Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๖๒

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

วิชชา ๓

ส่วนข้อที่สนทนากัน ปริพาชกได้ทูลถามตามที่เคยได้ยินเขาพูดกันว่าพระองค์เป็นสัพพัญญู เป็นผู้เห็นผู้รู้ทั้งหมด เดินไปก็รู้ทั้งหมด หลับอยู่ก็รู้ทั้งหมด ตื่นอยู่ก็รู้ทั้งหมด เป็นความจริงหรือไม่ พระองค์ได้ตรัสปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง เมื่อจะพูดให้ถูกต้องก็ต้องพูดว่า ทรงมีวิชชา ๓ ดั่งหัวข้อที่ได้ยกมาแล้ว ควรทำความเข้าใจในเรื่องวิชชา ๓ นี้โดยสังเขป

            ญาณที่ ๑ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ประกอบขึ้นด้วยศัพท์คือ ญาณแปลว่า ความรู้ อนุสสติ แปลว่า ระลึกตามไป นิวาสะ แปลว่า ที่อาศัยอยู่ในภาษาไทยใช้คำว่า นิวาส ก็หมายเอา บ้าน ตามพยัญชนะก็แปลว่า ที่อาศัยอยู่ ปุพเพ แปลว่า ในปางก่อน รวมกันเข้าก็แปลว่า ความรู้ระลึกตามไปถึงที่อาศัยอยู่ในปางก่อน

ควรเข้าใจคำว่า ที่อาศัยอยู่ คือนิวาสนั้นหมายถึงอะไร ท่านหมายถึงเบญจขันธ์ คือกองทั้ง ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่รวมกันเข้าก็เป็นสกนธ์กายอันนี้ ข้อที่เป็นหลักในเบื้องต้นก็คือ รูป คือกายนี้อันนี้ เหล่านี้เรียกว่า นิวาส แปลว่า ที่อาศัยอยู่

จึงถึงปัญหาว่าใครเป็นผู้อาศัย ผู้อาศัยในบางแห่งท่านเรียกว่า สัตว์แปลว่า ผู้ข้อง สามัญชนทุก ๆ คนเรียกว่า เป็นสัตว์ ซึ่งแปลว่าผู้ข้อง คือยังเป็นผู้ข้องผู้ติดอยู่ ยังไม่ใช่เป็นผู้รู้ ผู้หลุดพ้น ชี้เข้ามาอีกชั้นหนึ่งก็คือตัวเราที่สมมติเรียกว่า อัตตา หรือเรียกเป็นสรรพนามก็ว่า เรา สัตว์หรือว่าอัตตา หรือว่าเรา เป็นผู้อาศัยอยู่ในที่อาศัยอันนั้น

คราวนี้เรานี่อยู่ที่ไหน จะชี้ที่ไหนว่าเป็นเรา ถ้าจะตั้งปัญหาถามแก่ทุก ๆ คนว่า เราอยู่ที่ไหน ก็จะเป็นปัญหาที่ต้องคิด ถ้าโดยปกติก็จะต้องตอบว่า ก็ตัวเราทั้งหมดนี่แหละคือเรา

คราวนี้ถ้าจะถามว่าลองชี้ดูว่าอยู่ตรงไหน ถ้าจะยกเอาอาการ ๓๒ ว่าอยู่ที่ผม ที่ขน ที่เล็บ ที่ฟัน ที่หนัง ที่เนื้อ ที่เอ็น ที่กระดูก เป็นต้น ยกขึ้นมาทีละอย่าง หรือว่าถ้าจะยกเอาธาตุว่าอยู่ที่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ เป็นต้น ถ้าจะตอบดั่งนั้นก็ยังไม่ถูกต้อง เพราะว่าตัวเราถ้าอยู่ที่อาการ ๓๒ เช่นว่าอยู่ที่ผม ทีนี้ถ้าโกนผมเสียก็เป็นการโกนเอาตัวเราหมดไปด้วย แต่นี่ไม่เป็นเช่นนั้น เราก็ยังอยู่ เพราะฉะนั้น ถ้าจะยกเอาออกทีละอาการทีละอย่าง ขึ้นมาค้นหาตัวเราว่าอยู่ที่ส่วนนั้นส่วนนี้ ก็คงไม่ใช่ทั้งนั้น

จนกระทั่งร่างกายอันนี้สิ้นชีวิตดับลมลงไป ตัวเรานี่ก็ดับไปพร้อมกับลมหายใจหรือไม่ อันนี้ก็มีเชื่อกันอยู่เป็น ๒ อย่าง อย่างหนึ่งก็มีเชื่อกันว่าตัวเราก็ดับหมดไปด้วย ที่เรียกว่า ตายสูญ อีกจำพวกหนึ่งก็เชื่อว่ายังมีส่วนที่ไม่ดับ คือว่าไม่ตายและไปถือชาติกำเนิดใหม่

จะว่าไปตามความเชื่อของจำพวกที่ ๒ นั้นก่อน คือเมื่อค้นไปจนกระทั่งร่างกายอันนี้ดับลมไปแล้ว แต่ก็ยังมีส่วนที่ไม่ดับคือไม่ตาย ส่วนที่ไม่ดับไม่ตายนั้น ถ้าตามคติทางพระพุทธศาสนา ก็คงเป็นตัวเรานี่คนเดียวกันไปหาบ้านอยู่ใหม่ คือว่าไปหานิวาสคือที่อาศัยอยู่ อันได้แก่เบญจขันธ์หรือว่าร่างกายใหม่ เมื่อร่างกายอันนั้นพังไปแล้ว ก็ไปหาบ้านอยู่ใหม่ต่อไปอีก

พระญาณข้อแรกนี้เป็นความรู้ระลึกถึงขันธ์ คือว่าบ้านซึ่งเป็นที่อาศัยอยู่ในปางก่อน ย้อนหลังไปได้ตามกำลังของสติที่ระลึกถึง เมื่อมีสติระลึกได้ยาวไกล ก็รู้ไปได้ยาวไกล ท่านแสดงว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่มีสติระลึกไปได้ยาวไกล เพราะฉะนั้น ก็รู้ไปได้ยาวไกล

มาเทียบดูในปัจจุบันบัดนี้ เราทุก ๆ คนนี้ เมื่อระลึกย้อนหลังไปในชาตินี้เท่านั้น ก็ระลึกไปไม่ได้ไกลเท่าไหร่และก็ไม่ละเอียดเท่าไหร่ ลืมเสียมาก เมื่อเกิดมาเราเกิดมาเมื่อวันที่เท่าไหร่ เวลาเท่าไหร่ เราเองก็ไม่รู้ มารู้เอาเมื่อผู้ใหญ่บอกให้ทีหลัง มาเริ่มจับนึกได้ตั้งแต่พอรู้เดียงสามา และก็ต้องเป็นเหตุการณ์ที่กระเทือนใจมาก ๆ เป็นเหตุการณ์พิเศษ จึงจะติดอยู่ในความทรงจำ แต่ถ้าเป็นเหตุการณ์ธรรมดาก็มักจะระลึกรายละเอียดอะไรไม่ได้ เพราะว่ากำลังคือสติความระลึกของเราไปไม่ได้ไกลเท่าไหร่

            ตามจิตวิทยาสมัยปัจจุบันนี้แสดงว่า ถ้าสะกดจิตตนเองลงไปจากจิตในสำนึก จนถึงจิตใต้สำนึกได้แล้ว จะสามารถระลึกได้ และจะสามารถทำอะไรได้เหมือนอย่างในอดีต เช่นที่เขาเคยเล่นกันมาแล้ว สะกดจิตลงไปให้อยู่ใต้สำนึกและให้ถอยหลังเข้าไปจนถึงอายุ ๑๐ ขวบ ๕ ขวบ ๓ ขวบ แล้วก็สั่งให้แสดงกิริยาอาการเหมือนกับเด็กในสมัยนั้น ให้เขียนหนังสือเหมือนอย่างในสมัยนั้น ผู้ที่ถูกสะกดจิตให้ไปอยู่ในระดับของอายุเท่าใด ก็แสดงอาการเหมือนอย่างเมื่ออยู่ในอายุเท่านั้น เขาเล่นกันจนถึงให้สะกดจิตระลึกย้อนหลังไปในอดีตชาติ แต่ว่าสำหรับในอดีตชาตินั้นไม่มีใครสามารถรับรองกันได้ เห็นกันอยู่แต่ในสมัยปัจจุบันชาติที่ให้แสดงอาการเหมือนอย่างเป็นเด็กเท่านั้นเท่านี้ที่ผ่านมาจนลืมไปหมดแล้วและก็ทำได้

อันนี้แสดงว่า ในปัจจุบันนี้การศึกษาในเรื่องจิตก็รับรองถึงสิ่งที่เก็บไว้ในจิตส่วนลึก และเมื่อสามารถทำให้จิตส่วนลึกนั้นปรากฏขึ้นมาแล้ว สิ่งที่ประสบพบผ่านมาแล้วก็จะโผล่ขึ้น ในทางพระพุทธศาสนานั้น แสดงวิธีปฏิบัติไว้ก็คือว่าให้ทำ สมาธิ นี่เอง แต่ว่าต่างกับวิธี สะกดจิต วิธีสะกดจิตนั้น ผู้ถูกสะกดไม่ค่อยจะมีความรู้สึกเป็นตัวเป็นตนเอง ส่วนสมาธิของพระพุทธเจ้าต้องการให้มีตัวรู้บริบูรณ์ รวมจิตเข้าเป็นสมาธิมากเท่าใด ก็ต้องมีตัวรู้ซึ่งเป็นทั้งตัวสติเป็นทั้งตัวสัมปชัญญะรวมกันอยู่มากเท่านั้น เมื่อทำจิตให้เป็นสมาธิจนถึงฌานแล้ว ผู้ที่มีนิสัยที่ได้อบรมมาแล้ว ก็สามารถที่จะพบอานุภาพของจิต กำลังของจิตที่เป็นพิเศษได้ ปรากฏว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงทำจิตให้เป็นสมาธิได้จนบรรลุฌานอย่างสูง ก็ทรงน้อมจิตที่เป็นสมาธินั้นไปเพื่อรู้เพื่อเห็นตามความเป็นจริง ในชั้นต้นก็ปรากฏปุพเพนิวาสานุสสติญาณนี้ขึ้นก่อน

ได้อธิบายวิชชาที่ ๑ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ รู้ระลึกขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่ในปางก่อนได้ มักจะเรียกอย่างสั้น ๆ ว่า รู้ระลึกชาติได้ แต่ตามศัพท์นั้นไม่มีคำว่า ชาติ มีคำว่า รู้ระลึกนิวาสที่อาศัย แต่ว่าโดยความนั้นก็คือระลึกชาติ เพราะคำว่า ชาติ แปลว่า ความเกิด การเข้าสู่ที่อาศัยนั้นเรียกว่า ชาติ คือความเกิด เพราะฉะนั้น ก็จับเอาอาการตอนนั้น คือตอนเข้าบ้านหรือเข้าที่อาศัยมาเป็นชื่อเรียก และในระหว่างที่ยังอยู่ในบ้าน หรือยังอยู่ในที่อาศัยนั้น ก็เรียกว่าเป็นชาติหนึ่ง ๆ ไปด้วยทีเดียว

ญาณที่ ๒ จุตูปปาตญาณ รู้จุติคือความเคลื่อน และอุปบัติคือความเข้าถึงของสัตว์ทั้งหลาย ในที่นี้ไม่ใช้คำว่า ชาติ มรณะ หรือว่า เกิด ตาย แต่ใช้คำว่า เคลื่อน และ เข้าถึง

            ใครเป็นผู้เคลื่อนและเข้าถึง ในบาลีนี้ใช้ว่า สัตว์ทั้งหลาย เป็นคำเรียกโดยสมมติถึงผู้เคลื่อน ผู้เข้าถึง ในที่อื่นเรียกว่า อัตตา ตัวตน บ้าง เรียกว่า บุคคล บ้าง แต่ว่าเมื่อเรียกว่าบุคคลก็มีความหมายแคบกว่าคำว่า สัตว์ เพราะบุคคลนั้นหมายถึงมนุษย์โดยมาก ถ้าเป็นเดียรัจฉานหรือว่าเทวดาพรหมก็ไม่เรียกว่าบุคคล ส่วนคำว่า สัตว์ นั้นกินความกว้าง หมายถึงหมดทั้งเทวดา อินทร์ พรหม ทั้งมนุษย์ เดียรัจฉาน ทั้งสัตว์นรก หรือว่าเปรต อสุรกายอะไร เมื่อยังเป็นผู้ข้องผู้ติดอยู่ก็รวมเรียกว่าสัตว์หมด อีกอย่างหนึ่งเรียกกระชับเข้ามาก็คือ เรา หรือ ตัวเรา เพราะว่าทุก ๆ สัตว์ก็ย่อมมี เรา อยู่คนละหนึ่ง ๆ ด้วยกัน เพราะฉะนั้น ในการอธิบายนี้จะเรียกว่า เรา

เราเป็นผู้เคลื่อนเป็นผู้เข้าถึง เคลื่อนหมายความว่า ออกไป คือว่าออกไปจากนิวาสคือที่อาศัยอยู่นั้น หมายถึงว่าเคลื่อนไปจากบ้านเก่าหรือที่อาศัยอยู่เก่า หมายถึงสังขารเก่าหรือว่าเบญจขันธ์เก่า อุปบัติ เข้าถึง ก็คือเข้าไปสู่บ้าน หรือที่อยู่อาศัย หรือสังขาร หรือเบญจขันธ์ใหม่ ฉะนั้น เคลื่อนจึงเท่ากับตาย เข้าถึงจึงเท่ากับเกิด แต่ว่าในที่นี้ท่านไม่ใช้คำว่า ตาย เกิด ท่านใช้คำว่า จุติ แปลว่า เคลื่อน อุปบัติ แปลว่า เข้าถึง ดั่งกล่าวนั้น ส่วนที่ใช้ในที่อื่นอย่างสามัญก็ใช้ว่า ตาย เกิด แต่คำว่า ตาย เกิด นั้นมักจะมีความหมายสามัญถึงสังขารหรือว่าเบญจขันธ์ซึ่งรวมกันเป็นสกนธ์กายอันนี้ อันมีตายมีเกิดเป็นธรรมดา แต่มักจะเรียกว่าเกิดก่อนแล้วจึงตายทีหลัง คือว่า เกิด แก่ ตาย คราวนี้ยังมีส่วนหนึ่งที่ไม่ตายในเมื่อสังขารอันนี้ตาย เมื่อสังขารอันนี้ตายแล้วส่วนนั้นก็จุติ คือว่าเคลื่อนออกไปจากสังขารนี้ แล้วก็ไปเข้าไปสู่สังขารใหม่ อาการที่เคลื่อนออกไปนั้นก็เรียกว่า จุติ อาการที่เข้าใหม่ก็เรียกว่า อุปบัติ

ฉะนั้น ในพระญาณหรือวิชชาข้อนี้ จึงไม่ใช้คำว่า เกิด ตาย หรือ ตายเกิด เพราะใช้ในความหมายสามัญหรือสังขาร เพราะไม่ได้มุ่งถึงสังขาร แต่มุ่งถึงสัตว์ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่ตายไปตามสังขาร สัตว์ก็เคลื่อนจากสังขารเก่าที่ตายแล้วไปสู่สังขารใหม่ อันนี้แหละจึงเรียกว่า จุติ อุปบัติ มักจะพูดกันถึงเทวดาว่า จุติเวลาเมื่อเคลื่อนจากสวรรค์ แต่คำว่า จุติ นี้ไม่ได้ใช้เฉพาะเทวดาเท่านั้น แต่ใช้ถึงสัตว์ทั่วไปในความหมายดั่งที่กล่าวมาแล้ว ความเคลื่อนและความเข้าถึงสังขารใหม่เบญจขันธ์ใหม่ของสัตว์ทั้งหลายนั้น บางทีก็พูดกันว่าชาติใหม่ ภพใหม่ แต่ว่าจะใช้คำอย่างไรก็คงมีความหมายถึงนิวาส คือที่อยู่ใหม่หรือว่าบ้านใหม่ดังที่กล่าวมาแล้ว จะเรียกนิวาสนั้นว่าอะไรก็สุดแต่

พระพุทธเจ้าได้พระญาณข้อที่ ๑ คือระลึกรู้ ระลึกถึงนิวาสคือที่อาศัยอยู่ในปางก่อนได้มากมาย ในพระบาลีที่แสดงอธิบายไว้ชี้ถึงของพระองค์เอง แต่เมื่อพิจารณาดูในที่อื่นก็พึงเห็นว่า ของสัตว์ทั้งหลายด้วย และในพระญาณที่ ๒ นี้ก็ใช้คำว่า ของสัตว์ทั้งหลาย มีอธิบายที่เนื่องกัน คือเมื่อรู้ระลึกถึงนิวาสที่อาศัยอยู่ของพระองค์และของสัตว์ทั้งหลายในปางก่อนได้ ตลอดจนถึงรายละเอียดต่าง ๆ ของชีวิตที่ดำเนินอยู่ในชาติหนึ่ง ๆ ครั้นมาถึงพระญาณที่ ๒ นี้ก็ได้ทรงเห็นละเอียดยิ่งขึ้น คือเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายหรือว่า เรา ของสัตว์แต่ละบุคคลนั้น ได้เคลื่อนออกจากชาติหนึ่งและเข้าถึงอีกชาติหนึ่งตามกรรม คือการงานที่ตนกระทำไว้ ถ้าประกอบอกุศลกรรมไว้ ก็เข้าถึงชาติที่ไม่ดี มีความไม่บริบูรณ์ มีความทุกข์ต่าง ๆ เมื่อประกอบกุศลกรรมไว้ ก็เข้าถึงชาติที่ดี มีความบริบูรณ์ มีความสุขต่างๆ

ท่านแสดงว่า พระพุทธเจ้าทรงได้วิชชาทั้ง ๓ นี้ ในราตรีที่ตรัสรู้ ในปฐมยามทรงได้พระญาณที่ ๑ ในมัชฌิมยามทรงได้พระญาณที่ ๒ คือจุตูปปาตญาณนี้ เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้เรื่องกรรมตั้งแต่ในราตรีที่ตรัสรู้นั้น และได้ทรงรู้ก่อนที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เพราะยังไม่ถึงญาณที่ ๓ ที่ทรงได้ในปัจฉิมยาม

พิจารณาดูถึงเรื่องความตรัสรู้กรรมนี้ ก็จะพึงเห็นได้ว่า เมื่อได้ตรัสรู้พระญาณที่ ๑ นั้น ได้ทรงระลึกชาติได้เป็นอเนก ตลอดจนถึงรายละเอียดต่าง ๆ ได้ เพราะฉะนั้น ก็ย่อมทรงระลึกได้ด้วยว่า ในชาตินั้น ๆ ได้ไปทำอะไรไว้บ้าง และได้รับผลอย่างไรในชาติต่อ ๆ มา ทรงเห็นได้ยาวไกลมากจึงทรงรู้ สรุปได้ว่า กรรม นั่นเองเป็นตัวเหตุซึ่งบุคคลได้กระทำไว้ กรรมนั้นก็เป็นของของตน ซึ่งบุคคลผู้ทำจะต้องเป็นทายาทรับผลของกรรมนั้น

ส่วนพระญาณที่ ๓ คือ อาสวักขยญาณ ความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะ ท่านอธิบายว่า ได้แก่ รู้ในทุกข์ รู้ในเหตุเกิดทุกข์ รู้ในความดับทุกข์ รู้ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ นี้ส่วนหนึ่ง รู้ในอาสวะ รู้ในเหตุเกิดอาสวะ รู้ในความดับอาสวะ รู้ในทางปฏิบัติถึงความดับอาสวะอีกส่วนหนึ่ง รู้ดั่งนี้เป็นอาสวักขยญาณ รู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะ

พิจารณาดูตามความที่สัมพันธ์กัน เมื่อพระพุทธเจ้าทรงได้พระญาณที่ ๑ สืบมาก็ทรงได้พระญาณที่ ๒ เมื่อทรงได้ ๒ พระญาณนี้แล้วก็ทรงได้พระญาณที่ ๓ สืบไป

ทีแรกก็รู้ในทุกข์ เพราะเมื่อได้ทรงระลึกชาติได้เป็นอันมาก ทรงรู้ถึงความเคลื่อนและความเข้าถึงของตัวเราในชาติหนึ่ง ๆ ว่าเป็นไปตามกรรม เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงได้ทรงเห็นความเกิด ความแก่ ความตาย ซึ่งเป็นทุกข์ตามสภาพของสังขารในชาติหนึ่ง ๆ และได้ทรงเห็นความทุกข์ทางจิตใจ เป็นต้นว่า ความโศก ความระทมใจเป็นต้น ซึ่งมีอยู่ในชาตินั้น ๆ และก็สรุปลงว่าได้ทรงเห็นว่าตัวนิวาสคือตัวที่อาศัยอยู่ อันได้แก่ บ้านคือ สังขาร อันนี้นี่แหละคือตัวทุกข์ เพราะทุกข์ทั้งปวงก็รวมลงที่บ้านคือนิวาสนี้เอง เกิดก็บ้านอันนี้เกิด แก่ก็บ้านอันนี้แก่ ตายก็บ้านอันนี้ตาย ทุกข์โศกอะไรทางจิตใจก็เกี่ยวแก่บ้านอันนี้ ไม่นอกไปจากนี้ จะกี่ร้อยกี่พันกี่หมื่นชาติก็คงเป็นดั่งนี้ คล้าย ๆ กับว่าเราระลึกดูย้อนหลังในชาตินี้ เมื่อวานนี้ก็กินอยู่หลับนอนทำโน่นทำนี่ ย้อนไปอีกวันหนึ่งก็กินอยู่หลับนอนทำโน่นทำนี่ ย้อนไปอีกวันหนึ่งก็คล้าย ๆ กัน แม้จะได้ประกอบกรรมที่ดี เกิดในชาติที่ดี มีความสุข ก็เป็นอยู่ชั่วคราวหนึ่ง ๆ ไม่เที่ยงยั่งยืนตลอดไป แม้จะไปเกิดเป็นเทวดาเป็นพรหมอะไร ตามลัทธิที่เชื่อถือกันว่ามีอายุยืนนาน ก็ต้องมีจุติคือความเคลื่อนในที่สุด ไม่มียั่งยืนตลอดไป เพราะฉะนั้น เป็นอะไรก็ตามก็คงไม่พ้นไปจากเกิด แก่ ตาย และก็ต้องประกอบกรรมกันอยู่ไม่เสร็จสิ้น ในบางคราว ก็ดีในคราวหนึ่ง ๆ แล้วก็ประมาท ประมาทแล้วก็ประกอบกรรมชั่ว ก็ตกต่ำลงมาคราวหนึ่ง ตกต่ำลงมาแล้วมีสติขึ้น ก็ไปประกอบกรรมดี ก็ดีกันขึ้นไปคราวหนึ่ง ๆ วนขึ้นวนลงกันอยู่อย่างนั้น

เพราะฉะนั้น เมื่อทรงระลึกเห็นชาติยิ่งไกลเท่าไร และเห็นความเคลื่อนความเข้าถึงของตัวเรานี้ยิ่งไกลเท่าไร ก็ยิ่งเห็นว่าเป็นทุกข์เท่านั้น จึงได้ทรงเริ่มเห็นทุกข์ขึ้น แล้วก็เห็นว่าที่เป็นดั่งนี้ก็เพราะว่า ตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยาก อันนี้เป็นตัวเหตุให้เกิดทุกข์ ดับตัณหาเสียได้นั่นแหละ จึงจะเป็นความดับทุกข์ และที่จะดับตัณหาได้ก็ต้องปฏิบัติไปในทางให้ถึงความดับทุกข์ คือ มรรคมีองค์ ๘ อันสรุปลงเป็น ศีล เป็น สมาธิ และเป็น ปัญญา โดยเฉพาะก็คือว่า ต้องประมวลกันเป็นตัวรู้ที่ประจักษ์แจ่มแจ้งตามความเป็นจริง เห็นความจริงของทุกข์ ของเหตุเกิดทุกข์ ของความดับทุกข์ และของทางให้ถึงความดับทุกข์โดยแจ้งชัด

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๑ หน้า ๒๔๔ – ๒๕๒