Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๖๑

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ลิจฉวีอปริหานิยธรรม ๕

ในระหว่างที่ประทับอยู่ที่ป่ามหาวันนั้น จะเป็นในครั้งนี้หรือในครั้งต่อมาไม่ปรากฏ ได้มีลิจฉวีกุมารคือเจ้าชายหนุ่มราชตระกูลลิจฉวี จำนวน ๕๐๐ ได้ออกมาล่าสัตว์ในป่ามหาวันพร้อมกับพวกสุนัขสำหรับล่าสัตว์เป็นจำนวนมาก ครั้นมาพบพระพุทธเจ้า ก็ได้พากันวางอาวุธและได้ต้อนสุนัขให้หลบไปในที่อื่น แล้วก็พากันประคองอัญชลี เฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่ด้วยอาการอันสงบ ในครั้งนั้นเจ้าลิจฉวีองค์หนึ่งมีพระนามว่า มหานาม ทรงดำเนินเล่นมาทางนั้น เมื่อได้มาเห็นลิจฉวีกุมารเหล่านั้นเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่ด้วยอาการอันสงบ จึงได้กล่าวอุทานขึ้นว่า วัชชีจักมี วัชชีจักมี หมายความว่า ประเทศวัชชีจักเจริญ ประเทศวัชชีจักเจริญ พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสถามว่า ที่กล่าวอุทานขึ้นดั่งนั้น หมายความว่าอย่างไร เจ้าลิจฉวีมหานามกราบทูลว่า ลิจฉวีกุมารหนุ่มๆ เหล่านี้ เป็นผู้ดุร้ายหยาบคาย ชอบยื้อแย่งอ้อย พุทรา ขนม หรือสิ่งของต่างๆ ซึ่งเป็นของขวัญสำหรับส่งไปยังตระกูลนั้นๆ บางทีก็ชอบรังแกสตรี มีอาการคะนองดุร้ายต่างๆ แต่ว่าบัดนี้มาประคองอัญชลีสงบ เฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่อย่างเรียบร้อยฉะนั้น ก็เป็นอันหวังว่าประเทศวัชชีจักเจริญ

พระพุทธเจ้าตรัสว่า กุลบุตรผู้ใดผู้หนึ่งจะเป็นขัตติยราชผู้ที่ได้รับมูรธาภิเษกแล้วก็ดี เป็นผู้ครองรัฐก็ดี เป็นผู้สืบทายาทของบิดาก็ดี เป็นเสนาบดีก็ดีเป็นผู้ใหญ่บ้านของบ้านทั้งหลายก็ดี เป็นหัวหน้าหมู่หัวหน้าคณะก็ดี ซึ่งได้เป็นผู้ปกครองเป็นใหญ่ในตระกูลนั้นๆ ถ้าประกอบด้วยธรรม ๕ ประการเหล่านี้ก็จักหวังความเจริญ ไม่ต้องหวังความเสื่อม คือ

ข้อ ๑. สักการะเคารพนับถือบูชามารดาบิดา ด้วยโภคทรัพย์ที่แสวงหามาได้โดยธรรม มารดาบิดาผู้ได้รับความสักการะเคารพนับถือบูชาก็ย่อมอนุเคราะห์ด้วยใจอันงาม ว่าให้เจ้าดำรงชีวิตอยู่ รักษาชีวิตอยู่ตลอดเวลานาน

ข้อ ๒. สักการะเคารพนับถือบูชาบุตรภรรยา ทาสกรรมกร และบุคคลผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย ด้วยทรัพย์ที่แสวงหามาได้โดยธรรม ชนเหล่านั้นได้รับสักการะเคารพนับถือบูชา ก็ย่อมอนุเคราะห์ด้วยใจอันงาม คือคิดตั้งใจให้เจริญอายุเหมือนอย่างนั้น

ข้อ ๓. สักการะเคารพนับถือบูชาบุคคลผู้เป็นเจ้าของนาใกล้เคียงกัน ประกอบการงานในเขตนาที่ใกล้เคียงกัน และเจ้าหน้าที่รังวัดที่นาทั้งหลาย บุคคลเหล่านั้นได้รับสักการะเคารพนับถือบูชา ก็ย่อมอนุเคราะห์ด้วยใจอันงามเหมือนอย่างนั้น

ข้อ ๔. สักการะเคารพนับถือบูชาเทพยดาผู้รับพลี ด้วยโภคทรัพย์ที่แสวงหามาโดยธรรม เทพยดาผู้รับพลีได้รับสักการะเคารพนับถือบูชา ก็ย่อมอนุเคราะห์ด้วยใจอันงามเหมือนอย่างนั้น

ข้อ ๕. สักการะเคารพนับถือบูชาสมณพราหมณ์ ด้วยทรัพย์ที่แสวงหามาได้โดยธรรม สมณพราหมณ์ได้รับสักการะเคารพนับถือบูชา ก็ย่อมอนุเคราะห์ด้วยใจอันงามเหมือนอย่างนั้น

 กุลบุตรใดๆ เมื่อมีธรรม ๕ ประการนี้ ครอบครองความเป็นใหญ่ในตระกูลนั้นๆ ในที่นั้นๆ ก็ย่อมหวังความเจริญได้ไม่ต้องหวังความเสื่อม

ในพุทธภาษิตนี้ ใช้ศัพท์ว่าสักการะเคารพนับถือบูชาเหมือนกันหมดทั้ง ๕ จำพวก กล่าวโดยส่วนรวมก็คือ ให้มีความนับถือตามฐานะ ไม่ดูหมิ่นและทำความเกื้อกูลบุคคลทั้ง ๕ จำพวกนี้ตามฐานะ จำพวกที่ ๑ ก็ได้แก่มารดาบิดา จำพวกที่ ๒ ก็ได้แก่บุตรภริยา ทาสกรรมกรและบุคคลที่เกี่ยวข้องนี้ก็แสดงว่าไม่ดูหมิ่นเหยียดหยาม แต่ว่าให้นับถือตลอดถึงทาสกรรมกรด้วย บุคคลจำพวกที่ ๓ ก็คือผู้ที่ประกอบการงานในที่ใกล้เคียงกัน ในที่นี้แสดงแต่บุคคลผู้ประกอบกสิกรรม จึงได้ยกเอาเจ้าของนาที่ใกล้กัน กับเจ้าหน้าที่รังวัดก็หมายความโดยทั่วๆ ไปว่า มีการนับถือตลอดถึงบุคคลผู้อยู่ใกล้เคียงกันผู้ประกอบการงานร่วมกัน และเจ้าหน้าที่ต่างๆ ที่ตนจะต้องเกี่ยวข้อง จำพวกที่ ๔ ก็คือพวกเทวดาที่รับพลี อันนี้ก็หมายถึงเทวดาที่นับถือกันมาตามตระกูล ก็เป็นว่าพระพุทธเจ้าก็ได้ทรงอนุวัตรให้มีการปฏิบัติต่อเทพยดาตามที่เขานับถือกันด้วย ไม่ใช่ค้านไปเสียทีเดียว พวกที่ ๕ ก็คือ สมณพราหมณ์


วัจฉโคตรสูตร

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในกูฏาคารศาลา ในป่ามหาวันใกล้กรุงเวสาลีนั้น ปริพาชกคือนักบวชจำพวกหนึ่ง ซึ่งนุ่งผ้าขาวอย่างเราเรียกว่าชีปะขาว อาศัยอยู่ในอารามปริพาชกซึ่งเรียกว่า เอกปุณฑริกะ อาจจะมีต้นมะม่วงผลเล็กอยู่ต้นหนึ่ง ก็เอาชื่อนั้นเป็นชื่อของอาราม

ในวันหนึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงนุ่งและถือบาตรจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในกรุงเวสาลี ทรงดำริว่า เวลายังเช้านัก ทรงรู้จักปริพาชกที่ชื่อว่า วัจฉโคตร ผู้อาศัยอยู่ในอารามเอกปุณฑริกะนั้น จึงได้เสด็จเข้าไปเยี่ยม วัจฉโคตรปริพาชกได้เห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมาก็ต้อนรับเป็นอันดี เมื่อพระพุทธเจ้าประทับนั่งแล้วก็ได้ทูลถามว่า ตนได้ยินเขาพูดกันว่า พระสมณโคดม (หมายถึงพระพุทธเจ้า เป็นคำที่พวกปริพาชกเรียกพระองค์) ทรงเป็นสัพพัญญูผู้รู้ทั้งหมด ทรงเป็นผู้เห็นทั้งหมด ทรงปฏิญาณทัศนะคือความรู้ความเห็น ว่าทรงมีอยู่อย่างบริบูรณ์ ไม่มีตกเหลือว่า เมื่อพระองค์ทรงดำเนินอยู่ก็ดี ยืนอยู่ก็ดี หลับอยู่ก็ดี ตื่นอยู่ก็ดี ก็มีญาณทัศนะคือความรู้ความเห็นที่แจ่มแจ้งปรากฏขึ้นติดต่อกันไม่ขาดสาย ตนได้ยินเขาพูดกันดั่งนี้ คำที่เขาพูดกันนั้นเป็นความจริงหรือไม่ เป็นการพูดอย่างที่เรียกว่ากล่าวตู่ด้วยคำไม่จริงหรือไม่

พระพุทธเจ้าได้ตรัสตอบว่า คำที่วัจฉโคตรปริพาชกได้ยินมานั้นไม่เป็นความจริง เขาไม่ได้พูดเหมือนอย่างที่พระองค์รับสั่ง เป็นการกล่าวตู่พระองค์ด้วยคำที่ไม่เป็นความจริง

วัจฉโคตรปริพาชกจึงได้กราบทูลถามว่า เมื่อเป็นดั่งนั้น จะพยากรณ์อย่างไร จึงจะเป็นการกล่าวคำที่พระองค์ได้ตรัสไว้ ไม่เป็นการกล่าวตู่ด้วยคำไม่จริง เป็นการพยากรณ์ที่ถูกต้องไม่ควรตำหนิ

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า เมื่อพยากรณ์ว่าพระสมณโคดมมีวิชชา ๓ จึงจะเป็นการกล่าวที่ถูกต้อง ไม่เป็นการกล่าวตู่ด้วยคำที่ไม่เป็นจริง ต่อจากนั้นก็ได้ทรงกล่าวอธิบาย วิชชา ๓ ว่า ได้แก่

. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ รู้ระลึกนิวาสคือที่อาศัยอยู่ในกาลก่อนได้

. จุตูปปาตญาณ รู้จุติคือความเคลื่อน และอุปบัติคือความเข้าถึง

. อาสวักขยญาณ รู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะ

เมื่อบุคคลพยากรณ์ว่า พระสมณโคดมมีวิชชา ๓ คือ มีญาณ ๓ ดั่งกล่าวมานี้ จึงชื่อว่าพยากรณ์ถูกต้อง ไม่เป็นการกล่าวตู่พระองค์

วัจฉโคตรปริพาชกได้กราบทูลถามต่อไปว่า คฤหัสถ์บางคนที่ไม่ละสังโยชน์คือเครื่องผูกของคฤหัสถ์ กายแตกทำลายตายไป จะเป็นผู้กระทำที่สุดของทุกข์ได้มีอยู่หรือไม่

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า คฤหัสถ์ที่ไม่ละเครื่องผูกของคฤหัสถ์ จะทำที่สุดของทุกข์ได้ไม่มี

วัจฉโคตรปริพาชกได้กราบทูลถามต่อไปว่า คฤหัสถ์ที่ไม่ละเครื่องผูกของคฤหัสถ์ กายแตกทำลายตายไปแล้ว เข้าถึงสวรรค์มีอยู่หรือไม่

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า มีอยู่ ไม่ใช่ ๑๐๐ เดียว ไม่ใช่ ๒๐๐ ไม่ใช่ ๓๐๐ ไม่ใช่ ๔๐๐ ไม่ใช่ ๕๐๐ แต่ว่ามีมากกว่านั้น

วัจฉโคตรได้กราบทูลถามต่อไปว่า ส่วน อาชีวก คือนักบวชที่มีลัทธิต่างๆ บางพวก กายแตกทำลายตายไปแล้วนั้น ทำที่สุดของทุกข์ได้มีอยู่หรือไม่

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ไม่มี

 

ปริพาชกได้กราบทูลถามต่อไปว่า อาชีวกบางคนที่กายแตกทำลายไป เข้าถึงสวรรค์มีอยู่หรือไม่

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า เท่าที่ทรงระลึกได้ ก็ยังไม่ทรงพบเห็น หรือว่าทราบว่าอาชีวกอะไรๆ ที่จะเข้าถึงสวรรค์ได้ นอกจากจำพวกเดียวที่เป็น กรรมวาที คือกล่าวกรรม กิริยวาที กล่าวว่าทำกรรมก็เป็นอันทำ

ปริพาชกก็ทูลถามว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น ลัทธิเดียรถีย์ก็เป็นของว่างโดยที่สุดแม้การเข้าถึงสวรรค์

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ก็เป็นของว่างเช่นนั้น

ใจความในคำสนทนานี้ มีข้อที่พึงยกขึ้นกล่าวหลายประการ ข้อแรกก็คือ พระพุทธเจ้าได้เสด็จเข้าไปในอารามของบุคคลต่างศาสนาต่างลัทธิ และได้สนทนาธรรมในลัทธิของกันและกัน เป็นอันแสดงว่าไม่ได้ทรงถือบุคคลภายนอกศาสนาว่าเป็นศัตรู แต่ได้ทรงถือว่าเป็นบุคคลที่พึงพบปะและสนทนากันตามโอกาส มีเรื่องที่ได้เสด็จเข้าไปสนทนาในวัดของบุคคลต่างลัทธินี้หลายครั้งหลายหน

 

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๑  หน้า ๒๓๘ – ๒๔๔