝ้ามองดูสตรีผู้นั้นมาเทียบดูกับตน ก็รู้สึกว่าตนเองนั้นมีรูปสมบัติด้อยกว่าสตรีผู้นั้นเป็นอันมาก ต่อมาก็เห็นสตรีผู้นั้นเปลี่ยนไปเป็นคนมีอายุมากขึ้นขนาด ๒๐ ปี พระรูปนันทาเพ่งดูก็รู้สึกว่าความงามนั้นลดลงหน่อยหนึ่ง ครั้นเพ่งดูต่อไป ก็ได้เห็นสตรีผู้นี้นั้นเปลี่ยนไปอีก เป็นรูปพรรณสตรีมีบุตรแล้ว เป็นรูปพรรณสตรีกลางคน เป็นคนแก่ แล้วแก่หง่อม แล้วยิ่งแก่หง่อมลงนอนจมสิ่งสกปรกของตน แล้วก็สิ้นชีวิตเป็นศพเน่าพองในที่สุด จิตของพระรูปนันทาก็หน่ายในรูปไปโดยลำดับจนถึงหน่ายไปโดยสิ้นเชิง และได้ปลงเห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมอบรมในขณะนั้นซึ่งเหมือนอย่างตีเหล็กในขณะร้อนว่า

เธอจงพินิจกายที่อาดูร ไม่สะอาด เปื่อยเน่า ไหลเข้าไหลออก ซึ่งคนเขลาปรารถนายิ่งนัก เธอจงเห็นธาตุทั้งหลายโดยเป็นของว่างเปล่า อย่ามาสู่โลกอีก เธอสำรอกความพอใจในภพชาติเสีย จักสงบระงับอยู่ตลอดไป

ต่อจากนี้ ได้ตรัสเทศนาธรรมให้เห็นกระชับเข้าอีกว่า

สรีระกายนี้ ถูกสร้างให้เป็นเมืองกระดูก ฉาบทาด้วยเนื้อและเลือด เป็นที่ตั้งลงแห่งความแก่ ความตาย ความทะนงและความลบหลู่

            จิตของพระรูปนันทาได้รับอบรมเต็มที่แล้ว ก็ได้วิมุตติหลุดพ้นจากกิเลส อาสวะทั้งหมด

เรื่องพระนันทะและพระรูปนันทานี้ แสดงให้เห็นวิธีอบรมของพระพุทธเจ้าว่าได้ทรงใช้วิธีที่เหมาะแก่จริตอัธยาศัยของบุคคลแต่ละคน ดั่งในเรื่องพระเถระและพระเถรีทั้ง ๒ นี้ ได้ทรงใช้วิธีหนามยอกเอาหนามบ่ง คือใช้หนามนั่นเองบ่งหนาม เมื่อติดรูปก็แต่งรูปขึ้นอีกรูปหนึ่งที่ดีกว่า มาชักจิตให้ถอนจากรูปที่ติดอยู่เก่ามาพะวงอยู่ในรูปใหม่ รูปที่ติดอยู่เก่านั้นอาจจะเป็นหนามที่ฝังยอกอยู่ในจิตใจลึกแน่น เมื่อชักให้ถอนออกได้ก็เป็นชั้นที่หนึ่ง ครั้นแล้วก็ไม่ยอมให้รูปใหม่เข้าไปฝังอยู่ลึกแน่นเหมือนอย่างนั้น รีบใช้วิธีถอนออกทันที เหมือนอย่างใช้หนามแทงลงไปเพื่อบ่งหนาม ครั้นบ่งสำเร็จแล้วก็ทิ้งหนามสำหรับบ่งเสียด้วย

วิธีที่ทรงใช้ อาจจะเป็นฤทธิ์ดั่งที่ท่านเล่าไว้ก็ได้ หรืออาจเป็นคำพูดชี้แจงให้เห็นจริงเหมือนอย่างเห็นด้วยตาก็ได้ เพราะท่านกล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงมีปาฏิหาริย์ ๓ คือ

. อิทธิปาฏิหาริย์ แสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์

. อาเทสนาปาฏิหาริย์ ดักใจเป็นอัศจรรย์

. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ สอนเป็นอัศจรรย์

ข้อ ๑-๒ ก็เพื่อให้การสอนสำเร็จ ข้อ ๓ จึงสำคัญที่สุด แต่ก็ได้อาศัย ๒ ข้อข้างต้นช่วยตามควรแก่บุคคลผู้รับเทศนา เหตุฉะนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งพระพุทธศาสนาขึ้นได้สำเร็จ

ได้มีบางคนกล่าวว่า จะเป็นการสมควรหรือไม่ ในการที่ทรงพรากพระนันทะไปจากนางชนบทกัลยาณีในวันมงคลนั้น ข้อนี้ตอบได้ทีเดียวว่า ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งพระอรหัตของท่านแล้ว และทรงสามารถอบรมให้ท่านบรรลุถึงผลที่สุดนั้นได้ และเมื่อจะออกบวชอย่างสละจริง ก็ควรบวชในระยะที่ไม่เกิดภาระผูกพัน จึงไม่มีเวลาเหลือที่จะให้รอได้ต่อไป พระพุทธเจ้ามีพระหฤทัยเด็ดเดี่ยว จึงทรงพรากโลกไปได้จนถึงตรัสรู้พระธรรม และทรงบำเพ็ญสิ่งที่ควรทำคือพุทธกิจได้ทุกประการ จึงทรงตั้งพระพุทธศาสนาขึ้นได้ ไม่เป็นฐานะที่จะทรงเกรงอะไรแล้วงดทำสิ่งที่ควรทำเสีย สิ่งที่เคารพมีอย่างเดียวคือ ธรรม จึงทรงมุ่งธรรมเป็นใหญ่กว่าสิ่งอื่นทั้งหมด

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๑ หน้า ๒๕๗ – ๒๖๒