Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๖๓

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ตัวอวิชชา ตัวอาสวะ

 

อีกส่วนหนึ่งที่ท่านอธิบายประกอบกัน มีรู้อาสวะเป็นต้นนั้น อาสวะก็หมายถึงกิเลสที่นอนจมหมักหมมอยู่ในจิต เป็นกิเลสชั้นละเอียด อันได้แก่ กามาสวะ อาสวะคือกาม ความใคร่ ภวาสวะ อาสวะคือภพ ความเป็น อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา ความไม่รู้ตามความเป็นจริง ได้ทรงเห็นอาสวะโดยตรงก็คือทรงเห็นว่า ตัวเรา นี้แหละเป็นอาสวะ เพราะว่าตัวเราตามที่เข้าใจกันนั้น โดยที่แท้นั้นก็ประกอบขึ้นด้วย กาม คือความใคร่ ภพ คือความเป็น และ อวิชชา คือความไม่รู้ ทั้ง ๓ นี้รวมกันเข้าเป็นตัวเรา

ดั่งจะพึงเห็นได้ว่า ตัวเรา ที่เข้าใจว่ามีอยู่เป็นอยู่ด้วยกันนี้ ถ้าจะให้ชี้ว่าอยู่ที่ไหน ก็จะชี้ไม่ถูกตามที่กล่าวมานั้น อย่างในอนัตตลักขณสูตร ถ้าจะชี้ว่าอยู่ที่รูป พิจารณาที่รูปดูแล้ว รูปก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตน ชี้ที่เวทนา ที่สัญญา ที่สังขาร ที่วิญญาณ ก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตน คราวนี้ในอัตภาพอันนี้จะมีอะไรที่พึงชี้ได้นอกไปจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือว่ารูปธรรมนามธรรมที่รวมกันอยู่นี้ เพราะฉะนั้นเมื่อชี้ไม่พบ ตัวเรา นี้จึงเป็นเพียง อุปาทาน ได้แก่ ความยึดถือ ยึดถือขึ้นว่าเป็นเรา ความยึดถืออันนี้ หากยึดถือแคบหรือกว้างใหญ่โตออกไปเท่าไร เราก็แคบกว้างใหญ่โตออกไปเท่านั้น

ดั่งจะพึงเห็นได้ว่าเมื่อยังเป็นเด็กเล็ก ๆ ยังไม่รู้เดียงสานั้น ก็ยังไม่รู้จักว่าเราเป็นอะไร แต่เมื่อครั้นโตขึ้น ผู้ใหญ่ตั้งชื่อให้ว่าชื่อนั้นชื่อนี้ ต่อมาก็เล่าเรียน ศึกษามีการงาน ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนั่นเป็นนี่ แล้วก็มีสิ่งนั้นมีสิ่งนี้ ตัวเราก็เป็นนั่นเป็นนี่ มีนั่นมีนี่อะไรใหญ่โตมากมายออกไป นี่ก็เป็นความยึดถือทั้งนั้น สมมติว่าถ้าจะมีเหตุอะไรให้ลืมเสียก็จะไม่เกิดความรู้สึกว่าเราเป็นอะไรเลย นี่เพราะจำได้จึงได้มีความยึดถืออยู่ และเล็กก็ได้ โตก็ได้ ตามแต่ความเข้าใจและความยึดถือว่าอย่างไร แต่เมื่อพิจารณาค้นลงไปแล้ว ก็จะไม่พบอะไรนอกจากตัวอุปาทานคือความยึดถือเท่านั้น

เพราะฉะนั้น ตัวเรา นี้จึงเป็นเงาของอุปาทาน อุปาทานโตเท่าไร ตัวเราก็โตเท่านั้น อุปาทานเล็กลงเท่าไร ตัวเราก็เล็กลงเท่านั้น และความยึดถือนี้แหละเป็นอวิชชา คือตัวความไม่รู้อย่างเต็มตัว เพราะเมื่อความจริงไม่มีอะไร แล้วก็ไปยึดถือให้มีขึ้น อย่างนี้ก็คือตัวความไม่รู้ เหมือนอย่างว่าหลงเงาว่าเป็นตัวจริง ความหลงเงาว่าเป็นตัวจริงนี่แหละเป็นตัวอวิชชาคือตัวความไม่รู้อย่างเต็มที่

นอกจากนี้ยังมีตัวภพคือตัวความเป็น อันได้แก่เป็นนั่นเป็นนี่ เพราะตัวเรานั้นเป็นตัวขึ้นหรือเป็นเราขึ้น ก็ด้วยอำนาจของภพคือความเป็น คือว่าเป็นเรา ถ้าไม่มีตัวเป็นขึ้นแล้ว เราก็ไม่เกิด แต่นี่มีตัวเป็นคือว่าเป็นเราขึ้น ซึ่งเป็นภพหรือเป็นภาวะ อันนี้แหละเรียกว่าเป็นภพ

นอกจากนี้ยังมีตัวกามคือตัวความใคร่ ได้แก่ความรักอยู่ในตัวเรา ซึ่งทุก ๆ คนล้วนแต่มีความรักตัวอยู่ด้วยกัน เมื่อพิจารณาดูแล้วก็คือว่า รักสิ่งที่ยึดถือไว้นั่นแหละ ยึดถือว่าเราหรือของเราอยู่ที่สิ่งไหนที่ไหน ก็ย่อมมีกามคือความรักความใคร่อยู่ในสิ่งนั้นในที่นั้น

ด้วยอำนาจของความรักตัวอันนี้ จึงได้มีความกลัวตาย กลัวเจ็บ กลัวเสียหายต่าง ๆ เพราะว่าความตายนั้นเข้าใจว่าเป็นความสุดสิ้นของตัวเราไปทีเดียว เพราะเราสำคัญตัวเราที่นิวาสคือว่าบ้านอันนี้ เมื่อบ้านอันนี้จะพังไปก็รู้สึกว่าตัวเรานี่หมดสิ้นไป เพราะฉะนั้น จึงได้มีความกลัวตายนี่เป็นอย่างยิ่ง สามัญชนทุก ๆ คนเป็นอย่างนี้ และทุก ๆ คนก็ย่อมมีความรักตัวนี่แหละเป็นที่สุด จนถึงพระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสไว้ว่า ความรักเสมอด้วยตนไม่มี และในที่อื่นก็ยังตรัสไว้ว่า เมื่อพิจารณาดูโดยรอบแล้ว ก็ไม่เห็นว่าจะมีอะไรพึงรักยิ่งไปกว่าตน

คราวนี้พิจารณาดูว่า ที่รักภริยา รักสมบัติ รักสิ่งนั้นสิ่งนี้อะไรเป็นต้น เหล่านี้ โดยที่แท้แล้วก็เพื่อตน คือว่าเพื่อความพอใจ เพื่อความสุขของตน เมื่อใดบุคคลหรือสิ่งเหล่านั้นมาขัดกับความสุขความพอใจของตน เมื่อนั้นความรักอันนี้จะสิ้นไปกลายเป็นความเคียดแค้น เหมือนอย่างที่มีเรื่องหึงหวงกันหรือฟ้องกัน คนที่รักกันอย่างที่สุด แต่เมื่อเวลาสิ้นรักเป็นแค้นขึ้นแล้วทำร้ายกันได้ฆ่ากันได้ทีเดียว นี่ก็จะพึงเห็นได้เทียวว่า โดยที่แท้แล้วก็เพราะรักตน แต่ว่ารักสิ่งอื่น ๆ นั้นก็เพราะว่าสิ่งเหล่านั้นอำนวยความพอใจความสุขให้แก่ตนต่างหาก

มีความรักอันเดียวเท่านั้นแหละที่ไม่ใช่เพื่อตน คือ ความเมตตา เหมือนอย่างที่พ่อแม่รักลูก นี่เป็นความรักที่เป็นเมตตา ต้องการให้เกิดความสุขแก่ลูกจนถึงยอมพลีความสุขของตนเองเพื่อลูก รักมากก็พลีได้มาก รักที่สุดก็พลีได้ที่สุด ตลอดจนถึงชีวิตเพื่อลูก รักอย่างนี้มุ่งความสุขไปให้ลูก คือมุ่งไปให้แก่ผู้ที่ตนรัก ไม่ได้หวังผลตอบแทนอะไร เมื่อลูกมีความสุขพ่อแม่ก็สบายใจ ลูกมีความทุกข์พ่อแม่ก็ไม่สบายใจ ต้องช่วยขึ้นมาอีก นี่ก็เลยเป็น กรุณา ไปแล้วคราวนี้เมื่อลูกได้ดีมีความสุขก็ดีใจ นี่ก็เป็น มุทิตา ไป แต่ว่าอุเบกขานั้นมักจะยาก พ่อแม่รักลูกบางทีก็ไม่มีอุเบกขา อุเบกขา นั้นคือความวางใจเป็นกลาง หมายถึงความยุติธรรมด้วย คือไม่ลำเอียง รู้จักว่าดีว่าชั่ว ว่าผิดว่าถูกอย่างไร วางใจให้เป็นดุลย์อยู่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้ามีอุเบกขานี้อยู่ ก็จะไม่รักลูกในทางที่ผิด ถ้าลูกทำผิด รู้ว่าผิดก็ต้องว่ากล่าวตักเตือนห้ามปราม หรือว่าเมื่อลูกไปทะเลาะกับใครมาก็ไม่เข้าข้างลูก มียุติธรรม รู้ถูกรู้ผิด อุเบกขามีความหมายดั่งกล่าวนี้ด้วย บางทีพ่อแม่รักลูกมาก แต่ว่าไม่ได้มีอุเบกขาก็เลยเป็นเสียไป ที่เติมเอาเรื่องความรักลูกเข้ามานี้ ก็เพื่อชี้ว่ามีความรักอีกอันหนึ่งที่ต่างออกไปจากกาม คือความเมตตา เป็นความรักที่มีให้อภัยไม่ถือโทษผูกโกรธ คนที่ตนมีเมตตามากจะทำผิดก็ไม่ถือโทษ แต่ว่าถ้าเป็นกาม ไม่ได้รักชนิดนั้นถ้าเกิดผิดใจขึ้น ก็โกรธพยาบาทขึ้นมาทันที ถ้าเป็นเมตตาก็ไม่เกิดโกรธ ไม่เกิดพยาบาท ให้อภัยได้

วกเข้ามาถึงตัวเรา ตัวเรามีความรักตัวที่เป็นตัวกามดั่งกล่าวมานี้อยู่อย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นตัวเรานี้จึงเป็นตัวอวิชชา เป็นตัวภพ เป็นตัวกามประกอบกันอยู่ นี่เป็นตัวอาสวะ ท่านแสดงว่า ตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยาก นั่นแหละเป็นตัวก่อให้เกิดอาสวะขึ้น ความดับตัณหาเสียได้ก็เป็นการดับอาสวะ และมรรคมีองค์ ๘ ก็เป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ

พระพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญมรรคมีองค์ ๘ มาเต็มบริบูรณ์ สำหรับศีลนั้นได้ทรงมีมาตั้งแต่ทีแรก ในส่วนสมาธิก็ได้ทรงเริ่มในเมื่อเข้าทางที่ถูกแล้ว และก็ทรงน้อมจิตที่เป็นสมาธินั้นไปเพื่อปัญญา เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสรู้มาโดยลำดับ จนถึงมาทรงพบว่า ตัวเรา นี้เองเป็นตัว อาสวะ ตัณหาเป็นเหตุเกิดอาสวะ ความดับตัณหาได้เป็นความดับอาสวะ และทางที่ทรงปฏิบัติมานั้นจนได้เกิดความรู้ขึ้น ดั่งนี้เป็นเหตุให้ถึงความดับอาสวะ จึงได้เป็นวิชชาคือความรู้แจ่มแจ้งขึ้น อวิชชาก็ดับไป ภพก็ดับไป กามก็ดับไป เพราะฉะนั้น สัตตภาวะ คือความเป็นสัตว์ก็หมดสิ้น เป็นพุทธภาวะ คือความเป็นพุทธะ คือผู้ตรัสรู้ขึ้น เพราะฉะนั้นจึงได้ทรงหยุดการเวียนเกิดต่อไป หยุดประกอบกรรมต่อไป เพราะว่าได้ทรงสิ้นกิเลสอาสวะ ทรงอาศัยอยู่ในนิวาสคือบ้านเก่า เมื่อบ้านเก่าที่ทรงอาศัยอยู่นั้นแตกสลายคือว่าตาย พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงเข้าถึงภพชาติอะไรต่อไป และก็สิ้นสมมติบัญญัติที่จะเรียกว่าอะไร จะเรียกว่าจิต จะเรียกว่าวิญญาณ จะเรียกว่าอัตตา จะเรียกว่าสัตว์ จะเรียกว่าบุคคลอะไรไม่เรียกทั้งนั้น แปลว่าหมดเรื่องกันที ถ้ายังจะพูดถึงอะไรก็ยังไม่หมดเรื่อง

ได้มีผู้เห็นว่า พระอรหันต์ตายแล้วสูญ เพราะว่าไม่มีเรื่องอะไรที่จะพูดแต่พระพุทธเจ้าและพระสาวกก็ได้ทำการซักถาม เช่นซักถามว่า สำคัญอะไรว่าเป็น พระอรหันต์ สำคัญว่า เบญจขันธ์คือบ้านที่เป็นเรือนกายเป็นพระอรหันต์หรือ ผู้นั้นก็ตอบว่า ไม่ใช่ ไม่ได้สำคัญอย่างนั้น คราวนี้ท่านก็ซักว่า ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น เมื่อบ้านอันนี้ตายแล้ว ทำไมจึงไปเข้าใจว่าพระอรหันต์สูญ เพราะฉะนั้นก็เป็นอันแสดงว่าไม่สูญ แต่ว่าเมื่อไม่สูญแล้วไปอยู่ที่ไหน ท่านก็ตอบว่าไม่ควรจะกล่าวว่าไปอยู่ที่ไหน เหมือนกับไฟที่สิ้นเชื้อแล้วก็ดับไป ไม่มีเชื้อใหม่ให้ติดขึ้นมาอีก ก็ไม่ควรจะกล่าวว่าไฟนั้นสูญหรือว่าไฟนั้นไปอยู่ที่ไหน นี่ก็เป็นการยกขึ้นมาเทียบอย่างง่าย ๆ เท่านั้น เพื่อให้เห็นว่าสิ้นสมมติบัญญัติ หมดเรื่องที่จะพูดกันว่าอะไรกันแล้ว

ตามที่กล่าวมานี้ เป็นการอธิบายตามเค้าความซึ่งท่านแสดงว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงมีวิชชา ๓ หรือมีญาณ ๓ และเมื่อจะพยากรณ์ว่าได้ทรงรู้อย่างไร ก็ให้พยากรณ์ว่าทรงมีวิชชา ๓ นี่แหละจึงเป็นการพยากรณ์ที่ถูกต้อง

นิพพาน ในพระพุทธศาสนาเป็นปรมัตถ์ คือมีเนื้อความที่สุขุมละเอียดมาก คนทั่วไปเข้าใจยาก ในฝ่ายมหายานจึงได้สร้างนิพพานขึ้นใหม่ คือว่าได้สร้าง พระอาทิพุทธเจ้า ขึ้นองค์หนึ่งอยู่ในสวรรค์ชั้นสุขาวดี เป็นตัวตนที่ไม่มีแก่ไม่มีตาย เป็นอมตะอยู่บนโน้น แล้วก็มีพระโพธิสัตว์อยู่มากมาย การสร้างนิพพานให้เป็นตัวตน สร้างพระพุทธเจ้าให้เป็นตัวตนอยู่ในสวรรค์ที่เป็นนิรันดรอย่างนี้ คนทั่วไปเข้าใจง่าย เมื่อแผ่เข้าไปในประเทศที่นับถือผีสางเทวดานับถือพระเจ้าก็เลยไปเข้ากันได้ดี อย่างที่ไปตั้งอยู่ในทิเบต ในญี่ปุ่น ในจีน และปรากฏว่าฝรั่งเองก็ศึกษาในฝ่ายมหายานมาก ดูเขาจะเข้าใจได้ดีกว่าในฝ่ายเถรวาท ยิ่งเรื่องอนัตตาแล้วก็ไม่ยอมจะเข้าใจ อธิบายไปเป็นอัตตาเสียโดยมากได้แสดงธรรมซึ่งเป็นเรื่องหนักมาแล้ว ต่อไปนี้จะแสดงประวัติพระสาวกแทรกเข้าบ้าง คือประวัติของพระนันทเถระและของพระรูปนันทาเถรี ทั้ง ๒ องค์นี้เป็นพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดา ประสูติแต่พระนางมหาปชาบดีโคตมี

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๑ หน้า ๒๕๒ – ๒๕๗